แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
"เงาะ-มังคุด-ลำไย" เพิ่มมูลค่าด้วย "แปรรูป"



จากแปรรูปทุเรียน 3 รูปแบบที่นำเสนอไปเมื่อวันเสาร์ที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา วันอาทิตย์ที่ 12 ส.ค.นี้ ทีม “ช่องทางทำกิน” ยังมีข้อมูลการแปรรูปผลไม้ขายเพื่อเพิ่มมูลค่าผลไม้สดที่ราคาตกต่ำมาให้พิจารณากันต่ออีก วันนี้เป็นคิวของ “เงาะ-มังคุด-ลำไย” ที่ก็ “แปรรูป” ได้หลายรูปแบบ ลองมาดูกรณีตัวอย่างกัน...

เริ่มจากเงาะ ด้วยการทำ “เงาะลอยแก้ว” ขั้นตอนการทำเงาะลอยแก้วนั้นไม่ยุ่งยาก คล้ายกับวิธีการทำสละลอยแก้ว เพียงแต่เปลี่ยนวัตถุดิบจากสละมาเป็นเงาะเท่านั้น และยังไม่ต้องต้มให้สุกเหมือนกับสละ


วิธีทำเริ่มจาก นำเงาะมาปลอกเปลือก แกะเมล็ดออกแล้วทำเป็นชิ้นพอคำ ล้างเงาะให้สะอาด แต่ไม่ควรแช่ทิ้งไว้นานเพราะจะทำให้เนื้อเงาะเละเกินไป จากนั้นเตรียมทำน้ำเชื่อม โดยสัดส่วนก็ใช้น้ำตาลทรายประมาณ 1 กิโลกรัม ผสมกับน้ำเปล่าประมาณ 300 กรัม นำขึ้นตั้งไฟเคี่ยวให้เข้ากัน ให้น้ำตาลทรายละลายเป็นน้ำเชื่อม ทิ้งไว้ให้เย็นและนำเก็บในตู้เย็น เมื่อจะขายก็ตักน้ำเชื่อมใส่ถ้วย ใส่ชิ้นเงาะลงไป และเติมน้ำแข็ง


ราคาขายเงาะลอยแก้วก็ตั้งได้ตั้งแต่ 15-20 บาท ขึ้นอยู่ปริมาณ-แหล่งที่ขาย โดยใส่เนื้อเงาะ 4-5 ชิ้น หรือตามขนาดภาชนะ ซึ่งเงาะ 1 กิโลกรัม สามารถทำขายได้ประมาณ 4-5 ถ้วย ขึ้นไป


ต่อไปมังคุด ทำเป็น “น้ำมังคุด” ซึ่งมังคุดนั้นเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซี ช่วยแก้อาการคลื่นไส้ได้ ในช่วงที่มีผลผลิตมังคุดมาก และราคาถูก การแปรรูปโดยการทำน้ำมังคุดขายก็เป็นอีกวิธีเพิ่มมูลค่า


สำหรับส่วนผสมในการทำน้ำมังคุด ตามสูตรประกอบด้วย เนื้อมังคุดที่แกะเอาเมล็ดในออก ประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อน้ำต้มสุกประมาณ 8 ถ้วยตวง น้ำตาลทราย 5 ถ้วยตวง และเกลือป่น 2 ช้อนชา


วิธีทำเริ่มจาก นำเนื้อมังคุดที่เอาเมล็ดออกแล้ว 1 กิโลกรัมใส่หม้อ ใส่น้ำลงไปตามส่วนคือ 8 ถ้วยตวง จากนั้นก็ติดไฟต้มและเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ จนเนื้อมังคุดเปื่อยยุ่ยจึงนำลงจากเตาไฟ จากนั้นกรองเอากากที่ไม่ต้องการทิ้ง บีบเอาน้ำออกจากกากให้หมด ยกน้ำมังคุดที่กรองได้ขึ้นตั้งไฟอีกครั้ง โดยเติมน้ำลงไปให้เต็มตามปริมาณเดิม ต้มจนเดือดอีกครั้ง พอเดือดก็ใส่น้ำตาลทรายลงไป 5 ถ้วยตวง ลำดับสุดท้ายคือเติมเกลือป่นลงไป เมื่อเดือดดีก็นำขึ้นจากเตาไฟ มากรองอีกรอบ จากนั้นก็ปล่อยให้เย็น แล้วรินใส่ภาชนะ ก็จะได้น้ำมังคุดพร้อมขาย ราคาขายก็ตั้งตามความเหมาะสม


ตามติดมาด้วยลำไย มาดูตัวอย่างการแปรรูปสัก 2 แบบ โดยแบบแรกคือ “วุ้นลำไย” มีส่วนผสมตามสูตรดังนี้คือ ลำไยสด 3 กิโลกรัม ต่อน้ำตาลทราย 3 กิโลกรัม และผงวุ้น 1 ถุง (ขนาด 25 กรัม)


