'หัวใจ๋ข้า หัวใจ๋เจ้า ห้อยอยู่เก๊าเดียวกั๋น' *
*คลิกเพื่ออ่านคำแปลเจ้า :)

กำบ่ะเก่า...บ่เล่าอาจจะลืม (๑๖) เกิดเป๋นฅน ควรดีร่ำปิ๊ด...







" เกิดเป๋นคน ควรดีร่ำปิ๊ด
หื้อหันสิ่งอั้น เป๋นภัย
กันค่ำมาแล้ว อย่าสอดแอ่วไก๋
จัดแจงต๋ามไฟ ไหว้สาพระเจ้า
หลับอย่าลุกขวาย เนอนายลูกเต้า
อย่าได้มัวเมา ต่ำจ๊า
กันแสงอรุณ สายส่องขึ้นฟ้า
หื้อเจ้าลูกหล้า ทำงาน "








ความหมายและคำแปล


"ค่าวก้อม" บทนี้เป็นคำสอนคนบ่ะเก่าล้านนา ที่สอนลูกผู้หญิงว่า...
เกิดมาเป็นคนควรร่ำพิจารณาถึงสำนึกผิดชอบชั่วดี
รู้การควร ไม่ควร รู้จักระมัดระวังตน สำเหนียกถึงสิ่งที่อาจจะเป็นภัยแก่ตน

ตกเย็นก็อย่ามัวเถลไถลเที่ยวไปไกลบ้าน ก่อนนอนควรไหว้พระสวดมนต์ให้เป็นกิจวัตร
ถึงตอนเช้าก็ให้ตื่นแต่เช้า ตาม"กำบ่ะเก่า" ที่บอกว่า "ลุกเจ๊าได้กิ๋นผักยอดป๋าย ลุกขวายได้กิ๋นผักยอดเก๊า" ( ตื่นแต่เช้าได้กินผักยอดอ่อน ๆ แต่ถ้าตื่นสายก็จะได้กินแต่โคนผักหรือก้านผักที่แข็ง )

ลูกสาวของแต่ละบ้านจะต้องรู้จักนึ่งข้าวเป่าไฟ ทำกับข้าวกับปลาไว้ให้พ่อกับแม่
และโดยประเพณี ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเนิ่นนานนั้น หน้าที่เหล่านี้มักจะตกอยู่กับผู้ที่เป็น"ลูกสาวหล้า" นั่นคือลูกสาวคนสุดท้อง
เพราะเชื่อว่าจะเป็นผู้สืบทอด "บ้านเก๊า" (คือจะเป็นคนรับหน้าที่ดูแลบ้านและพ่อแม่ยามแก่ชราต่อไป)






ขออู้เอิ้นสั้น ๆเจ้า...
ปัจจุบันตัวแม่ไก่ต้องทำหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น ทั้ง ๆ ที่บ่ใจ้ "ลูกสาวหล้า"

แต่ก็เห็นว่าคำบอกคำสอนของ "คนบ่ะเก่า" นั้น มีเหตุมีผลมีนัยยะอันลึกซึ้งแฝงอยู่เสมอ สามารถนำไปใช้ได้กับผู้ที่น้อมรับคำสอนเหล่านั้นไปปฏิบัติทุกคน มิได้เจาะจงบอกกล่าวผู้ใดโดยจำเพาะ...

ข้อสำคัญ...เป็น "กำบ่ะเก่า" ที่บ่าเคยเก่าอย่างแท้จริง

ขอนำมาบันทึกไว้หน้านี้ เพราะกำบ่ะเก่า...
หากไม่เก็บมาเล่า...เกรงว่าอาจจะถูกลืมเลือนไป...ในวันหนึ่ง











 

Create Date : 17 ธันวาคม 2551    
Last Update : 5 มิถุนายน 2552 13:44:31 น.
Counter : 1915 Pageviews.  

กำบ่ะเก่า...บ่เล่าอาจจะลืม (๑๕) เผื่อฮู้ก่ะปอวาย เผื่ออายก่ะปอเถ้า....



