(รีวิวการ์ตูนไทย) Green Heart Effect (วศิน รตนธงชัย)

ท่ามกลางสภาพอากาศปัจจุบันในไทยที่แปรปรวนตลอดเวลา มันอาจจะเป็นสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกถึงการมาของ "ภาวะโลกร้อน" ก็เป็นได้ -- และนี่ก็คือหนึ่งในรวมเล่มที่จะสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติที่กำลังสูญสลายด้วยน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเอง สร้างสรรค์โดย วศิน รตนธงชัย (หรือในนามปากกา WASIN) ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานเก่าๆตั้งแต่สมัยยุคแรกๆ หนังสือทำมือ หนังสืออนุรักษ์ธรรมชาติ คอลัมน์ต่างๆ รวมไปถึงผลงานที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน ตลอดความยาว 208 หน้า ผ่านเรื่องสั้นทั้งหมด 6 เรื่อง ซึ่งนำเสนอในรูปแบบนิยายภาพเป็นหลัก
Green Heart Effect เปิดเรื่องด้วย Ancient Artifact บนธีมโลกอนาคตที่เทคโนโลยีครอบคลุมเบ็ดเสร็จ ผ่านบทสนทนาสั้นๆระหว่างเด็กสาวและคุณตา ว่าด้วยเรื่องของหนังสือ สื่อการเรียนรู้ชนิดหนึ่งที่สามารถหยิบขึ้นมาอ่านได้ตลอดเวลา โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าสัญญาณอินเตอร์เน็ตจะขัดข้องเหมือนกับแท็ปเล็ตหรือสมาร์ตโฟนจนอ่านไม่ได้ (ซึ่งก็เข้ากับสถานการณ์การมาของ E-Book ในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี) และนอกจากนั้นแล้ว หนังสือยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของป่าไม้ หนึ่งในทรัพยากรหลักที่นำมาใช้ทำหนังสือ ซึ่งเมื่อจำนวนป่าไม้ลดลง "สิ่งที่เป็นผลเสียต่อโลกใบนี้" ก็จะตามมาอีกมากมาย โดยจะถูกบอกเล่าผ่านเรื่องสั้นที่เหลืออีก 5 เรื่อง จากหนังสือที่เด็กสาวหยิบขึ้นมาอ่านหลังจากนี้ (ซึ่งก็ชื่อ Green Heart Effect เหมือนกันซะด้วย ต๊าย!!) 
Love World Wasin Edition รวมผลงานจากนิทรรศการศิลปะ (ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สำนักพิมพ์บันลือบุ๊คส์สนใจอยากจะเอามารวมเล่ม และเป็นตอนเดียวที่มีแต่ภาพสี) -- ฉายภาพถึงธรรมชาติ เหล่าสัตว์ ท้องทะเล และป่าเขาลำนาไพรที่กำลังค่อยๆถูกทำลาย จากความเห็นแก่ตัวและความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ จนเกิดภัยธรรมชาติต่างๆมากมาย รวมไปถึงระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป -- นำเสนอด้วยงานภาพที่สร้างสรรค์ ลงสีละลานตา แต่จิกกัดความอัปลักษณ์ของมนุษย์ได้อย่างทรงพลัง เอาจริงๆเฉพาะแค่ตอนนี้ตอนเดียวก็คุ้มค่าพอแล้วที่จะซื้อมาอ่าน -- โดยจะแบ่งหน้าคู่เป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็นภาพวาด และอีกส่วนหนึ่ง เป็นคำอธิบายประกอบที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
