กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
พฤศจิกายน 2567
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
space
space
13 พฤศจิกายน 2567
space
space
space

เรื่องของวันตรุษวันสงกรานต์


 
235 วันสงกรานต์
 

     ตรุษสงกรานต์   เป็นเทศกาลสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ของไทยตามประเพณีโบราณ  เป็นระยะเวลาเข้าฤดูร้อน  เสร็จจากการเก็บเกี่ยวข้าว   ประชาชนส่วนใหญ่ว่างจากการทำไร่ไถนาที่เป็นงานประจำ   จึงถือเอาระยะเวลานี้เป็นตอนที่จะทำบุญใหญ่แล้วเล่นสนุกสนานรื่นเริงกัน
 
     วันตรุษ คือวันสิ้นปี  ตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ  เดือน ๔  วันสงกรานต์  เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน
 
     พึงสังเกตว่า  วันตรุษ  ถือตามจันทรคติ   วันสงกรานต์  ถือตามสุริยคติ  แต่เทศกาลตรุษ   ยังมีถือกันอยู่เพียงในบางท้องที่เท่านั้น   และตามปกติทำกัน ๓ วัน  ตั้งแต่วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ถึงขึ้นค่ำหนึ่งเดือน ๕
 
     อย่างไรก็ตาม  ในเมื่อแยกวันสิ้นปีเก่า   กับวันขึ้นปีใหม่ออกห่างกัน   ประชาชนก็มีช่วงเวลาสำหรับทำบุญ และเล่นสนุกสนานรื่นเริง หรือเที่ยวเตร่พักผ่อนติดต่อกันหลายวัน  จึงอาจฉลองกันตั้งแต่วันตรุษไปจนถึงวันเปลี่ยนศักราชใหม่ในวันสงกรานต์
 
     พวกแม่บ้านก็จะทำขนมเตรียมไว้สำหรับต้อนรับแขกที่มาเที่ยวที่บ้าน และนำไปเยี่ยม   แจกญาติมิตร  ขนมที่ทำระยะนี้คือ ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้ว
 
     หนุ่มสาวก็มาร่วมทำขนม ช่วยกันกวนข้าวเหนียว คุยกันไป ร้องรำทำเพลงกันไป หรือมีการละเล่น เช่น เล่นเพลงพวงมาลัยกันในตอนค่ำคืน  สนุกสนานกันไปจนถึงสงกรานต์
 
     ในภาคอีสานบางแห่ง   เขาทำบุญตรุษสงกรานต์   แยกเป็น ๒ ระยะ คือ ทำบุญตักบาตรกลางลานในวันตรุษ และทำบุญตักบาตรที่ลานบ้านในวันสงกรานต์    บางแห่งในจังหวัดนครราชสีมา  มีก่อพระเจดีย์ทรายเป็น ๒ ตอน คือ ก่อที่ลานวัดในวันตรุษ และก่อที่กลางลานบ้านในวันสงกรานต์
 
     ในที่นี้  มุ่งจะกล่าวเรื่องสงกรานต์  พูดถึงตรุษแต่พอท้าวความเท่านั้น
 
     “สงกรานต์”  เป็นคำภาษาสันสกฤต  แปลว่า  เคลื่อนย้าย  ในที่นี้   หมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์ คือ พระอาทิตย์ผ่าน หรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในจักรราศีใดราศีหนึ่ง    ก็เรียกว่า สงกรานต์
 
     จักรราศี  คือรูปวงกลมในท้องฟ้า ซึ่งสมมติว่าเป็นทางที่พระอาทิตย์ พระจันทร์ และดาวพระเคราะห์โคจรเวียนผ่านไป
 
     โคจร  แปลว่า  การเที่ยวไป หรือทางที่เที่ยวไปของพระอาทิตย์
 
     จักรราศี  นั้น   แบ่งตามขวางออกเป็น ๑๒ ส่วนเท่ากัน   เรียกว่า ๑๒ ราศี   แต่ละราศีมีกลุ่มดาวอยู่ในนั้นเป็นเฉพาะแต่ละราศี  (“ราศี”  แปลว่า  กอง หรือหมู่ ในที่นี้  หมายถึง หมู่ดาว หรือกลุ่มดาว)  กลุ่มดาวในราศีหนึ่งๆ มีหลายดวง เรียงรายกัน คนมองเห็นเป็นรูปต่างๆ และสมมติเรียกชื่อกลุ่มดาวนั้นๆ ไปตามรูปที่มองเห็น เช่น เป็นกลุ่มดาวแพะ (ราศีเมษ) กลุ่มดาววัว  (ราศีพฤษภ)  เป็นต้น
 
