รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ **กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผม ทาง e-wallet ครับ** **ผมขอสงวนสิทธิการเป็นเจ้าบ้านของ blog ลบข้อเขียนใดๆ ก็ได้ใน blog นี้ตามที่ผมเห็นสมควร**
Group Blog
 
<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
23 มกราคม 2555
 
All Blogs
 
ปริยัติไม่ศึกษาได้ไหม ให้ลงมือปฏิบัติเลยใช่ใหม่

ปริยัติไม่ศึกษาได้ไหม ให้ลงมือปฏิบัติเลยใช่ใหม่...

ถ้าท่านถามผมดังกล่าว ผมจะตอบตรง ๆ เลยว่า ไม่ใช่ครับ...

ท่านนักภาวนาครับ ท่านสมควรศึกษาปริยัติให้เข้าใจก่อน แล้วลงมือปฏิบัติให้ถูก ให้ตรง
เพื่อเป็นการทวนสอบภาคปริยัติครับว่าเป็นจริงดังนั้นแน่ ๆ

ที่ผมบอกว่า ท่านสมควรศึกษาปริยัติก่อนนั้น ผมหมายความว่า ท่านสมควรศึกษา
ปริยัติให้เพียงพอต่อความเข้าใจในสิ่งที่ท่านกำลังต้องการจะพิสูจน์ ท่านไม่จำเป็นต้องไปศึกษาปริยัติที่มีอยู่ทั้งหมดในตำราที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา

ที่ว่าพอเพียงนั้นแค่ไหนกัน...

ในปฐมเทศนาของพระพุทธองค์ต่อปัญจวัคคีย์ พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ว่า

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นไม่เที่ยง
สิ่งใดไม่เที่ยง สมควรแล้วหรือที่จะยึดว่า นั่นเป็นเรา นั่นเป็นของเรา

นี่คือ คำสอนอันดับแรกที่พระพุทธองค์ทรงสอน

แล้วต่อมา พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนเรื่องความเป็นอนัตตาในอนัตตลักขณะสูตร
นี่เป็นคำสอนที่สองครับ

สิ่งที่ท่านนักภาวนาสมควรศึกษาภาคปริยัติ ก็คือ 2 คำสอนนี้ และ สิ่งที่ท่านนักภาวนาสมควรจะ
พิสูจน์ให้เห็นด้วยจิตก็คือ 2 คำสอนนี้ครับว่าเป็นจริงดังนั้นจริง ๆ

สิ่งที่ผมเขียนใน blog นี้ ก็คือ แนวทางการปฏิบัติตามมรรค 8 เพื่อการเจริญสัมมาสติ สัมมาสมาธิ เพื่อให้เกิดจิตตั้งมั่นขึ้น เพราะเมื่อจิตตั้งมั่นมากขึ้นแล้วท่านนักภาวนาก็จะพบเห็นความจริงของคำสอน 2 เรื่องข้างบนที่ผมเขียน

เมื่อจิตเห็นความจริงว่า คำสอนทั้ง 2 นี้จริง จิตท่านก็จะเกิดภาวนามยปัญญา จบกิจในการภาวนา ไม่มีการยึดมั่นถือมั่นในทุกข์อีกต่อไป

ในการเดินทาง ท่านต้องรู้เป้าหมายที่ต้องเดินให้ตรงก่อน แล้วจึงออกเดินด้วยแนวทางที่เข้าสู่เป้าหมายนั้นได้ ท่านจึงจะถึงปลายทางได้

ถ้าท่านไม่รู้เป้าหมาย ท่านจะไปถึงเป้าหมายได้อย่างไรกัน
ถ้าท่านเดินผิดทาง ท่านก็ไม่ถึงเป้าหมายอีกเช่นกัน

คำว่า มิจฉาทิฐิ นั้น คือ การที่ยังไม่เห็นชัดในคำสอนทั้ง 2 ว่าเป็นจริง ๆ อย่างนั้น
อย่างแน่นอน การเพียงอ่านในตำรามาก็ยังไม่กระจ่างชัดพอ มีแต่เพียงการเห็นจริงด้วยจิตที่มีกำลังตั้งมั่นด้วยสัมมาสมาธิเท่านั้น จึงจะเห็นได้ชัดแจ้ง เมื่อเห็นได้ชัดแจ้งด้วยจิตที่ตั้งมั่นด้วยสัมมาสมาธิแล้ว สัมมาทิฐิก็จะปรากฏขึ้นเป็นปัญญาให้แก่นักภาวนาเอง

