bloggang.com mainmenu search




ก่อนจะไปอยุธยาครั้งล่าสุดนี้ คุ้นๆ ว่า ได้ซื้อหนังสือเที่ยวอยุธยามาด้วย พอจะอัพบล็อก หาหนังสืออยู่นาน จำไม่ได้ว่าวางไว้ไหน 

.... เพิ่งหาเจอค่ะ เป็นหนังสือจากสำนักพิมพ์มิวเซียมเพลส ราคาปก ๑๒๐ บาท มี ๘๐ หน้า

ภาพประกอบ เนื้อหา ข้อมูล เชิงวิเคราะห์ น่าสนใจ น่าอ่าน ถ้าสนใจลองหาดูนะคะ












วัดกุฎีดาว



วัดกฎีดาวมีสภาพเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองทางทิศตะวันออก ในตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ทิศเหนือติดกับทางเข้าวัดประดู่ทรงธรรม และวัดจักรวรรดิ (ร้าง)

ทิศใต้ติดกับถนนเข้าหมู่บ้านราษฎร

ทิศตะวันออกติดกับถนนที่ตัดมาจากวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม ตรงข้ามกับทางเข้าวัดมเหยงคณ์

ทิศตะวันตก ติดกับชายป่าละเมาะ ซึ่งเป็นที่ดินของวัดประดู่

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๘

วัดกุฎีดาวเป็นวัดขนาดใหญ่สมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ในเขตที่เชื่อกันว่าเป็น “อโยธยา” ตอนเหนือ ฝั่งนอกเกาะกรุงศรีอยุธยา ด้านตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก

ซึ่งเชื่อกันว่าคือชุมชนเมืองโบราณก่อนที่จะมีการสร้างกรุงศรีอยุธยา บริเวณแถบนี้ยังคงเต็มไปด้วยซากอาคารและเจดีย์ของวัดสมัยอยุธยา

โบราณสถานของวัดกุฎีดาวมีสภาพที่ดีมากที่สุดแห่งหนึ่งของอยุธยา ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน

อยุธยา มีชื่อแรกเริ่มว่า "อโยธยา" หมายถึงเมืองของพระราม จากคติเรื่องรามายณะของชนชั้นปกครองอยุธยา

ซึ่งเชื่อว่ากษัตริย์เป็น "พระราม" ผู้เป็นพระนารายณ์อวตารลงมาปราบยุคเข็ญ จึงมีการตั้งพระนามกษัตริย์ว่า  "พระรามาธิบดี"

ส่วนเมืองลูกหลวงซึ่งทรงส่งพระโอรสไปครอง ก็ตั้งชื่อตามคตินี้เช่นกัน นั่นคือ "ลพบุรี"  ซึ่งหมายถึงเมืองของพระลพ พระโอรสของพระรามนั่นเอง

นักวิชาการบางท่านเสนอว่า หลังจากการเสียกรุงครั้งที่ ๑ แล้ว ได้มีการแก้เคล็ดด้วยการเปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่

เป็น  "อยุธยา" หมายถึง เมืองที่ใครก็เอาชนะไม่ได้









บริเวณนอกเขตพุทธาวาสของวัดมเหยงคณ์และวัดกุฎีดาว มีอาคารรูปร่างคล้ายกันแบบหนึ่ง เป็นอาคารก่ออิฐ ยกพื้นสูง คล้ายตึกสองชั้น เดิมชั้นบนปูพื้นด้วยไม้

บางท่านสันนิษฐานว่า อาคารทั้งสองหลังนี้ น่าจะเป็นพระตำหนักของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ และพระอนุชา (ต่อมาคือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)

ที่ใช้ประทับระหว่างกำกับการปฏิสังขรณ์วัดทั้งสองแห่งนี้ ซึ่งในพงศาวดารได้กล่าวว่า การปฏิสังขรณ์ต้องใช้เวลานานถึง ๓ ปี

และพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระก็มักเสด็จฯ มาทอดพระเนตรอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งได้แปรพระราชฐานมาประทับ ณ วัดมเหยงคณ์เป็นเวลานาน ๑ - ๒  เดือน

คาดว่าพระอนุชาซึ่งทรงรับหน้าที่ควบคุมการปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาว ก็น่าจะเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักวัดกุฎีดาว เพื่อติดตามงานบูรณะด้วยเช่นกัน

