รีวิวการ์ตูนไทย - Thai Comic Review
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2564
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
25 มีนาคม 2564
 
All Blogs
 
(รีวิวการ์ตูนไทย) ซอยนี้มีป่วน (กิตติคุณ กิตติอมรกุล)

   หากใครยังไม่รู้จักคุณ "กิตติคุณ กิตติอมรกุล" เจ้าของเพจ Documentarism แล้วล่ะก็ -- นักเขียนหน้า​ใหม่คนนี้ แจ้งเกิดครั้งแรกจากงานประกวดการ์ตูนเรื่องสั้น "Debut Special: ไม่ไทยเบย" จนได้ร่วมงานกับทางค่าย Cartoonthai Studio อย่างเป็นทางการ ด้วยสไตล์การเล่าเรื่องแนวชีวิตประจำวันทั่วไป ที่ทำออกมาได้อย่างสนุกสนาน ซึ่งสวนทางกับประเด็นเรื่องที่ค่อนข้างซีเรียส (อย่างเรื่องของความสัมพันธ์และการเติบโต) ฉายแววความสามารถให้เห็นตั้งแต่สมัยยังทำเรื่องสั้นกับทาง CTS ในช่วงแรกๆ -- และด้วยความที่ "อาชีพหลัก" ของเจ้าตัวเอง ก็เป็น "นักทำสารคดี" ที่ต้องลงไปสำรวจค้นคว้าข้อมูลตามสถานที่ต่างๆอยู่แล้ว ก็เลยทำให้ "ซอยนี้มีป่วน" รวมเล่มเรื่องแรกสุดนี้ จึงเป็นเรื่องราวสนุกสนาน ง่ายๆ ใกล้ตัว ของกลุ่มคนในชุมชนเล็กๆ ดำเนินเรื่องผ่าน 4 เรื่องสั้น 4 ครอบครัว ผ่านบทบาทของ "ผู้เป็นแม่" ที่จะต้องเจอศึกหนักมากมาย ทั้งการรับมือกับลูกๆสุดป่วน ที่มักจะสร้างวีรกรรมชวนให้ปวดหัวไม่เว้นแต่ละวัน

   ซอยนี้มีป่วน วางแผงครั้งแรกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 พร้อมกับของแถมเล็กๆน้อยๆ เป็นแฟ้มสอดขนาด A4 จากการ์ตูน แต่วาดโดยคุณเกษม อภิชนตระกูล ที่เขียนชมรมวารสาร ตำนานสถาบัน (กรณีเดียวกับหน้าปก "มาลัยล้อมเพชร" ของคุณขวัญระพี ที่อยู่ในนิตยสาร Error Hours เล่ม 8 นั่นแหละ แต่อันนั้น คุณ Becassine จะเป็นคนวาด มันสื่อถึงความไม่พร้อมทางด้านลายเส้นของตัวผู้เขียนน่ะครับ) -- ซอยนี้มีป่วน เป็นรวมเล่มเพียงเรื่องเดียวของคุณกิตติคุณ ที่อยู่ภายใต้สังกัดของ CTS ก่อนที่จะลงไปทำสตอรี่บอร์ดให้กับเรื่อง "เชียร์ลีดดิ้ง สะกิดติ่งหัวใจ" ของคุณจีรวัฒน์ บุญห่อ และแยกตัวออกไปทำการ์ตูนอิสระในเวลาต่อมา พร้อมกับการปิดตัวเงียบๆอย่างน่าเสียดายของสำนักพิมพ์