ด้วยกำลังความตั้งมั่นแห่งสัมมาสมาธิ จิตจะเห็นอาการของขันธ์นั้นไม่เที่ยง แปรปรวน
เมื่อจิตเห็นได้อย่างนั้น ก็จะเกิดการไม่ยึดติดในขันธ์ และเกิดปัญญาเห็นจริงว่า
ขันธ์นั้นไม่เที่ยง แปรปรวน มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นอย่างนี้จริง ๆ เป็นตามคำสอนจริง ๆ
นี่คือการพิจสูจน์คำสอนเรื่องที่ 1 ว่าเป็นจริงอย่างแน่แท้

เมื่อนักภาวนาได้พิสูจน์คำสอนเรื่องที 1 ได้แล้ว กำลังความตั้งมั่นในสัมมาสมาธิก็มีมากพอในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มากพอที่จะตั้งมั่นได้ที่จะพิสูจน์เรื่องที่ 2 กันต่อไป

การพิสูจน์เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องยากกว่าเรื่องแรกมาก
ที่ว่ายาก เพราะนักภาวนาที่ไม่เคยเห็นสภาวะแห่งสุญญตา จะไม่เข้าใจว่าสภาวะสุญญตานี่เป็นอย่างไรกันหนอ และการศึกษาเรื่องนี้ในตำรา ก็มีอยู่น้อยนิดหรือแทบหาอ่าน หาฟังได้ยากยิ่ง
นักภาวนาต้องใช้ความสังเกตของตนเอง สังเกตสภาวธรรมของขันธ์ที่เห็นได้แล้วว่า ตอนที่ขันธ์มันดับไปนั้น มันเป็นอย่างไรกัน ถ้าท่านสังเกตเห็นได้แบบไม่ตั้งใจจะเห็น ท่านจะพบกับสภาวะแห่งสุญญตา ถ้าท่านเห็นมันได้เพียงครั้งเดียว ท่านก็จะเห็นมันได้เรื่อย ๆ เอง และจะเข้าใจในอนัตตาลักขณะสูตร และ อริยสัจจ์ 4 ปฏิจสมุปบาท อย่างหมดเปลือก ถ้าท่านยังสังกตมันไม่ได้ มันก็คงปรากฏอยู่แล้ว แต่ท่านยังมองไม่ออกเอง ซึ่งต้องรอเวลา รอจังหวะ นาทีทองนี้จะเกิดเอง

นี่คือภาคปริยัติและภาคปฏิบัติที่ต้อง ปรยัติต้องมาก่อน เพื่อให้รู้จัก ให้เข้าใจก่อน แล้วภาคปฏิบัติ ให้ปฏิบัติให้ตรง ให้ถูก เพื่อการได้เห็นภาคปริยัติอย่างจะ ๆ ด้วยจิต

เมื่อไม่รู้จักขันธ์ทางปริยัติ มันก็ยากอันดับแรก
เมื่อไม่มีกำลังสัมมาสมาธิ มันก็ยิ่งยากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
เมื่อขาดการสังเกตของนักภาวนา มันก็ยิ่งยากขึ้นไปอีกขั้นแล้ว

นี่คือ กึ๋นของนักภาวนาจริง ๆ ในการพบเห็นธรรมตามความเป็นจริง

********
เรื่องท้ายบท

1...ผมจะยกตัวอย่างทางโลกให้ท่านเข้าใจเพิ่มขึ้น
ถ้าท่านไปที่แผงขายปลาในตลาดสด ท่านจะเห็นปลามากมายในตลาด
ถ้าท่านไม่รู้จักว่า ปลาทูแขก นั่นหน้าตาเป็นอย่างไรมาก่อน
ท่านจะมองไม่เห็นปลาทูแขกเลย เพราะมันจะปน ๆ อยู่กับกองปลาที่มีปลาอยู่หลาย ๆ ชนิดที่อยู่ข้างหน้าท่าน
แต่ถ้าท่านเพียงรู้จักปลาทููแขก ว่ามันต่างจากปลาทูุอย่างอื่นอย่างไร ท่านก็จะมองเห็นปลาทูแขกได้ทันที เมื่อท่านมองไปกองปลานั้น ๆ

การรู้จักปลาทูแขกมาก่อน คือ การศึกษาปริยัติเรื่องปลาทูแขก

2..ในการดับของขันธ์นั้น ท่านจะพบกับความว่าง แต่ความว่างเนื่องจากขันธ์ดับลงจะมี 2 แบบ คือ อรูป และ สุญญตา

ถ้าท่านมีความจงใจ ท่านจะพบกับ อรูป
ถ้าท่านไม่มีความจงใจ ท่านจะพบกับ สุญญตา

ทั้ง 2 อย่างนี้ต่างกัน แต่ต่างกันไม่มาก เพียงนิดเดียว เหมือนกระจกที่บางเฉียบ
แทบไม่ความหนา แต่มันก็คือกระจกที่บังอยู่ข้างหน้า ถ้าท่านไม่สังเกต ท่านจะมองไม่เห็นกระจกบางนี้เลย






Create Date : 23 มกราคม 2555
Last Update : 25 มกราคม 2555 20:16:22 น. 8 comments
Counter : 1354 Pageviews.