     เราเห็นว่าพระอาทิตย์โคจรเข้าไปในราศีใด จนกว่าจะผ่านพ้นราศีนั้นไปสู่ราศีอื่น ก็เป็นเวลาเดือนหนึ่ง เมื่อผ่านไปครบ ๑๒ ราศี  ก็นับโดยประมาณ ว่าเป็นปีหนึ่ง
 
     ราศี  นั้น   แบ่งตามมาตราวัดเป็นราศีละ ๓๐ องศา  รวมทุกจักรราศี   เป็น ๓๖๐ องศา   แต่ดาวต่างๆ ในกลุ่มของราศีทั้งหลายมีคาบเกี่ยว หรือเหลื่อมล้ำกันบ้าง   การแบ่งเดือนจึงมีวัน และเวลาไม่เท่ากัน
 
     ชื่อเดือนต่างๆ  เราก็ตั้งไปตามชื่อสมมติของกลุ่มดาวแต่ละราศี   โดยเอาคำว่า อายน หรือ อาคม ต่อท้ายเข้าไป
 
     อายน และอาคม  แปลว่า  มาถึง เหมือนกันทั้งสองคำ  แต่เราแยกใช้ให้ต่างกัน   เพื่อแยกเป็นเดือนที่มี ๓๐ วัน (ต่อด้วยอายน)   และเดือนที่มี  ๓๑ วัน  (ต่อด้วยอาคม)  เป็นที่สังเกตได้ง่าย
 
     ราศี หรือ กลุ่มดาว ๑๒ นั้น คือ
 
        เมษ = กลุ่มดาวแพะ   พฤษภ = กลุ่มดาววัว
 
        มิถุน =  กลุ่มดาวรูปคนคู่   กรกฎ  =  กลุ่มดาวปู
 
        สิงห = กลุ่มดาวสิงห์    กันย = กลุ่มดาวรูปหญิงสาว
 
        ตุล = กลุ่มดาวคันชั่ง    พฤศจิก = กลุ่มดาวแมงป่อง
 
        ธนู = กลุ่มดาวธนู    มกร = กลุ่มดาวมังกร
 
        กุมภ = กลุ่มดาวหม้อ    มีน = กลุ่มดาวปลา
 
     เอา อายน หรือ อาคม ต่อเข้าไป เป็น  เมษายน  (พระอาทิตย์มาถึงราศีดาวแพะ)  มกราคม (พระอาทิตย์มาถึงราศีดาวมังกร)  ดังนี้  เป็นต้น
 
     วัน และเวลาที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีหนึ่ง และยกไปสู่อีกราศีหนึ่ง  ท่านเรียกว่า  สงกรานต์เดือน   แต่ในวันและเวลาที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ  คือในเดือนเมษายน   เขาเรียกเป็นพิเศษว่า  “มหาสงกรานต์”  เพราะเป็นวันย้ายปี  คือ  ย้ายจากปีเก่า  ยกขึ้นสู่ปีใหม่ด้วย   แต่บัดนี้  เมื่อพูดถึงสงกรานต์  ก็หมายถึงมหาสงกรานต์นั่นเอง  สงกรานต์เดือน ไม่มีพูดถึงกัน
 
     การที่ถือเอาวันมหาสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่  คือตั้งต้นปีในวันที่ ๑๓ เมษายนนั้น เป็นเรื่องมาจากอินเดียภาคเหนือ ซึ่งอยู่เหนือเลยเขตร้อนขึ้นไป  มีฤดูกาลไม่เหมือนกับของเรา
 
     ที่นั่น   ต่อจากฤดูหนาว   เขามีฤดูวสันต์   แปลว่า  ฤดูใบไม้ผลิ  ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ธรรมชาติ และผู้คนสดชื่น  แจ่มใส  ร่าเริง  เบิกบานด้วยได้ผ่านพ้นฤดูหนาวที่แสนจะยากเข็ญทรมาน และเงียบหงอย เหี่ยวแห้ง มาสู่ฤดูกาลที่อุ่นสบาย ต้นไม้ประดังกันผลิดอกสวยงาม  แตกใบใหม่เขียวชอุ่ม   ธรรมชาติก็สดชื่น ผู้คนก็ร่าเริงยินดีเหมือนได้ฟื้นคืนชีวิตใหม่  จึงถือเอาต้นฤดูวสันต์เป็นวันขึ้นปีใหม่  
 
