บทที่ตัวเองชอบมากที่สุด น่าจะเป็น สำนึก มุมมอง และอุดมการณ์ของแผนที่ ที่คนเขียนร่ายยาวตั้งแต่งานดีไซน์แผนที่ชิ้นคลาสสิกของลอนดอนอันเดอร์กราวด์ มาจนถึงงานศิลปะของวิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ If there is No corruption ที่ใช้แผนผังระบบเครือข่ายรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร แล้วต่อด้วยบท ภูมิศาสตร์ของความรู้สึก ( แน่นอนว่าต้องมีการอ้างถึงงาน Siam Mapped : A History of the Geo-Body of a Nation ของ อ.ธงชัย วินิจจะกูล) ทั้งสองบทนี้พูดถึงวาทกรรมเชิงพื้นที่ที่ปรากฏอยู่ในแผนที่อย่างหฤหรรษ์ เพราะแผนที่ทั้งหมดที่ถูกยกมาอ้างถึงในบทแรก ไม่ได้เป็นแผนที่ที่ช่วยหาพิกัดถูกต้อง แต่มันคำนึงถึงความสวยงามด้วย ตัวอย่างเช่นเส้นบางเส้นในแผนที่ของลอนดอนอันเดอร์กราวด์ แทนที่จะเป็นเส้นโค้งตามความเป็นจริงแต่เพื่อความสวยงามต้องถูกทำให้กลายเป็นเส้นตรง หรือร่นระยะทางบางเส้นเพื่อให้สวยงามมากยิ่งขึ้น ซึ่งคนลอนดอน"รับได้" กับความไม่ถูกต้องตรงนี้ แต่พอนำมาหลักการนี้มาใช้กับแผนที่นิวยอร์กซี้ตี้ ซับเวย์ กลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เห็นคัลเจอร์ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของแผนที่รถไฟใต้ดินของสองประเทศอย่างชัดเจน