กระทั่งเมื่อปฏิสังขรณ์วัดเสร็จสิ้นแล้ว คงเปลี่ยนให้อาคารทั้งสองหลังนี้เป็นที่ประทับเพื่อทรงศีล หรือไม่เช่นนั้นก็อาจถวายเป็นกุฏิแก่พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ต่อไป

*** อาคารรูปแบบนี้ ยังพบได้อีกที่วัดเจ้าย่า และวัดพุทไธศวรรย์






พระตำหนักวัดมเหยงคณ์ ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของวัด  (***  เข้าใจว่าน่าจะเป็นภาพนี้ ถ้าผิดพลาด ขออภัยด้วยค่ะ  ***)





ตำหนักกำมะเลียน








ช่างอยุธยาได้เรียนรู้วิทยาการจากเปอร์เซีย ซึ่งนิยมทำหน้าต่างโค้งแหลม

ด้วยการเรียงอิฐตั้งสันขึ้นไปบรรจบกัน ทำให้น้ำหนักจากผนังที่กดลงมาแผ่กระจายไปตามผนังได้ดี









ตำหนักกำมะเลียน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ยาว ๓๐ เมตร กว้าง ๑๔.๖ เมตร

มีบันไดทางขึ้นอยู่ด้านข้างผนังด้านยาวเจาะช่องหน้าต่างชั้นบนด้านละ ๑๑ ช่อง เป็นทรงโค้งแหลม ส่วนชั้นล่างเจาะช่องหน้าต่าง ๑๐ ช่อง

บริเวณกึ่งกลางของชั้นล่างเจาะช่องประตูทางเข้าด้านละ ๑ ช่อง ผนังสกัดทั้ง ๒ ด้าน ชั้นบนเจาะช่องประตู ๓ ประตู ประตูกลางมีขนาดใหญ่ที่สุด

ส่วนชั้นล่างมีการเจาะช่องประตูขนาดเล็กเพียงช่องเดียวเชื่อมต่อระหว่างมุขและภายในอาคาร ภายในอาคาร มีเสา ๒ แถวๆ ละ ๑๐ ต้น แต่เหลือเพียงฐาน






วัดกุฎีดาวเป็นเสมือนวัดคู่แฝดกับวัดมเหยงคณ์

เพราะต่างก็ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญในรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๕๒ - ๒๒๗๕)

วัดมเหยงคณ์ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของวัดกุฎีดาวนั้นบูรณะโดยกษัตริย์

ส่วนวัดกุฎีดาวบูรณะโดยพระอนุชาซึ่งดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช หรือวังหน้า

และได้เป็นกษัตริย์องค์ต่อมา คือ พระเจ้าบรมโกศ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๗๕ - ๒๓๐๑)

วัดกุฎีดาวเริ่มการบูรณะหลังการบูรณะวัดมเหยงคณ์ ๒ ปี คือเริ่มบูรณะในปี พ.ศ. ๒๒๕๔ และบูรณะเสร็จในอีก ๓  ปีถัดมา

 วัดกุฎีดาวเป็นวัดที่ได้รับการบำรุงรักษา และมีความสำคัญในทั้ง ๒ รัชสมัย ทั้งสมัยพระเจ้าท้ายสระ และสมัยพระเจ้าบรมโกศ อันเป็นยุคที่บ้านเมืองสงบสุข

เป็น “ยุคทอง” สมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ ก็เป็นระยะเวลาเพียง ๑๐ ปี ก่อนการเสียกรุงครั้งที่ ๒

เหตุนี้ วัดกุฎีดาวจึงยังคงมีสภาพของโบราณสถานที่ดีกว่าวัดอื่นๆ ในแถบนี้


ข้อมูลจาก //www.ayutthayastudies.aru.ac.th/content/view/777/72/












ซุ้มประตูสมัยอยุธยาตอนปลาย





พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดยาว ๒๗.๘๐ เมตร กว้าง ๑๕.๔๐ เมตร ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกแก้วอกไก่

ทางด้านทิศใต้มีการทำบัวลูกแก้วอกไก่ ๒ ชั้น มีมุขด้านหน้าและด้านหลังยื่นออกมาจากตัวอาคารและมีบันไดทางขึ้นด้านข้างทั้ง ๒ ทาง

