bloggang.com mainmenu search






วัดบวรนิเวศวิหาร ตอนที่ ๑


สวัสดีบ่ายวันอังคารค่ะ พากลับเข้าวัดอีกแล้ว...เห็นพาเที่ยววัดบ่อย จริงๆ ก็ไม่ใช่แนวถนัด เราคิดว่าถ้าอยากจะดูอะไรสวยๆ งามๆ ในวัดน่าจะเป็นแหล่งรวมหลายสิ่ง หลายอย่างที่ว่ากันว่า "สวยงาม" และจงใจใช้คำว่า "เที่ยววัด" เพราะอยากให้รู้สึกแบบนั้น จริงๆ ค่ะ เพื่อนพี่น้องที่เคยหลงเข้ามาบล็อกเรา จนบัดนี้...ก็ยังคบหากันอยู่ คงพอจะุคุ้นเคยดี ว่าเราเคยคุยเรื่องนี้แล้ว ไม่อยากให้ใครคิดว่า เราธรรมะ ธัมโม ออกแนวร้อนตัว...กลัวตัวเองจะบาปค่ะ อารัมภบทยืดยาวอีกแล้วเนาะ....


ตอนสายๆ ของวันอาทิตย์ที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ พวกเราออกจากบ้านกัน ปะป๊ากับเมฆจะไปคลองถม (ขอเมาท์หน่อยค่ะ...คุณปะป๊าเธอชอบไปมากกกก เราเคยไปด้วย ๒-๓ หน ไม่ชอบเลย ไม่ชอบเดินที่แบบนี้ คนเยอะ ไม่รู้จะดูอะไร แต่เธอชอบค่ะ ไปแล้วไปอีก...) เราต่างคนต่างไป แม่มากับหมอก ปะป๊าแวะส่งที่ป้ายรถเมล์ รู้คร่าวๆ แค่ว่าแม่กับหมอกจะไปวัด...เดี๋ยวค่อยโทร. หากัน ไม่เป็นไร










จริงๆ ตั้งใจจะเดินไปวัดบวรนิเวศ ไหนๆ รถเมล์จอดตรงนี้ ข้ามฝั่งไปวัดชนะสงครามซะหน่อยเนาะ













คนเยอะมากค่ะ อาจเป็นเพราะวันอาทิตย์ด้วย เป็นวันพระด้วย













จะเข้าไปข้างในพระอุโบสถ...แหงะหน้าเข้าไปดู ได้เวลาญาติโยม ถวายเพลพอดีค่ะ













หมอกเองจริงๆ ก็ไม่ได้ชอบมาหรอกค่ะ แต่เพราะแม่พามา ร้อนด้วย ดูหน้าสิคะ











ถอยค่ะ ไปหาข้าวแกงแถวนั้นกินกันก่อน เดี๋ยวค่อยเดินไปวัดบวรนิเวศกันต่อ...รวบรัดตัดความเที่ยงพอดี ถึงแล้วค่ะ






















มาวัดนี้เป็นครั้งที่ ๔ แล้วค่ะ ครั้งนี้ตั้งใจจะมาถ่ายซ่อม คราวที่แล้วเดินไม่ทั่ว...


















พระพุทธบาทโบราณ (พระพุทธยุคลบาท หรือ ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลักที่ ๑๒)


พระพุทธยุคลบาท หรือ ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลักที่ ๑๒ ประดิษฐานภายในศาลาติดกำแพงด้านทิศตะวันตก รอยพระพุทธบาทนี้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงได้มาจากจังหวัดชัยนาท ประดิษฐานไว้ที่วัดบวรสถานสุทธาวาส ในรัชกาลที่ ๕ โปรดฯ ให้ย้ายมาเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๒ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงบูรณะต่อมุขศาลานี้เป็นที่ประดิษฐาน ภายในเจาะผนังเป็นคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ตรงกลางประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกศิลาสมัยลพบุรี ๒ ข้างๆ ละ ๑ องค์



รอยพระพุทธบาทคู่ หรือ พระยุคลบาทนี้สลักบนแผ่นศิลาแผ่นใหญ่ ยาว ๓.๖๐ เมตร กว้าง ๒.๑๗ เมตร หนา ๒๐ เซนติเมตร รอบรอยพระพุทธบาทสลักภาพพระอสีติมหาสาวกมีตัวอักษรบอกชื่อ และด้านข้างแผ่นหินด้านปลายพระบาทมีคำจารึกภาษามคธ อักษรขอม ๗ บรรทัด คำจารึกมีใจความว่า ครั้นแผ่นดินพระธรรมราชาที่ ๓ (ไสยลือไทย ) พระวิทยาวงศ์มหาเถร ได้นำแผ่นหินมายังเมืองสุโขทัย ครั้นมาแผ่นดินพระธรรมราชาที่ ๔ (บรมบาลมหาธรรมราชา) พระสิริสุเมธังกรสังฆนายกผู้เป็นศิษย์ของพระสิริสุเมธังกรสังฆราช ได้สลักรอยพระพุทธบาททั้งคู่ลงบนแผ่นหินนั้นตามแบบรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมนกูฏในลังกาทวีป เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำ พุทธศักราช ๑๙๗๐




















