Group Blog
 
All Blogs
 

กว่าจะเป็นคนไทย

กว่าจะเป็นคนไทย
ต้องผ่านจากชนเผ่าเป็นชนชาติ

“ชนเผ่า” รวมตัวกันเป็น“ชนชาติ” แล้วสมมุติชื่อเรียกตัวเองว่า“คนไทย” ซึ่งใช้เวลายาวนานมากจนนับแน่นอนไม่ได้
ถ้าอยากรู้กระบวนการเคลื่อนไหวปรับตัวเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมจากชนเผ่าเป็นชนชาติถึงคนไทย ให้อ่านหนังสือกว่าจะเป็นคนไทย ของ ดร. ธิดา สาระยา

กว่าจะเป็นคนไทย ของ ดร. ธิดา สาระยา สำนักพิมพ์เมืองโบราณ (2553) ราคา 220 บาท อธิบายชัดเจนแจ่มแจ้งว่าต้องผ่านชนเผ่าเป็นชนชาติก่อน





ไทย, คนไทย, ความเป็นไทย, และลักษณะไทย ผมเข้าใจว่าแรกมีขึ้นราวหลัง พ.ศ. 1700 พร้อมกับวิวัฒนาการอักษรไทยบริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง
แต่ที่เรียกตนเองว่าไทย เพิ่งพบหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรเก่าสุดหลัง พ.ศ. 2000 อยู่ในวรรณคดียุคต้นอยุธยาเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ (มีรายละเอียดในหนังสือคนไทยมาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2548)
คนไทย โดยทั่วไปหมายถึงคนพูดภาษาไทย, มีวิถีชีวิต, มีทัศนะต่อโลก, มีระบบคุณค่า, มีอุดมการณ์, ตลอดจนมีสำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์ไทย ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจ-การเมือง และสังคม-วัฒนธรรม อยู่ในขอบเขตรัฐไทยอันเป็นประเทศไทยปัจจุบัน
คำว่า “ไทย” ไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติ เพราะเชื้อชาติบริสุทธิ์ไม่มีจริงในโลก และไม่ใช่ชื่อชนชาติมาแต่แรก เพิ่งมาสมมุติเรียกขึ้นเมื่อเวลาภายหลังในช่วงใดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น หลัง พ.ศ. 1700 พร้อมกำเนิดอักษรไทย
คำเรียกชื่อไทย มีรากจากคำว่าไท หรือไต ของกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าต่างๆ ที่ตั้งหลักแหล่งกระจัดกระจายในภูมิภาคอุษาคเนย์ เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย โดยเฉพาะที่อยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ทางตอนใต้ของจีน ตั้งแต่บริเวณตอนใต้ลุ่มน้ำแยง ซีเกียง ลงไปถึงชายทะเล
แต่คนเหล่านั้นไม่ใช่คนไทย ของรัฐไทยทั้งหมด แม้บางกลุ่มชาติพันธุ์ทุกวันนี้จะจัดอยู่ในภาษาตระกูลไทย-ลาว หรือลาว-ไทย เช่น ลาว, ลื้อ, จ้วง, ฯลฯ ก็ไม่ใช่คนไทยของรัฐไทย แต่เป็นคนลาวของประเทศลาว, คนลื้อ และคนจ้วงของประเทศจีน
คนไทยในประเทศไทยทุกวันนี้ เมื่อได้ยินคำว่าไทลื้อ หรือไทจ้วง ก็พากันตีขลุมว่าเป็น “คนไทย” ไปทันที ด้วยความเข้าใจเอาเองอย่างคนปัจจุบัน
แต่ความจริงแล้วไทกับไตข้างหน้าชื่อชาติพันธุ์แปลว่าคนเฉยๆ และหมายถึงชาวก็ได้ คนพวกนั้นกำลังสื่อความหมายว่าพวกเขาเป็นคนลื้อ, ชาวลื้อ หรือเป็น คนจ้วง, ชาวจ้วง ไม่ใช่คนไทย, ชาวไทย ของรัฐไทยและประเทศไทย
คนไทย หมายถึงใคร? อะไร? ที่ไหน? อย่างไร? ฯลฯ ไม่มีคำอธิบายตายตัวหรือสำเร็จรูป เพราะขึ้นอยู่กับภูมิหลังหรือปูมหลังของผู้อธิบายที่มีต่างกันมากมายหลายหลาก เช่น อาจบอกว่าหมายถึง คนพูดภาษาไทย, คนเกิดในประเทศไทย, ฯลฯ
แต่ก็ไม่ใช่แค่นั้น เพราะคนจำนวนไม่น้อยไม่พูดภาษาไทย และไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่ถูกรับเป็นคนไทยได้ในทางกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ
ฉะนั้น จะรักชาติ, รักความเป็นไทย ก็อย่า“คลั่ง”, “หลง” แล้วโกหกตัวเองว่าเป็นไทยแท้ ไม่ผสมชาติพันธุ์อื่น เช่น แขก, ลาว, เขมร, พม่า, เจ๊ก, ฯลฯ ซึ่งตลก




 

Create Date : 01 กันยายน 2553    
Last Update : 1 กันยายน 2553 10:30:57 น.
Counter : 1060 Pageviews.  

ประวัติศาตร์2ทางพระยาละแวกอาจไม่ได้ถูกพระนเรศวรปฐมกรรม(บันทึกของสเปน)

ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติฯ ลงข้อความสั้น ๆ เกี่ยวกับสงครามกับพระยาละแวกครั้งนั้นว่า
“ศักราช ๙๕๕ มะเส็งศก…ณ วันศุกร์ขึ้น ๑๐ ค่ำเดือนยี่ เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๖ บาท เสด็จพยุหยาตราไปเอาเมืองละแวก และตั้งทัพชัย ตำบลบางขวด เสด็จไปครั้งนั้นได้ตัวพระยาศรีสุพรรณ ในวันอาทิตย์แรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ นั้น”
และในพงศาวดารเขมร (ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑) ลงข้อความเรื่องเดียวกันว่า
“ลุ ศักราช ๙๕๕ ศกมะเส็ง นักษัตรได้ ๒ เดือน… จึงสมเด็จพระนเรศวรพระเจ้ากรุงไทยยกกองทัพไพร่พล ๕ หมื่นมารบกับพระองค์ (คือพระสัตถาหรือพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี) พาสมเด็จพระอัครมเหสีกับสมเด็จพระราชบุตรทั้ง ๒ หนีไปอยู่เมืองศรีส่อชอ ลุ ศักราช ๙๕๖ ศกมะเมียนักษัตร…พระองค์พาสมเด็จพระอัครมเหสีกับพระราชบุตรทั้งสองพระองค์ไปเมืองลาว ฝ่ายพระองค์บรมบพิตร เมื่อ ลุ ศักราช ๙๕๗ ศกมะแมนักษัตร พระชันษาได้ ๔๓ ปี พระไชยเชษฐาพระราชบุตรใหญ่ เมื่อ ลุ ศักราช ๙๕๘ ศกวอกนักษัตร พระชันษาได้ ๒๓ ปี นักองค์บรมบพิตรทั้งสองพระองค์สุรคตอยู่ที่เมืองลาว ยังแต่พระบรมราชาธิราชผู้เป็นพระอนุชา พระชันษาได้ ๑๘ ปี อยู่เมืองลาว…ฝ่ายสมเด็จพระศรีสุพรรณผู้เป็นพระอนุชา… ครั้งนั้นจึงพระนเรศวรเป็นเจ้าไพระองค์กับพระราชบุตรแล้วกวาดต้อนตัวเขมรไปเป็นอันมาก ลุ ศักราช ๙๕๖
ศกมะเมีย นักษัตรเดือน ๓ จึงพระนเรศวรเป็นเจ้านำพระองค์ไปกรุงศรีอยุธยาให้แต่พระมหามนตรีเป็นแม่ทัพใหญ่รั้งอยู่อุดงฦๅไชย…”