จากเรื่อง Mother อิงอร คุณแม่หวงลูกสาว

   ภายในเล่มจะมีเรื่องสั้นอยู่ 4 เรื่อง ซึ่งถึงแม้แต่ละเรื่อง จะเป็นเรื่องราวต่างแม่ลูก ต่างนิสัยใจคอกันก็จริง แต่ทุกเรื่องในนี้ ก็ล้วนที่จะเป็นไทม์ไลน์ที่เกิดขึ้นใน "ช่วงเวลาที่ใกล้กัน" ทั้งหมดทั้งสิ้น (พล็อตย่อยจะเกี่ยวกับผู้คนในหมู่บ้าน ได้ช่วยกันออกตามหา "ลูกชายของครอบครัวหนึ่ง" ที่หายตัวไป) -- ซอยนี้มีป่วน รวบรวบต้นแบบของ "ผู้เป็นแม่" ที่มีอยู่จริง เอาไว้หลากหลายรูปแบบ (ซึ่งน่าจะตรงกับชีวิตของใครหลายๆคนล่ะมั้ง) เริ่มจากเรื่อง Mother อิงอร คุณแม่หวงลูกสาว และลูกสาวที่หวงแม่พอกัน/ Mother ปัทมา คุณแม่ที่บังคับให้ลูกตัวเอง อยู่ในกรอบที่กำหนดเอาไว้ เพราะมองว่าลูกชายทำอะไรเองไม่เป็น/ Mother รัชวลี คุณแม่ที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกชายออทิสติก แถมยังถูกกดดันจากคนรอบข้างอีกต่างหาก/ และ Mother อาภรณ์ ผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน ที่รอคอยการกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดของลูกชายหัวแก้วหัวแหวนอย่างใจจดใจจ่อ

   ถ้าจะให้เทียบกับ "เรื่องสั้นสองเรื่อง" ก่อนหน้า -- ลายเส้นของคุณกิตติคุณในรอบนี้ ถือว่าพัฒนาไปจากเดิมพอสมควร โดยเฉพาะในส่วนของ "งานฉาก" ที่ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีการเก็บรายละเอียดที่แน่นขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการใช้เส้น perspective เข้ามาช่วยกำหนดระยะใกล้ไกล ทำให้งานฉากออกมา ดูมีมิติ (จริงๆ ไม่อยากใช้คำว่า "ดูมีมิติ" เลย มัน cringe แต่ก็คิดว่าเหมาะดี) และสวยงามมากขึ้นแบบผิดหูผิดตา ไม่ดูกระจัดกระจายเละเทะเหมือนกับงานก่อนๆ (โดยเฉพาะฉากอนุสาวรีย์ชัยนี่ ถือว่าแก้มือจากเรื่องสั้น Round 2nd ในนิตยสาร Love Hours เล่ม 9 ได้ดีมากๆเลยนะ เดี๋ยวจะเปรียบเทียบให้ดูในช่วงท้ายรีวิวก็ได้)


จากเรื่อง Mother ปัทมา คุณแม่จอมเข้มงวด

   ลายเส้นของคุณกิตติคุณ ถือว่ามีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจริงแท้แน่นอน แม้ลายเส้นและกายวิภาคส่วนมาก จะยังดูขัดเกลาไม่ค่อยเต็มที่ก็ตาม แต่ข้อเสียเหล่านี้ก็ถูกแทนที่อย่างดีด้วย "ท่าโพสและการแสดงสีหน้า" ในสไตล์การ์ตูนตลกที่ดูไหลลื่น และค่อนข้างลงล็อกมากๆ เป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตเล่มนี้เอาไว้แบบเส้นยาแดงผ่าแปด ซึ่งดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพที่สุด โดยเฉพาะเรื่องแรกของเล่ม อย่างเรื่อง "Mother อิงอร" ด้วยความที่การ์ตูนมันเดินเรื่องด้วย เหล่าตัวละครเด็กๆ และคุณแม่ยังสาว ไฟแรงอารมณ์ดี เพราะฉะนั้น ในเรื่องก็เลยมีซีนขำขันให้เห็นเยอะมาก ก่อนที่ความดีงามเหล่านั้น จะค่อยๆแผ่วลงในช่วงครึ่งหลังของเล่มในเวลาต่อมา -- ตลอดทั้งเรื่องในรวมเล่ม "ซอยนี้มีป่วน" จะถูกอุ้มด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ไปจนจบเล่ม เพียงแต่เนื้อเรื่องจะค่อยๆซีเรียสขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ ตั้งแต่เรื่องแรกจนถึงเรื่องสุดท้าย เพราะมันฉายภาพ "หน้าที่ของผู้เป็นแม่" อันแสนหนักหน่วงให้เราได้เห็นนั่นเอง

