รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ **กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผม ทาง e-wallet ครับ** **ผมขอสงวนสิทธิการเป็นเจ้าบ้านของ blog ลบข้อเขียนใดๆ ก็ได้ใน blog นี้ตามที่ผมเห็นสมควร**
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
19 กรกฏาคม 2554
 
All Blogs
 
เจาะให้เข้าถึงการปฏิบัติแบบ.หลวงพ่อเทียน.

หลวงพ่อเทียน พระภิกษุผู้ไม่รู้หนังสือ แต่วิธีการปฏิบัติของท่านที่นำมาสอนนักภาวนานั้นไม่ธรรมดา นอกจากจะเรียบง่าย แต่อุดมไปด้วยคุณภาพอย่างแท้จริง ผู้ที่จะเข้าใจวิธีการของท่านได้อย่างแจ่มแจ้งได้ จะต้องฝึกฝนจนเห็นขบวนการทำงานของจิตได้แล้วเป็นอย่างดี

จุดอ่อนของพระวิปัสสนาจารย์สายหลวงพ่อเทียน คือ ไม่บอกอะไรมาก จะบอกก็บอกเพียงพื้น ๆ เพียงแต่บอกให้เคลื่อนมือไปตามรูปแบบที่หลวงพ่อให้ไว้ บ้างก็ว่า 14 จังหวะ บ้างก็ว่า 15 จังหวะ แต่ในครั้งแรกเริ่มนั้น คนที่ได้ฝึกกับหลวงพ่อเทียนรุ่นแรก ๆ จะทราบว่า มี 17 จังหวะ แต่กี่จังหวะ ไม่ใช่จุดสำคัญครับ แล้วอะไรที่สำคัญ ขอให้อ่านต่อไป ผมจะขยายความให้ท่านได้ทราบ

เมื่อพระวิปัสสนาจารย์ไม่สอนอะไรมาก คนเข้ามาฝึกใหม่ ก็จะไม่เข้าใจหลักการของการเคลื่อนมือแบบหลวงพ่อเทียน เวลาฝึก ก็เพียงการเคลื่อนมือไปเท่านั้น เมื่อไม่เข้าใจในแก่นและหลักการ การฝึกก็ไม่ได้ผลครับ

ในเทคนิคของหลวงพ่อเทียนนั้น จะกี่จังหวะไม่สำคัญครับ สำคัญที่ว่า จะต้องมีการเคลื่อน และ จะต้องมีการหยุดเคลื่อนครับ ถ้าเคลื่อนแบบไม่หยุด นี่ไม่ใช่วิธีการของหลวงพ่อเทียนครับ ผมเห็นตามสถานที่ปฏิบัติแบบหลวงพ่อทียน ผู้ฝึกเคลื่อนแบบไม่หยุดติดต่อกันไป อย่างนี้แสดงว่า คนฝึกไม่เข้าใจวิธีการแล้วครับ

1..ทำไมต้องเคลื่อน

ขณะเคลื่อนนั้น เมื่อกายไหว จะเป็นธาตุลมครับ เมื่อสติไปรับรู้การเคลื่อน (อ่านดี ๆ นะครับ รับรู้การเคลื่อน ไม่ใช่รับรู้มือที่เคลื่อน ซึ่งไม่เหมือนกันนะครับ ) อย่างนี้ สติไประสึกรู้ธาตุลม ครับ ซึ่งจะเหมือนกับการรับรู้ลมหายใจเช่นกัน ที่ไปรับรู้อาการสั่นไหว อาการเคลือนไหวอันเนื่องจากลมหายใจ (อย่างสายพองยุุบ นั้นแหละครับ เหมือนกันเลยครับ )

การรับรู้การเคลื่อนการไหว หรือ การรู้ลม นี้คือ การฝึกสติครับ ทำให้จิตมีกำลังมากขึ้น ซึ่งตอนนี้เป็น.สมถะภาวนา.ครับ

นักปริยัติที่เข้าใจว่า การเคลื่อนมือแบบหลวงพ่อเทียนเป็นสมถะ นี่ถูกครึ่งหนึ่งครับ ถูกในตอนที่สติไปรับรู้การเคลื่อนการไหวครับ

1.1....ปัญหาของนักภาวนาต่อไปก็คือ เคลื่อนเร็วหรือเคลื่อนช้าดีละ

การเคลื่อนนั้น ขอให้เคลื่อนเป็นธรรมชาติแบบผ่อนคลายสบาย ๆ ครับ (อ่านดี นะครับ ผมเน้นว่า เป็นธรรมชาติที่ผ่อนคลาย จุดนี้สำคัญครับ )