Photobucket


"เผื่อฮู้ก่ะปอวาย เผื่ออายก่ะปอเถ้า เผื่อฮู้กำพระเจ้า ก่ะปอเข้าไปอยู่ในหล้อง "

ศัพท์ : วาย = สาย, เลิกรา (เช่นตลาดวาย เป็นต้น)
เถ้า = เฒ่า , แก่
หล้อง = โลง
คำแปล : กว่าจะรู้ก็สาย กว่าจะอายก็แก่ กว่าจะรู้ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เมื่อเข้าโลง
ขยายความ : เป็นคำกล่าวในเชิงเตือนสติว่าให้รีบเร่งศึกษาหาความรู้ และฝึกฝนปฏิบัติธรรมเสียแต่เมื่ออายุยังน้อย อย่าปล่อยให้วันเวลาล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ หากรอจนแก่ชราลงทุกอย่างก็อาจจะสายเกินการ


Photobucket


"ก้อนหินขว้างซัด ถูกตี้หินขัง จ้างหุมขะนัง สะต๊อนใส่หน้า"

ศัพท์ : ตี้หินขัง = หน้าผาหิน
จ้าง = ช่าง,มักจะ
หุมขะนัง = มีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนั้น
สะต๊อน = สะท้อน

คำแปล : ถ้าขว้างก้อนหินไปถูกบริเวณหน้าผาหรือกำแพงหินนั้น ก้อนหินนั้นอาจจะสะท้อนกลับมาถูกหน้าผู้ขว้างได้

ขยายความ :เป็นคำกล่าวเตือนใจว่า หากจะกระทำการใด ๆ ก็ตามควรคิดให้ดีก่อนที่จะลงมือทำ ให้ระมัดระวังถึงผลที่จะสะท้อนกลับเข้าหาตนเอง เช่น ถ้าทำร้ายผู้อื่น ผลร้ายจะกลับมาถึงตน พูดให้ร้ายบุคคลอื่นตัวเองก็จะเป็นแบบนั้น
อาจจะเปรียบได้กับสำนวนไทยภาคกลางที่ว่า...ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว...หรืออีกสำนวนหนึ่งที่ว่า...ถ่มน้ำลายรดฟ้า...(สุดท้ายน้ำลายนั้นก็ลงมารดหน้าตัวเอง)


Photobucket


"ยามป้อแม่มี กิ๋นขว้างโบ๊ะขว้างบ๊ะ กันป้อแม่ต๋ายละ เป๋นมะห่อยนอยจา"

ศัพท์ : ป้อแม่ = พ่อแม่
ขว้างโบ๊ะขว้างบ๊ะ = ทิ้งๆ ขว้างๆ,
มะห่อยนอยจา = มะระขม หรือมะระขี้นก (มักใช้เปรียบเทียบกับอะไรที่แตกหักแล้ว ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน)

คำแปล : ตอนที่พ่อแม่ยังมีชีวิต เรามักจะกินใช้อะไรทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ แต่เมื่อพ่อแม่ตายจากไป สิ่งที่เหลืออยู่ก็กลายเป็นอีลุ่ยฉุยแฉกไป

ขยายความ : ในขณะที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่นั้น คนเป็นลูกมักจะใช้จ่ายเงินทอง สิ่งของอย่างสุรุ่ยสุร่าย โดยไม่คิดว่าเงินหรือทรัพย์สินที่มีอยู่นั้น พ่อแม่หามาด้วยความยากลำบาก และย่อมจะมีวันหมดไปได้
จนกระทั่งท่านทั้งสองตายจากไปนั่นแหละ ไม่มีใครให้พึ่งพาหรือสนใจดูแล ชีวิตก็จะประสบแต่ความทุกข์ยาก ทรัพย์สินเงินทองก็กระจัดกระจายสูญหายไปสิ้น
สุภาษิตนี้สอนให้ลูกหลานรู้จักทำมาหากินมีความขยันขันแข็ง และมีความประหยัดไม่ฟุ้งเฟ้อ แม้ในยามที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อวันข้างหน้าจะได้สบาย


Photobucket


“กันเฮาเป๋นดี มีเก้าป้าสิบป้า ไหลตวยมา บ่จ๊า
กันจ๊ะต๋าลง พันธุ์พงษ์ปี้น้า บ่เหลียวหน้ามาใจ
เปิ้งปี้เจ็บต๊อง เปิ้งน้องเจ็บใจ๋ กึ๊ดสังอันใด ใจ๋ตั๋นตีบเสี้ยง”


