'หัวใจ๋ข้า หัวใจ๋เจ้า ห้อยอยู่เก๊าเดียวกั๋น' *
*คลิกเพื่ออ่านคำแปลเจ้า :)

กำบ่ะเก่า...บ่เล่าอาจจะลืม (๑๒)คนง่าวผ่าไม้ก๋วมต๋า...



"คนง่าวผ่าไม้ก๋วมต๋า คนมีผญ๋าผ่าไม้โล่งป้อง"

คำแปล : คนโง่ผ่าไม้คร่อมตา คนมีปัญญาผ่าไม้ทะลุปล้อง

ขยายความ : คนโง่อาจเข้าใจง่าย ๆ ว่าตาไม้ใผ่หรือตรงบริเวณข้อท่อนไม้ไผ่นั้นน่าจะตัดง่ายเพราะมีร่องรอยของปล้องให้เห็นเป็นแนวให้ตัดตาม

แต่แท้จริงแล้วจะตัดให้ขาดยากเพราะตาไม้จะแข็ง และสะเก็ดไม้ที่แข็งอาจกระเด็นถูกลูกตาผู้ตัดให้ได้รับอันตรายได้

ไม้ใผ่มีความแข็งแกร่งอยู่ที่ตาของปล้องเพราะข้างในไม่มีแก่นจึงแทนด้วยตาที่แข็ง การตัดที่ตาดูคล้ายว่าง่าย เพราะเป็นข้อต่อ แต่การตัดกว่าจะเสร็จ กลับช้ากว่าผ่าไม้ไผ่ตรงที่ไม่มีตาของปล้อง ที่ต้องใช้สมาธิหรือความตั้งใจจึงจะตัดขาด้วยมีดที่ฟันลงไปให้ถูกแนวเดียวกัน

คนมีผญ๋า (ปัญญา) ย่อมแก้ปัญหาตามหลักธรรม(ดา)

ทว่าคนโง่มักทำอะไรที่ฝืนความจริงหรือธรรมชาติ เช่น ล่านกและงูที่ช่วยกำจัดแมลงแล้วใช้ยาฆ่าแมลงแทนจนเกิดพิษภัยมาถึงผู้บริโภคเสียเอง

มีสตรีไร้สติบางคนอกเน่าเพราะเอาเงินมาก ๆ ไปจ้างเขาแต่งให้ตึง โดยดึงตรงนั้นหั่นตรงนี้อันเป็นการฝืนธรรมชาติตามระบบธาตุสี่ในสรีระของตนเอง

บางคนไปอาบน้ำมนต์เจ็ดวัดเพื่อแก้เสนียดจัญไร แต่กลับป่วยไข้จนตายด้วยโรคปอดบวม เป็นต้น

(อ้างอิง : ภูมิปัญญาล้านนาชน อ.มานิต สุทธจิตต์)








"คนจะดี มันตึงดีแต่ผ้าอ้อมป้อก คนจะวอก ผมหงอกก่ะตึงบ่ดี"

ศัพท์ : ผ้าอ้อมป้อก หมายถึง ทารกที่พันด้วยผ้าอ้อม
วอก หมายถึง คนไม่ดี คนโกหกหลอกลวง

คำแปล : ถ้าคนมันจะดีมันก็ดีมาแต่เกิด คนไม่ดี แก่จนผมหงอกหมดหัวก็กลับดีได้ยาก

ขยายความ : เป็นคำกล่าวเปรียบเปรยว่า คนเราเกิดมาย่อมแตกต่างกัน แม้จะเป็นพี่น้องคลานตามกันมา ลูกพ่อแม่เดียวกัน ได้รับการอบรมสั่งสอนมาเหมือน ๆ กัน ความคิดความเห็นตลอดจนอุปนิสัยใจคอก็อาจแตกต่างกันได้

หากคนมีจิตสำนึกที่ดี มีนิสัยดี ก็มักจะเป็นเช่นนั้นปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ยังเล็ก ๆ แต่หากบางคนที่มีนิสัยแย่ ๆ ชอบโกหกพกลม หลอกลวงผู้อื่น (ที่คนเมืองเปิ้นฮ้องว่า"วอก"นั่นแล) ก็จะเป็นเช่นนั้นแม้แก่จนเจียนจะเข้าโลงก็ตามที






