กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2568
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
232425262728 
space
space
12 กุมภาพันธ์ 2568
space
space
space

คาถาที่ชาวพุทธรู้จัก


235 หัวใจเดียว  แต่มีสี่ห้อง

     ใน ๓ ส่วนนี้  ได้บอกแล้วว่า  ส่วนที่ชาวพุทธรู้จักกันดีที่สุดคือคาถาสั้นๆว่า

        สพฺพปาปสฺส อกรณํ   กุสลสฺสูปสมฺปทา

        สจิตฺตปริโยทปนํ       เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ

     แปลอีกครั้งหนึ่งว่า   การไม่ทำความชั่วทั้งปวง หรือการไม่ทำบาปทั้งปวง การทำความดี หรือการทำกุศลให้ถึงพร้อม  การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

     อันนี้  เรามักเรียกกันว่า หัวใจพระพุทธศาสนา  ที่เรียกว่า หัวใจพระพุทธศาสนานี้ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตรัสบอกไว้  เรามาเรียกกันเองในยุคหลัง

     ทีนี้ ชาวพุทธก็ชักเถียงกันว่า เอ อันไหนจะเป็นหัวใจพระพุทธศาสนากันแน่

     235 บางท่านก็บอกว่า ก็อริยสัจ ๔ สิ

     235 บางท่านก็บอกว่า ต้องพุทธพจน์ที่บอกว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย (ธรรมทั้งปวงไม่ควรแก่การยึดมั่น หรือ ธรรมทั้งปวงไม่อาจยึดมั่นถือมั่นได้)

     235 บางท่านก็เอาพุทธพจน์ อีกแห่งหนึ่งที่ตรัสไว้ว่า ทั้งในกาลก่อนและบัดนี้ เราสอนเพียงอย่างเดียว คือ ทุกข์และความดับทุกข์ บอกว่า นี่แหละ หัวใจพุทธศาสนา

     ชาวพุทธบางทีก็เลยเถียงกัน

     ขอโอกาสนี้ชี้แจงว่า อย่ามัวไปเถียงกันเลย เพราะคำว่า หัวใจพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้เดิม เรามากำหนดกันขึ้น

     แต่ให้สังเกตว่า ในพุทธพจน์แห่งโอวาทปาฏิโมกข์นี้  มีคำสรุปท้ายว่า เอตํ พุทฺธาน สาสนํ “นี่ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย” คล้ายๆว่า เป็นคำสรุปของพระพุทธเจ้าเองว่า นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งพระองค์เอง และของพระพุทธเจ้าอื่นด้วย

     ฉะนั้น  การที่จะบอกว่าอันนี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา  ก็ไม่ได้ผิดอะไรหรอก แต่เราอย่าไปยึดมั่นว่า ต้องคาถานี้เท่านั้น จึงจะเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เดี๋ยวจะยุ่ง มัวแต่เถียงกันวุ่นไป

     ถ้าวิเคราะห์ออกไปแล้ว คาถานี้ ที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส  เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ก็เป็นการสรุปคำสอนภาคปฏิบัติ เป็นหัวใจได้  แต่เป็นหัวใจภาคปฏิบัติ คือ เป็นเรื่องของการลงมือกระทำ

     คำสอนของพระพุทธเจ้า  ถ้าจะมองให้ครบจริงๆ มีทั้งภาคที่เป็นตัวหลักความรู้ และภาคปฏิบัติ

     ถ้าเรียกด้วยภาษาสมัยใหม่นี้ ก็เรียกว่า ภาคทฤษฎีด้วย ภาคปฏิบัติด้วย จึงจะครบ แต่ก็ไม่อยากให้ใช้คำว่า ทฤษฎี เพราะทฤษฎีเป็นศัพท์สมัยใหม่ มีความหมายของเขาอีกแบบหนึ่ง เราอย่าไปยุ่งเลย

     เป็นอันว่า คำสอนของพระพุทธเจ้า มิได้มีเฉพาะภาคปฏิบัติลงมือทำอย่างเดียว ถ้าไปดูคำสอนที่กว้างออกไป ก็จะเห็นหลักที่เรียกว่า อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

     ทุกข์    ก็ไม่ใช่ข้อปฏิบัติ  ท่านบอกว่า ทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่ต้องรู้ หรือรู้จัก

