Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2551
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
2 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 

. . .“ธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัวใหญ่ ซีพี” แนะใช้ทฤษฎี 2 สูง . . .

“ธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัวใหญ่ ซีพี” แนะใช้ทฤษฎี 2 สูง แก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องขึ้นเงินเดือน-ค่าจ้างให้ประชาชน พร้อมกับดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น โดยไม่ต้องกังวลปัญหาเงินเฟ้อ เพราะจะทำให้รัฐฯได้ภาษีเพิ่มขึ้น มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตมากขึ้น ทำให้ในที่สุดราคาสินค้าจะปรับลงมาในระดับที่เหมาะสม

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) กล่าวในการสัมมนา "ทางเลือกสุดท้าย ทางรอดของประเทศ” โดยกล่าวถึงการใช้ทฤษฎี 2 สูง คือ รายได้ประชากรสูง และสินค้าเกษตรราคาสูง
นายธนินท์ กล่าวว่า ถ้าสินค้าเกษตรราคาดี จะทำให้เกษตรกรมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ในต่างประเทศมีแต่อุดหนุนให้สินค้าเกษตรมีราคาสูง ไม่มีประเทศใดทำให้ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ

นอกจากนี้รัฐต้องเพิ่มรายได้ให้ประชากร ทั้งข้าราชการ ลูกจ้างบริษัทเอกชน ตามราคาสินค้าที่สูงขึ้น เพื่อให้มีกำลังซื้อสินค้า ทำให้รัฐมีรายได้ภาษีเพิ่มมากขึ้น ทางด้านผู้ผลิตเมื่อผลิตสินค้าแล้วตลาดมีกำลังซื้อ ก็จะมีการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาด เมื่อถึงจุดที่อุปสงค์และอุปทานสมดุลกัน ราคาสินค้าจะลดลงได้

นายธนินท์กล่าวว่าการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และค่าแรงงานจะไม่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เพราะภาวะเงินเฟ้อหมายถึงว่าประชาชนมีเงิน แต่ซื้อของไม่ได้ ดังนั้นควรปล่อยให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตามความเป็นจริง และช่วยให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้นไปพร้อมๆ กัน เพื่อจะได้มีกำลังซื้อ

นายธนินท์ ยกตัวอย่างกรณีของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ปล่อยให้ราคาสินค้าแพง แต่รายได้ประชากรก็อยู่ในระดับสูง ญี่ปุ่นใช้ทฤษฎีนี้คือพยายามทำให้สินค้าแพง แต่ประชาชนมีเงินเหลือ ซึ่งประชาชนจะประหยัดการใช้เงินโดยอัตโนมัติ และมีการออมเงิน

ส่วนทฤษฎี 2 ต่ำ คือ รายได้ต่ำ ราคาสินค้าต่ำนั้น ไม่มีประเทศไหนนำไปใช้แล้วมั่งคั่ง ทฤษฎีนี้ถูกนำไปใช้ในประเทศสังคมนิยม เช่น จีน และรัสเซีย ซึ่งตอนนี้ก็ได้เปลี่ยนเป็นทฤษฎี 2 สูงหมดแล้ว เพราะทฤษฎี 2 ต่ำทำให้ประชาชนเกียจคร้าน

กล่าวคือ เมื่อประชาชนยากจนมีรายได้น้อยก็ไม่มีกำลังซื้อสินค้า เมื่อผู้ผลิตผลิตสินค้าแล้วไม่มีคนซื้อ ก็ไม่มีการพัฒนาการผลิตหรือใช้เทคโนโลยี ทางภาครัฐก็ขาดรายได้จากภาษี และทำให้ไม่สามารถขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการได้ ก็จะทำให้ความมั่งคั่งของชาติลดลง

