Mr.Pos : The Thinking & Learning in My Life
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2556
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
14 มิถุนายน 2556
 
All Blogs
 
'ประหยัด พงษ์ดำ' ปรมาจารย์ศิลปะภาพพิมพ์ แห่ง เมืองไทย

'ประหยัด พงษ์ดำ' ปรมาจารย์ศิลปะภาพพิมพ์ แห่งเมืองไทย    

แง่มุมคิด และเส้นทางชีวิตที่อุทิศแด่ 'ศิลปะ'

เด็กทุ่งเมืองสิงห์ ผู้หลงรักศิลปะ และธรรมชาติ

 

 

“ วัยเด็กของผมเกิดที่สิงห์บุรี เป็นเด็กบ้านนอกอยู่กับท้องไร่ท้องนา ชอบเที่ยวเล่นซุกซนตามประสาเด็กผู้ชาย ทั้งแทงกบ ดักปลาไหล ช้อนปลากัด ด้วยความที่คลุกคลีอยู่กับธรรมชาติ จึงได้ซึมซับ ฝังจิตฝังใจในความงามของสภาพชีวิตชนบท ชอบวาดรูป ขีดเขียนตั้งแต่เด็ก ไปวัดก็ชอบดูภาพจิตรกรรมฝาผนัง ไปทุ่งเอาวัวควายไปเลี้ยง เห็นเมฆ ก็จินตนาการเป็นรูปร่างต่างๆ ไปดูลิเก คนอื่นเขาดูตัวพระตัวนาง แต่เรากลับดูฉากลิเก เพราะรู้สึกว่ามันสวย เวลาไปไหนก็จะติดมีดไปแกะโน่นแกะนี่ เอาดินมาปั้นเป็นวัวควาย คนเห็นก็ชมว่าเรามีฝีมือ ปั้นรูป เขียนรูปเก่ง จำได้ว่าเคยเอาถ่านหุงข้าว มาเขียนรูปหมาของตัวเอง เขียนลักษณะที่มันกำลังเหนื่อยหอบลิ้นห้อย เขียนรูปที่มันกำลังวิ่งกระโจน ผู้ใหญ่เห็นก็ชม บอกว่าวาดเหมือนหมากำลังวิ่งจริงๆ ยิ่งมีคำชมเพิ่ม เราก็ยิ่งมีกำลังใจ..

 

“ แม้พื้นเพครอบครัว จะไม่มีใครเป็นช่างศิลป์ ช่างฝีมือเลย แต่ด้วยความที่บรรพบุรุษตระกูลผม มีเชื้อสายเป็น คนลาวพวน อยู่ที่ทุ่งไหหิน เชียงขวาง ที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งได้ชื่อว่ามีฝีมือในงานช่างแขนงต่างๆ เราจึงคิดว่า ทักษะฝีมือทางศิลปะของตัวเอง ก็น่าจะถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย ก็เป็นได้..

 

“ เมื่อเรามีทักษะความชอบทางนี้ คุณพ่อก็ไม่ได้ปิดกั้น คุณพ่อเป็นครูประชาบาล จะให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูก โดยไม่ได้บังคับว่าจะต้องให้ลูกเรียนอะไร พ่อบอกเสมอว่าถ้าใครโตขึ้นอยากทำนา ก็มีที่นาให้ ใครอยากจับปากกาเรียนหนังสือ ก็ส่งให้เรียนเต็มที่ พอโตขึ้น พี่สาวเห็นช่องทาง ก็พาไปสอบเข้าเพาะช่าง จึงเป็นจุดหักเหของชีวิต เพราะตอนนั้นผมจะเลือกเรียนอะไรก็ได้ เพราะคะแนนสอบตอน ม.๖ ค่อนข้างดี เรียนเพาะช่างอยู่ได้ ๒ ปี ก็สมัครสอบเทียบได้ ปี ๒๔๙๕ ผมจึงได้เข้ามาเป็นนักศึกษาของ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

 

ลูกศิษย์ อ.ศิลป์ ผู้จบจิตรกรรมคนแรกของประเทศ

 