   สไตล์การวาดหลักๆของคุณกิตติคุณนั้น จะมีกลิ่นอายของ "การ์ตูนตลกญึ่ปุ่น" ลอยฟุ้งออกมาอย่างเห็นได้ชัด คือทั้งท่าโพสตัวละครและลายเส้นต่างๆ จะมีความไหลลื่นยืดหยุ่น และให้ความรู้สึกที่สนุกสนาน ไม่เน้นสมจริงมาก -- อีกทั้งการที่เจ้าตัวลงไปวาด "ฉากและตัวละคร" ด้วยมือของตัวเอง ทำให้องค์ประกอบภาพต่างๆ ออกมาแลดูกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ต่างจาก "รวมเล่มการ์ตูนไทย" หลายๆเรื่องในสมัยนี้ ที่มักจะมีปัญหาในการกำหนดเส้นฉากและเส้นตัวละคร จนภาพรวมไปกันคนละทาง ยิ่งเอารูปถ่ายมาแปะเป็นฉากแบบทื่อๆ นี่ยิ่งแล้วใหญ่เลย ดูขี้เกียจด้วย ลงมือวาดซักหน่อยก็ด้ายยย!!! พ่อคุณ


จากเรื่อง Mother รัชวลี คุณแม่ที่เหน็ดเหนื่อยกับการเลี้ยงลูกชายออทิสติก

   ทีนี้มาดูในส่วนของตัวละคร และสถานการณ์ต่างๆในเรื่องกันบ้าง!!! -- "ซอยนี้มีป่วน" เต็มไปด้วยรายละเอียดเรื่องราวที่ซับซ้อนน่าสนใจ และมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังที่จะได้เห็นในตลอดทั้งเล่ม -- เรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวใน "ซอยนี้มีป่วน" จะมีการลงลึกไปถึง ชื่อ อายุ สถานที่ ความสัมพันธ์ รวมไปถึง "ตัวเลือก" ที่ตัวละครเหล่านี้ได้ตัดสินใจ ซึ่งส่วนขยายเหล่านี้นี่แหละ ที่ช่วยทำให้ชุมชนเล็กๆที่ผู้เขียนได้รังสรรค์ขึ้น แลดูมีชีวิตชีวา และสามารถจับต้องได้ในคราวเดียวกัน (หรือจะให้พูดง่ายๆก็คือ มันดูมีเสน่ห์นั่นแหละ) -- ซอยนี้มีป่วน จึงเหมาะสำหรับนักอ่านสายเนื้อเรื่อง ที่ชอบปะติดปะต่อเรื่องราวของคนกลุ่มๆหนึ่ง ที่แลดูซับซ้อน แต่ก็ไม่เข้าใจยากจนเกินไป เพราะประเด็นต่างๆในเรื่องที่เอามาเล่น มันก็ชัดเจนในตัวของมันอยู่แล้ว และมันขึ้นอยู่กับว่าเราจะเรียนรู้อะไรจากเรื่องราวที่ซับซ้อนเหล่านั้น

   เดี๋ยวจะยกตัวอย่างเรื่องที่สองให้ฟังก็ได้ อย่างเรื่อง Mother ปัทมา -- เกี่ยวกับคุณแม่ผู้กร้านโลก ที่มีนิสัยชอบจัดแจงทุกสิ่งทุกอย่างให้ลูกตัวเองอยู่เสมอ จนลูกชายกลายเป็นเด็กขาดความมั่นใจ และไม่กล้าขัดคำสั่งคนอื่น (เพราะไม่ได้ถูกปลูกฝังให้ตัดสินใจด้วยตัวเองตั้งแต่แรก) ความรู้สึกตะขิดตะขวงใจของฝั่งลูกชาย กลับมองคำสั่งของแม่เป็นเชิงลบไปหมด จนลืมไปว่ามันมีคำสอนบางอย่างที่เราสามารถใช้เป็นเครื่องเตือนใจได้ -- ทั้งหมดนั่นเป็นเพราะความมั่นใจของฝ่ายแม่ ที่สามารถส่งลูกทั้งสองประสบความสำเร็จได้ ด้วยคำสั่งสอนของตัวเอง เจ้าตัวก็เลยเอาสิ่งเหล่านี้มาสอนลูก เป็นกฎที่ลูกทุกคนต้องทำตาม (สังเกตมั้ยว่า ทั้งเรื่องจะไม่มีการพูดถึงลูกสองคนว่ามาเยี่ยมบ้านเลย เป็นหนึ่งในพล็อตย่อยแฝงของเรื่อง ที่ไม่ได้บอกกับเราตรงๆ) เห็นมั้ย บอกแล้วว่ามันซับซ้อน