     ในประเทศของเรา   ถึงจะไม่มีฤดูวสันต์ก็ตาม  แต่เทศกาลนี้ก็เหมาะเข้ากับความเป็นอยู่ของเราด้วย เพราะเป็นระยะเสร็จสิ้นฤดูทำงาน  เป็นเวลาเหมาะสำหรับพักผ่อนสนุกสนานร่าเริง  ดังได้กล่าวแล้ว
 
     สงกรานต์ของไทย   ตามปกติมี ๓ วัน คือ วันที่ ๑๓, ๑๔ และ ๑๕ เมษายน
 
     วันที่ ๑๓ คือวันต้น  เป็น  วันมหาสงกรานต์  นับเป็นวันขึ้นปีใหม่
 
     วันที่ ๑๔ คือวันกลาง เป็น วันเนา คือ วันอยู่เฉยๆ ว่างมีแต่เล่นสนุก
 
     วันที่ ๑๕ คือวันสุดท้าย เป็น วันเถลิงศก หรือ พระยาวัน คือ วันขึ้นศักราชใหม่
 
     สมัยก่อน บางปี สงกรานต์  มี ๔ วัน คือ วันที่ ๑๓-๑๖ เมษายน  วันกลางระหว่างวันต้น  และวันสุดท้าย  เป็นวันเนา ๒ วัน คือถ้าปีใด  พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ   เป็นเวลาเลยเที่ยงคืนไปแล้ว  สงกรานต์ปีนั้นมี ๔ วัน
 
     วันจ่าย คือวันที่ ๑๒ เมษายน ก่อนถึงวันสงกรานต์วันหนึ่ง เป็นวันเตรียมซื้อหาสิ่งของสำหรับทำบุญในวันมหาสงกรานต์เตรียมเครื่องเสื้อผ้าใหม่ๆ ไว้แจก และทำขนมกวนกันแทบทุกบ้าน สำหรับนำไปทำบุญถวายพระและแจกแก่ผู้นับถือและเพื่อนบ้าน เป็นการแสดงไมตรีจิต พร้อมทั้งเป็นการแสดงฝีมือกวนขนมกันไปด้วยในตัว
 
     ขนมที่ทำกันสามัญ ก็คือ ขนมเปียกข้าวเหนียวแดง และกะละแม ก่อนถึงวันจ่ายนี้ พวกผู้หญิงโดยเฉพาะสาวๆ จะตระเตรียมตัว   หาผ้านุ่งผ้าห่มใหม่ๆ  อย่างดีไว้   มีการตัดผมจับเขม่ากันไร  เป็นพิเศษ และจัดหาแป้งหอมน้ำมันหอมไว้พร้อม เพื่อแต่งตัวให้สวยงาม และผัดลูบไล้ให้จรุงกลิ่นในวันสงกรานต์
 
     ทางฝ่ายวัด  ตามปกติพระก็กวาดลานวัด เณร และเด็ก ๆ ศิษย์ก็ช่วยทำหน้าที่ถอนหญ้ากันอยู่แล้ว ก่อนวันสงกรานต์ พระเณรและศิษย์ก็จะช่วยกันทำความสะอาดเป็นพิเศษ ตระเตรียมสถานที่ไว้ให้ชาวบ้านมาทำบุญโดยสะดวก
 
     วันมหาสงกรานต์ คือ วันที่ ๑๓ เมษายน  เป็นวันต้นของปีใหม่  ถือว่าเป็นวันสำคัญ  มีการทำบุญกันทั่วไปเป็นงานใหญ่ ชาวบ้านตื่นนอนกันแต่มืด   จัดแจงหุงข้าวอุ่นแกง  เตรียมอาหารเพื่อไปตักบาตรถวายพระ
 
