Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 
2 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 

10 วิธี ตั้งสติ ก่อนสตาร์ทอารมณ์โกรธ

การพัฒนาตนเอง,วิธีระงับอารมณ์โกรธ

ปัจจุบันข่าวคราวทางหน้าหนังสือพิมพ์ในแต่ละวันที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บ พิการ หรือสูญเสียชีวิต
อันมีสาเหตุมาจากการไม่สามารถยับยั้งควบคุมอารมณ์โกรธของผู้คนในสังคม
มีความถี่และความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ

การสูญเสียดังกล่าว ไม่ได้จำกัดขอบเขตเฉพาะผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์เท่านั้น
ยังส่งผลกระทบถึง ความเป็นอยู่ และสภาพจิตใจของสมาชิกครอบครัวที่ต้องพบกับความสูญเสีย
ซึ่งหลายครั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพราะไม่สามารถหยุดอารมณ์ชั่ววูบของผู้กระทำได้
ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถระงับอารมณ์โกรธของตนลงได้ มีอารมณ์ที่เยือกเย็นลงอีกสักนิด
ความสูญเสียต่างๆ ก็คงไม่เกิดขึ้น

น.พ. ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย ได้ให้ความเห็นกับเรื่องดังกล่าวว่า
“การรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง และสามารถจัดการได้อย่างเหมาะสม เป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องได้รับการฝึกฝน
สาเหตุหลักที่ทำให้คนเราเกิดอารมณ์โกรธ นอกเหนือจากแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจ ครอบครัว
และการสูญเสียการควบคุมอารมณ์ชั่วขณะ อันเนื่องมาจากการใช้เหล้าหรือสารเสพติดแล้วก็คือ เรื่องบุคลิกภาพ
อันเป็นผลมาจากการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว ซึ่งในปัจจุบันสถาบันครอบครัวของไทยมีความอ่อนแอลงทุกวัน
เวลาและความใกล้ชิดที่มีให้กันน้อยกว่าในอดีต ในขณะที่ตัวอย่างการแก้ปัญหาโดยใช้ความรุนแรงในสังคม
มีให้เห็นบ่อยมากขึ้นจนเกือบจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา
แนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ สามารถเริ่มต้นได้ด้วยการลดการนำเสนอข่าวสาร
ภาพยนตร์หรือเกมส์ ที่ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาโดยใช้ความรุนแรง
และการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับสถาบันครอบครัว ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ควรถูกหยิบยกมาใช้”
จิตแพทย์ผู้คร่ำหวอดกับการดูแลสุขภาพจิตให้กับเด็ก และครอบครัวมายาวนาน กล่าว

การเลี้ยงดูเด็กให้เจริญเติบโตมีสุขภาพกาย ใจ ที่แข็งแรง เป็นงานสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิตมนุษย์
ต้องใช้เวลา ต้องการทั้งความรู้ ความเข้าใจ และความอดทนของผู้เลี้ยงดูเป็นอย่างมาก
ช่วงอายุของเด็กที่มีความสำคัญที่สุดต่อพัฒนาการของบุคลิกภาพ ได้แก่ ช่วงอายุ 0-6 ขวบ
เพราะเป็นช่วงที่เด็กจะเรียนรู้เรื่องการวางใจผู้อื่น รับรู้และซึมซับบุคลิกภาพจากคนใกล้ชิด
โดยเฉพาะจากผู้เลี้ยงดู การฝึกเด็กให้รู้จักคอย การเห็นอกเห็นใจ การเคารพสิทธิผู้อื่น การรู้จักแพ้ รู้จักชนะ
จะมีส่วนช่วยในการฝึกทักษะการควบคุมอารมณ์ของเด็ก คุณหมอยังได้กล่าวฝากถึงพ่อแม่ในวันนี้ว่า
“หากเราเลี้ยงดูเด็กให้เป็นผู้ที่มีทั้ง ไอคิว อีคิวที่ดี คนที่อยู่ใกล้ชิดและสังคมก็จะพลอยมีความสุขไปด้วย
ความก้าวร้าวของเด็ก เมื่อมีพัฒนาการขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นได้ยาก
เพราะสมาชิกในครอบครัวต่างเป็นเบ้าหลอมสำคัญยิ่ง และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เขา”

การมุ่งหวังที่จะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี มีคุณภาพ เป็นความตั้งใจของพ่อแม่ทุกคนในทุกยุคทุกสมัย
แต่ก็ยังมีพ่อแม่อีกจำนวนมาก ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านอารมณ์ และจิตใจของเด็ก
ในแต่ละช่วงวัย รวมทั้งเทคนิคการเลี้ยงดู แก้ปัญหาที่เหมาะสม
ซึ่งมีผลทำให้เด็กมีสุขภาพจิตและบุคลิกภาพที่ไม่แข็งแรง ไม่สามารถเผชิญปัญหาในชีวิตและขาดการจัดการที่ดี
ที่สามารถแก้ไขเหตุการณ์ให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ นอกจากนี้ บรรยากาศภายในครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญ
ครอบครัวที่อบอุ่นจะช่วยให้เด็กมีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ สามารถมองเห็นข้อดีของตนเอง
สามารถภาคภูมิใจในคุณค่าของตนเอง รวมทั้งสามารถมองเห็นข้อดีของผู้อื่นได้