"อยากมีหื้อหมั่นก๊า อยากขึ้นสวรรค์จั๊นฟ้าหื้อฆ่าเจ้าของ"

ศัพท์ ก๊า หมายถึง ค้าขาย, จั๊นฟ้า หมายถึง สวรรค์, เจ้าของ หมายถึงเจ้าตัว หรือตัวเอง

คำแปล : อยากร่ำรวยให้ขยันทำงาน อยากไปสวรรค์ให้ฆ่าตัวเอง

ขยายความ : เป็นคำกล่าวเชิงปริศนาธรรม คำว่า "ฆ่าเจ้าของ" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้ฆ่าตัวตาย หากหมายถึงให้ฆ่ากิเลสตัณหาที่มีอยู่ในตัวเอง ประพฤติตนดี ถูกต้องตามหลักศีลธรรม แล้วจะได้ไปสวรรค์เมื่อยังมีชีวิตอยู่นี่เอง ตามคำกล่าวที่ว่า "สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ"






"เก็บผักลวดหักหลัว ตกขัวลวดอาบน้ำ"

ศัพท์ : ลวด หมายถึง พลอยกระทำ , หลัว หมายถึง ฟืน , ขัว หมายถึง สะพาน

คำแปล : เก็บผักแล้วเลยหักฟืน ตกสะพานแล้วเลยอาบน้ำ

ขยายความ : เป็นคำกล่าวคำสอนให้รู้จักพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส หรือใช้ประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ ให้เต็มที่ จะได้ไม่เสียโอกาสเสียเวลา

"กำบ่ะเก่า" กำนี้บอกเล่าถึงวิถีชีวิต วิธีคิด ตลอดถึงภูมิปัญญาของคนบ่ะเก่าได้เป็นอย่างดี...ว่า"คนบ่าเก่า"นั้นมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย และพอเพียง เช่นไหน ๆ ก็เข้าป่าไปหายอดผักมากินอยู่แล้วก็ให้พลอยหักฟืนแถว ๆ นั้นมาด้วย จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเข้าป่าไปสองทีสามที
หรือเดิน ๆ ข้ามสะพานอยู่หากพลาดพลั้งตกลงไปในน้ำก็ให้พลอยอาบน้ำเสียเลย อย่างนี้เป็นต้น

















 

Create Date : 06 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 8 มิถุนายน 2552 13:34:21 น.
Counter : 2012 Pageviews.  

เจ้ายี่จักไปตางซ้าย เจ้าอ้ายจักไปตางขวา...กำบ่ะเก่า..บ่เล่าอาจลืม (๑๑)



หลายคนอาจจะกำลังเบื่อหน่ายกับข่าวสารบ้านเมืองทุกวันนี้ จขบ.ก็เป็น...แต่ได้พยายามหาวิธีขจัดความเบื่อหน่าย ความขุ่นข้องหมองใจในตัวเอง

ใน"กำบ่ะเก่า" อันเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณล้านนามักจะสอดแทรกคติชีวิต
ข้อคิดต่าง ๆ ให้ได้ฉุกใจ และเตือนจิตสะกิดใจไม่มากก็น้อย อยู่เสมอ ๆ

วันนี้ขอนำเสนอสำนวน"กำบ่เก่า" ที่..."บ่เก่า" (ไม่เคยล้าสมัย) อย่างแท้จริง...
นั่นคือสามารถปรับใช้ได้แบบ...อกาลิโกเลยทีเดียว






" เจ้ายี่จักไปตางซ้าย เจ้าอ้ายจักไปตางขวา
น้องก็ว่าน้องจะจี่ ปี้ก็ว่าปี้จะเผา "


