Mr.Pos : The Thinking & Learning in My Life
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2556
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
15 มิถุนายน 2556
 
All Blogs
 
บทสัมภาษณ์ ‘หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล’เจ้านักทำหนัง ผู้ตีแผ่ปัญหาสังคม

‘หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล’

 

เจ้านักทำหนัง ผู้ตีแผ่ปัญหาสังคม

 

 

                ในแวดวงภาพยนตร์ไทย หากเอ่ยนามผู้กำกับหนังระดับแถวหน้าที่มีคุณสมบัติถึงพร้อมทุกด้าน ที่จะเป็นปูชนียบุคคลแห่งวงการ ทั้งภูมิรู้ ประสบการณ์ ความสามารถ และผลงานอันเป็นที่ยอมรับ ชื่อของ ‘หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล’ หรือ ‘ท่านมุ้ย’ ย่อมเป็นบุคคลที่คนทั้งในวงการ และนอกวงการต้องค้อมคารวะ ด้วยผลงานภาพยนตร์ของท่านที่ปรากฏจากอดีตถึงปัจจุบัน ๒๖ เรื่อง (หากนับ ‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ’ ทั้ง ๔ ภาคเป็นเรื่องเดียว) ท่านคือผู้กำกับภาพยนตร์ที่เปี่ยมด้วยอัจฉริยภาพ ทุ่มเททำงานหนัก อุทิศชีวิต และมันสมอง แรงกายให้กับการสร้างหนังอย่างแท้จริง

 

                จากผลงานในยุคแรก ที่มีเนื้อหาสะท้อนสังคม ท่านจึงถูกกล่าวขานให้เป็น ‘เจ้าฟ้านักทำหนัง ผู้ตีแผ่ปัญหาสังคมอย่างถึงแก่น’ ก่อนที่ช่วงหลังท่านจะเนรมิตพงศาวดารไทย ให้เกิดขึ้นอย่างอลังการบนแผ่นฟิล์มกับ ๒ มหากาพย์ที่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่หลายด้านให้แก่วงการอย่าง ‘สุริโยไท’ และ ‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ’

 

                สิ่งสำคัญที่คนทำหนังรุ่นหลัง หรือแม้แต่คนทำงานในวิชาชีพอื่นควรยึดถือเป็นแบบอย่างคือ การทุ่มเทกับการทำงาน ค้นคว้า กลั่นกรองหาข้อมูลอย่างจริงจัง และให้ความพิถีพิถันกับทุกขั้นตอนการสร้าง ตั้งแต่การเขียนบท ถ่ายทำ ไปจนถึงการตัดต่อ และให้ความสำคัญกระทั่งรายละเอียดปลีกย่อยที่คนส่วนใหญ่มองผ่าน และทุกครั้งที่มีเวลาว่างท่านยังเต็มใจที่จะถ่ายทอดความรู้แก่คนรุ่นใหม่อย่างไม่ปิดบังอยู่เสมอ..

 

 

วงการภาพยนตร์ไทยนับจากอดีตถึงปัจจุบัน มีความเป็นมา และพัฒนาการอย่างไร

 

 

                วงการหนังไทยมีการเปลี่ยนแปลงมากมายจากอดีตถึงปัจจุบัน ยุคแรกๆ เป็นหนังฟิล์ม ๑๖ มม. ใช้การพากย์ ต้นทุนสร้างก็ต่ำ เรื่องหนึ่งใช้งบแค่ ๒ แสนถึง ๓ แสนบาท ถ่ายทำได้รวดเร็ว ถ่ายเสร็จก็นำไปฉายแล้วพากย์ เป็นอะไรที่ง่ายๆ แต่ก็ได้รับความนิยมมาก โดยเฉลี่ยสมัยก่อนหนังไทยจะถูกผลิตออกมาประมาณ ๒๐๐ – ๓๐๐ เรื่องต่อปี ซึ่งถือว่าเยอะ แต่ปัญหาคือไม่สามารถเก็บไว้ได้ เพราะเป็นฟิล์มที่ฉายครั้งเดียวแล้วทิ้ง มี Copy เดียว พอฉายซ้ำก็เป็นรอยขีดข่วน เราจึงไม่ค่อยเจอหนังไทยในยุค ๒๕๐๐ – ๒๕๓๐