     ครั้นหุงอาหารเสร็จ จัดเตรียมอาหาร และสิ่งของถวายพระบรรจุลงภาชนะเสร็จแล้ว  ก็เอาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มใหม่ที่เตรียมหาไว้แต่เนิ่น ๆ ก่อนสงกรานต์มาแต่งตัว โดยเฉพาะพวกผู้หญิงจะพยายามแต่งให้สวยเป็นพิเศษ เพื่อไปอวดกัน
 
     เสร็จแล้วก็แบกบ้าง หามบ้าง นำอาหารเครื่องไทยธรรมไปวัด  เดินกันเป็นหมู่ๆ มีหน้าตาสดชื่นแจ่มใสเบิกบาน สบายใจ
 
     ถึงวัดแล้ว  ก็เริ่มพิธีทำบุญ  ตักบาตรกลางลานวัดแล้ว  ก็เลี้ยงพระ ฉันเช้าที่ศาลาการเปรียญ หรือปะรำที่สร้างขึ้นสำหรับงาน  พระฉันเสร็จ  อนุโมทนาแล้ว  ก็กลับบ้าน

 

 
     ต่อจากนั้น พวกหนุ่มๆ สาวๆ ก็รีบกินข้าวแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสำรับใหม่  พากันไปเก็บดอกไม้ที่ในป่า ซึ่งกำลังบานสะพรั่งสวยงามทั่วทั้งป่าในระยะตรุษสงกรานต์  ไปกันเป็นหมู่ๆ ๕ คนบ้าง ๑๐ คนบ้าง  เกินกว่านั้นบ้าง ปนกันไปทั้งหญิงทั้งชายเก็บดอกไม่ไป ก็คุยหยอกล่อกันไป สนุกสนานเบิกบานใจ
 
     เมื่อเก็บดอกไม้ได้แล้ว ก็ไปที่บริเวณโบสถ์ หรือเจดีย์ในวัด แยกหญิงชายเป็นคนละพวก แล้วเล่นว่าเพลงพิษฐาน คืออธิษฐานเกี่ยวกับเนื้อคู่หรือคู่รักกัน
 
     เสร็จบูชาว่าเพลงพิษฐานกันแล้ว  ก็ไปเล่นสนุกกันที่ลานวัด หรือลานหมู่บ้านก็ได้   เช่น  เล่นพวงมาลัย  ชักเย่อ  มอญซ่อนผ้า เป็นต้น  เล่นกันตลอดวัน  พักเฉพาะตอนไปหุงหากินอาหาร
 
     ครั้นถึงตอนเย็น  หลังอาหารแล้ว ก็มีการเล่นรวมใหญ่ที่ลานของหมู่บ้าน เป็นตอนที่สนุกสนานมากที่สุด เรียกว่าเล่นนักขัตฤกษ์สงกรานต์  เล่นจนค่ำ บางทีก็ต่อถึงกลางคืน   การเล่นมีหลายอย่าง   เช่น   เล่นรำหมู่  เล่นเพลงดงลำไยแก้กัน  ระบำบ้านไร่  เข้าแม่ศรี  หนูผี  ลิงลม  นางด้ง  เป็นต้น  สุดแต่เลือกกัน
 
     เล่นกัน ๓ วันบ้าง ถึง ๗ วันบ้าง  บางทีเล่นกันไปถึง ๑๕ วันก็มี เพราะถ้าฝนยังไม่ตก  เริ่มทำนายังไม่ได้  ก็เล่นสนุกกันไปก่อน
 
     วันมหาสงกรานต์ คือ วันที่ ๑๓ เมษายน   นี้  ทางเมืองเหนือเรียกว่า  “วันสังขารล่อง”  ชาวบ้านปัดกวาดทำความสะอาด บ้านเรือนและซักฟอกเสื้อผ้ากันเป็นการใหญ่   เป็นการกำจัดอัปรีย์จัญไรเก่าๆ ให้หมดไป เป็นมงคลสำหรับปีใหม่
 
     นอกจากนี้ ในสมัยก่อนยังมีการยิงปืนอีกด้วย คงเป็นทำนองขับไล่ผีร้ายหรือเสนียดให้หายสูญไป
 
     ในวันเนา คือ วันที่ ๑๔ และวันเถลิงศก หรือพระยาวัน คือ วันที่ ๑๕ เมษายน ก็มีการทำบุญตักบาตร และการเล่นสนุกสนานสืบเนื่องไปแต่วันต้นนั้นเอง
 