จากหลักฐานทั้งของไทยและของเขมรนี้ได้ความตรงกันว่า
๑. ในปีจุลศักราช ๙๕๕ สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปตีเมืองละแวก จับพระศรีสุพรรณพระอนุชาของพระยาละแวกได้ จึงนำตัวมาที่กรุงศรีอยุธยา
๒. สำหรับตัวพระยาละแวกนั้นจากหลักฐานของไทยมิได้ระบุถึง แต่หลักฐานของเขมรระบุว่า พระองค์หนีไปได้ไปพิงพักอยู่เมืองลาวพร้อมด้วยพระมเหสีและโอรสอีก ๒ องค์ และอีก ๓ ปีต่อมาคือในจุลศักราช ๙๕๘ พระยาละแวกและโอรสองค์โตก็สิ้นพระชนม์ที่เมืองลาวนั้น
พงศาวดารเขมรยังได้กล่าวต่อไปว่า
“ลุ ศักราช ๙๕๘ ศกวอกนักษัตรมีฝรั่งคนหนึ่งชื่อละวิศเวโล…ฝรั่งนั้นไปเชิยพระบรมราชา ผู้เป็นพระราชบุตรน้อยของพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีมาจากเมืองลาว เมื่อศักราช ๙๕๙ ศกระกานักษัตร…ลงมาทรงราชย์อยู่ ณ เมือง ศรีส่อชอ ลุ ศักราช ๖๗๑ ศกกุนนักษัตร… จึงมีจามชื่อโปรัตกับแขกชื่อฬะสะมะนา ลอบฆ่าพระองค์สุรคต… จึงสมเด็จพระเทวีกษัตริย์เป็นสมเด็จพระอัยกี พระองค์ให้ราชสาส์นไปขอสมเด็จพระศรีสุพรรณ ผู้เป็นพระภัคินีโยแต่งกรุงศรีอยุธยา… จึงพระเจ้ากรุงไทยปล่อยให้สมเด็จพระศรีสุพรรณมาจากกรุงไทย มาทรงราชย์สนองสมเด็จพระเรียม ณ เกาะสาเกดในปีฉลูนั้น จึงสมเด็จพระเทวีกษัตริย์ผู้เป็นพระมาตุจฉา…พระนางให้ไปขอพระไชยเชษฐาเป็นพระราชบุตรผู้น้องแต่พระเจ้ากรุงไทย จึงพระเจ้ากรุงไทยโปรดพระราชทานให้มา แล้วพระองค์ให้สมเด็จพระราชบุตรทั้งสองพระองค์ปราบบรรดาหัวเมืองใหญ่น้อยราบสิ้นแล้ว พระองค์ไปสถิตอยู่ที่เมืองละวาเอมแขวงเมืองพนมเพ็ญ เมื่อศักราช ๙๗๓ ศกฉลูนักษัตร”




การที่ฝรั่งชื่อละวิศเวโลไปเชิยพระราชโอรสองค์น้อยของพระยาละแวกมาจากเมืองลาวมาให้ขึ้นครองเป็นกษัตริย์กัมพูชา และต่อมาสมเด็จพระเทวีเป็นสมเด็จพระอัยกีส่งพระราชสาส์นมาขอสมเด็จพระศรีสุพรรณจากพระเจ้ากรุงไทยที่กรุงศรีอยุธยา พระเจ้ากรุงไทยก็พระราชทานพระศรีสุพรรณไปทรงราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐมิได้กล่าวไว้ ส่วนที่พระนางให้ไปขอสมเด็จพระไชยเชษฐาผู้เป็นพระราชบุตรของพระศรีสุพรรณแต่พระเจ้ากรุงไทยและพระเจ้ากรุงไทยโปรดพระราชทานให้มากขึ้น พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐระบุว่า
“ศักราช ๙๖๕ เถาะศก ทัพพระเจ้าฝ่ายหน้าเสด็จไปเอาเมืองขอมได้ เรื่องที่พงศาวดารเขมรบันทึกว่า สมเด็จพระเทวีให้มาทูลสมเด็จพระไชยเชษฐาผู้เป็นราชบุตรของสมเด็จพระศรีสุพรรณเป็นเรื่องราวอยู่ในจุลศักราช ๙๖๕ ศกฉลูนักษัตร และจุลศักราช ๙๗๓ ศกฉลูนักษัตร (ที่ถูกควรเป็นกุน) พระราชพงศาวดารกรุงเก่าของเราระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นจุลศักราช ๙๖๕ เถาะศก และถ้าพระเจ้าฝ่ายหน้าในหลักฐานของเราเป็นคน ๆ เดียวกันกับพระไชยเชษฐา พระราชบุตรของพระศรีสุพรรณกษัตริย์เขมรตามหลักฐานของพงศาวดารเขมร คือสงสัยที่ว่า “พระเจ้าฝ่ายหน้า” นี้จะเป็นผู้ใดก็จะตอบได้ในตัวว่าคือเป็นพระเจ้าฝ่ายหน้าของกรุงกัมพูชา หาใช่พระเจ้าฝ่ายหน้าของกรุงศรีอยุธยาไม่
ต่อไปนี้ขอเชิญพิจารณาหลักฐานของสเปนเกี่ยวกับสงครามพระยาละแวก ดังปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุของ ดร.อันโตนิโอ เดอมอร์ก้าได้ต่อไป
หลักฐานนี้ ดร.อันโตนิโอ เดอ มอร์ก้า รองผู้สำเร็จราชการหมู่เกาะฟิลิปปินส์เขียนไว้เป็นภาษาสเปน ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. ๑๖๐๘ ที่เมือง San Geronimo อเมริกาใต้ตรงกับปีที่ ๓-๔ ในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรฐ มีคนแปลออกเป็นหลายภาษาเฉพาะฉบับภาษาอังกฤษชื่อ Hon. Henry E.J. Stanley เฉพาะเรื่องราวพระยาละแวกในรัชกาลสมเด็จพระนเรศ




หน้า ๔๓ “ในระหว่าง ค.ศ. ๑๕๙๔ ดอน หลุยส์ (เดอ เวลาสโก้) เป็นผู้สำเร็จราชการ (หมู่เกาะฟิลิปปินส์) มีเรือสำเภาลำใหญ่มาทอดสมออยู่ที่ฟิลิปปินส์ (เมืองมนิลา) มีคนโดยสารเป็นคนเขมร คนไทย คนจีน ชาติละ ๓-๔ คน (a few Gonzales) และมีคนในบังคับสเปน ๓ คน คนหนึ่งเป็นชาวเมือง คาสตีล ชื่อ Blas Ruyz Hernan อีก ๒ คนเป็นชาวปอร์ตุเกส ชื่อ Pontaleon Carnero และ Antonio Machado.
เมื่อคนเหล่านี้อยู่ในราชอาณาจักรกัมพูชาที่เมืองจัตุรมุข กับพระเจ้า Langara (ละแวก) กษัตริย์กัมพูชานั้น พระเจ้าแผ่นดินสยามกรีฑาทัพมาโจมตีพระองค์ด้วยรี้พลและ (กองทัพ) ช้างมากมาย ยึดพระนคร พระราชวัง และพระคลังสมบัติได้ พระเจ้ากัมพูชาจึงเสด็จหนีไปเมืองเหนือจนถึงอาณาจักรลาวพร้อมด้วยพระมเหสี พระมารดา พระขนิษฐา พระธิดา และพระโอรสสองพระองค์
พระเจ้ากรุงสยามเสด็จยกทัพกลับราชอาณาจักรของพระองค์ โดยทรงมอบหมายให้นายทหารอยู่รักษาบ้านเมือง (กัมพูชาที่ทรงตีได้) ส่วนทรัพย์สิ่งของที่ทรงนำไปทางบกไม่ได้ พระองค์ก็ทรงส่งกลับโดยทางทะเล”
หนังสือนี้เล่ารายละเอียดพิสดารต่อไปจนถึงหน้า ๒๒๓ เป็นเรื่องราวของพระศรีสุพรรณมาธิราช พระอนุชาพระยาละแวกว่า
หน้า ๒๒๓ “กษัตริย์องค์ใหม่ของกัมพูชาพระองค์นี้ ตกเป็นเชลยศึกของพระเจ้าแผ่นดินสยาม แต่เสด็จกลับมาขึ้นครองราชย์ ด้วยเหตุการณ์พิสดารและการผจญภัยนานาประการ”
ระหว่างหน้า ๔๓–๒๒๓ มีเรื่องราวสำคัญเล่าไว้ดังจะระบุอย่างย่อ ๆ ดังนี้
หน้า ๔๗ …เรือสเปน ๓ ลำ บรรทุกทหารชาติสเปน ญี่ปุ่น และชาวเกาะ ๑๒๐ คน มาถึงเมืองจตุรมุข (กัมพูชา) ใน ค.ศ. ๑๕๙๖ จึงได้ทราบว่า ขุนนางไพร่พลเขมรได้ขับไล่กองทัพไทยที่ยึดครองอยู่ให้พ่ายแพ้ถอยออกไปนอกพระราชอาณาจักรแล้ว


