bloggang.com mainmenu search







วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตอนจบ


สวัสดีเช้าวันจันทร์ค่ะ มาพร้อมกับฝน...สมกับเป็นหน้าฝนจริงๆ ตกแทบทุกวัน...วันนี้...จบแล้วค่ะ เกือบเป็นมหากาพย์เหมือนกันนะคะ ใส่รูปไปเยอะ ตอนก็น้อยลง...มีบ้างมั้ย เวลาไปไหนไม่ได้ถ่ายรูปมาเลย หรือถ่ายมาแต่ไม่เยอะ...มีหลายที่ค่ะ ไม่ได้ถ่ายเลยก็มี กล้องก็ถือไป...ไม่สะดวกบ้าง หรือ...ถ่ายมาเป็นสิบ ยี่สิบ รูปใช้ได้แค่สอง สามรูปก็มี....


วันนี้เป็นภาพรวมๆ นะคะ เพราะหลังจากเดินดูจิตรกรรมฝาผนังบริเวณพระระเบียง เดินไปจนสุดทางพระระเบียง....หาทางออกไม่เจอค่ะ เลยเดินกลับมาเพื่อหาทางออก.....








วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตอนที่ ๑ ที่นี่ค่ะ




วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตอนที่ ๒ ที่นี่ค่ะ











พระเศวตกุฎาคารวิหารยอด



พระเศวตกุฎาคารวิหารยอด ตั้งอยู่กลางระหว่างหอพระมณเฑียรธรรม และหอพระนากทิศเหนือของพระมณฑป ที่ตั้งของพระวิหารหลังนี้ แต่เดิมเป็นที่ตั้งของหอพระเชษฐบิดร หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า วิหารขาว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในระยะที่ ๒ ของการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระเทพบิดร ซึ่งแต่เดิมเป็นเทวรูปสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) พระปฐมกษัตริย์ผู้ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า แต่เดิมคงตั้งอยู่ที่มุขเด็จวัดพระศรีสรรเพชญ แล้วย้ายมาตั้งอยู่ที่มุขเด็จพระปราง วัดพุทไธสวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากถูกไฟเผาหมดทั้งองค์จึงโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญมากรุงเทพฯ แล้วแปลงเป็นพระพุทธรูปเงินปิดทองทรงเครื่อง ประดิษฐานไว้ในพระวิหารเรียกกันว่า หอพระเชษฐบิดร รูปร่างของหอพระหลังนี้จะเป็นอย่างไรไม่ปรากฏ แต่เรียกว่าวิหารขาว ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะฝาผนังโปกปูนขาว


ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รื้อลงสร้างขึ้นใหม่เป็นวิหารยอด ตามที่กรมหลวงนรินทรเทวีได้ทรงบรรยายไว้ว่า "ทรงสร้างสรรพิหารยอดประดับพื้นผนังขาวแพรวพราวเลื่อนศรีเพรา เชิญพระศิลา ๓ พระองค์ ทรงประดิษฐานไว้เป็นพระประธานเฒ่าฝาผนังเขียนเรื่องอิเหนา ลายระบายเส้นทองคำ ประดับพื้นทำล้วนศิลาลาดสะอาดเลื่อมบรรจงสรร" ในการสร้างพระวิหารยอดครั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระเทพบิดรและพระนากซึ่งย้ายมาจากหอพระนาก และพระพุทธรูปศิลาดังที่กล่าวแล้ว















ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่องานฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปี โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าชุมพลสมโภช ทรงรับผิดชอบการบูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหารยอด ซ่อมแซมหลังคาและยอดมงกุฎ ถือปูนประดับกระเบื้องถ้วยขึ้นใหม่ ซ่อมซุ้มประตูและบานหน้าต่างภายนอกและภายในพร้อมทั้งประดับพระปรมาภิไธยย่อ " จปร. " ภายใต้พระเกี้ยวยอดบนยอดโค้งแหลมของซุ้มโค้งรอบพระวิหาร


ในสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อเตรียมงานฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี ได้มีการบูรณะพระวิหารยอดครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยซ่อมตั้งแต่ฐานถึงยอด เช่น ยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ปิดทองใหม่ ซ่อมลายกระเบื้อง ลงรักปิดทองวงกบประตูและซ่อมลายมุกที่ประตูด้วย


