กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2568
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
232425262728 
space
space
15 กุมภาพันธ์ 2568
space
space
space

มนุษย์ทุกคนต้องอยู่ให้ดี กับ ธรรม


ต่อ (สถานการณ์ที่ใช้อุเบกขา) 

- มนุษย์ กับ มนุษย์รักกัน แต่มนุษย์ทุกคนต้องอยู่ให้ดี กับ ธรรม


     ตอนนี้แหละจะไขปัญหาที่ว่า  ความรักเท่านั้นไม่พอที่จะให้โลกอยู่ดีมีสุข

     ธรรมสามข้อที่ว่าไปแล้วนี้  เป็นหลักความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับ มนุษย์ เมื่อเราอยู่ร่วมกัน คนต่อคน คนนี้ต่อคนนั้น ก็ใช้ธรรมสามข้อแรก

     แต่มนุษย์นั้น ไม่ได้อยู่ลำพังกับมนุษย์เท่านั้น เบื้องหลังลึกลงไป สิ่งที่รองรับโลกมนุษย์อยู่ทั้งโลกนี้ คืออะไร ก็คือธรรมชาติและกฎธรรมชาติ หรือความเป็นจริงของธรรมชาติ ซึ่งเรียกสั้นๆ คำเดียวว่า “ธรรม

     มนุษย์มีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยสามข้อต้นนี้พอแล้ว แต่ยังมีอีกข้อหนึ่ง คือ มนุษย์ไม่ได้สัมพันธ์เฉพาะกับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์กับธรรม ที่เป็นความจริงของธรรมชาตินี้ด้วย และธรรมนี้แหละรองรับกำกับอยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

     เพราะฉะนั้น จะต้องคำนึงถึงข้อนี้ด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้นจะต้องระวังไม่ให้ไปกระทบเกิดผลเสียต่อความสัมพันธ์กับธรรม เพราะว่าธรรมนั้นรองรับโลกมนุษย์อีกทีหนึ่ง ถ้าโลกมนุษย์ปฏิบัติวิปริตผิดพลาดไป ไม่ตรงตามธรรมแล้ว โลกมนุษย์เองนั้นแหละจะเดือดร้อนเสียหาย

     เพราะฉะนั้น ถึงแม้มนุษย์จะสัมพันธ์ต่อกันด้วยดีในความสัมพันธ์ ๓ อย่างแรก แต่ถ้า เมื่อใด ความสัมพันธ์นั้นไปก่อผลกระทบต่อธรรม เมื่อนั้น โลกมนุษย์เองก็จะเสื่อมโทรมประสบภัยพิบัติ

     ด้วยเหตุที่กล่าวมานั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่ให้เราหยุดอยู่แค่ ๓ ข้อต้น แต่ตรัสแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับ ธรรมที่เป็นความจริงของธรรมชาติ เข้ามาอีกข้อหนึ่ง

     ธรรม คือ ความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ คืออะไร  คือการที่สิ่งทั้งหลายมีอยู่เป็นอยู่ตามธรรมดาของมัน  เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน  หลักการแห่งความจริง  ความถูกต้อง  ความดีความงามต่างๆ ที่มีอยู่เป็นหลักสัจธรรม  สิ่งเหล่านี้แหละ  มนุษย์จะต้องเกี่ยวข้องในขั้นพื้นฐาน และโลกมนุษย์ทั้งหลาย  ที่มาสัมพันธ์กันด้วยธรรม ๓ ข้อต้นนั้น  ก็ต้องตั้งอยู่บนหลักการนี้ด้วย

     ฉะนั้น เพื่อจะให้โลกมนุษย์อยู่ด้วยดี พระพุทธเจ้าจึงตรัสข้อที่ ๔ เข้ามา เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ไม่ไปกระทบเกิดผลเสียหายต่อความสัมพันธ์กับธรรม หรือความเป็นจริงของกฎธรรมชาตินั้น

     เมื่อมาถึงจุดนี้ ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าตรัสที่ข้อ ๔ คือ อุเบกขา เข้ามา เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับ ธรรม กับ กฎธรรมชาติ หรือกับหลักการแห่งความเป็นจริงของธรรมชาติ ให้คงอยู่และเป็นไปด้วยดี เพื่อผลดีจะได้เกิดขึ้นแก่สังคมมนุษย์เอง เพราะว่า กฎธรรมชาตินี้รองรับสังคมมนุษย์อยู่อีกชั้นหนึ่ง

     เป็นอันว่า ในกรณีที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน ในข้อ ๑ ถึง ๓ ส่งผลกระทบต่อความจริง ความถูกต้อง ความดีงามที่เป็นหลักการแห่งธรรมแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จะต้องถูกหยุดไว้ก่อน

