รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ **กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผม ทาง e-wallet ครับ** **ผมขอสงวนสิทธิการเป็นเจ้าบ้านของ blog ลบข้อเขียนใดๆ ก็ได้ใน blog นี้ตามที่ผมเห็นสมควร**
Group Blog
 
<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
8 มกราคม 2555
 
All Blogs
 

ฝึกถููกให้ชำนาญ

ผมขอเขียนบทความนี้ เพื่อเป็นการย้ำให้ท่านผู้อ่าน ได้เข้าใจในการปฏิบัติธรรม เพราะการเข้าใจเท่านั้น จึงจะทำให้ท่านปฏิบัติได้ตรงทาง แล้วการรู้ธรรม เห็นธรรม ก็จะปรากฏแก่จิตของท่านได้

1..ปฏิบัติทุกอย่าง ต้องตรงตามอริยสัจจ์ 4
(อ่านเรื่อง //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=12-2011&date=30&group=15&gblog=83 )

ให้มาดูลักษณะอาการของคนที่ไม่ได้ฝึกฝน และ คนที่ฝึกฝนดีแล้ว ว่าต่างกันอย่างไร
เมื่อใช้หลักการของอริยสัจจ์ 4 เป็นแนวการตรวจสอบอาการ

ในอริยสัจจ์ 4 นั้น พระพุทธองค์สอนไว้ชัดว่า ให้รู้ทุกข์อริยสัจจ์(ข้อ1) ด้วยการละตัณหา(ข้อ2)
เมื่อละตัณหาได้แล้วเกิดนิโรธ(ข้อ3) ให้ปฏิบัติแบบทางสายกลางหรือแบบสัมมามรรค(ข้อ4)

มาดูข้อแตกต่างกัน
*** 1.1 ในคนที่ไม่ได้ฝึกฝน หรือ ฝึกฝนแต่ไม่ถูกทาง หรือ ฝึกฝนถูกทางแต่กำลังจิตยังไม่ดี

เขาไม่เข้าใจทุกข์อริยสัจจ์ว่าเป็นอย่างไร เขาเข้าใจแต่ทุกขเวทนา ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ซึ่งไม่ครอบคลุมทั้งหมดของทุกข์อริยสัจจ์

เมื่อเขาพบทุกข์เวทนาไม่ว่าทางกายหรือทางใจ เนื่องด้วยกำลังสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ช่างอ่อนแอมาก จิตของเขาจึงไม่อาจต้านแรงอำนาจของตัณหาได้ ซึ่งหมายความว่า ตัณหาได้ครอบงำจิตของเขาไว้เต็มเปี่ยม เมื่อตัณหาครอบงำจิต ทำให้จิตของเขาถูกแรงดึงของตัณหาให้จิตเข้าไปผสมกับทุกขเวทนาที่กำลังเกิดขึ้นนั้น เมื่อจิตเขาถูกครอบงำดังกล่าว อริยสัจจ์ข้อที่3 ก็ไม่เกิด และอริยสัจจ์ข้อที่4 แบบสัมมาก็ไม่เกิด แต่เกิดแบบ มิจฉา แทนว่า อันว่า ทุกข์เวทนาที่เกิดนั้นเป็นของเขา เป็นตัวเขา ความทุกข์เวทนานั้นเป็นของเขา เขากำลังทุกข์ นี่คืออาการแห่งมิจฉา

จะเห็นว่า คนในข้อ 1.1 นี้จะเกิดทุกข์แบบเต็ม ๆ ที่ว่า เขาเป็นทุกข์ ทุกข์เป็นของเขา
เขาจะไม่มีทางรู้เรื่องอริสัจจ์ 4 ได้อย่างถูกต้อง ถึงแม้ว่าจะฟัง จะอ่านในตำรา เขาก็จะยังไม่เข้าใจอริยสัจจ์ 4 อยู่ดี

