รีวิวการ์ตูนไทย - Thai Comic Review
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2563
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
25 สิงหาคม 2563
 
All Blogs
 
(รีวิวการ์ตูนไทย) อย่างนี้ต้องมีต่อย (ปัญญา พูลสระคู)

 

 
หลังจากที่ร้างลามานานพอสมควรกับรีวิวการ์ตูนแอ็คชัน ก็เลยคิดว่า เฮ้ย.. น่าจะใส่ลงไปซักเรื่องบ้างนะ (ก็ที่ตุนเอาไว้ มันไม่มีแนวนี้นี่หน่า) สุดท้าย ก็เลยเกิดรีวิวนี้ขึ้น --"อย่างนี้ต้องมีต่อย" การ์ตูนสายแอ็คชัน-คอเมดี้ แนวลูกผู้ชาย เริ่มต้นตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร "ไทคอมิค" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540  ซึ่งต่อยอดมาจากเรื่องสั้นที่ชื่อ "ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ" ในปี พ.ศ.2539 (อย่าถามถึงเนื้อเรื่อง เพราะไม่เคยอ่าน แต่เดาว่าพล็อตเรื่องก็น่าจะคล้ายๆกันแหละมั้ง ใครเคยอ่านแล้ว มาเล่าสู่กันฟังหน่อยยยย)

เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ "เจ๋ง" และ "น้ำผึ้ง" คู่พระนาง เพื่อนสมัยเด็ก ซึ่งเก่งหมัดเก่งมวยทั้งคู่ (โดยเฉพาะนางเอก ซึ่งเก่งสุด เพราะเป็นลูกสาวเจ้าของค่ายมวย) ได้ร่วมมือกับเพื่อนๆ ในการวางแผนบุกเข้าไปโกดังของเสือหอย เจ้าพ่อค้ายาเสพติด เพื่อต้องการช่วยเพื่อนสมัยเด็กต่างโรงเรียน ตี๋เล็ก-ตี๋ใหญ่  ให้เป็นอิสระจากการขายยา (เพราะถ้าไม่ขายยาตามที่สั่ง ก็จะโดนฆ่า) และช่วยกันจับเสือหอยส่งตำรวจ แต่คิดว่าทุกอย่างมันจะง่ายจริงๆเหรอ ในเมื่อเสือหอยนั้น เคยเป็นอดีตนักฆ่ามาก่อน

 

ประทับใจแรกเห็น กับองค์ประกอบภาพที่อัดแน่นจัดเต็มไปด้วยงานฉาก และสกรีนโทน ที่สามารถสร้างสมดุลน้ำหนักระหว่างภาพได้อย่างลงตัว รวมไปถึงฉากแอ็คชันที่ดุเดือดเลือดพล่าน ซึ่งหลายๆส่วนก็ทำออกมาได้ดีมาก ตามมาตรฐานของค่ายไทคอมิคอยู่แล้ว -- ลายเส้นของคุณปัญญาในช่วงแรก จะผสมระหว่างการ์ตูนลูกผู้ชายกับลายเส้นสบายๆ ทำให้ฟีลระหว่างแอ็คชันกับคอเมดี้นั้น ลื่นไหลไปในทางเดียวกันได้อย่างกลมกลืน แม้จะรู้สึกเล็กๆว่า บางช่วงจะยังวาดออกมาลวกๆ และยังไม่ค่อยลงล็อกอยู่บ้างก็ตาม 