     สมุทัย    เป็นสิ่งที่ต้องละ  ก็ไม่ใช่ข้อปฏิบัติอีก

     นิโรธ   เป็นสิ่งที่ต้องเข้าถึง  ก็ไม่ใช่ตัวการปฏิบัติ  สุดท้าย

     มรรค   จึงเป็นข้อปฏิบัติ  เป็นอันว่า  ข้อปฏิบัติมาอยู่ในอริยสัจข้อสุดท้าย คือข้อที่สี่

     พอไปถึงอรรถกถา  ท่านจะโยงให้เสร็จเลยว่า การไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส นั้น ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

     ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ที่ไหน เอามรรคมีองค์ ๘ มาสรุปก็เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ตกลงว่าคาถานี้ ที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ ก็อยู่ในอริยสัจข้อ ๔ คือ มรรค นั่นเอง

     ฉะนั้น หลักโอวาทปาฏิโมกข์ นี้ จึงเล็กกว่าหลักอริยสัจ เพราะไปอยู่แค่ในข้อที่ ๔ ของอริยสัจ อริยสัจนั้นคลุมหมด มีข้อปฏิบัติพร้อมอยู่ด้วย ได้แก่ข้อที่ ๔ คือ มรรค ซึ่งมีองค์ ๘ ประการ

     สรุปมรรคมีองค์ ๘ เหลือ ๓ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา พูดภาษาชาวบ้านให้ง่าย ก็บอกว่า ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส นี่แหละ คือการแปล ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างง่าย

     เพราะฉะนั้น วันมาฆบูชา นี้ พูดในแง่หนึ่งก็คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักคำสอนให้ง่าย โดยยกเอา ศีล สมาธิ ปัญญา มาตรัสในรูปแบบหนึ่งนั่นเอง

     เมื่อเราเห็นตำแหน่งแห่งที่ของคำสอนมาโยงกันอย่างนี้ ก็เลิกเถียงกันได้ ไม่ต้องมาเถียงกันให้ยุ่ง แล้วยังรู้ด้วยว่าอันไหนอยู่ที่ไหน

     ในพระสูตรหลายสูตร พระพุทธเจ้าตรัสเล่าลำดับการตรัสรู้ของพระองค์ว่า พอได้ฌาน ๔ แล้ว จิตเป็นสมาธิ เป็นกัมมนียัง พร้อมที่จะทำงาน พระองค์ก็โน้มจิตไป เพื่อรู้อริยสัจ ก็ตรัสรู้อริยสัจ

     ความสำคัญของการตรัสรู้อริยสัจนี้ ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือขึ้นเล่มหนึ่งชื่อว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร คำตอบก็คือ ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นคำตอบที่เอามาจากพุทธพจน์เอง

     เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ก็แสดงว่า อริยสัจ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ใช่ไหม เพราะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็มาโยงกันเข้ากับเรื่องการไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นหลักการที่อยู่ในข้อมรรค เพราะฉะนั้น อริยสัจ ๔ จึงคลุมหมด

     ว่าต่อไปถึงพุทธพจน์ที่ว่า “ทั้งในการก่อน และบัดนี้ เราสอนแต่เรื่องความทุกข์ และความดับทุกข์”

     ลองดูว่า ทุกข์ และความดับทุกข์ อยู่ที่ไหนล่ะ ก็อยู่ในอริยสัจ นั่นแหละ

     ทุกข์ และกำเนิดแห่งทุกข์ หรือ ทุกข์ และเหตุให้เกิดแห่งทุกข์ ได้แก่ ทุกข์ และทุกขสมุทัย นั้น ในเวลาที่พระพุทธเจ้าตรัสสั้นๆ พระองค์ตรัสรวมไว้ในข้อเดียวกัน คือ ข้อว่าด้วยทุกข์ ได้แก่ ทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ จัดเข้าเป็นข้อหนึ่ง

     ส่วนการดับทุกข์ ก็หมายถึงนิโรธและมรรค เอาทั้งความดับทุกข์และวิธีดับทุกข์นั้นรวมไว้ด้วยกันเสร็จ

