Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ข้อแนะนำก่อนจะพบแพทย์กระดูกและข้อ



โรคกระดูกและข้อ โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด .. มักจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ บางช่วงก็เบาไป บางช่วงก็หนักมาก ..

พอรักษาไม่สักพัก ผู้ป่วยบางคน ก็จะเปลี่ยนหมอ .. ได้ยนข่าวว่าหมอคนนั้นดี รักษาแล้วหาย ก็จะเปลี่ยนไปรักษาหมอคนใหม่ .. บางครั้งก็เปลี่ยนไปหลายสิบคน จนวนกลับมาหาหมอคนเดิม ???

มีหลายครั้งที่ผู้ป่วย รักษาได้ยามาหลายชนิด ซึ่งบางที ก็มีสีสรร ต่างกัน แต่ว่าเป็นยาตัวเดียวกัน ???

ได้ไปอ่านบทความของอาจารย์ ธวัช รพ.เลิดสิน เขียนไว้ น่าสนใจ เลยนำมาฝากกัน ..


ข้อแนะนำก่อนจะพบแพทย์กระดูกและข้อ

ดัดแปลงจากบทความของ นพ.ธวัช ประสาทฤทธา มูลนิธิโรคข้อ

https://www.thaiarthritis.org/people16.htm



1. สวมเสื้อผ้าที่ค่อนข้างหลวม

เช่น ถ้าปวดเข่า ปวดข้อเท้า ควรใส่กระโปรงหรือกางเกงขาสั้น อย่าใส่กางเกงยีนส์รัดรูป บางครั้ง แพทย์อาจต้องตรวจหลัง คอ แขน ขา ข้างที่มีอาการเปรียบเทียบกับข้างปกติ เพื่อดูอาการแสดงที่สำคัญ เช่น การอักเสบบวมแดง ร้อน ของผิวหนัง การเคลื่อนไหวของข้อ การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลีบ ความพิการโก่งงอผิดรูป ฯลฯ

.. ... ที่พบบ่อย ๆ เลย ก็คือ ปวดเข่า แล้วใส่กางเกงยีนส์ .. จะถอดก็ไม่สะดวก ใส่ก็ตรวจไม่ถนัดอีก ... บางทีก็ต้องให้ยาไปก่อนแล้วให้กลับมาอีกครั้งโดยใส่กางเกงขาสั้น .. เสียเวลา ไปอีก ...


2. เตรียมหลักฐานการสืบค้นที่เคยทำไว้ และนำติดตัวเมื่อมาพบแพทย์ด้วย

เช่น ผลเลือด ผลตรวจกล้ามเนื้อ เส้นประสาท ภาพเอกซเรย์ ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ภาพเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น

การสืบค้นที่เคย ทำไว้เป็นข้อมูลสำคัญและมีราคาแพง เพื่อนำมาประกอบการวินิจฉัยและการรักษา ผู้ป่วยควรเก็บไว้กับตัวเสมอ ควรนำติดตัวมาและนำกลับไปทุกครั้ง

........ ผลการตรวจต่าง ๆ ใน รพ.เอกชน โดยเฉพาะภาพเอกซเรย์ .. ถ้าเสียค่าใช้จ่ายไปแล้ว ถือว่า เป็นทรัพย์สินของผุ้ป่วย ไม่ใช่ของ รพ. เพียงแต่ รพ.เก็บไว้ให้เท่านั้น ... ...ดังนั้นผู้ป่วย สามารถนำกลับมาเก็บไว้ได้เลย ..

.........แต่ถ้าเป็น รพ.รัฐ ค่าใช้จ่ายจะเป็นบางส่วนเท่านั้น จึงถือว่า ภาพเอกซเรย์นั้นเป็นของ รพ.รัฐ ถ้าต้องการ ก็ต้องใช้วิธียืม เมื่อใช้เสร็จแล้ว ค่อยนำไปคืนที่ รพ.


3. เตรียมประวัติความเจ็บป่วย ประวัติการรักษา

เช่น สำเนาเวชระเบียน ใบรับรองแพทย์ ใบส่งตัว รายละเอียดการผ่าตัด ประวัติการแพ้ยา ประวัติหรือรายงานการใช้ยาแก้อักเสบ ยาปฏิชีวนะ ประวัติการบาดเจ็บ ประวัติการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา เช่น อาการปวดท้อง เสียดท้อง เลือดออก ถ่ายดำ เป็นต้น เพราะรายละเอียดดังกล่าวเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้วางแผนการรักษาให้ถูกต้อง เหมาะสม

......... โดยเฉพาะ ชื่อยา ที่เคยรักษาไปแล้ว เพราะ ถ้ายาเดิมรักษาไม่ได้ผล ก็จะได้เปลี่ยนยากลุ่มใหม่ให้

........ ที่สำคัญที่สุด ก็คือ ชื่อยาที่มีอาการแพ้ ... ไม่งั้น แทนที่ยาจะเข้าไปช่วยรักษา อาจทำใหแพ้ยา อาการแย่ลงจากยา เสียชีวิต จากยา ได้ ...