“ ศิลปากร สมัยที่ผมเรียนยังขึ้นตรงกับ กรมศิลป์ ไม่ได้แยกมาอยู่กับ ทบวงมหาวิทยาลัย เหมือนปัจจุบัน มีนักเรียนอยู่ประมาณ ๑๐๐ กว่าคน มีเพียง คณะจิตรกรรม และประติมากรรม นักเรียนจึงเรียนเหมือนกันหมด ปี ๑ - ๓ ต้องเรียนครบหมดทั้ง ปั้น เพนท์ พิมพ์ ฯลฯ ส่วนคณะอื่นอย่าง โบราณคดี สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ เพิ่งตั้งในภายหลังประมาณ ปี ๒๕๐๐ เพื่อเสริมบุคลากรที่ขาดแคลนด้านต่างๆ ให้กับกรมศิลป์..  

 

“ พอจบ ๓ ปี ได้อนุปริญญา จะขึ้นปี ๔ ก็ต้องคัดนักเรียนที่คะแนนถึงแยกไปเรียนจิตรกรรม หรือประติมากรรมต่อโดยเฉพาะ ซึ่งคะแนนของผมได้ทั้ง ๒ อย่าง จึงเลือกเรียนประติมากรรม เพราะคิดว่าลงทุนน้อย ไม่ต้องมีอุปกรณ์มาก เรียนปั้นอยู่ได้ ๒ อาทิตย์ อ.ศิลป์ พีระศรี มาเห็นเข้า รู้ว่าคะแนนด้านจิตรกรรมของผมดี จึงจับผมย้ายไปเรียนจิตรกรรม เรียนจบปี ๔ สอบขึ้นปี ๕ ปรากฏว่ามีผมสอบผ่านขึ้นไปได้คนเดียว ผมจึงกลายเป็นนักเรียนจิตรกรรมคนเดียวในชั้น ต้องเรียนตัวต่อตัวกับ อ.ศิลป์ กระทั่งผมสามารถจบปริญญาตรีด้านจิตรกรรม เป็นคนแรกในประเทศไทย ในปี ๒๕๐๐ ส่วนด้านประติมากรรมคนที่จบคนแรก คือ อ.ชลูด นิ่มเสมอ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ..๒๕๔๑) จบในปี ๒๔๙๗  ซึ่งตั้งแต่ปี ๒๔๘๖ – ๒๕๐๐ มีนักเรียนศิลปากรจบปริญญาทั้งมหาวิทยาลัยแค่ ๓ คนเท่านั้น ในหลวงจึงยังไม่พระราชทานปริญญาบัตร จนถึงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๐๗ ถึงมีการพระราชทานปริญญาบัตรให้กับนักศึกษาศิลปากร เป็นครั้งแรกในประเทศไทย รวมคณะจิตรกรรม ประติมากรรม โบราณคดี สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ มีนักเรียนจบรวมกันประมาณ ๑๐๐ กว่าคน..”

 

 

มุ่งมั่นบนเส้นทางสร้างงานศิลปะภาพพิมพ์

 

“ ช่วงที่ผมเรียนตอนนั้น ศิลปากร ยังขาดแคลนอาจารย์อยู่พอสมควร ผมก็เป็นอาจารย์พิเศษสอนไปด้วย ส่วนผลงานของตัวเองก็เริ่มได้รับการยอมรับ มีชื่อเสียง เพราะส่งประกวดได้รางวัลแห่งชาติมาพอสมควร โดยเฉพาะด้านภาพพิมพ์ ตอนนั้น ศิลปากร ยังไม่ได้สอนสาขานี้โดยตรง เป็นแค่วิชาประกอบหนึ่งเท่านั้น การเรียนก็ยังไม่มีแท่นพิมพ์ หรือเครื่องมือใดๆ อาจารย์จะให้แกะไม้ พิมพ์ดำ – ขาว แล้วพิมพ์ด้วยช้อน ผมก็อาศัยฝึกฝนด้วยตัวเอง เพราะมีพื้นความชอบเดิม พอเรียนจบ เป็นอาจารย์สอนได้ ๑ ปี พ..๒๕๐๑ ผมก็ได้รับทุนไปเรียนต่อด้าน จิตรกรรมตกแต่ง ที่ประเทศอิตาลี อ.ศิลป์ ก็เขียนจดหมายมาหา บอกให้ลองศึกษา ดูงานทางด้านภาพพิมพ์ไว้บ้าง เพราะ ศิลปากร กำลังจะเปิดสาขานี้ในอนาคต ผมก็เลือกลงเรียนวิชาภาพพิมพ์เป็นวิชาประกอบไปด้วย รวมทั้งยังส่งผลงานภาพพิมพ์ไปประกวดอย่างต่อเนื่อง ได้รับรางวัลที่ ๑ รางวัลที่ ๒ อยู่บ่อยครั้ง เราจึงเริ่มเข้าใจ และซาบซึ้งในเทคนิควิธีใหม่ๆ ที่เราได้ค้นพบ เรียนรู้มา..