คุณเคยเดินเล่นชมสวนไหมครับ คุณเดินไปธรรมดา ไม่มีอะไรต้องทำ ดูดอกไม้ ดูผีเสื้อ ลมเย็น ๆ ฟังเสียงนกร้องไป คุณจะเห็นว่า คนเดินชมสวน เขาเดินไม่เร็วแต่ก็ไม่ช้านะครับ ให้เคลื่อนมือแบบนั้น

ผมจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้คุณเห็นภาพต่อไป คุณเคยดูหนัง Matrix ไหมครับ ที่เขาเคลื่อนไหวช้าๆ แบบ slow motion ถ้าแบบนั้น ช้าไปครับ ไม่เป็นธรรมชาติ
ในทำนองเดียวกัน คุณเคยปวดท้องถ่ายไหมครับ สุขาอยู่ห่างออกไปสัก 100 เมตร คุณจะเดินอ้าวอย่างไม่คิดชีวิต นั้นคือ เดินเร็วไปด้วยความอยากครับ

เมื่่อจิตใจนักภาวนาเป็นธรรมชาติของเขาที่ผ่อนคลาย ในจิตนั้นจะไม่มีอะไรปรุงแต่งอยู่ สติที่ไปรับรู้อาการเคลื่อนการไหวจึงจะมีประสิทธิภาพที่ดีในขณะนั้น

ในทำนองเดียวกัน การเคลื่อนช้ามากไป แบบ slow motion หรือ เคลื่อนไหวด้วยความอยาก จิตใจจะมีการปรุงแต่งไม่เป็นธรรมชาติอยู่ครับ สติที่ไปรับรู้อาการจะไม่มีประสิทธิภาพครับ

โดยเฉพาะการเคลื่อนแบบ slow motion นั้นจะเป็นการจงใจมาก จิตจะถูกกดข่มไว้ให้นิ่ง ทำให้นักภาวนาที่ไม่เข้าใจจะนึกว่า เคลื่อนแบบนี้ดีจริง ๆ ซึ่งเขาเข้าใจไม่ตรงนะครับ

1.2...ถ้าใครได้ฟังซีดี หรือ อ่านหนังสือหลวงพ่อเทียน เวลาเคลื่อน ท่านจะบอกว่า ให้รู้สึก
ท่านไม่ให้จ้องมือที่เคลื่อน แต่ให้รู้สึกถึงการเคลื่อนการไหวที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ท่านสอนให้ลืมตา มองไปไกล ๆ ไม่ต้องบริกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น นี่คือการวางจิตในขณะฝึกฝนครับ ที่เป็นเรื่องสำคัญมากที่นักภาวนามักไม่เข้าใจกัน พอไม่เข้าใจ การฝึกก็ไม่ได้ผลครับ

การรับรู้ความรู้สึกแบบนี้ ก็คือ สิ่งที่ผมเขียนไว้ว่า ให้รับรู้ที่.มโน. ครับ
(อ่านเรื่อง รู้ที่ลอย ๆ คือ รู้อย่างไร //www.bloggang.com/mainblog.php?id=namasikarn&month=03-07-2011&group=15&gblog=29)

เมื่อฝึกเคลื่อนไหวด้วยการวางจิตที่ถูกต้อง ผลออกมาก็คือ สติจะมีกำลังและตั้งมั่นครับ



2..ทำไมต้องหยุด

การหยุดนั้น เป็นเคร็ดวิชาหลวงพ่อเทียนทีเดียว ถ้าไม่หยุด นั้นไม่ใช่วิชาหลวงพ่อเทียนครับ

ในการเคลื่อนมือแบบหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อท่านเคลื่อนแล้วหยุด แล้วเคลื่อนต่อ เป็นจังหวะ จังหวะไปแบบนี้ครับ

ในคนที่เข้ามาฝึกฝนนั้น กำลังแห่งตัณหายังมากอยู่ เมื่อเขากำลังฝึกฝนนั้น ในขณะที่เขาเคลื่อนมือ นั้น ตอนนี้ เป็นการสะสมกำลังจิต เหมือนการ charge battery ครับ พอเขาหยุดเคลื่อน ทีนี้พอเขาจะเคลื่อนอีกต่อไป จะมีเหตุการเกิดขึ้นก็คือ เขาจะคิดก่อนครับว่าจะเคลื่อนมือต่อไปแล้วนะ (เขายังไม่เห็นความคิดตัวนี้นะครับ เพราะกำลังสติยังอ่อนแอมาก ) พอเขาคิดแล้วเคลื่อนเท่านั้น จะมีเหตุการณ์ที่เกิดได้ 2 อย่างครับ คือ