*** 1.2 ในคนทีฝึกฝนมาถูกทางแล้ว และมีกำลังจิตที่ตั้งมั่นเป็นอย่างดี
คนในข้อ 1.2 นี้ จะมีกำลังสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ที่ดีแล้ว หรือ เรียกว่า จิตตั้งมั่นดีแล้ว

เมื่อจิตเขาตั้งมั่นด้วยสัมมาสมาธิ แรงอำนาจแห่งสัมมาสมาธินี้จะสามารถต้านทานแรงดึงดูดอันร้ายกาจของตัณหาได้ ซึ่งก็เท่ากับว่า เขาได้ละตัณหาด้วยกำลังแห่งสัมมาสมาธิได้ ซึ่งก็คือ อริยสัจจ์ข้อที่ 2 เมื่อเกิดทุกข์อริยสัจจ์ข้อที่ 1 ขึ้น แรงตัณหาไม่สามารถดึงจิตของเขาให้เข้าไปผสมกับทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้น เมื่อจิตเขาไม่เข้าผสม จิตจะเป็นอิสระอยู่่ ทำให้จิตเขาเห็นทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นไตรลัษณ์ ซึ่งก็คือการรู้ การเห็นทุกข์อริยสัจจ์ข้อที่ 1 อันเนื่องมากจากไร้แรงของตัณหาอันเป็นอริยสัจจ์ข้อที่ 2

เมื่อ เขาเห็นทุกข์อริยสัจจ์เป็นไตรลักษณ์ จิตเป็นอิสระอยู่ เขาจะพบกับนิโรธ คือ ความไม่ทุกข์ อันเป็นอริยสัจจ์ข้อทืี่ 3 และ เขาจะพบอาการอริยสัจจ์ข้อที่ 4 ทีเป็นแบบสัมมาว่า ทุกข์ไม่ใช่เขา ทุกข์ไม่ใช่ของเขา

ท่านจะเห็นว่า คนทีฝึกมาดีแล้ว เขาจะรู้จักอริยสัจจ์4 ได้ครบหมดทั้ง 4 อย่าง ที่เขารู้ เพราะเขาได้พบเอง เห็นเอง ด้วยจิต ที่ไม่ใช่การอ่านมาจากตำราแต่อย่างได

***********
ผมจะชี้ให้ท่านเห็นครับว่า เคร็ดลับการรู้ธรรมตามอริยสัจจ์4 คือ ***การรู้ทุกข์อริยสัจจ์ที่ไร้ตัณหา*** ครับ ถ้าท่านมองไม่ออก ขอให้อ่านข้อ 1.2 อีกครั้งก็ได้ครับ เพื่อให้กระจ่างในเรื่องนี้ก่อน
เมื่อไรที่นักภาวนา รู้ทุกข์อริยสัจจ์แบบไร้ตัณหาเมื่อใด อริยสัจจ์4 ก็จะปรากฏได้ครบเอง เพียงแต่ว่า นักภาวนาอาจยังมองไม่ออกทั้ง ๆ ที่ธรรมได้ปรากฏขึ้นแล้ว

ผมได้ชี้ให้ท่านเห็นแล้วครับว่า ตัณหาจะละได้ เมื่อจิตมีกำลังแห่งสัมมาสติ/สัมมาสมาธิ ซึ่ง 2 อย่างนี้จะต้านกันเองตามธรรมชาติของเขาระหว่างตัณหาและสัมมาสติ/สัมมาสมาธิ เช่น

เมื่อไร ที่ตัณหามีกำลัง ก็แสดงว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นั้นอ่อนแอลง
และ เมื่อไร ที่ตัณหาไม่มีกำลัง ก็แสดงว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นั้นกล้าแข็งขึ้น

