 |
|
|
| 1 |
2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 |
9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 |
16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 |
23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | |
|
 |
|
|
ค) คาถาที่ ๓ (กับครึ่งคาถา) คือตอนท้าย
จากนั้นก็ถึงท่อนที่ ๓ อีกคาถากับครึ่งสุดท้าย เรียกว่าอีกคาถากึ่ง มีว่า
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ.
คําสอนส่วนนี้เป็นท่อนที่ถือกันว่า เป็นคําสอนของพระพุทธเจ้า สําหรับพระสงฆ์ที่ทําหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา ว่าควรจะประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไร คือ เมื่อได้คำสอนที่จะสอนเขาแล้ว ตัวผู้ที่จะสอนเขา หรือนำคำสอนไปเผยแผ่นี้ ควรจะดำเนินชีวิต และมีวัตรปฏิบัติอย่างไร ก็มีหลักว่า
อนูปวาโท การไม่กล่าวร้าย ๑
อนูปฆาโต การไม่ทําร้าย ๑
พระที่จะไปสอนเขานี่ ต้องเป็นตัวอย่าง ไม่กล่าวร้ายใคร ไม่ทําร้ายใคร
ปาติโมกฺเข จ สํวโร แปลว่า สํารวมตนในปาติโมกข์
“ปาติโมกข์” คือ วินัยแม่บท ได้แก่ ประมวลข้อกำหนดความประพฤติ ที่เป็นระเบียบกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ในการดําเนินชีวิตของพระภิกษุ เพื่อรักษาแบบแผนหรือมาตรฐานแห่งความเป็นอยู่ที่เหมาะสม และเอื้อต่อการเจริญในไตรสิกขาของพระภิกษุ
ในเรื่องนี้ พระภิกษุจะต้องมีความสํารวมระวัง ตั้งใจที่จะดํารงตนอยู่ในปาติโมกข์หรือในศีลแม่บท ที่ปัจจุบันนี้เราเรียกกันว่า ศีล ๒๒๗
มตฺตญฺฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร คือต้องรู้จักกินพอดี หมายความว่า บริโภคด้วยความรู้เข้าใจวัตถุประสงค์ โดยใช้ปัญญา กินเพื่อคุณค่าที่แท้แก่ชีวิต ไม่ใช่กินอาหารเพียงเพื่อจะเอร็ดอร่อย เพื่อตามใจอยาก ตามใจลิ้น
โดยเฉพาะพระสงฆ์ เป็นผู้ดําเนินชีวิตด้วยอาศัยญาติโยมเลี้ยง ต้องอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่ เพราะฉะนั้นจะต้องทําตัวให้เขาเลี้ยงง่าย เป็นอยู่ง่ายๆ ไม่มัววุ่นวายครุ่นคิดและใช้แรงงานใช้เวลาให้หมดไปกับการแสวงหาสิ่งเสพบริโภค ไม่เฉพาะอาหารเท่านั้น ปัจจัย ๔ อื่นก็เช่นเดียวกัน คือ ไม่มามุ่งหาความสุขสําราญจากเรื่องของวัตถุนั่นเอง
การกินอาหาร เป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์ ฉะนั้น ท่านจึงจับจุดแรก ให้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ให้กินด้วยปัญญาที่รู้คุณค่าที่แท้จริง ที่เป็นวัตถุประสงค์ของการกิน ว่าเรากินเพื่ออะไร คือกินเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี จะได้ใช้ร่างกายนี้ดําเนินชีวิตที่ดีงาม อย่างที่ท่านเรียกว่า เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์คือเพื่อเกื้อหนุนการที่จะมีชีวิตที่ดีงามประเสริฐ และจะได้ทําหน้าที่นําธรรมไปสั่งสอนประชาชนได้
นี้คือหลักการที่เรียกว่า มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ รู้จักอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด ไม่ใช่มัววุ่นวาย ออกไปคลุกคลีกับหมู่ชาวบ้าน จนไม่รู้จักหาความสงบ ไม่ปลีกตัวออกไป หาเวลาหาโอกาสพัฒนาจิตใจและปัญญา
พระสงฆ์จะต้องให้เวลาแก่การพัฒนาด้านจิตใจและปัญญาให้มาก เมื่อแสวงหาที่สงัดเป็นที่วิเวกได้แล้ว ก็มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการที่จะพัฒนาจิตใจ ด้วยการเจริญจิตภาวนา แล้วก็ก้าวไปสู่การทําปัญญาภาวนา
จุดสําคัญก็คือ จะต้องมีที่อยู่ที่เหมาะ รู้จักหลีกเร้น นับว่าเป็นข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งที่สําคัญ เมื่อจะไปทํางานสั่งสอนประชาชน เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับชาวบ้าน จะต้องไม่ละทิ้งการอยู่ในที่สงัด เพื่อเป็นฐานที่มั่นคงภายใน จะได้ไม่ถูกดูดถูกกลืนเข้าไปในสภาพที่ยุ่งเหยิงของสังคมภายนอก
พระพุทธเจ้าเองทรงเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ พระองค์เสด็จไปสั่งสอนประชาชน ต้องไปยุ่งเกี่ยวเที่ยวเสด็จไปพบคนโน้นคนนี้ไปโปรดคนโน้นคนนี้ เป็นกษัตริย์ บ้าง เป็นพราหมณ์ บ้าง เป็นพ่อค้า เป็นชาวนา เป็นอะไรต่างๆ มากมาย แต่พระองค์ก็ไม่ละทิ้งความสงัด พอได้โอกาส พระองค์ก็เสด็จไปประทับในที่วิเวก หาความสงบเป็นแบบอย่าง เพราะฉะนั้นจึงไม่ให้ทิ้งข้อปฏิบัตินี้
อธิจิตฺเต จ อาโยโค พอได้ที่สงัดแล้วก็ประกอบในอธิจิต ใส่ใจในการฝึกฝนจิตใจยิ่งขึ้นไป พระสงฆ์ทําหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา เป็นผู้ที่นําประชาชนในการพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา แต่แบบอย่างที่สําคัญของพระ ก็คือเรื่องทางด้านจิตใจ เรื่องคุณธรรม
ในด้านนี้ พระสงฆ์ควรจะให้เขาเห็นแบบอย่างว่า เมื่อพระท่านพัฒนามีจิตใจที่ประณีตงดงามแล้ว ดีอย่างไร ท่านมีความสุขทางจิตใจ โดยพึ่งพาอาศัยวัตถุน้อย ท่านอยู่ได้อย่างไร มีชีวิตที่เป็นสุขได้อย่างไร เป็นแบบอย่างแก่ประชาชน
ถ้าพระสงฆ์ไม่ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ คําสอนก็อาจจะได้ผลน้อย แต่ถ้าพระสงฆ์ดําเนินชีวิตตามหลักที่ว่ามาในคาถากึ่งสุดท้ายนี้ ก็จะเป็นแนวทางและเป็นคติแก่ประชาชน พร้อมกันนั้นก็ทําให้ประชาชนมีความหวัง และมีความศรัทธาเลื่อมใสต่อพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ทําให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ผลดีต่อไปด้วย
- มีต่อ
Create Date : 12 กุมภาพันธ์ 2568 |
Last Update : 12 กุมภาพันธ์ 2568 11:57:04 น. |
|
0 comments
|
Counter : 37 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|