จากเรื่อง Mother อาภรณ์ คุณแม่ที่รอคอยการกลับมาของลูกชาย

    เหมือนกับชีวิตประจำวันทั่วไปนั่นแหละ มันก็มักจะมีเพื่อน พ่อแม่ หรือคนรู้จัก มาเล่าเรื่องของคนนู้นคนนี้ให้ฟัง ซึ่งข้อดีหลักๆก็คือมันทำให้เรารู้จักอีกฝ่ายมากขึ้น หรือแม้กระทั่งในยามที่เกิดเหตุการณ์คับขัน อย่างเช่นในเรื่องที่ลูกชายของครอบครัวหนึ่งหายตัวไป เราก็สามารถออกตามหาตัวจนเจอได้ เพราะเรารู้ว่าลูกชายบ้านนี้หน้าตาเป็นอย่างไร และนี่แหละคือประโยชน์แรกๆของการอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะเราสามารถช่วยเหลือผู้คน หรือแม้กระทั่งถูกช่วยเหลือจากผู้อื่นได้ แม้ว่าในบางครั้งอีกฝ่ายจะไม่ได้คลุกฝุ่นลงมาช่วยเรา แต่มันจะมาในรูปแบบในการให้กำลังใจ แค่นี้มันก็มากเพียงพอที่จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้แล้ว (อย่างเช่นในฉากที่รัชวลีเลี้ยงลูกจนเหนื่อย และทุกคนในโต๊ะให้กำลังใจ เป็นต้น)

   นอกจากความอ่อนด้อยในส่วนของกายวิภาค ที่ส่งผลทำให้ "ซีนอารมณ์" ดรอปลงไปเยอะพอสมควร (โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลัง) แน่นอนว่ามันก็ยังมีบางสถานการณ์ ที่ผู้เขียนยังทำออกมาดู uninspired จนฝืนเกินความจำเป็น อย่างเช่นในฉากหนึ่ง ที่ฝ่ายแม่เข้าใจผิด เพราะไปเห็นลูกสาวตัวเองถอดเสื้อกับผู้ชายคนอื่น ก่อนที่จะเฉลยว่า ทั้งหมดเป็นเพราะ "น้ำต้มมาม่าหกเลอะเสื้อ" ต่างหาก (หกสองคนเนี่ยนะ ทำอีท่าไหนวะ!!?!) มันเป็นแฟนเซอร์วิสที่ฟังดูแถเอามากๆ ไม่มีเหตุผลอื่นที่ดีกว่านี้แล้วเรอะ!!?! -- ไม่เพียงเท่านั้น ความย่ำแย่ของกายวิภาคที่ดิบด้อยมาตั้งแต่แรก ก็ค่อยๆถาโถมลงมากองกันที่เรื่องสุดท้ายของเล่มอย่าง Mother อาภรณ์ ในชนิดที่ไม่น่าให้อภัย ไม่ว่าจะเป็นทั้งฉากตู้ ATM ที่วาดออกมาแบบลวกๆ กับฉากลูกค้าในร้าน ที่ "คุยไปโบกมือไป" ทุกโต๊ะโดยไม่ได้นัดหมาย เหมือนคนเขียนดูหมดไฟกับโปรเจ็กต์นี้ไปตั้งนานแล้ว แต่ก็ยังฝืนทำต่อไป จนจบเล่ม ความบ้าพลังที่ปะทุขึ้นในสองสามตอนแรก หายวับไปกับตาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น โชคดีที่ข้อเสียเหล่านี้ ยังไม่ส่งผลเสียกับเนื้อเรื่องหลัก ก็เลยพอที่จะถูๆไถๆกับมันได้อยู่ (แต่ก็คิดเหมือนกันนะว่า ถ้าลายเส้นและกายวิภาคดูลงตัวขึ้น การ์ตูนน่าจะเข้าถึงนักอ่านทั่วไปได้มากกว่านี้ เห็นแล้วเสียดายจริงๆ)