แต่ทฤษฎี 2 สูงทำให้ประชาชนมีทางเลือก มีเงิน มีกำลังซื้อ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีก็เกิดขึ้น และในที่สุดราคาสินค้าเกษตรจะถูกลงมาเองตามธรรมชาติ อย่างเมื่อก่อนไก่เป็นอาหารคนรวย แต่ตอนนี้ไก่กลับมีราคาถูกกว่าหมู เนื่องจากรัฐบาลไม่เข้าไปแทรกแซงราคา ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทำให้ต้นทุนต่ำลง คนกล้าลงทุนมากขึ้น

นายธนินท์ กล่าวว่า ปัจจุบันถือเป็นยุคทองของการเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่มีราคาดี แต่ทำไมชาวนาจึงยากจน ซึ่งรัฐบาลต้องดูแล หากราคาข้าวจะถูกลงต้องให้ราคาน้ำมันลดลงก่อน เพราะอาหารมนุษย์จะมีราคาถูกกว่าอาหารของเครื่องจักรได้อย่างไร

"ข้าวจะไม่มีทางถูกลง ยกเว้นราคาน้ำมันลดลง หรือผู้บริหารประเทศบริหารผิดพลาด เพราะหากข้าวมีราคาถูก ชาวนาไปปลูกมันสำปะหลังหรือยางพาราดีกว่า เนื่องจากขายได้ราคาดีกว่า ทำให้วันหนึ่งข้างหน้าประเทศไทยอาจต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ที่ดินที่ปลูกข้าวสามารถนำไปใช้ปลูกพืชชนิดอื่นๆได้ แต่ที่ดินที่ปลูกพืชอย่างอื่นไม่สามารถนำมาใช้ปลูกข้าวได้"

นายธนินทร์ ยกตัวอย่าง กำไรต่อปีของเกษตรกรที่ปลูกพืชแต่ละชนิด ว่าถ้าปลูกข้าวหอมมะลิปีละครั้งจะมีกำไรไร่ละ 4,500 บาท ขณะที่เทียบกับการปลูกยางพาราจะมีกำไรไร่ละ 24,300 บาทต่อไร่, ปาล์มน้ำมัน กำไรไร่ละ 8,175 บาท และ มันสำปะหลัง มีกำไรไร่ละ 5,000 บาท ถ้าไม่ทำให้ราคาข้าวสูงเกษตรกรอาจเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่กำไรดีกว่าแทนได้

นายธนินท์ ระบุว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีการบริโภคข้าวมากกว่า 400 ล้านตันต่อปี ขณะที่ประเทศไทยส่งออกข้าวประมาณ 9 ล้านตันต่อปี และทุกปีจะมีผู้บริโภคข้าวเพิ่มขึ้นจนผลิตแทบไม่ทัน แต่จะทำอย่างไรให้ข้าวมีราคาแพงขึ้น รัฐบาลต้องรวมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกข้าว เช่น เวียดนาม จีน และอินเดีย เพื่อร่วมกันกำหนดราคาข้าวในตลาดโลก

นายธนินท์ ชี้ว่าผู้ขายข้าวต้องเป็นผู้กำหนดราคาขาย ไม่ใช่ให้ประเทศผู้ซื้อเป็นผู้กำหนดราคา นอกจากนี้ เราต้องช่วยกันซื้อแพงและขายแพง โดยประเทศไทยควรเก็บสต็อกข้าวไว้ประมาณ 5 ล้านตัน และส่งออก 4 ล้านตันแต่ขายในราคาที่สูง ให้ได้มูลค่าเท่ากับการส่งออก 9 ล้านตัน ก็จะเท่ากับเรามีข้าวฟรีเก็บไว้ถึง 5 ล้านตัน