ศัพท์ : ไหลตวยมา = หลั่งไหลมา
บ่จ๊า = ในไม่ช้า
จ๊ะต๋า = ชะตา
มาใจ = มาดูแล, มาเยี่ยม
เปิ้ง = พึ่งพา
ต๊อง = ท้อง
กึ๊ด = คิด
สังอันใด = (อะหยัง) อะไร
ตั๋นตีบเสี้ยง = ตีบตัน, ตื้อตันไปหมด

คำแปล : ยามเรามั่งมี มีป้าเก้าคนสิบคน หลั่งไหลมาหาไม่รอช้า ครั้นถึงคราวชะตาตกอับพี่ป้าน้าอาไม่มาสนใจ จะพึ่งพี่ก็ปวดท้อง จะพึ่งน้องก็เจ็บใจ คิดอะไรก็คิดไม่ออก

ขยายความ : "กำบ่ะเก่า" สำนวนนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็น "ค่าวก้อม" คือเป็นคำค่าวบทสั้น ๆ ที่ให้ข้อคิด เตือนจิตสะกิดใจ ทั้งยังบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของผู้คนอันเป็นธรรมดาโลก นั่นคือ เมื่อยามที่เราเฟื่องฟู มั่งมีเงินทองทรัพย์สิน ดูเหมือนว่าญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงจะเข้ามาห้อมล้อมเต็มไปหมด แต่หากเมื่อใดถึงคราวชะตาตก ทรัพย์สินเงินทองหมดไป พี่น้องเพื่อนฝูงก็มักจะหายหน้าหายตาไปเช่นกัน...
เป็นการ "จ่ม"(บ่น)ในเชิงน้อยอกน้อยใจในชะตาชีวิตของตนเองรวมทั้งเป็นการเตือนสติไม่ให้เราหลงใหลไปกับคำสรรเสริญเยินยอจากผู้อื่น หรือหวังพึ่งผู้อื่นมากไป...เพราะการหวังพึ่งผู้อื่นนั้นย่อมจะนำมาซึ่งความผิดหวังอยู่เรื่อยไป...
ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนจึงเป็นสุภาษิตที่สอดคล้องกับ "กำบ่ะเก่า" สำนวนนี้เป็นที่สุด

มี "กำบ่าเก่า" อีกหนึ่งสำนวนที่ความหมายใกล้เคียงกับสำนวนข้างต้น คือ...

"ยามเป๋นดีมีเก้าป้าสิบป้า เสื้อปุดหลังขาดหน้า ป้าฅนเดียวก่หาย"

ศัพท์ :ปุด = ขาด

คำแปล : ยามที่เรามั่งมีศรีสุข ก็จะมีป้าถึงเก้าคนสิบคนมาดูแล แต่เมื่อใดเราตกอับถึงขนาดใส่เสื้อผ้าขาดปุปะทั้งหน้าหลัง...ป้าแม้แต่คนเดียวก็หายหน้า



Photobucket



**ทยอยเก็บเล็กผสมน้อย "กำบ่ะเก่า" ค่ะ อาจจะไม่ได้เรียงตามลำดับหัวข้อหมวดหมู่อะไรชัดเจนนัก
แต่นึกอะไรได้ก็นำมาอัพ มาบอกต่อ...

หากปี้ ๆ น้อง ๆ คนใดจะใช้อ้างอิงกรุณาตรวจเช็คกับผู้รู้(จริง)อีกทีเน้อเจ้า







 

Create Date : 04 ตุลาคม 2551    
Last Update : 5 มิถุนายน 2552 12:23:07 น.
Counter : 4348 Pageviews.  

กำบ่ะเก่า...บ่เล่าอาจจะลืม (๑๔) ฮู้วันเกิดบ่ฮู้วันต๋าย...




ห่างหายจากการอัพบล็อกกลุ่มนี้ไประยะหนึ่งทีเดียว เพราะมัวเพลิดเพลินกับการอ่านหนังสือ รีวิวหนังสือ พร้อมกับติดตามข่าวสารสถานการณ์บ้านเมือง...