 

“ ปี ๒๕๐๔ ผมเรียนจบกลับมา ก็มาสอนด้านจิตรกรรม ได้สอนลูกศิษย์หลายคน อย่าง ถวัลย์ ดัชนี , เทพศิริ สุขโสภา ซึ่งตอนนั้นกำลังเรียนปี ๔ กันอยู่  พอปี ๒๕๐๖ อ.ชลูด เดินทางไปอเมริกา เพื่อศึกษาดูงานด้านภาพพิมพ์ กลับมาท่านก็มาสร้างวิชาภาพพิมพ์ขึ้น ประมาณปี ๒๕๐๘ – ๒๕๐๙ จึงขอให้ผมเข้ามาช่วยสอน ตรงนี้เองที่เป็นจุดหักเหทำให้ผมได้เข้ามาคลุกคลี และทำงานด้านภาพพิมพ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เวลาอยู่ที่บ้านจะทำงานจิตรกรรม สีน้ำมันเป็นหลัก ช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยก็จะทำงานภาพพิมพ์ รวมทั้งงานปั้น ประติมากรรมไปด้วย..

 

“ งานภาพพิมพ์นี้ เหมือนกับงานจิตรกรรมเพนติ้ง ตรงที่ต้องร่างด้วยดินสอ แล้วใส่สีเหมือนกัน แต่ภาพพิมพ์จะยากกว่าเพนติ้ง วาดสีน้ำมันถ้าวาดผิด ก็วาดทับ หรือร่างใหม่ได้ แต่ภาพพิมพ์ถ้าแกะไม้ผิดก็เสียเลย เวลาจะพิมพ์ซ้อน เรื่องสีก็ต้องแม่นยำ เป๊ะๆ การเขียน ก็ต้องแกะด้วยสิ่วลงในเนื้อไม้ แล้วค่อยใส่สี เอากระดาษอัดเข้าไป ให้เป็นรูปขึ้นมา ซึ่งสามารถทำได้หลายครั้ง แต่ต้องแม่นยำมาก ผิดแล้วก็ลบแก้ไขไม่ได้..

 

“ ซึ่งในวันนี้ ผมกล้าพูดได้ว่า งานภาพพิมพ์ของเมืองไทยเราพัฒนาก้าวหน้าไปมาก เนื่องจากพอนักศึกษารุ่นต่อๆ มา ถูกส่งไปเรียน ไปศึกษาต่อที่ยุโรป อเมริกา เขาก็นำความรู้ เทคนิคใหม่ๆ กลับมาเพิ่มเติมกันมาก จนนักศึกษาของเรามีฝีมืออยู่ในระดับมืออาชีพ ต่างประเทศให้การยอมรับอย่างกว้างขวาง..”

 

 

จิตวิญญาณในงานศิลป์ของ อ.ประหยัด

 

“ ศิลปะมันมีอยู่ ๒ อย่าง อย่างแรกคือเกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการทั่วไปของมนุษย์ ทำให้คนส่วนใหญ่มองออก เข้าใจ นำไปใช้ประดับประดาตกแต่ง ให้เกิดความสวยงาม อย่างที่ ๒ เป็นการสร้างงานเพื่อมุ่งเน้นความเป็นแก่นแท้ของศิลปะ ที่จะกระทบกระเทือนอารมณ์ความรู้สึก ให้หวนระลึกนึกถึงได้ งานลักษณะนี้ศิลปิน จะไม่ยึดติด อาศัย Form หรือรูปแบบใดๆ เป็น Pearl Art หรือ ศิลปะบริสุทธิ์ ซึ่งคนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ยาก..