นายธนินท์ กล่าวว่า ขอให้ไปศึกษาดูว่าในโลกนี้ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีประเทศใดบ้างที่แทรกแซงราคาสินค้าเกษตรให้ถูกลง มีแต่อุดหนุนให้ราคาเกษตรมีราคาแพงขึ้น เพราะหากรัฐบาลนำเงินไปทำให้สินค้าเกษตรถูกลง เกษตรกรก็ไม่มีเงินใช้สอยจับจ่ายส่งผลให้ธุรกิจ บริการ การค้าไม่หมุนเวียน สุดท้ายโรงงานปิด แต่หากประชาชนมีเงินใช้สอย ธุรกิจทุกอย่างจะขับเคลื่อนตามไปด้วย สุดท้ายรัฐบาลจะเก็บภาษีได้เพิ่มอย่างทวีคูณ มีการจ้างงานเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน หรือเกษตรกรสามารถกลายเป็นนักธุรกิจ ซึ่งสุดท้ายเกษตรกรจะร่ำรวยขึ้น

เทคโนโลยีทางการเกษตรมีความก้าวหน้าระดับโลกแล้ว หากรัฐบาลไม่เข้ามาควบคุมราคารับรองว่าสินค้าเกษตรจะไม่ขาดแคลน แต่ถ้ารัฐบาลเขามาควบคุมราคาแล้วของจะไม่มี ราคาสินค้าจะดิ่ง นักลงทุนจะไม่กล้าลงทุน และแบงก์จะไม่อยากปล่อยกู้"

นอกจากนี้ นายธนินท์ ยังประกาศสนับสนุนให้รัฐบาลเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และศึกษาเรื่องการตัดต่อพันธุกรรมพืช (GMO) อีกด้วย

ส่วนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่อาจเกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยวบ้าง




 

Create Date : 02 มิถุนายน 2551
11 comments
Last Update : 2 มิถุนายน 2551 19:26:00 น.
Counter : 901 Pageviews.

 


ทฤษฎี 2 สูงเป็นแนวความคิดที่ดี แต่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้มีแต่ซีพีหรือเปล่า ที่เพิ่มเงินค่าครองชีพแก่พนักงาน1,000 บาทตามทฤษฎี 2 สูง ธนาคารพาณิชย์ก็มี SCB, TMB, KBANK. เท่านั้นเอง

ขอบคุณข่าวเศรษฐกิจดีๆ ค่ะ


 

โดย: ทิวาจรดราตรี 2 มิถุนายน 2551 22:49:11 น.  

 

ทฤษฎีที่เป็นแค่ทฤษฏี !!!
ขอเชิญเจ้าสัวมาเป็นนายกหน่อยเถอะ
เจ้าสัวจะกล้าปริปากมั๊ย...

...ของแพงเจ้าสัวบอก ก็ขึ้นเงินเดือนตาม ขึ้นค่าแรงตาม
คนจะได้มีเงินมาซื้อของเจ้าสัว
ก็สลับกันแล้วกัน...เดือนนี้ของขึ้น เดือนหน้าเงินเดือนขึ้น
เดือนโน้นของขึ้นหนีไปอีก เดือนน้านนนเงินเดือนขึ้นตาม

..รีบๆพิมพ์แบงค์ใบละแสนออกมาใช้ดีกว่า
ขี้เกียจขยุ้มแบงค์ร้อยไปซื้อกะปิ

 

โดย: ป้าวี (ดราก้อนวี ) 3 มิถุนายน 2551 14:47:29 น.  

 

มีข้อสังเกตตามร้านอาหารที่มีพวกนักเรียน นักศึกษาไปใช้
บริการเยอะๆ เมื่อก่อนจะเห็นขวดเบียร์ร่วมด้วยบ่อยๆ

แต่เดี๋ยวนี้น้อยลงเยอะ เพราะข้าวแกงอย่างเดียวก็แพงแล้ว
แถมปริมาณลดลงมาก กินไม่ค่อยอิ่ม เข้าใจว่าเลยต้องลด
แอลกอฮอล์ลง

ลองนึกดีๆ เจ้าสัวอาจจะคิดถูกนะครับ

 

โดย: ป่าสัก IP: 124.157.188.186 4 มิถุนายน 2551 12:31:38 น.  

