<<
พฤศจิกายน 2548
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
19 พฤศจิกายน 2548

แด่ ม.ร.ว.กีรติ เหยื่อของฝรั่งคนสุดท้ายในวรรณกรรมไทย (จบ)

แด่ ม.ร.ว.กีรติ
นิธิ เอียวศรีวงศ์

เณรพลายแก้วได้ปะหน้านางพิมวัยสาวเป็นครั้งแรก ตกดึกก็คร่ำครวญถึงนางพิมว่า "ทำไฉนจึงจะได้นางพิมชม" รักกับได้ชมแยกออกจากกันไม่ได้. เรื่องนี้ทำให้ผมอดคิดถึงละครทีวีและหนังไทยหลายเรื่องไม่ได้ พระเอกรักนางเอก แต่ด้วยความแค้นซังกะบ๊วยอะไรก็ตาม เขาจึงแก้ปัญหาด้วยการปล้ำ ทำจนนางเอกท้องบ้างไม่ท้องบ้าง แล้วผู้แต่งจะจบเรื่องอย่างไร น่าอัศจรรย์มากนะครับ นางเอกก็รักพระเอกแล้วก็แต่งงานอยู่กินกันจนชั่วฟ้าดินสลาย

การปลุกปล้ำข่มขืนเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความรัก นางเอกก็ยอมรับปรัชญาข้อนี้ จึงมีความรู้สึก "รัก" คนที่เคยข่มขืนตนได้ลงคอ ที่น่าอัศจรรย์คือผู้แต่ง (ซึ่งมักเป็นผู้หญิง) คิดได้อย่างไร แต่ที่น่าอัศจรรย์กว่านั้นคือผู้ชมละครทีวีหรือดูหนังก็ชื่นชมเรื่องอย่างนี้จนติด มันแปลว่าอะไรครับ ผมแปลว่าการ "ได้ชม" นั้น จะใช้วิธีไหนก็ได้ นับตั้งแต่มนต์มหาระรวยไปจนถึงกล้ามเนื้อ

เช่นเดียวกับอิเหนาเมื่อได้ใช้ปากพูดกับจินตะหราเป็นครั้งแรกก็ฝากรักว่า "...เพราะหวังชมสมสวาสดิทรามวัย สู้เอาชีวาลัยมาแลกรัก" ฉากรักในละครรำไปจนถึงลิเกก็คือการรุกและการป้องปัด พูดภาษาชาวบ้านคือปากว่ามือถึง

ไม่มีนะครับ อาการแห่งความรักบริสุทธิ์ เทิดทูนบูชา ฯลฯ อย่างที่ควรจะเป็นสำหรับความรักโรแมนติค เพราะความรักแบบไทยไม่ใช่ความรักโรแมนติค ครั้นเรารับเอาความรักโรแมนติคมาจากหนังและนิยายฝรั่งในภายหลัง ผมออกจะสงสัยว่าเรายังไม่รู้วิธีจะรวบยอดมันมาใช้ในการแสดง หรือแม้แต่ในวรรณกรรมได้

ผมควรย้ำไว้ด้วยว่า ความรักแบบโรแมนติคของฝรั่งก็ไม่ใช่อุดมคติดีเลิศที่เราต้องทำให้ได้นะครับ เพียงแต่ว่าเราไปลอกความรู้สึกแบบนั้นจากนิยายและหนังฝรั่งมาใช้ในหนังและนิยายของเราบ้าง แต่แล้วเราก็ใช้มันอย่างไม่แนบเนียนเท่าไร โดยเฉพาะในการแสดงความรักแบบนั้น

ผมเข้าใจว่าในวัฒนธรรมโบราณของไทยนั้น การได้เสียเป็นความรับผิดชอบ (พอสมควร-คือมากกว่าปัจจุบัน) ความคิดอันนี้สะท้อนออกมาในหนังและละครทีวีไทยอยู่เหมือนกันนะครับ ตัวละครที่เป็นฝ่ายคนดี ซึ่งรวมพระเอกด้วยมักรับผิดชอบกับเรื่องนี้เสมอ แม้แต่กับนางอิจฉาที่มอมเหล้าพระเอกแล้วไปนอนแก้ผ้าเป็นเพื่อนตลอดคืน ฉะนั้น ความรักแท้ของพระเอกในวรรณคดีไทยจึงแยกออกจากเรื่องได้เสียไม่ได้ รักแท้แล้วไม่ยอมได้เสียก็แสดงว่าไม่ได้รักจริงล่ะสิครับ