ศัพท์ : เจ้าอ้าย หมายถึง พี่
เจ้ายี่ = สอง , น้อง
จี่ = ปิ้ง , ย่าง

คำแปล : "คนน้องจะไปทางซ้าย แต่คนพี่จะไปทางขวา น้องว่าน้องจะปิ้ง พี่ก็ว่าพี่จะเผา "
ความหมาย : เป็นคำกล่าวเปรียบเปรยถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าระดับไหน นับแต่สังคมหน่วยที่เล็กที่สุดคือครอบครัว
แม้พี่น้องคลานตามกันมาก็ยังอาจมีความคิดเห็นขัดแย้ง ไม่ลงรอยกันได้ ซึ่งอาจมีผลทำให้กิจการงานต่าง ๆ ที่ทำร่วมกันไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
เป็นคำสอนของคนโบราณที่มีต่อบุคคลที่ต้องมาอยู่ร่วมกันว่าให้มีความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อสังคมส่วนรวมจะได้อยู่เย็นเป็นสุข






"คนเฮาใหญ่แล้ว บ่ถ้าไผสอน จิ๊งหีดแมงจอนไผสอนมันเต้น"

คำแปล : คนเราโตแล้วไม่ต้องรอให้ใครมาสอนก็รู้ดีชั่วได้ ดูแต่จิ้งหรีดแมลงจอนนั่นปะไร ผู้ใดมาสอนให้มันเต้นหรือก็เปล่า"

ความหมาย : คำกล่าวนี้สามารถตีความได้สองนัยยะ นั่นก็คือ หากกล่าวต่อผู้เยาว์ ก็เหมือนกับเป็นการกล่าวเตือนว่า โต ๆ กันแล้วนะ ไม่ต้องรอให้ใครมาคอยตักเตือนสั่งสอนอยู่เรื่อยไป ควรรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดีได้ด้วยตัวเอง

แต่ในอีกนัยยะหนึ่ง หากคำกล่าวนี้กล่าวกับผู้ใหญ่ ก็เป็นการปรามว่าอย่าไปบังคับหรือจ้ำจี้จ้ำไชอะไรกับเด็ก ๆ หรือผู้อยู่ใต้การปกครองให้มาก เพราะพวกเขาโต ๆ กันแล้ว ให้ปล่อยวางเสียบ้าง ให้พวกเขาคิดเอง สำนึกเอง แล้วดำเนินชีวิตของตนเองไปตามธรรมชาติ ตามครรลองของแต่ละคนนั่นเอง







"จับใจ๋แฮ้ง บ่แน่นใจ๋ก๋า ถูกใจ๋ครูบา บ่เปิงใจ๋พระน้อย"

คำแปล : จับใจอีแร้ง อาจจะไม่ถูกใจอีกา ถูกใจครูบา(เจ้าอาวาส) อาจไม่ถูกใจพระน้อย(สามเณร)

ความหมาย : เป็นคำกล่าวเปรียบเปรยว่าคนเรามีความชอบหรือไม่ชอบในสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน
บางสิ่งเราอาจจะคิดว่าถูกต้อง ดีงาม แต่มันอาจจะไปขัดใจผู้อื่นก็เป็นได้
หรือบางทีเราไม่ชอบในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่คนอื่นเขาอาจจะชื่นชม พอใจในสิ่งนั้น ๆ
เป็นการสอนให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือเอาใจเราไปใส่ใจเขานั่นเอง

มีอีกคำที่ความหมายใกล้เคียงกันนั่นก็คือ "จับใจ๋งู บ่จูใจ๋เขียด" (ถูกใจงูแต่ไม่ถูกใจเขียด)






"คนง่าวบ่ะมี คนผะหญาดีก่ะง่อม"

คำแปล : หากไม่มีคนโง่เสียแล้ว คนฉลาด(คนมีปัญญา) ก็คงเหงา(ตาย)

ความหมาย : คิดว่าคงไม่ต้องขยายความอะไรให้มากสำหรับคำกล่าวนี้

คนเราอยู่ร่วมกันในสังคม ระดับสติปัญญาอาจแตกต่างกัน
แต่คุณค่าของความเป็นคนล้วนเท่าเทียมกัน

ฉะนั้น อย่าไปประมาทคนโง่ว่าไม่มีสาระไม่มีประโยชน์
เพราะหากไม่มีคนโง่เสียเลยในสังคม
คนฉลาดก็คงเฉาตายด้วยไม่รู้จะเอาความฉลาดไปใช้กับใคร

มีสำนวนที่ความหมายใกล้เคียงกันอีกหนึ่งสำนวน คือ
"คนฮ้ายบ่มี คนดีง่อมล้ำ"
(หากไม่มีคนร้ายเสียเลย คนดี ๆ ก็คงเหงา...เนาะ )












 

Create Date : 23 มิถุนายน 2551    
Last Update : 6 พฤษภาคม 2556 10:56:26 น.
Counter : 4141 Pageviews.  