2.1 เขาจะเผลอแว๊บหนึ่ง
2.2 จิตของเขาจะวิ่งไปจับมือที่กำลังจะเคลื่อนออกจากการหยุด

ซึ่งเหตุการณ์ทั้ง 2 นั้น ก็คือ อาการที่จิตยังไม่ตั้งมั่นพอ นักภาวนาจะรู้ได้ว่าเกิดแล้ว และอาจเกิดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ เกิดได้ทั้ง 2 อย่างเลยก็ได้ครับ

นักภาวนาส่วนมากจะไม่เข้าใจ เพราะวิปัสสนาจารย์สายหลวงพ่อเทียนมักไม่สอน พอเกิดอาการข้อ 2.1 / 2.2 ก็ไม่เข้าใจ เลยคิดวา วิธีนี้ไม่ดีเลย ฝึกแล้วจิตไม่นิ่ง ไม่ถูกจริต ใช้ไม่ได้ ก็เลยเลิกไปเสีย

นี่เพราะความไม่รู้จัก เพราะความไม่เข้าใจว่า อะไรคือของดีนี่เองครับ

นักภาวนาหน้าใหม่ เมื่อมาฝึก กำลังสัมมาสติอ่อนแอมาก เขาจะ.รู้.อาการข้อ 2.1/2.2 ได้
นี่ยัีงไม่ใช่ระดับวิปัสสนาครับ แต่การรู้ในข้อ 2.1/2.2 นี่เอง จะทำให้เกิดสติอย่างอ่อน ๆ เพิ่มขึ้นมาทุกครั้งที่เขารู้ว่าอาการ 2.1/2.2 เกิดขึ้นแล้ว พอรู้มาก เข้า กำลังสติจะเพิ่มมากขึ้นเองจากการรู้นั้น นี่เป็นการฝึกสติที่ดีมากในขณะที่หยุดนี่เองครับ

พอกำลังของสติมากขึ้นจากการฝึกเคลื่อนแล้วหยุดนี้ พอฝึกไปมาก ๆ เข้า กำลังจิตจะตั้งมั่นมากขึ้น ทีนี้ อาการ 2.1/2.2 จะเกิดการ.เห็น.ได้ครับ ซึ่งพอเห็นได้แล้วอย่างนี้ นี่คือ วิปัสสนา จึงจะเกิดครับ


ทีนี้ พอฝึกต่อไปอีก จิตที่ตั้งมั่นมากขึ้น อาการที่จิตเผลอแว๊บไปหรือเคลื่อนไปจับที่มือก็จะลดน้อยลงไป แต่นักภาวนาจะเห็นความคิดโผล่มาบ่อยขึ้น ในจัวหวะที่เคลื่อนมือ-หยุดเคลื่อน นี่่เองครับ
ซึ่งการเห็นความคิดนี่คือ วิปัสสนา ครับ

การเห็นความคิดด้วย วิปัสสนา นั้น จะส่งผลต่อไปให้เกิดความก้าวหน้าในการภาวนาได้ ยิ่งเห็นมาก เห็นได้บ่อย ยิ่งก้าวหน้าได้เร็ว ถ้าไม่เห็น จิตนิ่ง ๆ นี่ซิครับ ไม่ก้าวหน้านะครับ ขอให้นักภาวนาได้ทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ตรงด้วย

****************
การที่สติไปจับความคิดที่โผล่มาได้แบบไม่ต้้งใจ จะส่งผลให้เกิดแสงแห่งจิตไปทำลายชั้นของกิเลสลงไปทีละนิด เมื่อชั้นของกิเลสถูกทำลายเบาบางลง แสงแห่งจิตยิ่งเปล่งประกาย เมื่อชั้นของอนุสัยถูกทำลาย แสงแห่งจิตยิ่งเจิดจ้า แล้วจิตก็เป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง

กลเม็ดแห่งวิชาเคลือนแล้วหยุดแบบนี้ ทำให้เกิดขบวนการดังกล่าวข้างต้นในการทำลายกิเลส และ การเข้าถึงทีสุดแห่งทุกข์ จึงเป็นทั้ง สมถะและวิปัสสนา ด้วยเหตุดังกล่าว