หน้า ๕๐–๕๑… พวกสเปนสืบได้ความว่า พระยาละแวกเสด็จอยู่ในประเทศลาว จึงออกติดตามเพื่ออัญเชิญให้เสด็จกลับกรุงกัมพูชา พวกหนึ่งไปทางบก พวกหนึ่งไปทางเรือจนถึงเมืองตังเกี๋ย แล้วเดินบกไปประเทศลาวจนถึงนครหลวงของลาว (เขียนชื่อไว้ว่า Alanchan) จึงได้ทราบว่าพระยาละแวกสวรรคตที่นั่น พระโอรสองศ์ใหญ่และพระธิดาก็สิ้นพระชนม์ด้วย เหลืออยู่แต่โอรสอีกองศ์หนึ่งมีชื่อว่า Prauncar กับพระมารดาเลี้ยงพระอัยยิกา และพระมาตุฉาหลายพระองค์ (ไม่บอกจำนวน) จึงอัญเชิญท่านเหล่านี้ลงเรือ ล่องลงมาตามลำน้ำ (โขง) จนเข้าเขตแดนกัมพูชา เมื่อ Prauncar ปราบปรามยุคเข็ญเกือบเสร็จสิ้นแล้วก็ได้เสด็จขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน (ทรงพระนามสุธรรมราชา)
หน้า ๙๒–๙๓… ลงคำแปลพระราชสาส์นของกษัตริย์เขมร องค์ที่ระบุชื่อ Prauncar (เห็นจะเป็นพระสุธรรมราชาในพงศาวดารเขมร) ถึง ดร.อันโตนิโอ เดอ มอร์ก้า ยกย่องว่านายทหารสเปน ๒ คน ซึ่งออกติดตามพระราชบิดาของพระองค์ท่านจนถึงเมืองหลวงของประเทศลาวและได้นำพระองค์กลับมาครองกรุงกัมพูชาสืบไปพระองค์จึงพระราชทานยศชั้น เจ้าพระยา ให้ทั้ง ๒ คน และให้กินเมืองด้วย นายทหารชื่อ Don Bas Castino ทรงให้กินเมืองตรัน และนายทหารชื่อ Don Diego Portugal ให้กินเมือง Bapano
หน้า ๙๓–๑๑๒… เป็นจดหมายของ Blas Ruyz be Hurnan Ghnzales เขียนถึงรองผู้สำเร็จราชการเดอมอร์ก้า เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรกัมพูชาไว้อย่างยืดยาวยืนยันเรื่องราวการติดตามพระยาละแวกจนถึงเมืองลานช้าง (Lanchan) อันเป็นเมืองหลวงของลาว “เมื่อเรามาถึง กษัตริย์กัมพูชาที่ทรงชราแล้วได้สวรรคตเสียก่อน พระราชธิดาและโอรสองค์ใหญ่ก็สิ้นพระชนม์ด้วย (หน้า ๙๙) นอกนั้นก็กล่าวเช่นเดียวกับเรื่องราวของ Don Bas และ Don Diego



หน้า ๑๓๖–๑๓๗… เล่าเรื่องลักษมานากับพวกรบพุ่งกับสเปนจนพวกสเปนต้องพ่ายแพ้ และลักษมานาปลงพระชนม์ King Prauncar คือ พระสุธรรมราชาด้วย (ตรงกับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายไว้ (หน้า ๔๕๒) เล่ม ๑ ตอน ๒ ว่า “สุธรรมราชาทรงราชย์อยู่ ๓ ปี… มีจามคนหนึ่งชื่อโปรัดกับแขกชื่อลักษมานาลอบปลงพระชนม์พระสุธรรมราชาเสีย…”
หน้า ๒๒๒–๒๒๓… เล่าเรื่องขุนนางเขมรปราบลักษมานาได้แล้ว บ้านเมืองก็ยังไม่ปกติสุขจึงส่งฑูตมากรุงศรีอยุธยาทูลขอพระศรีสุพรรณมาธิราชไปครอบครองกรุงกัมพูชาพระเจ้าแผ่นดิน (สมเด็จพระนเรศวร) จึงโปรดให้กองทหารจำนวน ๖,๐๐๐ คน แห่แหนพระศรีสุพรรณมาธิราชกลับไปครองกรุงกัมพูชาใน ค.ศ. ๑๖๐๓ (ศักราชนี้ หรือ จุลศักราช ๙๖๕ พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐระบุว่า “ทัพพระเจ้าฝ่ายหน้าเสด็จไปเอาเมืองขอมได้” พระเจ้าฝ่ายหน้าจึงน่าจะหมายถึงพระศรีสุพรรณมาธิราชนี่กระมัง
เรื่องศึกสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปตีเมืองละแวกครั้งนี้ (ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๕๕ ค.ศ. ๑๕๙๓) สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (โอเดียนสโตร์) เล่ม ๑ ตอน ๒ หน้า ๔๐๙ ว่า “หนังสือพงศาวดารเขมรลงศักราชถูกต้องกับต้นฉบับหลวงประเสริฐ แต่ไม่กล่าวถึงเรื่องจับนักพระสัฎฐาได้ เป็นแต่ว่าสมเด็จพระนเรศวรจับพระศรีสุพรรณมาธิราช กับพระราชเทพีราชบุตร และกวาดต้อนครัวเขมรมาเป็นอันมาก และว่าสมเด็จพระนเรศวรให้พระมหามนตรีเป็นแม่ทัพใหญ่อยู่รักษากรุงกัมพูชาที่เมืองอุดง” ส่วนเรื่องตั้งพระศรีสุพรรณมาธิราชเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชานั้น พระองค์ทรงอธิบายไว้ว่า (หน้า ๔๕๑) “…พระสุธรรมราชาเจ้ากรุงกัมพูชาพิราลัย พระยาเขมรมีใบบอกเข้ามาขอพวกศรีสุพรรณมาธิราช น้องพระยาลาแวกนักพระสัฎฐา ที่จับเอาเข้ามาไว้ในกรุงศรีอยุธยาไปครองกรุงกัมพูชาเมื่อปีขาล จุลศักราช ๙๖๔ พ.ศ. ๒๑๔๕…”


เอกสาร เดอ มอร์ก้า นี เป็นเรื่องราวของชาวสเปนหลายคน ที่ออกมารบพุ่งแสวงหาโชคลาภในประเทศเขมร แล้วต่างก็รายงานไปยังกรุงมนิลา ดร. อันโตนิโอ เดอ มอร์ก้า เป็นเพียงผู้รวบรวมเรื่องราวเหล่านี้ตีพิมพ์ขึ้น จึงเห็นได้ว่า เรื่องพระยาละแวกมิได้ถูกปฐมกรรม ไม่ใช่ฝรั่งเพียงคนเดียวเขียนไว้ แต่เป็นเรื่องราวของฝรั่งหลายสิบคนออกไปแสวงหาโชคลาภในประเทศเขมรเขียนรายงานไปยังกรุงมนิลา และที่มีน้ำหนักเป็นพิเศษก็คือ พระราชสาส์นของกษัตริย์เขมร (พระสุธรรมราชา) ทรงมีไปยืนยันการกระทำของฝรั่งพวกนี้ว่า ได้ติดตามไปเฝ้าพระราชบิดา (พระยาละแวก) ถึงเวียงจันทน์ แต่พระยาละแวกสวรรคตเสียก่อนฝรั่งพวกนี้ไปถึง
เอกสารของ เดอ มอร์ก้า นี้ นอกจากจะยืนยันเรื่องราวดังปรากฎในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ในเรื่องไทยตีเมืองละแวกได้ เมื่อ ค.ศ. ๑๕๙๓ แล้ว ยังยืนยันในเรื่องสมเด็จพระนเรศวรทรงอภิเษก พระศรีสุพรรณมาธิราช พระอนุชาพระยาละแวกให้ได้กลับไปครองกรุงกัมพูชา ใน ค.ศ. ๑๖๐๓ อีกด้วย
เฉพาะในเรื่องสมเด็จพระศรีสุพรรณมาธิราชนี้ ฉบับหลวงประเสริฐระบุพระนามว่า “พระเจ้าฝ่ายหน้า” ซึ่งเป็นปัญหาแก่นักศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมานานปีว่า จะหมายถึงผู้ใด คือจะหมายถึง สมเด็จพระเอกาทศรฐ (ดังสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงน ทรงเชื่อหรือจะหมายถึงพระราชโอรสของสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งมีนักศึกษาบางคนเริ่มสงสัยเช่นนั้น แต่เอกสาร เดอ เมอร์ก้าให้ความกระจ่างในปัญหานี้ ทำให้น่าเชื่อว่า “พระเจ้าฝ่ายหน้า” หมายถึง วังหน้าของกัมพูชาคือ สมเด็จพระศรีสุพรรณมาธิราช เพราะสมเด็จพระศรีสุพรรณมาธิราชเป็นอนุชาพระยาละแวกเป็น “พระเจ้าฝ่ายหน้า” ของกรุงกัมพูชาไม่ใช่หมายถึงเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยา


บันทึกเพิ่มเติม
เอกสารของ อันโตนิโอ เดอ มอร์ก้า (ตีพิมพ์เป็นภาษาสเปน เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๖๐๘) ตามฉบับแปลภาษาอังกฤษของ สแตนเลย์ มีเรื่องสำคัญดังกล่าวแล้วข้าพเจ้าได้รับคำแปลนี้ตั้งแต่หน้า ๔๒–๒๒๓ ก็จริง แต่ตอนกลางระหว่างหน้า ๑๑๔–๑๑๙ และระหว่างหน้า ๑๓๘–๒๑๙ ทางกรุงลอนดอนไม่ได้ถ่ายมาให้ จึงจำต้องรอจนกว่าจะได้เพิ่มเติมมาจนครบ
วันนี้เอง ข้าพเจ้าได้รับเอกสารที่เขาส่งมาให้ใหม่ เป็นคำแปลเอกสารนี้รุ่นใหม่ของคนอื่น อยู่ในหนังสือชุดของ Blair & Robertson ข้าพเจ้ายังไม่ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบกับฉบับแปลของสแตนเลย์ แต่คาดว่าในการประชุมคราวหน้า ข้าพเจ้าคงจะได้ทำการศึกษาแล้วพร้อมทั้งทำบันทึกเสนอให้คณะกรรมการฯ ทราบต่อไป
เมื่อพิจารณาข้อความในพระราชพงศาวดาร ฯ ฉบับหลวงประเสริฐ เกี่ยวกับเรื่องราวในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร ฯ มีเรื่องจับตัวพระศรีสุพรรณ ฯ ได้ และนำมากรุงศรีอยุธยาและเรื่อง “พระเจ้าฝ่ายหน้า” ยกทัพไปเอาเมืองขอมได้ แต่ไม่ปรากฎมีการระบุพระนามพระศรีสุพรรณ ฯ ว่าเสด็จกลับไปครองกัมพูชา
แต่พระราชพงศาวดารฉบับอื่น ๆ โดยเฉพาะฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุเรื่องจับตัวพระศรีสุพรรณ ฯ ได้ (ฉบับที่อ้างหน้า ๑๘๕) ระบุการทูลขอพระศรีสุพรรณฯ ไปครองกัมพูชา (หน้า ๒๕๓) และยังระบุเรื่อง “พระมหาธรรมราชา ราชโอรสยกทัพไปตีพระยาอ่อน (หน้า ๒๕๔)
ข้อความตอนนี้มีว่า “พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็มีพระราชโองการตรัสให้แต่งทัพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระมหาธรรมราชา… ยกทัพไปโดยทางโพธิสัตว์” ข้อความที่ชัดเจนก็คือ สมเด็จพระนเรศวร ฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ หมายถึง พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ส่วนข้อความที่คลุมเครือก็คือ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระมหาธรรมราชา” จะเป็นพระเจ้าลูกเธอของใคร ?
เอกสารของ เดอ มอร์ก้า ฉบับแปลของสแตนเลย์ เท่าที่มีอยู่ในมือไม่อธิบายปัญหาข้อนี้ พระราชพงศาวดาร ฯ ฉบับพระราชหัตถเลขา ก็มีใจความคลุมเครือ ส่วนฉบับหลวงประเสริฐก็ไม่ให้ความกระจ่างในถ้อยคำที่ว่า “พระเจ้าฝ่ายหน้า” คือใคร ใจความกระจ่างก็ต่อเมื่อพิจารณาเรื่องราวจากพงศาวดารเขมร (ฉบับที่อ้าง) คือพงศาวดารเขมรอธิบายว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาส่งพระศรีสุพรรณ ฯ ไปให้แล้ว ทางกรุงกัมพูชายังทูลขอบุคคลอีกคนหนึ่ง ระบุพระนามว่า “พระไชยเชษฐา” แลว่า “เป็นพระราชบุตรผู้น้อง” ท่านผู้นี้ ได้ร่วมกับพระศรีสุพรรณ ฯ ปราบปรามความวุ่นวายในกัมพูชา จนสงบราบคาบ พระศรีสุพรรณ ฯ จึงได้ขึ้นครองราชย์ ในจุลศักราช ๙๖๓ ต่อมาอีก ๑๘ ปี จึงเวนคืนราชสมบัติให้บุคคลผู้นี้ขึ้นครองราชย์ ในจุลศักราช ๙๘๑ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระไชยเชษฐา
ท่านผู้นี้คือ “พระเจ้าฝ่ายหน้า” (ตามฉบับหลวงประเสริฐ) หรือ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระมหาธรรมราชา” (ตามฉบับอื่น ๆ) คือเป็นฝ่ายหน้า หรือลูกเธอของกรุงกัมพูชาไม่ใช่ของกรุงศรีอยุธยา

ดูข้อมูลละเอียดที่
//www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=shalawan&topic=916






 

Create Date : 20 เมษายน 2551    
Last Update : 1 กันยายน 2553 10:31:35 น.
Counter : 1898 Pageviews.  

ภาคเหนือตอนล่าง ไม่ถูก ภาคกลางตอนบน ไม่ผิด

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



สมเด็จพระรามาธิบดี หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนามตามนิทานตำนานว่า "พระเจ้าอู่ทอง" เป็นพระราชาครองกรุงศรีอยุธยา ร่วมยุคสมัยเดียวกับพระมหาธรรมราชา หรือ "พญาลิไท" เป็นพระราชาครองกรุงสุโขทัย

นอกจากเป็นพระราชาคนละรัฐ แต่ร่วมยุคสมัยกันแล้ว ยังเป็นเครือญาติ ที่ขัดแย้งกันเองด้วย มีร่องรอยในตำนานและพงศาวดารกับมีพยานในศิลาจารึกว่าพระเจ้าอู่ทองส่งกองทัพจากอยุธยา-สุพรรณภูมิ ขึ้นไปยึดเมืองพิษณุโลกและยึดรัฐสุโขทัยได้หมด แล้วลดฐานะของพญาลิไทลงจากพระราชาให้เป็นเจ้านายปกติ ไม่มีอำนาจ แถมยังถูกควบคุมอยู่ในพื้นที่จำกัด
แผนที่แสดงบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนที่รัฐสุโขทัยกับตอนล่างที่รัฐกรุงศรีอยุธยา เป็นผืนเดียวกัน




พยานหลักฐานดังกล่าวที่ยกมาเล่าไว้นี้ แสดงว่ากรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัยเป็นรัฐเครือญาติที่มีอำนาจเติบโตขึ้นร่วมยุคสมัยกัน ฉะนั้น ตำราเก่าที่ "ถูกสร้างให้จำ" ก็ไม่ถูกต้อง เพราะบอกว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก เมื่อสุโขทัยล่มสลายแล้วถึงเกิดมีกรุงศรีอยุธยาตามมาทีหลัง ซึ่งผิด

อยุธยากับสุโขทัย เป็นรัฐเครือญาติพี่น้องที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน แต่ก็เป็นรัฐคู่ขัดแย้งทางการเมืองไปพร้อมกันด้วย (ทำนองพี่น้องทะเลาะกันเพราะแย่งสมบัติมรดกปู่ย่าตายายและของพ่อแม่) เพราะต่างก็มีข้อดี-ข้อด้อยดังนี้

อยุธยา มีอ่าวออกทะเลสมุทรเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมการค้าโลกสะดวก แต่ไม่มีทรัพยากรมั่งคั่งด้วยของป่าจากลุ่มน้ำโขง

สุโขทัย มีทรัพยากรของป่ามั่งคั่ง เชื่อมโยงถึงลุ่มน้ำโขง แต่ไม่มีทางออกทะเลสมุทร จึงมีอุปสรรคเชื่อมการค้าโลก

ด้วยความขัดแย้งดังกล่าว ทำให้อยุธยาต้องพยายามยึดครองควบคุมสุโขทัย เพื่อเป็นเจ้าของทรัพยากรดินแดนลุ่มน้ำน่าน-ยม-ปิง ที่เรียกเมืองเหนือหรือเมืองบน (ในกำสรวลสมุทร) ในที่สุด ก็ยึดได้หมด แล้วถูกผนวกเข้าเป็นดินแดนของอยุธยาราวหลัง พ.ศ.1900 แต่หลังจากนั้นราว 100 ปี เจ้านายสุโขทัย (คือสมเด็จพระมหาธรรมราชา) ก็ยึดครองอยุธยาได้

บริเวณลุ่มน้ำน่าน-ยม-ปิง หรือดินแดนรัฐสุโขทัย เป็นส่วนหนึ่งของรัฐอยุธยาที่อยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ตอนล่าง) แต่อยุธยาเรียกพิษณุโลก-สุโขทัยว่า เมืองเหนือ หรือเมืองบน เพราะอยู่ลุ่มน้ำตอนบน (ของอยุธยา) จึงควรเรียกบริเวณนี้ว่าภาคกลางตอนบน ไม่ใช่ภาคเหนือตอนล่าง เพราะสภาพภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของภาคเหนือ แต่เป็นส่วนหนึ่งของภาคกลางที่กรุงศรีอยุธยา

หน้า 34




 

Create Date : 04 มกราคม 2551    
Last Update : 1 กันยายน 2553 10:33:46 น.
Counter : 721 Pageviews.  