 
ท่านจะลองดูเล่น ๆ กันก็ได้ครับ

ถ้าท่านคิดว่า รู้จักปลาทูแขก ดีละก็ ขอให้ท่านลองเขียนบรรยาย
ลักษณะของมัน เพื่อให้ท่านที่ยังไม่รู้จักปลาทูแขกให้เข้าใจว่า ปลาทูแขก นี้มีลักษณะอย่างไร และ ต่างจากปลาทูแบบอื่น ๆ อย่างไร

สำหรับท่านที่ยังไม่รู้จักปลาทูแขก ถ้าท่านอ่านคำบรรยายแล้ว ท่านลองไปเดินดูตลาด หาปลาทูแขกจริง ๆ แบบไมถามใครเพิ่มอีก ท่านจะพบปลาทูแขกได้จริง ๆ หรือไม่


โดย: นมสิการ วันที่: 23 มกราคม 2555 เวลา:21:10:37 น.  

 

เนื้อความ :
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ได้อุปมาการฝึกอบรมจิตโดยวิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวไว้ โดยเปรียบเทียบกับการฝึกสุนัข ท่านบอกว่าเราต้องปล่อยสุนัขให้อยู่อย่างอิสระ อย่าเอาเชือกหรือโซ่ไปล่ามมันไว้ เพราะมันจะต่อต้าน ยิ่งถ้าเราพยายามดึงให้มันเข้ามาใกล้ มันจะยิ่งดิ้นรนขัดขืนรุนแรง ดีไม่ดีมันจะกัดเราเอาได้ ท่านบอกว่าปล่อยให้มันอยู่ชองมันอย่างอิสระ แต่เราคอยโยนอาหารให้มันกินบ่อยๆ มันจะค่อยๆคุ้นเคยและเข้ามาใกล้เรื่อยๆ จนในที่สุดมันก็จะเชื่องจนมานั่งมานอนข้างๆเราเอง อาหารก็คือ ความรู้สึกตัวนั่นเอง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การปฏิบัติวิธีนี้จะไม่บังคับจิต แต่จะปฏิบัติอย่างสบายๆ ไม่มีการเพ่งหรือจ้องหรือการกำหนด (การเพ่ง เป็นการกำหนดให้จิตรู้อารมณ์ที่เป็นฐานที่ตั้งตลอดเวลา ไม่ให้จิตเผลอออกไปรู้อารมณ์อื่น) แต่การที่จะให้จิตที่อยู่อย่างอิสระมารู้อารมณ์ที่ตั้งเป็นฐาน ก็ไม่ใช่เป็นงานง่ายๆ จึงต้องมีองค์ประกอบหลายๆอย่าง

ประการแรก ตัวอารมณ์(object)ที่เป็นที่ตั้งของการรู้ หรือที่เรียกว่าอารมณ์กรรมฐาน ก็คือ ความรู้สึกที่ร่างกายอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหว(เป็นผัสสะทางร่างกายล้วนๆ) ซึ่งเป็นobjectที่ใหญ่และหยาบ ที่จิตสามารถรู้ได้ง่ายและรู้ได้ตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องเพ่งหรือใช้ความพยายามเพื่อที่จะรู้ และความรู้สึกนี้เรายังสามารถเพิ่มให้แรงขึ้นเพื่อให้จิตได้รู้ ในกรณีที่มีอารมณ์อย่างอื่นเกิดขึ้นแรง อย่างเช่น ถ้าความคิดมาแรง หลวงพ่อจะบอกให้กำมือแรงๆหรือเดินกระทืบเท้าแรงๆ หรือโดยวิธีการอย่างอื่นในลักษณะเดียวกัน (เป็นการแก้ไขโดยวิธีง่ายๆ เอาสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติสองอย่างมาแก้กัน) หรือไม่ก็เปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน
ความรู้สึกมีธรรมชาติที่เป็นกลาง เปรียบเทียบเหมือนกับนํ้าที่มีรสจืด เมื่อจิตมารู้ความรู้สึกๆก็จะย้อมจิตให้มีความเป็นกลางไปด้วย นอกจากนี้ความรู้สึกยังเป็นผัสสะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดขึ้นมาจากความคิด จึงเป็นธรรมชาติคนละส่วนกับความคิด (เนื่องจากสาเหตุนี้ จึงทำให้จิตสามารถออกมาอยู่นอกความคิด และเห็นความคิดได้)
เมื่อสติมีกำลังเพิ่มมากขึ้น จิตจะรู้การเคลื่อนไหวที่ละเอียดลงไปเรื่อยๆ(ซึ่งเป็นไปเอง) จากการเคลื่อนไหวใหญ่ๆของร่างกาย ไปถึงการเคลื่อนไหวที่ละเอียดย่อยลงไป ไปถึงลมหายใจ จนกระทั่งไปถีงการเคลื่อนไหวของเจตสิกตัวอื่นๆที่เกิดขึ้นในใจ(หลวงพ่อท่านเปรียบเทียบว่าเหมือนคนสองคนนอนติดกัน พอคนหนึ่งขยับตัวปั๊บ อีกคนที่นอนอยู่ข้างๆก็รู้ทันที) แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจิตจะรู้การเคลื่อนไหวได้ละเอียดแค่ไหนก็ตาม การมารู้การเคลื่อนไหวของกายหยาบก็ยังคงใช้เป็นพี่เลี้ยงของจิตอยู่เสมอ