*********
Update July 21,2011

ในขณะที่เคลื่อนมือนั้น เป็นการสะสะมความรู้สึกตัว (สัมปชัญญะ)
ในขณะที่หยุด แล้ว จะเคลื่อนมืออีกครั้งหนึ่งนั้น จะมีการคิดเกิดขึ้น
แต่เนื่องจากกำลังสัมมาสติยังอ่อนมาก นักภาวนาจะไม่รู้ว่าตัวเองกำลังคิดจะเคลื่อนมือ
แต่เมื่อจิตไหลออกไป เช่น เผลอ (ข้อ 2.1) หรือ จิตวิ่งไปจับมือที่จะเคลื่อน (ข้อ 2.2 ) การไปรับรู้อาการ 2.1/2.2 นี้คือ สติที่ไปรับรู้ในขณะที่กำลังมีความรู้สึกตัว

การฝึกเคลื่อนแล้วหยุด แบบนี้ จึงเป็นการฝึกฝน สัมปัชัญญะ + สติ ตามสติปัฏฐาน 4 ที่ว่า อาตาป สัมปชาโน สติมา

นี่คือเคร็ดวิชาหลวงพ่อเทียนที่สอนลูกศิษย์ตามหลักของสติปัฏฐาน 4 อย่างตรงทาง ไม่อ้อมค้อม ไม่มีอะไรผิดไปจากคำสอนของพระพุทธองค์แต่อย่างใด




Create Date : 19 กรกฎาคม 2554
Last Update : 29 มกราคม 2555 14:45:09 น. 20 comments
Counter : 3695 Pageviews.

 
ขอบคุณมากครับ สำหรับคำขยายความว่าทำไมต้องหยุดเคลื่อนมือ เคยสัมผัสอาการตามข้อ 2.1 และข้อ 2.2 ไม่เข้าใจ เลยคิดแบบไม่รู้จริง ๆ ไปว่าเราทำได้ไม่ดีเลยหยุดสร้างจังหวะไปพักใหญ่ ๆ เลยครับ


โดย: หนุ่ม IP: 61.19.90.30 วันที่: 19 กรกฎาคม 2554 เวลา:13:38:47 น.  

 
ขอบคุณมากๆๆค่ะ อธิบายได้เข้าใจชัดเจนมากค่ะ


โดย: ืnotenook IP: 113.53.205.164 วันที่: 19 กรกฎาคม 2554 เวลา:16:15:12 น.  

 
อยากจะอ่านที่คุณเขียนแบบเริ่มต้น สำหรับการปฎิบัติ จะเริ่มจากไหนไปไหนคะ


โดย: ืnotenook IP: 113.53.205.164 วันที่: 19 กรกฎาคม 2554 เวลา:16:20:31 น.  

 
การเริ่มใหม่ ให้อ่านที่นี่ก่อนครับ
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&group=7


โดย: นมสิการ วันที่: 19 กรกฎาคม 2554 เวลา:16:54:43 น.  

 
ขอบคุณสำหรับบทความที่เพิ่มความเข้าใจมากขึ้นค่ะ และมีคำถามรบกวนคุณนมสิการด้วยค่ะ คือตอนนี้รู้สึกได้ถึงการไม่มีความคิด เหมือนเรารู้สึกว่าเราคิดแล้วรู้ตัว แล้วกล้บมาอยู่กับการไม่มีความคิดได้บ่อยขึ้น (ไม่แน่ใจว่าเรียกว่าเรียกว่าอะไรมันชัดอธิบายไม่ถูกค่ะ) แบบนี้มันจะเป็นการเพ่งมองความคิดหรือเปล่าคะ และรู้สึกชัดมากทั้งรู้สึกได้ถึงร่างกายกำลังทำอะไรอยู่ และความคิด ขอคำแนะนำด้วยค่ะว่าอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ และถ้าเรารู้สึกตัวว่าคิดแล้วเราตัดมาอยู่กับการไม่มีความคิดแบบนี้ใช่หรือไม่คะ ถ้าไม่ถูกต้องทำอย่างไรต่อไป ขอบคุณมากค่ะ


โดย: สิริพร IP: 118.174.61.32 วันที่: 19 กรกฎาคม 2554 เวลา:20:09:22 น.  

 
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=namasikarn&month=03-07-2011&group=15&gblog=29)

อ.นมสิการครับ ลิงค์ที่ อ.ให้มานี้
เข้าไปแล้ว ไม่มีข้อมูลเลยครับ


ขอบคุณ อ.มากครับที่อุตส่าห์เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา
ชอบหลวงพ่อเทียน พระธรรมดาที่เรียบง่าย
แต่น่านับถือยิ่ง


โดย: หมีติดปีก IP: 118.172.2.84 วันที่: 20 กรกฎาคม 2554 เวลา:0:53:50 น.  