พลิกประวัติศาสตร์แคว้นสุโขทัย แล้วชำระประวัติศาสตร์ไทย ตามหลักฐานจริงๆ เสียทีเถอะ

วันที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10891

คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม






วัดมหาธาตุ ศูนย์กลางของรัฐสุโขทัย


ปรับปรุงจากบทนำหนังสือพลิกประวัติศาสตร์แคว้นสุโขทัย รวมบทความทางวิชาการของ นักวิชาการหลายท่าน เช่น รศ. ดร.ธิดา สาระยา, รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม, ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์, ฯลฯ, สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2540

จนถึงทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์ไทยของทางราชการยังยึดถืออย่างมั่นคงว่า ถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่ทางทิศเหนือขึ้นไปตั้งแต่เทือกเขาอัลไตถึงอาณาจักรน่านเจ้า เหตุที่ต้องอพยพหนีลงมาจากน่านเจ้าเพราะถูกกองทัพจีนรุกราน เมื่อเข้ามาถึงดินแดนประเทศไทยทุกวันนี้คนไทยต้องตกเป็นทาสเขมรกับมอญก่อน ภายหลังจึง "ปลดแอก" จากเขมร แล้วสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทยเมื่อราว พ.ศ.1800 ประวัติศาสตร์ไทยอย่างนี้ยังเผยแพร่ทั่วไปทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนแล้วบังคับให้เชื่อถืออย่างศิโรราบ

แต่น่าเสียดายที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีไม่สนับสนุนให้เชื่อถือตามที่ทางราชการของประเทศไทยเผยแพร่ได้เพราะ

ประการแรก อาณาจักรน่านเจ้าไม่ใช่ของคนพูดภาษาตระกูลไทย แต่เป็นของกลุ่มชนพื้นเมืองที่พูดภาษาตระกูลอื่นๆ เช่น จีน-ทิเบต หรือพม่า-ทิเบต ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณนั้นมาแต่ดั้งเดิม ถ้าจะมีคนพูดภาษาตระกูลไทยอยู่บ้างก็เป็นพวกที่อยู่ตามพรมแดนแล้วถูกต้อนไปเป็นข้าทาสใช้แรงงานซึ่งมีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ประการที่สอง กองทัพจีนยึดอาณาจักรน่านเจ้าได้เมื่อราว พ.ศ.1797 มีจารึกที่น่านเจ้าระบุว่า ฝ่ายจีนตั้งเชื้อสายเดิมให้เป็นเจ้าปกครองบ้านเมืองต่อไปในชื่ออาณาจักรต้าหลี่สืบเนื่องต่อมาอีกนาน ถ้าหากคนไทยหนีจากอาณาจักรน่านเจ้าลงมาจริงก็ไม่น่าจะผ่านดินแดนอาณาจักร

คุนหมิงที่เมืองคุนหมิงลงมาได้ และไม่น่าจะผ่านดินแดนโยนกบริเวณเชียงราย-พะเยา สมัยโบราณที่กลุ่มชนใหญ่ปกครองตนเป็นอิสระมาได้อีก และถึงจะผ่านมาได้ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะสร้างแคว้นสุโขทัยได้ในปี พ.ศ.1800 ซึ่งหลังจากอาณาจักรน่านเจ้าแตกเพียง 3 ปีเท่านั้น ฟังแล้วเป็นเรื่องตลกมากกว่า

ประการที่สาม ถ้าคนไทยที่อพยพลงมาจากน่านเจ้าแล้วมาสร้างกรุงสุโขทัยจริงๆ ทำไมศิลาจารึกสมัยสุโขทัยซึ่งมีหลายหลักไม่เคยเอ่ยถึงอาณาจักรน่านเจ้าเลย ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่น่าสงสัยก็ยังไม่พูดถึงบ้านเมืองเดิมที่ยิ่งใหญ่อย่างอาณาจักรน่านเจ้า

กล่าวโดยสรุปแล้ว เรื่องเทือกเขาอัลไตกับเรื่องน่านเจ้า เป็น "นิยายอิงประวัติศาสตร์" ที่สังคมไทยยุคที่ถูกปกครองโดย "เผด็จการคลั่งชาติ" ใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองเท่านั้น ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อ แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าคิด ว่าทำไมพวกเผด็จการต้องเขียนประวัติศาสตร์ไทยอย่างนั้น? ประวัติศาสตร์อย่างนั้นช่วยให้ปกครองประชาชนได้มากน้อยขนาดไหน? แล้วส่งผลร้ายต่อสังคมไทยอย่างไรบ้างทั้งในยุคนั้นและยุคนี้?

แต่ก็ยังมีคำถามว่าถ้าเช่นนั้น คนไทยมาจากไหน

คำอธิบายเรื่องนี้ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจผู้คนชนเผ่าในภูมิภาคอุษาคเนย์สมัยโบราณ
แผนที่ประเทศไทยแสดงพื้นที่ภาคกลาง ที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา






คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์

บริเวณที่เป็นภาคใต้ของประเทศจีนทุกวันนี้ สมัยโบราณไม่ใช่ดินแดนจีน เพราะเอกสารจีนโบราณหลายฉบับระบุตรงกันว่า เป็นถิ่นฐานของพวก "ป่าเถื่อน" มากมายหลายเผ่าพันธุ์ รวมทั้งพวกพูดตระกูลภาษไทยด้วย

จดหมายเหตุ "หมานซู" ของฝันฉัว แต่งเป็นภาษาจีน เมื่อ พ.ศ.1410 มีความโดยสรุปว่า ตั้งแต่บริเวณมณฑลยูนนานลงมาถึงภูมิภาคอุษาคเนย์ปัจจุบัน ถือเป็นดินแดนเดียวกันของพวกหมาน ไม่ใช่ของพวกจีนหรือฮั่นที่เพิ่งขยายอำนาจลงมาครอบงำปราบปราม แล้วผนวกเอาผู้คนและดินแดนไปเป็นของจีนในสมัยหลังๆ

หมาน-เป็นชื่อโบราณที่จีนใช้เรียกมานานกว่า 2,000 ปีแล้ว หมายถึงชนชาติต่างๆ ทั้งหลายที่ไม่ใช่จีนหรือฮั่น และล้วนอยู่ทางถิ่นใต้ คือตั้งแต่มณฑลยูนนาน ทุกวันนี้จนถึงฝั่งทะเลของอุษาคเนย์โดยไม่ระบุเผ่าพันธุ์ และมักมีความหมายดูถูกว่าเป็นพวก "ป่าเถื่อน"

บริเวณภาคใต้ของจีนตั้งแต่มณฑลยูนนานและดินแดนใกล้เคียงกับบริเวณที่เป็นอุษาคเนย์ มีรูปแบบทางวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกันมาช้านานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์โดยเฉพาะยุคโลหะตอนปลายที่พบโบราณวัตถุทำด้วยสำริดมีรูปแบบคล้ายคลึงกัน เช่น กลองทองหรือมโหระทึก แสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อไปมาหาสู่กันทั้งทางบกและทางทะเล

สรุปว่า บริเวณภาคใต้ของจีนนับตั้งแต่มณฑลยูนนาน รวมทั้งดินแดนใกล้เคียง เช่น มณฑลกวางสีกับมณฑลกวางตุ้ง ต้องนับเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค "อุษาคเนย์สมัยโบราณ" ที่มีดินแดนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านรวมอยู่ด้วย

และเป็นที่รู้ว่า "ชนชาติไทย" ก็คือพวกพูดตระกูลภาษาไทยที่ถูกจัดเป็นพวก "ป่าเถื่อน" พวกหนึ่งอยู่ในภูมิภาคนี้มาแต่โบราณด้วย ฉะนั้น "ประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย" จึงไม่ได้มีขอบเขตจำกัดอยู่ใน "กรอบ" ทางประวัติศาสตร์ของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ แต่มีอาณาบริเวณกว้างขวางแผ่ไพศาลจนเป็นส่วนหนึ่งของ "ประวัติศาสตร์ภูมิภาคอุษาคเนย์สมัยโบราณ"

ภูมิภาคอุษาคเนย์สมัยโบราณ นับตั้งแต่มณฑลยูนนานและดินแดนใกล้เคียงลงมาถึงชายทะเลเป็นถิ่นฐานของชนเผ่า "ร้อยจำพวก" หรือ "ร้อยพ่อพันแม่" หมายถึงมีจำนวนมากเป็นร้อยๆ เผ่าพันธุ์จนนับไม่ถ้วน มีทั้งพวกมอญ-เขมร พูดพม่า-ทิเบต หรือจีน-ทิเบต พูดม้ง-เย้า พูดไทย-ลาว หรือจ้วง-ต้ง และ ฯลฯ

เอกสารจีนโบราณเมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว เรียกรวมๆ พวกนี้ว่า "ไป่เยะ" แปลว่า "เยะร้อยเผ่า" หรือ "เยะร้อยจำพวก" หรือ "เยะร้อยพ่อพันแม่" นั่นเอง

จะเห็นว่าถิ่นฐานของชนชาติไทยกระจายอยู่ตามลุ่มน้ำสำคัญทางตอนใต้ของจีน หรือทางตอนเหนือของภูมิภาคอุษาคเนย์ แล้วเคลื่อนย้ายไปมาผสมกลมกลืนกับกลุ่มชนพื้นเมือง