ประการที่สอง ระดับ(degree)ของการรู้อารมณ์หรือobject อย่างเช่นเวลาเราทำงานอย่างใดอย่างหนื่งหรือในการศึกษาเล่าเรียน เรามีการเพ่งความสนใจไปรู้ที่งานหรือสิ่งที่ศึกษาในระดับหนึ่ง(บางครั้งเราเรียกว่าสมาธิตามธรรมชาติ) ซึ่งจะมากกว่าระดับการรับรู้สิ่งทั่วๆไป (ที่เรารู้อย่างฉาบฉวย) และในการทำสมาธิที่เรียกว่าสมถะกรรมฐาน ระดับความเข้มของการเพ่งจะยิ่งมากขึ้นไปอีก จนถึงสภาวะที่เรียกว่า ฌาน แต่ในการเจริญสตินั้น ระดับของการรู้objectจะเบากว่าของสมถะฯมาก โดยนํ้าหนักของการรู้ของการเจริญสติจะอยู่ที่ฐานรู้(subject)มากกว่าที่ตัวobject ยกตัวอย่างเช่น นํ้าหนักของการรู้อยู่ที่subject 70 อยู่ที่ object 30 หรืออาจจะเป็น 80 : 20 หรือ 90 : 10 (ตัวเลขยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพ) การที่การเจริญสติวางนํ้าหนักของการรู้ที่ object เบาเช่นนี้ ทำให้การปฎิบัติไม่มีการเพ่งอารมณ์ ทำอย่างสบายๆ แต่ในขณะเดียวกันจิตก็เผลอไปรู้อารมณ์อื่นๆได้ง่ายเช่นกัน ดังนั้นobjectที่เป็นฐานของการรู้จะต้องใหญ่และหยาบและมีนํ้าหนัก เพื่อที่จิตจะรู้หรือกลับมารู้ได้ง่าย และเทคนิคการปฏิบัติก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน (ข้อนี้ที่อธิบายมาข้างบนค่อนข้างจะเป็นทฤษฎี ถ้าพูดอย่างสรุปก็คือ รู้เบาๆ ทำเล่นๆ)

ประการที่สาม การเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ เช่น เทคนิคการเคลื่อนไหวมือเป็นจังหวะ เคลื่อนแล้วหยุด ๆ ๆ เป็นวิธีการที่จะดึงให้จิตที่เผลอออกไป กลับมารู้ความรู้สึกอีกครั้ง โดยทั่วไปแล้วจิตมักจะเผลอไปตามความคิดหรือถูกความคิดลากไป การเคลื่อนแล้วหยุด ๆ ๆ จะทำให้การรู้ไปกับการปรุงแต่งของความคิดสะดุดลงหรือขาดช่วงลง จิตก็กลับมารู้ความรู้สึกอีกครั้ง เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นอกจากนี้การมายกมือเคลื่อนไหวฯนี้ยังเป็นการเพิ่มเติมการเคลื่อนไหวที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่มักจะเป็นไปโดยอัตโนมัติตามความเคยชิน ทำให้ลืมตัวง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจิตยังไม่คุ้นเคยที่จะรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย
สำหรับการเดินจงกรม เป็นการปฏิบัติที่บางคนเห็นว่าทำง่ายกว่า แต่สำหรับผู้ที่ยังจับหลักยังไม่ได้ จะเกิดการเพ่งได้ง่าย ดังนั้นการมารู้การเคลื่อนไหวของมือจะรู้ได้ง่ายและสบายกว่า(แต่จะมีปัญหากับความง่วง ถ้าผ่านได้ก็สบาย)

