รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ **กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผม ทาง e-wallet ครับ** **ผมขอสงวนสิทธิการเป็นเจ้าบ้านของ blog ลบข้อเขียนใดๆ ก็ได้ใน blog นี้ตามที่ผมเห็นสมควร**
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2554
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
9 พฤษภาคม 2554
 
All Blogs
 
ลักษณะอาการของจิตตอนกำลังเป็นสมาธิ

บทความนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่พบมา นำมาเขียนเพื่อเล่าสู่กันฟัง ฝากไว้ให้ท่านพิจารณา
ประโยชน์ที่ได้รับ ถ้าท่านพบเองด้วยกำลังเป็นอย่างนี้ ท่านควรจะดำเนินอย่างไรต่อไป จึงจะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ตัวท่านเองในการภาวนา
****

ผมได้อ่านพบอยู่เสมอในห้องศาสนา มักมีผู้ถามว่า บริกรรมพุทโธอยู่พร้อมลมหายใจ แล้วพุทโธหาย ลมหายใจก็หาย อาการอย่างนี้คืออะไร แล้วก็มักมีผู้มาตอบอยู่เนือง ๆ ว่า จิตรวมเป็นสมาธิแล้ว ซึ่งผมไม่ขอวิจารณ์ในคำตอบนี้แต่อย่างใด


ท่านที่อ่านเรื่องใน blog ของผม คงจะเห็นว่า ในแนวทางการปฏิบัติที่ผมได้เสนอนั้น ไม่มีการหลับตา ผมไม่แนะนำให้บริกรรม(สำหรับมือใหม่ แต่ถ้ามือเก่ากึกก็คงแล้วแต่ท่าน) เมื่อจะนั่ง จะเดิน จะยืน หรือ อะไรก็แล้วแต่ ขอให้ท่านเพียงรู้สึกตัวที่ผ่อนคลาย อย่าได้เครียด อย่าได้อยากรู้อะไร ตาก็มองเห็นภาพอยู่ หูก็ได้ยินเสียงอยู่ จมูกก็ได้กลิ่นอยู่ อาการทางกายใด ๆ ปรากฏ ก็รู้สึกได้อยู่ สำหรับบางท่าน ก็จะรู้อาการทางใจได้ด้วย แต่สำหรับมือใหม่ อาจรู้สึกถึงอาการทางใจไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร

เมื่อท่านดำเนินการฝึกฝนอย่างที่ผมแนะนำนี้ จะรู้ได้อย่างไรว่า จิตกำลังรวมลงสู่สมาธิ

อาการที่ท่านจะทราบว่า จิตท่านกำลังมีสมาธิ จะมีอาการ 3 อย่างให้ท่านสังเกตได้คือ

1. เกิดอาการเบากาย เหมือนน้ำหนักตัวจะลดลงไปมากกว่าครึ่ง
2. เกิดอาการเบาจิตใจ จิตใจสดใส สบาย อาจจะบอกได้ว่า sky is so blue ก็น่าจะได้
3. ตามองอะไร ก็แจ่มใส ชัดเจน

อาการเหล่านี้เกิดได้อย่างไร...
ผมไม่สามารถตอบได้ แต่ถ้าท่านได้ฝึกฝนการเจริญสัมมาสติ สัมมาสมาธิมาพอสมควร พอมันจะเกิด มันก็เกิดเลย ไม่มีปี่ ไม่มีขลุย

แต่ถ้ามันเกิดแล้ว ผมขอแนะนำว่า ให้ท่านหยุดกิจกรรมทางโลกทั้งหมด แล้วหันมาฝึกฝนต่อไปในการเจริญสัมมาสติในแบบที่ท่านถนัดช่ำชอง เนื่องจากจิตตอนนี้กำลังมีกำลังมาก อย่าได้ปล่อยให้ชั่วโมงทองเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ครับ

ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของอาการนี้ก็คือ มันจะบอกท่านได้ว่า การวางจิตในขณะรู้สึกตัวที่ดีนั้นมีลักษณะอย่างไร เมื่อคราวหน้า หลังจากที่จิตหลุดออกจากสมาธินี้ไปแล้ว ท่านก็สามารถจะวางจิตในขณะที่รู้สึกตัวได้ถูกทางมากกว่าเดิมครับ

คงเป็นประโยชน์บ้างสำหรับนักภาวนา

หมายเหตุ ในภาษาพระอภิธรรม จะมีชื่อเรียกกันว่า

กายลหุตา = กายเบา
จิตลหุตา = จิตเบา



Create Date : 09 พฤษภาคม 2554
Last Update : 29 มกราคม 2555 14:47:45 น. 10 comments
Counter : 2603 Pageviews.

