Mr.Pos : The Thinking & Learning in My Life
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
25 พฤศจิกายน 2556
 
All Blogs
 
โศกนาฏกรรมของ ‘คนรุ่นที่ถูกลักพา’ Stolen Generation

 

โศกนาฏกรรมของ ‘คนรุ่นที่ถูกลักพา’ Stolen Generation

 

 

                เมื่อนึกถึง ทวีปออสเตรเลีย ใครๆ ก็คงนึกไปถึง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกระเป๋าหน้าท้องอย่าง ‘จิงโจ้’ นึกถึงอาวุธบูมเมอแรง ที่แสนมหัศจรรย์  และแน่นอนย่อมนึกถึง ชนชาวพื้นเมืองที่ถูกเรียกว่า ‘อะบอริจินส์’ แต่น้อยคนนักที่จะรับรู้ถึงโศกนาฏกรรมที่ชนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มนี้ ผู้เคยครอบครองทวีปรกร้างว่างเปล่าของดินแดนตอนใต้ ที่ต้องเผชิญชะตากรรมกับการกดขี่ข่มเหงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จากผู้มาเยือนชาวผิวขาวแห่งแดนศิวิไลซ์อย่างร้ายแรง

 

                ประวัติศาสตร์ในแทบทุกสังคมโลก ล้วนเคยผ่านพ้นโศกนาฏกรรม ความผิดพลาดที่ผู้มีอำนาจ ผู้ปกครอง หรือผู้ที่มีกำลังเหนือกว่า เข้ากดขี่ข่มเหงคนที่อ่อนแอกว่าอย่างไร้ความยุติธรรม จนเกิดความสูญเสียใหญ่หลวง สร้างบาดแผลลึกทิ้งไว้ในจิตใจคนรุ่นถัดๆ มา มาแล้วมากมายหลายครั้ง การเข่นฆ่าชนพื้นเมือง ด้วยอคติว่าพวกเขาไม่ใช่มนุษย์เผ่าพันธุ์ร่วมโลก ไม่ได้เห็นว่ามีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเท่าๆ กับคนผิวขาวนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงในทวีปอเมริกาเหนือ และอเมริกากลางเท่านั้นนะครับ แต่มันยังบังเกิดขึ้น ณ อีกซีกโลกหนึ่ง ในทวีปออสเตรเลียอีกด้วย

 

                ‘ชาวอะบอริจินส์’ (Aborigins) เป็นชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ใจกลางทวีปออสเตรเลีย มานาน ก่อนที่คนขาวจากซีกโลกตะวันตกจะรอนแรมมาถึง พวกเขามีโครงเค้าใบหน้าคล้ายกับมนุษย์ในสมัยหิน มีโหนกแก้มสูง ผิวคล้ำ เบ้าตาลึก ดำรงชีพแบบดั้งเดิมไม่มีการปรุงแต่งใดๆ รักชีวิตเป็นอิสระแบบสนิทแนบกับธรรมชาติรอบตัว ดำรงชีพหลักด้วยการจับปลา ล่าสัตว์ เก็บหาผักและของป่าเป็นอาหาร โดยพวกเขามักจะเร่ร่อนไปทั่วโดยไม่ได้ตั้งหลักแหล่งในที่แห่งใดแห่งหนึ่งอย่างถาวร

 

แม้จะดำรงอยู่โดดเดี่ยวจากอารยธรรมภายนอกแต่ อะบอริจินส์ ก็หาใช่คนพื้นเมืองที่ดุร้าย ตรงกันข้าม พวกเขากลับเป็นมิตร และมีพื้นฐานจิตใจที่อ่อนโยนด้วยซ้ำ กล่าวกันว่าเมื่อครั้งที่ ‘เจมส์ คุก’ เดินเรือมาพบเกาะทัสแมเนีย เกาะใหญ่ตอนใต้สุดของทวีปออสเตรเลีย ในปี ค.. 1771 เมื่อขึ้นฝั่ง ชาวอะบอนิจินส์ ก็ได้ให้การต้อนรับเหล่านักเดินเรือ นักแสวงโชคชาวอังกฤษเป็นอย่างดี แต่อนิจจาครับ ภายหลังที่ สหราชอาณาจักร ประกาศยึดครองทวีปใหม่แห่งนี้แล้ว และได้ส่งพลเมืองรุ่นแรกเข้ามาปักหลักตั้งรกราก ความหายนะของชาวอะบอริจินส์ ก็มาถึง เพราะคนผิวขาวชาวยุโรป ได้เริ่มต้นประหัตประหาร เข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนพื้นเมือง ด้วยน้ำมือที่มีทั้งกำลัง และอาวุธที่ทันสมัยกว่า โดยไม่ได้คิดว่าอีกฝ่ายก็มีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันแต่อย่างใด เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ประชากรชาวอะบอริจินส์ ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกันนั้นคนขาวก็ยัดเยียดความอยุติธรรมในสังคมทุกๆ ด้านให้กับคนพื้นเมือง อย่างปราศจากศีลธรรม

