Mr.Pos : The Thinking & Learning in My Life
Group Blog
 
<<
กันยายน 2556
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
11 กันยายน 2556
 
All Blogs
 
ONCE IN A SUMMER ‘รักแรก’ ที่สถิตฝังใน ความทรงจำ ฉัน และ เธอ

ตะกอนคิด อันเนื่องมาจากหนัง.. ONCE IN A SUMMER ‘รักแรก’ ที่สถิตฝังใน ความทรงจำ ฉัน และ เธอ

 

         ประเด็นของ ‘รักแรก’ ที่ไม่อาจข้ามพ้นความสมหวัง หากแต่ยังเป็นความทรงจำดีๆ ที่ตกค้างจากอดีตมาสู่ปัจจุบันของตัวละคร คือสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เกาหลีที่มีชื่อว่า ONCE IN A SUMMER เรื่องนี้..

 

 

1..

 

                ตามความรู้สึกแล้ว นี่คือ หนังเกาหลี ที่มีพล็อตเรื่องเดินตามสูตรหนังรักสไตล์แดนกิมจิ ที่มีอยู่เกลื่อนกล่น ที่มักเริ่มต้นบอกเล่าความรักของคู่หนุ่มสาว ซึ่งผ่านทั้งช่วงเวลาที่ความรักค่อยๆ ฟูมฟักก่อตัว ถัดจากนั้นก็มี อุปสรรคบางอย่างผ่านเข้ามาให้คนทั้งสองเริ่มเห็นอกเห็นใจซึ่งกัน ก่อนจะเฉือนทำร้ายความรู้สึกผู้ชม ด้วยการสร้างปมเงื่อนของ ‘โศกนาฏกรรม’ ให้คนทั้งสองต้องผิดหวังพลัดพราก จากกันไปอย่างสะเทือนใจยิ่ง แต่สิ่งที่ทำให้ ONCE IN A SUMMER ดูหนักแน่น ผิดแผกไปจากหนังรักทั่วๆ ไปอยู่บ้างก็คือ ประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง ที่ถูกเติมแต้มเข้ามาเป็นฉากหลัง จนกลายเป็นชนวนเหตุที่สั่นคลอนความรักอันบริสุทธิ์ของ คู่พระ - นาง นั่นเอง..  

 

ONCE IN A SUMMER ถ่ายทอดชีวิตของ ‘ซุกยอง’ (ลี บุง-ฮุน) ซึ่งปัจจุบันเขาคือ อาจารย์หนุ่มใหญ่วัยกลางคน ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแวดวงสังคม แต่ด้วยปมร้าวภายในจิตใจ ที่ไม่อาจสมหวังในรักจากอดีต ซุกยอง จึงกลายเป็นคนเหงาเศร้า เก็บตัว และชอบครุ่นคิด แต่แล้วความทรงจำในวัยหนุ่มของ ซุกยอง ก็ต้องผุดพรายขึ้นอีกครั้ง เมื่อรายการโทรทัศน์ชื่อดังมาติดต่อ เพื่อนำเรื่องราวชีวิตของเขาออกเผยแพร่ และเมื่อทีมงานได้ล่วงรู้ว่า เขา มีความทรงจำในรักแรกที่งดงามกับหญิงสาวชนบทผู้หนึ่ง ทีมงานจึงขออาสาที่จะออกสืบเสาะความเป็นไปของหญิงสาวผู้นั้น เพื่อโน้มน้าวให้ เขา มาร่วมรายการให้ได้

 

จากนั้นความทรงจำที่แจ่มชัดของ ซุกยอง ก็ได้ย้อนพาคนดูกลับไปยังวัยนักศึกษาของเขา ราว 40 ปีที่ผ่านมา ในปี 1969 อันเป็นช่วงเวลาที่ กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ กำลังคุกรุ่นด้วยสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ตามท้องถนนเต็มไปด้วยกลุ่มก้อนพลังนักศึกษาออกมารวมตัวเดินขบวน ปราศรัยโจมตี และต่อต้านรัฐบาลเผด็จการในเวลานั้นเป็นจำนวนมาก ขณะที่การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองดังกล่าว ก็ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการถูกจับกุม ตั้งข้อหาจากฝ่ายรัฐอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน

 

2..

