|
|
|
|
|
|
ความหมายวันวิสาขบูชา ในแง่คติจากพระชนมชีพของพระบรมศาสดา |
|
- ความหมายของวันวิสาขบูชา ในแง่คติจากพระชนมชีพของพระบรมศาสดา
การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นตรงกันในวันเดียว ความหมายของเหตุการณ์ทั้งสามนั้นก็เกี่ยวพันประสานกันเป็นอันเดียว การประสูติ ของพระองค์ มีความหมายเตือนให้เราระลึกว่าคนทุกคน แม้จะเริ่มต้นชีวิตโดยความเป็นมนุษย์ มีกำเนิดไม่แตกต่างกัน แต่ต่อจากจุดเริ่มต้นนั้นแล้ว มนุษย์ก็แสดงความเป็นสัตว์ประเสริฐออกมา ด้วยความเป็นผู้สามารถที่จะฝึกฝนอบรม บุคคลผู้มีจุดหมายอันสูงส่ง มุ่งบำเพ็ญความดีงามปรับปรุงตนอยู่ตลอดเวลา อาศัยความเพียรและสติปัญญาฝึกฝนตนให้บรรลุความเป็นมนุษย์ผู้เยี่ยมยอดได้ กลายเป็นศาสดาที่เคารพบูชาของปวงเทพและหมู่มนุษย์ นำประโยชน์สุขมาให้ไม่เฉพาะแก่ตนเองผู้เดียว แต่เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งหมดด้วย พระพุทธเจ้าทรงเป็นตัวอย่างแสดงประจักษ์พยานของภาวะเช่นนี้ ทุกคนจึงควรมีกำลังใจเพียรพยายามใช้สติปัญญาพิจารณา บำเพ็ญความดีงาม ฝึกฝนปรับปรุงตนให้เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐยิ่งขึ้นอยู่เสมอ การตรัสรู้ เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกว่า สิ่งสำคัญที่เป็นผลสำเร็จ และเป็นจุดมุงหมายแห่งความเพียรพยายามและการใช้สติปัญญาของพระพุทธเจ้า ซึ่งทำให้พระชนมชีพของพระองค์กลายเป็นสิ่งมีคุณค่าอย่างสูงสุดนั้น หาใช่การได้มาซึ่งสิ่งสำหรับปรนเปรอบำรุงบำเรอความสุขส่วนตนไม่ แต่เป็นการเข้าถึงความดีงามอย่างสูงสุด ที่ทำให้พระชนมชีพของพระองค์เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ พร้อมทั้งเผื่อแผ่ขยายความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์นั้นออกไปให้แก่ชีวิตอื่นๆ ด้วย เรียกว่านำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่โลก การเข้าถึงความดีงามนี้เอง ที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะผู้เป็นมนุษย์ กลายเป็นพระพุทธเจ้า ทำให้มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ความดีความงามที่ว่านี้ คือสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” หรือ “พระธรรม” การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ทำให้ธรรมปรากฏขึ้นในโลก ธรรมปรากฏขึ้นแล้ว ก็กระจายความดีงามออกไป ด้วยคำสอนที่สาดแสงสว่างส่องทางแห่งการดำเนินชีวิตที่ดีงาม นำไปสู่ประโยชน์สุข และความอยู่ร่วมกันอย่างสงบร่มเย็น นอกจากนี้ การตรัสรู้ยังสอนเราด้วยว่า การบรรลุผลสำเร็จที่ดีงามนั้น มิใช่จะกระทำได้ง่าย พระพุทธเจ้า กว่าจะตรัสรู้ได้ ต้องทรงบำเพ็ญเพียรพยายาม ใช้สติปัญญาแสวงหาค้นคว้าทดลองด้วยความเด็ดเดี่ยวและอดทน จนบางคราวแทบจะสิ้นพระชนมชีพ ตลอดเวลายาวนานถึง ๖ ปี ครั้นตรัสรู้แล้ว เมื่อทรงนำธรรมอันเป็นหลักแห่งความจริงความดีงามนั้น ไปสั่งสอนผู้อื่น ก็ต้องทรงเสียสละลำบากพระกาย เสด็จเที่ยวไปทุกถิ่น