รอยพระพุทธบาทคู่นี้ อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม กลางฝ่าพระบาทแต่ละข้าง มีรูปธรรมจักรขนาดใหญ่ ลักษณะโดยทั่วไป คล้ายกับรูปพระพุทธบาทคู่ของลังกาสมัยอนุราธปุระและอินเดียสมัยโบราณ แต่ต่างกับลังกาที่ภายในธรรมจักรมีการแบ่งพื้นที่เป็นช่องบรรจุรูปมงคล ๑๐๘ ไว้ตามแนววงกลมเป็นชั้นๆ โดยจัดเรียงชั้นพรหมโลก และเทวโลกอันเป็นภูมิสูงสุดในจักรวาลไว้วงในรอบจุดศูนย์กลาง ส่วนพระจักรพรรดิรัตนะ เครื่องประกอบบารมี เครื่องสูง รวมทั้งมงคลอื่นๆ ของโลกมนุษย์ จัดเรียงไว้รอบนอก เป็นการเรียงลำดับตามชั้นของไตรภูมิ เรื่องสวรรค์อยู่รอบในสุด เรื่องหิมพานต์อยู่รอบกลาง เรื่องของมนุษย์อยู่รอบนอกสุด คติการสลักรอยพระพุทธบาทคู่นี้ คงได้รับรูปแบบมาจากพระพุทธบาทคู่ของลังกาโดยตรง จึงแตกต่างกับรอยพระพุทธบาทจำลองของสุโขทัยก่อนหน้านั้น ที่รับรูปแบบการจัดรูปมงคล ๑๐๘ ในช่องตาราง ตรงกลางฝ่าพระบาทมีธรรมจักรขนาดเล็ก



















วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุต ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศ และถนนพระสุเมรุ ในท้องที่แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างใหม่ในรัชกาลนั้น ที่ทำการปลงศพเจ้าจอมมารดา (น้อย) ซึ่งเป็นเจ้าจอมของพระองค์เจ้าดาราวดี พระราชชายา ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๗ และพ.ศ. ๒๓๗๕ (ปีระหว่างอุปราชาภิเษก และสวรรคตของสมเด็จพระบวรราชเจ้าพระองค์นั้น) ใกล้กับวัดรังษีสุทธาวาส ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๖ ซึ่งต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าร่วงโรยมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกับวัดบวรนิเวศวิหารเสีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ซึ่งในปัจจุบันยังคงเรียกส่วนที่เป็นวัดรังษีสุทธาวาสมาเดิมว่า "คณะรังษี"









































วัดนี้เดิมเรียก "วัดใหม่" น่าจะได้รับพระราชทานชื่อวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุราชาธิราส เจ้าฟ้ามงกุฏฯ ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุประทับอยู่วัดสมอราย (คือวัดราชาธิวาสในปัจจุบัน) เสด็จมาอยู่ครองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ สมเด็จพระบวรราชเจ้าพระองค์นั้น เสด็จสรรคตเมื่อต้น พ.ศ. ๒๓๗๕ เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่ได้ทรงตั้งเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวร (ไม่ได้ทรงตั้งจนตลอดรัชกาล)