ในสมัยรัชกาลปัจจุบัน เมื่อเตรียมงานฉลองพระนครครบ ๒๐๐ ปี ได้มีการบูรณะพระวิหารยอดอีกครั้งหนึ่งในส่วนที่ชำรุดเสียหาย โดยรักษาศิลปะการก่อสร้างแต่เดิมไว้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงประการใด

























ดูคนที่ยืนอยู่...ตัวเล็กนิดเดียวเอง...ยิ่งใหญ่อลังการมากเลยค่ะ





















พระอารามหลวงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย รวมทั้งสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมอันวิจิตรงดงามต่าง ๆ แล้ว ยังมีพระยายักษ์ตัวสำคัญจากเรื่องรามเกียรติ์ ทำหน้าที่เป็นทวารบาลรวมทั้งสิ้นถึง ๑๒ ตน ยืนเฝ้าซุ้มประตูพระระเบียงคดทาง เข้า-ออก พระอุโบสถประตูละคู่


๑. ประตูด้านทิศตะวันออก (ประตูเกยเสด็จหน้า)

สุริยาภพ มีกายสีแดงชาด สวมมงกุฎยอดกาบไผ่ สวมแหวนทอง ๑ วง

อินทรชิต ซึ่งมีกายสีเขียว สวมมงกุฎยอดกาบไผ่เหมือนกัน ยืนคู่กับสุริยาภพ สวมแหวนทอง หัวแหวนสีเขียวมรกต ๑ วง


๒.ประตูหน้าวัว

มังกรกรรณฐ์ บุตรพญาขร มีกายสีเขียว สวมมงกุฏยอดนาค สวมแหวนทอง หัวแหวนสีแดงโกเมนที่นิ้วนางซ้าย ๑ วง ยืนคู่กับ วิรุฬหก

วิรุฬหก เป็นบุตรพญารากษส มีกายสีขาบ (สีน้ำเงินแก่อมม่วง) สวมมงกุฎนาค สวมแหวนทอง หัวแหวนสีแดงโกเมน ที่นิ้วนางซ้าย ๑ วง


๓.ประตูศรีรัตน์ด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นประตูทางผ่านเข้าสู่บริเวณพระบรมมหาราชวังชั้นกลาง มีพระยายักษ์ฝาแฝดบุตรทศกัณฐ์ เป็นทวารบาล ๑ คู่ คือ ทศคีรีวัน และทศคีรีธร

ทศคีรีวัน บุตรทศกัณฐ์ กายสีเขียว มีจมูกเป็นงวงช้าง สวมมงกุฎยอดกาบไผ่ สวมแหวนทอง ๑ วง หัวแหวนสีเขียวมรกตที่นิ้วนางขวา

ทศคีรีธร บุตรทศกัณฐ์ กายสีแดงเข้ม ฝาแฝดกับ ทศคีรีวัน มีจมูกเป็นงวงช้าง สวมมงกุฎยอดกาบไผ่ สวมแหวนทอง ๑ วง หัวแหวนสีเขียวมรกตที่นิ้วนางซ้าย


๔.ประตูพระฤษี ด้านหลังพระอุโบสถคู่

จักรวรรดิ กายสีขาว มี ๔ เศียร สวมมงกุฎยอดหางไก่ สวมแหวนประดับนิ้วก้อยขวาหนึ่งวง

อัศกรรณมารา กายสีม่วงแก่ มีเศียร ๒ ชั้นสวมมงกุฎยอดหางไก่ สวมแหวนประดับ ๒ วง



ข้อมูลอ้างอิง : สำนักหอสมุดกลางมหาวิทยาลัยรามคำแหง





















กำลังหาทางออกนะคะ...เดินเก็บภาพไปเรื่อยๆ














































ด้านหลังของยักษ์ทวารบาลอีกหนึ่งตน ไม่กล้าใส่ชื่อค่ะ กลัวผิด










ดูเหมือนมุมเ้ดิม....แต่คนละุมุมนะคะ






















เดินเฟอะฟะไปมา...จนมาเจอป้ายบอกทางค่ะ




















พระมณฑป

พระมณฑป ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ บนฐานไพทีร่วมของพระศรีรัตนเจดีย์ และปราสาทพระเทพบิดร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ ตรงตำแหน่งที่ตั้งของหอพระมณเฑียรธรรมองค์เดิม ที่ถูกเพลิงไหม้ เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎกทองใหญ่ ที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สังคายนาขึ้นไว้สำหรับแผ่นดิน