เบื้องลึกหรือ backstory ของตัวละครต่างๆในเรื่อง เป็นส่วนที่ช่วยทำให้พล็อตมีความเข้มข้นมากขึ้น และช่วยเสริมเหตุผลและที่มาที่ไปให้กับเหตุการณ์ต่างๆ -- จนนำไปสู่ "พล็อตย่อย"ที่ตัวมันเอง ก็มีความน่าติดตามไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพระเอกที่ตั้งใจ อยากจะปกป้องนางเอกซักครั้งในชีวิต เพราะอยากตอบแทนนางเอกที่เคยช่วยเหลือตัวเองจากการถูกทำร้ายหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้พระเอกเริ่มสู้คนขึ้นมา (พระเอกจะมีโอกาสได้ปกป้องนางเอกหรือไม่)/ การที่เสือหอยเลือกที่จะขายยาแทนรับจ้างฆ่าคน เพราะงานง่ายกว่า ได้เงินดีกว่า/ และเรื่องของสองพี่น้องต่างสายเลือด ตี๋เล็กกับตี๋ใหญ่ ที่จำเป็นต้องขายยา เพราะต้องการที่พักฟรีระหว่างหนีออกจากบ้าน หลังจากทะเลาะกับพ่ออย่างรุนแรง (ตี๋เล็กกับตี๋ใหญ่จะเป็นอิสระจากเสือหอยหรือไม่) เป็นต้น

 

และที่สำคัญ คุณปัญญาเอง ก็เลือกที่จะห่อ "สาระสำคัญ" ของเล่ม อย่างปัญหายาเสพติด ซึ่งสุดแสนจะหนักหน่วง ด้วยรูปแบบของ "กลอนแปด" แบบเอาฮา ซึ่งมันช่วยให้โทนของเรื่อง เบาลงไปมาก อีกทั้งยังช่วยชูในส่วนที่เป็นการ์ตูนตลกให้เด่นขึ้นด้วย ดังนั้นผลที่ได้ ก็เลยทำให้อารมณ์ต่างๆในเล่มมันสมดุลกัน ไม่คอนกันไปมา จนเป็นงานที่ "อ่านสนุก" และสามารถ "อ่านเอาจริงเอาจัง" ได้ในคราวเดียวกัน (ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็มีแต่การ์ตูนไทยเรื่องนี้เท่านั้นแหละมั้ง ที่เล่น "แก๊กกลอนแปด" ออกมาได้เละเทะน้อยที่สุดแล้ว ซึ่งส่วนมาก มักจะมีแต่จำพวก "อ่านไปอายแทนไป" )

บทพูดยียวน สุดฟ้อล่อตีนระหว่างเข้าห้ำหั่นกัน ก็สรรค์สร้างออกมาได้อย่างถึงพริกถึงขิง โดยเฉพาะฉากผลัดกันรุกระหว่าง นางเอกกับเสือหอย ในโกดังลับ แหม่....พูดซะสองแง่สองง่ามเลย ("ใครบอกล่ะว่าแค่เตะโด่ง เค้าเรียกว่าเตะเพื่อต่อยต่างหากล่ะ" "อะไรนะ เตะเพื่อโดนถีบเหรอ" แล้วก็ป้าบเข้าให้ 5555+) -- คุณปัญญามักจะชอบใช้ สำนวนการเขียนที่แปลกพิลึก ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนตอนอ่าน "ชื่อข้าปาฏิหารย์" จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า มันจะต้องมี "บทพูดเหนือโลก" สอดแทรกเข้ามาระหว่างฉากต่อสู้เป็นระยะๆ ราวกับเจ้ากรรมนายเวรที่ตามมาหลอกหลอน ซึ่งบางบทพูดอ่านแล้ว ก็รู้สึกชวนจั๊กจี้แก่นกะโหลกดีเหมือนกัน (อย่างเช่น "อัดฉันตั้งเยอะทำเป็นสลบเรอะ ค้ากำไรเกินควรไปแล้วโว้ย" กับ "เอาสำลีชุบซีบรีซมาเช็ดหน้าเสือหอยแบบนี้ มันต้องตายสถานเดียว") -- ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้แหละ ที่ทำให้ ยนตมต เป็นการ์ตูนอีกเรื่องที่อ่านสนุก นอกจากความต๊องของพล็อต ซึ่งก็ทำออกมาได้ไหลลื่นอยู่แล้ว

 