ท่านเห็นเคร็ดไหมครับ การรู้ทุกข์ที่ไรัตัณหา ก็คือ การฝึกฝนการรู้ทุกข์ด้วยกำลังแห่งสัมมาสติ สัมมาสมาธิ นั้นเอง เมื่อท่านฝึกแบบนี้ไปเรื่อย ๆ คือ หัดเข้าไว้ ในอาการที่รู้ทุกข์ที่ไร้ตัณหา หัดบ่อย ๆ หัดให้ชำนาญ ผลแห่งการหัดการฝึกแบบนี้ จะทำให้ท่านเกิดการคุ้นเคยแบบใหม่ที่ว่า การรู้ทุกข์แบบไร้ตัณหา

ดังนั้น เพียงท่านอยู่ในอาการกฏ 3 ข้อที่่ผมได้แนะนำไว้ คือ เพียงรู้สึกตัวแล้วสบาย ๆ อย่าได้เกร็ง อย่าได้เครียด อย่าอยากรู้สิ่งใด แต่ให้จิตเขารู้เอง นี่คือการฝึกฝนแห่งการรู้ทุกข์ที่ไร้ตัณหาแล้ว

ถ้าท่านนั่งสมาธิกำหนดลมหายใจ ถ้าท่านเกิดความอยาก ต้องการรู้ลมที่ปลายจมูก แล้วท่านก็ส่งจิตไปจับลมที่ปลายจมูก เพราะต้องการรู้ลมให้ชัดที่นั้น นีคือความอยากครับ ท่านกำลังต้องการรู้ลมด้วยตัณหา ซึ่งก็คือการปฏิบัติที่ไม่ตรงตามอริยสัจจ์ 4 ถ้าท่านไปอ่านในพระไตรปิฏกดูในหมวดอาณาปานสติ ไม่มีการกล่าวไว้เลยว่า ให้ไปรู้ลมที่ปลายจมูก คำสอนแบบนี้ให้ส่งจิตไปปลายจมูกก็มีมากเสียด้วย ทำให้คนเข้าใจกันไปใหญ่ว่า นี่คือการปฏิบัติที่ถูกแล้ว ซึ่งท่านพิจารณาได้เองครับว่า ผิดถูกเป็นเช่นไร

แล้วการรู้ลมหายใจ ถ้าไม่รู้ที่ปลายจมูก และต้องการรู้แบบให้ตรงตามอริยสัจจ์ 4 นั้น ปฏิบัติอย่างไร ผมแนะนำให้ท่านเข้าไปดูใน youtube ของกิจกรรมคร้ั้งทีี 1 ในนั้น ผมมีอธิบายไว้แล้ว

ในการปฏิบัติอื่น ๆ ก็เช่นกัน การเดินจงกรม หรือ อะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีความอยากแล้ว ก็จะไม่ตรงนะครับ ดังนั้นการฝึกฝนที่ดีขอให้ฝึกด้วยอย่าให้มีความอยากที่จะรู้เลยครับ เพราะความอยากจะสร้างตัณหาขึ้น เมื่อเกิดตัณหาขึ้น กำลังแห่งสัมมาสติสัมมาสมาธิก็จะ อ่อนแอ ลงไป

ในการฝึกฝนนั้น ขอให้ท่านฝึกไปแบบไร้ตัณหา รู้ทุกข์อริยสัจจ์ไปเรื่อย ๆ จะรู้ชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง และในบางโอกาส ไม่รู้บ้างก็ยังได้เลย ขออย่างเดียว ขอให้รู้สึกตัวแล้วอย่าให้มีตัณหา ก็ใช้ได้แล้วครับ

ท่านจะเห็นว่า การฝึกฝนตามอริยสัจจ์4 นั้น ถ้าเพียงเข้าใจ ก็จะฝึกได้ถูกทันที และก็ง่ายมากด้วยครับ เพียงแต่ว่า ท่านต้องหมั่นฝึกฝนไปเรื่อย ๆ อย่าใจร้อน อย่าได้มีความอยากในจิต แล้วผลแห่งการฝึกก็จะส่งผลให้เกิดกำลังจิตที่เพิ่มขึ้นอย่าางถูกทางในอริยสัจจ์ 4 ซึ่้งผลแบบนี้ก็คือ ตัณหาจะอ่อนแรงไปเรื่อย ๆ ถ้าตัณหาอ่อนแอมากเมื่อไร มันก็พร้อมจะถูกละได้เสมอ