 
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=namasikarn&month=03-07-2011&group=15&gblog=29

เรื่อง รู้ที่ลอย ๆ คือ รู้อย่างไร

ลองเข้าไปดูใหม่ครับ ผมก็เข้าได้ครับ อาจเป็นที่เวป pantip ระยะนี้รู้สึกมันจะเอ๋อบ่อย ๆ ครับ


โดย: นมสิการ วันที่: 20 กรกฎาคม 2554 เวลา:6:46:20 น.  

 
ตอบ คุณสิริพร

ที่ถามมานั้น ยากมากครับ ที่ผมจะตอบได้ว่า นั่นคือการเพ่งความคิดหรือไม่ เพราะสภาวะแห่งการไปรู้ แล้วเพ่งหรือไม่เพ่ง นั้น ผู้อื่นยากที่จะตอบแทนนักภาวนาได้ครับ

ในความเห็นของผมนั้น คำว่า เพ่งนั้น มันมีทั้งถูกและไม่ถูกครับ ขึ้นกับสภาวะของนักภาวนาและสิ่งที่ไปเพ่งด้วย เช่น
การเข้าไปรับรู้ความรู้สึกที่ .มโน. นั้น อย่างนี้ก็เพ่งแต่ไม่ผิดครับ
แต่ถ้าไปรับรู้ทีมือที่กำลังเคลื่อน อย่างนี้ก็เพ่งแต่ผิดครับ

ผมแนะนำอย่างนี้ครับ

เมื่อคุณเข้าใจสภาวะแห่งการไม่มีความคิด และ มีความคิดได้แล้ว ก็ขอให้มีเพียงความรู้สึกตัวที่ผ่อนคลาย สบาย ๆ ไป ถ้ามีความคิดเกิดแล้วไปเห็นมันแล้วความคิดมันหยุดลงไป อย่างนี้ก็ดีแล้ว ก็เพียงมีความรู้สึกตัวที่ผ่อนคลายตามเดิมอีก อย่าได้กังวลใจว่า เป็นการเพ่งความคิดหรือไม่ หรือ ถ้าต้องการจะดูว่าตอนนี้มีความคิดเกิดหรือไม่ ก็อาจเพ่งเข้าไปมองก็ได้ครับ แต่ขอให้มองเพียงแว๊บเดียวสัก 1 วินาทีก็พอ พอรู้แล้วก็หยุดมอง แต่ถ้านักภาวนามีกำลังจิตพอสมควรแล้ว อาจจะรู้สึกว่า ทำไมเหมือนมองตลอดเวลาคล้ายๆ กับกำลังเพ่งอยู่ ซึ่งอย่างนี้ก็ไม่ใช่เพ่งครับ แต่เป็นเพราะกำลังของจิตที่มันแผ่กว้างออก ก็ดูเหมือนเพ่งไป

***ทำใจให้สบายครับ ถ้าไม่มีทุกข์เกิดขึ้น รู้สึกสบาย ๆ ผ่อนคลาย เสมอ ๆ *****


โดย: นมสิการ วันที่: 20 กรกฎาคม 2554 เวลา:6:49:18 น.  

 
ตอบคุณหมีติดปีก

ผมรู้แล้วครับว่า ทำไมคุณเข้าไม่ได้ เพราะท้าย Link มีเครื่องหมายวงเล็บปิดอยู่ นั้นเองครับ


โดย: นมสิการ วันที่: 20 กรกฎาคม 2554 เวลา:6:51:03 น.  

 
ขอบคุณคุณนมสิการมากๆ ค่ะ สำหรับคำแนะนำที่เป็นแนวทางในการปฏิบัติ


โดย: สิริพร IP: 118.174.61.32 วันที่: 20 กรกฎาคม 2554 เวลา:7:49:26 น.  

 

ใช่ครับ อ.ได้มาดูอีกครั้งเป็นเช่้นนั้นจริง
ขอบคุณครับ : )


โดย: หมีติดปีก IP: 101.109.9.45 วันที่: 20 กรกฎาคม 2554 เวลา:21:31:54 น.  