แต่ไอ้ความต๊องที่ว่ามาเนี่ย มันก็กลายเป็นดาบสองคมไปซะหยั่งงั้น เพราะใช้ผิดที่ผิดเวลา อย่างฉากหนึ่งที่พระเอก-นางเอกบุกมาถึงหน้าบ้านของตัวร้าย แทนที่จะเล่นมุกกันแบบกล้อมแกล้ม อีนางเอกก็ดันชวนพระเอกเล่น "ตำรวจจับโจร" แบบเด็กๆเฉยเลย มันใช่เวลามั้ยเนี่ย? (มาจับโจรจริงๆนะว้อย!!! ไม่ใช่เล่นซ่อนหา) -- การตัดสินใจสลับนิสัยแบบกระทันหัน จากนางเอกนิสัยเจ้ากี้เจ้าการ ชอบเอะอะ กลายมาเป็นคนต๊องๆ มันส่งผลเสียทำให้การเดินเรื่องมันชะงักไปในทันที -- แล้วอีพระเอกแม่มก็พอกัน แทนที่จะห้ามกันเบาๆ เจือกดันไปทะเลาะกับนางเอกหน้าบ้านคนร้ายเสียงดังเฉย ดีนะที่เค้าไม่รู้ตัว ถ้าเป็นของจริงนี่ตายห่านกันไปนานแล้ว (คนร้ายยังไม่ได้ขึ้นไปด้วย) -- เข้าใจว่าคนเขียนน่าจะต้องการให้เหตุการณ์มันดูวายป่วงแบบฮาแตก แต่มันกลับออกมาดูติงต๊อง มากกว่าที่จะตลก ซึ่งมันส่งผลทำให้การดำเนินเรื่องในส่วนของเนื้อหาหลัก มันเพี้ยนไปอย่างน่าเสียดาย

ส่วนข้อเสียนอกจากนั้นก็จะเป็น การเปิดเรื่องที่ไม่เมคเซนส์ อย่างตัวละครในเรื่องที่ต่อยกันแบบไม่มีเหตุผล และตัวร้ายของเรื่องที่ไม่ได้โหดสมอย่างที่ว่าไว้ เห็นตอนแรกบอก เคยเป็นนักฆ่ามาก่อน ก็นึกว่ามันจะโหดขนาดนั้น แต่พอเอาเข้าจริงๆ ปรากฎว่าโคตรกากเลย มาถึงก็โดนพระเอก-นางเอกเตะหยั่งกะกระสอบทราย (เวรเอ๊ย เสียชื่อนักฆ่าหมด) -- สุดท้ายก็เลยเข้าใจทีหลังว่า อ๋อ... อีนี่น่าจะเป็นแค่ "มือปืนรับจ้าง" เท่านั่นแหละ

 

การ์ตูนถูกเขียนขึ้นในช่วงที่ "ปัญหายาเสพติด" ระบาดรุนแรงมากในไทย จนถึงขั้นต้องปราบปรามให้สิ้นซาก -- การ์ตูนจึงทำหน้าที่เป็น "กระบอกเสียง" เพื่อแสดงให้เห็นว่า ยาเสพติดนั้น ส่งผลเสียให้กับประเทศชาติมากแค่ไหน -- โดยเบื้องต้น ผู้ที่เสพยาเข้าไป ก็จะเกิดอาการขาดสติและเห็นภาพหลอน ถึงขั้นสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น จนถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิตไปเลยก็มี (ยกตัวอย่างเช่นฉากในเรื่อง ที่กลุ่มตัวเองบังเอิญไปเห็น "คนเสพยา" จี้เด็กเล็กเป็นตัวประกัน และ ฉากสมมติที่ "คนเมายา" ขับรถพลิกคว่ำ ทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตทั้งคัน แบบที่เคยเห็นในข่าวหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งเด๊ะๆ) 