แต่การ "เคลื่อนย้าย" ไม่ใช่ "อพยพ" แบบถอนรากถอนโคนจากที่เดิมสู่ที่ใหม่ หากเป็นเพียงการเคลื่อนย้ายของผู้คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังกระจัดกระจายอยู่ที่เดิม

ถิ่นฐานของชนชาติไทยกระจายอยู่ใกล้แหล่งอารยธรรมดั้งเดิมของภูมิภาคอุษาคเนย์สำริด-เหล็ก ทางภาคใต้ของจีนปัจจุบัน และเป็นอารยธรรมร่วมกับคนอีกหลายชนชาติที่มีหลักแหล่งในที่ราบลุ่มเดียวกัน



ฉะนั้น ร่องรอยทางวัฒนธรรมที่พบตามแหล่งต่างๆ จึงไม่ใช่ของชนชาติไทยเท่านั้น หากเป็นของคนหลายชนชาติ แต่มีชนชาติไทยเป็นกลุ่มใหญ่เพราะตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่กว้างขวางรวมอยู่ด้วย ทำให้มีการยอมรับ "ภาษาไทย" ของชนชาติไทย ที่ไม่ซับซ้อนและอ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลง จึงมีศักยภาพเป็นภาษาในการสื่อสาร

คนหลายชนชาติที่ใช้ภาษาในการสื่อสารเหล่านี้ ต่อมาถูกเรียกจากคนกลุ่มอื่นว่า "สยาม" เมื่อเคลื่อนย้ายมาประสมกลมกลืนกับคนพื้นเมืองแถบลุ่มแม่น้ำโขงและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คนทั้งหมดที่สื่อสารกันด้วยภาษาไทยจึงถูกเหมารวมเรียกว่า "สยาม" ไปด้วย และในทางกลับกันพวกสยามที่ประกอบด้วยคนหลายเผ่าพันธุ์ก็ถูกเรียกว่า "ไทย" เพราะพูดจาสื่อสารด้วยภาษาไทย

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า "ไทยสยาม" เพื่อให้แตกต่างจาก "ไทยน้อย" และ "ไทยใหญ่" เพราะในระยะเริ่มแรกพวก "ไทยสยาม" คงเป็นชนชาติไทยพวกเดียวกับ "ไทยน้อย" และ "ไทยใหญ่" แต่เมื่อประสมกลมกลืนกับบรรดาชนเผ่าและชนชาติพื้นเมืองดั้งเดิมกับพวกอื่นๆ ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่แล้ว พวก "ไทยสยาม" จึงแตกต่างจาก "ไทยน้อย" และ "ไทยใหญ่"

แม้คนบางกลุ่มโดยเฉพาะชนชั้นสูงและชนชั้นปกครองจะเรียกตนเองว่า "คนไทย" โดยมี "ภาษาไทย" เป็นภาษาสำคัญเพื่อการสื่อสารภายในประเทศ แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ทึกทักว่าคนทั้งหมดของประเทศเป็น "คนไทย" และบ้านเมืองเป็น "ประเทศไทย" หากยังคงเรียกกันว่า "ชาวสยาม" และ "กรุงสยาม" หรือ "ประเทศสยาม" เรื่อยมา

ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนชื่อ "ประเทศสยาม" เป็น "ประเทศไทย" พร้อมกับสร้างประวัติศาสตร์ของประเทศขึ้นมาใหม่ คือให้ความสำคัญเฉพาะ "ชนชาติไทย" เป็นหลัก แต่ไม่ให้ความสำคัญเรื่อง ดินแดนและผู้คนซึ่งประกอบด้วยชาวพื้นเมืองดั้งเดิมและกลุ่มชนชาติพันธุ์อื่นๆ ที่เข้ามาประสมกลมกลืนจนกลายเป็นชาวสยามหรือ "คนไทย" สืบมาถึงปัจจุบัน

ฉะนั้น บรรพชนของ "คนไทย" ทุกวันนี้คือ "ชาวสยาม" ที่มีทั้งเม็ง-มอญ ขอม-เขมร ลัวะ-ละว้า ข่า-ช้อย ลาวและ "แขก" อย่างมาเลย์ จาม รวมทั้งเจ๊ก-จีน ฯลฯ คนพวกนี้เกือบทั้งหมดมีถิ่นฐานเป็นคนพื้นเมืองอยู่ในดินแดนประเทศไทยนี้มาแต่ดั้งเดิม ส่วนน้อยมาจากที่อื่น แต่ก็อยู่ที่นี่มาช้านาน แล้วต่างก็มีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง และดูเหมือนจะมีจำนวนมากกว่าพวกที่เป็นชนชาติไทยเสียอีก

เพราะฉะนั้น บรรพชนคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากที่ไหน เพราะอยู่ที่นี่ แม้จะมีชนชาติไทยอยู่ที่โน่นด้วย คือกระจายอยู่นอกประเทศไทย แต่พวกนั้นก็ไม่ได้อพยพหลบหนีการรุกรานมาจากไหน ล้วนมีถิ่นฐานอยู่ที่โน่นบ้างอยู่ที่นี่บ้าง คืออยู่ในภูมิภาคอุษาคเนย์มาแต่ครั้งดั้งเดิมดึกดำบรรพ์อย่างน้อยก็ 3,000 ปีมาแล้ว

แล้วก็มีคำถามตามมาอีกว่า ถ้าอย่างนั้นแคว้นสุโขทัยมาจากไหน? กรุงศรีอยุธยาล่ะมาจากไหน?

คำอธิบายเรื่องนี้ ไม่ยาก แต่ไม่ง่ายที่จะทำความเข้าใจ



พลิกประวัติศาสตร์แคว้นสุโขทัย

กรมศิลปากรเคยจัดสัมมนาทางวิชาการเรื่องสุโขทัยครั้งใหญ่ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2503 มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตไปร่วมมากมายหลายท่าน

หลังจากนั้น ความก้าวหน้าทางวิชาการเรื่องสุโขทัยเงียบไป เงียบจนน่ากลัว แต่มีเรื่อง "อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย" โด่งดังขึ้นมาแทน ควบคู่ไปกับอำนาจและอิทธิพลของ "วัฒนธรรมท่องเที่ยว" โด่งดังจนนักวิชาการต้องหวาดผวา เพราะหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่ค้นพบใหม่หมดความสำคัญ ไม่ได้รับการเหลียวแล และไม่มีใครใส่ใจ ราวกับว่าทุกคนพอใจให้แคว้นสุโขทัยเป็น รัฐในอุดมคติ" อยู่แค่นั้น คือหล่นลงมาจากฟากฟ้าสรวงสวรรค์เมื่อราว พ.ศ.1800 ด้วยผลของการอพยพของชนชาติไทยแท้ๆ จากอาณาจักรน่านเจ้าโน่น ต่อจากนั้นก็มีประเพณีลอยกระทง โดยนางนพมาศ "สนมพระร่วง" และอื่นๆ ฯลฯ เพื่อให้ความเป็น "รัฐในอุดมคติ" มีอยู่จริง

แต่หลักฐานไม่มี ที่มีอยู่คือความเพ้อฝันลมๆ แล้งๆ สุดแต่ใครจะมีอำนาจฝันขึ้นมา

การศึกษาเกี่ยวกับกำเนิดของแค้วนสุโขทัยวนเวียนอยู่แต่เรื่องการอพยพ วัด วัง และความเป็นไทยแท้ที่ไม่มีอยู่จริงในโลก แต่อธิบายไม่ได้ว่าทำไมแคว้นสุโขทัยเป็นรัฐที่มั่งคั่งเพราะมีการสร้างวัดมากมายเหลือเกิน แล้วสร้างซ้ำซ้อนกันมากี่ครั้ง กี่หน ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือทำไมชาวแคว้นสุโขทัยถึงมีความรู้และความสามารถถลุงโลหะสำริดได้สวยงามและยิ่งใหญ่ เขาเอาความรู้เรื่องโลหะมาจากไหน อนึ่ง ทำไมเมืองสุโขทัยถึงมีการจัดผังเมืองได้อย่างวิเศษ ฯลฯ

ประวัติศาสตร์ไทยมักบอกว่า กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของคนไทย เมื่อแคว้นสุโขทัยล่มสลายลงแล้วก็เกิดกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาแทนที่ นี่เลอะเทอะ เพราะกรุงสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของคนไทย ในยุคกรุงสุโขทัยมีขึ้นมายังมีบ้านเมืองแว่นแคว้นของตระกูลไทย-ลาวอีกหลายแห่ง อย่างน้อยก็มีแคว้นละโว้-อโยธยาที่มีพัฒนาการเป็นกรุงศรีอยุธยาอยู่ด้วย

ราชวงศ์ที่ปกครองสุโขทัยกับละโว้-อโยธาหรืออยุธยา มีความขัดแย้งกันมาตั้งแต่สมัยแรกๆ ต่อมาราชวงศ์ในกรุงศรีอยุธยาที่มาจากสุพรรณภูมิเป็นใหญ่เหนือสุโขทัย ราชวงศ์สุโขทัยถูกลดอำนาจกลายเป็นขุนนางอยู่ในพระนครศรีอยุธยา แต่ด้วยความขัดแย้งทางการเมืองภายในกรุงศรีอยุธยาเองทำให้ราชวงศ์สุโขทัยยึดอำนาจกรุงศรีอยุธยาได้ แล้วสถาปนาราชวงศ์สุโขทัยขึ้นปกครองกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งอพยพไพร่พลครอบครัวจากเมืองสุโขทัยลงมาเป็นประชากรอยู่ในกรุงศรีอยุธยา แคว้นสุโขทัยก็ปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์ แต่ไม่ได้หมดราชวงศ์สุโขทัย หากได้ขึ้นเป็นใหญ่ปกครองกรุงศรีอยุธยาต่างหาก

ก็เรื่องสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระราชบิดาสมเด็จพระนเรศวรนั่นยังไง อย่าแกล้งทำเป็นลืม

หน้า 34






 

Create Date : 04 มกราคม 2551    
Last Update : 17 ตุลาคม 2554 22:05:14 น.
Counter : 3408 Pageviews.  

