Mr.Pos : The Thinking & Learning in My Life
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
232425262728 
 
22 กุมภาพันธ์ 2557
 
All Blogs
 
ครื้นเครงบรรเลง ‘เสเลเมา’

   

ครื้นเครงบรรเลง ‘เสเลเมา’ ปลดทุกข์หม่นเศร้าให้หายจาง

 

                เมื่อต้นกุมภา เดือนยามแห่งความรัก มีโอกาสขึ้นไปแอ่วถึง ‘เชียงราย’ มั่นหมายอยากได้ยินดนตรีล้านนา คลอขับกล่อมให้ได้อรรถรสแบบเมืองเหนือซักหน่อย แต่ที่ไหนได้ บนรถแท็กซี่เช่า ที่คณะเราใช้บริการตั้งแต่สนามบินแม่ฟ้าหลวง มาส่งยังโรงแรมในเมือง แถมยังพาตระเวนเที่ยวตั้งแต่ วัดร่องขุ่น ไปยัน แม่สาย สามเหลี่ยมทองคำ ชายแดน 3 แผ่นดิน เชียงแสนโน่น อ้ายโชเฟอร์คนเจียงฮายอารมณ์ดี กลับระดมเปิด เพลงหมอลำอีสานในสไตล์ ‘ต่าย อรทัย’ กรอกหูเราตั้งแต่สายไปจรดค่ำ จนตัวเองนึกว่ากำลังเตร็ดเตร่อยู่แถวมุกดาหาร สกลนคร เสียอีก เห็นดอยนางนอน เผลอนึกว่าเป็น ภูพาน เจอ ทะเลสาบเชียงแสน นึกว่าเป็น บึงหนองหาร เมืองสกลฯ ไปนั่น !!  

                ใคร่สงสัยจริง จึงเอ่ยถามอ้ายโชเฟอร์ ถึงรสนิยมการฟังเพลงส่วนตัว อ้ายอู้ว่าชมชอบเพลงสไตล์พื้นบ้าน หมอลำอีสานเป็นที่สุด ม่วนแต้ม่วนขนาด !! ไม่เหมือนเพลงเหนือบ้านเขา ที่ติดไปทางเนิบนาบ เย็นๆ ยานๆ ถ้ามาเปิดฟังตอนขับรถมีหวังได้ง่วงเหงาหาวนอนเป็นแน่ ผมเห็นพ้อง คล้อยตามด้วยอย่างยิ่งครับ

                เลยมานั่งนึกถึงเพลงพื้นเมืองเหนือ ที่พอคุ้นหูอยู่บ้าง มีเพลงอะไรบ้างล่ะที่มีจังหวะสนุกๆ ฟังแล้วสามารถลุกขึ้นเต้นตามแบบเบาๆ ให้ครึกครื้นได้แบบพอฟัดพอเหวี่ยงกับ เพลงอีสานบ้านเฮา ในที่สุดผมก็นึกไปถึงบทเพลง ‘เสเลเมา’ ที่มีท่อนทำนองฮุกให้ได้ย้ายยักสะโพกในจังหวะ มงแซะ มงแซะ แซะมง ตะหลุ่ม ตุมมง นั่นยังไง

เสเลเมา เป็นเพลงกล่อมเด็กภาคเหนือของชาวไทใหญ่ ที่มีอายุเป็นร้อยปีแล้ว ไม่ต้องไปสืบเสาะหรอกครับว่าแต่งเมื่อใด ใครเป็นคนแต่ง เอาเป็นว่ามันโบราณมากก็แล้วกัน ผมได้ยินทำนอง และเมโลดี้เพลง เสเลเมา มาก่อนที่จะรู้จักบทเพลงโฟล์คซองคำเมืองของ จรัล มโนเพ็ชร ซะอีก