 
แต่ท่านที่ไม่เคยเกิดอาการอย่างนี้เลย ก็ไม่เสียใจนะครับ และก็อย่าหวังผลด้วย ขอให้ใช้กฏ 3 ข้อ ฝึกไปเรื่อย ๆ จังหวะเวลาดี ๆ ท่านคงได้สัมผัสกับ sky is so blue เข้าสักวัน


โดย: นมสิการ วันที่: 9 พฤษภาคม 2554 เวลา:16:55:10 น.  

 
สาธุ


โดย: nordcapp (nordcapp ) วันที่: 9 พฤษภาคม 2554 เวลา:18:23:04 น.  

 
ขอบคุณครับ
ขอให้เขียนต่อไปนะครับ รออ่านอยู่ :D


โดย: Guiman วันที่: 9 พฤษภาคม 2554 เวลา:19:57:03 น.  

 
อาการทั้ง 3 ที่อาจารย์กล่าวนั้น เป็นภาวะที่จิตลูกโป่งแตกออกใช่หรือไม่คะ

ยังไปไม่ถึงตรงนั้น(คงอีกไกล).. แต่จะฝึกตามคำแนะนำของอาจารย์ที่ให้ไว้ว่า "หมั่นฝึกต่อไป อย่าได้หยุด กำลังไปได้ดีแล้ว"
เป็นคำที่ให้กำลังใจได้มากมายคะ




โดย: Nim IP: 124.121.215.67 วันที่: 9 พฤษภาคม 2554 เวลา:20:46:54 น.  

 
สาธุค่ะ เป็นบทความที่มีประโยชน์สำหรับนักภาวนา

มากเลยค่ะ จะได้ไม่พลาดช่วงนาทีทอง

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ


โดย: dream IP: 124.122.255.236 วันที่: 9 พฤษภาคม 2554 เวลา:23:17:09 น.  

 
ตอบ คุณ Nim

อาการทีบ่งบอกถีงว่าจิตกำลังเป็นสมาธิ ไม่ได้หมายความว่า เป็นภาวะที่จิตลูกโป่งแตกออก แต่เป็นสภาวะที่บ่งบอกว่า จิตนี้พร้อมแล้วในการทำงานเพื่อการเข้าสู่การรู้ในธรรมซึ่งอาจเป็นธรรมในระดับใดระดับหนี่งของนักภาวนาครับ

อย่างที่คุณได้เขียนไว้ว่า เมื่อจิตกำลังเป็นสมาธิเกิดแล้ว อย่าได้หยุดฝีก เพราะเป็นนาทีทองทีเดียว ให้ฝีกต่อไป และ นักภาวนาก็จะฝีกได้ดีเสียด้วยครับในช่วงเวลานั้น



โดย: นมสิการ วันที่: 9 พฤษภาคม 2554 เวลา:23:46:19 น.  

 
อนุโมทนาสาธุกับคำแนะนำที่มีค่ายิ่งคะ


โดย: Nim IP: 124.122.202.6 วันที่: 10 พฤษภาคม 2554 เวลา:19:53:18 น.  

 
สวัสดีครับ คุณนมสิการ
รบกวนคุณนมสิการช่วยตรวจสอบการปฏิบัติครับ
ทุก ๆ เวลาจะประคองการรู้สึกตัวเฉย ๆ เบา ๆ ไว้ ความรู้สึกที่สัมผัสได้คืออาการวูบวาบไปทั่วกาย เด่นๆ คือแถวใบหน้าและเหนือหน้าผาก(อาการเต้นวุ๊บๆ)
ตาเห็นรูปแต่ไม่ได้เข้าไปเจาะลึกหารายละเอียด, หูได้ยินแต่ไม่ได้ลงรายละเอียด, กลิ่นสัมผัสได้แต่ว่าเหม็นหรือหอมไม่ได้ตีความว่ากลิ่นอะไร
ระหว่างวันไม่ได้สร้างจังหวะเคลื่อนไหวกายเป็นพิเศษอะไร เพราะรู้สึกตัวกับการเคลื่อนไหวกายปกติแม้ยืน/นั่ง/นอนนิ่งเฉย และรับรู้อาการเต้นตุ๊บ ๆ ที่กลางหน้าอกเป็นปกติ
ความคิดช่วงนี้ไม่มาบ่อยนัก(ถ้าเข้ามาก็จะละได้ไว โดยกลับมารู้สึกตัว หรือความคิดเกิดพร้อมกับความรู้สึกตัวคล้ายวิ่งตีคู่กันไป) ส่วนใหญ่เป็นความสงสัย/อยากรู้/ตีความในอาการที่สัมผัส/เกิดขึ้นมากกว่าความจำเก่า ๆ หรือเรื่องในอนาคต