เรือนบรรเลง" สำนักฝึกดนตรีไทย สู้สงครามวัฒนธรรม

"เรือนบรรเลง" สำนักฝึกดนตรีไทย สู้สงครามวัฒนธรรม

โดย เชตวัน เตือประโคน





ภาพยนตร์เรื่อง "โหมโรง" ที่นำเสนอชีวิตของ "หลวงประดิษฐไพเราะ" หรือ "ศร ศิลปบรรเลง" ยังคงตราตรึงในความทรงจำ คิดถึงเมื่อใดก็เหมือนแว่วยินเสียงดนตรีไทยลอยมา...หมดจด งดงาม

จากวันนั้นจวบจนวันนี้ผ่านมาหลายปีแล้ว

ชีวิตที่ต้องสาละวนอยู่กับเรื่องราวหลากหลาย ไม่ค่อยมีเวลาเปิดโอกาสให้กับความชื่นชอบส่วนตัวเดินทางเข้ามาทายทัก เลยทำให้ลืมชีวิตของ "ศร" (ในภาพยนตร์) ไปบ้าง กระทั่งวันหนึ่ง หน้าที่การงานลากให้ไปชมการแสดงศิลปะ ณ "On Art" ย่านสามเสน ระหว่างนั้นเองที่เสียงดนตรีไทยลอยมาเข้าหูอีกครั้งอย่างถนัดชัด...

มั่นใจ! ครั้งนี้ไม่ได้คิดไปเอง

แอบเดินไปทางด้านหลังงาน หวังพบกับต้นตอของเสียง สิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าคือ เรือนไม้สักใต้ถุนสูงทรงปั้นหยาตั้งตระหง่าน มีป้ายบอกชื่อว่า "เรือนบรรเลง"

เป็นที่ตั้งของ "มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)" เพื่อเป็นอนุสรณ์คำนึงถึง หลวงประดิษฐไพเราะ คนเดียวกันกับที่มีชีวิตโลดแล่นอยู่บนแผ่นฟิล์มในภาพยนตร์เรื่อง "โหมโรง" นั่นเอง

ภารกิจสำคัญภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิคือ "ชมรมดนตรีไทย" ซึ่งมีหน้าที่อนุรักษ์ เผยแพร่การเรียนการสอนดนตรีไทย สำหรับปีนี้ดำรงอยู่มาเป็นปีที่ 25 แล้ว

ชนก สาคริก ลูกหลานของครูประดิษฐไพเราะ-นักวิชาการดนตรีไทยคนสำคัญ เล่าให้ฟังถึงชมรมแห่งนี้ว่า ชมรมดนตรีไทยไม่ได้ทำงานเพียงแค่การอนุรักษ์อย่างเดียว แต่ยังมีการเรียนการสอน เผยแพร่ การผลิตผลงานวิชาการด้านดนตรีไทย ตลอดจนพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย

โดยครูดนตรีไทยท่านนี้มีความเห็นว่า ปัจจุบันเรากำลังต่อสู้กับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ไหลบ่าเข้ามา เป็นรูปแบบของสงครามทางวัฒนธรรม

เราจึงต้องปรับอาวุธให้เท่าเทียมถึงจะรักษาบ้านเมืองไว้ได้ นั่นคือ การรักษาจิตวิญญาณความเป็นไทย ซึ่งชมรมเองก็มีเครื่องทุ่นแรงที่ทันสมัย เช่น วิชวลบอร์ด (อุปกรณ์สำหรับสอนขิม-ชนก สาคริก ผลิตขึ้นเอง) สื่อการสอน ซอฟต์แวร์ต่างๆ มากมาย คือ รู้จักใช้เทคโนโลยี จากนั้นค่อยใส่ความเป็นไทยลงไป

ในโลกที่มีความหลากหลาย การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเป็นเรื่องดี แต่การปิดประตูวัฒนธรรมตาย การอยู่แต่กับตัวเองเป็นเรื่องที่ไม่ควรปฏิบัติ เพราะมันอาจทำให้เราตกขอบ-โลกเคลื่อนไปทุกวัน

"หลวงประดิษฐไพเราะต่างจากคนอื่นที่ว่า ท่านมีความคิดทันสมัยเสมอ เช่น เมื่อครั้งที่ไปชวาก็นำอังกะลุงเข้ามาเล่นในเมืองไทยเป็นคนแรก หรืออย่างในภาพยนตร์เรื่องโหมโรง ที่ท่านเล่นระนาดเอกคู่กับเปียโน นั่นเป็นการประยุกต์ โดยไม่ติดขัดว่าจะเป็นเครื่องดนตรีอะไร ขอให้เป็นเสียงดนตรีที่เกิดจากจินตนาการของคนไทยเท่านั้นก็พอ"

ในกรณีของ "ดนตรีไทย" ชนกตั้งข้อสังเกตว่า เราติดขนบธรรมเนียมโบราณมากไป ตั้งกำแพงสูงมากเกิน ทำให้ไม่มีใครกล้าเข้ามาเล่น ห้ามเด็กเล่น เด็กจึงเหินห่าง อันที่จริงควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองผิดลองถูก ลองเล่นสนุก

ชนกยังบอกอีกว่า...

"แนวคิดสมัยก่อนเน้นการอนุรักษ์อย่างเดียว ไม่คิดที่จะพัฒนา ทำให้เราถอยไปจากโลก โลกหมุนแต่เราไม่หมุนตามไปด้วย

ยกตัวอย่างเครื่องดนตรี เช่น ซอด้วง จีนเขานำไปพัฒนาต่อ เรื่องการตึง-หย่อนของสาย เขาสร้างเครื่องมือวัด แต่เรายังหมุนเทียบเสียงด้วยมืออย่างเดียว...ดนตรีไทยมีกรอบกฎที่เราสร้างกันเอง สร้างกรงขังมันไว้ ถ้าเราเปิด น่าจะมีช้างเผือกหลุดมา รุ่นเก่าสร้างเงื่อนไขมาก แล้วดุ เด็กก็เลยไม่กล้าเข้ามา"

เสียงขิมบรรเลงเพลง "ลาวคำหอม" กังวานอยู่ในระหว่างการสนทนา เป็นฝีมือการบรรเลงเพลงของเด็กตัวเล็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะยังอยู่ในวัยประถมศึกษา

ถึงตอนนี้ สิ่งหนึ่งที่ยังติดใจคือ "ความเป็นไทย" ในมุมมองของชนกคืออะไร?

และราวกับเขาจะล่วงรู้ ไม่เชื่อลองฟังสิ่งที่ได้อธิบาย...

"กระทรวงวัฒนธรรมต้องการรักษาความเป็นไทย อยากให้นุ่งโจงกระเบน ความเป็นไทยไม่ได้อยู่ตรงนั้น ผมถามว่าแล้วทำไมคุณไม่กินข้าวด้วยมือล่ะ...ความเป็นไทยคือการมีจิตใจที่สำนึกในรากเหง้า...อย่างดนตรีไทย ความเป็นไทยอยู่ที่เสียงเพลง ไม่ได้อยู่ที่เครื่องดนตรี เด็กที่เล่นดนตรีไทยผมสนับสนุนทั้งนั้น"

การเรียนการสอนของชมรมดนตรีไทย มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ ดูๆ ไปก็คล้ายกับชมรมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

คือ เป็นศูนย์รวมของคนที่ชื่นชอบสิ่งเดียวกัน มาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยไม่คำนึงถึงเรื่องผลประโยชน์ ไม่ได้เป็นระบบธุรกิจเหมือนโรงเรียนสอนดนตรีอย่างที่เราคุ้นเคย

ใช่ว่าถือเงินเดินเข้ามาแล้วจะได้เรียนในทันที ต้องดูก่อนว่า เด็กที่จะเข้ามาเรียนมีความพร้อมหรือไม่

"นั่งติดพื้นหรือยัง" หมายความว่า จะเรียนดนตรีไทยได้ ต้องสนใจ มีใจที่มุ่งมั่น พร้อมที่จะฝึกฝน เพราะต่อให้เป็นอัจฉริยะมาจากไหน หากขาดการฝึกฝนอย่างเข้มข้น วันหนึ่งฝีมือก็ลดด้อยถอยไป

อีกอย่าง ครูของที่นี่ไม่ใช่เพียงสอนแต่องค์ความรู้เท่านั้น...