4. นำ ยา (ซองยา) ที่เคยได้รับ หรือ ยาที่กำลังใช้อยู่ทั้งหมด มาให้แพทย์ดู

เช่น ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (N-SAIDs ) ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาปฏิชีวนะ(ยาฆ่าเชื้อ ) ยาคลายเครียด ยาแก้เศร้า ยาสเตียรอยด์ หรือยาลูกกลอน เป็นต้น

............ ยาในเมืองไทย จะมียาสารพัดสีสรร ถ้าเอาเฉพาะเม็ดยามา บางครั้งก็จะบอกไม่ได้เลยว่าเป็นยาอะไร ... ถ้ามีแผงยา หรือ ซองยา ก็ให้นำมาด้วยเสมอ


5. เตรียมบรรยายอาการที่สำคัญ

เช่น อาการปวด อาการชา อาการอ่อนแรงของแขน ขา เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ความพิการผิดรูปของแขนขากระดูกสันหลัง เป็นต้น

อาจจดใส่กระดาษไว้ก็ได้ เพื่อที่เมื่อมาพบแพทย์ จะได้ไม่หลงลืมอาการที่สำคัญ และแพทย์จะได้ให้การวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

......... เวลาที่ไปพบแพทย์ ผู้ป่วยก็มักจะลืมเล่าว่า เป็นอะไร สงสัยอะไร ฯลฯ อาจเป็นเพราะความตื่นเต้น หรือ เห็นว่า ผู้ป่วยเยอะ แพทย์ยุ่ง ๆ เลยไม่กล้าบอก พอกลับบ้านไปก็ยังติดใจสงสัยอยู่ว่า แพทย์ให้การรักษาถูกต้อง ตรงกับอาการที่เป็นอยู่หรือไม่ ...

.........ถ้าจดไว้ เวลาไปพบแพทย์ ก็จะได้นำขึ้นมาอ่าน ซักถามข้อสงสัย ซึ่งก็จะเสียเวลาไม่มาก และ ตรงกับประเด็นทีสงสัยใคร่รู้ ..


6. นำญาติ หรือ เพื่อน มาด้วย เพื่อช่วยกัน ฟังคำแนะนำจากแพทย์
โดยเฉพาะ การดูแลตนเอง การบริหารกล้ามเนื้อ บางครั้งอาจต้องช่วยกันตัดสินใจ เกี่ยวกับแนวทางการรักษา ว่า จะเลือกแบบไหน?

....... บ่อยเลย ที่อธิบายชี้แจงไปแล้ว แต่พอผู้ป่วยออกไปหน้าห้องตรวจ ก็ลืมไปแล้วว่า แพทย์ บอกอะไรไปบ้าง .. โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ ..

..... ตอนนี้ ผมก็ใช้วิธี แจกเอกสารให้กลับไปอ่านด้วย แต่ถ้ามีเพื่อน มีญาติเข้ามาด้วย ก็จะดีกว่าที่ผู้ป่วยเข้ามาคนเดียว ...

.... แต่ก็ อย่าลืม สอบถาม แพทย์ หรือ เจ้าหน้าที่ ก่อนนะครับว่า อนุญาตให้ ญาติ หรือ เพื่อน ผู้ป่วย เข้าไปฟังด้วยได้หรือไม่ ??



::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::
 

ข้อสังเกตคลินิก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข

๑.มีป้ายชื่อสถานพยาบาลและเลขที่ใบอนุญาต ๑๑ หลัก ติดไว้หน้าคลินิก

๒.แสดงใบอนุญาต ให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล

๓.แสดงใบอนุญาต ให้ดำเนินการสถานพยาบาล

๔.แสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมประจำปี ของปีปัจจุบัน

๕.แสดงรูปถ่ายของผู้ประกอบวิชาชีพ พร้อม ชื่อและเลขที่ใบประกอบวิชาชีพ

๖.แสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล และ สามารถสอบถามอัตราค่ารักษาได้

๗.แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ สิทธิผู้ป่วย ในที่เปิดเผยและเห็นง่าย

 

อ้างอิง:

คู่มือประชาชนในการเลือก คลินิก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข

สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข

โทร02 193 7000 ต่อ 18416 - 7

www.mrd.go.th

FB@สารวัตรสถานพยาบาลOnline

https://www.facebook.com/สารวัตรสถานพยาบาล-Online-1502055683387990/

 

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

 