วิธีทำเริ่มจาก นำน้ำเปล่าประมาณ 3 กิโลกรัมใส่หม้อตั้งไฟต้มให้เดือด แล้วใส่น้ำตาลทรายลงไปคนให้ละลาย จากนั้นนำผงวุ้นไปละลายกับน้ำเย็นเพื่อให้แตกตัว ก่อนที่จะนำมาเทใส่ในหม้อน้ำที่ตั้งไฟไว้ เคล็ดลับก็คือ อย่าเทผงวุ้นลงไปในน้ำร้อน ๆ เพราะจะทำให้ผงวุ้นแข็งตัวเกินไป เมื่อเทผงวุ้นที่ละลายในน้ำเย็นลงไปในหม้อน้ำที่ตั้งไฟแล้วก็คนให้เข้ากัน ตั้งไฟต่ออีกสักพักจนกระทั่งเดือด ระหว่างนี้เตรียมถ้วยพลาสติกขนาด 6 ออนซ์ ใส่ลำไยสดที่ปอกเปลือกแกะเมล็ดแล้ว 4-5 ลูก แล้วตักน้ำวุ้นที่เดือดใส่ตามลงไป พักทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที น้ำวุ้นจะแข็งตัวกลายเป็นเนื้อวุ้น ซึ่งสามารถทานได้ทันที แต่ควรแช่เย็นก่อนขาย จะได้รสชาติหวานเย็นชื่นใจ


วุ้นลำไยนี้หากแช่เย็นจะเก็บไว้ได้ 2-3 วัน จากสูตรนี้จะทำขายได้ประมาณ 30-35 ถ้วย ขายราคาถ้วยละ 10 บาทขึ้นไปได้สบาย ๆ ส่วนกำไรก็แล้วแต่ราคาลำไยสด ราคายิ่งต่ำกำไรก็ยิ่งสูง


แปรรูปลำไยอีกแบบที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยก็คือ “น้ำลำไย” ซึ่งทำได้ทั้งจากลำไยสดและลำไยแห้ง ถ้าทำจากลำไยแห้ง ส่วนประกอบมีดังนี้คือ เนื้อลำไยแห้ง 50 กรัม ต่อน้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม น้ำ 1/4 ลิตร


วิธีทำเริ่มจาก ต้มเนื้อลำไยแห้งกับน้ำด้วยไฟอ่อน ๆ ประมาณ 30 นาที จากนั้นเติมน้ำตาลทรายลงไป คนให้ละลาย กรองด้วยผ้าข้าวบางเพื่อเอาตะกอนหรือส่วนที่ไม่ต้องการออกไป จากนั้นก็นำมาต้มให้เดือดอีกครั้ง ก่อนบรรจุขวดที่สะอาด ปิดจุก พร้อมขาย


ถ้าใช้เนื้อลำไยสด ใช้ 500 กรัม ต่อน้ำเชื่อม 1.5 ลิตร กรดซิตริกหรือกรดมะนาว 1 กรัม หรือราว 1/4 ช้อนชา


วิธีทำเริ่มจาก ปอกเปลือกลำไย คว้านเมล็ดออก ล้างด้วยน้ำสะอาด เมื่อได้เนื้อลำไยสดแล้วก็ตีให้ละเอียดด้วยเครื่องตีไฟฟ้าหรือเครื่องปั่น แล้วนำมากรองผ่านตะแกรงหรือผ้ากรองอย่างหยาบ ผสมน้ำลำไยกับน้ำเชื่อมที่ทำทิ้งไว้ เติมกรดซิตริกลงไป จากนั้นต้มให้เดือด ก่อนจะบรรจุขวดสะอาด ปิดจุก พร้อมขาย


การทำน้ำเชื่อมนั้นมีสัดส่วนดังนี้ ใช้น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม ต่อน้ำสะอาดจำนวนเท่ากัน ต้มให้เดือด จากนั้นนำมากรอง เก็บไว้รอขายในตู้เย็นโดยไม่ต้องเติมสารกันเสีย (ถ้าเก็บที่อุณหภูมิห้องต้องเติมโซเดียมเบนโชเอท 0.5 กรัม หรือราว 1/4 ช้อนชา ต่อน้ำลำไยหวานเข้มข้น 1 กิโลกรัม)
น้ำลำไยนี้ การบรรจุขวดขาย ควรเติมน้ำสะอาดเป็น 2 เท่า เพื่อลดความเข้มข้น หรืออาจจะใช้วิธีเติมน้ำแข็ง ก็ตามความพอใจ หรือตามแต่รูปแบบที่จะทำขาย

ผลไม้สดจากสวนในช่วงนี้ราคาตกเป็นทิวแถว รวมถึงกับ “เงาะ-มังคุด-ลำไย” ซึ่งก็เช่นเดียวกับกรณีของทุเรียน คือการ “แปรรูป” จะเป็นทั้งทางออกที่ดีของชาวสวนผลไม้ในการ “เพิ่มมูลค่าผลผลิต” และยังเป็นทางเลือกสำหรับคนทั่วไปในการทำขายสร้างรายได้ โดยที่ “ต้นทุนต่ำ-กำไรดี” น่าสนใจ !!.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน




Create Date : 06 กันยายน 2550
Last Update : 6 กันยายน 2550 2:05:52 น. 0 comments
Counter : 5020 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com