เมื่อทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุราชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฏฯ เสด็จมาครองวัดใหม่ ก็ได้โปรดให้เสด็จเข้าไปทรงเลือกของในพระบวรราชวังก่อน มีพระประสงค์สิ่งใด พระราชทานให้นำมาได้ ข้อนี้มีหลักฐานสมจริง พระไตรปิฎกฉบับวังหน้าที่วัดนี้ มีกรอบและผ้าห่อสายรัดอันวิจิตร กรอบเป็นทองคำลงยาก็ เป็นถมตะทองก็มี เป็นงาสลักก็มี ประดับมุกก็มี เป็นของประณีตเกินกว่าทำถวายวัด เข้าใจว่าเป็นหนังสือที่ทรงสร้างไว้สำหรับพระราชวังบวร แม้เหล่านี้บางทีจะทรงเลือกเอามาในครั้งนั้นก็ได้ การที่โปรดฯ ให้เข้าไปทรงเลือกของในพระราชวังบวร และพระราชทานชื่อวัดที่เสด็จประทับอยู่ว่า "วัดบวรนิเวศวิหาร" ย่อมเป็นเหมือนประกาศให้รู้ว่า ทรงเทียบสมเด็จพระอนุราชาธิราส เจ้าฟ้ามงกุฏฯ ไว้ในฐานะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำแหน่งมหาอุปราช เพื่อป้องกันความสำคัญในการสืบราชสมบัติ เพราะคำว่า "บวรนิเวศ" เทียบกันได้กับ "บวรสถาน" ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเทียบได้กับ "วังบน" อันเป็นคำเรียกพระราชวังบวรอีกชื่อหนึ่ง มีคำเล่ากันว่า เมื่อสมเด็จพระอนุราชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฏฯ ทรงเลือกเอาหนังสือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงทราบว่ายังไม่ทรงลาผนวช และได้เชิญเสด็จสมเด็จพระอนุราชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฏฯ มาครองวัดนี้ในพุทธศักราช ๒๓๗๙ โดยจัดขบวนแห่เหมือนอย่างพระมหาอุปราช


อ่านเพิ่มเติมที่เว็บไซด์วัดบวรฯ ค่ะ












ทางเดินด้านขวามือพระอุโบสถ












ด้านหน้าพระอุโบสถค่ะ













พูดเหมือนเดิมค่ะ ถ่ายรูปยากมาก แสงน้อย ลองปรับ ISO ที่ 800






















เคยมาตอน ๒ ครั้งแรก เห็นเค้าซ่อมสีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นงานที่ละเอียดมาก...

เราๆ ซ่อมกันไม่เป็น...ดูอย่างรู้คุณค่า...ถือว่าช่วยกันรักษาแล้วค่ะ













ไม่มีป้ายห้ามบอกไว้ แต่เป็นอันรู้กันของคนถ่ายรูปว่า ไม่ควรใช้แฟลช













ลองปรับมาใช้โหมด S ดูบ้างค่ะ เหมือนจะถ่ายง่ายขึ้นกว่าโหมด A ยังใช้ ISO 800 เหมือนเดิมค่ะ













คนเยอะเหมือนกัน พื้นที่น้อยด้วยค่ะ ไม่ค่อยกล้าลุกขึ้นยืนถ่ายรูปเป็นงานเป็นการ คุกเข่าเล็งๆ เอา












และเพราะนั่งคุกเข่า เลยถ่ายติดหัวคนบ้าง...












ของจริงงามมากกว่านี้ค่ะ...ไม่รู้จะบรรยายยังไง...





























พระสุวรรณเขต หรือเรียกว่า "หลวงพ่อโต" หรือ "หลวงพ่อเพชร" คือพระประธานองค์ใหญ่ ตั้งอยู่ด้านในสุด เป็นพระประธานองค์แรกของพระอุโบสถนี้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระพุทธรูปโลหะ ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยา หน้าตักกว้าง ๙ ศอก ๒๑ นิ้ว พระยาชำนิหัตถการได้ปั้นพอกพระศกให้มีขนาดดังที่เห็นในปัจจุบันแล้วลงรักปิดทอง ด้านข้างพระพุทธรูปองค์นี้มีพระอัครสาวกปูนปั้นหน้าตัก ๒ ศอก ข้างละ ๑ องค์





































พระพุทธรูปวัดสระตะพานองค์นี้ เป็นพระหล่อ หน้าพระเพลา (ตัก) ๙ ศอก ๒๑ นิ้ว เป็นพระพุทธรูปโบราณ เรียกว่า พระโต แต่ นายอ่อน เจตนาแจ่ม ผู้รักษาพระอุโบสถเล่าว่า เคยได้ยินสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานิศรานุวัดติวงศ์ ตรัสกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่า "พระโตองค์นี้ ชาวพื้นเมืองเรียกกันว่า "หลวงพ่อเพชรๆ" ชื่อท่านมีอยู่แล้วว่า "พระสุวรรณเขต" ไม่เรียก เมื่อเชิญมา รื้อออกเป็นท่อนๆ ตามรอยประสานเดิม อัญเชิญลงแพ มาคุมเข้าเป็นองค์เดิมอีก ลักษณะที่คุมเข้าใหม่เป็นฝีมือของช่างกรุงเทพฯ โดยมาก แต่ยังพอสังเกตได้ว่าเดิมเป็นลักษณะพระขอม พระศกของพระพุทธรูปนี้ เดิมโตอย่างของพระพุทธชินสีห์ พระยาชำนิหัตถการ นายช่างกรมพระราชวังบวรฯ เลาะออกเสีย ทำพระศกของพระโตนี้ใหม่ด้วยดินเผาให้เล็ก ตามที่เห็นว่างามในเวลานั้น ประดับเข้าที่แล้วลงรักปิดทอง พระองค์ใหญ่ มีพระสาวกใหญ่นั่งคู่หนึ่ง หน้าตักสองศอกถ้วนเป็นพระปั้น

























