 

                น่าเศร้าตรงที่ว่า.. แม้ผืนแผ่นทวีปกว้างใหญ่ของออสเตรเลีย จะสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตได้มากเพียงใด แต่สภาพการดำรงอยู่ของ ชาวอะบอริจินส์ กลับค่อยๆ ตกต่ำ ยากแค้นลงเรื่อยๆ ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นของคุณภาพชีวิตด้านสาธารณสุข การรักษาโรค สุขอนามัย หรือการศึกษาใดๆ เลย ในสังคมออสเตรเลีย ที่คนผิวขาวก้าวเข้ามามีอำนาจนั้น ชาวอะบอริจินส์ค่อยๆ สูญเสียพื้นที่ สูญเสียตัวตนความเป็นพลเมืองลงเรื่อยๆ ถูกจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานทุกด้าน ที่พวกเขาพึงมีพึงได้ สุดท้าย พวกเขาจึงกลายเป็นคนไร้งาน ไร้ค่า หลายคนติดเหล้าเรื้อรัง และตายจากโลกไปก่อนวัยอันควร

 

                การเบียดเบียนย่ำยี ชาวอะบอริจินส์ ของผู้ปกครองผิวขาวนั้น ก้าวมาสู่จุดสูงสุด เมื่อรัฐบาลอาณานิคม ประกาศออกกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกำจัดชาวอะบอริจินส์โดยตรง ในช่วงปี 1869 – 1969 ซึ่งระยะเวลาร่วมศตวรรษแห่งการเบียดเบียนนี้ ก็มากพอที่จะทำให้สถานะของ อะบอริจินส์ ตกต่ำเลวร้ายลงทุกด้าน

 

 ภาพในอดีตของ เด็กๆ ชาวอะบอริจินส์ ที่ถูก รัฐบาล พรากตัวไปจากครอบครัว เพื่อหวังตัดขาดรากเหง้าของคนพื้นเมืองให้สิ้นซาก

 

                จากนโยบายการกำจัดชนพื้นเมืองนี้เอง ได้ทำให้เกิดคำศัพท์ว่า ‘Stolen Generation’ หรือ ‘คนรุ่นที่ถูกลักพาตัว’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียก เด็กลูกครึ่งอะบอริจินส์ ซึ่งถือกำเนิดจากพ่อที่เป็นชาวยุโรป ซึ่งมีความสัมพันธ์กับหญิงสาวชาวพื้นเมือง โดยเด็กๆ เหล่านี้ได้ถูกลักพา พรากตัวไปจากครอบครัวที่เกิดและเติบโตขึ้นมา โดยถูกจับให้ไปอยู่ในความดูแลของโบสถ์ และสถานสงเคราะห์ของรัฐ และรัฐก็ใช้เครื่องมือ กระบวนการต่างๆ ปลูกฝัง ยัดเยียดความคิด ค่านิยมใหม่ อบรมพวกเขาทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ เพื่อให้เด็กๆ เหล่านี้กลายสภาพ เปลี่ยนเป็นชาวยุโรปอย่างเต็มตัว เด็กเหล่านี้ถูกห้ามแม้กระทั่งการพูดสื่อสารภาษาพื้นเมืองของบรรพบุรุษตัวเอง เพื่อหวังตัดขาดรากเหง้า รากกำเนิดให้ขาดตอนโดยสิ้นเชิง ฟังดูแล้วนี่นับเป็น นโยบายการกลืนชาติ การกลืนเผ่าพันธุ์ ที่รุนแรงมาก ขณะที่เด็กลูกครึ่งพื้นเมืองเหล่านี้ แม้จะถูกนำไปเลี้ยงดูยังสถานที่ และ สิ่งแวดล้อมในโลกใหม่ หากแต่พวกเขาก็ยังได้รับการปฏิบัติอย่างกดขี่ ดูถูกเหยียดหยาม มีชีวิตยากแค้นไม่ต่างจากเดิม จนเป็นสาเหตุทำให้พวกเขาต้องเติบโตขึ้นอย่างเป็นคนมีปัญหา มีสภาพจิตผิดปกติ และแปลกแยกจากสังคมในที่สุด

 