ประการที่สี่ ความต่อเนื่อง เป็นปัจจัยที่สำคัญมากอีกประการหนึ่ง การสร้างความเคยชินให้จิตรู้และกลับมารู้ความเคลื่อนไหวโดยไม่บังคับจิต เป็นงานที่ต้องการการเพียรปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และการเจริญสติอย่างต่อเนื่องยังเป็นการสะสมพลังสติ ซึ่งหลวงพ่อท่านเปรียบเทียบว่าเหมือนกับนํ้าฝนที่ตกลงใส่โอ่งนํ้าทีละเล็กทีละน้อย เมื่อเวลานานเข้าและภาชนะที่รองรับนํ้าไม่รั่ว วันหนึ่งนํ้าก็จะเต็มโอ่งนํ้าจนล้นออกมา การเจริญสติก็เช่นเดียวกัน เมื่อสะสมจนเป็น"มหาสติ" ก็จะมีญาณปัญญาเกิดขึ้นมาเอง

(มีข้อสังเกตจากประสบการณ์ของผมพบว่า ถ้าบอกว่าให้รู้"ความรู้สึก"หรือให้"รู้สึกตัว" อย่างนี้ผู้ปฏิบัติใหม่ๆจะให้นํ้าหนักของการรู้ไปที่ความรู้สึกมาก ทำให้เกิดการเพ่งได้ง่าย แต่ถ้าบอกว่าให้รู้"การเคลื่อนไหว" อย่างนี้จะทำให้รู้ได้ง่ายและรู้สบายกว่า ที่อธิบายมาข้างบน บางครั้งผมบอกว่ารู้"ความรู้สึก" หรือรู้"ความเคลื่อนไหว" ทั้งสองคำนี้ขอทำความเข้าใจว่าเป็นอันเดียวกัน)

การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนี้ทำให้เราเข้าใจสติ ในความหมาย"การระลึกได้" ได้อย่างชัดเจน การระลึกได้ คือ การกลับมารู้อารมณ์ที่ตั้งไว้นั้นอีกครั้ง ซึ่งย่อมหมายความว่าจิตได้เผลอออกไปรู้อารมณ์อย่างอื่น แล้วจึงค่อยกลับมารู้อารมณ์ที่เป็นฐานที่ตั้งอีกครั้ง ตัวที่ดึงจิตกลับมารู้อารมณ์ที่ตั้งไว้นี้ คือสติในความหมายนี้ ดังนั้นถ้าจิตไม่เผลอออกไป การระลึกได้ก็ไม่เกิดขึ้น
ดังนั้นในการเจริญสติ(โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มใหม่หรือผู้ที่กำลังสติอ่อน) การที่จิตเผลอออกไปรู้อารมณ์อย่างอื่นจึงเป็นเรื่องธรรมดา จุดสำคัญอยู่ที่การกลับมารู้อารมณ์ที่เป็นฐานที่ตั้งอีกครั้ง เมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ จิตจะไม่เผลอไปนานและกลับมารู้อารมณ์ที่เป็นฐานที่ตั้งเร็วขี้น (การที่จิตจะกลับมารู้เมื่อไหร่ เราไม่สามารถกำหนดได้ สติจะทำหน้าที่ของมันเอง แต่เทคนิคการปฏิบัติก็ช่วยได้มาก)
เมื่อสติมีกำลังมากขึ้น สติในความหมายของ"การรู้เท่าทัน" จะทำงานเด่นชัดขึ้น(หน้าที่นี้จะเห็นคุณลักษณะของ"ความว่องไวและความตื่นตัว" ซึ่งหลวงพ่อจะอุปมาเหมือนคุณสมบัติที่มีอยู่ในไก่ป่า ที่แตกต่างกับไก่บ้าน) หน้าที่ของสติในความหมายนี้ คือรู้เท่าทันความเเคลื่อนไหวทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ เป็นทั้งเครื่องกรองและเครื่องกั้น กรองความคิดก่อนที่จะแสดงออกมาเป็นการกระทำและคำพูด ส่วนการเป็นเครื่องกั้น ก็เป็นในความหมายของแมวกับหนูที่หลวงพ่อเปรียบเทียบระหว่างสติกับความคิด(คิดปุ๊บ...ทันปั๊บ) กระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นในจิตใจ เกิดขึ้นรวดเร็วมาก สติจึงต้องตื่นตัวและว่องไวจึงจะรู้เห็นเท่าทันความคิดได้(หลวงพ่อเปรียบความเร็วของความคิดว่าเหมือนกับแสงฟ้าแลบ)