หญิงชายไทยในสมัยก่อนคงต้องใจกันบ้างถึงได้เสียกัน จะต้องใจกันได้ก็ต้องจีบกัน แต่จีบกันโดยไม่มีการได้เสีย จึงต้องทำโดยไม่มีพันธะต่อกันมากจนเกินไป

ในประเพณีแอ่วสาวของภาคเหนือ (หรือเว้าสาวของอีสาน) คำโต้ตอบของหญิงชายมีแบบแผนค่อนข้างตายตัวอยู่แล้ว ต่างฝ่ายต่างรู้กันว่าต้องพูดอะไร และต้องตอบโต้ว่าอะไร ความหมายที่แท้จริงจากใจผู้พูดแฝงอยู่อย่างละเอียดอ่อนในคำโต้ตอบนั้น เช่น ผมได้ยินมาว่า หากสาวในภาคเหนือถูกถามว่าเย็นนี้กินอะไร แล้วเธอตอบว่ากินอะไรที่เผ็ดๆ ก็แปลว่าเธอไม่ยินดีต้อนรับหนุ่มที่ถามนัก แอ่วพอเป็นมารยาทแล้วควรเขยิบหนีไปเรือนอื่นที่ลูกสาวเขาบอกว่ากินแกงฟักหรืออะไรที่เย็นๆ กว่านั้น

นักวิชาการฝรั่งอธิบายว่า ประเพณีโต้ตอบในการแอ่วสาวเหล่านี้ ช่วยกีดกันมิให้การสนทนาของแต่ละฝ่ายกลายเป็นข้อผูกมัดจนเกินไป (จนกว่าฝ่ายชายจะเอ่ยปากขออนุญาตส่งผู้ใหญ่มาขอ-ซึ่งต้องพูดโดยไม่มีภาษาแอ่วกำกับ) ซึ่งผมก็เห็นด้วย

ผมนึกถึงการเล่นโวหารของหนุ่มสาวสมัยนี้ อย่างที่เคยเห็นในทีวีเสมอ เช่น ผู้ชายบอกผู้หญิงว่า "ขอโทษ ช่วยเขยิบมาตรงนี้หน่อยเถิดครับ" "ทำไมหรือคะ" "หัวใจเราจะได้ตรงกันไงครับ" และโวหารอื่นๆ อีกมากมาย แล้วแต่ใครจะคิดขึ้นใหม่โดยไม่มีประเพณีของภาษาแอ่วมากำกับ. แต่... แล้วมันจริงหรือเล่นล่ะครับ ? คำตอบคือไม่ชัด จริงก็ได้เล่นก็ได้ แต่ที่แน่นอนคือไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ต่างเลยนะครับกับประเพณีการแอ่วสาวหรือเว้าสาว

แสดงว่า จนถึงทุกวันนี้ หลังจากดูหนังฮอลลีวู้ดกันมาคนละนับเป็นร้อยเรื่องแล้ว ความรักแบบโรแมนติคก็ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบความสัมพันธ์ของไทย และเรายังไม่อาจแสดงความรักแบบนี้ได้เป็น ทั้งในศิลปะการแสดงและในชีวิตจริง

ผมคิดเรื่องนี้แล้วก็นึกเถียงตัวเองว่า ทำไมผู้คนจึงซาบซึ้งกับนวนิยายเรื่อง "ข้างหลังภาพ" ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ กันมากอย่างนั้นเล่า ความรักของ ม.ร.ว.กีรตินั้นแหละคือสุดยอดของความรักแบบโรแมนติคเลย ไม่มีบริบท, ไม่มีข้อเรียกร้องตอบแทน, (น่าจะ) ไม่มีความรู้สึกทางกามารมณ์ด้วย ขอแต่ให้ได้รักเท่านั้น หรือเธอเป็นเหยื่อของฝรั่งคนสุดท้ายในวรรณกรรมไทยกันหว่า

ในขณะที่คนอ่านสามารถเข้าใจเธอได้ แต่ทำตามไม่ได้ อย่างที่คนไทยปัจจุบันเข้าใจความรักแบบโรแมนติคได้ แต่ทำตามไม่ได้

ป.ล.1 บทความของอาจารย์นิธิชิ้นนี้นำมาจากบทความเผยแพร่ของเว็บไซด์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และบทความชิ้นนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ด้วยค่ะ

ป.ล.2 จบแล้วค่ะ







Create Date : 19 พฤศจิกายน 2548
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 16:35:28 น. 19 comments
Counter : 1949 Pageviews.  