                เมื่อเวลา ยุคสมัยผ่านไป ประวัติศาสตร์ความโหดร้ายของคนผิวขาว ที่กระทำต่อชนพื้นเมืองดังกล่าวนี้ ก็กลับกลายเป็นสิ่งน่าอัปยศอดสูในความรู้สึก ในสายตารับรู้ของคนอีกรุ่นหนึ่งไปแล้ว จนกระทั่งในปี 1995 จึงได้มีการสืบสวนค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อชำระประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ในออสเตรเลีย เพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่ ชนพื้นเมืองอะบอริจินส์ โดยคณะกรรมการสืบสวนได้สรุปผล และเสนอให้ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในเวลานั้นคือ ‘จอห์น โฮเวิร์ด’ ออกมากล่าวคำขอโทษต่อชาวพื้นเมืองอย่างเป็นทางการ แต่ครั้งนั้นกลับไม่ได้รับการสนองตอบจากคนฝ่ายรัฐบาลแต่อย่างใด

 

 

 นายกรัฐมนตรี เควิน รัดด์ สวมกอดชาวอะบอริจินส์ กล่าวขออภัยในความผิดบาปในอดีตต่อหน้าสาธารณชนครั้งประวัติศาสตร์

 

                อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของออสเตรเลียในยุคต่อมาก็ยังตระหนัก และมีจิตสำนึกพอกับประวัติศาสตร์ความผิดพลาดในอดีต โดยในยุคสมัยของ ‘เควิน รัดด์’ เมื่อเขาได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาได้เลือกที่จะปฏิบัติภารกิจแรกสุดด้วยการออกมากล่าวยอมรับ และขออภัยต่อ ชาวอะบอริจินส์ สำหรับเหตุการณ์เลวร้ายในอดีตทั้งปวง เควิน รัดด์ ได้เชื้อเชิญเหล่าผู้อาวุโสชาวอะบอริจินส์ ให้เข้าร่วมพิธีเข้ารับตำแหน่งของรัฐบาล และการแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการที่รัฐสภา ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2008 ซึ่งนี่ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ออสเตรเลียเลยทีเดียว

 

                คำกล่าวสุนทรพจน์ อันเป็นถ้อยคำขอโทษครั้งประวัติศาสตร์ของ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ในวันนั้น แปลความเป็นไทยได้ว่า..

 

“ ..เราขออภัยสำหรับบรรดากฎหมาย และนโยบายของรัฐสภา และรัฐบาลชุดต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ ความเจ็บปวด และความสูญเสียอันหนักหน่วงแก่พี่น้องของเราเหล่านี้ สำหรับบาดแผล ความเจ็บปวด และความชอกช้ำของบรรดาคนรุ่นที่ถูกลักพา บรรดาลูกหลานของพวกเขา และสำหรับครอบครัวที่ถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลังของพวกเขา เราขอโทษ..

 

                “..สำหรับการถูกหมิ่นศักดิ์ศรี และความอับอายขายหน้า ซึ่งบังเกิดแก่ประชาชนผู้ภาคภูมิใจในศักดิ์ศรี เราขอกล่าวคำขอโทษ..”

 

                นี่ก็คือคำกล่าวครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นการสำนึกความผิดบาปต่อการกระทำของบรรพบุรุษคนผิวขาวรุ่นก่อนในแผ่นดินออสเตรเลียอย่างเป็นทางการต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมแผ่นดินเดียวกัน แม้ว่าถ้อยคำขอโทษ ที่ออกมาจากปากบุคคลระดับผู้นำประเทศ จะหาได้ชะล้างความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในอดีต หรือลบล้างรอยแผลความปวดร้าวในจิตใจผู้ถูกกระทำลงไปได้ แต่นี่ก็ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพบนโลก เป็นสัญลักษณ์แห่งการให้เกียรติ และมองเห็นคุณค่าคน และเพื่อนมนุษย์อื่นว่ามีศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ สีผิว หรือพูดจาภาษาใดก็ตาม

 

                การชำระความผิดครั้งนี้ของรัฐบาลออสเตรเลีย ได้บ่งบอกว่า มนุษย์ นั้นมีความแตกต่างจากสัตว์โลกชนิดอื่นๆ ตรงที่เรามีสำนึก เราสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่กระทำผิดพลาดไปในอดีตได้ แล้วรู้จักที่จะเรียนรู้ทบทวนบทเรียน และพยายามที่จะไม่นำพาให้ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นซ้ำ ย้ำรอยประวัติศาสตร์อีกหน.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




Create Date : 25 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2556 15:37:21 น. 0 comments
Counter : 4936 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

โปสการ์ดราดซอส
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add โปสการ์ดราดซอส's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.