แม้ที่แสนจะกันดารและฝ่าภยันตราย บุคคลที่จะทำความดีงาม บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่หมู่ชนก็ควรดำเนินตามพุทธปฏิปทา โดยการเพียรพยายามด้วยความเสียสละ อดทน ไม่ยอมท้อถอย การปรินิพพาน มีความหมายที่เป็นอนุสติให้ระลึกว่าพระชนมชีพของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็นชีวิตมนุษย์ เมื่อถึงคราวสิ้นสุด ก็ดับสิ้นไปตามกาลเวลา แต่พระธรรมที่ได้ทรงค้นพบ เปิดเผยไว้ ทำให้ปรากฏในโลกแล้ว เป็นหลักแห่งความจริง และความดีงามอันอมตะ ไม่เคลื่อนคลาดแตกดับ เป็นสิ่งไม่ตาย ยังคงส่องทางแห่งปัญญาเพื่อบรรลุประโยชน์สุขแก่หมู่มนุษย์สืบต่อไป และทั้งพระพุทธเจ้ายังได้ทรงตั้งคณะสงฆ์ไว้ทำหน้าที่รักษาสืบทอดส่งต่อประทีปแห่งธรรมแทนพระองค์ต่อๆมาอีกด้วย แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงหยุดเลิกพุทธกิจ ก็ได้ทรงหยุดเลิกในเมื่อมีอมตธรรมสำหรับอำนวยอมตประโยชน์สืบต่อมา การปรินิพพานเป็นการดับสนิทในเมื่อกิจสำเร็จ การดำเนินให้เข้าถึงอมตธรรม และบรรลุอมตประโยชน์เป็นหน้าที่ของเราทั้งหลาย ทั้งที่จะต่างคนต่างทำ และร่วมกันช่วยกันทำต่อไป อย่างไรก็ตาม หากจะมองความหมายให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก ย่อมเห็นได้ว่าบรรดาเหตุการณ์สำคัญ ๓ อย่าง ในพระชนมชีพของพระพุทธเจ้านั้น การตรัสรู้ต้องนับว่ามีความสำคัญสุดยอด การเริ่มต้น และการสิ้นสุดของชีวิต ที่เรียกว่าการเกิดการตายนั้น มนุษย์ทุกคนมีเสมอเหมือนกัน แต่ข้อพิเศษอยู่ที่ชีวิต ซึ่งเป็นไปในระหว่างจุดต้นและปลายสุดทั้งสองนี้ สิ่งที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระพุทธเจ้า และทำให้เราเคารพบูชาพระองค์ ก็คือการตรัสรู้ อันพ่วงพร้อมมาด้วยการกระทำต่าง ๆ เพื่อการตรัสรู้ และพุทธกิจต่างๆ ที่ได้ทรงบำเพ็ญอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตรัสรู้ แต่เพราะพระชนมชีพของพระองค์เป็นฐานที่ตั้งที่อาศัยแห่งการตรัสรู้ และการบำเพ็ญพุทธกิจเหล่านั้น วันประสูติ และวันปรินิพพานของพระองค์ จึงย่อมพลอยมีความสำคัญตามไปด้วย
ความเป็นพระพุทธเจ้า อันเกิดจากการตรัสรู้ และการทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่มนุษยชาติ ที่เรียกว่าพุทธกิจนี้โดยแท้ ที่เป็นฐานรองรับความสำคัญ และความน่าอัศจรรย์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับพระองค์เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนเคารพบูชาพระองค์ และเป็นส่วนสาระสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะพึงสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระองค์ ดังคำพรรณนาแสดงพระคุณของพระพุทธเจ้า ที่เหล่าชนมากหลาย ได้กล่าว และบันทึกเอาไว้เป็นประจักษ์พยาน
Create Date : 14 พฤศจิกายน 2567 |
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2567 11:55:43 น. |
|
0 comments
|
Counter : 57 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|