หม้อบ่ฮ้อน ไหฮ้อน - - 'กำบ่ะเก่า'



Photobucket



ขอคุยก่อน...
เมื่อเช้าต้องตื่นเช้ากว่าปกติ เพราะวันนี้เป็นวันอังคาร ซึ่งเป็นวันที่เราจะต้องทำกับข้าวเยอะเป็นพิเศษเพื่อจัดใส่ปิ่นโตให้กับบรรดาสามเณรน้อยทั้งหลาย - -

ขอขยายความนิดนึง ที่หมู่บ้านหลังดอยเล็ก ๆ ของแม่ไก่นี้ มีวัดประจำหมู่บ้านเป็นวัดที่ "ใหญ่" พอสมควร เพราะอดีตหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดท่านเป็นถึงเจ้าคณะอำเภอและรองเจ้าคณะจังหวัด หลวงพ่อท่านเป็นพระที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และเล็งเห็นคุณค่าของการศึกษา ท่านได้ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมการกุศลขึ้นในวัด นักเรียนของโรงเรียนก็จะเป็นเด็ก ๆ จากทั้งในหมู่บ้านและต่างหมู่บ้าน...

มีทั้งนักเรียนที่เป็นฆราวาสและที่บรรพชาเป็นสามเณร นักเรียนที่เป็นฆราวาสจะไม่มีปัญหา เพราะพักอยู่ที่บ้านและมาโรงเรียนแบบไป-กลับ แต่นักเรียนส่วนใหญ่ที่เป็นสามเณร และกว่า ๘๐ % ก็เป็นสามเณรที่มาจากต่างจังหวัด นักเรียนสามเณรเหล่านี้จะมีปัญหาเพราะพ่อแม่ยากจน ทางโรงเรียนหรือวัดก็อุปถัมภ์ได้เพียงบางส่วน จึงเป็นหน้าที่ของชาวบ้านในหมู่บ้านที่ต้องช่วย ๆ กัน

โดยจัดแบ่งจำนวนครัวเรือนในหมู่บ้านทั้งหมดออกเป็นเจ็ดกลุ่ม แต่ละกลุ่มรับผิดชอบเรื่องข้าวปลาอาหารให้กับพระ - เณรในวัดกลุ่มละวัน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามลำดับตั้งแต่อาทิตย์ - จันทร์

ทำเช่นนี้ ทางวัดก็จะได้ปิ่นโตวันละประมาณ ๓๐ เถา นำไปจัดแบ่งให้พระ - เณร(รวมทั้งขโยมหรือเด็กวัด)ในวัด ซึ่งมีอยู่ด้วยกันประมาณ ๒๐๐ กว่ารูป ร่วมกับอาหารจากการบิณฑบาตในแต่ละเช้า

ที่บ้านฉันจัดอยู่ในกลุ่มวันอังคาร ดังนั้น ทุกเช้าวันอังคารฉันจะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อจัดเตรียมอาหารหวานคาวแล้วบรรจุใส่ปิ่นโตที่เด็กวัดนำมาแขวนไว้ให้ที่หน้าบ้านตั้งแต่เย็นวันก่อนหน้า...