     ยกตัวอย่างที่เคยพูดบ่อยๆ เช่นว่า เด็กคนหนึ่ง ไปลักของเขาประสบความสำเร็จ ได้เงินมา ๒,๐๐๐ บาท หรือ ๓,๐๐๐ บาท นี่คือสถานการณ์อะไร ตอบว่าสถานการณ์ที่ ๓ ข้อแรก ก็ต้องแสดงมุทิตา คือพลอยยินด้วย ช่วยส่งเสริมสนับสนุน

     แต่ในกรณีนี้ ปรากฏว่า ถ้าไปแสดงความสนับสนุน ก็จะส่งผลกระทบต่อธรรม ต่อหลักความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ทำให้เสียกฎ เสียกติกา เสียธรรม นี่คือกรณีที่จะต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และนี่คือสถานการณ์ที่ ๔

     เป็นอันว่า สถานการณ์ที่ ๔ ก็คือ สถานการณ์ใดก็ตาม ไม่ว่าเขาจะได้ดี ตกต่ำ ขึ้นสูง หรืออย่างไรก็ตาม ถ้าการปฏิบัติต่อเขาจะไปกระทบเกิดผลเสียละเมิดต่อธรรม ต่อความจริง ต่อหลักการแห่งความถูกต้องดีงาม (ที่เป็นกลางๆ อยู่ตามธรรมชาติ ก็ดี ที่มนุษย์ตกลงบัญญัติกันขึ้นในวิสัยแห่งปัญญาของตนบนฐานแห่งธรรมที่เป็นธรรมชาตินั้น ก็ดี) เราต้องหยุด

     ในสถานการณ์นี้ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต้องหยุด ไม่เมตตา ไม่กรุณา ไม่มุทิตา แต่ต้องเปิดโอกาสให้ธรรมแสดงตัวออกมาแล้วปฏิบัติตามธรรม เอาหลักการเข้าว่า นั่นก็คือ ต้องเอาความจริง เอาหลักการ เอาเหตุผล ตลอดจนเอาความยุติธรรม เข้าว่า

     เรื่องผู้พิพากษา ก็ยกตัวอย่างให้ฟังบ่อยๆ จำเลยทำความผิดไปฆ่าคนตาย ผู้พิพากษาสงสาร กลัวว่าจำเลยนี้จะต้องไปรับโทษติดคุกลำบาก ก็เลยตัดสินให้พ้นผิด อย่างนี้เป็นการช่วยคนผิดด้วยกรุณา ก็เสียธรรม นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไปเป็นตัวทำลายหลักการของความจริงความถูกต้องดีงาม

     ถ้าทำกันอย่างนี้ โลกมนุษย์เองนั่นแหละจะอยู่ไม่ได้ เพราะว่า โลกมนุษย์นั้นบอกแล้วว่าต้องตั้งอยู่บนฐานของหลักการแห่งความถูกต้องเป็นจริงของธรรมอีกชั้นหนึ่ง

     ฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จะต้องไม่ให้กระทบก่อผลเสียละเมิดต่อกฎธรรมชาติ หรือความเป็นจริงแห่งธรรม นี่คือข้อที่ ๔

     ถึงตอนนี้ เราก็ตอบได้แล้วว่า สถานการณ์ที่ ๔ คืออะไร สถานการณ์ที่ ๔ ก็คือ กรณีที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น จะไปส่งผลกระทบต่อธรรม คือตัวหลักการแห่งความเป็นจริง ความถูกต้องดีงาม ความเป็นเหตุเป็นผลที่มีอยู่ในธรรมชาติ ที่เป็นของกลางๆ ซึ่งเป็นตัวหล่อเลี้ยงรักษารองรับสังคมมนุษย์ไว้อีกชั้นหนึ่ง

     ถ้าตัวหลักการนี้ไม่อยู่แล้ว สังคมมนุษย์เอง แม้จะสัมพันธ์กันอย่างดีด้วย ๓ ข้อแรก ก็อยู่ไม่ได้ จะต้องทลายแน่ นี่คือสถานการณ์ที่ ๔ ที่สำคัญที่สุด

     ถ้ามาถึงสถานการณ์นี้ ก็ต้องใช้อุเบกขา คือ เฉยต่อคน เพื่อเอื้อต่อธรรม ไม่เห็นแก่คน แต่เห็นแก่ธรรม วางตัวเป็นกลางต่อคน ไม่ขวนขวายช่วยคน เพื่อจะได้ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงธรรม และเพื่อให้เป็นไปตามธรรม พูดสั้นๆ ว่า เพื่อรักษาธรรม