คู่มือประชาชนในการเลือก คลินิก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=07-07-2017&group=15&gblog=80
ช่องทางร้องเรียนเกี่ยวกับ ...ยา ....หมอ ....คลินิก .....โรงพยาบาล ...
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-02-2009&group=7&gblog=18
ไปคลินิกแล้ว จะดูอย่างไรว่า ผู้ที่ตรวจรักษา เป็น หมอจริง ?
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=10-07-2020&group=7&gblog=238
แขวนป้ายแขวน ใบว. ถ้ารู้แล้วยืนยันจะเสี่ยงก็ไม่ว่ากัน
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=12-11-2015&group=7&gblog=193
ข้อแนะนำก่อนจะพบแพทย์กระดูกและข้อ
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-07-2008&group=7&gblog=3
ข้อแนะนำเมื่อต้องรับการรักษา
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=24-12-2007&group=4&gblog=2
คำถาม..ที่ควรรู้..คำตอบ
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=03-01-2008&group=4&gblog=3
เคล็ดลับ20 ประการ ที่จะช่วยคุณ "ป้องกันความผิดพลาดทางการแพทย์ในการเข้ารับบริการสุขภาพ "...
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=cmu2807&month=10-2010&date=19&group=27&gblog=52
หมอคนไหนดี“ ??? .... คำถามสั้น ๆ ง่ายๆ แต่ ไม่รู้จะตอบอย่างไร ..
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=14-01-2012&group=15&gblog=42
ผลของการรักษาโรค
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=cmu2807&month=01-2008&date=05&group=27&gblog=22
 
ข้อเท็จจริงในการดูแลรักษาโรคภัยไข้เจ็บโดยแพทย์
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=cmu2807&month=06-2013&date=11&group=27&gblog=12
ฉลาดเลือกใช้...การแพทย์ทางเลือกโดยอ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=25-09-2011&group=7&gblog=149
หน้าที่อันพึ่งปฏิบัติของผู้ป่วย(มิย.๖๓) สิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย(สค.๕๘) สิทธิผู้ป่วย(เมย.๔๑)https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=23-12-2007&group=4&gblog=1
ความรู้เกี่ยวกับใบรับรองแพทย์
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=06-01-2008&group=4&gblog=5
 

 


Create Date : 04 กรกฎาคม 2551
Last Update : 10 กรกฎาคม 2563 21:31:03 น. 5 comments
Counter : 17880 Pageviews.  

 

คุณภาพชีวิต 19 สิงหาคม 2552 11:18:54

//www.innnews.co.th/Qualityoflife.php?nid=185908


เคล็ดลับเตรียมตัวไปหาหมอ

เมื่อเราเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น ควรสังเกตอาการ และไปพบแพทย์ ไปอ่านเคล็ดลับการเตรียมตัวทั้งก่อนไป-ขณะพบ-หลังพบแพทย์ ว่าต้องทำอย่างไร

การไปพบแพทย์แต่ละครั้งถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญกับทุกคน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในชนบท ห่างไกลสถานพยาบาล ซึ่งมักจะต้องจัดหารถเพื่อเดินทาง ชักชวนไหว้วานเครือญาติมาเป็นเพื่อน ต้องเตรียมอาหารการกินระหว่างการเดินทางและการรักษา จนพร้อมสรรพแล้วจึงออกเดินทางเข้ามาพบแพทย์หรือแม้แต่คนในเมืองก็ตามเวลาไปพบแพทย์ก็จะต้องเตรียมตัววางแผน และลางาน ซึ่งล้วนเกิดความสูญเสียทั้งเรื่องเวลาของการประกอบอาชีพ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่ารักษาพยาบาล

เนื่องจากมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ช่วงเวลาที่ผู้ป่วยจะได้พบแพทย์จึงเป็นช่วงระยะเวลาเพียงสั้นๆ ซึ่งรวมถึงการเข้ารับการตรวจ การวินิจฉัย และให้การรักษาของแพทย์ จึงประมาณได้ว่า ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีเวลาพบแพทย์เพียง 5 ถึง 10 นาทีเท่านั้น

ดังนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนเป็น “นาทีทองของผู้ป่วย” ที่จะต้องมีการใช้เวลาอย่างคุ้มค่าให้มีประสิทธิภาพดีที่สุด เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ดี ถูกโรค ถูกยา หายป่วย หายไข้ ปลอดภัย และประหยัด


การเตรียมตัวไปพบแพทย์ขอแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ ดังนี้

1. การเตรียมตัวก่อนไปพบแพทย์

2. ขณะไปพบแพทย์

3. การปฏิบัติตนเองหลังไปพบแพทย์

การเตรียมตัวก่อนไปพบแพทย์

ขั้นตอนแรกนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เริ่มจากการสังเกตสิ่งผิดปกติของตัวเรา ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีใครรู้ตัวเราเท่าตัวเราเอง ควรจดบันทึกสิ่งผิดปกติ และควรเลือกไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ และถ้ามีโอกาสก็ควรจำรายละเอียดให้แม่นยำ และถ้ามีรายละเอียดเป็นจำนวนมากก็อาจจะจดบันทึกวันเวลา ระยะเวลาที่มีอาการเจ็บป่วยความรุนแรง การลุกลาม ตำแหน่งที่เป็น อวัยวะที่รู้สึกเป็นต้น เพราะจะได้ดำเนินการดังนี้

1. สังเกตสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น

เมื่อเริ่มมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายของเราควรสังเกต เฝ้าระวัง และติดตามอย่างสนใจ จดจ่อ และต่อเนื่อง ว่าสิ่งผิดปกตินี้มีอาการและระดับความรุนแรงอย่างไร เคยเป็นอย่างนี้มาหรือยัง รวมถึงระยะเวลาที่มีอาการเจ็บป่วย ความรุนแรง การลุกลาม ตำแหน่งที่เป็น อวัยวะที่รู้สึก และอื่นๆ ถ้ามีโอกาสก็ควรจำรายละเอียดต่างๆ ให้แม่นยำ แต่ถ้ามีรายละเอียดเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะจดบันทึกข้อมูลให้ครบถ้วน เมื่อไปพบแพทย์จะได้ให้ข้อมูลได้ถูกต้อง แม่นยำ และครบถ้วน ซึ่งจะส่งผลดีกับตัวเราเอง

2. ไม่มีใครรู้จักสุขภาพร่างกายของคุณได้ดีเท่ากับตัวคุณเอง

ไม่ว่าสิ่งผิดปกติจะเป็นด้านจิตใจ ร่างกาย หรือความนึกคิดของคุณ คนที่จะรู้ดีที่สุด ก็คือตัวของคุณเองคนที่เป็นเจ้าของร่างกายอันนี้ ไม่ว่าจะเกิดสิ่งดี สิ่งร้ายโรคภัยไข้เจ็บอะไรขึ้น ดังนั้น คุณจึงควรสังเกตสิ่งเหล่านี้ให้ครบถ้วนว่าเป็นอย่างไร เป็นที่ไหน เป็นมากนานเพียงใด

3.จดบันทึกข้อมูลสุขภาพ

รายละเอียดของสิ่งผิดปกติเหล่านี้จะมีคุณค่ามากขึ้น และช่วยให้ได้ข้อมูลความเจ็บป่วยที่ครบถ้วน จึงควรจดบันทึกความเจ็บป่วยไข้ ว่ามีอาการอย่างไรบ้าง เป็นที่ไหนบ้าง เป็นมานานแค่ไหน จดบันทึกไว้ หรือบางคนอาจจัดทำไว้เป็นสมุดบันทึกสุขภาพก็ยิ่งดี และจะมีคุณค่ามากเมื่อไปพบแพทย์ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

4. รู้แต่เนิ่นๆ ยังเป็นน้อยรักษาได้ง่าย

การสังเกตและไม่นิ่งนอนใจในสิ่งผิดปกติต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้ารู้ตัวแต่เนิ่นๆ ในขณะที่ยังมีอาการน้อย และความรุนแรงของโรคไม่มาก โดยทั่วไปก็จะทำการรักษาให้หายได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่เสียเวลาและไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย

ในทางตรงกันข้ามถ้าปล่อยให้เป็นมากๆ แล้วจึงไปพบแพทย์ ขณะที่มีอาการมากและโรคลุกลาม การรักษาก็จะยุ่งยาก วุ่นวาย เสียเวลา และค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก หลายคนต้องขายที่ขายทาง ขายไร่ขายนา เพื่อนำเงินมาใช้รักษา จนเกิดคำว่า “ล้มละลายจากการรักษาพยาบาล”

5. เตรียมข้อคำถามที่อยากรู้

นอกจากนี้ อาจซักซ้อนเตรียมคำถามที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยที่ต้องการทราบคำตอบจากแพทย์ เช่น โรคที่เป็น ระดับความรุนแรงของโรค เป้าหมายของการรักษา ยาและการใช้ยา เป็นต้น เพราะจะได้ถามแพทย์ในช่วงนาทีทองของคุณ

ขณะไปแพทย์

ขั้นตอนแรกเหมือนการวางแผนเพื่อรวบรวมข้อมูลสิ่งผิดปกติและเตรียมตัวไปพบแพทย์ และเมื่อถึงขั้นตอนที่ 2 ที่ผู้ป่วยจะไปพบแพทย์จริงๆ ก็ควรจะไปแต่เช้า หรือตรงเวลานัดของแพทย์จริงๆ ก็ควรจะไปแต่เช้า หรือตรงเวลานัดของแพทย์ ถ้าจะให้ดีก็ควรหาเพื่อนไปด้วย ให้ข้อมูลที่สำคัญให้ครบถ้วน ตั้งใจฟังการวินิจฉัย ความเห็น และคำแนะนำของแพทย์ และรู้จักเป้าหมายการรักษาอย่างชัดเจน ดังนี้

1. ไปแต่เช้า หรือตรงเวลานัดของแพทย์

เวลาจะไปพบแพทย์ควรไปแต่เช้าๆ หรือกรณีที่แพทย์ได้นัดให้ไปพบ ก็ควรไปให้ตรงเวลาหรือไปก่อน สักระยะหนึ่งก็จะดี ควรพกข้อมูลบันทึกปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นไปด้วย เพื่อจะได้ช่วยจำ ป้อนข้อมูลให้กับแพทย์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

2. หาเพื่อนไปด้วย จะได้ช่วยเหลือกัน

ถ้าเป็นไปได้ควรหาคู่สมรส ญาติสนิท หรือมิตรสหายไปเป็นเพื่อนเวลาไปพบแพทย์ด้วย เพื่อจะได้ช่วยกันเล่าอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น และรับฟัง ช่วยกันจำคำแนะนำและวิธีการปฏิบัติดูแลตัวเองในการรักษาของแพทย์ มีรายงานทางการแพทย์ว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะลืมคำแนะนำของแพทย์ เมื่อเดินออกจากห้องตรวจ ทำให้ผู้ป่วยกลับไปดูแลรักษาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ได้ไม่ครบถ้วน ส่งผลให้ได้รับผลการรักษาอย่างไม่เต็มที่ จึงควรชวน “เพื่อนสุขภาพ” ไปพบแพทย์ด้วย