     เพราะฉะนั้น อริยสัจ ๔ ก็เลยจัดรวมเป็น ๒ หัวข้อใหญ่ นี่ก็เป็นวิธีพูดย่อ

     ต่อไป สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย อันนี้ เป็นการแสดงความจริงของสิ่งทั้งหลายในแง่ว่า เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นได้ เพราะมันเป็นอยู่เป็นไปตามธรรมดาของมัน ถ้าเป็นสังขาร มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เป็นต้น มันไม่เป็นไปตามความอยากความปรารถนาของใคร ถ้าใครไปยึดมั่นจะให้เป็นตามใจของตัว โดยไม่ใช้ปัญญาที่จะทำตามเหตุปัจจัย ก็จะถูกบีบคั้นฝืนใจกลายเป็นความทุกข์

     แล้วก็โยงมาสู่การปฏิบัติว่า เมื่อสิ่งทั้งหลายไม่อาจจะถือมั่นได้ เราก็อย่าเอาตัณหาอุปาทานไปถือมั่นมัน  แต่ต้องปฏิบัติต่อมันด้วยปัญญา ก็เลยโยงระหว่าง ตัวสภาวะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ กับ ข้อปฏิบัติอันจะไม่ให้เกิดทุกข์ ที่เรียกว่า มรรค เข้าด้วยกัน

     ฉะนั้น ไม่ว่าจะพูดแง่ไหน คำสอนในพระพุทธศาสนาก็โยงกันหมด ไม่ต้องเป็นห่วง ใครจะมาบอกว่า ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา เราก็ไม่ต้องเถียง เถียงก็เสียเวลา เราก็บอกว่าถูกๆ ไม่ผิด ถ้าเขาบอกว่า อริยสัจ ๔ ก็ถูกอีกแหละ เพราะว่าเรารู้ในใจ เราโยงได้หมดแล้ว

     เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ก่อนจะเสด็จไปสั่งสอน ทรงปรารภว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ยาก คนที่จะรู้ตามได้จะมีน้อย สิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ซึ่งคนอื่นจะรู้ตามได้ยากนี้ ได้แก้อะไร ตอนนั้น พระองค์ก็ตรัสไว้เลยเหมือนกัน  พระองค์ตรัสว่า  ได้แก่  อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน ก็สองอย่างเหมือนกัน

     อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท ก็คือทุกข์ และทุกขสมุทัย

     นิพพาน ก็คือ นิโรธ แล้วก็รวมเอาหรือเล็งเอามรรคเข้าไปด้วย  เพราะเป็นข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงนิพพาน แต่ในที่นี้ ตรัสเฉพาะสภาวธรรม

     เป็นอันว่า  เวลาตรัสแสดงคำสอนของพระพุทธศาสนา ในส่วนสาระสำคัญ อย่างที่เรียกว่าเอาเฉพาะหลักการแท้ๆ ตามสภาวะ ก็ทรงระบุอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน นี่แหละคือหัวใจตัวจริงแท้ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เอง พระพุทธเจ้าตรัสปรารภกับพระองค์เอง ไม่ต้องกลัวว่าใครจะเข้าใจหรือไม่

     แต่ในเวลาที่นำมาแสดงแก่ประชาชน   ต้องแสดงในรูปอริยสัจ ก็คือเอาอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท และนิพพานนั่นแหละมาแสดง  มาแสดงในรูปที่จะสื่อกับประชาชนได้ เรียกว่า เป็นอริยสัจ ๔ ประการ จึงถือว่าอริยสัจนั้น คือสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงในรูปลักษณะที่จะให้คนทั้งหลายรู้เข้าใจ และนำไปประพฤติปฏิบัติได้

     เพราะฉะนั้น อริยสัจ จึงเป็นวิธีสอนของพระพุทธเจ้าไปด้วย วิธีสอนต่างๆ ที่จะให้ได้ผลดี จะเห็นว่า แม้แต่ยุคปัจจุบันก็ต้องใช้หลักอริยสัจ ๔ แม้แต่พวกที่เป็นนักปลุกระดมคน ก็ต้องใช้วิธีตามแนวอริยสัจ ๔


     ฉะนั้น  ในเรื่องวิธีสอนแบบอริยสัจ  ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของวิธีสอนทุกอย่าง พระพุทธเจ้าทรงนำเอาสัจธรรมมาแสดงแก่มนุษย์ ในรูปที่เรียกว่า อริยสัจ ๔