เอ้า...มาถึงที่มาของ 'กำบ่ะเก่า' ที่อยากจะพูดถึงวันนี้เสียที...
เมื่อเช้าตื่นขึ้นมาแต่เช้า เตรียมตั้งหม้อนึ่งข้าวตามปกติ (อ้อ...ทางวัดเขาขอให้เป็นข้าวเหนียวเพื่อเด็ก ๆ จะได้อิ่มนานกว่ากินข้าวสวย)
แต่...คุณพระช่วย...แก้สหมด!
ขณะนั้นเป็นเวลาตีห้าเศษ...ฉันไม่กล้าโทรปลุกพี่ร้านแก้สที่มีอยู่เพียงร้านเดียวในหมู่บ้านฉัน เพราะเขาเคยบอกไว้หลายครั้งแล้วว่าเขาไม่ชอบตื่นเช้า กว่าเขาจะเปิดร้านก็ปาเข้าไปแปด เก้าโมงนู่น...
ฉันหันรีหันขวางอยู่แป๊บหนึ่ง ก็นึกได้ว่าเรามีถ่านนี่นา อย่ากระนั้นเลย ขืนรอแก้สมาส่ง สามเณรไม่ต้องกินข้าวกันพอดี ...
ลองคืนสู่วิถีชีวิตดั้งเดิมแบบเก่า ๆ ดูทีหรือ สมัยที่เรายังเด็ก ๆ พ่อกะแม่เขาเลี้ยงเรามาเขาก็ไม่ได้มีเตาแก้สใช้นี่นา ...เขายังเลี้ยงเราจนโตมาป่านนี้ได้

ฉันลงมือก่อไฟในเตาถ่าน อย่างทุลักทุเล ค่อย ๆ พัด จนไฟเริ่มติดถ่าน และคุแดงขึ้นทีละน้อย ๆ จึงเอาหม้อนึ่งขึ้นตั้ง...รู้สึกภูมิใจในตัวเองไม่น้อยที่สามารถก่อไฟตั้งเตาได้ แหะ ๆ
แต่เจ้าประคุณเอ๋ย...แม้ถ่านไฟในเตาจะคุแดงโร่อย่างนั้น แต่น้ำในหม้อนึ่งข้าวก็ไม่มีวี่แววว่าจะเดือด หรือแม้แต่จะร้อนเลยสักที...
เวลาเคลื่อนกระดึบ ๆ ไปอย่างรวดเร็ว...ตาย...อย่างนี้ฉันจะทำอะไรได้ล่ะเนี่ย...

ณ ห้วงเวลานั้นเอง...ที่ฉันได้ประจักษ์แจ้งในความหมายของ กำบ่ะเก่าคำนี้...
นั่นคือคำว่า...หม้อบ่ฮ้อน ไหฮ้อน ...แปลว่า...หม้อไม่ร้อน แต่ไหร้อน...

กำบ่ะเก่าคำนี้มาจากวิธีนึ่งข้าวของคนโบราณ ที่ยังใช้หม้อดินต้มน้ำ และใช้เตาฟืน (หรือ"หลัว"ในกำเมือง) กับภาชนะที่ใส่ข้าวนึ่งที่ทำด้วยท่อนไม้กลึงให้กลวงและกลมเพื่อตั้งสวมเข้ากับหม้อดินนั้นพอดี เรียกว่าไหข้าว
และมีผ้าชิ้นยาว ๆ เรียกว่า "เตี่ยวหม้อนึ่ง" (เตี่ยว แปลว่า กางเกง) พันหุ้มรอยต่อระหว่างหม้อกับไหข้าวไว้กันไอน้ำรั่ว หม้อดินนั้นมักจะหนาทำให้น้ำร้อนช้า แต่คนนึ่งก็มักจะใจเร็วอยากให้ข้าวสุกทันใจ จึงต้องเร่งไฟบ้าง ใช้ไม้แหลมแทงข้าวสารเพื่อให้ไอน้ำขึ้นมาให้นึ่งข้าวเร็วขึ้นบ้าง จึงมีคำเปรียบเปรยทำนองว่า หม้อต้มน้ำยังไม่ทันร้อน แต่ใจคนเฝ้าไหร้อนล่วงหน้าไปก่อนแล้ว...

คำกล่าวนี้เป็นการกล่าวเตือนคนที่ใจเร็ว ใจร้อนว่า อย่าตั้งความหวังอะไรไว้ล่วงหน้า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเกิดแต่เหตุปัจจัย ไม่มีอะไรจะเกิดก่อนเกิดได้...