 

ขอเชิญท่านเจ้าสัวมาเป็นนายกดีกว่าค่ะ

แล้วท่านจะแซ่บ...ว่านโยบายที่คิดหาได้ทำได้ง่ายดายดังฝันเอ๊ย...

ดังหวังไม่

ติดตามอ่านมาหลาเรื่องแล้วค่ะ ข่าวคราวที่คุณชายลอยนำมาลงนี่วิชาเกินเอ๊ย....

วิชาการดีจริงๆ

มีบลอคอย่างคุณลอยเยอะๆนี่ อนาคตของชาติเจริญแต๊ๆเจ๊า

 

โดย: be-oct4 4 มิถุนายน 2551 16:28:57 น.  

 

อ๊ะ !!
ยายส้ม ชั้นมาอัญเชิญหล่อน
ไปทัศนา ให้ตาเหล่ที่บ้านชั้นนะยะ
มีกรณีพาดพิงเกี่ยวพันถึงหล่อนด้วยนะยะ

ขอบอกงานนี้ถ้าหล่อนไปแวะแอบอ่านเฉยๆ
ล่ะก้อ..สวย !! นะยะ หล่อน
เราจะได้เห็นดีกันย่ะ
อิอิอิ

ปอ ลอ ที่ชั้นว่าสวยน่ะ หมายถึงชั้น นะยะ
ไม่ใช่หล่อนนะอย่าเข้าใจผิด

ปอ ลอ สอง ชั้นน้ำมูกไหลอีกแร่ะ

อิอิอิ

 

โดย: ป้าซ่าส์ 4 มิถุนายน 2551 16:29:02 น.  

 

กรี๊ดดดด ยายเป็ด
ออนไลน์ๆๆๆๆ

 

โดย: ป้าซ่าส์ 4 มิถุนายน 2551 16:30:31 น.  

 

ออนไลน์แล้วไมยะยายป้า

พูดมากเดี๋ยวคราวหน้าโดน

ฮ่าๆๆๆๆ

 

โดย: เป็ดชักกระตุก ตุ๊ก ตุ๊ก..แก (be-oct4 ) 4 มิถุนายน 2551 16:46:39 น.  

 

"ทฤษฎีสองสูง" ในทางเศรษฐศาสตร์ : "นโยบายราคา และรายได้" (PRICE & INCOME POLICY)

ดร.พิสิฏฐ ภัคเกษม อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2551

แนวคิด "ทฤษฎีสองสูง" ที่ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวไว้คือ สูงแรก : เน้นว่า "ราคาสินค้าเกษตรจะต้องสูง" เพราะเหตุผลที่ว่าราคาสินค้าเกษตรจะเป็นแรงขับเคลื่อนตัวสำคัญ ต่ออุปสงค์/อุปทาน หรือ DEMAND/SUPPLY ของสินค้าเกษตร โดยการอาศัย "กลไกตลาด" เป็นหลัก

แต่ที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า ราคาสินค้าเกษตรในประเทศต่างๆ ไม่ได้เป็นไปตามหลักดังกล่าว แต่ราคาถูกกระทบและบิดเบือน ด้วยสาเหตุ 4 ประการ ดังนี้

ประการแรก "การที่ DEMAND สูง แต่ SUPPLY สินค้าเกษตรผลิตไม่ทันหรือไม่เพียงพอ" โดยเฉพาะในซีกโลกตะวันออก ได้แก่ จีน อินเดีย และอาเซียน ซึ่งมีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก มีเศรษฐกิจและรายได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการบริโภคอาหารเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ประเทศกลุ่มนี้กลายเป็นประเทศที่นำอาหารและสินค้าเกษตรเข้าสุทธิ และทำให้ราคาสูงขึ้นทั่วโลก

เช่นเดียวกับปริมาณการผลิตน้ำมันในตลาดโลกมีเพียง 80 ล้านบาร์เรล/วัน แต่มีความต้องการใช้มากถึง 83 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้น้ำมันในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น และอาจจะถึง $200 ต่อบาร์เรลอีกในไม่ช้า หรือกล่าวโดยสรุปได้ว่า โลกจะไม่มี "ยุคอาหารและน้ำมันถูกอีกต่อไป"

