Group Blog
 
All Blogs
 
ห้องหนังสือกับมิวเซียม สร้างความรู้ด้วยความรัก

วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10666

ห้องหนังสือกับมิวเซียม สร้างความรู้ด้วยความรัก

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

สุจิตต์ วงษ์เทศ



ความรู้ต่างกับความรู้สึก มีตัวอย่างความต่างอยู่ในสังคมไทยที่แสดงออกด้วยความรู้สึกอันมีที่มาจากความเชื่อ แล้วเสนอความเห็นจากความรู้สึกนั้นโดยไม่ให้ความสำคัญต่อความรู้ข้อมูลและพยานหลักฐานที่มีจริงๆ (ไม่ใช่รู้สึกเองว่ามี แต่จริงๆ ไม่มี)

สังคมความรู้สึกย่อมตกเป็นเหยื่อของประชานิยมที่กล้า "เล่น" แล้วเอาความรู้สึกของสังคมเป็นเครื่องมือได้ง่ายๆ เห็นได้ชัดจากความรู้สึกยกย่องเชิดชู "ผู้มีบุญ" ที่ทำทานอย่างพระเวสสันดร โดยไม่ติดใจสงสัยใดๆ ว่าทานที่ได้รับมาจากไหน? แม้เป็นทานจากความคดโกงยังใช้ความรู้สึกกำหนดว่า "ก็ยังดีกว่าโกงแล้วไม่ทำทาน"

ความรู้สึกของสังคมอย่างนี้มีอันตรายไร้อนาคต ต้องหาช่องทางกำจัดหรือจำกัดให้ความรู้สึกหมดไปหรือลดลง แล้วให้ความสำคัญต่อความรู้ที่ได้จากการศึกษาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม รวมทั้งจากวิจัยวิจารณ์และประสบการณ์ด้วยตัวเอง

ห้องหนังสือกับมิวเซียมเป็นเครื่องมือดีที่สุดจำนวนหนึ่ง (ในบรรดาเครื่องมือดีๆ อีกหลายอย่าง เช่น สื่อ ฯลฯ) ที่กำจัดและ/หรือจำกัดความรู้สึกได้

แต่สังคมความรู้สึกอย่างสังคมไทยก็โชคร้ายซ้ำอีก เพราะกิจการของห้องหนังสือ (คือห้องสมุด) กับมิวเซียม (คือพิพิธภัณฑ์) ตกอยู่ในบ่วงกรรมอำนาจวิธีคิดและวิธีทำของระบบราชการแบบอาณานิคม (ตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 5) ที่เห็นว่าพลเมืองไม่มีสติปัญญาสมควรจะได้ความรู้ ส่งผลให้กิจการหนังสือกับมิวเซียมในสังคมไทยเป็นสถานที่ต้องห้ามที่ไม่ควรย่างกรายเฉียดใกล้ราวสถานที่ดับจิต

กทม. (กรุงเทพมหานคร) มีบ้านหนังสือกระจายทั่วไป (แต่ไม่มีใครรู้จักนักและมักไม่มีคนเข้าใช้บริการ) และเคยมีมิวเซียมกระจายอยู่บางเขต แต่ปิดแล้วเกือบหมด (เพราะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ) ก็มีเหตุจากคิดแล้วทำตามระบบราชการแบบอาณานิคมนั่นแหละ คือไม่มีจิตสาธารณะ และไม่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลพลเมือง จึงไม่มีกิจกรรมความรู้สู่สาธารณะ

มีผู้ส่งเอกสารแผ่นพับ 2 พับมาให้อ่าน พับหนึ่งเรื่องบ้านหนังสือ สุกันยา อิศรางกูร ณ อยุธยา (ตรงพรานนก ใกล้โรงพยาบาลศิริราช) อีกพับหนึ่งเรื่อง ศูนย์ฝึกอาชีพวัดสุทธาวาส (ใกล้สถานีรถไฟบางกอกน้อย) แล้วมีชื่อชนินทร์ รุ่งแสง รองประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการ เมื่ออ่านหมดแล้วเข้าใจได้ว่าเป็นงานทำตามแบบแผนราชการ กทม. เหมือนที่เคยมีมาก่อน และทยอยปิดไปก่อนอย่างเป็นปกติ

นักวิชาการเพ้อเจ้อไร้สาระจะแอบอ้างทฤษฎีบ้าบอคอแตกว่าห้องสมุดกับพิพิธภัณฑ์แตกต่างกันเพราะฝรั่งบอกไว้อย่างนั้น แต่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกันคือเผยแพร่ความรู้ ฉะนั้น รวมอยู่ด้วยกันได้และดีมากถ้ารวมกันเท่าที่จะจัดการได้ กระทั่งงานบ้านหนังสือสุกันยาฯกับศูนย์ฝึกอาชีพฯถ้ามีกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เสริมเข้าไปด้วยจะยิ่งดีวิเศษนัก เพราะเท่ากับค่อยๆ สร้างความรู้เพื่อลดความรู้สึกที่บอกไว้แต่แรก

อุปสรรคสำคัญมีอย่างเดียวคือระบบราชการแบบอาณานิคมที่ กทม. มีเต็มเปี่ยมทุกระดับ จึงไม่ต้องการเผยแพร่ความรู้ด้วยความรัก แต่จะเชิดชูความ รู้สึกและความเชื่อเพื่อประชานิยม




Create Date : 25 พฤษภาคม 2550
Last Update : 25 พฤษภาคม 2550 15:27:46 น. 0 comments
Counter : 611 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

win_mma
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add win_mma's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.