บล็อกล่าสุดในกรุ๊ปนี้ก็ล่วงเลยไปกว่าเดือนแล้ว ถึงวันนี้ประเทศไทยก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้วเรียบร้อย

หวนนึกถึง"กำบ่าเก่า" หลายสำนวนที่เกี่ยวข้องการเกิด การตั้งอยู่ การดับไปและการพลิกผันปรวนแปรของชีวิต มีหลายคำที่ชวนให้ฉุกใจ และสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ ง่าย ๆ แต่...ชวนคิด





๑. "ฮู้วันเกิดบ่ฮู้วันต๋าย ลางวันเป็นนายลางวันเป๋นข้า"

คำแปล: รู้วันเกิด ไม่รู้วันตาย บางวันอาจจะเป็น(เจ้า)นาย บางวันอาจจะเป็น(ขี้)ข้า

ขยายความ : ชะตาชีวิตของคนเราไม่มีอะไรแน่นอน เรารู้วันเกิดของตัวเองได้ เพราะพ่อแม่จำไว้จดไว้แล้วบอกเล่า แต่ไม่มีใครสามารถล่วงรู้ถึงกำหนดวันตายของแต่ละคนได้ ในช่วงที่มีชีวิตอยู่นี้อาจจะมีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย บางสิ่งอาจจะเหนือความคาดหยั่ง บางอย่างอาจจะพลิกผันตลอดเวลา ตามแต่เหตุ -ปัจจัย
ดังนั้น เราจึงไม่ควรประมาทในการใช้ชีวิต พึงตระหนักอยู่เสมอว่า ชีวิตนี้มีค่า หากแต่ไม่จีรังยั่งยืน มีเกิดแล้วก็ต้องมีตาย สิ่งที่เหลือไว้ก็คือความดีความชั่วที่เรากระทำในขณะที่มีชีวิตอยู่นั่นเอง






๒."เกิดตะวา มืนต๋าต๊ะเจ๊า จะไปฟั่งแก่เฒ่ากั๋นเลย"

คำศัพท์ : ตะวา = เมื่อวาน
มืนต๋า = ลืมตา
ตะเจ๊า = เมื่อเช้านี้
จะไปฟั่ง = อย่าเพิ่งรีบ


คำแปล : เกิดเมื่อวานนี้ ลืมตาเมื่อเช้านี้ จะรีบแก่เฒ่ากันไปไย

ขยายความ : เป็นคำบอกคำเตือนในเชิงให้กำลังใจกับคนหนุ่มคนสาวที่อาจจะกำลังเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ของชีวิต ว่ายังอยู่ในวัยเยาว์เหมือนชีวิตเพิ่งเริ่มต้น หากท้อแท้ท้อถอย ก็เหมือนกับทำตัวเป็นคนแก่ชราเกินอายุ






๓."แก่ย้อนกิ๋นข้าว เฒ่าเพราะเกิดเมิน"
หรือ “แก่ย้อนกิ๋นข้าว เฒ่าเพราะปี๋เดือนวัน บ่ได้สำคัญตี้อายุ”


คำศัพท์ : ย้อน = เพราะ (อันเนื่องมาจาก)
เมิน = นาน
คำแปล : แก่เพราะกินข้าว ชราเพราะเกิดมานาน หรือ แก่เพราะกินข้าว ชราเพราะจำนวนที่เพิ่มขึ้นของวันเดือนปีที่เกิดเท่านั้น ไม่ได้สำคัญที่อายุ

ขยายความ : เป็นคำกล่าวเชิงเปรียบเปรยผู้ใหญ่ที่ทำตัวไม่น่านับถือ ประมาณว่า...แก่เสียเปล่า แต่ทำตัวไม่น่าเคารพเลย ดังนั้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ควรทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อโลกและสังคมบ้างอย่าปล่อยตัวไร้สาระไปวัน ๆ เด็ก ๆ มันจะว่าเอาได้ว่า "...แก่ย้อนกิ๋นข้าว..."