สัมปชัญญะ หมายถึง"ความรู้ตัว" ในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ เจตสิกต้วนี้มึความสำคัญควบคู่ไปกับสติและความเพียร ซึ่งการรู้เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ตามหลักมหาสติปัฏฐาน ๔ นั้น การรับรู้ของจิตต่ออารมณ์ที่เป็นฐานที่ตั้งของการรู้ ต้องประกอบพร้อมไปกับสติและสัมปชัญญะ นั่นก็คือในส่วนของสัมปชัญญะนั้น ในขณะที่จิตรู้อารมณ์ จิตก็รู้ที่ต้วเองพร้อมกันไปด้วย แสดงว่านํ้าหนักของการรู้ไม่ได้อยู่ที่ต้วอารมณ์(object)เพียงอย่างเดียว(จะเห็นว่าต่างจากการเพ่ง ที่นํ้าหนักของการรู้จะรวมไปที่ตัวอารมณ์) อย่างที่ได้ยกต้วอย่างไว้ข้างบนว่านํ้าหนักของการรู้อยู่ที่ต้วอารมณ์(object) 30 และอยู่ที่ฐานรู้(subject) 70 (เป็นตัวเลขที่ยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพ) ดังนั้น ตามความหมายนี้การรู้เห็นตามหลักมหาสติปัฏฐาน ๔ นํ้าหนักของการรู้จะมีทั้งที่ตัวอารมณ์และที่ฐานรู้พร้อมกันไป โดยให้นํ้าหนักของการรู้อยู่ที่ฐานรู้มากกว่าที่ตัวอารมณ์ (เพราะว่าเราเคยชินที่มักจะรู้"หมดตัว"ไปกับสิ่งต่างๆรอบตัวเราในชีวิตประจำวัน ก็เลย"ลืมตัว"จนเป็นธรรมดา)

เมื่อสติมีกำลังมากขึ้น สมาธิ(แปลว่า"ความตั้งมั่น")ก็เกิดขึ้นตามมาเองตามธรรมชาติ จิตตั้งมั่นจากการที่สติเฝ้ารักษาจิตไม่ให้อารมณ์อย่างอื่นเข้ามารบกวน (จะเห็นว่าสมาธิที่เกิดขึ้นแบบนี้จะมีที่มาแตกต่างจากสมาธิที่เกิดจากการเพ่ง) ญาณปัญญาก็เกิดขึ้นตามมา (ญาณปัญญาไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในขณะที่ปฏิบัติ อาจจะเกิดขึ้นในขณะใดก็ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการคาดหมายของเรา เรามีหน้าที่เพียงทำ"เหตุ"ไปเรื่อยๆเท่านั้น) เป็นไปตามหลัก สติ-สมาธิ-ปัญญา

ทั้งหมดนี้เป็นการให้ข้อสังเกตและคำอธิบายหลักการเจริญสติวิธีนี้แบบตำราปนประสบการณ์ หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์และเป็นข้อพิจารณาแก่ท่านที่สนใจบ้างไม่มากก็น้อย หากมีข้อผิดพลาดประการใดต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
จากคุณ : yudth718 [ 4 ก.ย. 2545 / 12:03:34 น. ]
[ IP Address : 202.133.161.203 ]รบกวนอาจาร์ยช่วยอธิบายข้อความในประการที่สองด้วยอ่านแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจกราบขอบพระคุณอาจาร์ยด้วยครับ


โดย: มนตรี IP: 171.4.118.235 วันที่: 24 มกราคม 2555 เวลา:13:38:40 น.  

 
ตอบ คุณมนตรี

ข้อความที่นำมาแสดงไว้ เป็นความเห็นของคุณยุทธ ซึ่งคุณยุทธนี้ท่านได้ฝึกฝนแนวหลวงพ่อเทียนอยู่ เมื่อคุณยุทธได้ปฏิบัติแล้วก็แสดงความเห็นไว้ดังกล่าว

ในความเห็นของผมนั้น การจะแบ่งน้ำหนักการรู้อย่างที่เขียนไว้เป็นตัวเลขจะเป็นไปได้ยากในการปฏิบัติจริง ผมเข้าใจว่า คุณยุทธคงต้องการสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น

ผมจะยกตัวอย่างให้คุณเข้าใจโดยเปรียบเทียบ

ก่อนอื่น ผมจะสมมุติตัวเลขขึ้นมาว่า จิตนั้นมีประสิทธิภาพการรับรู้เท่ากับ 100 เปอร์เซ้นต์ ถ้าจิตไปรับรู้สิ่งหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ จิตจะเหลืออีก 30 เปอร์เซ็นต์เพื่อการรับรู้อย่างอื่่น