1. การที่ผมรู้สึกตัวแบบเฉย ๆ สบาย ๆ (กายเบาวูบวาบได้บางขณะ)โดยไม่ได้มีความคิดอะไรเข้ามานี่ หรือเจ้าความคิดที่มาไม่บ่อยนี่ถือว่าผิดปกติไหม หรือว่าผมรู้สึกถึงใจนึกคิดไม่ทันครับ
2. ตั้งแต่มาทำความรู้สึกตัวนี่ ผมไม่ได้ค่อยนั่งภาวนาในรูปแบบเหมือนก่อน(ก่อนนอน + ตื่นนอน ครั้งละ 1 ชั่วโมง) ถือว่าประมาทไปหรือควรกลับไปกระทำต่อหรือไม่ครับ
3. การดูหนัง ฟังเพลงพร้อมเจริญสติไปด้วยนี่ ที่ถูกคือเราจะรู้สึกตัวได้เต็มร้อยในขณะดูหนังฟังเพลงไปด้วยใช่ไหม คล้ายกับว่าเมื่อจบแล้วก็จบไป ไม่ติดใจเอาความกับเนื้อหาในหนังที่ดูจบ
4. ความอยากในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร(ตัณหาราคะ)มารบกวนจิตใจบ่อยช่วงหลังนี่ ซึ่งไม่ปรากฏตอนที่ภาวนาแบบหลับตาเพ่ง เป็นอาการที่ถูกทางไหม และจะจัดการอย่างไรครับ
5. ผมเริ่มรู้สึกตัวได้ดีขึ้นในระหว่างการขับรถ แต่บางครั้งอาการตอบสนองทางกาย(แขนขา)จะช้าไปหรือเร็วไป ทำให้การควบคุมรถดูขาดเกินแต่ก็ไม่เกิดอุบัติเหตุ อย่างนี้ใช่ได้ไหมครับ
6. อาการรู้สึกตัวเมื่อล้มตัวนอนทำให้นอนหลับยากที่เคยถามไว้ เริ่มไม่สนใจแล้วใจคิดแค่หลับเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น หรือจะตื่นตัวบ่อยแค่ไหนก็ไม่ได้ใส่ใจเท่าไหร่ สังเกตุแค่ว่าถ้าตื่นนอนมาแล้วเพลียหรือไม่ อย่างนี้ใช่ได้ไหมครับ
7. ตามที่คุณนมสิการเขียน ในขณะที่จิตเป็นสมาธิไว้ว่า "ให้ท่านหยุดกิจกรรมทางโลกทั้งหมด แล้วหันมาฝึกฝนต่อไปในการเจริญสัมมาสติในแบบที่ท่านถนัดช่ำชอง" หมายความว่าให้ระลึกรู้สึกตัวไปเรื่อย ๆ ตามปกติใช่ไหมครับ เพียงแต่หยุดกิจการทางโลกลงเช่น ดูทีวีหรือทำงานการอะไรอยู่ก็ให้หยุดก่อน

ขอบคุณครับ
หนุ่ม


โดย: หนุ่ม IP: 61.19.90.30 วันที่: 11 พฤษภาคม 2554 เวลา:16:12:56 น.  