๔."อย่าอวดสูงกว่าป้อแม่ อย่าอวดแก่กว่าอาจารย์"

คำแปล : อย่าอวดว่าตัวเองสูงส่งกว่าพ่อ-แม่ อย่าอวดว่าตนแก่ (ความรู้)กว่าครูบาอาจารย์

ขยายความ : เป็นคำกล่าวในทำนองตักเตือนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่อาจจะได้ร่ำเรียนหนังสือหนังหามากกว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่หรือครูบาอาจารย์ที่เคยสอนตนในสมัยยังเด็ก ๆ แล้วได้ทำงานมีหน้ามีตาในสังคม ว่าอย่าคิดว่าตัวเองสูงส่งกว่าผู้ให้กำเนิดหรือครูบาอาจารย์ เพราะหากคิดเช่นนั้นก็เท่ากับทำตัวเป็นคนลืมตัวเหมือนวัวลืมตีนในคำพังเพยของคนภาคกลางนั่นเอง







๕."สวนบ่มีฮั้ว ไหนจักเป๋นสวน เจ้านายทั้งมวล ไผเป๋นคนตั้ง...?"

คำศัพท์ : ฮั้ว = รั้ว ,
เป๋น = เป็น ,
เจ้านาย = คนใหญ่คนโต (นักการเมืองทั้งหลาย),
ไผ = ใคร


คำแปล : สวนที่ไม่มีรั้วไหนเลยจะเรียกว่าเป็นสวนได้ บรรดา "เจ้านาย"ทั้งหลายเป็นใหญ่เป็นโตมาได้ก็เพราะได้รับการแต่งตั้งมาจากใคร..?

ขยายความ : เป็นคำกล่าวของคนโบราณที่ใช้เตือนสติบรรดานักปกครองหรือคนใหญ่คนโตทั้งหลายไม่ให้ลืมตัว ไม่ให้ลืมรากเหง้าดั้งเดิมของตนเองว่า การที่ได้มาทำหน้าที่ปกครองคน หรือเป็นเจ้าคนนายคนนั้นมีความเป็นมาเช่นไร ฉะนั้นต้องมีเมตตา เอาใจใส่ต่อผู้น้อยที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของตัวเองอย่างจริงใจ

















 

Create Date : 18 กันยายน 2551    
Last Update : 2 ตุลาคม 2551 21:06:08 น.
Counter : 2157 Pageviews.  

~ ก๋ำพร้าป้อก่ะปอยังแควน ก๋ำพร้าแม่... ~ ( กำบ่าเก่าบ่เล่าอาจลืม)



ยังคงอยู่ในบรรยากาศของการบูชาพระคุณแห่ง "แม่"
วันนี้ ก็เลยขออนุญาตนำเสนอ "กำบ่ะเก่า" ที่เกี่ยวกับแม่ซักสำนวนหนึ่งเน้อเจ้า...

"ก๋ำพร้าป้อก่ะปอยังแควน ก๋ำพร้าแม่ตี๋นแขวนเติ้งเหยิ้ง"

ศัพท์ : ก๋ำพร้า = กำพร้า,
ปอยังแควน = พอทนได้ หรือ ค่อยยังชั่ว ,
ตี๋น = เท้า ,
แขวนเติ้งเหยิ้ง = ห้อยต่องแต่ง ,ลอยเคว้งคว้าง

คำแปล : กำพร้าพ่อยังพอทนได้ แต่หากกำพร้าแม่เสียแล้วก็เหมือนขาดหลักยึด ชีวิตลอยเคว้งคว้างเลยทีเดียว

ขยายความ : เป็นคำกล่าวของคนโบราณที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคนเป็น "แม่" โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหน้าที่ของ "พ่อ"

นับแต่ปฏิสนธิก่อเกิดเป็นชีวิตขึ้นมา เราก็ต้องอาศัยครรภ์ของ "แม่" เป็นแหล่งฟูมฟัก
สร้างความเจริญเติบโตให้กับชีวิตน้อย ๆ นั้น นานถึง ๙ เดือนเป็นอย่างน้อย...

ในช่วงเวลาอันเนิ่นนานนั้นผู้เป็นแม่ก็ต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษ
ไหนจะต้องงดเว้นอาหารการกินใด ๆ ที่อาจจะเคยโปรดปราน
หรือกิจกรรมใด ๆ ที่เคยกระทำจนเป็นนิสัย...
ทั้งนี้เพื่อปกป้องคุ้มครองอีกหนึ่งชีวิตที่เข้ามาฝากฝังแอบอิงอยู่ในครรภ์...

