Mr.Pos : The Thinking & Learning in My Life
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2556
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
30 พฤษภาคม 2556
 
All Blogs
 
The Wind That Shakes The Barley : สายลมคลั่ง ที่สะเทือนสั่นท้องทุ่งไอริช

ตะกอนคิด อันเนื่องมาจากหนัง..

The Wind That Shakes The Barley : สายลมคลั่ง ที่สะเทือนสั่นท้องทุ่งไอริช

 

 

เมื่อพูดถึงภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องราว ‘ความขัดแย้งทางการเมือง’ แล้ว.. ดูเหมือนว่าหนังประเภทนี้หากเข้าฉายในบ้านเราคราใด ก็มักได้รับความนิยมจากคนดูในระดับน้อย ถึงน้อยที่สุดเสมอ นั่นเพราะรสนิยมการดูหนังของคนไทยกลุ่มใหญ่ ยังผูกติด คุ้นชินกับการเสพรับความบันเทิงเริงรมย์กันอย่างเต็มที่เสียมากกว่า ในเมื่อชีวิตจริงก็ต้องเผชิญกับความเครียดที่หนักหนาอยู่แล้ว แล้วเหตุผลกลใดล่ะ ถึงจะต้องมานั่งดูหนังที่มีเนื้อหาหนักๆ กันอีก !

 

แน่ล่ะ.. คุณูปการด้านหนึ่งของหนัง ก็คือการสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมนั่นเอง ดูแล้วไม่ต้องคิดอะไรมาก เข้าไปตักตวงความสุข ความบันเทิงกันอย่างเต็มที่ภายในเวลา 2 ชั่วโมง แต่ด้านหนึ่ง ก็ยังมีหนังจำนวนไม่น้อย ที่เนื้อหา และการกระทำของตัวละคร นั้นมีอานุภาพยิ่งใหญ่พอที่จะเปลี่ยนแปลง สั่นสะเทือนสังคม และส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้คนได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะหนังที่เกี่ยวข้องกับประเด็นหนักๆ อย่างความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างเชื้อชาติ ที่ไม่ว่าจะถูกสร้างขึ้นครั้งใด ก็ย่อมได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งจากฝ่ายสนับสนุน และฟากฝั่งต่อต้านอย่างมิอาจเลี่ยงหลีก..

 

 

'The Wind That Shakes The Barley' ก็เช่นกัน.. นี่คือหนังกึ่ง ‘สงคราม-ดราม่า’ ที่ก่อให้เกิดผลสะเทือนเลื่อนลั่นอย่างมหาศาล โดยเฉพาะกับชนชาติคู่ขัดแย้งระหว่าง ชาวอังกฤษ และ ไอริช เพราะหนังเรื่องนี้ ได้มุ่งถ่ายทอดเนื้อหาว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างคน 2 ชาติ แต่สิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายก็คือ 'The Wind That Shakes The Barley'

 

พยายามจะบอกเล่า ตีแผ่ข้อเท็จจริงที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักไม่เคยเอ่ยถึง ซึ่งเป็นภาพลบของประเทศมหาอำนาจอย่าง อังกฤษ ที่เคยกระทำต่อ ประเทศไอร์แลนด์ อย่างสุดเลวร้ายอัปลักษณ์ !

ประเด็นอื้อฉาวที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งย่อมมาจากตัวผู้กำกับหนัง ที่มีนามว่า 'เคน โลช' ผู้มีสายเลือดเป็นชาวเมืองผู้ดี อังกฤษแท้ๆ แต่กลับหาญกล้า สร้างวีรกรรมแบบนอกคอกด้วยการสร้างหนังตีแผ่ความเลวร้ายในอดีตของชนชาติตัวเอง ที่เกิดขึ้นราว 90 ปีที่ผ่านมา จน หนังของเขา กวาดรางวัลจากเวทีประกวดเมืองคานส์ อย่างหักปากกานักวิจารณ์ทั้งหลายมาแล้ว (The Wind That Shakes The Barley คว้ารางวัล Palme d' or ในปี 2006)  คนอังกฤษจำนวนมาก ที่มีจิตใจคับแคบ และไม่ยอมรับความจริง จึงพากันสาปส่ง รุมประณาม 'โลช' ถึงขั้นตราหน้าเขาว่าเป็น 'คนขายชาติ' และขับไล่ให้เขาไปอยู่ ไอร์แลนด์ เสียรู้แล้วรู้รอด แต่ในมุมกลับ ประเด็นอื้อฉาวนี้ย่อมส่งผลต่อตัวหนัง ให้ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย..