 
1..ที่่เล่ามานั้น ดีแล้วครับ
ส่วนเรื่องความคิดที่มาไม่บ่อยนั้น เรื่องนี้ตอบยากครับ เพราะว่า
1.1 ถ้าเพ่งอะไรนิดเดียว ความคิดมันก็มาไม่บ่อยครับ แต่นักภาวนาอาจไม่รู้ว่ากำลังเพ่งอะไรอยู่
1.2 ถ้าจิตรู้ มันเด่นขึ้น หรือ ความรู้สึกตัวมันเด่นขึ้น ความคิดมันก็มาไม่บ่อยเหมือนกัน
1.3 ยังไม่มีเรื่องอะไรที่กลุ้มใจ ความคิดก็มาไม่บ่อยครับ ลองมีเรื่องกลุ้มใจซิครับ มันจะบุกมาเป็นพายุเลย ไม่ยอมหยุดง่าย ๆ เสียด้วย

ผมแนะนำอย่างนี้ครับ อย่าเพิ่งไปใส่ใจความคิดมาไม่บ่อย หมั่นฝึกไปอย่างที่คุณเล่าเรื่องมานั้นแหละครับ ฝึกไปมาก ๆ เพื่อให้จิตตั้งมั่นให้มากขึ้นครับ

2..
การกระทำในรูปแบบนั้น อยู่ที่ว่า คุณทำอย่างไรด้วย ถ้าคุณฝึกสมาธิแบบฤาษีแต่เป็นในรูปแบบ เช่นการส่งจิตไปจับลมที่ปลายจมูก หรือ การส่งจิตไปที่เท้าเวลาเดินจงกรม หรือ ส่งจิตไปที่มือเวลาเคลื่อนมือแบบหลวงพ่อเทียน ถ้าเป็นแบบฤาษีแบบนี้ ผมแนะนำว่าอย่าทำยังดีกว่าครับ

แต่ถ้าคุณฝึกการจริญสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผมแนะนำว่า ถ้าคุณมีเวลา ควรทำในรููปแบบด้วย เช่นคุณเคยฝึกแบบหลวงพ่อเทียน ก็ฝึกต่อไปครับ
เพราะการฝึกในรูปแบบ จะช่วยให้กำลังสัมมาสติตั้งมั่นได้เร็วขึ้น

3..
มันคนละส่วนกันครับ คนเราต้องมีการพักผ่อน และคนยุคใหม่ก็มักดูทีวี.ฟังเพลง.กันไปเป็นการพักผ่อน แต่ถ้าเราพักผ่อน ก็อย่าเสียโอกาศฝึก ก็ควรฝึกไปด้วยครับ เพราะการเจริญสัมมาสตินั้น เราจะพัฒนากำลังของจิตรู้ แต่การดูหนัง ฟังเพลง เราใช้ขันธ์ทำงาน มันใช้คนละส่วนกัน

อีกอย่างหนึ่ง คนบางคน พอให้ฝึกในรูปแบบก็รู้สึกว่าน่าเบื่อหน่าย ไม่อยากฝึก ผมก็จะแนะนำให้ฟังเพลงสบายๆ ไปด้วย ฝึกไปด้วย ก็จะลดความน่าเบื่่อหน่ายไปได้ดีครับ

ส่วนหนังดูจบ จะวิจารณ์หรือไม่ มันไม่เกี่ยวกัน เพราะการวิจารณ์เป็นการใช้ขันธ์ทำงาน แต่ถ้าไม่วิจารณ์ก็จะดีกว่า เพราะจะลดการปรุงแต่งออกไปจากความเคยชินของเราได้ด้วยที่ชอบวิจารณ์เรื่องต่าง ๆ

4...
เรื่องนี้ มันปรกติครับ มันจะมีอยู่ ครับ วิธีจัดการคือ พอมันมา ก็หยุดมันเสีย แต่ปล่อยให้มันมาได้ แต่ไม่ต้องไปห้ามมันไม่ให้มา เพราะการที่มันมาบ่อย ๆ ก็เท่ากับมันมาแสดงอะไรให้เรามีประสบการณ์กับมันมากขึ้น พอมาเรื่อยๆ สักวัน เราก็จับไต๋มันได้ พอจับไต๋มันได้แล้ว มันก็จะแพ้เราเองครับ

ส่วนวิธีหยุดมันก็คือ ถ้าแพ้มัน ก็อย่าไปตามใจมัน เช่น เกิดอยากกินไก่ย่างขึ้นมา ก็เฉยๆ เสีย ไม่ต้องไปตามใจมัน ใหม่ ๆ จะแพ้มันบ่อยครับ เพราะคนเราเคยชินกับการตามใจกิเลสเป็นทุนอยู่แล้ว จะแพ้บ้างก็ไม่เป็นไรครับ แต่อย่าให้เครียดก็แล้วกัน