 
บทความเยี่ยมมากครับ อธิบายได้ละเอียดลึกซึ้ง

ขออนุญาติในความเห็นของผมอาจจะไม่ใช่ก็ได้

อย่างคุณสิริพร ทำไปเรื่อยๆ
ก็จะ clear ข้อสงสัยต่างๆ ไปหมดได้เองแล้วครับ

ไม้ได้ถูกปักแน่นลงในเลนได้บ้างแล้ว ในกระแสของความคิด
ที่ไหลเชี่ยวกราก พอปักได้บ่อย จะสามารถสืบสาวต้นกระแส
ความคิดได้

ขอเพียงทำต่อไป ต่อไป ตามสบายตามสบาย อย่างบทความ
มันง่ายจริงๆ และก็ยากจริงๆ

อนุโมทนาในความกรุณา และความมุ่งมั่นในการถ่ายทอด
ของเจ้าของ blog จริงๆ


โดย: ิbilly IP: 119.46.176.222 วันที่: 22 กรกฎาคม 2554 เวลา:10:17:55 น.  

 
อนุโมทนา ครับ


โดย: ทำไม่เป็น IP: 58.9.223.137 วันที่: 22 กรกฎาคม 2554 เวลา:20:55:27 น.  

 
" การที่สติไปจับความคิดที่โผล่มาได้แบบไม่ต้้งใจ จะส่งผลให้เกิดแสงแห่งจิตไปทำลายชั้นของกิเลสลงไปทีละนิด เมื่อชั้นของกิเลสถูกทำลายเบาบางลง แสงแห่งจิตยิ่งเปล่งประกาย เมื่อชั้นของอนุสัยถูกทำลาย แสงแห่งจิตยิ่งเจิดจ้า แล้วจิตก็เป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง "

อนุโมทนาสาธุคะ


โดย: Nim IP: 110.169.182.111 วันที่: 22 กรกฎาคม 2554 เวลา:22:48:12 น.  

 
" การที่สติไปจับความคิดที่โผล่มาได้แบบไม่ต้้งใจ จะส่งผลให้เกิดแสงแห่งจิตไปทำลายชั้นของกิเลสลงไปทีละนิด เมื่อชั้นของกิเลสถูกทำลายเบาบางลง แสงแห่งจิตยิ่งเปล่งประกาย เมื่อชั้นของอนุสัยถูกทำลาย แสงแห่งจิตยิ่งเจิดจ้า แล้วจิตก็เป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง "

ประโยคนี้เป็น ไฮไลท์ จริงๆ แต่ไม่ได้อธิบายถึงว่า มันทำลายชั้นของกิเลสได้อย่างไร

ในความคิดเห็นของผม

ทำลายได้โดยปัญญา (หลังจาก เหตุการณ์ ==การที่สติไปจับความคิดที่โผล่มาได้แบบไม่ต้้งใจ==
โดย หวน วิเคราะห์ ว่า ความคิดมันมาจากไหน
ก็ต้องใช้ความคิดวิเคราะห์ แต่ไม่ใช่ขณะเกิดเหตุการณ์

เนื่องจาก ความคิด มีมาเป็น 5 ประเภท และมากมาย
ก็คือ มาค่อยๆ รู้ที่ละนิดทีละนิด จนเมื่อ ครบหมด
เ้ข้าใจ คลุมทุกประเภท ก็จะ เ้ข้าใจแจ่มแจ้งว่า
ล้วนเป็น เพราะเรา หลงคิด แล้ว เผลอคิดนั่นเอง

หยุดคิดได้หรือไม่ (ไม่ได้เพราะ มนุษย์คิดตลอดเวลา)
สรุปแล้ว จะสามารถหยุดทุกข์ โดย

ฝึกไม่เผลอให้ ไปยึดติดกับความคิด ต้องฝึก ตลอด
ชั่วชีวิต (แนวความคิดผม อาจจะไปทำความผิดหวัง
ให้แนวความคิดเดิมต้องขอโทษครับ จิตมันไม่ได้ เจิดจ้า มีแสง
อะไรหรอก ไม่ได้สว่างอะไร ไม่วิเศษอะไร แค่เพียง ได้
เข้าใจ ได้รู้ ++ตรงข้ามกับความไม่รู้ หรือ อวิชชา+++
ธรรมดาๆ เท่านั้นครับ)

แสงแห่งจิต = ความเข้าใจ = ปัญญา

ขอโทษในความคิดเห็นที่อาจจะใช่หรือไม่ใช่
ทุกอย่าง ต้องใช้ กาลามะสูตร 10 คืิอ
ไม่เชื่ออะไรเลย ทั้งหมด ปฏิบัติเองอย่างเดียว
เพราะมันต้องเข้าใจด้วยตัวเองจริงๆ

ผมอาจจะอธิิบายง่ายเกินไป ยุคปัจจุบันเกินไป
ไม่ใช้ศัพท์แสงเลย ต้องขอโทษ
ขอบคุณ ท่านเจ้าของ blog ในความเอื้อเฟื้อ
เก็บองค์ความรู้สำหรับมนุษยชาติ เปิดโอกาส
ให้แสดงความคิดเห็น


โดย: billy IP: 119.46.176.222 วันที่: 23 กรกฎาคม 2554 เวลา:10:10:49 น.  