 

                “ ส่วนตัวศิลปินนั้น หน้าที่จริงๆ ก็คือสร้างงานศิลปะเพื่อจรรโลงศิลปะ อย่างเป็นอิสระโดยไม่ขึ้นกับใคร และไม่ต้องเอาใจใครก็ได้ แต่ในความคิดผม การที่ศิลปินจะสร้างงานขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองเข้าใจเพียงคนเดียว หรือให้คนกลุ่มเล็กๆ ข้างบนสุด เข้าถึงแค่เพียงกลุ่มเดียวคงไม่พอ แต่ ศิลปิน ต้องให้การศึกษา ต้องดึงคนจำนวนมากขึ้นมาเพื่อให้เข้าใจศิลปะได้ด้วย เริ่มจากพื้นฐานทีละนิด เหมือนสอนให้เด็กรู้จัก ก.ไก่ ข.ไข่ ก่อนจะสอนให้เขาอ่านผสมเป็นคำ สุดท้ายถึงยกระดับสอนเรื่อง กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ให้เขา..

 

                “ งานของผม จึงเป็นงานที่คนทั่วไปดูแล้ว สามารถเข้าใจ เข้าถึงได้ ด้วยการนำ Form ลักษณะรูปร่างของสิ่งๆ นั้น ที่เป็นของจริงในธรรมชาติที่เราเห็นมาใช้เป็นหลัก แต่จะเพิ่มอารมณ์ความรู้สึกเข้าไป ให้มีอะไรมากกว่าที่เราเห็น เวลาเขียนคนผมก็ไม่ได้เขียนให้เหมือนเสียทีเดียว เพียงเขียนออกมาให้รู้ว่าเป็นชาวนา เป็นผู้หญิง เขียนภาพแม่ – ลูก เราก็เขียนให้รู้ว่าเป็นผู้ใหญ่ หรือเด็ก แต่เน้นให้มีองค์ประกอบมีความผูกพันแนบแน่น ใส่สีสันให้สวยงาม เกิดอารมณ์อ่อนโยน ให้คนดู ดูแล้วเข้าใจได้ถึงความรักที่แม่มีต่อลูก..

 

                “ ด้วยวัยเด็กที่ผูกพันอยู่กับชีวิตลูกทุ่งชนบท ได้พบเห็นสัตว์ต่างๆ งานส่วนใหญ่ที่ออกมาจึงเป็น ภาพสัตว์ จำนวนมาก ด้วยความชอบสังเกตอากัปกิริยาของสัตว์แต่ละชนิด อย่าง แมว ก็เป็นสัตว์ที่เขียนไว้เยอะมาก ชอบท่าทางต่างๆ ของแมวที่มีความน่ารัก เขียนจนสามารถจินตนาการท่าทางของแมวได้หมดไม่ว่าเวลาหลับหรือตื่น อย่าง ไก่ชน เวลาที่มันตีกัน ก็มีท่วงท่าลีลาที่สวยงาม ผมก็นำมาเขียน แม้กระทั่ง เขียน ปลากัดๆ กัน เราก็จะถ่ายทอดให้เห็นถึงอารมณ์ความดุเดือดของปลากัด ขณะเดียวกันก็จะแทรกความงามเข้าไปด้วย ให้คนดูภาพแล้วเกิดความรู้สึกสวยงามเพลิดเพลิน..

 

“ บางครั้งผมเขียนรูปสัตว์อย่าง ตุ๊กแก คนไม่เข้าใจก็หาว่าเราเขียนสัตว์ที่น่าเกลียดขยะแขยง แต่ผมคิดว่า ตุ๊กแก มันก็มีความน่ารักอยู่ในตัว ผมก็เขียนตุ๊กแก ออกมาให้มีความน่ารัก ด้วยการประดิดประดอย ใส่ลวดลายสีสันเข้าไป แสดงความผูกพันความเป็น แม่ - ลูก ของตุ๊กแก คนก็สามารถมองเห็นแง่มุมที่สวยงามได้ ผมถือว่า งานศิลปะ ต้องสร้างอารมณ์ด้านบวกให้กับคน ให้เกิดความสบายใจ สบายตา หรือนึกถึงความเมตตา ปรานี ไม่ใช่ยิ่งดูแล้วยิ่งเกิดความเศร้าโศกหดหู่..