สมมุติว่า คุณกำลังดูทีวี ซึ่งในทีวีมีผู้แสดงหลายคน เช่นรายการเกมส์โชวื ถ้าคุณดูทีวีแบบจดจ่อสนใจไปที่คนใดคนหนึ่งในรายการ คุณก็จะไม่สามารถรับรู้คนอื่นที่อยู่รายการทีวีในขณะเดียวกัน ถ้าเทียบกับคุณยุทธ การจดจ่อไปที่คนใดคนหนึ่ง ก็คุณพุ่งเป้าไปที่ object นั้น ๆ อยู่ ถ้าการรูุ้มี 100 เปอร์เซ้นต์ คุณก็จะใช้พลังเกือบทั้งหมดไปที่ object นั้น เช่นอาจเป็น 90-100 เปอร์เซ็นต์เลยก็ได้ ทำให้จิตไม่สามารถไปรับรู้อาการทางกายหรือทางจิตใจได้ เพราะจิตไปรับรู้ที่ object จนเต็มเหนี่ยวแล้ว

หมายเหตุ การรับรู้อาการทางกายหรือทางจิตนี้ สิ่งทีคุณยุทธกล่าวถึง ก็คือ การรับรู้ที่เป็น subject ซึ่งหลวงพ่อเทียนท่านจะใช้คำว่า การรู้ภายใน นั่นเอง แต่ถ้าหลวงพ่อเทียนบอกว่า รู้ภายนอก ก็คือ การรู้ object

แต่ถ้าคุณดูทีวีแบบสบาย ๆ ไม่ได้สนใจผู้แสดงคนใดเป็นพิเศษ คุณจะพบว่า คุณจะเห็นผู้แสดงทั้งหมดในรายการทีวีนั้นพร้อม ๆ กัน และเห็นผู้แสดงทุกคนแบบกว้าง ๆ และไม่เด่นชัดเหมือนการจดจ่อไปทีใดที่หนึ่งในทีวี ในสภาวะที่คุณดูุทีวีแบบนี้ คุณจะรับรู้ object ได้ในระดับหนึ่ง แต่ตัวเลจการรับรูุ้ใน object จะไม่สูงแบบข้างจดจ่อข่างบนดังที่ผมเขียนไว้แล้ว เช่นผมสมมุติว่า ตัวเลขการรับรู้เป็น 60 เปอร์เซ็นต์ก็แล้วกัน ดังนั้น จะเหลือค่าอีก 40 เปอร์เซ้นต์ ที่จิตจะไปรับรู้อาการอย่างอื่นด้วย ซึ่งในที่นี้ ก็คือ การรับรู้อาการทางกายหรือทางใจ ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน

ในการฝึกฝนจริง ๆ นั้น อย่าไปตั้งเป้าการรู้เป็นตัวเลขครับ เพราะจะทำให้สับสน แต่ถ้าอธิบายให้เข้าใจเป็นตัวเลขก็พอจะได้อยู่ แต่การปฏิบัติจริงนั้น ถ้าเราฝึกการรู้แบบสบาย ๆ ไม่จดจ่อในการรู้ จิตเขาจะปรับตัวเองให้สมดุลย์เอง กล่าวคือ รู้ทั้งข้างนอก (object) และ รู้ทั้งภายใน (subject )
ส่วนตัวเลขการรับรู้จะเป็นเท่าใด ก็แล้วแต่เหตุและปัจจัยในการรับรู้ครับ
ซึ่งจิตเขาจะเดินเอง ปรับเองทั้งสิ้น เพียงแต่เรานักภาวนา อย่าได้ไปจดจ่อต่อการรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษเท่านั้นเอง

สำหรับคนที่ภาวนาจนชำนาญมากแล้ว เขาจะรับรู้ทั้งภายนอกและภายในได้ทั้ง 2 อย่างพร้อม ๆ กันเลยทีเดียว แต่ถ้าคนที่ไม่เคยภาวนามาเลย ก็จะรู้ได้แต่ภายนอกเท่านั้น เขาจะไม่รู้เกี่ยวกับอาการภายในเลยครับ


โดย: นมสิการ วันที่: 24 มกราคม 2555 เวลา:17:42:36 น.  

 
สาธุค่ะ อธิบายได้ชัดเจนดีจังเลยค่ะ ทั้งอาจารย์และคุณยุทธด้วยค่ะ


โดย: นพ IP: 110.171.6.113 วันที่: 24 มกราคม 2555 เวลา:18:05:38 น.  