จนเมื่อลูกน้อยคลอดออกมา...ลืมตาดูโลก
"แม่" ก็ต้องกัดฟัน จนผ่านพ้นความเจ็บปวดแสนสาหัส ในการที่จะให้ทารกน้อยเคลื่อนคล้อยออกจากครรภ์...

แล้วก็ผู้เป็นแม่นั่นเอง...ที่ธรรมชาติได้สร้างให้กรองกลั่นเลือดเนื้อในกายตัวเองให้กลายเป็นโภชนาหารอันโอชะ เต็มเปี่ยมไปด้วยสารประโยชน์ที่ครบถ้วนแก่เจ้าตัวจ้อย ให้สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อย่างสมบูรณ์พร้อมทั้งกายและใจ...

เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาอีกนิด...ในวัยนอนเปล คนที่ทำหน้าที่หลักในการไกวเปลเห่กล่อมก็ยังคงเป็น "แม่" อีกนั่นแหละ...
เสียงเพลง "อื่ออื่อ จาจา..." ของผู้ใดไม่เคยพริ้งเพราะเสนาะโสตลูกน้อยเท่ากับเสียงของแม่...

ในวัยอนุบาล...ก็มือของแม่อีกนั่นแหละที่คอยจับมือน้อย ๆ ของลูกฝึกเขียน ก ข ก กา...
แม่...จึงเป็นครูคนแรกของลูก ๆ อย่างแท้จริง

กับข้าวของโรงเรียนหลากหลายชนิด...ไม่มีกับข้าวอันไหนอร่อยเท่าอาหารที่แม่ประจงจัดใส่กล่องให้ลูกรักพกพาไปกินเอง...
แม้จะเป็นเพียงไข่ต้มหนึ่งฟอง หรือหมูปิ้งชิ้นบาง ๆ แค่หนึ่งชิ้นก็ตามที...

ในวัยแรกรุ่น...เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอันเป็นธรรมชาติ
ความตื่นเต้นตกใจ...แปลกใหม่ในความรู้สึกจะถูกปลอบประโลมโดยผู้เป็นแม่...
แม่จะคอยให้คำแนะนำ บอกสอนถึงวิธีการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ได้อย่าง...ทนุถนอมอารมณ์...
นุ่มนวลและอ่อนโยนเป็นที่สุด...

ฯลฯ

ด้วยความสำคัญของคนเป็นแม่...ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และทั้งที่ไม่ได้กล่าวถึงอีกมากมาย...
ชนิดที่..."เอานภามาแทนกระดาษ เอาน้ำหมดมหาสมุทรแทนหมึกวาด...ประกาศพระคุณไม่พอ..." นั้น ...

คนโบราณล้านนาท่านจึงได้เปรียบเปรยว่า ผู้ใดกำพร้าพ่อ แม้จะเศร้าโศกเสียใจ แต่หากยังมีแม่อยู่ก็ยังนับว่าดีนักหนา
เพราะแม่สามารถทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ได้เป็นอย่างดี

แต่หากผู้ใดกำพร้าแม่ ถึงแม้จะยังมีพ่ออยู่ ความรู้สึกอบอุ่นมั่นคงนั้นแน่นอนว่า
ย่อมแตกต่างจากกรณีกำพร้าพ่อโดยค่อนข้างจะสิ้นเชิงเลยทีเดียว...

ทั้งนี้ใช่ว่าคนโบราณท่านจะไม่ให้คุณค่าความสำคัญต่อความเป็น "พ่อ" ของผู้ชาย
แต่ท่านมองลึกเข้าไปถึงวิถีธรรมชาติแห่งเพศต่างหาก...

ธรรมชาติของเพศแม่นั้น เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปและเป็นสากลว่ามีความลึกซึ้ง...
ละเอียดอ่อนและอดทนอดกลั้นสูงกว่าเพศพ่อหลายเท่าตัวนัก

ในสังคมปัจจุบันเราจึงเห็น "แม่" ที่เลี้ยงลูกตามลำพัง หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Single Mom มีอยู่มากมาย...