     เฉพาะวันเนา ทางเมืองเหนือ   เรียกว่า “วันเน่า” เป็นวันพักผ่อนอยู่บ้าน ไม่ไปไหนๆ มีแต่หุงต้มอาหาร จัดสำรับเตรียมไว้สำหรับไปทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษในวันพระยาวัน คือวันรุ่งขึ้น และแจกปันอาหารไปตามญาติมิตร มีการขนทรายจากแม่น้ำปิงไปก่อพระเจดีย์ทรายในวัด และเริ่มเล่นสาดน้ำกันในวันเน่านี้  ในขณะที่ขนทรายเข้าวัดนั่นเอง
 
     กิจกรรมต่างๆ ที่เป็นลักษณะพิเศษของวันสงกรานต์นอกจากการทำบุญตักบาตรและการเล่นสนุกสนานต่างๆ แล้วก็ได้แก่ การก่อพระเจดีย์ทราย  การปล่อยนกปล่อยปลา  การบังสุกุลอัฐิ  การรดน้ำดำหัว และสรงน้ำพระ
 
     การก่อพระเจดีย์ทราย  มักทำที่ในวัดในวันสงกรานต์   แต่ก็ไม่มีกำหนดตายตัว   ที่ก่อใกล้เคียงวันสงกรานต์ และทำที่หาดทรายบ้าง   ที่กลางลานบ้านบ้าง   ก็มีที่ก่อในวัด  ก็เป็นการช่วยขนทรายเข้าวัด  ได้ทั้งบุญและความสนุกสนานด้วยในตัว
 
     การปล่อยนกปล่อยปลา โดยมากเป็นการปล่อยปลา ทำกันระหว่างสงกรานต์ได้ทั้ง ๓ วัน  ในหมู่บ้านคนเชื้อมอญ มีประเพณีแห่ปลาไปปล่อยกันอย่างสนุกสนานด้วย
 
     การทำบุญปล่อยปลานี้สันนิษฐานว่า  คงจะเป็นการช่วยปลาที่ตกคลักอยู่ในแอ่งในหนองที่น้ำกำลังแห้งงวดในฤดูร้อน ให้รอดมีชีวิตสืบพืชพันธุ์อยู่ได้ต่อไป
 
     การบังสุกุลอัฐิ   ญาติผู้ใหญ่  หรือบรรพบุรุษ   จะทำในวันสงกรานต์  วันไหนก็ได้  แต่โดยมากทำกันในวันเดียวกับสรงน้ำพระ  โดยเฉพาะวันท้ายของสงกรานต์
 
     ถ้าเก็บอัฐิไว้ที่บ้าน  ก็นำอัฐิไปรวมกันที่วัด  โดยมากทำที่ศาลาการเปรียญที่เลี้ยงพระ เป็นการทำบุญรวมญาติ  นิมนต์พระสงฆ์ทั้งวัดให้สวดมาติกาบังสุกุลอัฐิเป็นการทำบุญอุทิศกุศลแก่ ปู่ ย่า ตา ยาย  เป็นต้น  ที่ล่วงลับไปแล้ว  เป็นการแสดงความระลึกถึงท่านเหล่านี้  ในโอกาสอันถือกันว่าสำคัญ และเป็นสิริมงคล  เท่ากับให้ท่านได้มีส่วนร่วมในความสุขสดชื่นกับลูกหลานคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีส่วนหนึ่ง
 
     ถ้าอัฐิของท่านบรรจุไว้ที่เจดีย์ หรือที่แห่งอื่นในวัด  ก็นิมนต์พระไปบังสุกุลที่ตรงนั้น
 
     การสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ตามปกติทำในวันสุดท้ายของสงกรานต์เป็นพิธีท้ายสุด
 
     สำหรับพระพุทธรูปนั้น แต่เดิมเขาไม่มีไว้ในบ้านเรือนเพราะถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาอย่างสูง ไม่ควรไว้ในบ้านเรือน แม้เมื่อเริ่มมีพระไว้บูชาที่บ้าน   เขาก็สร้างหอพระขึ้นเป็นที่ประดิษฐานโดยเฉพาะต่างหาก
 
     เมื่อพระพุทธรูปมีอยู่แต่ที่วัด   การไปสรงน้ำพระพุทธรูป  ก็ดูจะยิ่งมีความหมาย  สำคัญมากขึ้น
 