 

                พอวงการหนังเปลี่ยนจากฟิล์ม ๑๖ มม. มาเป็น ๓๕ มม. ช่วงแรกก็ยังไม่ได้อัดเสียงดาราขณะถ่ายทำอยู่ดี หนัง ๓๕ ยุคแรกเรียกว่า ‘ซีเนมาสโคป’ ซึ่งครองตลาดเรื่อยมาจนหมดไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ช่วงนั้นคนดูยังไม่ยอมรับเสียงดาราจริงๆ แต่ยังคุ้นเคยเสียงของนักพากย์ดังๆ อยู่ จนถึงยุคนี้ ซีเนมาสโคป ก็หมดไปกลายเป็นหนังที่เรียกว่า ๑๘๕ หรือหนังที่ใช้เลนส์ธรรมดาถ่าย เพราะสามารถนำมาลง ดีวีดี ได้ง่ายกว่า

 

                พอมาถึงยุคที่ละครใช้เสียงดาราจริงพูดแล้ว วงการหนังก็แทบไม่สามารถย้อนกลับไปใช้การพากย์ได้อีก ปัจจุบันแทบไม่มีใครทำหนังพากย์กันอีกเลย

 

 

คุณภาพโดยรวม และเนื้อหาของหนังไทยมีการเปลี่ยนแปลงเช่นไรบ้าง

 

 

                มีอยู่ยุคหนึ่งเป็นช่วงที่มีการเซ็นเซอร์หนังเยอะมาก หนังที่สร้างออกมาจึงมีเนื้อหาออกไปทางน้ำเน่าเป็นส่วนใหญ่ ไม่สามารถสร้างอะไรออกนอกลู่นอกทางได้ แต่พอถึงช่วง ๑๔ ตุลา ๑๖ หนังไทยก็เริ่มพูดถึงแง่มุมทางสังคม พูดถึงการคอรัปชั่นในวงราชการ ส่วนบทพูดก็ไม่ถูกเซ็นเซอร์มากนัก เริ่มมีการใช้คำหยาบได้ ต่างจากก่อน ๑๔ ตุลา ที่สรรพนาม กู มึง ไม่สามารถใช้ในหนังได้ แต่มาปัจจุบันการใช้คำหยาบในหนังกลับเป็นเรื่องปกติ หนังแต่ละเรื่องแข่งกันพูดหยาบ หรือพอเปิดโอกาสให้หนังมีฉากโป๊เปลือยได้บ้าง ต่อมาก็โป๊กันเต็มที่ เพราะผู้สร้างไม่ค่อยบันยะบันยัง ไม่มีความพอดี ซึ่งเป็นการทำลายหนังไทยโดยตรง

 

                วงการหนังไทยปัจจุบัน จึงมีทั้งส่วนดีและไม่ดี มีคนสร้างหนังที่อยากได้เงินเร็วๆ เห็นหนังประเภทไหนทำเงินเยอะก็จะแห่ทำตามเป็นแถว จนกระทั่งมันไม่สามารถทำเงินได้อีกต่อไป กระแสก็จะเปลี่ยน เช่นช่วงที่ทำหนังบู๊ ก็จะบู๊กันทุกเรื่อง มาตอนนี้ก็เน้นหนังตลก หนังผี หนังประเภทนี้ก็ถูกสร้างออกมาเต็มไปหมด

 

 

ความผูกพันในชีวิตของท่านที่มีต่อการทำหนัง

 

 