 
1..แสงแห่งจิตมีครับ ผมไม่ได้ยกเป็นอุปมา เมื่อภาวนาไป แสงนี้จะยิ่งเปล่งกล้า จนนักภาวนาจะเห็นได้เอง ในศาสนาคริสต์เขาพูดถึงพระเจ้า และ มีภาพของแสงจากท้องฟ้า เมื่อผมพบแสงแห่งจิต ผมก็เข้าใจครับว่า พระเจ้าของศาสนาคริสต์ก็คือตัวจิตที่เปล่งประกายนี้เอง และผมก็เข้าใจคำสอนของคริสต์ที่ว่า ขอให้พระเจ้าอยู่กับท่าน เป็นอย่างนี้เอง

2..การทำลายกิเลสและอนุสัยด้วยแสงแห่งจิตนั้น จะเปรียบได้กับความืดคือกิเลสและความสว่างคือไม่มีกิเลส สภาวะแห่งโมหะน้้น จิตถูกปกคลุมมืดมิดดังกลางคืน ทำให้กิเลสนั้นโผล่ออกมาเพราะการปรุงแต่งที่รับจากการสัมผัส แต่เมื่อแสงแห่งจิตเปล่งประกาย จิตจะสว่าง ความมืดแห่งโมหะก็หายไป เมื่อแสงแห่งจิตเปล่งอยู่ตลอดเวลา ความมืดก็หมดสิ้นลง นี่คือสภาวะแห่งการสิ้นไปของกิเลส เพราะความสว่างของจิตจะเข้ามาแทนทีความมืด

3..เรื่องของปัญญานั้น ไม่มีการคิด ไม่มีการพิจารณาสิ่งใด ปัญญาคือการที่นักภาวนาได้เป็นอยู่ในสภาวะที่แสงแห่งจิตเปล่งประกายอยู่ เมื่อแสงแห่งจิตเปล่งประกายอยู่ตลอดนั้น นักภาวนาจะพบกับสภาวะแห่งสุญญตา การไม่ใช่ตัวตนของอนัตตา และ การสิ้นไปแห่งกิเลส ซึงสภาวะนี้จะไม่มีการดับลงอีกเพราะแสงแห่งจิตไม่ดับลงนั้นเอง


โดย: นมสิการ วันที่: 23 กรกฎาคม 2554 เวลา:11:04:11 น.  

 
4. ผมเคยกล่าวถึงสภาพของจิตที่เป็นดวง นั้นคือสภาพทีจิตยังมีอนุสัยปกคลุม แต่เมื่อแสงแห่งจิตทำลายอนุสัยลง จิตจะไม่เป็นดวง นักภาวนาจะได้พบกับความว่าง + แสงแห่งจิตที่เปล่งประกายออกมาแทนการเป็นดวงนั้น

5. เรื่องความคิด ถ้าจิตยังมีอนุสัยปกคลุม ความคิดจะเป็นกลุ่มก้อนพลังงานที่เด่นขึ้นมาแทนที่ตัวจิตที่เป็นดวง นักภาวนาจะสับสนมากว่า นี่เป็นจิตที่เป็นดวงแต่เห็นชัดขึ้นหรือเป็นความคิดกันแน่ ดังนั้น การไม่คิดนั้น พลังงานกุ้อนนี้จากความคิดจะหายไป เหลือแต่จิตที่เป็นดวงอยู่ แต่เมื่อไรที่อนุสัยถูกทำลายสิ้นลง จิตแตกตัวเป็นความว่าง + แสงแห่งจิตที่เปล่งประกาย ทีนี้พอความคิดมันเกิดขึ้น นักภาวนาจะเห็นความคิด แต่ตอนนี้ นักภาวนาจะเห็นความไม่มีตัวตนที่ไปจะไปยึดความคิดได้อีก จะกล่าวว่า ความคิดมันเกิดลอย ๆ ก็ได้เช่นกัน แต่ไม่มีจิตไปยึดมันไว้ นักภาวนาจะควบคุมมันได้ว่า จะคิดก็ได้ ไม่คิดก็ได้ และความเข้าใจเรื่อง จิตและความคิดว่าเป็นคนละส่วนกันจะเข้าใจอย่างชัดแจ้งในตอนนี้เอง

คิดได้ แต่ไม่มีผู้รับทุกข์จากความคิดเลย มันจะเป็นอย่างนี้เอง


โดย: นมสิการ วันที่: 23 กรกฎาคม 2554 เวลา:11:14:56 น.  