ในขณะที่ผู้เป็นพ่อ มีน้อยที่จะอดทนเลี้ยงดูลูกตามลำพังได้
หากเกิดกรณีหย่าร้าง หรือกระทั่งกรณีที่แม่ของลูกต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร...

ผู้ชายมักจะครองสถานภาพ"ม่าย" ได้ไม่นานนัก ไม่ช้าไม่นานก็อาจจะมีภรรยาใหม่ แล้วก็เกิดคดีระหว่างแม่เลี้ยง - ลูกเลี้ยงตามมา ให้เป็นที่ขมขื่นใจแก่ผู้เป็นลูกอยู่ไม่เว้นวาย กลายเป็นปัญหาสังคมยืดเยื้อเรื้อรังไม่มีที่สิ้นสุด

นี่จึงเป็นที่มาของ "กำบ่ะเก่า" อันเกี่ยวกับ 'แม่' ของคนล้านนาที่ให้ภาพและความหมายชัดเจนที่สุด

ซึ่งหากจะเปรียบกับคำพังเพยในภาษากลางก็เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า...
"ขาดพ่อเหมือนถ่อหัก ขาดแม่เหมือนแพแตก" นั่นเอง

ขอบูชาคุณ "แม่"ทุกคนบนโลกใบนี้ค่ะ!















 

Create Date : 13 สิงหาคม 2551    
Last Update : 5 มิถุนายน 2552 14:18:37 น.
Counter : 1494 Pageviews.  

กำบ่ะเก่า...บ่เล่าอาจจะลืม (๑๓) ฟ้อนบ่จ้าง ติแผ่นดินบ่เปียง



Photobucket


"ฟ้อนบ่จ้าง ติแผ่นดินบ่เปียง"

ศัพท์ : ฟ้อน = ร่ายรำ ,
จ้าง = เป็น หรือชำนาญ ,
เปียง = เรียบ

คำแปล : ฟ้อน(รำ)ไม่เป็น ตำหนิ(อ้าง)ว่าเพราะพื้นดินไม่เรียบ

ขยายความ : เป็นคำกล่าวที่กล่าวลอย ๆ ถึงคนทั่วไปที่เมื่อเกิดเหตุขัดข้องใด ๆ ขึ้นมาในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็มักจะเพ่งโทษไปที่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่น ๆ นอกตัวก่อนเสมอ
แทนที่จะหันกลับมาดูตัวเองแล้วหาต้นตอสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาแล้วแก้ไขให้ตรงจุด

สำนวนนี้น่าจะตรงกับภาษิตของภาคกลางที่ว่า...
"รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง"นั่นแล...





"ถ้วยกับจ๊อน เครื่องครัวสงสาร บ่มีวิญญาณ ยังฮู้ถูกต้อง
พัดพอกกั๋น เสียงดังขิ้งข้อง แหงแตกในลั่นจั๊ด
ปุถุชน ฅนเราเคร่งครัดจักกว่าอั้น เพียงใด"


ศัพท์ : จ๊อน = ช้อน ,
สงสาร = มาจากคำว่าสังสารวัฎฎ์ คือของธรรมดาโลก ,
ถูกต้อง = แตะต้องสัมผัสกัน ,
ขิ้งข้อง = เสียงถ้วยกับช้อนกระทบกัน ,
แหงแตก = แตกระแหง , ลั่นจั๊ด = ปริ , ร้าว

คำแปล : ถ้วยและช้อนเป็นเพียงเครื่องใช้ในครัวธรรมดา ไม่มีวิญญาณ(การรับรู้) ยังมีโอกาสสัมผัสแตะต้องกันเกิดเสียงดัง บางทีก็ถึงกับแตกร้าวไปก็มี

ขยายความ : เป็นคำกล่าวของคนโบราณที่ใช้เตือนสติว่า เป็นธรรมดาของการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าในระดับไหน นับแต่สังคมกลุ่มย่อยที่สุดคือในครอบครัวเดียวกัน ไปจนถึงระดับหมู่บ้าน ชุมชน ฯลฯ
ที่อาจจะต้องมีการกระทบกระทั่งกัน เพราะคนเรามีทั้งวิญญาณ (การรับรู้)และสังขาร(การปรุงแต่ง) ที่แตกต่างกัน
หากเกิดปัญหาการแตกแยกทางความคิดขึ้นมา ก็พึงใช้สติระงับอารมณ์
ยอมรับความคิดความเห็นที่แตกต่างและพิจารณาให้เห็นว่าเป็นธรรมดาโลก