ผมไม่เห็นด้วยกับคำสอนของหลาย ๆ สำนักที่ว่า ให้ฝึกแบบจดจ่อ จดจ้องไปก่อน เพื่อเพิ่มกำลังจิต แล้วไปพิจารณาวิปัสสนาภายหลังก็ได้ ผมเห็นว่า มันเป็นไปไม่ได้ครับกับการฝึกแบบจดจ่อแบบนี้ เพราะกำลังจิตที่เพิ่มขึ้น มันจะเพิ่มอำนาจของตัณหา ไม่ใช่การละตัณหาแบบที่สอนในอริยสัจจ์ 4

ในการฝึกฝนนั้น ขอท่านเพียงฝึกด้วยการรู้ทุกข์แบบไร้ตัณหา ส่วนสภาวะธรรมจะเป็นอะไรที่ท่านพบ มันไม่สำคัญเลยครับ ท่านพบแล้วก็แล้วกันไป ท่านไม่ต้องไปค้นหาว่ามันคืออะไรเลย เพราะสิ่งที่ท่านควรสนใจมาก ๆ ก็คือ การรู้ทุกข์อริยสัจจ์ที่ไร้ตัณหา อย่างอื่น ไม่ต้องไปวิจัย ไปค้นคิดอะไรด้วยเลย รู้แล้วก็แล้วกัน รู้แล้วทิ้งไปเลย ต่อเมื่อท่านฝึกรู้ทุกข์ที่ไร้ตัณหาไปเรื่อย ๆ สภาวะธรรมปรากฏอยู่แล้ว เมื่อวันดีคืนดี ท่านจะสะดุดธรรมโผล่งธรรมขึ้นมาได้เอง เมื่อเกิดการโผล่งธรรมได้ 1 ครั้ง ผลของมันก็คือ การตื่นตัวและเข้าใจธรรมได้มากขึ้นไป 1 ขั้นแล้ว เมื่อท่านโผล่งธรรมแล้ว 1 ครั้ง ท่านก็ทิ้งมันไปอีก อย่าได้ใส่ใจมันครับ ฝึกไปเรื่อย ๆ แล้ววันดี คืนดี ท่านก็จะโผล่งธรรมต่อไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าท่านยังไปติดใจในธรรมที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ การโผล่งในธรรมก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพราะท่านไปใช้จิตนึกคิดทำงานอยู่ในเรื่องธรรมเก่า ๆ ที่ท่านพบมาแล้ว ซึ่งเรื่องคิดธรรมนี้ ผมฝากไว้ให้ท่านพิจารณาเอาก็แล้วกัน เพราะมีคำสอนมากมายในไทยว่า ให้ใช้จิตนึกคิดธรรมเสมอ ๆ แต่ผมดันบอกว่า อย่าไปทำอย่างนั้น ซึ่งมันขัดกันอย่างเต็ม ๆ

การโผล่งธรรมขึ้นมา 1 ครั้ง จะทำให้จิตเข้าใจธรรมแบบที่ท่านมองไม่ออกว่าจิตได้เลื่อนขั้นอันดับไปแล้วแต่นักภาวนาไม่รู้ตัว แต่เมื่อไรก็ตาม ที่ท่านไปพบกับอาการที่เป็นทุกข์แล้วจิตไม่จับยึดทุุกข์นั้น นี่คือการผลแห่งการที่จิตรู้ธรรมเพราะโผล่งในธรรม ถึงตอนนั้นเมื่อไร ท่านจะเข้าใจได้เองครับว่า ทุกข์เพราะการยึดติดของจิตได้ลดลงไปแล้ว