 
โชคดีจังที่เข้ามาเจอบลอคนี้ค่ะ ฝึกปฏิบัติสายหลวงพ่อเทียนเหมือนกันค่ะ ขอขอบคุณกัลยาณมิตรนะคะ


โดย: คนเหนือ IP: 223.206.181.190 วันที่: 10 สิงหาคม 2554 เวลา:12:54:47 น.  

 
ขออนุญาตเจ้าของบลอคนะคะ มีหนังสือคู่มือการทำความรู้สึกตัวของหลวงพ่อเทียน อยุ่ประมาณ15เล่มค่ะ เป็นเล่มเล็ก จะขออนุญาตแจกได้ไหมคะ
...ท่านใดสนใจลงชื่อที่อยู่นะคะจะจัดส่งไปให้ฟรีค่ะ


โดย: คนเหนือ IP: 223.206.178.106 วันที่: 4 พฤศจิกายน 2554 เวลา:13:32:02 น.  

 
ผมจำเป็นต้องปิดการเขียนของท่านผู้อ่าน เนื่องจากกฏหมายอินเตอร์เนท
ที่อาจมีสิ่งผิดกฏหมายใส่เข้ามาใน blog

ท่านที่จะสนทนา หรือ ถามคำถาม ขอให้ส่ง email ถึงผมได้ที่
asknamasikarn@gmail.com

หรือสำหรับสมาชิก pantip จะส่งมาทางหลังไมค์ก็ได้เช่นกัน


โดย: นมสิการ วันที่: 29 มกราคม 2555 เวลา:14:50:50 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

นมสิการ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 142 คน [?]




หลักปฏิบัติ ...รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ

มากกว่า 20 ปีที่ไปหลงทำสมถภาวนาแบบสมาธิแบบฤาษีโดยที่ไม่รู้จักกับคำว่า อะไรคือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผลที่ได้คือความสงบขณะกำลังนั่งสมาธิจนตัวนิ่งแข็งเป็นก้อนหิน แต่ผลข้างเคียงตามมาก็คือการเป็นคนเจ้าโทสะอย่างรุนแรงขณะเวลาไม่ได้นั่งสมาธิ และ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน....

จนได้พบกัลยณมิตรแดนไกล ที่ได้ชักนำให้มารู้จักวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จนได้พบกับพระอาจารย์ในสายหลวงพ่อเทียน ที่ผมได้เรียนการปฏิบัติจากท่าน จนเข้าใจว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คืออะไร แล้วลงมือฝึกฝน การปฏิบัติก็รุดหน้าและได้ลิ้มรสสิ่งบริสุทธิในจิตใจอันเป็นผลจากการปฏิบัติด้วยเวลาเพียง 5 ปี

ธรรมปฏิบัติจากฆราวาสเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทย ผมรู้ได้จากที่เขียนใน blog ผมได้พบกับการก่อกวนใน blog การเขียนเหน็บแนม กระแหนะกระแหน ตำหนิการการปฏิบัติที่ผมเขียนใน blog ว่าผิดทาง เขียนแบบคาดเดาเอา ไม่รู้จริง ให้ผมหยุดเขียนแนวนี้ได้แล้ว และไปโมทนาสาธุแนะนำการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีให้กับผมอีกว่านี่คือทางที่ถูกต้อง ...

บทความใน blog จึงเกิดขึ้นมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนา
แก่ผู้อื่นที่กำลังเดินทางในสายแห่งอริยมรรคนี้

เมื่อท่านได้เข้ามาอ่านข้อเขียนใน blog กรุณาอย่าได้เชื่อผมจนกว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแล้วและพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง

**กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผมทาง e-wallet ครับ **

******
บทความต่าง ๆ ใน blog นี้
ขอสงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ห้ามนำไปดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

****
New Comments
Friends' blogs
[Add นมสิการ's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.