ฐานของมุขเป็นฐานสิงห์สภาพส่วนใหญ่ค่อนข้างสมบูรณ์










ผนังของอาคารเหลือเพียงสามด้าน คือด้านทิศเหนือ ตะวันออก และทิศใต้ ส่วนทางด้านตะวันตกได้พังทลายลงมา

ผนังด้านเหนือ - ใต้ มีการเจาะช่องหน้าต่างจริงสลับกับหน้าต่างหลอก ซึ่งมีร่องรอยลงรักสีดำรวม ๘ ช่อง






ซุ้มหน้าต่างเป็นทรงบันแถลงรองรับซุ้มด้วยฐานสิงห์ ซุ้มหน้าต่างส่วนมากพังทลาย แต่ยังมีบางซุ้มที่ยังเหลือสภาพค่อนข้างสมบูรณ์








ฐานชุกชีภายในพระอุโบสถมีการขยายให้ใหญ่ขึ้น

แสดงถึงการก่อสร้างมีมากกว่าหนึ่งครั้ง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่บางช่วงถูกขุดเจาะทำลาย




มีประตูทางเข้า ๓ ประตู ทั้งทางด้านหน้าและหลัง ประตูกลางก่อเป็นซุ้มทรงประสาทมีขนาดใหญ่กว่าประตูด้านข้าง









ภายในมีเสากลม ๒ แถว ปัจจุบันเหลือเพียง ๖ ต้น





บัวหัวเสาเป็นรูปบัวโถ ส่วนหลังคาได้พังทลายลงมาหมด













มหาเจดีย์ หรือเจดีย์ประธาน  เหลือเพียงชั้นฐานขององค์ระฆังเป็นเจดีย์ทรงลังกา ฐานย่อมุม มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออก ๒ บันได

สภาพชำรุด และมีซากของฐานเจดีย์ทิศทั้ง ๔ มุม มีลักษณะเป็นทรงระฆังกลมบนฐานแปดเหลี่ยม









ตัวองค์เจดีย์ประธานที่ความสูงเท่าที่เหลือทั้งหมด ๑๔.๕๐ เมตร ฐานประทักษิณทุกด้านจะมีรอยแตกเป็นแนวยาวแสดงถึงการทรุดตัวของเจดีย์

ลวดลายขาสิงห์ที่ประดับฐานประทักษิณขององค์เจดีย์ แข้งสิงห์มีการทำรอบหยัก ๒ หยัก ซึ่งมีลักษณะแปลกกว่าที่อื่น






ศ. ดร.สันติ เล็กสุขุม เสนอว่า หากการบูรณะเจดีย์โดยกรมศิลปากรไม่มีอะไรผิดพลาด ก็ถือว่าเจดีย์นี้มีรูปแบบที่น่าสนใจ

เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับเจดีย์มอญพม่า โดยเฉพาะที่ฐานเจดีย์ซึ่งทำเป็นชั้นเอนลาด ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปรับองค์ระฆัง

และไม่มีการทำ "บัลลังก์" เหนือองค์ระฆังเหมือนเจดีย์มอญพม่าอีกด้วย

สิ่งนี้ถือเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่ช่วยสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับมอญพม่า





บนลานประทักษิณพบหลักฐานการปูพื้นด้วยแผ่นหินสีเขียวอ่อน-เทา เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆ กัน มีระเบียงล้อมรอบลายประทักษิณ

ปัจจุบันพังหมดแล้ว เหลือเพียงเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ตรงมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้


















พบต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่บนลานประทักษิณด้านทิศเหนือ






อาคารขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็น วิหาร (ขนาด ๑๒ × ๔๐ เมตร) ประตูทางเข้าด้านหน้ามี ๓ ประตู ประตูกลางมีขนาดใหญ่กว่าประตูข้าง








ส่วนด้านหลังมี ๒ ประตู กรอบประตูเป็นซุ้มสามเหลี่ยม เหนือกรอบประตูเป็นลายปูนปั้นรูปมณฑปยอดปรางค์

(ในปัจจุบันได้รับการบูรณะให้มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์)



















































เก็บตกภาพรวมๆ ค่ะ

















ภาพสุดท้ายค่ะ ปะป๊าถ่าย....เค้ามาถ่ายแบบชุดไทย ด้านในตำหนักกำมะเลียน









Create Date :31 สิงหาคม 2558 Last Update :31 สิงหาคม 2558 5:10:23 น. Counter : 8746 Pageviews. Comments :24