 
รบกวนถามเพิ่มเติม พอดีดิฉันสงสัยเรื่องปริยัติ (ดิฉันคิดว่าก็คือ พระอภิธรรม) จำเป็นต้องเรียนหรือไม่ ก็บังเอิญมาเจอบทความนี้พอดี (เป็นเรื่องแปลกที่เจอบ่อยจัง ดีจริงๆ!) ขอรบกวนถามเพิ่มเิติม คือรู้แค่คำสอนทั้งสองอย่างที่ท่านอาจารย์แนะนำก็พอแล้วหรือไม่คะ ขอบพระคุณค่ะ


โดย: นพ IP: 110.171.6.113 วันที่: 24 มกราคม 2555 เวลา:18:08:32 น.  

 
ที่ผมเขียนใน blog คือ ขั้นต่ำสุดที่ควรรู้ครับ (minimum required)
แต่ถ้าใครมีความสามารถที่จะเรียนรู้อะไรมากขึ้น ก็เรียนไปเถอะครับ
แต่ถ้าไม่มีความสามารถในการเรียน ก็เรียนแค่ขั้นต่ำก็เพียงพอสำหรับการปฏิบัติครับ


แต่ให้ระวังสักนิดว่า เมื่อเรียนสิ่งใดไป รู้แล้วก็แล้วกัน เวลาฝึกฝนการปฏิบัติอย่าไปนำมาคิดเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรียนรู้มา เพราะว่าถ้ามัวแต่ไปคิดเปรียบเทียบ นี่คือการใช้จิตไปทำงาน จิตจะลดประสิทธิภาพในการโผล่งรู้ขึ้นมาเอง (ซื้งการโผล่งรู้เองนี้จะเป็นภาวนามยปัญญาในการภาวนา)


โดย: นมสิการ วันที่: 24 มกราคม 2555 เวลา:22:53:35 น.  

 
กราบขอบพระคุณอาจาร์ยครับ


โดย: มนตรี IP: 223.205.71.9 วันที่: 25 มกราคม 2555 เวลา:8:30:27 น.  

 
ผมจำเป็นต้องปิดการเขียนของท่านผู้อ่าน เนื่องจากกฏหมายอินเตอร์เนท

ท่านที่จะสนทนา หรือ ถามคำถาม ขอให้ส่ง email ถึงผมได้ที่
asknamasikarn@gmail.com

หรือสำหรับสมาชิก pantip จะส่งมาทางหลังไมค์ก็ได้เช่นกัน


โดย: นมสิการ วันที่: 25 มกราคม 2555 เวลา:20:16:55 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

นมสิการ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 142 คน [?]




หลักปฏิบัติ ...รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ

มากกว่า 20 ปีที่ไปหลงทำสมถภาวนาแบบสมาธิแบบฤาษีโดยที่ไม่รู้จักกับคำว่า อะไรคือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผลที่ได้คือความสงบขณะกำลังนั่งสมาธิจนตัวนิ่งแข็งเป็นก้อนหิน แต่ผลข้างเคียงตามมาก็คือการเป็นคนเจ้าโทสะอย่างรุนแรงขณะเวลาไม่ได้นั่งสมาธิ และ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน....

จนได้พบกัลยณมิตรแดนไกล ที่ได้ชักนำให้มารู้จักวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จนได้พบกับพระอาจารย์ในสายหลวงพ่อเทียน ที่ผมได้เรียนการปฏิบัติจากท่าน จนเข้าใจว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คืออะไร แล้วลงมือฝึกฝน การปฏิบัติก็รุดหน้าและได้ลิ้มรสสิ่งบริสุทธิในจิตใจอันเป็นผลจากการปฏิบัติด้วยเวลาเพียง 5 ปี

ธรรมปฏิบัติจากฆราวาสเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทย ผมรู้ได้จากที่เขียนใน blog ผมได้พบกับการก่อกวนใน blog การเขียนเหน็บแนม กระแหนะกระแหน ตำหนิการการปฏิบัติที่ผมเขียนใน blog ว่าผิดทาง เขียนแบบคาดเดาเอา ไม่รู้จริง ให้ผมหยุดเขียนแนวนี้ได้แล้ว และไปโมทนาสาธุแนะนำการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีให้กับผมอีกว่านี่คือทางที่ถูกต้อง ...

บทความใน blog จึงเกิดขึ้นมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนา
แก่ผู้อื่นที่กำลังเดินทางในสายแห่งอริยมรรคนี้

เมื่อท่านได้เข้ามาอ่านข้อเขียนใน blog กรุณาอย่าได้เชื่อผมจนกว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแล้วและพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง

**กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผมทาง e-wallet ครับ **

******
บทความต่าง ๆ ใน blog นี้
ขอสงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ห้ามนำไปดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

****
New Comments
Friends' blogs
[Add นมสิการ's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.