มีกำบ่ะเก่าที่มีความหมายใกล้เคียงกันอีกสองถึงสามสำนวน ได้แก่ "ข้ามขัวบ่ป๊น ฟั่งห่มก้นแยงเงา " แปลว่า..."ข้ามสะพานยังไม่พ้น (ยังไม่ถึงอีกฝั่ง)ก็อย่าเพิ่งรีบก้มดูเงาตัวเอง(ในน้ำ)"

ขัว หรือสะพานในสมัยก่อนมักจะหมายถึงสะพานไม้เล็ก ๆ ที่พาดไว้ข้ามคู คลอง การเดินข้ามต้องใช้ความระมัดระวัง ถ้าเผลอสติ ใจลอยมัวแต่ก้มดูเงาตัวเองก็อาจจะพลัดตกลงไปในน้ำได้..

หรืออีกสำนวนหนึ่งบอกว่า "บ่ตันนั่ง ฟั่งเหยียดแข้ง " แปลว่า "ยังไม่ทันลงนั่งเลยแต่รีบเหยียดขาออกไปเสียแล้ว" ผลก็คือก้นจ้ำเบ้านั่นแหละ...

หากเทียบกับสำนวนคำสอนของไทยภาคกลางน่าจะได้แก่..."อย่าใจเร็วด่วนได้" นั่นเอง




ภาพสะพานสวย ๆ นี้จิ๊กมาจากบล็อกน้องสาวเจ๋วะรัฐถะ
เจ้า


ผลสรุปของการทำกับข้าวด้วยเตาถ่านของฉัน (ที่ถึงแม้หม้อที่ใช้จะเป็นหม้ออลูมิเนียม และ"ไหข้าว"ก็เป็นภาชนะที่ทำด้วยผิวไม้ไผ่ขัดสานเป็นรูปกรวย ซึ่งทันสมัยกว่าหม้อดินและไหไม้แบบโบราณเยอะก็ตามที...)ก็คือ...ฉันนึ่งข้าวได้สำเร็จในเวลาหนึ่งชั่วโมงพอดิบพอดี...ข้าวหอม นุ่มนวลเป็นอันดี
แต่กับข้าวนั้น...ฉันต้องปั่นจักรยานไปตลาด แล้วซื้อแกงถุงมาใส่ปิ่นโต แทนที่จะทำเองซึ่งฉันเชื่อว่าฉันอาจจะต้องใช้เวลาอีกหนึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย...แหะ ๆ

(ปกติฉันค่อนข้างแอนตี้แกงถุงน่ะ เพราะเกรงความไม่ปลอดภัยจากสารบางอย่างที่มากับถุงพลาสติค กับผงชูรสที่พวกแม่ค้ามักจะใส่ในปริมาณเยอะ ๆ )

เฮ้อ...ขอเตื้อเดียวเน้อเจ้าน้องเณร...










 

Create Date : 10 มิถุนายน 2551    
Last Update : 6 มิถุนายน 2552 9:32:50 น.
Counter : 1174 Pageviews.  

วิถีธรรมใน "กำบ่ะเก่า" ~ 'พ่ายจ๊างหื้อเข้าหว่างงา'




'พ่ายจ๊างหื้อเข้าหว่างงา'

คำแปล :หากจำต้องวิ่งหนีช้าง ให้เข้าอยู่ระหว่างงาทั้งคู่ของมัน

ขยายความ : ในโลกของปุถุชน เราต่างต้องดิ้นรนสู้กับโลก
และต่างก็ถูกความทุกข์รุกไล่ เสียดแทงประดุจงาช้างสารที่กำลังพยศ

โบราณท่านบอกวิธีเอาชนะช้างไว้ว่า หากต้องสู้กับช้าง อย่าวิ่งหนี
ด้วยยิ่งหนีก็จะยิ่งโดนไล่แทง
แม้จะปีนขึ้นต้นไม้ช้างก็คงเขย่าต้นให้เราตกลงมาแล้วใช้งาแทงเราจนถึงบาดเจ็บเป็นแผลเหวะหวะ หรือกระทั่งล้มตายได้...

แต่ท่านให้เราหันเข้าเผชิญหน้ากับช้าง
แล้วหาทางเข้าไปอยู่ในระหว่างกลางของงาทั้งสองของมัน...