 

The Wind That Shakes The Barley มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับขบวนการ IRA (Irish Republican Army) หรือ 'ขบวนการกองทัพสาธารณรัฐไอริช' ซึ่งจะว่าไปแล้ว เราจะเรียกขานพวกเขาให้เป็น 'ตำนานแห่งขบวนการก่อการร้าย' ก็คงไม่ผิดนัก แต่หากเราได้ลองพิจารณาจากมูลเหตุบีบบังคับที่ทำให้พวกเขาต้องก่อความรุนแรงแล้ว เราก็ย่อมเข้าใจถึงจิตใจของ ชาวไอริช กลุ่มนี้ได้..

 

ทุกวันนี้ เราคงคุ้นเคยชื่อของ ฮามาส , เจไอ , อัล กอฮ์อิดะ , กบฏลัทธิเหมา หรือ พยัคฆ์ทมิฬอีแลมป์ กันดี ความจริงแล้ว ขบวนการก่อการร้าย นั้นปรากฏตัวขึ้นในแต่ละภูมิภาคของโลกมานานแล้ว แม้แต่ในประเทศที่เจริญอย่างในยุโรป ก็ยังมีกลุ่มก้อนขบวนการติดอาวุธเหล่านี้ ซึ่งพวกเขาหาได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด บางกลุ่มก็มีอุดมการณ์สูงส่ง แต่บางกลุ่มก็อาศัยอุดมกู เป็นหลัก..  สำหรับชื่อของ IRA นั้นได้สร้างกิตติศัพท์ ให้โลกรับรู้มานานแล้ว และเรื่องราวการเคลื่อนไหวของพวกเขา ก็ไปโลดแล่นอยู่ในภาพยนตร์แนวการเมืองมามากมาย ขบวนการ IRA นั้นมีปณิธานที่จะไปให้ถึงคือ การปลดปล่อย 'ไอร์แลนด์' แผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของตน ให้หลุดพ้นจากการปกครองของอังกฤษ ที่ชาติพันธุ์ตน ต้องตกเป็นอาณานิคมมานานกว่า 700 ปี ซึ่งเหล่าผู้รักชาติชาวไอริช ได้สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้รัฐบาลอังกฤษ มาโดยตลอด ทั้งที่แผ่นดินทั้ง 2 ก็อยู่ห่างกันแค่เอื้อม

เมื่อรัฐบาลอังกฤษ ได้ให้สัญญาจากลมปากเหม็นๆ ต่อกลุ่มอาสาสมัครไอริช ว่าจะให้ ไอร์แลนด์ ได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 จบสิ้นลง อังกฤษ ก็เบี้ยว ไม่คืนเอกราชให้เสียดื้อๆ เมื่อชาวไอริช ไม่ได้รับเอกราชตามที่ อังกฤษ สัญญาไว้ ในปี ค..1916 พวกเขาจึงจำต้องเปลี่ยนยุทธวิธีด้วยการใช้ความรุนแรงแบบ 'กองโจร' เข้าต่อสู้ ด้วยการตั้งขบวนการ IRA ขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาลอังกฤษ ในทุกรูปแบบ ทั้งการทำสงครามแบบกองโจร ก่อกวนด้วยการก่อวินาศกรรม ลอบสังหารเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอังกฤษ ซึ่ง วีรบุรุษชาวไอริช ที่มีบทบาทอย่างสูงผู้หนึ่งก็คือชายที่ชื่อ 'ไมเคิล คอลลินส์' นั่นเอง