   เห็นได้ชัดว่า การลงไปทำการ์ตูนขนาดยาว 172 หน้า แบบใส่ไปเต็มร้อยครั้งแรกในชีวิต อาจจะเป็นอะไรที่หนักหน่วงไปซักหน่อย สำหรับ "นักเขียนการ์ตูนที่มีงานประจำอยู่แล้ว" จนท้ายที่สุด งานก็เลยออกมาดูขาดๆเกินๆอย่างที่เห็น ด้วยความที่งานภาพมันไม่เสถียรตั้งแต่แรก แถมแผ่วลงเรื่อยๆ ตามซีนดราม่าที่เพิ่มขึ้นอีกต่างหาก ซึ่งสำหรับเรา มันไม่มีปัญหาอยู่แล้ว (เพราะเข้าใจว่ามันถูกวาดด้วยลายเส้นสไตล์ "การ์ตูนตลกญี่ปุ่น") แต่นักอ่านคนอื่นๆที่เค้ามาเห็นหน้าปกในชั้นหนังสือ เค้าจะไม่คิดหยั่งงั้นน่ะสิ อาจจะมองข้ามเล่มนี้ไปเลยด้วยซ้ำ -- โชคดีที่ในส่วนของหน้าปก ยังได้คุณพัชร์ อุทัยภพ คนเขียน Timeless มาช่วยลงสีให้ ตามสไตล์ของค่าย CTS ที่มักจะเน้นสีสันฉูดฉาด น่ามองนานเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งเจ้าตัวเองก็สามารถทำออกมาได้ดีมาก เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมานั่นแหละ -- คุณกิตติคุณ มีสไตล์การวาดที่เป็นเอกลักษณ์ในตัว ซึ่งสำหรับกรณีพิเศษนี้ เราแค่อยากเห็น "ความสมดุล" ในด้านงานภาพ มากกว่า "ความสมบูรณ์แบบ" น่ะครับผม คือสไตล์ภาพมันไม่ได้แย่ขนาดนั้น เพียงแต่มันขาดการ polish ให้ดูดีขึ้นเท่านั้นเอง -- และสุดท้ายนี้ที่อยากจะเขียนถึง อันนี้อัดอั้นตันใจมาก ซอยนี้มีป่วน คืองานชิ้นแรกที่คุณกิตติคุณลงไปติดสกรีนโทนได้สวยที่สุด ถ้าเทียบกับผลงานเรื่องแรกๆ จนไปถึงงานใหม่แกะกล่องอย่างซีรีส์ Malayu Route ที่งานภาพดรอปลงไปพอสมควร เพราะดันไปยึดติดกับความสมบูรณ์แบบมากเกินไป จนงานฉากออกมาดูแข็ง ซึ่งสวนทางกับตัวละคร และกายวิภาคที่ไม่ได้พัฒนาไปไหนต่อไหนเลยในรอบ 3-4 ปี

(สรุป 7/10)

ติดตามเพจที่ https://www.facebook.com/ThaiComicReview/


แฟ้มจากการ์ตูน ซอยนี้มีป่วน (สติ๊กเกอร์นี่ไม่เกี่ยว อันนี้แค่เอามาแปะเล่นเฉยๆ)




Create Date : 25 มีนาคม 2564
Last Update : 12 กรกฎาคม 2564 14:29:55 น. 0 comments
Counter : 1960 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณhaiku, คุณnewyorknurse


ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เรลกันคุง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




สวัสดีครับ ผมเรลกันครับ ชอบอ่านการ์ตูนมากๆ หวังว่าจะสนุกกันนะครับ




Friends' blogs
[Add เรลกันคุง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.