งาทั้งคู่ของช้างคืออุปมาแห่งอาวุธของความทุกข์ที่เริ่มต้นด้วย 'ความเป็นของคู่ - Duality ' ดังปรากฏในตำนานเรื่องของอาดัมกับอีวา...
อาดัมและอีวาถูกพระเจ้าสั่งห้ามกินผลไม้แห่งความดีและความชั่ว...
อันเป็นต้นตระกูลของความเป็นของคู่... คือดี คู่กับชั่ว

ช้างในที่นี้หมายถึงโลก
งาทั้งคู่หมายถึงโลกธรรมแปด...สี่คู่...
คือคู่แห่งความมีและความเสื่อมนั่นเอง...

มีลาภคู่กับเสื่อมลาภ
มียศคู่กับเสื่อมยศ
มีสรรเสริญคู่กับนินทา
มีสุขคู่กับทุกข์


การเข้าไปอยู่ระหว่างงาก็หมายถึงการเข้าไปอยู่ทางสายกลาง
หรือมัชฌิมาปฏิปทา
ไม่หลงยึดทางใดทางหนึ่งจนเกินไป
ไม่ว่าทางด้านดีหรือชั่ว ได้หรือเสีย
เพราะไม่ติดสมมติว่า ดีหรือชั่ว ได้หรือเสีย

แต่ถือแลเห็นว่าเป็นธรรมดาโลก ไม่เศร้าโศกหรือลิงโลด...
นั่นคือชัยชนะ ด้วยหากไม่ยึดชั่วไม่ถือดี
จิตอยู่เหนือกรรม งาทั้งคู่จึงทู่ทื่อสิ้นคม

ในชีวิตคนเรา ย่อมมิอาจปลีกตัวให้พ้นไปจากการถูกต้องสัมผัสด้วยโลกธรรมทั้งสี่คู่ดังกล่าว แม้กระทั่งพระบรมศาสดา

แต่พระองค์ทรงชี้แนะให้เรา "ไม่ติดไม่ยึด" ในโลกธรรมนั้น ๆ
ประดุจใบบัวที่รับน้ำค้าง แต่ไม่เปียกด้วยน้ำค้างฉันใด








*เรียบเรียงจาก "ภูมิปัญญาล้านนาชน" อ.มานิต สุทธจิตต์ ม.สถาบันราชภัฎลำปาง

*ขอบคุณภาพประกอบจากฟอร์เวิดเมล์
เป็นภาพชุดศิลปะไทย โดย อ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์











 

Create Date : 26 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 29 กรกฎาคม 2552 11:14:32 น.
Counter : 7419 Pageviews.  

กำบ่ะเก่า...บ่ะเล่าอาจลืม (๑๐) ปากหวานจ้อย ๆ เหมือนน้ำอ้อยป้อกสะเลียม...






ภาพข้างบนนี้ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาบล็อกหรอกค่ะ เห็นว่าสวยดีก็เอามาแปะไว้เท่านั้นเอง...แหะ ๆ

เช่นเคยค่ะ สำหรับบล็อกนี้ขอเก็บเอา "กำบ่ะเก่า" อันเป็นภูมิปัญญาคนโบราณล้านนามาบันทึกไว้...เพราะ..กำบ่าเก่า...บ่ะเล่าอาจจะลืมแต๊ ๆ หนาเจ้า






"ปากหวานจ้อย ๆ เหมือนน้ำอ้อยป้อกสะเลียม"

ศัพท์ :

ป้อก = พอก หรือฉาบ
สะเลียม = สะเดา


คำแปล :คำปากที่หวานจ๋อยก็เหมือนกับน้ำอ้อยที่ฉาบสะเดาไว้ภายใน
เป็นสุภาษิตเตือนใจว่าอย่าได้หลงเชื่อคำพูดที่หวานหู เพราะมันมักจะเจือความขมอย่างสะเดาไว้ในความหวานที่ฉาบหน้านั้น





"มดแดงมดดำ ต๋ายเพื่อน้ำอ้อย ละอ่อนน่อยหันก้ากำกิ๋น "