 

สถานการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาในกรุงโซล เวลานั้นแทบฉายภาพไม่ต่างจาก สมัยเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และช่วง 6 ตุลา 19 ในบ้านเรา โดยข้อกล่าวหาที่รัฐใช้กับนักศึกษา และประชาชนอย่างพร่ำเพรื่อที่สุดก็คือ ‘ข้อหาฝักใฝ่คอมมิวนิสต์’ นั่นเอง แต่ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่แหลมคม ซุกยอง กลับไม่ใช่ปัญญาชน ที่รู้สึกใยดีต่อชาติบ้านเมืองแต่อย่างใด เขาเป็นลูกผู้ดีมีอันจะกินในเมืองหลวง ที่เที่ยวเตร่เสรี หาความสำราญไปวันๆ แต่แล้วจุดหักเหที่สำคัญในชีวิตของ ซุกยอง ก็เกิดขึ้น หลังจากเขาตัดสินใจไปร่วมออกค่ายพัฒนาชนบทกับกลุ่มเพื่อนในมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลต้องการหลบหนีจากชีวิตที่ต้องเคร่งครัดอยู่ในกรอบของครอบครัวเท่านั่นเอง..      

 

                ที่หมู่บ้านชนบท ซึ่งภาพในหนังช่างดูคล้าย อีสานบ้านเราเหลือเกิน ทั้งความใสซื่อของชาวบ้าน และวิถีผู้คนที่ผูกพันกับทุ่งนาท้องไร่ ซุกยอง เกือบจะกระโจนเผ่นกลับ โซล ไปเสียก่อน หากไม่พบ ‘ดอกไม้งามกลางป่า’ เข้าให้ เธอคือ ‘จุงอิน’ (ปาร์ค ซู-เอ) บรรณารักษ์สาวสวยของห้องสมุดประจำหมู่บ้าน ความบริสุทธิ์สดใสที่ทั้งจริงใจ เปิดเผย ไร้การเสแสร้ง ทำให้ ซุกยอง เกิดความประทับใจในตัวเธอตั้งแต่แรกพบ แต่สำหรับ จุงอิน แม้ภายนอกเธอจะเป็นหญิงสาวที่เริงร่า แต่ลึกๆ แล้วเธอกลับต้องแบกรับความทุกข์ในฐานะที่มี พ่อ และ แม่ ผู้ล่วงลับถูกตราหน้าว่าเป็น ‘คอมมิวนิสต์’

 

สถานภาพของ จุงอิน ในหมู่บ้านจึงค่อนข้างโดดเดี่ยว ผู้คนต่างตั้งแง่รังเกียจ โดยเฉพาะ ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อ ซุกยอง เข้ามาเติมเต็มความเหงาในใจของ จุงอิน ความรักความผูกพันฉันสาวหนุ่มของทั้งคู่ จึงก่อตัวท่ามกลางบรรยากาศเรียบง่ายของชนบท หลายต่อหลายฉากในช่วงนี้ ที่ผู้กำกับใส่เข้ามาเพื่อหวังให้คนดูได้หวนกลับสู่อดีต มันทำให้ต้องนึกเปรียบเทียบกับหนังบางเรื่องอย่างช่วยไม่ได้ ฉากที่นักศึกษาฉายหนังกลางแปลงให้ชาวบ้านดู แล้ว ซุกยอง พา จุงอิน ไปนั่งดูอีกฝั่งของจอหนัง ๒ คน ผ่านช่องหน้าต่างอาคารเรียน ทำให้คิดถึงฉากหนึ่งใน ‘จดหมายรัก 24 เฟรม’ ที่ ต้าปิง และ หลิงหลิง คู่พระนางในวัยเยาว์ปีนดาดฟ้าไปชมหนังกลางแปลงในมุมสูงด้วยกัน

ส่วนฉากที่ชาวบ้านรวมกลุ่มฟังละครวิทยุ และดูการถ่ายทอดเหตุการณ์เหยียบดวงจันทร์ของมนุษย์โลกทางโทรทัศน์นั้น ก็ทำให้นึกถึง ภาพชาวชุมชนใกล้หอโตเกียว ที่กำลังล้อมวงหน้าจอโทรทัศน์เครื่องแรก ในภาพยนตร์ญี่ปุ่นสุดประทับใจอย่าง Always (แต่ ONCE IN A SUMMER กลับไม่สามารถทำได้ดีเท่า 2 เรื่องดังกล่าว) อย่างไรก็ตามฉากที่ผู้อาวุโสในหมู่บ้านนั่งล้อมวงฟัง จุงอิน อ่านนิยายอิโรติก โดย จุงอิน เลือกที่จะแต่งเรื่องในฉากไคลแม็กซ์ขึ้นมาใหม่ ก็ดูน่ารักน่าจดจำไม่น้อย

3..