ครอบครัวที่มีแต่ความยุ่งเหยิง ทะเลาะเบาะแว้งใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา
เด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ก็จะซึมซับวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรง เช่นเดียวกัน

การป้องกันปัญหาการไม่สามารถยับยั้งอารมณ์โกรธได้ สามารถทำได้ด้วยวิธีการหลายอย่างประกอบกัน
เริ่มตั้งแต่การบริหารจิตใจ โดยการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อและลมหายใจทุกวันตามแต่โอกาสจะอำนวย
เพื่อลดความคลายเครียดไม่ให้สะสม ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอารมณ์โกรธได้ง่าย
รวมทั้งฝึกสังเกตให้รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง เตือนตัวเองได้ นอกจากนี้ การศึกษาหาความรู้ทางด้านสุขภาพจิต
การปรับวิธีคิด วิธีมองโลก วิธีมองปัญหา จะช่วยให้มีมุมมองที่กว้างขึ้น มีทางเลือกในการแก้ไขปัญหามากขึ้น
มีความยืดหยุ่นในการดำเนินชีวิตและโอกาสเกิดความเครียดน้อยลง

สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าขณะเผชิญเหตุการณ์ที่ทำให้โกรธนั้น
น.พ.ไกรสิทธิ์ ได้ให้หลักปฏิบัติ 10 ประการ ที่พึงนำไปใช้ เพื่อระงับความโกรธแบบสั่งได้ดั่งใจไว้ ดังนี้

1. พยายามสังเกตตัวเองให้รู้เท่าทันอารมณ์ตนเองว่ากำลังจะโกรธ

2. เตือนตนเองว่า การโกรธ คือ การเผาตัวเอง ทำลายสุขภาพตัวเอง

3. ชะลออารมณ์โกรธ โดยการเบี่ยงเบนความสนใจ ด้วยการนับ 1-10
หายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ พยายามผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ

4. พยายามออกจากสถานที่ยั่วยุให้เกิดอารมณ์โกรธนั้น เพื่อไปสงบสติอารมณ์

5. เตือนตนเองว่า เราไม่สามารถควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ดังใจเรา

6. เตือนตนเองว่า คนเราแตกต่างกัน ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แม้แต่ตัวเราเองก็มีข้อบกพร่อง

7. เตือนตนเอง ให้มองเห็นข้อดีของผู้อื่น และความดีของเขาในอดีตที่ผ่านมา

8. ฝึกคิดฝึกมองสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในด้านบวก

9. ฝึกให้อภัยและปล่อยวาง

10. ถ้าแก้ปัญหาด้วยตนเองไม่ได้ ควรขอคำปรึกษาจากคนที่มีประสบการณ์ไว้ใจได้
ในบางครั้ง ถ้าปัญหารุนแรงมากอาจจะจำเป็นต้องปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด

จากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงมอบให้กับพสกนิกรชาวไทย
เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากและใช้ได้ตลอดไปทุกยุคทุกสมัย
ถ้าผู้คนนำมายึดปฏิบัติก็จะทำให้มีชีวิตที่ปลอดภัยและสงบสุข นพ.ไกรสิทธิ์ ให้ความเห็นสนับสนุนอย่างเต็มที่
แล้วให้ทัศนะว่า ”การใช้ชีวิตที่เรียบง่ายไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่คาดหวังสูงเกินจริง ไม่ทำอะไรเกินกำลังของตน
สามารถพึงพอใจกับสิ่งที่ตนเองมีอยู่ จะช่วยลดความกดดันในชีวิตไปได้อย่างมาก
มีเวลาผ่อนคลาย ครอบครัวมีเวลาให้กันมากขึ้น ความสัมพันธ์ดีไม่หงุดหงิดหรือขัดแย้งง่าย
สามารถเอื้อเฟื้อเพื่อแผ่สิ่งที่ตนมีอยู่ให้กับผู้อื่นได้ ช่วยลดการยึดติด ปล่อยวางได้ง่ายขึ้น
เหล่านี้เองจะเป็นการป้องกันและแก้ไข ปัญหาในชีวิตได้เกือบทุกปัญหาไม่ใช่เฉพาะเรื่องอารมณ์โกรธเท่านั้น”

คุณหมอกล่าวทิ้งท้ายไว้ได้อย่างน่าคิด และสมควรนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างเร็วพลัน
เพื่อวันที่ดีที่สุด จะเป็นของเราในทุกๆ วัน หากใครยังต้องพึ่งคำปรึกษาจากจิตแพทย์ ก็อย่ารีรอ

ที่มา //www.newswit.com




 

Create Date : 02 กรกฎาคม 2552
0 comments
Last Update : 2 กรกฎาคม 2552 21:30:57 น.
Counter : 1428 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.