อย่าตั้งความหวังว่า ให้จิตโผล่งธรรมบ่อย ๆ เพราะมันบังคับไม่ได้ ท่านต้องสร้างเหตุขึ้น ให้จิตอยู่ในสภาวะแห่งการรู้ทุกข์ที่ไร้ตัณหาบ่อย ๆ แล้วจิตเขาจะทำหน้าโผล่งธรรมของเขาเอง ถ้าท่านไปหวังหรือไปบังคับมัน มันจะไม่โผล่งธรรมออกมาเลยครับ ท่านอาจจะเข้าใจธรรมได้ดีขึ้นจากการคิดพิจารณาด้วยความคิด แต่การเข้าใจแบบนี้ พอเกิดเรื่องขึ้นมา จิตก็ยังไร้ปัญญาแล้วยังจับยึดทุกข์อยู่ แล้วท่านก็ยังทุกข์เหมือนเดิม

ปัญญาในพุทธศาสนานั้น ไม่จำเป็นที่ท่านต้องไปรู้ด้วยความคิด ขอให้จิตเขารู้จักก็พอแล้ว
แล้วจิตเขาจะทำหน้าที่ของเขาเองเพราะการมีปัญญาของจิต ทุกอย่างจะเดินหน้าแบบอัตโนมัติทั้งสิ้น บังคับไม่ได้เลย เพราะมันคืออนัตตา ครับ!

******
เรื่องท้ายบท

ลำดับความสามารถในการรับรู้สภาวะธรรม

1..คนธรรมดาที่ยังไม่ได้ฝึกฝน แต่เข้าใจเรื่องของสภาวะธรรมได้ในสิ่งทีเขาสัมผัสได้เอง

A.ตามองเห็น B.หูได้ยิน C.จมูกได้กลิ่น D.ลิ้นรู้รสได้ E.กายรู้สัมผัสได้

ซึ่งการรู้เท่านี้ก็ใช้ฝึกเพื่อเพิ่มกำลังสัมมาสติได้แล้ว

2..ในคนที่ฝึกฝนมาถูกทางแล้ว เขาจะสัมผัสได้มากขึ้นไปอีก คือ

ความสามารถในข้อ1 + รู้อาการของจิตปรุงแต่งได้

3..ในคนที่ฝึกมาถูกทางแล้ว และมีกำลังจิตเพิ่มขึ้นจากข้อ 2 เขาจะสัมผัสได้มากขึั้นไปอีก คือ

ความสามารถในข้อ2 + รู้จักความว่างของ.มโน./รู้จักจิตผู้รู้

4..ในคนที่ฝึกมาถูกทางแล้ว และมีกำลังจิตเพิ่มขึ้นมาจากข้อ 3

ความสามารถในข้อ3 + รู้จักความไม่เที่ยงของตัวจิต

5..ในคนที่ฝึกมาถูกทางแล้ว และมีกำลังจิตเพิ่มขึ้นมาจากข้อ 4
ความสามารถในข้อ4 + รู้จักสภาวะของสุญญตาที่ไม่มีตัวจิตอีกต่อไป

****

ท่านจะเห็นว่า ยิ่งกำลังจิตมีกำลังตั้งมั่นมากขึ้นเรื่อย ๆ การรู้สภาวะธรรมยิ่งมีมากขึ้นไปตามลำดับ













 

Create Date : 08 มกราคม 2555
16 comments
Last Update : 25 มกราคม 2555 20:18:31 น.
Counter : 1367 Pageviews.

 

ขอบพระคุณค่ะ. บทความนี้สำหรับเตือนตนเอง. ให้ฝึกอย่างไร้ตัณหา
เพราะบางครั้งเผลออยากเห็นชัดๆค่ะ. เริ่มใหม่ค่ะ

 

โดย: จิตติ IP: 124.121.193.167 8 มกราคม 2555 22:44:23 น.  