พระพุทธชินสีห์ ประดิษฐานอยู่ข้างหน้าพระพุทธสุวรรณเขต เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๔ นิ้ว สองข้างพระพุทธชินสีห์ มีรูปพระอัครสาวกคู่หนึ่ง สันนิษฐานว่า สมเด็จพระธรรมราชาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย โปรดฯ ให้สร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันกับพระพุทธชินราช และพระศรีศาสดา เดิมประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารด้านทิศเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาวิหารชำรุดทรุดโทรมลง สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาศักดิพลเสพ จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่มุขหลังของพระอุโบสถจัตุรมุข วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๔






























ก็ลองถ่ายไปเรื่อยๆ ค่ะ เลยเหมือนมุมซ้ำๆ ชดเชยแสงที่บวก 1.67 ISO 800 เหมือนเดิม












ชดเชยแสงบวก 2 เหมือนไม่ต่างกับภาพข้างบนเลยนะคะ




















ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงผนวช ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถหน้าพระพุทธสุวรรณเขต เมื่อพุทธศักราช ๒๓๘๐ แล้วได้ติดทองกะไหล่พระรัศมี ฝังพระเนตร และฝังเพชรที่พระอุณาโลมใหม่ พร้อมทั้งปิดทององค์พระพุทธรูป ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ในพุทธศักราช ๒๓๙๔ โปรดเกล้าฯ ให้แผ่แผ่นทองคำลงยาราชาวดีประดับพระรัศมีเดิม ถวายฉัตรตาด ๙ ชั้น ถวายผ้าทรงสะพักตาด ต้นไม้เงินทอง และกลองมโหระทึก สำหรับประโคมในเวลาพระสงฆ์บูชาเช้าค่ำเป็นเกียรติยศ พุทธศักราช ๒๓๘๙ โปรดเกล้าฯ ให้หล่อฐานสำริดปิดทองใหม่มีการสมโภช พุทธศักราช ๒๔๐๙ ทรงสมโภชอีกครั้งและถวายพระธำมรงค์หยกสวมนิ้วพระอังคุฐซ้าย

























พระพุทธสยามาภิวัฒนบพิตร ภูมิพลนริศทสสหัสสทิวัสรัชการี ปัณณาสวรรษศรีอุภัยมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปอิริยาบถลีลาปางห้ามพระแก่นจันทน์ ขนาดเท่าพระองค์ (๑๗๒ เซนติเมตร) เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๐ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้บนฐานชุกชีเบื้องพระหัตถ์ขวาพระพุทธชินสีห์ภายในพระอุโบสถ





















พระพุทธวิโลกนญาณบพิตร สิริกิติธรรมโสตถิมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร (ปางรำพึง )ขนาดเท่าพระองค์ขึ้น เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้บนฐานชุกชีเบื้องพระหัตถ์ซ้ายพระพุทธชินสีห์ภายในพระอุโบสถ






















บนฐานชุกชีเบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์มีพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้าประดิษฐานอยู่ ๓ องค์ องค์กลางด้านหน้าพระพุทธชินสีห์ คือ พระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ หล่อเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๙ ในรัชกาลที่ ๖ องค์ซ้ายพระพุทธชินสีห์ คือ พระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส หล่อเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๒ องค์ขวาพระพุทธชินสีห์ คือ พระรูปของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ หล่อเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๗















































มีแนวกั้นไว้ค่ะ เข้าไปใกล้กว่านี้ไม่ได้














ออกมาแล้วค่ะ















จากหน้าประตู ลองดึงเข้าใกล้สุดที่พี่สมคิด 18-55 จะทำได้














บล็อกหน้า...ต่อจากบล็อกนี้ค่ะ ยังอยู่ที่วัีดบวร...





ขออภัยค่ะ เกิน ๓๐ รูปอีกแล้ว....





ขอบคุณทุกท่านที่แวะทักทายกันค่ะ












Create Date :13 กันยายน 2554 Last Update :17 กรกฎาคม 2555 20:29:33 น. Counter : Pageviews. Comments :38