ในการนี้ทำให้รัฐบาลหลายประเทศดำเนิน "นโยบายเข้ามาแทรกแซงและบิดเบือนกลไกตลาด" ทำให้ราคาสินค้าเกษตรไม่เป็นไปตามกลไกตลาด จึงมีปัญหาขึ้นในปัจจุบัน อาทิเช่น การขายข้าว "ราคาถูก" หรือ "กดราคาพลังงานให้ถูก" ซึ่งจะกลายเป็น "ระเบิดเวลา" ทำให้เกิดปัญหาตามมามากยิ่งขึ้นในอนาคต

ประการที่ 2 "การเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ ของกองทุน HEDGE FUND" ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการ ที่ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 30%

ทั้งนี้ เพราะว่า กองทุน HEDGE FUND เหล่านี้ ได้เปลี่ยนจากการเก็งกำไรใน "ตลาดหุ้นและตลาดเงินตรา" มาเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์มากขึ้นในปัจจุบัน เพราะเล็งเห็นว่าอนาคตของสินค้าเกษตรมีแนวโน้มราคาที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะข้าวมีราคาแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการเก็งกำไรของกองทุนซื้ออนาคตเหล่านี้ ได้สร้างความบิดเบือนราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ประการที่ 3 "การที่นโยบายของรัฐเข้าแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร" โดยรัฐบาลในหลายๆ ประเทศทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศที่ร่ำรวยต่างก็ดำเนินนโยบายอุดหนุน (SUBSIDIES) และแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรในรูปแบบต่างๆ ขึ้น จึงทำให้เกิดการบิดเบือนราคา และสร้างความวุ่นวายให้กับกลไกตลาด โดยพยายามจะกดดันให้ราคาสินค้าถูกไว้

ตัวอย่างเช่น ในประเทศฟิลิปปินส์ แต่เดิมสามารถส่งออกข้าวออกไปต่างประเทศ แต่เนื่องจากรัฐบาลได้เข้ามาแทรกแซงราคาข้าว ทำให้ข้าวในประเทศมีราคาถูก ส่งผลให้ชาวนาเลิกปลูกข้าว จนทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่นำเข้าข้าวอันดับ 1 ของโลก คือประมาณ 2 ล้านตันต่อปี

ทั้งนี้ นายโรเบิร์ต เซลลิก (ROBERT B. ZOELLICK) ประธานธนาคารโลก เป็นอีกคนหนึ่ง ที่กล่าวว่า รัฐบาลในหลายๆ ประเทศ "ไม่ควรใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้าเกษตรและอาหาร" เพราะนั่นหมายถึง "การฝ่าฝืนกลไกตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดการบิดเบือนราคาไปเป็นอย่างมาก จึงเกิดการขาดแคลนขึ้น"

ประการสุดท้าย ผลกระทบจาก "ภาวะโลกร้อน (GLOBAL WARMING)" ในปัจจุบันส่งผลให้ภูมิอากาศทั่วโลกแปรปรวน (CLIMATE CHANGE) กระทบต่อผลิตผลด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะการผลิตอาหารลดน้อยลง และไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดโลก จึงส่งผลให้พืชเกษตรและอาหารมีราคาเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ดังนั้น สูงที่ 1 คือ "ราคาสินค้าเกษตรสูง" คือ การปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตร เป็นไปตาม DEMAND & SUPPLY และกลไกตลาด รัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซงหรือควบคุมราคา ทำให้เกิดการบิดเบือนและไม่ได้ผล