3. ตั้งใจฟังแพทย์ ถ้าสงสัยควรถามได้เลย

ขณะที่อยู่ในห้องตรวจ ต่อหน้าแพทย์ เป็นช่วงนาทีทองที่แท้จริง จึงควรมีสมาธิ ตั้งใจฟังดี ทั้งเรื่องการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไร มีระดับความรุนแรงเพียงใดจะมีวิธีการดูแล ปฏิบัติตนเอง การรักษาและใช้ยาอย่างไร ถ้ามีรายละเอียดมาก ก็อาจจดบันทึกไว้ หากมีข้อสงสัย ไม่ต้องเกรงใจแพทย์ ขอความกรุณาแพทย์ให้ความกระจ่างได้เลย โดยเฉพาะคำถามที่อยากจะรู้ เช่น การปฏิบัติตนเอง เป้าหมายของการรักษา รวมถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ ค่าใช้จ่าย ค่ารักษา ค่ายาที่จะต้องจ่ายเอง ถ้าเตรียมตัวมาไม่เพียงพอ หรือเป็นจำนวนเงินมากเกินไป ก็ปรึกษาท่านได้เลย ไม่ต้องเกรงใจ

4. รู้จักเป้าหมายการรักษาอย่างชัดเจน

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้ป่วย คือเป้าหมายของการรักษาโรค ซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดของโรคนั้นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง จะมีเป้าหมายของความดันโลหิตตัวบน (ขณะที่หัวใจบีบตัว) เท่ากับ 130 มิลลิเมตรปรอท และเป้าหมายของความดันโลหิตตัวล่าง (ขณะที่หัวใจคลายตัว) เท่ากับ 80 มิลลิเมตรปรอท

ขณะที่โรคเบาหวานที่มีเป้าหมายของระดับน้ำตาลในเลือดในตอนเช้าหลังอดอาหารมามีค่าเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรื เป้าหมายเหล่านี้คือจุดหรือช่วงที่สำคัญของผู้ป่วย เพราะถ้าบรรลุเป้าหมาย จะมีความปลอดภัยสามารถควบคุมอันตรายของโรคให้อยู่ในช่วยที่ปลอดภัยเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ และเป็นที่ปรารถนาทั้งของแพทย์ที่ให้การรักษาและของผู้ป่วยที่ประสบปัญหาสุขภาพนั้นๆ อีกมุมหนึ่งถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตนเองจนสามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้ ก็แสดงถึงความสามารถในการดูแลรักษาที่ดีของผู้ป่วยจนบรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ

นอกจากนี้เป้าหมายการรักษา ยังช่วยให้ผู้ป่วยได้รับรู้ ตระหนัก และยอมรับความเจ็บป่วยของตนเอง ซึ่งจะส่งผลเป็นความร่วมมือในการรักษา และมีส่วนสำคัญจ่อการรักษาควบคุมโรค

การปฏิบัติตนเองหลังไปพบแพทย์

ภายหลังจากที่พบแพทย์ผู้ป่วยควรร่วมมือปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์ ทั้งในเรื่องการดูแลตนเอง การใช้ยาและควรสังเกตสิ่งผิดปกติต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นก่อนไปพบแพทย์ว่า โรคที่ทุเลา เบาบาง หรือหายดีเพียงใด ทั้งยังควรสังเกตสิ่งผิดปกติใหม่ (ถ้ามี) เช่น การแพ้ยา ผลข้างเคียงของยา เป็นต้น และติดตามผลการรักษา ไปพบแพทย์ตามนัด ควรพกพาข้อมูลสุขภาพที่สำคัญ ติดตัวอยู่เสมอ เช่น โรคประจำตัว ยาที่ใช้อยู่ประจำ การแพ้ยา เมื่อไปพบแพทย์ จะได้ให้ข้อมูลได้ทันที


ที่มา นิตยสารหมอชาวบ้าน


โดย: หมอหมู วันที่: 19 สิงหาคม 2552 เวลา:16:34:27 น.  