 


โดย: rebel วันที่: 19 พฤศจิกายน 2548 เวลา:8:14:13 น.  

 
น่าสนใจค่ะ


โดย: jaa_aey วันที่: 19 พฤศจิกายน 2548 เวลา:8:50:41 น.  

 
หนูเป็นคุณหญิงกีรติ ตอนอวสานค่ะ



โดย: erol วันที่: 19 พฤศจิกายน 2548 เวลา:10:07:29 น.  

 
กำลังมีความรัก
...แต่คิดว่าคงต้องจบในไม่ช้าเพราะเริ่มเรียกร้องอีกฝ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่อยากเป็นอย่างคุณหญิงกีรติค่ะ
มันโรแมนติก - แต่เศร้า

------------
ป.ล. เมื่อก่อนเกลียด plot ไทยๆ ประเภทตบจูบหรือใช้กำลังมาก...
ดูทีไรได้แต่รำคาญนางเอกทำไม "กร๊วกมาก" อย่างนี้
และไม่เข้าใจด้วยว่าทำไมไม่มีนางเอกที่จำยอมแต่งงาน
สุดท้ายจับพระเอกเชือดแล้วโยนให้เป็ดกิน เอิ๊กๆๆ


โดย: แพนด้ามหาภัยไร้รัก IP: 203.113.32.9 วันที่: 19 พฤศจิกายน 2548 เวลา:11:25:16 น.  

 
เคยดูหนัง (ฝนร้องไห้ด้วยอะคะ) พอดีเพื่อนฝนทำสารนิพนธ์เรื่องนี้ แต่ฝนไม่เคยอ่านในหนังสือเลย


โดย: foneko IP: 61.91.87.55 วันที่: 19 พฤศจิกายน 2548 เวลา:11:34:47 น.  

 
แล้วรักที่มีแต่รัก ก็หายากขึ้น
ยากขึ้นทุกที
ความรักเป็นเรื่องยากที่สุดในชีวิตผมเลยครับ


โดย: Mint@da{-"-} วันที่: 19 พฤศจิกายน 2548 เวลา:14:16:46 น.  

 
อ่านแล้วอยากกลับไปจับหนังสือเล่มนี้อีกสักครั้งค่ะ... คิดถึงตอนอ่านเล่มนี้ครั้งแรกรู้สึกอยากร้องไห้ออกมาดังๆ จังเลย


โดย: JewNid วันที่: 19 พฤศจิกายน 2548 เวลา:14:24:59 น.  

 
เคยได้อ่าน ตอนลงในมติชนสุดฯ ครับ...

ผมชอบ ข้างหลังภาพนะ


โดย: Nutty Professor วันที่: 19 พฤศจิกายน 2548 เวลา:14:44:48 น.  

 
กำลังจะเป็นท่านหญิงกีรติอยู่

แต่เรื่องปล้ำกันในละครไทยนี่
ใช่เลยนะ

ปล.เดี๋ยวจะเอาโค้ดที่บล็อคออก
ถ้ายังเต้นอยู่ก็บอกที
เพราะตัวเองไม่เคยเห็นว่ามันเต้นเลย




โดย: keyzer วันที่: 19 พฤศจิกายน 2548 เวลา:14:57:40 น.  

 
เหมือนอย่างที่ผมบอกไปในบล็อกที่แล้วว่าเหมือนอ่าน หนังสือเรื่อง มายาคติ ของโรลอง บาร์ต เลยแฮะ

ยิ่งมาอ่านจนจบ ยิ่งคิดว่า โอ้ ใช่เลย

ความรักในอุดมคติ มีจริงไหม ไม่มีใครรู้

แต่ความคิดนี้ฝังลึกลงในรากของวัฒนธรรม เหมือนเรื่องของ ความเป็นลูกผู้ชาย พรหมจรรย์ ความดีความงาม สุนทรียะ ฯลฯ จนยากที่จะแยกว่านี้คือเรื่องธรรมชาิติเรื่องเรื่องมนุษย์สร้างขึ้น

ส่วนเรื่องความรักมันยากที่จะบอกกล่าว แต่ผมแน่ใจมากเลยครับว่า ม.ร.ว. กีรติคงมิใช่เหยื่อของฝรั่งคนสุดท้ายในวรรณกรรมไทยแน่นอน


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 19 พฤศจิกายน 2548 เวลา:16:34:57 น.  