 

พวกเขาเริ่มต้นจากกองกำลังเล็กๆ ด้วยกลุ่มอาสาสมัครไอริช ที่รวมตัวกันแบบกึ่งกองทัพ ด้วยการเรียกร้องโดยตรงต่อรัฐบาลอังกฤษ ในเรื่องการตั้งประเทศอิสระ ทำสงครามประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ท่ามกลาง เหยื่อแห่งสงครามชาวไอริช ซึ่งเป็นสามัญชนคนธรรมดา ทั้งเด็ก ผู้หญิง คนชรา ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ที่ต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ชาวไอริช ที่มารวมตัวกันเป็น ขบวนการ IRA นั้นมาจากคนทุกระดับชั้น แต่มีอุดมการณ์ รักชาติ เป็นจุดร่วมเดียว ทั้งคนหนุ่มวัยฉกรรจ์จากกรรมกรในโรงงาน คนยากจน ชาวไร่ในท้องทุ่งชนบท ซึ่งใน The Wind ที่เรื่องราวดำเนินไปในปี ค..1920 นั้น อันเป็นปีที่สงครามกลางเมืองในไอร์แลนด์ ก่อตัวขึ้น ตัวเอกสองศรีพี่น้องในเรื่อง ก็มาจากชนชั้นชาวไร่ชาวนานั่นเอง การเคลื่อนไหวของพวกเขา จึงอยู่ตามเขตชนบทเป็นหลัก ซึ่งแม้ว่า The Wind จะเป็นหนังที่มีสาระทางการเมืองที่ค่อนข้างหนักหนา แต่คนดูก็ได้รับการผ่อนคลายจากฉากที่งดงามของ ท้องทุ่งเขียวขจีในไอร์แลนด์ แถมเสื้อผ้าของชาวไร่ไอริช เมื่อ 90 ปีที่แล้ว ก็ยังดูเท่ห์ ไม่หยอกอีกด้วย..

 

ตัวละครหลักที่มีบทบาทอย่างสูงในเรื่องคือ 'เดเมียน' (คิลเลี่ยน เมอร์ฟีย์) ผู้พี่ ที่มีอาชีพเป็นหมอ ซึ่งกำลังจะไปรับหน้าที่นี้ที่กรุงลอนดอน ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งดูเหมือนว่าอนาคตในวิชาชีพของเขา จะก้าวหน้ากว่าคนในชุมชนเดียวกันมากนัก ในขณะที่ 'เทดดี้' (เลียม คันนิ่งแฮม) ผู้น้อง และพรรคพวกเพื่อนฝูงของเขา กำลังทำงานเพื่อชาติ ด้วยการต่อต้านรัฐบาลอังกฤษ ที่ได้ส่งหน่วย Black and Tan มาระงับเหตุรุนแรงด้วยความรุนแรงโดยเฉพาะ เพื่อคัดค้านการยื่นคำร้องขออิสรภาพของ ชาวไอริชที่รวมตัวเป็นกลุ่มกองกำลังอาสาสมัครร่วมกับ IRA

 

สำหรับ เดเมียน เขาได้ตัดสินใจหันหลังให้กับอาชีพหมอ เพราะได้เห็นความโหดร้ายป่าเถื่อน ที่กองกำลังอังกฤษกระทำย่ำยีกับพี่น้องร่วมชาติของเขา เริ่มตั้งแต่การออกกฎควบคุมห้ามชาวไอริชนัดชุมนุม ห้ามพูดจาสื่อสารกันด้วยภาษาไอริช และตามล่าสังหารกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลอย่างเปิดเผย การกระทำกดขี่ต่างๆ เหล่านี้เองที่ทำให้ เดเมียน ตัดสินใจได้ไม่ยากในการเข้าร่วมขบวนการ IRA อย่างแน่วแน่