ศัพท์ :
เพื่อ = เพราะ
ละอ่อนน้อย = เด็ก ๆ
หันก้า = เห็นแก่
กำกิ๋น = ของกิน


คำแปล : มดตายเพราะน้ำหวาน เหมือนเด็ก ๆ เห็นแก่ของกิน

เป็นคำกล่าวไว้เตือนใจคนที่เห็นแก่อามิสสินจ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือสิ่งยวนใจที่มีคนเอามาหลอกล่อให้หลงตามติดเขาไปกระทำการอันเป็นอันตรายแก่ตนเอง
เหมือนบรรดามดทั้งหลายที่พากันไต่เข้าหาน้ำหวานจนในที่สุดก็พากันจมถ้วยน้ำหวานตายกันเป็นเบือ...
เพราะนั่นเป็นธรรมขาติของมันทำให้อดไม่ได้ ต่อให้มีคนเตือนเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง ต้องปล่อยให้เรียนรู้เอง ซึ่งบางครั้งก็อาจจะสายเกินแก้





"หน่วยนักหนักกิ่ง กำกึ้ดยิ่งหนักใจ๋ "
ศัพท์ :

หน่วย = ผลไม้เป็นลูก ๆ
กำกึ๊ด = ความคิด


คำแปล : ต้นไม้ที่มีผลดกจะทำให้หนักกิ่ง จนอาจจะทำให้กิ่งไม้นั้นโน้มลงมา บางกิ่งที่รับน้ำหนักไม่ไหวก็อาจจะถึงกับหักลงได้
ก็เปรียบเหมือนคนที่คิดมาก คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ความคิดเหล่านั้นอัดแน่นอยู่ในใจ จนทำให้เกิดภาวะหนักอกหนักใจ และส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิตของตนเอง





" ไม้สูงกว่าไม้ หักเพื่อลมฝน คนสูงกว่าคน ก๊านภัยต๋นหั้น"

ศัพท์ :
ก๊าน = แพ้
หั้น = นั่นเอง


คำแปล : ต้นไม้ที่สูงกว่าต้นอื่น ๆ มักจะหักง่ายกว่าเพราะโดนลมพายุก่อนใคร เหมือนคนที่อยู่ในที่สูงก็มักจะแพ้ภัยตนเอง ล้มได้ง่าย ๆ
เป็นคำกล่าวเตือนใจบุคคลว่าอย่าทำตัวเด่นกว่าคนอื่น เพราะนั่นจะเป็นภัยแก่ตัว เหมือนต้นไม้ที่สูงเด่นกว่าต้นอื่น ๆ เมื่อลมแรงพัดมาก็โค่นล้มก่อนใคร
ดังคำกล่าวทางภาคกลางที่ว่า...'ยิ่งสูงยิ่งหนาว'...
หรือคำเตือนที่บอกว่า...'จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย
ไม่มีใครเขาอยากเห็นเราเด่นเกิน'
...นั่นเอง












 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 3 ตุลาคม 2551 21:54:02 น.
Counter : 1143 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

แม่ไก่
Location :
ลำปาง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 184 คน [?]




**หลังไมค์เจ้า**





Cute Clock Click!



เออสิ,มาอยู่ใยในโลกกว้าง
เฉกชลคว้างมาเมื่อไรไม่นึกฝัน
ยามจากไปก็เหมือนลมรำพัน
โบกกระชั้นสู่หนไหนไม่รู้เลย


รุไบยาต ~ โอมาร์ คัยยัม
สุริยฉัตร ชัยมงคล : แปล




Latest Blogs

~ท่านหญิงในกระจก/แสงเพลิง ~

~เพชรรากษส/อลินา ~

~มนตร์ทศทิศ/ราตรี อธิษฐาน ~

~เมื่อหอยทากมีรัก 1-2/"ติงโม่"เขียน/พันมัย แปล ~

~ให้รักระบายใจ/"ณกันต์"เขียน ~

~ผมกลายเป็นแมว/Abandoned/Paul Gallico เขียน(ภูธนิน แปล) ~

~พ่อค้าซ่อนกลรัก & หมอปีศาจแสนรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~อาจารย์ยอดรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~จอมโจรพยศรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~


สารบัญหนังสือ: รวมลิงก์หนังสือที่รีวิวในบล็อก # ๑ + ๒



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่ไก่'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.