 


เภสัขชวนคนไทยจดบันทึกยา ลดปัญหายาตีกัน


อันตรายจากการใช้ยาไม่ถูกต้องยังเป็นปัญหาสำหรับคนไทย เพื่อรณรงค์ให้คนไทยใช้ยาอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษาโรค สภาเภสัชกรรม ร่วมกับ สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย), เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)

จัดโครงการสัปดาห์เภสัช ประจำปี 2554 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ภายใต้แนวคิด “บันทึกยา รักษาต่อเนื่อง ลดปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกร” เพื่อเชิญชวนให้คนไทยเห็นความสำคัญของการจดบันทึกรายการยาที่ใช้ เพื่อลดปัญหาเรื่องยาตีกัน-ใช้ยาซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นภัยเงียบของผู้ใช้ยา

ภญ.รศ.ธิดา นิงสานนท์ นายกสภาเภสัชกรรมฯ เผยว่า ยาตีกันมักเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จากการที่ผู้ป่วยได้รับยา 2 หรือ 3 ชนิดรวมกัน ยาเกิดปฏิกิริยาต่อกันและส่งผลต่อร่างกาย โดยผลที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดผลการรักษาที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ตั้งใจ หรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรือทำให้ผลการรักษาลดลงและบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ยาตีกันเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น บางคนไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลหลายแห่ง และแพทย์แต่ละแห่งไม่ทราบว่าได้รับยาอะไรมาบ้าง ผู้ป่วยเองก็ไม่ทราบชื่อยาที่กินอยู่ หรือไปซื้อยากินเองโดยที่ไม่ได้บอกว่ากินยาอะไรอยู่บ้าง ทำให้เกิดปัญหาการกินยาซ้ำซ้อน ยาที่ได้มาใหม่ตีกับยาเก่า โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ได้รับยาหลายขนานและจำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น

สำหรับสาว ๆ ที่นิยมกินอาหารเสริม ภญ.รศ.ธิดา เตือนว่าอาหารเสริมมีโอกาสเสี่ยง “ตีกับยา” ได้เช่นกัน อาหารเสริมบางชนิด เช่น กระเทียมสกัด หรือแปะก๊วย อาจเพิ่มฤทธิ์ของยาที่ต้านการเกาะของเกล็ดเลือด แม้แต่น้ำผลไม้บางชนิดโดยเฉพาะน้ำเกรฟฟรุตขนาด 250 ซีซี ทำให้ระดับยาในเลือดของยาที่กินร่วมด้วยสูงขึ้น เช่น ยาลดไขมัน ยากดระบบประสาท เป็นต้น

ส่วนหนุ่ม ๆ ที่สูบบุหรี่หรือดื่มเหล้ามีโอกาสตีกับยาได้ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ยาออกฤทธิ์ลดลง ขณะที่แอลกอฮอล์ทำให้ผลการรักษาของยาเปลี่ยนแปลงไป


ดังนั้นการจดบันทึกการใช้ยาและพกสมุดบันทึกยาติดตัวไปทุกครั้ง ที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาล หรือซื้อยาตามร้านยาจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องใช้ยาต่อเนื่อง เพราะเป็นการส่งต่อข้อมูลสื่อสารระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพ ทำให้เกิดการต่อเนื่องของการดูแลรักษา และการได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรับยาของผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากการใช้ยา

ด้านความสำคัญของสมุดบันทึกยา ภญ.รศ.(พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ อุปนายกสภาเภสัชกรรม ให้ข้อมูลว่า สมุดบันทึกยาจะมีข้อมูลรายการยาที่ผู้ป่วยใช้ ซึ่งจะช่วยให้ตรวจสอบ ดูแล ปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษา ช่วยให้แพทย์หรือเภสัชกรไม่จ่ายยาที่ซ้ำซ้อนหรือเลือกจ่ายยาที่ไม่ “ตี” กับยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่

นอกจากนี้ ยังมีประวัติการแพ้ยา อาการข้างเคียงของยาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ขณะที่ ภญ.ณัฐกานต์ ประสพสายพรกุล แนะนำว่าการใช้สมุดบันทึกยาเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่สามารถช่วยลดอันตรายจากการใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง การบันทึกยาถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากต้องกินยาเป็นประจำ.

//www.dailynews.co.th/web/index.cfm?page=content&categoryId=359&contentID=149200




โดย: หมอหมู วันที่: 6 กรกฎาคม 2554 เวลา:15:40:44 น.  

 



ข้อแนะนำผู้ป่วยโรคข้อเมื่อจะไปพบแพทย์

สารเนตร์ ไวคกุล พ.บ., ว.ว. ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์

กรรมการมูลนิธิโรคข้อในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ผู้ ป่วยที่มีอาการข้อผิดปรกติมักมีปัญหาในใจว่าควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนไปพบ แพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด บางท่านอาจเกิดความลังเลไม่แน่ใจว่าควรไปพบแพทย์หรือไม่ ไปพบแพทย์คนไหนดี ควรลองรับการรักษาด้วยยาสมุนไพร การนวดหรือซื้อยามารัประทานเองก่อนดี นอกจากนี้การไปพบแพทย์จะพูดคุยกับแพทย์อย่างไรดีถึงจะทำให้แพทย์ผู้นั้นเข้า ใจในความไม่สบายของตนเองเพื่อผู้ป่วยเองจะได้รับการรักษาที่ดีและหายจากโรค ข้อนั้นๆ

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางท่านอาจตั้งใจและมีแนวทางที่ต้องการให้แพทย์ตรวจและ รักษาตามแผนที่ตนเองคิดว่าเหมาะสม โดยมักได้รับการแนะนำจากเพื่อน คนรู้จักหรือญาติว่าเมื่อมีอาการอย่างหนึ่งควรได้รับการตรวจรักษาอย่างหนึ่ง แต่เมื่อพบแพทย์แล้วไม่ได้รับการตรวจรักษาตามที่ตั้งใจไว้อาจมีความรู้สึก ไม่สบายใจ