ซึ่งหากเราดูหนังด้วยใจที่เป็นกลาง โดยไม่เข้าข้างชาติหนึ่งชาติใดแล้ว การกระทำของฝ่ายอังกฤษนั้นก็ดูจะเกินเลยไปมาก และยากที่จะยอมรับ จนทำให้เราอดที่จะรู้สึกคับแค้นใจไปไม่ได้เช่นกัน ฉะนั้นหากเราจะตราหน้า IRA ขบวนการรักชาติไอริช ว่าเป็น กลุ่มก่อการร้าย นั่นก็คงไม่ยุติธรรมเท่าใดนัก เพราะหากเราอ้างข้อกฎหมายว่าเป็นสิ่งถูกต้องเที่ยงธรรม ว่า อังกฤษ มีกองทัพที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่การกระทำของชาวไอริช ก็เกิดจากอุดมการณ์รักชาติเป็นที่ตั้ง เมื่อถูกคนชาติอื่นมารุกราน ข่มเหงน้ำใจ เราเองก็อดที่จะเอาใจช่วยคนไอริชไม่ได้ ไม่ต่างจากกรณีเมื่อครั้งที่เราได้ชมหนังมหากาพย์สงคราม 'Braveheart' ของ 'เมล กิ๊บสัน' ถึงแม้จะเป็นคนละยุคสมัย แต่ภาพความรุนแรงที่ อังกฤษ กระทำต่อชาวสก๊อตแลนด์นั้น ก็หาได้แตกต่างอะไรกับใน The Wind ที่ชาวไอริชถูกกระทำอย่างรุนแรงเช่นกัน..

 

เมื่อทั้ง เดเมียน เทดดี้ และกลุ่มพวกพ้อง ได้ร่วมกับ IRA ต่อสู้ก่อกวนรัฐบาลอังกฤษอย่างห้าวหาญ (ทั้งพวกเขายังต้องเผชิญวิบากกรรม ถูกคุมขัง ถูกทรมานต่างๆ นานา) จนเหตุการณ์ความรุนแรงได้บานปลายขยายวงกว้างจน อังกฤษ เอง ไม่อาจแบกรับงบประมาณของกองทัพ ที่สูญเสียไปกับการปราบปรามชาวไอริช ได้อีกต่อไป ท้ายที่สุด รัฐบาลอังกฤษ โดย 'เดวิด ลอยด์ จอร์จ' นายกรัฐมนตรีขณะนั้น จึงขอตั้งโต๊ะเจรจาสันติภาพกับ ไอร์แลนด์ เสียเลยดีกว่า การเจรจาครั้งนั้น มีบทสรุปออกมาเป็น สนธิสัญญา 'Anglo - Irish' โดยเนื้อหาสำคัญได้ประกาศให้ ไอร์แลนด์ เป็นประเทศสาธารณรัฐ มี 'กรุงดับบลิน' เป็นเมืองหลวง มีอิสระในการปกครองตนเอง มีรัฐสภาเป็นของตน แต่ก็ยังไม่ได้แยกขาดจากการเป็นส่วนหนึ่งของ สหราชอาณาจักร อีกทั้งชาวไอริช ยังต้องนับถือ 'ราชินีอังกฤษ' เป็นพระประมุขอีกด้วย

 

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีการแบ่งพื้นที่ ไอร์แลนด์ตอนเหนือ ออกเป็นอีก 1 ประเทศ โดยมี 'กรุงเบลฟาสต์' เป็นเมืองหลวง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ไอร์แลนด์ตอนเหนือ นั้น ยังเต็มไปด้วยกลุ่มผู้รักชาติที่ให้การสนับสนุน IRA อย่างแข็งขัน รัฐบาลสาธารณรัฐไอร์แลนด์ จึงต้องยอมแบ่งดินแดน เพื่อเหตุผลในการจำกัดพื้นที่ และลดความรุนแรงลง ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

ด้วยบทสรุปเช่นที่ว่านี้ ซึ่งดูเหมือนว่า 'สันติภาพ' น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไม่ยาก แต่ใครจะไปคาดคิดว่า สนธิสัญญาสงบศึก ฉบับนี้เอง ได้กลายเป็นชนวนเหตุความร้าวฉานอย่างรุนแรงของ ชาวไอริช ที่เคยร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ ร่วมเป็นร่วมตายกันมา..