พระมณฑปนี้มีลักษณะ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมทรงมณฑป ตั้งอยู่บนฐานทักษิณ ๓ ชั้น มีชาลา และกำแพงแก้วล้อมรอบทุกชั้น บนกำแพงแก้วทั้ง ๓ ชั้นประดับด้วยโคมทองแดงทำเป็นรูปหม้อปรุ ระหว่างโคมปักฉัตรทำด้วยทองแดงลงรักปิดทอง มีใบโพธิ์แก้วห้อยทุกชั้น บันไดขึ้นฐานทักษิณมี ๘ บันได ราวบันไดทำเป็นรูปนาคสวมมงกุฎ ส่วนบันไดขึ้นฐานปัทม์ทำเป็นรูปคนสวมมงกุฎนาค หรือที่เรียกว่านาคจำแลง


รอบกำแพงชั้นล่างตั้งสิงห์หล่อด้วยสำริดไว้ทั้ง ๔ มุม มุมละหนึ่งตัว และที่ประตูทางขึ้นทางละหนึ่งคู่ทั้งสี่ทาง สิงห์สำริดนี้ตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูนทำเป็นรูปพาน ประวัติกล่าวว่าสิงห์นี้นำมาจากเมืองบันทายมาส ประเทศเขมร ๒ ตัว และหล่อเพิ่มขึ้นอีก ๑๐ ตัว พื้นภายในพระอุโบสถปูด้วยแผ่นเงิน ตรงกลางตั้งตู้ประดับมุกทรงมณฑปขนาดใหญ่สำหรับเก็บพระไตรปิฎกฝีมืองดงามยิ่ง เจ้าพระยามหาเสนา (ต้นสกุล บุนนาค) เป็นผู้ควบคุมการสร้างตู้นี้


สมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะและปฏิสังขรณ์พระมณฑปเป็นการใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นการบูรณะให้เหมือนของเดิมที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ แต่อาจจะเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดบางประการ


ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างอาคารขึ้น ๒ หลัง ที่ด้านหน้าและด้านหลังของพระมณฑป ได้แก่พระพุทธปรางค์ปราสาท ตั้งอยู่ด้านหน้า และพระศรีรัตนเจดีย์ตั้งอยู่ด้านหลังของพระมณฑป เป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพระมณฑปโดยได้มีการถมฐานทักษิณซึ่งเคยมีอยู่ ๓ ชั้น ถมเสีย ๒ ชั้นทำเป็น ๒ ระดับ คงไว้แต่ฐานชั้นที่ ๓ และรวมฐานของอาคารทั้ง ๓ หลังให้ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันเรียกว่าฐานไพที มีกำแพงแก้วทำด้วยศิลาล้อมทั้ง ๒ ชั้นส่วนองค์พระมณฑปโปรดเกล้าฯ ให้รื้อเครื่องบนของหลังคาทำใหม่ พื้นภายในโปรดเกล้าฯ ให้สานเสื่อเงินปูใหม่


ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามคราวสมโภชพระนครครบ ๑๐๐ ปี โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นพิชิตปรีชากรควบคุมการปฏิสังขรณ์พระมณฑป ซ่อมทั้งโครงภายใน และสิ่งประดับตกแต่งภายนอก เมื่อถึงปลายรัชกาลตัวไม้เครื่องบนชำรุดมากจึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนตัวไม้ทั้งหลัง แต่การก่อสร้างยังค้างอยู่ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเครื่องยอดหลังคาจากปิดทองล่องชาดเป็นลงรักประดับกระจกสีเหลืองแทน


ในสมัยรัชกาลที่ ๗ และรัชกาลปัจจุบัน ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระมณฑปทั้งหลังตามรูปแบบเดิม รวมทั้งซ่อมลายรดน้ำและลายมุกที่บานประตูด้วย










Create Date :25 กรกฎาคม 2554 Last Update :25 กรกฎาคม 2554 8:55:21 น. Counter : Pageviews. Comments :43