 

                หลังจากความรักความผูกพันของ ซุกยอง และ จุงอิน ก่อตัวมากขึ้นจนต่างคนเริ่มเผยความในใจออกมา สถานการณ์ทางการเมืองก็บีบบังคับให้นักศึกษาต้องกลับกรุงโซล ซุกยอง ชักจูงโน้มน้าวให้ จุงอิน เดินทางกลับไปพร้อมกับเขาด้วย ซึ่งฝ่ายหญิงก็ตัดสินใจ ตกลงอย่างง่ายดาย (นั่นอาจเป็นเพราะเธออยู่ตัวคนเดียวในหมู่บ้าน และห้องสมุดสถานที่ทำงานของเธอก็ถูกไฟไหม้ไปแล้ว) แต่นั่นก็กลายเป็นจุดหักเหชีวิตคนทั้งคู่ในเวลาต่อมา

 

                เมื่อครึ่งหลังของหนังเดินทางมาถึง เรื่องราวทั้งหมดก็กลับตาลปัตร บีบคั้นอารมณ์ราวกับเป็นหนังคนละเรื่อง ขณะที่ทั้งคู่ยังไม่ทันได้สัมผัสชีวิตคู่อันหวานซึ้งตามแบบฉบับคนหนุ่มสาวกลางเมืองใหญ่ สถานการณ์ประท้วงที่รุนแรง ก็นำพาให้ทั้งสองต้องติดร่างแหถูกจับกุมด้วยข้อกล่าวหาเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ ก่อนที่ทั้งคู่จะได้รับการช่วยเหลือจากพ่อของ ซุกยอง โดยแลกกับการที่ ซุกยอง ต้องยอมโกหกต่อหน้า จุงอิน ว่าเขาไม่เคยรู้จัก และไม่เคยพบหน้าเธอมาก่อน ขณะที่ จุงอิน ก็ยอมเอ่ยปากว่าไม่เคยรู้จักเขาด้วยเช่นกัน หลังพ้นการถูกจองจำออกมา เมื่อ ซุกยอง กำลังจะพา จุงอิน หลบหนีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองไปยังจุดหมายที่ไหนซักแห่ง จุงอิน ก็ตัดสินใจผละหนีจาก ซุกยอง ไป และนั่นคือครั้งสุดท้ายที่คนทั้งสองได้พบกัน โดยปราศจากคำเอ่ยลาใดๆ

 

4..

 

                ONCE IN A SUMMER เป็นหนังรักสะเทือนอารมณ์ ที่อาจยังไม่เลิศเลอ ถึงพร้อมที่จะทำให้เราต้องหลั่งน้ำตาไปกับชะตากรรมของตัวละครหนุ่มสาวได้ โดยเฉพาะในส่วนแรกของหนัง ที่พยายามถักทอ บอกเล่าความผูกพันของคนทั้งคู่ที่กลับกลายเป็นจุดด้อย ซึ่งแม้จะกินเวลายาวนานเกินครึ่งของความยาวหนัง แต่สัมพันธภาพระหว่าง ซุกยอง และ จุงอิน ก็ดูหลักลอย เรียบเรื่อย ไม่มีอะไรเด่นชัด (ช่วงเวลาที่ทั้งคู่รู้จักกันกินเวลาไม่กี่อาทิตย์) และแทบไม่มีเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ใดๆ สอดแทรกเข้ามาเป็นบททดสอบจิตใจของทั้งสอง เราจึงไม่อาจเชื่อได้ว่าความรู้สึกที่ก่อตัวขึ้นระหว่างคนทั้งสองคือ ‘รักแท้’ ไปได้ ส่วนตัวละครแวดล้อมอื่นๆ ของเรื่องก็ดูแบนราบไม่น่าจดจำ จนแทบไม่มีส่วนสำคัญใดๆ กับเรื่องราว และด้วยความรักของทั้งคู่ที่ดูไม่น่าเชื่อถือนี้เอง เมื่อฉากแห่งการพลัดพรากของทั้งสองมาถึง มันจึงไม่อาจดึงอารมณ์คนดูให้มีส่วนร่วมในความปวดร้าวไปด้วยได้เลย รวมทั้งยังไม่อาจเชื่อด้วยว่าช่วงเวลายาวนานที่เหลือในชีวิต ทั้งคู่จะฝังใจกับ ‘รักแรก’ ของกันและกันจนยอมทนเดียวดาย โดยไม่คิดมีรักครั้งใหม่ไปได้

 

                อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เห็นได้เด่นชัดใน ONCE IN A SUMMER ก็คือ ความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยวของหัวจิตหัวใจผู้หญิง ซึ่งดูจะมีมากมายกว่าฝ่ายชายหลายเท่านัก ยามที่ต้องเผชิญสถานการณ์สำคัญที่ต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง ที่ต้องเปลี่ยนชีวิตของตัวเองไปตลอด ผมคิดว่าการกระทำของ จุงอิน นั้นน่าจะเป็นตัวแทนของผู้หญิงทั้งหลายได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน

 

                ไล่ตั้งแต่การที่เธอตัดสินใจที่จะไป โซล กับ ซุกยอง ทั้งๆ ที่ไม่มีสิ่งใดรับประกันอนาคตของเธอแม้แต่น้อย หรือฉากไคลแม็กซ์ ของหนัง ที่ทั้งคู่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐผู้เถื่อนถ่อย บังคับบีบคั้นให้สารภาพความผิดว่ามีส่วนร่วมในการต่อต้านรัฐบาล เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว หากการเอ่ยปากของ ซุกยอง ว่าไม่เคยรู้จัก จุงอิน นั้นคือการกระทำเพื่อให้ตัวเองรอดพ้นจากข้อกล่าวหา (ซึ่งนั่นดูเหมือนจะเป็น ‘ตราบาป’ ที่ติดตัวเขาไปตลอดชีวิต) การที่ จุงอิน ตัดสินใจเอ่ยปากว่าไม่รู้จัก ซุกยอง ย่อมเป็นการกระทำเพื่อปกป้องชายหนุ่มที่เธอรัก ให้รอดพ้นจากอันตรายนั่นเอง

 

และเมื่อทั้งคู่รอดพ้นจากการคุมขังออกมา และกำลังจะหนีไปอยู่ยังชนบทห่างไกลด้วยกัน เมื่อสถานการณ์แวดล้อมทวีความเลวร้ายเกินกว่าทั้งคู่จะอยู่ด้วยกันได้ จุงอิน ก็เลือกที่จะเป็นฝ่ายไปจากชีวิตของ ซุกยอง นี่เป็นการตัดสินใจที่เข้มแข็งที่สุดของ จุงอิน แล้ว เพราะแน่นอนว่าปรารถนาในส่วนลึกของเธอย่อมต้องการจะอยู่ร่วมกับ ซุกยอง ชายที่ตนรักอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่เมื่อการกระทำเช่นนั้นอาจมีผลร้ายตามมาอย่างหนักหน่วง จุงอิน ซึ่งมีสถานภาพเป็น ลูกสาวคอมมิวนิสต์ จึงเลือกที่จะจากไปเพื่อให้ชีวิตของ ซุกยอง มีสวัสดิภาพ และมีอนาคตที่ดีกว่า

 

5..

 

นี่คือการตัดสินใจอย่างแน่วแน่ เด็ดเดี่ยวของ จุงอิน เธอเลือกที่จะอยู่กับความทรงจำดีๆ ของความรักไปตลอดชีวิต นี่คือการเสียสละครั้งใหญ่ จนทำให้เราคิดกลับไปว่าหากตัวเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์บีบคั้นรุนแรงเช่นเดียวกับเธอแล้ว เราจะมีหัวจิตหัวใจที่หาญกล้าพอที่จะทำเช่นนั้นได้หรือไม่ ถึงตอนนี้ผมเองก็ไม่อาจตอบได้จริงๆ..

 

มันอาจเป็นเพียงประโยคในอุดมคติที่แสนสวย หากมีใครซักคนบอกเราว่า ‘ความรัก คือเรื่องราวที่อยู่ในส่วนลึกของหัวใจคนสองคน ที่อยู่เหนือทั้งเหตุผล และไม่อาจมีอุปสรรคใดๆ ทั้งปวงจะมาขัดขวาง’

 

               นั่นเพราะในโลกความเป็นจริง บ่อยครั้งที่หัวใจของคนคู่หนึ่ง มักมีตัวแปร ปัจจัยมากมาย ที่มีอิทธิพลมากพอจะทำให้ความรักที่สวยงามของคนทั้งคู่ไม่อาจสมหวังได้

 

แต่ ONCE IN A SUMMER ก็บอกกับเราว่า ที่สุดแล้ว แม้ความรักไม่อาจมีพลังพอให้คนคู่หนึ่งได้ใช้ชีวิตอยู่คู่กันได้ แต่การที่หนึ่งชีวิตของเรา ได้มีความทรงจำอันงดงามต่อใครซักคน ซึ่งจะติดตรึงในใจเราไปตลอดชีวิตนั้น ก็เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดแล้วมิใช่หรือ ?

 

 

                              

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




Create Date : 11 กันยายน 2556
Last Update : 11 กันยายน 2556 14:14:49 น. 0 comments
Counter : 1674 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

โปสการ์ดราดซอส
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add โปสการ์ดราดซอส's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.