จึง เป็นที่มาของบทความนี้ที่เสนอแนวทางการเตรียมตัวของผู้ป่วนโรคข้อหรือผู้ที่ มีความผิดปรกติของข้อก่อนไปพบแพทย์เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยเป็นไปได้ถูกต้อง แม่นยำ ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดี เข้าใจในแนวทางการรักษาและมีความสบายใจทั้งผู้ป่วยเองและแพทย์ผู้ให้การรักษา

เพื่อความสะดวกในการเตรียมตังจึงแบ่งผู้ป่วยโรคข้อออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มที่มีอาการเจ็บปวดบริเวณข้อ การเคลื่อนไหวของข้อผิดปรกติหรือมีอาการไม่สบายที่บริเวณข้อชนิดเฉียบพลัน โดยที่ผู้ป่วยไม่เคยมีอาการเช่นนี้มาก่อน

2. กลุ่มที่มีอาการเจ็บปวดบริเวณข้อ การเคลื่อนไหวของข้อผิดปรกติหรือมีอาการไม่สบายที่บริเวณข้อเป็นๆหายๆมานาน อาการอาจมีมากบ้างหรือน้อยบ้าง อาการทุเลาลงเมื่อได้รับการรักษา แต่ก็กลับมีอาการผิดปรกติอีก

3. กลุ่มที่มีอาการเจ็บปวดบริเวณข้อ การเคลื่อนไหวของข้อผิดปรกติหรือมีอาการไม่สบายที่บริเวณข้อตลอดเวลา บางครั้งมีอาการมาก บางครั้งมีอาการน้อย แต่ส่วนใหญ่มีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ




ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดบริเวณข้อ การเคลื่อนไหวของข้อผิดปรกติหรือมีอาการไม่สบายที่บริเวณข้อชนิดเฉียบพลัน โดยที่ผู้ป่วยไม่เคยมีอาการเช่นนี้มาก่อน

ผู้ป่วยควรลำดับเหตุการณ์ว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นสัมพันธ์กับกิจกรรมใดที่ผู้ป่วยไม่เคยทำหรือปฏิบัติมาก่อน เช่นทำงานที่ไม่เคยชิน ได้รับยาหรือสารใดบ้างหรือเกิดการบาดเจ็บที่อาจไม่รุนแรง การเปลี่ยนแปลงของระดับความปวดในระยะก่อนที่จะพบแพทย์ อาการมากขึ้นเมื่อใดและลดลงเมื่อใด อาการปวดสัมพันธ์กับสิ่งใดบ้าง ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือเคยแพ้ยาอะไรมาก่อนหรือไม่

หาก ผู้ป่วยพักการใช้ข้อนั้นๆและหรือรับประทานยาแก้ปวดสามัญเช่นยาพาราเซตามอ ลแล้วไม่ทุเลาควรรีบไปพบแพทย์ แล้วลำดับเหตุการณ์ให้แพทย์ทราบโดยลำดับ ผู้ป่วยควรเข้าใจว่าแพทย์ผู้นั้นเข้าใจและมีความรู้เรื่องโรคภัยดีและสามารถให้การรักษาได้ จึงควรมั่นใจในแนวทางการตรวจและรักษาของแพทย์

บ่อยครั้งที่พบว่าผู้ป่วยมีความวิตกกังวลมาก หรือได้รับคำแนะนำที่อาจไม่ถูกต้องครบถ้วนจากญาติสนิทหรือมิตรสหาย ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าป่วยเป็นโรคข้อชนิดรุนแรงที่อาจทำให้เกิดความพิการ ถาวรได้ และคิดว่าแพทย์ควรตรวจพิเศษต่างๆให้ครบ เช่นการส่งผู้ป่วยตรวจทางรังสีวิทยา การเจาะข้อเพื่อนำของเหลวในข้อออกมาตรวจและการตรวจเลือด

จริงอยู่ที่การตรวจเหล่านั้นอาจมีความจำเป็นในผู้ป่วยบางราย แต่ไม่ใช่จำเป็นในผู้ป่วยทุกราย ข้อบ่งชี้ขึ้นกับประวัติการเจ็บปวดของผู้ป่วยและการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้ให้การรักษา หากผู้ป่วยตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่าแพทย์น่าจะต้องตรวจพิเศษหรือให้การรักษา พิเศษใดควรปรึกษาและทำความเข้าใจกับแพทย์โดยอย่ายึดมั่นว่าตัวเราเข้าใจถูก ต้อง เนื่องจากอาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันและเกิดความไม่สบายใจทั้งผู้ป่วยและ แพทย์