 


บทความนี้ แจ่มแจ้งชัดเจน ต่อการเข้าสู่มรรควิถี ผมขอแสดงความนับถืออย่างสูง ในคุณงามความดีของครู ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ ใครที่เข้ามาอ่านมาศึกษา ก็นับได้ว่า เป็นลูกศิษย์ลูกหากันมาก่อน ผมคนหนึ่งที่ปฏิบัติตามอยู่แล้ว และได้รับความกระจ่างขึ้นเป็นลำดับ เพราะว่าผมไม่เคยค้านคำสอนครู ภายในใจแม้แต่บทความใดก็ตาม จากประสบการณ์ของครู และกลั่นกรองมาเป็นบทความ ไม่ใช่ทำกัน ปี สองปี ครูผ่านอะไรมาหลายอย่าง ครูจะไม่แนะนำใครก็ได้ แต่ใจครับใจจริงๆ สิ่งที่ครูแนะนำเป็นเรื่องมุ่งตรงต่อ ที่พระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ จริงๆ มรรค และ อริยสัจจ์ ผมว่าตรงนี้แหล่ะที่ทุกคนต้องสนใจ นอกนั้นดาวกระจายครับ ไม่ถึงดาวใจซักกะที ขอบคุณครูครับ

 

โดย: ทางเดียวกัน IP: 118.172.23.156 8 มกราคม 2555 23:23:36 น.  

 

ได้อ่านอย่างช้าๆและทำความเข้าใจที่อาจารย์อธิบาย
- การฝึกฝนแห่งการรู้ทุกข์ที่ไร้ตัณหา
- ผลการปฏิบัติเป็นลำดับขั้นได้แจ่มแจ้งยิ่งนักคะ

เมื่อก่อนก็ติดกับสภาวะธรรมที่เกิดคะและสงสัย
คอยค้นหาคำตอบ จนละเลยการปฏิบัติไป
ระยะหลังๆนี้ผ่านมาเกือบปี ภาวะต่างๆก็เกิดอยู่
แต่ตอนนี้แค่ รู้และดูไปเท่านั้นตามคำแนะนำคะ

แต่ละวันมีเรื่องราวเข้ามาให้ทดสอบมากมายจริงๆคะอาจารย์
หากไม่ได้พบเจอบล็อคและไม่ได้ฝึกฝนตามที่อาจารย์แนะนำ
ตนเองคงมีเรื่องทุกข์ใจไม่ใช่น้อย
ตอนนี้ถึงจะมีทุกข์ ก็มาแบบแว๊บๆ แล้วก็หายไปคะ

ขอบพระคุณและอนุโมทนาสาธุ

 

โดย: Nim IP: 124.121.159.178 8 มกราคม 2555 23:24:26 น.  

 

ขอบคุณครับ สำหรับข้อปฏิบัติ, ข้อแนะนำแนวทางเพื่อพ้นจากทุกข์ ถึงตอนนี้ผ่าน 10 เดือนแล้ว สภาวะต่าง ๆ คล้ายคุณ Nim ทุกข์ที่เกิดขึ้นกับใจเทียบก่อนฝึกกับตอนนี้ต่างกันได้ชัด

 

โดย: Num IP: 61.19.90.30 9 มกราคม 2555 12:27:47 น.  

 

อนุโมทนาบุญคะ

 

โดย: แม่ลูกสอง IP: 180.183.242.214 9 มกราคม 2555 12:46:15 น.  

 

ขอบคุณมากครับ^^

 

โดย: [D]-hunter IP: 223.204.233.45 9 มกราคม 2555 17:07:46 น.  

 

ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ พออ่านแล้วรู้สึกจิตมันคลิ๊กเลยค่ะ คำว่ารู้ทุก
ข์แบบไร้ตัณหา

 

โดย: ลัดดา IP: 110.168.42.112 10 มกราคม 2555 13:00:06 น.  