                ผมเกิดในกองถ่าย เหมือนลูกของผมที่เกิดในกองถ่ายเช่นกัน ที่บ้านมีโรงถ่าย ผมจึงเห็นการถ่ายหนังตั้งแต่เกิด มันเป็นความผูกพัน ตอนเรียนก็พยายามไปเรียนด้านธรณีวิทยา แต่ก็ต้องย้อนกลับมาเรียนทำหนังเหมือนเดิม พอเรียนจบก็มาทำหนัง แล้วก็ยังไม่เคยหันไปทำอย่างอื่นเลย จนถึงวันนี้ก็ ๔๐ กว่าปีแล้ว มันเป็นอาชีพของเรา เหมือนเป็นความเคยชินที่คนเราต้องกินข้าวทุกวัน ผมก็เคยชินกับการถ่ายหนัง นั่งเขียนบทตั้งแต่ ตี ๕ เข้านอนตอนเที่ยงคืน เคยชินกับการตระเวนดูโลเคชั่น ลงไปเก็บข้อมูลในสถานที่จริง ถ้าเราไม่ลงไป ก็จะไม่ได้ภาพใกล้เคียงที่จะใช้สร้างหนังได้ อย่างหนังสือทั้งหมดที่อยู่บนชั้นในห้องสมุด ผมจะใช้ค้นคว้าเพื่อสร้างหนังเพียง ๒ – ๓ เรื่อง ผมต้องอ่านเพื่อให้เนื้องานออกมาดี

 

 

ในทัศนะของท่าน หนัง ทำหน้าที่อะไรต่อสังคม

 

 

                อันที่หนึ่ง มันเสมือนบันทึกของสังคมในสมัยนั้นๆ ไม่มากก็น้อย เมื่อคุณลองย้อนกลับไปดูหนังในยุค ‘มิตร – เพชรา’ คุณก็จะรู้ว่าสมัยนั้นเขาแต่งตัวกันอย่างไร ใช้รถยนต์อะไร อย่างหนัง ‘เทพธิดาโรงแรม’ ของผม ก็พูดถึงที่เที่ยวผู้หญิงประเภท ‘ซ่อง’ ซึ่งปัจจุบันมันอาจไม่มี หรือเปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว หนังยังทำหน้าที่สะท้อนอารมณ์ของสังคมในยุคนั้นๆ ด้วย หนังจึงไม่ได้ให้แค่ความบันเทิง แต่มันคือรูปแบบหนึ่งของการสื่อสาร สำหรับผมสนใจเรื่องของคนธรรมดาในสังคม หนังที่ออกมาจึงพูดถึงคนเล็กๆ ในสังคมมาตลอด เช่น ‘ครูสมศรี’ หรือ ‘ทองพูน โคกโพ’ สำหรับ ‘สุริโยไท’ หรือ ‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ’ ท่านก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง มีรัก โลภ โกรธ หลง เหมือนกัน เพียงแต่ตัวละครแต่ละตัว จะไปอยู่ในกรอบเนื้อหาที่ใหญ่ หรือเล็กต่างกันเท่านั้นเอง

 

 

ปัจจัยความสำเร็จในชีวิต ของผู้กำกับหนังคนหนึ่ง

 

 

                คนที่จะเป็นผู้กำกับได้ต้องมีความรักในการที่จะทำภาพยนตร์ ไม่ใช่รักที่จะทำหนังเพื่อสิ่งนั้น สิ่งนี้ เพื่อที่จะได้เงิน หรือรางวัล คุณต้องรักที่จะทำภาพยนตร์ คุณถึงจะเป็นคนทำหนังที่ประสบความสำเร็จได้ สำหรับผู้กำกับ สิ่งสำคัญคือ หนังของเราที่สร้างออกมานั้น สามารถสื่อสารกับคนดูอย่างถูกต้องสมบูรณ์รึเปล่า คนดูสนุกรึเปล่า อย่าไปคิดโกงคนดู หรืออย่าคิดว่าเขาโง่ คนดูหนังสมัยใหม่ฉลาด และมีความคิดเยอะแยะ อีกประการคือ เราต้องรับผิดชอบสิ่งที่เราทำ สมมติว่าตัวผมเป็นคนเลวมากๆ แต่หนังของผมจะเลวไม่ได้

 