     ดังนั้นใน ๓ ข้อแรก มนุษย์ก็สัมพันธ์กันด้วยดี  เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ โดยมีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่พอถึงข้อที่ ๔ ก็คือมนุษย์จะต้องรักษาธรรมไว้

     ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ธรรม คือหลักการแห่งความจริง  ความถูกต้องดีงามที่เป็นไปตามเหตุและมีผลของกฎธรรมชาติแท้ๆ ตลอดจนหลักการที่มนุษย์เอามาบัญญัติขึ้นในสังคม เช่น เป็นกฎหมาย เป็นระเบียบ เป็นกติกาสังคม เป็นต้น อันถือว่าอยู่ในเรื่องของหลักการ หรือตัวกฎเกณฑ์ จัดเป็นธรรมทั้งสิ้น

     ฉะนั้น เมื่อทำอะไรลงไป  ถ้ามีเรื่องเกี่ยวข้องกับหลักการ เราจะต้องถือหลักการ โดยหยุดข้อ ๑ ถึง ๓ ไว้ ท่านเรียกว่าใช้ อุเบกขา  แล้ววางใจเป็นกลาง  ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง เพื่ออะไร ? เพื่อให้ธรรมหรือกฎธรรมชาติ หรือหลักการแห่งความจริง  ความถูกต้อง  มันทำงานของมัน มิฉะนั้นแล้ว มนุษย์จะเคลื่อนคลาดจากธรรมไปหมด และโลกหรือสังคมมนุษย์ก็จะดำรงอยู่ไม่ได้

135

- ความหมาย อุเบกขา นั่น  451  นำไปใช้ภาคลงมือทำ คือ ภาคปฏิบัติกรรมฐานได้ คือว่าขณะนั้นรูปนาม (ชีวิต) มันเป็นอะไรรู้สึกยังไง  พึงกำหนดรู้ตามที่มันเป็น ไม่เลี่ยงหนี 

235  มีตัวอย่างเทียบให้ดู (เขาไม่กำหนดรู้ตามที่มันเป็น ได้แต่คิดอุเบกขาเอาเอง) 

ดิฉันฝึกหัดนั่งสมาธิวิปัสสนาแนวทางท่านอาจารย์โกเอ็นก้า คือนั่งดูลมหายใจเข้าออกเฉยๆ ไม่บริกรรมและให้ดูเวทนาที่เกิดในร่างกายแล้วให้มีอุเบกขา

คอร์สแรกที่ดิฉันไปศึกษาเรียนรู้เป็นเวลา 10 วัน และหลังจากนั้นดิฉันก็กลับมาปฎิบัติที่บ้าน สม่ำเสมอ วันละหลายครั้ง บางทีก็หลายชั่วโมงติดต่อกัน

ล่วงเข้ามาประมาณเดือนที่ 3 ดิฉันมีอาการร้อนที่ร่างกายทุกส่วน และเกิดอาการปวดศีรษะเหมือนมีเข็มเป็น ร้อยๆเล่มอยู่ในหัว บางที แข็ง ตึง มึน ทึบอยู่ในหัว จนยากที่จะอธิบาย จนขนาดต้องไปเอกซ์เรย์แต่ไม่มีอะไรผิดปรกติ อาการมันลงมาที่มือข้างซ้าย และกรามบน ขมับ 2 ข้าง เหมือนมีกระแสไฟฟ้าวิ่งอยู่ตลอดเวลาเป็นที่ทรมานมาก

ระยะหลังมาดิฉันก็เลยนั่งบ้างไม่นั่งบ้าง เพราะปวดหัวเหลือเกิน บางอาการไม่สามารถบอกมาเป็นตัวอักษรได้ว่ารู้สึกอย่างไร อาการเป็นตลอด เวลา 2 - 4 ชั่วโมง ทั้งหลับทั้งตื่น ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ไปหาหมอฝังเข็ม ฝังมา 9 ครั้ง ไม่มีทีท่าว่าจะทุเลา อาการยังมี ตลอด ดิฉันก็ได้แต่อุเบกขา ทำใจไป คิดไปต่างๆนานา เวลานั่งก็ขออุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง

ตอนนี้นับระยะเวลาเป็นมากว่า 2 ปี ได้แต่หวังว่าผู้รู้ทั้งหลายคงช่วยอนุเคราะห์คนมีกรรมคนนี้ด้วย ขอได้โปรดเมตตาช่วยด้วยนะคะ
 


Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2568
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2568 17:15:25 น. 0 comments
Counter : 78 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space