สูงที่ 2 คือ "รายได้หรือค่าจ้างของประชาชนจะต้องสูง" ให้สัมพันธ์กับราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ตามแนวคิด "ทฤษฎีสองสูง" จะมุ่งเน้นรายได้ประชาชน 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1) เกษตรกรในชนบท ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จะต้องทำให้มีรายได้สูงขึ้น 2) รายได้ ข้าราชการ และผู้ใช้แรงงานในเมือง ก็จะต้องสูงขึ้นเช่นกัน

การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรใน "ชนบท" นั้น หากปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตรเป็นไปตามกลไกตลาดนั้น รายได้ของเกษตรกรก็จะเพิ่มขึ้น จะมีกำลังซื้อมากขึ้น มีการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจส่วนรวมของไทยขับเคลื่อนได้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องมีนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมด้าน "การยกระดับภาคเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น" รัฐควรให้ความสำคัญกับการทำ "เกษตรแบบดั้งเดิม" คือ เกษตรกรรายย่อย

โดยการเข้าไปลงทุน พัฒนาบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็น สำหรับการเกษตร อาทิเช่น ขยายระบบชลประทาน ให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี และจัดระบบโลจิสติกส์ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดความเสี่ยง และเพิ่มอำนาจต่อรองให้เกษตรกร ให้ได้ราคาที่เป็นธรรม

เพื่อให้ "เกษตรแบบดั้งเดิม" ได้พัฒนาควบคู่กับ "การเกษตรแบบก้าวหน้า" ที่ภาคเอกชนดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว ก็จะส่งผลให้ภาคการเกษตรของประเทศไทยเข้มแข็ง และมีฐานะรายได้ดีขึ้น

ในส่วนการเพิ่มรายได้ให้กับคน "ในเมือง" หมายถึง รายได้ของผู้ใช้แรงงาน และข้าราชการที่มีรายได้ต่ำมาก และไม่สัมพันธ์กับภาระด้านรายจ่ายตามค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จากการที่ราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น

จึงควรเน้นพิจารณา "ปรับรายได้" ให้ "สัมพันธ์" กับ "ราคา" ที่สูงขึ้น เพื่อให้ประชาชนกลุ่มนี้สามารถอยู่ได้ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ประชาชนในช่วงนี้ก็จำเป็นจะต้องปรับวิถีชีวิตโดยเฉพาะ ในเรื่องการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายได้และค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยยึดระบบเศรษฐกิจแบบ "พอเพียง" มาใช้

นอกจากนี้ ถ้าเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้สูงขึ้น ก็จะมีพลังการจับจ่ายใช้สอยเป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้เศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศเราได้มี "การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน" ต่อไป

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า "ทฤษฎีสองสูง" เป็น "กฎเหล็ก" ทางเศรษฐศาสตร์ที่สามารถนำมาปฏิบัติได้หรือใช้ได้จริง ซึ่งจะกลายเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะนำแนวคิดทฤษฎีสองสูงมาใช้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่ราคาสินค้าเกษตร มีแนวโน้มราคาสูง เพราะไทยเราเป็นประเทศเกษตรกรรม คนส่วนใหญ่ของประเทศก็มีอาชีพเป็นเกษตรกร

รัฐควรให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรมากขึ้นกว่าปัจจุบัน เพื่อให้ประเทศไทย จะได้รักษาฐานะเป็น "อู่ข้าว" หรือ "ผู้ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก" ต่อไป เพื่อนำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน


 

โดย: som IP: 203.146.31.234 5 มิถุนายน 2551 13:58:36 น.  

 

อยากให้ คุณ ธนินท์ มาเป็น รมต.เกษตรจริงๆเลย
ข้าวไทยไปขาย ตปท. ได้มากกว่าเดิมแน่
แต่ พอขายได้ก็น่าจะมาเพิ่ม เงินเดือนให้ พนง. หรือ
ซื้อข้าวจาก ชาวนาได้ในราคาที่สูงขึ้น

สาธุ ถ้าแกไปทำงาน ในรัฐบาลนี่คงไม่ธรรมดาเลย

ฟังที่แกพูดโดยรวมแล้ว แกมองอะไรเป็นตัวเลขที่
Practical ตลอดเลยนะครับ

 

โดย: Rushing Dandy IP: 58.9.6.187 7 มิถุนายน 2551 9:34:22 น.  