     ที่จริง  สาระสำคัญที่พระองค์ต้องการ คือ เรื่องอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน นี่เอง แต่พอมาสื่อกับประชาชน ใช้อริยสัจ ๔ เพื่อให้เป็นสิ่งที่เขาปฏิบัติได้

     การสอนนั้นต้องเริ่มจากสิ่งที่มองเห็น สิ่งที่ปรากฏ หรือสิ่งที่ง่ายไปหาสิ่งที่ยาก จึงเริ่มด้วยปัญหา ทั้งๆ ที่หลักอริยสัจนั้น สวนย้อนจากผลมาหาเหตุ

     ธรรมดาว่า ในสิ่งทั้งหลาย เหตุเกิดก่อนแล้วจึงมีผล แต่ในอริยสัจนี่ พูดถึงผลก่อน แล้วจึงสาวไปหาเหตุ

        235 คู่ที่หนึ่ง ทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ

        235 คู่ที่สอง นิโรธเป็นผล มรรคเป็นเหตุ

     ยกผลมาพูดก่อนเหตุ ทั้งสองชุด การที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ จะต้องมีเหตุผลในการตรัส

     ขออธิบายว่า อยู่ๆ ถ้าพระพุทธเจ้าจะไปตรัสถึงเหตุของทุกข์ก่อน ก็จะไม่มีใครฟัง อยู่ๆ จะไปพูดถึงเหตุของทุกข์ โดยยังไม่พูดถึงตัวทุกข์ได้อย่างไร ก็ต้องพูดถึงปัญหา พูดถึงตัวความทุกข์ ชี้ถึงสภาพที่ปรากฏ หรือปรากฏการณ์ที่มองเห็นเสียก่อน

     พอเราพูดถึงเรื่องของเขาว่า อ้อ คุณมีปัญหาอย่างนี้  มีทุกข์อย่างนี้  ก็เกี่ยวข้องกับชีวิตของเขา เขาก็สนใจ  พอเขาสนใจแล้ว ก็พูดต่อไปว่า อ้าว ถ้าคุณจะแก้ไข คุณจะต้องรู้เหตุ และกำจัดเหตุของมันนะ  ทีนี้  ก็มาพูดถึงเหตุของมัน

     นี่แหละ คือ การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีความประเสริฐในลักษณะต่างๆ ในความเป็นพระศาสดานั้น นอกจากตรัสรู้ธรรมความจริงแล้ว จะต้องสามารถในวิธีการสั่งสอนด้วย

     ความสำเร็จของพระพุทธเจ้า อยู่ที่ความสามารถทั้งสองด้านนี้ จึงเรียกพระองค์ว่าเป็น สัมมาสัมพุทธะ

     ถ้าตรัสรู้ธรรมที่เป็นสัจธรรมอย่างเดียว ก็เป็นแค่ปัจเจกพุทธเจ้า แต่เพราะสามารถในการสั่งสอนด้วย จึงเป็นสัมมาสัมพุทธะ

     อริยสัจ ๔ นี้ เป็นหลักธรรมที่ประกาศความเป็นพระบรมศาสดา ที่ได้ทั้งตรัสรู้สัจธรรม และทรงสามารถในวิธีการสั่งสอนด้วย

     เป็นอันว่า  หัวใจพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะพูดในอย่างไรก็โยงกันได้ทั้งหมด ขอให้เข้าใจเสียอย่างเดียว ถ้าเรามีความเข้าใจอันนี้เป็นฐานแล้ว จะพูดอย่างไรก็ได้ แล้วแต่สถานการณ์

     ถ้าพูดกับคนที่ยังไม่สามารถเข้าใจลึกซึ้ง  เราก็เอาในแง่ภาคปฏิบัติว่า หัวใจพุทธศาสนา คือ ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส  แค่นี้ก็พอแล้ว  พอเขาเห็นด้วย  ก็เอาไปใช้เริ่มปฏิบัติได้เลย หลังจากนั้นจึงค่อยไปภาคหลักความจริง ว่าด้วยสัจธรรมที่ลึกซึ้งขึ้นไปตามลำดับ

135

- ดูข้อนี้ให้ชัด 
 


Create Date : 12 กุมภาพันธ์ 2568
Last Update : 12 กุมภาพันธ์ 2568 19:11:15 น. 0 comments
Counter : 43 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space