ดูแต่บรรดาเครื่องใช้ในครัวนั่นเป็นไร แม้ไม่มีวิญญาณ (พูดก็ไม่เป็น คิดก็ไม่ได้) ยังมีโอกาสที่จะกระทบกระแทกกันจนถึงกับแตกหักเสียหายไปได้





"แมวขึ้นค่วน บ่ม่วนใจ๋หนู"

ศัพท์ : ค่วน = ชั้นหรือหิ้งที่วางของในห้องครัว
ม่วนใจ๋ = สนุก, สุขใจ หรือสบายใจ

คำแปล : แมวขึ้นมาอยู่บนชั้นด้วย หนูก็รู้สึกไม่สบายใจ

ขยายความ : ธรรมชาติของแมวกับหนูเป็นสิ่งตรงข้ามกัน มีแมวที่ไหนที่นั่นต้องไม่มีหนู...
กำบ่ะเก่ากำนี้เป็นคำพูดเปรียบเปรยของคนโบราณ กล่าวถึงผู้ใหญ่กับเด็ก, นายกับบ่าว หรือหัวหน้ากับลูกน้อง หากต้องมาทำกิจกรรมร่วมกัน ฝ่ายที่เป็นเด็กหรือลูกน้องก็มักจะรู้สึกเกร็ง ๆ หรืออึดอัด แม้หากกิจกรรมนั้นเป็นกิจกรรมเพื่อการบันเทิง ฝ่ายที่เป็น"หนู"ก็อาจจะไม่รู้สึก"บันเทิง"เอาเสียเลยก็เป็นได้






"แมวบ่หื้อหน้า หมาบ่ยี่เขี้ยว"

ศัพท์ : หื้อหน้า = ให้ท่า, แสดงความสนใจ ,
ยี่เขี้ยว = แยกเขี้ยว, ยิงฟัน

คำแปล : แมวไม่ให้ท่า หมาไม่ยิงฟัน

ขยายความ : คนโบราณมักจะเอ็ดว่าลูกหลานที่ชอบทะเลาะเบาะแว้งกันว่าเหมือนหมากับแมวกัดกันซึ่งลูก ๆ หลาน ๆ ก็มักจะแก้ตัวว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ก่อเหตุ ผู้ใหญ่ก็ได้แต่ปลง แล้วสรุปด้วยกำบ่ะเก่าคำนี้ที่ว่า " ก็ถ้าแมวบ่หื้อหน้า หมามันก็บ่ยี่เขี้ยวหรอก"...เข้าทำนองขิงก็ราข่าก็แรงอย่างไรอย่างนั้นนั่นเอง















 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 27 มิถุนายน 2555 21:43:10 น.
Counter : 2139 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

แม่ไก่
Location :
ลำปาง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 184 คน [?]




**หลังไมค์เจ้า**





Cute Clock Click!



เออสิ,มาอยู่ใยในโลกกว้าง
เฉกชลคว้างมาเมื่อไรไม่นึกฝัน
ยามจากไปก็เหมือนลมรำพัน
โบกกระชั้นสู่หนไหนไม่รู้เลย


รุไบยาต ~ โอมาร์ คัยยัม
สุริยฉัตร ชัยมงคล : แปล




Latest Blogs

~ท่านหญิงในกระจก/แสงเพลิง ~

~เพชรรากษส/อลินา ~

~มนตร์ทศทิศ/ราตรี อธิษฐาน ~

~เมื่อหอยทากมีรัก 1-2/"ติงโม่"เขียน/พันมัย แปล ~

~ให้รักระบายใจ/"ณกันต์"เขียน ~

~ผมกลายเป็นแมว/Abandoned/Paul Gallico เขียน(ภูธนิน แปล) ~

~พ่อค้าซ่อนกลรัก & หมอปีศาจแสนรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~อาจารย์ยอดรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~จอมโจรพยศรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~


สารบัญหนังสือ: รวมลิงก์หนังสือที่รีวิวในบล็อก # ๑ + ๒



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่ไก่'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.