เสเลเมา เวอร์ชั่นที่คนฟังเพลงคุ้นเคยที่สุดก็น่าจะเป็น เสเลเมาฉบับ อ้ายจรัล นั่นแหละ เป็นบทเพลงเหนือเนิบช้า อ้อยอิ่ง ที่มีคำร้องเป็นภาษาคำเมือง ที่แปลความแทบไม่รู้เรื่องเลย แต่ก็ไพเราะมากๆ แต่ เสเลเมา ในเวอร์ชั่นที่ผมชื่นชอบที่สุดกลับเป็น ฉบับบรรเลงไร้เนื้อร้องของ ศิลปินอินดี้ – อิสระจากเมืองเชียงใหม่ ที่มีชื่อในวงการว่า ‘รังสรรค์ ราศี – ดิบ’ ครับ รังสรรค์ ราศี-ดิบ และเพื่อนพ้องคนดนตรีมากฝีมือของเขา ได้ออกอัลบั้มของตัวเองที่มีชื่อว่า ‘การเดินทางของตะกร้า’ ในปี 2544 เป็นอัลบั้มที่สร้างปรากฏการณ์ความแตกต่างให้กับโลกคีตกาลล้านนา อย่างแปลกใหม่ และประหลาดล้ำที่สุด จนไม่รู้จะสรรหานิยามมาเรียกบทเพลงต่างๆ ในอัลบั้มนี้ว่าเป็นแนวไหนกันแน่ จึงขอเรียกว่า เป็นบทเพลงล้านนาร่วมสมัย หรือ Contemporary Lanna เสียเลย

 

       

งานชุดนี้เป็นการผสมผสานความดิบของ เครื่องดนตรีแบบอคูสติค ที่ไม่เสียบปลั๊ก ในสำเนียงดนตรีพื้นบ้าน เข้ากับดนตรีสากลประเภท กีต้าร์ไฟฟ้า และเสียงสังเคราะห์แบบอิเล็กทรอนิกส์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ บวกกับเนื้อร้องหลายชาติภาษาทั้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส ปะกากะญอ และภาษาคำเมือง (เอากันเข้าไป !!) คลุกเคล้าในบรรยากาศ กลิ่นอายแจ๊ส โฟล์ค และฟังก์ อย่างลงตัว (รึเปล่า !?) และคุณภาพของงานชิ้นนี้ ก็ขึ้นหิ้งเข้าป้าย จนคว้า 2 รางวัลสีสันอะวอร์ด แห่งปี 2001 มาครอง อย่างเหนือความคาดหมายสุดๆ

           

               เสเลเมาฉบับบรรเลง ในเวอร์ชั่น รังสรรค์ ราศี – ดิบ ที่สุดม่วนหู ถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้มชุดนี้แหละครับ มันเป็นความไพเราะลงตัวที่ถูกผสมผสานจากเครื่องดนตรีอย่าง กีต้าร์ไฟฟ้า และเครื่องดนตรีพื้นเมืองอย่าง ซึง ขลุ่ย ฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง และกลองอีตุ้ม ที่ถูกบรรเลงโดย ‘ครูแอ๊ด ภาณุทัต อภิชนาธง’ ยอดฝีมือ ศิลปินตัวจริงของแผ่นดินล้านนา โดยมีเสียงสังเคราะห์อิเล็กทรอนิกส์จาก คอมพิวเตอร์ ใส่เติมเต็มเข้ามาจนเกิดความร่วมสมัย ทำให้ เสเลเมา เวอร์ชั่นนี้ลื่นไหลลงตัว และเทียบชั้น เข้าขั้นเทพเกินคำบรรยาย

 

               ผมกะว่าคราวหน้า ถ้ามีโอกาสไปขับรถเที่ยวแถบแดนอีสาน เมืองชายโขง จะลองเปิด เสเลเมา เวอร์ชั่นนี้คลอกล่อมดูบ้าง ฟังเพลงเหนือในถิ่นเมืองหมอแคนหมอลำ คงให้อารมณ์แสนสนุกพิลึกครับ !!

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2557
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2557 16:20:33 น. 0 comments
Counter : 3124 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

โปสการ์ดราดซอส
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add โปสการ์ดราดซอส's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.