 

ขอบคุณครับ

 

โดย: Pisith IP: 182.53.12.59 11 มกราคม 2555 20:31:14 น.  

 

ขอบคุณค่ะ

 

โดย: nong IP: 49.49.125.78 12 มกราคม 2555 14:33:22 น.  

 

ขอขอบพระคุณ อ.นมสิการเป็นอย่างมาก ท่ีมีคำชี้แนะมาฝากอยู่ เสมอ ผมอ่านแล้วก็เทียบเคียงกับที่ผมปฏิบัติ ทำให้เข้าใจได้เป็นอย่างดีว่าที่ทำมา อยู่ตรงจุดไหน ไปถึงไหน ซึ่งคำแนะนำของอาจารย์ก็เป็นเสมือนครูท่ีคอยตรวจข้อสอบให้ผมได้ เป็นอย่างดี ขอกราบขอบพระคุณอีกครั้ง

 

โดย: เขาสมมุติให้ชื่อว่าอริยะ IP: 118.172.185.215 15 มกราคม 2555 19:22:44 น.  

 




***มีความรู้สึกตัวอยู่ในความรู้สึกของตนอยู่เสมอ***

 

โดย: เห็นจิตในจิต IP: 125.25.36.203 16 มกราคม 2555 6:44:42 น.  

 

แล้วถ้า จิตอยู่ดีๆ มันนึกมันคิดเอง ล่ะ เราต้องบังไม่ให้มันฟุ้งด้วยหรือป่าว ต้องคุมไม่ให้มันฟุ้งด้วยหรือป่าว เราไม่ได้คิดแต่อยู่ดี มันฟุ้งทิ้งองค์ภาวนา ไปนึกเองโดยอัตโนมัติ อันนี้ต้อง บังคับมันไหม
คือมันเวลา จิตเราฝึกอยู่พอมันไม่มีอะไรให้คิด จิตมันดันทะลึงไปนึกโน่นเห็นนี่ คิดของมันเอง อันนี้ฟุ้งซ่านแแบบนี้ ทำไงดี ต้องคุมบังคับไม่ให้คิดด้วยหรือป่าวคับ


ฝึกเองที่บ้านคับ ยังไม่ได้บวช

 

โดย: ไตรรัตน์ IP: 125.25.33.122 17 มกราคม 2555 8:34:53 น.  

 

ขอบคุณมากคะสำหรับบทความดีๆ ปฎิบัติตามอยู่คะ

 

โดย: แม่ Dr IP: 202.8.78.49 17 มกราคม 2555 8:57:16 น.  

 

ขอบพระคุณค่ะ

 

โดย: นพ IP: 110.171.6.113 17 มกราคม 2555 13:54:39 น.  

 

ตอบคุณ ไตรรัตน์

ที่ถามมา คุณต้องดูก่อนว่า คุณต้องการอะไรครับ

1..ถ้าคุณต้องการหยุดคิด ถ้ามันคิด เมื่อรู้สึกตัวแล้ว ก็พยายามดึงมันไว้ครับ อย่าให้มันคิด อันนี้คุณต้องการความสงบ ก็ทำแบบนี้ครับ

2..ถ้าคุณไม่สนใจในความคิด คือ จะคิดก็ไม่เป็นไร ไม่คิดก็ไม่เป็นไร อันนี้ต้องดูอีกว่า

2.1 ถ้าคุณไปคิด คุณยังรู้สึกตัวได้ดีอยู่หรือไม่ ถ้าคิดแล้วไม่รู้สึกตัว อันนี้ ผมแนะนำให้หยุดความคิดมันซะ แต่ถ้า

2.2 คุณไปคิด แล้วคุณยังรูุ้สึกตัวได้อยู่ ก็ปล่อยมันคิดไปครับ เพราะความคิดที่เป็นอิสระแบบนี้ จะสร้างปัญญาให้แก่คุณได้อย่างดีเยี่ยม