แต่น่าเสียดาย ที่เรื่องสั้นต่อจากนั้นอย่าง Nature's Diary, Landscape, Between The Flat Land เป็นเพียงแค่การรีไซเคิลไอเดียเก่าๆจาก Love World โดยที่แทบจะไม่ต่อยอด หรือสอดแทรกประเด็นใหม่ๆให้ได้เห็นเลยซักนิด (นอกจากการเล่าเรื่องที่จริงจังมากขึ้นเรื่อยๆเพียงเท่านั้น) ทำให้ตลอดการอ่าน Green Heart Effect จึงเต็มไปด้วยการนำเสนอรูปแบบเดิมๆ ซ้ำซาก และแทบจะไม่มีอะไรใหม่ -- เท่านั้นยังไม่พอ Thristy อีกหนึ่งเรื่องสั้นที่รู้สึกว่าสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้ ว่าด้วยปีศาจตนหนึ่ง ได้บุกมายังโลกเพื่อตามหาน้ำที่อร่อยที่สุด จนกระทั่งมันได้พบว่า น้ำชาที่คุณยายใจดีเอามาให้นั้น กลับอร่อยยิ่งกว่าน้ำที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นไหนๆ (ซึ่งอ่านจนจบก็ยังไม่รู้เลยว่า น้ำชาที่คุณยายใจดีอุตส่าห์เอามาให้กับปีศาจแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยนั้น มันต่างจากน้ำอื่นๆตรงไหน) 
จริงๆไอเดียของเรื่องมันดีนะ เพราะมันสามารถที่จะพูดถึง "ประโยชน์ของต้นไม้ในเชิงบริโภค" ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาดอก ผล หรือใบ มาดื่มกินหรือรักษาโรค (ซึ่งตรงจุดนี้นี่แหละ ที่จะสามารถทำให้ทุกคนได้เห็นว่า การมีอยู่ของต้นไม้นั้น มันสำคัญขนาดไหน) -- แต่น่าเสียดาย ที่ผู้เขียนดันไปโฟกัสในเรื่องของ "การเปรียบเทียบความอร่อย" เฉย ซึ่งไม่ว่าจะยังไงก็แล้วแต่ ประเด็นคือ คุณไม่สามารถที่จะไปบังคับคนอ่านได้ว่า "อะไรควรจะอร่อยกว่า" เพราะรสนิยมการกินของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน เพราะงี้ส่วนตัวก็เลยมองว่า มันเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยเข้าท่าซักเท่าไหร่ -- มาบอกกับคนอ่านกลายๆว่า "น้ำชาอร่อยกว่าน้ำจากโรงงาน" อย่างงี้ มีสิทธิเสียงแตกเป็นสองฝั่งแน่นอน (น้ำจากโรงงานในที่นี้ หมายถึง น้ำดื่ม น้ำอัดลม หรือน้ำทั่วไปที่ขายตามร้านสะดวกซื้อ) สรุปแล้ว Green Heart Effect เป็นหนึ่งในรวมเล่มที่เห็นได้ชัดว่ารีบทำ เพื่อปล่อยให้ทันงานหนังสือ (ซึ่งก็ตรงตามที่การ์ตูนแถมท้ายเล่มได้บอกเอาไว้เป๊ะๆ) ด้วยความที่ไอเดียในเล่มนั้นค่อนข้างจำกัด และย่ำอยู่กับที่แต่เรื่องเดิมๆ แบบต่อเนื่องจนน่าเบื่อ (ทั้งๆที่เรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติ มันสามารถต่อยอดประเด็นออกไปได้มากกว่านี้แท้ๆ) -- อย่างไรก็ตามแต่ หากใครสนใจที่จะเก็บภาพสวยๆ งานศิลป์แน่นๆ สื่อความหมายลึกซึ้ง แต่แฝงบรรยากาศดิบเถื่อนตามสไตล์ของวศิน -- Green Heart Effect คืออีกหนึ่ง "โชว์เคสงานภาพ" ที่แข็งแกร่งเล่มหนึ่ง ที่แฟนหนังสือสายนี้ต้องไม่ควรพลาด (ถ้าทนกับความซ้ำซากของเรื่องสั้นได้น่ะนะ)
(สรุป 6/10)
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556)
ติดตามเพจที่ https://www.facebook.com/ThaiComicReview/ 
Create Date : 25 มกราคม 2566 |
|
0 comments |
Last Update : 25 มกราคม 2566 23:03:00 น. |
Counter : 593 Pageviews. |
|
 |
|