 

“ ข้อสำคัญ งานศิลปะที่สมบูรณ์จะต้องมี ๓ องค์ประกอบหลักครบถ้วน อย่างที่ อ.ศิลป์ ได้กล่าวไว้ คือ มีเอกภาพ (Unity) มีความเป็นกลุ่มก้อน เป็นเรื่องราวเดียวกัน มีความประสานสัมพันธ์ (Harmony) กลมกลืนกัน เข้ากันด้วยลายเส้นแสงสี และสุดท้ายต้องมี จิตวิญญาณ (Spirit) เกิดอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างกระทบจิตใจเวลาได้ชมภาพนั้น..”

 

 

ศิษย์ดี เพราะมี ครู

 

“ เมื่อย้อนนึกถึง อ.ศิลป์ พีระศรี ผมเรียนกับท่านครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๙๙ เป็นลูกศิษย์รุ่นที่ ๙ ของท่าน เรียกว่าอยู่กับท่านจนกระทั่งวาระสุดท้าย (.ศิลป์ ถึงแก่กรรม วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๐๕) ตอนนั้น อ.ศิลป์ เป็นผู้อำนวยการมหาวิทยาลัย ทำงานทั้งสอน ทั้งบริหาร ทำทุกอย่าง มีท่านคนเดียวเหมือนมีบุคลากร ๓ คน ขยันมาก ๖ โมงกว่ามาถึงมหาวิทยาลัยแล้ว กว่าจะกลับก็ค่ำมืดดึกดื่นแทบทุกวัน..

 

“.ศิลป์ เป็นทั้งพ่อ เป็นทั้งครู และเป็นทั้งพี่ ท่านไม่ได้วางตัวให้เรากลัว แต่ท่านทำให้เรารู้สึกเกรงใจ รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ผมเชื่อว่าที่ผมเรียนจบได้ อ.ศิลป์ ได้ให้ความช่วยเหลือทุกอย่าง ช่วงที่ผมกำลังเรียนชั้นปี ๔ ปี ๕ ท่านบอกให้ผมเป็นอาจารย์พิเศษช่วยสอน ได้ค่าจ้างเดือนละ ๗๕๐ บาท มารู้ทีหลังว่าเงินที่ท่านจ้างผมสอนไม่ใช่เงินหลวง แต่เป็นเงินในกระเป๋าท่านเอง..

 

“ ครั้งหนึ่งสมัยที่ อ.ศิลป์ ทำงานประติมากรรม ออกแบบพระพุทธรูปปางลีลา พระประธานพุทธมณฑล ในปี ๒๕๐๐ ตอนนั้นท่านกำลังร่างภาพพระพุทธรูปขนาดเท่าคนจริงอยู่ ท่านก็ใช้ให้ผมไปซื้อสีมาทารูป ปรากฏว่าผมไปซื้อผิดร้าน แพงกว่าราคาที่ท่านบอกไว้ อ.ศิลป์ พูดกับผมว่า ทำไมถึงซื้อแพงอย่างนี้ เวลาใช้เงินต้องระวังหน่อย เพราะนี่เป็นเงินของหลวง ถ้าเป็นเงินฉันเองไม่เป็นไร นี่คือความซื่อสัตย์ เรียบง่ายของ อ.ศิลป์ ที่ผมยังจดจำได้..