อีกทั้งการค้าขายยาเสพติดนั้น ยังส่งผลเสียร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทยอีกด้วย เนื่องจากเงินที่ได้จากการค้ายานั้น เป็นเงินนอกระบบ (หรือ เงินนอกกฎหมาย) ดังนั้นมันจึงเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ส่งผลทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ แบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในต้นปี พ.ศ. 2541 ที่ค่าเงินบาทเกิดการอ่อนตัวอย่างรุนแรง (ขนาดที่ว่า 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ต้องแลกด้วยเงิน 50 บาท แทนที่จะเป็น 30-33 บาท) ทำให้การนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากต่างประเทศนั้น แพงขึ้น -- และพอต้นทุนสูง ก็ทำให้ราคาสินค้าในท้องตลาดพลอยสูงขึ้นไปด้วย ทำให้ประชาชนต้องซื้อของในราคาที่แพงขึ้น เป็นกรรมเก่าที่ส่งทอดต่อกันมานั่นแล


ย้อนกลับมาพูดถึง "การจับกุมคนเสพยาคลุ้มคลั่ง" ถ้าไม่จวนตัวจริงๆ ตำรวจเองก็ไม่ได้อยากจะ "วิสามัญ" (หรือฆ่า) คนร้ายแต่อย่างใด -- แต่กลับเลือกที่จะใช้ "วิธีการไกล่เกลี่ย" เพื่อให้อีกฝั่งใจเย็นแทน ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้ ทุกอย่างสงบลง โดยที่ไม่มีใครต้องเจ็บตัว (อย่างเช่นในเรื่อง ที่ตำรวจยอมทิ้งปืนและเอาน้ำให้อีกฝ่ายดื่มตามที่สั่ง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นพวกเดียวกัน) -- แต่ถ้าการไกล่เกลี่ยไม่ได้ผล การวิสามัญ (หรือฆ่า) ก็จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อต้องการปกป้องผู้บริสุทธิ์ไม่ให้ได้รับอันตราย ซึ่งตำรวจเองก็ไม่ได้อยากจะฆ่า เพราะคนเสพยาเอง ก็คือคนไม่ต่างจากเรา และมันก็คงรู้สึกไม่ดีแน่ๆ ถ้าเราได้ฆ่าใครซักคนไป

เนื่องจากปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาระดับชาติที่ควรได้รับการแก้ไข ดังนั้นหน้าที่ในการปราบปรามยาเสพติด จึงไม่ควรที่จะเป็นหน้าที่ของตำรวจแต่เพียงผู้เดียว แต่มันสามารถที่จะเป็นหน้าที่ของประชนทุกคน ที่จะช่วยกันสอดส่องดูแล และแจ้งตำรวจเมื่อค้นพบเบาะแสสำคัญ หรือถ้าเป็นไปได้ ก็คือไม่เสพไปเลยจะดีที่สุด  

 

นอกจากการ์ตูนชุด "อย่างนี้ต้องมีต่อย" ที่เพิ่งจะเขียนถึงไปนี้ --  คนเขียนก็ยังมีรวมเล่มอีกเรื่องหนึ่ง ที่ทำไว้กับทางสำนักพิมพ์ "ไทคอมิค" ในปีต่อมา นั่นคือเรื่อง "หมัดสั่งลุย" ซึ่งเกี่ยวกับ "การแข่งขันมวยสากล" ซึ่งเราจะหยิบมาเขียนถึงเนื่องในโอกาสต่อไป (ถ้ามีโอกาส) ยังไงก็ติดตามกันต่อไปเรื่อยๆนะ

(สรุป 8/10)


ติดตามเพจที่ https://www.facebook.com/ThaiComicReview/


Create Date : 25 สิงหาคม 2563
Last Update : 3 กันยายน 2563 8:21:16 น. 1 comments
Counter : 1406 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณhaiku, คุณnewyorknurse, คุณหอมกร


 
เรลกันคุง Cartoon Blog ดู Blog
เป็นการ์ตูนน้ำดีที่มีส่วนช่วยรณรงค์เรื่อง
ปัญหายาเสพติดในเด็กได้ดีจ้า



โดย: หอมกร วันที่: 28 สิงหาคม 2563 เวลา:8:50:31 น.  

เรลกันคุง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




สวัสดีครับ ผมเรลกันครับ ชอบอ่านการ์ตูนมากๆ หวังว่าจะสนุกกันนะครับ




Friends' blogs
[Add เรลกันคุง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.