 
นานมาแล้วที่เป็นคนหนึ่งที่ชอบคุณหญิงกีรติ


โดย: ปาลินารี วันที่: 19 พฤศจิกายน 2548 เวลา:19:20:41 น.  

 
มาอ่านต่อครับ

ความรักไม่ใช่เรื่องยากเกินไป แคนชอบทำตัวให้ยากเองครับ

อืมมม ผมก็เชื่อว่าม.ร.ว. กีรติไม่ใช่เหยื่อของฝรั่งคนสุดท้ายในวรรณกรรมไทยครับ


โดย: พ่อน้องโจ วันที่: 19 พฤศจิกายน 2548 เวลา:21:36:09 น.  

 
เชื่อว่า ม.ร.ว. กีรติ จะไม่ใช่เหยื่อของฝรั่ง
คนสุดท้าย ในวรรณกรรมไทยเหมือนกันค่ะ


โดย: ป้าติ๋ว (nature-delight ) วันที่: 19 พฤศจิกายน 2548 เวลา:21:54:24 น.  

 
พี่แกร๊ปป้าค่ะ
จริงๆหนูก็สนใจมากมานานแล้วหน่ะค่ะ แต่ด้วยทราบดีว่าเรานั้นค่อนข้างจะเบาปัญญา จึงไม่ค่อย แสดงความคิดเห็นมากนัก และหนูเองก็ไม่ได้รักชอบกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ เพียงแต่...
แหมจะพิมพ์อะไรทีในนี้ต้องสงวนท่าทีหน่อยนะค่ะ เดี่ยวโจ๊งคลึ๊ม..มมม

ดีใจถ้าพี่จะช่วยชี้แนะค่ะ


โดย: erol วันที่: 19 พฤศจิกายน 2548 เวลา:23:17:15 น.  

 
อ่านแล้วก็เห็นด้วยอยู่นิดๆกับความคิดของ อ.นิธิ แต่ถึงอย่างไร ความรักของ กีรติ คงไม่ใช่ความโรแมนติกสุดท้ายในวรรณกรรมไทยแน่ เชื่อเช่นนั้นเหมือนกันนะ
ล่าสุดอ่าน "ซากุระในสายลมร้อน" แล้วก็คิดว่าโรแมนติกดีเหมือนกัน โดยเฉพาะพระเอก เป็นรักที่เสียสละ ไม่ยึดครอง หวังเพียงให้คนรักของเขาได้สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตเท่านั้นเอง


โดย: ป้อจาย วันที่: 20 พฤศจิกายน 2548 เวลา:0:20:17 น.  

 
พบกันพรุ่งนี้นะค่ะ
ฝันดีค่ะ



โดย: erol วันที่: 20 พฤศจิกายน 2548 เวลา:0:33:25 น.  

 
ส่วนตัวไม่เชื่อเลยในความรักที่แบบ ฉันเกิดมาเพื่อเธอคนเดียว

ข้างหลังภาพนี่อ่านตอนแรกก็ชอบนะคะ พอมาอ่านอีกที ดันเฉยๆไป


โดย: DropAtearInMyWineGlass วันที่: 20 พฤศจิกายน 2548 เวลา:1:51:10 น.  

 




โดย: p_tham วันที่: 20 พฤศจิกายน 2548 เวลา:2:02:15 น.  

 
ผมดูข้างหลังภาพจบก็บอกกับเพื่อนที่ดูด้วยกันว่า -แกต้องไม่เป็นอย่างนี้ แกต้องเรียกร้องในสิ่งที่แกจะเรียกร้องได้-

จะว่าไปแล้ว ชอบประโยคนี้จัง
-ผมเข้าใจว่าในวัฒนธรรมโบราณของไทยนั้น การได้เสียเป็นความรับผิดชอบ (พอสมควร-คือมากกว่าปัจจุบัน)-

ผมว่าปัจจุบัน ความคิดแบบนี้คงหายไปจวนหมดแล้วล่ะครับ


โดย: apower IP: 61.91.170.219 วันที่: 15 ธันวาคม 2548 เวลา:6:50:01 น.  

grappa
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
[Add grappa's blog to your web]