 

“ สิ่งที่ประทับใจอีกครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๓ ขณะที่ผมกำลังเรียนอยู่ อิตาลี อ.ศิลป์ เดินทางไปประชุมที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย แล้วท่านก็แวะมาเยี่ยมเยียนผมที่ กรุงโรม ผมก็พาท่านขึ้นรถเมล์ ไปทานอาหาร ไปตระเวนเที่ยวดูบ้านดูเมือง ปรากฏว่าพอท่านมาเจอคนมากมาย เบียดเสียดแย่งกันขึ้นรถ ท่านกลับบอกว่า เรากลับเมืองไทยบ้านเรากันดีกว่า เมืองนอกมันวุ่นวายปวดหัวเหลือเกิน อ.ศิลป์ บอกว่า อิตาลี เป็นเมืองนอก ทั้งๆ ที่นี่เป็นประเทศของท่านเอง สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ นักศึกษาทุกคนรัก และประทับใจในตัวท่าน เพราะท่านเป็นคนของประเทศไทย ท่านรักเมืองไทยมาก คนอย่าง อ.ศิลป์ ไม่ใช่ว่าหาได้ยาก แต่สำหรับผมคิดว่าคงหาไม่ได้อีกแล้ว..”

 

 

ทัศนะต่อ วงการศิลป์ จากเสาหลักแห่งวงการ

 

 

“ งานศิลปะของเมืองไทย กำลังพัฒนาไปค่อนข้างมาก ศิลปินรุ่นใหม่มีฝีมือ ความสามารถมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีการสื่อสารที่เชื่อมต่อทั้งโลก ถ้าวันนี้มีงานแสดงศิลปะที่อเมริกา เราอยู่เมืองไทยเราก็ได้ดูผ่านทีวีแล้ว โลกทัศน์ของศิลปินจึงกว้าง มีช่องทางในการเรียนรู้เก็บเกี่ยวมากมาย อีกส่วนหนึ่งมาจากอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือที่ดีพร้อม มีมาตรฐานขึ้น สมัยก่อนถ้าจะเขียนรูปคนเหมือน ก็ต้องให้แบบมานั่งจ้องหน้าเขียนอยู่เป็นครึ่งค่อนวัน สมัยนี้แค่ถ่ายรูปมา ฉายออกทางโปรเจ็กเตอร์ ก็นั่งเขียนได้เลย แถมวาดได้สวยเหมือนจริงด้วย เราจึงค่อนข้างยอมรับ ศิลปินที่เขาสร้างงานด้วยความสามารถตัวเองจริงๆ ทำด้วยจิตวิญญาณ หรือไม่ได้พึ่งพาเครื่องมือใดๆ..

 

“ เวลาสอน ผมจึงให้ความสำคัญกับพื้นฐานค่อนข้างมาก ค่อยๆ ฝึกให้นักเรียนเรียนรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน หากจะเขียนสรีระคน ก็ต้องรู้จักด้านกายภาพวิทยาอย่างละเอียด ว่ากล้ามเนื้อแต่ละสัดส่วนนั้นเป็นอย่างไร หรือจะเขียนสัตว์ ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจเสียก่อนว่าสัตว์แต่ละชนิดนั้น มีรูปร่าง สรีระต่างกันตรงไหน หลักพื้นฐานนับเป็นสิ่งสำคัญ ก่อนที่ศิลปินจะยกระดับไปเขียนในสิ่งที่ยาก หรืองานสร้างสรรค์ใหม่ๆ ต่อไป..

 

“ ในแง่มุมของคนที่ชมผลงาน ก็นับเป็นเรื่องดีที่ปัจจุบันมีคนไทยเข้าใจ และให้ความสำคัญกับศิลปะมากขึ้น แวดวงต่างๆ มีการสะสม ซื้อขาย ต้องการผลงานไปประดับตกแต่งตามโรงแรม รีสอร์ท บริษัทองค์กร หรือตามบ้านทั่วไป ทำให้กลุ่มศิลปินที่สร้างผลงานประเภทรูปเหมือนสวยงาม ภาพทิวทัศน์ ตลาดน้ำ วัดวาอาราม ฯลฯ จึงสามารถขายผลงานเลี้ยงชีพได้ค่อนข้างมั่นคง ส่วนศิลปินระดับชั้นนำของประเทศ ที่สร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง ก็มีการประกาศคัดเลือกยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ รัฐก็ให้เบี้ยเลี้ยงสนับสนุน จึงทำให้ศิลปินอาวุโสหลายท่าน ที่ไม่มีรายได้แล้ว สามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนลูกหลาน..

