|
|
|
|
|
|
|
ตักบาตรเทโว
มีตำนานเล่าว่า ในพรรษาที่ ๗ หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา พร้อมทั้งเทวดาทั้งหลาย ครั้นสิ้นสุดพรรษาแล้ว ในวันมหาปวารณา (คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่เรียกกันว่า วันออกพรรษา) พระองค์ก็เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงสู่มนุษยโลกที่เมืองสังกัสสะ ซึ่งเป็นนครสำคัญแห่งหนึ่งของแคว้นโกศล ครั้งนั้น เทวดามากมายได้ตามส่งเสด็จ ฝ่ายมนุษย์ทั้งหลายก็พากันตื่นเต้นดีใจ มาชุมนุมกันรอรับเสด็จอย่างคับคั่งเป็นธรรมดาของพุทธศาสนิกชน เมื่อมาชุมนุมกันในโอกาสเช่นนี้ ก็ย่อมตักบาตร ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ เป็นการทำบุญครั้งใหญ่ และถวายการต้อนรับแด่พระพุทธเจ้า จากตำนานนี้ ก็ได้เกิดประเพณีตักบาตรเทโวสืบต่อมา ตักบาตรเทโวเป็นคำย่อ เรียกเต็มว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ เทโวโรหณะ แปลว่า การลงจากเทวโลก คือการที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ ตามตำนานที่เล่ามาแล้วนั้นเอง ตักบาตรเทโว จึงหมายถึง การตักบาตรเนื่องในการที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก จะเห็นว่า ในพิธีตักบาตรเทโวนี้ มีการชักรถที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ นำแถวพระสงฆ์ที่รับบิณฑบาตด้วย เป็นเครื่องหมายว่า พระพุทธเจ้าเสด็จลงตามตำนานนั้น เนื่องจากในการออกพรรษาไม่มีพิธีการอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ การตักบาตรเทโวนี้ จึงเป็นพิธีที่เป็นเครื่องหมายของการออกพรรษา สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไป การตักบาตรเทโว บ่งบอกถึงความหมายที่ลึกซึ้งลงไปอีก หมายถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับคืนมาสู่โลกมนุษย์ คือการที่มนุษย์ทั้งหลายได้ต้อนรับพระองค์กลับมาอีก ในระหว่างพรรษานั้น พระพุทธเจ้าจะเสด็จปลีกพระองค์ไปปฏิบัติพุทธกิจอย่างใด ณ ที่ใด หรือแก่ชุมชนใดโดยเฉพาะก็ตาม แต่เมื่อออกพรรษาแล้ว พระองค์ก็จะเสด็จออกมาบำเพ็ญพุทธกิจในหมู่ประชาชนทั่วไปอีก ประชาชนทั้งหลายจะได้พบได้เฝ้าพระองค์นี้คือความหมายของการออกพรรษา ดังนั้น ว่าที่แท้ การออกพรรษา ก็คือการเริ่มต้นของเวลานอกพรรษา เป็นเครื่องบ่งบอกว่า ระยะเวลาที่พระสงฆ์อยู่ประจำที่ เพื่อดำเนินการศึกษาอบรมภายในหมู่พระสงฆ์เองโดยเฉพาะเพื่อซักซ้อมตระเตรียมฝึกฟื้นตนเองให้พร้อมยิ่งขึ้น และเพื่อสงเคราะห์ชุมชนหมู่หนึ่งโดยเฉพาะนั้น บัดนี้ระยะเวลาแห่งศาสนกิจที่เน้นหนักในด้านนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว ต่อแต่นี้ไปเป็นการเริ่มต้นแห่งรอบเวลาใหม่ คือการที่พระสงฆ์จะออกปฏิบัติศาสนกิจจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขของหมู่ชน ตักบาตรเทโว เป็นเรื่องของประเพณี ไม่มีบทบัญญัติใด้กำหนดไว้ในวินัย บางวัดจัดในวันมหาปวารณา คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ที่เรียกว่าวันออกพรรษา เพราะถือตามตำนานอันมาในอรรถกถาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกในวันนั้น แต่บางวัดจัดหลังจากวันนั้น ๑ วัน คือ ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ คงจะถือว่าพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาในวันมหาปวารณาก็จริง แต่ประชาชนได้มีโอกาสตักบาตรทำบุญในวันรุ่งขึ้น ประเพณีนี้ ในบางวัดบางถิ่นก็เลือนหายไปแล้ว บางวัดหรือบางถิ่นยังปฏิบัติอยู่ แต่ส่วนมากดูจะค่อยๆ จืดจางและอ่อนกำลังลงโดยลำดับ
Create Date : 07 พฤศจิกายน 2567 |
|
0 comments |
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2567 16:21:09 น. |
Counter : 81 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|