***
อย่าไปเข้าใจว่า ความคิดคือความฟุ่งซ่านครับ

กรณีที่ 1
ความคิด ถ้าเป็นความฟุ่งซ่าน ก็ต่อเมื่อ คุณคิดแล้ว คุณหลงไปกับความคิด คุณคุมมันไม่ได้ เดียวคิดเรื่องนี้ ต่อเรื่องโน่น คิดไม่หยุดและไม่รู้สึกตัว

กรณีที 2
ความคิด คุณคุุมมันได้ คุณคิดไป จะหยุดมันก็ได้เมื่อต้องการ อย่างนี้ไม่ใช่ความฟุ่งซ่านครับ ถ้าคุณตั้งใจคิด มันก็เป็นปัญญาทางโลก ถ้าคุณปล่อยให้จิตมันคิดเองอย่างอิสระ แต่คุณรู้อยู่ อย่างนี้เป็นปัญญาทางธรรม

**คงไม่งงนะครับ ถ้างง อ่านซ้ำหลาย ๆ รอบครับ

 

โดย: นมสิการ 17 มกราคม 2555 16:09:56 น.  

 

ผมจำเป็นต้องปิดการเขียนของท่านผู้อ่าน เนื่องจากกฏหมายอินเตอร์เนท

ท่านที่จะสนทนา หรือ ถามคำถาม ขอให้ส่ง email ถึงผมได้ที่
asknamasikarn@gmail.com

หรือสำหรับสมาชิก pantip จะส่งมาทางหลังไมค์ก็ได้เช่นกัน

 

โดย: นมสิการ 25 มกราคม 2555 20:18:50 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


นมสิการ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 142 คน [?]




หลักปฏิบัติ ...รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ

มากกว่า 20 ปีที่ไปหลงทำสมถภาวนาแบบสมาธิแบบฤาษีโดยที่ไม่รู้จักกับคำว่า อะไรคือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผลที่ได้คือความสงบขณะกำลังนั่งสมาธิจนตัวนิ่งแข็งเป็นก้อนหิน แต่ผลข้างเคียงตามมาก็คือการเป็นคนเจ้าโทสะอย่างรุนแรงขณะเวลาไม่ได้นั่งสมาธิ และ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน....

จนได้พบกัลยณมิตรแดนไกล ที่ได้ชักนำให้มารู้จักวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จนได้พบกับพระอาจารย์ในสายหลวงพ่อเทียน ที่ผมได้เรียนการปฏิบัติจากท่าน จนเข้าใจว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คืออะไร แล้วลงมือฝึกฝน การปฏิบัติก็รุดหน้าและได้ลิ้มรสสิ่งบริสุทธิในจิตใจอันเป็นผลจากการปฏิบัติด้วยเวลาเพียง 5 ปี

ธรรมปฏิบัติจากฆราวาสเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทย ผมรู้ได้จากที่เขียนใน blog ผมได้พบกับการก่อกวนใน blog การเขียนเหน็บแนม กระแหนะกระแหน ตำหนิการการปฏิบัติที่ผมเขียนใน blog ว่าผิดทาง เขียนแบบคาดเดาเอา ไม่รู้จริง ให้ผมหยุดเขียนแนวนี้ได้แล้ว และไปโมทนาสาธุแนะนำการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีให้กับผมอีกว่านี่คือทางที่ถูกต้อง ...

บทความใน blog จึงเกิดขึ้นมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนา
แก่ผู้อื่นที่กำลังเดินทางในสายแห่งอริยมรรคนี้

เมื่อท่านได้เข้ามาอ่านข้อเขียนใน blog กรุณาอย่าได้เชื่อผมจนกว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแล้วและพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง

**กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผมทาง e-wallet ครับ **

******
บทความต่าง ๆ ใน blog นี้
ขอสงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ห้ามนำไปดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

****
New Comments
Friends' blogs
[Add นมสิการ's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.