 

                “ ซึ่งเมื่อเราได้รับเกียรติ ยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว เราก็ต้องดำรงตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีด้วย สำหรับผมทุกวันนี้แม้ร่างกายจะไม่เอื้ออำนวยเหมือนก่อน แต่ก็ยังคงเดินทางไม่หยุด ไปสอน ไปบรรยายให้ความรู้ทั่วประเทศแก่เด็กรุ่นหลังๆ เราไปด้วยความภูมิใจ เพราะเมื่อเด็กๆ เขาได้พบปะพูดคุยกับเรา ครั้งหนึ่งในชีวิตได้มาเขียนรูปร่วมกับเรา เขาก็เกิดความภาคภูมิใจ ปีติยินดี ตรงนี้คือสิ่งที่เราต้องตอบแทนสังคมคืนกลับไป..”

 

 

ศิลปิน ผู้สร้างงาน จรรโลงใจคน

 

                “ เมื่อพูดกันจริงๆ แล้ว ศิลปะ ก็ไม่ได้เป็นเพียง สาขาการเรียนแค่ ๔ – ๕ วิชาในรั้วมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของการปรับจิตใจคนให้ถูกต้อง ให้รู้จักละอายต่อบาป ประเทศไหนที่ขาดการอบรม ฟื้นฟูด้านศิลปะ แม้ว่าจะยังพัฒนาไปได้ แต่ก็คงไปได้ช้า และบางทีก็อาจพัฒนาไปในทางที่ผิดด้วย ผมเชื่อว่าศิลปะ ก็คือ ศีลธรรม นั่นเอง เพราะเป็นการทำในสิ่งที่ดีงาม ทำให้คนเกิดความสุข ความสบายใจ ถ้าเราทำสิ่งไหนแล้วเกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนแล้ว สิ่งนั้นย่อมไม่ใช่ศิลปะอย่างแน่นอน..

 

“ สำหรับคนที่จะประสบความสำเร็จบนเส้นทางศิลปะได้ เพียง พรสวรรค์ อย่างเดียวไม่พอ บางคนอาจมีพรสวรรค์แต่ทำจริงกลับไม่สำเร็จ เพราะไม่ได้ฝึกฝนจริงจัง ไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง คนที่จะมาทำงานศิลปะ ‘ใจรัก’ นั้นสำคัญมาก มีใจรักซะอย่าง จากนั้นก็ฝึกฝนอย่างหนัก สวรรค์เขาก็ประทานพรมาให้เอง นั่นคือการฝึกฝน มีความชำนาญทีละนิดๆ ส่งงานเข้าประกวดสม่ำเสมอ เมื่อได้รับรางวัลเรื่อยๆ กำลังใจเราก็มากขึ้น ทำให้เราได้พัฒนาฝีมือ มีศักยภาพสูงขึ้น..

 

                “ จำไว้ว่า งานศิลปะ เมื่อเราหยุดฝึกฝนแล้วมันไม่ได้อยู่นิ่งกับที่ แต่มันจะถอยหลังกลับลงไปอีก เพราะคนรุ่นข้างหลัง เขาจะตามมาเร็วมาก รูปแบบ ลัทธิศิลปะต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ข้อสำคัญจึงต้องศึกษาตลอดเวลา อย่าได้เว้นว่าง ศึกษาหลักความจริง ใช้ธรรมชาติให้เป็นครูที่ดีที่สุดของเรานี่แหละ ส่วนศิลปินที่อยู่ในแนวทางของตนเอง มีชื่อเสียงแล้ว ก็ต้องสร้างงานด้วยความจริงใจ อย่าเสแสร้งแกล้งทำ หรือเห็นแก่เงินทอง อามิสสินจ้างเป็นหลักอย่างเดียว

               พึงระลึกว่าเราต้องสร้างผลงานขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม และช่วยเยียวยา จรรโลงจิตใจ ผู้คนได้เป็นสำคัญ…”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




Create Date : 14 มิถุนายน 2556
Last Update : 14 มิถุนายน 2556 9:49:42 น. 1 comments
Counter : 24769 Pageviews.

 
เก่งมากคะ


โดย: Aphitsara IP: 27.55.23.125 วันที่: 14 มิถุนายน 2557 เวลา:17:16:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

โปสการ์ดราดซอส
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add โปสการ์ดราดซอส's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.