                ‘เลว’ ในที่นี้ คือการที่เราไปชี้แนะคนดูในสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เราต้องพิจารณาว่าหนังของเราไปเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ไม่ดีรึเปล่า เรื่องของสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลสูง ผู้สร้างหนังจึงไม่สมควรสร้างในลักษณะที่ชี้แนะสังคมให้มันแย่ลงไปอีก หรือหากจะหยิบเรื่องที่ไม่ดีมาทำ ก็ควรชี้ให้เห็นถึงผลเสียของมันอย่างเรื่อง ‘เสียดาย’ ผมก็หยิบเรื่องยาเสพติดมาทำ แต่ก็ไม่เคยพูดว่ายาเสพติดมันดี แต่เรานำเสนอให้เห็นผลสะท้อนด้านลบของมัน สื่อให้เห็นถึงความปวดร้าวของตัวละครในเรื่อง และผลกระทบของผู้ที่อยู่รอบๆ ตัว

 

 

ผู้กำกับรุ่นใหม่ของวงการในสายตาของ ท่านมุ้ย

 

 

                สำหรับผู้กำกับรุ่นใหม่ที่มองดูแล้วน่าจะเป็นความหวังของวงการก็มีอยู่ไม่น้อย ผมชื่นชม อภิชาติพงศ์ , เป็นเอก รวมถึง เรียว กิตติกร ซึ่งเป็นผู้กำกับที่ดีมีความคิด มีผลงานในสไตล์ของตัวเองเป็นที่ประจักษ์ สำหรับนักแสดงโดยมากมักไม่ยืนยง มาแล้วก็ไป แต่ที่เป็นซูปเปอร์สตาร์สำหรับผมก็คือ ‘สรพงษ์ ชาตรี’ ที่ยังหอบหิ้วกันอยู่ทุกวัน ผมคิดว่า สรพงษ์ คือแบบอย่างของดาราที่ดี เขาไม่เคยแสดงออกว่าเป็นดาราใหญ่โตอะไร ปัจจุบันก็มีคนรักเขามากมาย พิสูจน์ได้จากที่มีคนนำเงินมาช่วยเขาสร้างวัดหลวงพ่อโต สร้างสาธารณะประโยชน์ขึ้นมาให้ชาวบ้านได้เคารพสักการะ โดยชาวบ้านเชื่อว่า สรพงษ์ จะไม่โกงเขา เขาตั้งมูลนิธิหลวงพ่อโต นำเงินมาให้เด็กเรียนหนังสือ ซื้อรถพยาบาล คอมพิวเตอร์ ซื้อรถให้โรงเรียน นี่คือสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน

 

 

อยากให้ท่านมุ้ย ฝากคำแนะนำ และข้อคิดต่อนักแสดง ดาราไทย

 

 

                สิ่งที่อยากฝากคือ ผมจะสร้างใครให้เป็นดาราก็ทำได้ จะเอา 'ลิงชิมแปนซี' มาเป็นดาราก็ทำได้ แต่ผมคงไม่สามารถทำให้ลิงเป็นคนได้ การจะเป็นดาราไม่ใช่ของยากเย็น แต่ดาราของผมก็ควรจะเป็นคนก่อน การเป็นคนคืออย่าคิดว่าตัวเองสูงส่ง หรือผิดแปลกไปจากมนุษย์คนอื่น

                ข้อสำคัญคืออย่าไปหลอกคนดู พยายามสร้างผลงานให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าผลงานของเราไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ก็จงอย่าให้มันถอยหลังเท่านั้นเอง…

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




Create Date : 15 มิถุนายน 2556
Last Update : 15 มิถุนายน 2556 15:38:01 น. 2 comments
Counter : 2976 Pageviews.

 
จำแบงก์ได้หรือเปล่าครับ


โดย: กิตติพงษ์ จันทร์ผล IP: 110.77.183.140 วันที่: 28 กันยายน 2556 เวลา:14:49:19 น.  

 
..............................................................................................................................................................


โดย: กิตติพงษ์ จันทร์ผล IP: 110.77.183.140 วันที่: 28 กันยายน 2556 เวลา:14:54:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

โปสการ์ดราดซอส
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add โปสการ์ดราดซอส's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.