     การสรงนั้น อย่างง่ายๆ ก็มีดอกไม้ธูปเทียนไปบูชา แล้วเอาน้ำอบประพรมที่องค์พระพอเป็นพิธี
 
     บางแห่งอัญเชิญพระพุทธรูปออกมาจากโบสถ์หรือวิหารเป็นต้น มาตั้งในที่จัดไว้เป็นพิเศษให้ประชาชนได้สรงน้ำ
 
     บางถิ่นก็จัดทำเป็นรางท่อน้ำให้ประชาชนเทน้ำสรงลงไปในราง ปล่อยให้ไหลไปตกที่ประพุทธรูปหรือพระธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตรงปากท่อ บางแห่งตั้งให้สรงอยู่ทุกวันตลอด ๑๕ วันจึงเลิก
 
     ส่วนการสรงน้ำพระสงฆ์ อาจสรงเฉพาะเจ้าอาวาส สรงกันจริงๆ อย่างอาบน้ำให้หรือเทน้ำอบน้ำหอมรดลงที่มือ ให้น้ำไหลลงไปในขันที่ตั้งรองไว้บางแห่งทำเป็นรางหรือท่อไหลมาสรงอย่างเดียวกับสรงพระพุทธรูป
 
     สรงเสร็จแล้ว ครองไตรจีวรชุดใหม่ที่ชาวบ้านจัดถวายจากนั้นขึ้นธรรมาสน์เทศน์อวยพรปีใหม่ หรืออาจเทศน์ก่อนทำพิธีสรงก็ได้
 
     เสร็จจากสรงน้ำสมภารแล้ว จึงไปสรงพระอื่นๆ ที่ตนรู้จักหรือนับถือ แต่ทั่วไปในบัดนี้นิยมจัดสรงน้ำพระสงฆ์หมดวัดรวมทั้งเจ้าอาวาสพร้อมทีเดียวกัน เมื่อสรงน้ำพระแล้ว ก็เล่นสนุกสาดน้ำกันเอง
 
     การรดน้ำผู้ใหญ่  บางแห่งนัดให้มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่   ซึ่งจัดไว้ในวัด  นิมนต์พระมาให้ศีลแล้ว   เริ่มพิธีรดน้ำ คืออาบน้ำให้แล้วเอาผ้านุ่งห่มใหม่ให้ผลัด   พร้อมทั้งมีดอกไม้ธูปเทียนเป็นเครื่องสักการะ   แต่ที่ทำกันทั่วไปคือ ไปขอรดผู้ใหญ่ที่ตนคุ้นเคยหรือเคารพนับถือ  แล้วท่านให้ศีลให้พรเพื่อความสุขปีใหม่
 
     การดำหัว เป็นประเพณีของทางเมืองเหนือ  คือการไปรดน้ำผู้ใหญ่ในวันพระยาวัน   ได้แก่  ในวันเถลิงศกที่ ๑๕ เมษายนนั่นเอง
 
     พิธีทำ คือ นำดอกไม้ธูปเทียน และผ้าใหม่สำหรับผลัดไปพร้อมทั้งหมากพลู กับน้ำส้มป่อยสำหรับใช้แทนสบู่และน้ำอบ   ผู้ใหญ่รับเครื่องดำหัวแล้ว  ก็เอาน้ำส้มป่อย และน้ำอบประพรมบนศีรษะ แล้วให้ศีลให้พรตามธรรมเนียม
 
     ปัจจุบัน   พิธีส่วนนี้มักทำกันรวบรัด  สงวนเวลาตามกาลสมัย คือ จัดพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป และพระสงฆ์หมดทั้งวัดพร้อมในคราวเดียวในวันท้ายของสงกรานต์  (ถ้ามีงานวันเดียว ก็ทำในวันที่ ๑๓) และเล่นสาดน้ำกัน  เสร็จแล้วกลับบ้าน เอาน้ำอบไทยไปรดน้ำญาติผู้ใหญ่ หรือท่านที่ตนเคารพนับถือตามบ้านต่างๆ รับศีลรับพรจากท่าน เพื่อความสุขสวัสดีสืบต่อไป


 
 



Create Date : 13 พฤศจิกายน 2567
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2567 12:35:13 น. 0 comments
Counter : 76 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space