 

เพราะรัฐบาลไอร์แลนด์ ชาวไอริช และสมาชิกกลุ่ม IRA ส่วนหนึ่ง ได้พร้อมใจยอมรับกับเงื่อนไขนี้ ( เทดดี้ ผู้น้อง เลือกที่จะเข้ากลุ่มนี้ และได้รับการปูนบำเหน็จให้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาล และมีอำนาจหน้าที่ในการปราบปราม พวก IRA ที่เหลือ) ในขณะที่กลุ่ม IRA และชาวไอริช อีกส่วนกลับไม่เห็นด้วยที่ต้องยอมศิโรราบต่ออังกฤษ นั่นเพราะพวกเขาไม่อาจลืมได้เลยว่า พี่น้องร่วมชาติจำนวนมากต้องล้มตายอย่างทุกข์ทรมานจากน้ำมือของกองทัพอังกฤษที่ป่าเถื่อน (ซึ่งแน่นอนว่า เดเมี่ยน ผู้พี่ ตัดสินใจเข้าร่วมกับกลุ่มหลัง และยังอาศัยยุทธวิธีก่อการร้าย และลอบสังหารชาวไอริชที่แปรพักตร์ต่อไป ด้วยวิธีที่โหดเหี้ยม ไม่ต่างจากที่พวกเขาเคยกล่าวหารัฐบาลอังกฤษ)

 

นี่จึงเป็นจุดแตกหัก และเป็นไคลแม็กซ์ของหนัง ที่ทำให้ สองศรีพี่น้อง และผองเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่อุตส่าห์ ร่วมรบเพื่ออุดมการณ์อย่างยากลำบาก ชนิดที่ยอมสละชีพตายแทนกันได้ ต้องมาบาดหมาง และลงมือห้ำหั่นกันเองอย่างเลือดเย็น (ซึ่งสุดท้าย เทดดี้ ผู้มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ได้สั่งจับกุม เดเมียน และออกคำสั่งประหารชีวิต พี่ชายแท้ๆ ของเขา ด้วยการแขวนคอ) จนกลายเป็นรอยแผลทางประวัติศาสตร์ของชนชาวไอริช ที่ไม่อาจลบล้างไปได้เลย..

 

ความร้าวฉาน แตกหักของ ชาวไอริช นั้นมันหาได้ก่อเกิดจากการกระทำของคนภายนอกอย่าง อังกฤษ แต่อย่างใด แต่กลับเป็นผลสะเทือนแตกร้าวทางความคิด ความขัดแย้งของคนในชาติเดียวกันนั่นเอง ดุจเดียวกับความหมายที่แฝงเร้นอยู่ภายในชื่อหนัง ที่ทั้งเพราะพริ้งกินใจ และสะท้อนความทุกข์โศก หดหู่ไว้ในคราเดียวกัน..

 

The Wind That Shakes The Barley พิสูจน์ให้เห็นว่า ภัยจาก 'ปมร้าวข้างใน' สามารถสร้างรอยแผลที่รุนแรงเจ็บปวดมากกว่า 'ภัยจากภายนอก' อย่างมากมายหลายเท่า ซึ่งประเทศไทยในยามนี้ก็เช่นเดียวกัน เรากำลังย้อนรอยโศกนาฏกรรม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไอร์แลนด์ เมื่อเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา อย่างไม่รู้ตัว...




Create Date : 30 พฤษภาคม 2556
Last Update : 30 พฤษภาคม 2556 15:01:00 น. 0 comments
Counter : 4299 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

โปสการ์ดราดซอส
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add โปสการ์ดราดซอส's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.