 

2 บิ๊กเนมลงทุนปลูกข้าว

ขณะที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ในกลุ่มธุรกิจเกษตรบ้านเราคนจะหนีไม่พ้นเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ ที่เรียกติดปากชาวบ้านว่าซี.พี. ได้รุกธุรกิจค้าข้าวมานานแล้วโดยในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ปี 2522 จนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันซี.พี.คือกลุ่มค้าข้าวครบวงจรรายแรกของไทยก็ว่าได้เพราะ เริ่มตั้งแต่หาพื้นที่ส่งเสริมทำในลักษณะคอนแทร็กฟาร์มิ่งกับเกษตรกรและได้ขยายพื้นที่ปลูกข้าวในประเทศเพิ่มขึ้นในทุกๆปีซึ่งซี.พี.เองมีข้าวพันธุ์ผสมของตัวเองที่ให้ผลผลิตมากกว่าพันธ์พื้นเมืองเกือบเท่าตัว

โดยผลิตผลิตที่ได้จะนำมาผลิตข้าวถึง "ตราฉัตร" และที่เหลือจะส่งออกไปยังต่างประเทศซึ่งจากข้อมูลล่าสุดปีที่แล้ว (2550) มียอดการส่งออกเกือบ 150,000 ตันขณะที่ข้าวตราฉัตรเองก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเป็นกว่า 5% ในปีที่ผ่านมา

ยิ่งการออกย้ำหัวหมุดของ "เจ้าสัว-ธนินท์ เจียรวนนท์" ถึงทิศทางการรุกธุรกิจข้าวมากขึ้นในปีต่อๆโดยเอาหลักการบริการ การวิจัยพันธุ์พืช เข้ามาร่วมมากขึ้นจะทำให้ซี.พี.ยังครองธุรกิจเกษตรแบบครบวงจรต่อไปอีกยาวนาน

ส่วนอีกฝากหนึ่งเหมือนการชิมลางคือ บริษัท ทีซีซีอะโกร จำกัดหนึ่งในบริษัทลูกในเครือไทยเบฟของ"เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี" ที่ได้ประกาศผ่านสื่อดังๆแล้วว่า จนในจะลงทุนในธุรกิจข้าวในอนาคตซึ่งเรื่องดังกล่าว "เสี่ยเจริญ" ส่งลูกชายอย่าง "ปณต สิริวัฒภักดี"เข้ามาดูแลโดยเฉพาะโดยมี "อนันต์ ดาโลดม" ซีอีโอทีซีซีอะโกรเข้ามาเป็นเพื่อนคู่คิดอีกทาง

เบื้องต้นจะนำร่องปลูกข้าวในพื้นที่จังหวัดหนองคายประมาณ 2,000ไร่และหากประสบผลสำเร็จก็เตรียมที่ดินกว่า 10,000 ไร่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงทุนเต็มตัว

คงไม่ธรรมดาเพราะ "2 เจ้าสัว" ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องวิสัยทัศน์ยังสนใจอาชีพเกษตรกรแต่การลงทุนดังกล่าวจะทำให้ชาวนาไทยลืมตาอ้าปากได้หรือไม่

หรือจะเป็นการรุกธุรกิจข้าวแบบผูกขาดกระนั้นหรือ..? แล้วกระดูกสันหลังของชาติก็จะเป็นเพียงลูกจ้างทำนาเท่านั้นเอง..



//www.measwatch.org

 

โดย: ดราก้อนวี 9 มิถุนายน 2551 9:39:27 น.  

 

...

ขอบคุณครับ ป้าวี
มีข้อมูลหลายๆด้านมาแบ่งปันกันอีกน๊า...

...

 

โดย: loykratong 9 มิถุนายน 2551 13:25:31 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.