การทำลายราคะเป็นสิ่งที่ยากพอสมควร ยากกว่าโทสะมากทีเดียว แต่ถ้าฝึกไปเรื่อยๆ สักวัน เมื่อจัดการกับโทสะได้แล้ว ราคะก็คือตัวต่อไปทีจะจัดการกะมันเสียครับ

5..
ผมแนะนำว่า ขณะขับรถควรหยุดฝึกครับ ควรสนใจการขับให้ดี เพราะความปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้ามีเวลา เช่นตอนติดไฟแดง ก็อาศัยเวลาสั้น ๆ นั้นฝึกได้ เช่น รู้สึกตัวพร้อมกับกำมือแบบมือไปในรถ หรือ จะรู้สึกถึงการสั่นไหวของร่างกายเพราะรถมีการสั่นก็ได้

แต่ถ้าวันหนึ่ง เราฝึกมาดี คือ ฝึกเหมือนไม่ฝึก อย่างนี้ เวลาขับรถ มันจะรู้สึกได้เองคล้าย ๆ กับฝึกอยู่ แต่ไม่ได้ฝึก และจะปลอดภัยด้วย

6..
ใช่ครับ ปรกติ ถ้าตื่นจะไม่เพลีย แต่ถ้าฝันละก็ เพลียทันที

7..
ใช่ครับ หรือว่าจะเข้าไปฝึกในรูปแบบในการเจริญสัมมาสติก็ได้ครับ


โดย: นมสิการ วันที่: 11 พฤษภาคม 2554 เวลา:19:19:04 น.  

 
ผมจำเป็นต้องปิดการเขียนของท่านผู้อ่าน เนื่องจากกฏหมายอินเตอร์เนท
ที่อาจมีสิ่งผิดกฏหมายใส่เข้ามาใน blog

ท่านที่จะสนทนา หรือ ถามคำถาม ขอให้ส่ง email ถึงผมได้ที่
asknamasikarn@gmail.com

หรือสำหรับสมาชิก pantip จะส่งมาทางหลังไมค์ก็ได้เช่นกัน


โดย: นมสิการ วันที่: 29 มกราคม 2555 เวลา:14:55:54 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

นมสิการ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 142 คน [?]




หลักปฏิบัติ ...รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ

มากกว่า 20 ปีที่ไปหลงทำสมถภาวนาแบบสมาธิแบบฤาษีโดยที่ไม่รู้จักกับคำว่า อะไรคือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผลที่ได้คือความสงบขณะกำลังนั่งสมาธิจนตัวนิ่งแข็งเป็นก้อนหิน แต่ผลข้างเคียงตามมาก็คือการเป็นคนเจ้าโทสะอย่างรุนแรงขณะเวลาไม่ได้นั่งสมาธิ และ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน....

จนได้พบกัลยณมิตรแดนไกล ที่ได้ชักนำให้มารู้จักวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จนได้พบกับพระอาจารย์ในสายหลวงพ่อเทียน ที่ผมได้เรียนการปฏิบัติจากท่าน จนเข้าใจว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คืออะไร แล้วลงมือฝึกฝน การปฏิบัติก็รุดหน้าและได้ลิ้มรสสิ่งบริสุทธิในจิตใจอันเป็นผลจากการปฏิบัติด้วยเวลาเพียง 5 ปี

ธรรมปฏิบัติจากฆราวาสเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทย ผมรู้ได้จากที่เขียนใน blog ผมได้พบกับการก่อกวนใน blog การเขียนเหน็บแนม กระแหนะกระแหน ตำหนิการการปฏิบัติที่ผมเขียนใน blog ว่าผิดทาง เขียนแบบคาดเดาเอา ไม่รู้จริง ให้ผมหยุดเขียนแนวนี้ได้แล้ว และไปโมทนาสาธุแนะนำการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีให้กับผมอีกว่านี่คือทางที่ถูกต้อง ...

บทความใน blog จึงเกิดขึ้นมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนา
แก่ผู้อื่นที่กำลังเดินทางในสายแห่งอริยมรรคนี้

เมื่อท่านได้เข้ามาอ่านข้อเขียนใน blog กรุณาอย่าได้เชื่อผมจนกว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแล้วและพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง

**กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผมทาง e-wallet ครับ **

******
บทความต่าง ๆ ใน blog นี้
ขอสงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ห้ามนำไปดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

****
New Comments
Friends' blogs
[Add นมสิการ's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.