ตามความหมายที่ควรจะเป็น คุรุ คือ ผู้ทำความแจ้งแก่ศิษย์ ทำคว่ำให้หงาย มืดให้สว่าง ดังนั้น การสอนของชมรมดนตรีไทย มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ จึงเน้นทั้งองค์ความรู้ กิริยามารยาท บุคลิกภาพ โลกทรรศน์ต่างๆ

การสอนเพียงองค์ความรู้อย่างเดียว อย่างนั้นไม่น่าจะเรียกได้ว่า "ครู" คงเป็นเพียง "โค้ช" ที่นี่สอนให้เด็กเป็นดั่ง "กระสุนหุ้มสำลี" คือ อ่อนนอก แข็งใน

ตามธรรมเนียมครูดนตรีไทยแต่โบราณ จะแบ่งลูกศิษย์เป็น 4 ระดับ คือ

ระดับที่ 3 เป็นลูกศิษย์ธรรมดาที่มาเรียน ครูก็รับเป็นลูกศิษย์ ต่อมาเมื่อเด็กกลุ่มนี้มีอุดมคติคล้ายครูมากขึ้น ก็จะมีการเรียนการสอนที่ลึกซึ้งขึ้น พัฒนามาสู่ระดับที่ 2 เรียกว่าลูกศิษย์ร่วมอุดมการณ์ จากนั้นจึงค่อยก้าวมาสู่การเป็นลูกศิษย์ระดับ 1 คือลูกศิษย์ที่จะสืบสานอุดมการณ์ต่อไป โดยผู้เป็นครูจะทำการสอนลูกศิษย์อย่างเข้มข้น เรียกได้ว่าให้ความรู้จน "หมดเปลือก"

สำหรับลูกศิษย์อีกแบบ คือ ลูกศิษย์ระดับ 4 พวกนี้จะเรียนกับตำรา อินเตอร์เน็ต อาจไม่เคยเห็นหน้าครูเลย

ในส่วนของการประเมินผลการเรียน...

"ผมมีหลักสูตรการวัดผลของผมเอง เรียกว่า "แววดนตรี" คือจะเป็นขั้นๆ เป็นระดับคล้ายกับยูโด สายดำ สายแดง...โดยจะมีการจัดสอบทุกปี สอบผ่านก็มีเกียรติบัตรให้...ที่นี่ไม่ชอบการประกวดแข่งขัน

เพราะเราไม่อยากให้รสนิยมของคนเพียงไม่กี่คนมาตัดสินฝีมือของเด็ก เราพยายามให้เด็กแข่งกับตัวเอง แข่งกับมาตรฐานดีกว่า

"เมื่อก่อนจะเป็นการ "ประเชิญ" กันของนักดนตรี (ฉากดวลระนาดในเรื่องโหมโรง) ไม่ใช่การ "ประชัน" เหมือนทุกวันนี้ ซึ่งในการประเชิญนั้น จะไม่มีการตัดสินว่าใครแพ้ใครชนะ นักดนตรีจะรู้ตัวเอง" ชนกกล่าว

เหลือบมองไปทางเด็กตัวเล็กตัวน้อยที่กำลังนั่งบรรเลงขิม เพลงจบ บ้างลุกไปเข้าห้องน้ำ บ้างเดินยืนเส้นยืนสาย ทำให้ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เรียนบ้าง

ธนิดา แสงโสภณ หรือ "ส้มแป้น" เด็กหญิงอายุ 10 ขวบ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนกุหลาบวิทยา เธอเรียนดนตรีไทยที่นี่มา 7 เดือนแล้ว กับเครื่องดนตรี 2 ชิ้นอย่างกู่เจิ้งกับขิม ที่เจ้าตัวบอกว่าชอบในความเพราะของเสียงเป็นอย่างมาก

กู่เจิ้ง เป็นเครื่องดนตรีจีน ที่นำมาประยุกต์ใช้ในวงดนตรีไทยได้อย่างลงตัว

เด็กหญิงเล่าให้ฟังว่า รู้จักชมรมดนตรีไทยนี้จากแม่ เพราะแม่ซื้อเทปเพลงไปฟัง แล้วชอบมาก มาดูที่ปกเทป ก็พบว่าเป็นเพลงของครูหลวงประดิษฐไพเราะ เลยโทร.สอบถามว่ามีการสอนดนตรีไทยด้วยหรือเปล่า

"แม่พามาสมัครเรียนที่นี่ ทั้งที่บ้านของเราอยู่ทางฝั่งธนฯ เขตคลองสาน ซึ่งไกลจากที่นี่มาก ตอนแรกตั้งใจว่าจะเรียนจะเข้ แต่พอมาถึง ได้คุยกับครูชนก และท่านก็ได้เล่นกู่เจิ้งให้ฟัง ก็รู้สึกชอบเครื่องดนตรีชิ้นนี้ขึ้นมาเลย" ธนิดาเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าแววตาสดใสประสาเด็ก

ถามถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียนดนตรีไทย เธอบอกว่า ช่วยให้ความจำดีขึ้น เพราะว่าสมาธิต้องอยู่กับดนตรี หลักการนี้สามารถเอาไปใช้ในห้องเรียนได้ด้วย

ในเทอมการศึกษาล่าสุด เด็กหญิงสอบได้คะแนนสูงเป็นอันดับ 1 ของห้อง ทั้งที่ช่วงเดียวกันนั้น เธอต้องฝึกซ้อม "ขิม" สำหรับการประกวดดนตรีไทยรางวัล "ศรทอง" ที่ทางมูลนิธิจัดขึ้น ณ หอประชุมไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

อนาคตธนิดาบอกว่าอยากเป็นพยาบาล แต่ก็ยืนยันว่าจะไม่ทิ้งการเล่นดนตรีไทยอย่างแน่นอน

ทางด้าน มาลี แสงโสภณ อายุ 45 ปี ผู้เป็นแม่ของน้องส้มแป้น เล่าให้ฟังถึงความแตกต่างของการเรียนดนตรีที่นี่กับที่อื่นว่า ชมรมดนตรีไทย มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ ไม่ได้สอนโดยหวังผลทางธุรกิจ ที่อื่นอาจเรียน 1-2 ชั่วโมง พอครบกำหนดเวลาก็เลิก

แต่สำหรับที่นี่ เด็กสามารถอยู่เล่นได้ทั้งวัน ครูก็สอนโดยไม่สนใจเรื่องเวลา บางวันนั่งคอยลูกตั้งแต่เย็นกระทั่ง 3-4 ทุ่ม หรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ผู้ปกครองสามารถพาลูกมาทิ้งไว้ที่ชมรมได้เลย

"เหมือนบ้านอีกหลังของลูก เพราะที่นี่ไม่ได้สอนเพียงแค่เรื่องดนตรี แต่ว่ายังสอนเรื่องการใช้ชีวิต การปฏิบัติตัว จะสังเกตว่า เด็กที่นี่จะสุภาพอ่อนน้อมทุกคน"

"ที่นี่ไม่ใช่ว่าคุณจะกำเงินเข้ามาแล้วเรียนได้เลย ครูจะต้องอบรมลูกของคุณได้ เขาจะประเมินลูกศิษย์ของเขาเอง ถ้าเด็กไม่พร้อม ก็ไม่ให้เรียน" มาลีกล่าว และบอกว่า มาเจอที่นี่เหมือนเจอแหล่งเรียนดนตรีที่ดี ที่เหมาะกับลูก

จำได้ว่า ในวันที่กระแสภาพยนตร์เรื่อง "โหมโรง" มาแรง ครั้งนั้นผู้คนต่างถามไถ่ อยากเรียนดนตรีไทยเป็นจำนวนมาก พ่อแม่ต่างพาลูกไปสมัครเรียนที่ต่างๆ

แต่ถึงวันนี้ กระแสความนิยมเริ่มเบาจางลงแล้ว ดนตรีไทยจะเดินไปในทิศทางใด ก็คงขึ้นอยู่กับหลายเหตุหลายปัจจัยพอสมควร... ท่ามกลาง "สงครามทางวัฒนธรรม" ดังที่ชนก สาคริก ว่า

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะติดอาวุธพร้อมรบ

หน้า 33




 

Create Date : 16 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 16 พฤศจิกายน 2550 14:08:00 น.
Counter : 1128 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  

win_mma
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add win_mma's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.