เมื่อแพทย์ให้การรักษาเบื้องต้นและนัดมารับการตรวจหรือรักษาในระยะต่อมา ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัด ระหว่างนั้นควรรับประทานยา หลีกเลี่ยงการใช้ข้อที่ผิดปรกติตามคำแนะนำของแพทย์และบริหารร่างกายและข้อให้ถูกต้อง สังเกตการณ์เปลี่ยนของอาการเจ็บป่วยว่าดีขึ้นหรือเลวลงอย่างไร ผู้ป่วยมีอาการผิดปรกติที่สงสัยว่าอาจสัมพันธ์กับการใช้ยาที่แพทย์ให้มาหรือไม่ ควรจดบันทึกแล้วหยุดยาพร้อมกับไปพบแพทย์โดยเร็ว





ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดบริเวณข้อ การเคลื่อนไหวของข้อผิดปรกติหรือมีอาการไม่สบายที่บริเวณข้อเป็นๆหายๆมานาน อาการอาจมีมากบ้างหรือน้อยบ้าง อาการทุเลาลงเมื่อได้รับการรักษา แต่ก็กลับมีอาการผิดปรกติอีก

ผู้ป่วยควรลำดับเหตุการณ์ใหม่ให้ชัดเจนว่า ผู้ป่วยรับประทานยา ลดการใช้ข้อที่มีปัญหา และบริหารร่างกายและข้อนั้นๆตามแพทย์แนะนำหรือไม่ อาการที่เกิดขึ้นนั้นสัมพันธ์กับกิจกรรมใหม่ใดๆที่ผู้ป่วยมีขึ้นหรือไม่ มีสิ่งใดที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากและมีสิ่งใดที่กลับทำให้ผู้ป่วยทุเลาลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาและการใช้ข้อนั้นๆ ผู้ป่วยมีอาการอื่นๆที่ไม่เคยมีขึ้นมาแต่ก่อนหรือไม่ ทั้งอาการของข้อและอาการผิดปรกติในอวัยวะและระบบอื่นๆ

ผู้ป่วยควรกลับไปพบแพทย์คนเดิมและลำดับเหตุการณ์ต่างๆให้แพทย์ทราบใหม่โดยละเอียด ควรซักถามปัญหาข้องใจทั้งหลายกับแพทย์ผู้ให้การรักษา รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติตัว

โรคข้อหลายชนิดแพทย์อาจไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ชัดเจนในการตรวจเพียงสองหรือสามครั้ง อาจต้องให้การรักษาและเฝ้าดูอาการของผู้ป่วยไประยะหนึ่ง ระหว่างนั้นควรรับประทานยาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์





ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดบริเวณข้อ การเคลื่อนไหวของข้อผิดปรกติหรือมีอาการไม่สบายที่บริเวณข้อตลอดเวลา บางครั้งมีอาการมาก บางครั้งมีอาการน้อย แต่ส่วนใหญ่มีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ

มักพบในผู้ป่วยที่มีโรคข้อที่รุนแรง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหรือการรักษา ผู้ป่วยควรลำดับเหตุการณ์ใหม่ให้ชัดเจนว่า ผู้ป่วยรับประทานยา ลดการใช้ข้อที่มีปัญหาและบริหารร่างกายและข้อนั้นๆตามแพทย์แนะนำหรือไม่ อาการที่เกิดรุนแรงขึ้นนั้นสัมพันธ์กับกิจกรรมใหม่ใดๆที่ผู้ป่วยมีขึ้นหรือไม่ มีสิ่งใดที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากและมีสิ่งใดที่กลับทำให้ผู้ป่วยทุเลาลง

ผู้ป่วยควรจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงของอาการให้ชัดเจนและนำไปแจ้งแก่แพทย์ผู้ให้การรักษา แพทย์ผู้ให้การรักษาอาจปรับการรักษาใหม่ ตรวจร่างกายและตรวจพิเศษเพิ่มเติม ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจต้องรับตัวเข้าไว้ตรวจและรักษาในโรงพยาบาล




โดย: หมอหมู วันที่: 14 มกราคม 2555 เวลา:15:51:44 น.  

 



ชี้แจงเกี่ยวกับการให้คำปรึกษา ผ่านระบบอินเตอร์เนต
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-02-2008&group=2&gblog=3

หมอไม่ควรไปตอบปัญหาทางเนต จริงหรือ ???
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=06-11-2009&group=7&gblog=37

มาทำบุญ ด้วยการตอบกระทู้ .... เป็น คำแนะนำเบื้องต้น ไม่ได้วินิจฉัยโรค ....
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-09-2009&group=15&gblog=2

ข้อแนะนำวิธีตั้งกระทู้ถามปัญหาสุขภาพ
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-06-2008&group=7&gblog=2

ข้อแนะนำก่อนจะพบแพทย์กระดูกและข้อ
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-07-2008&group=7&gblog=3


โดย: หมอหมู วันที่: 24 สิงหาคม 2555 เวลา:16:06:34 น.  

 
Ittaporn Kanacharoen
https://www.facebook.com/ittaporn/posts/3465995920127856

"หาหมอ ต้องเตรียมอะไรบ้าง?"

วันนี้ได้รับคำถามว่า
"อาหมอครับ คุณแม่ไม่สบายจะไปหาหมอ ต้องเตรียมอะไรบ้างครับ?"
♡เป็นคำถามง่ายๆ ที่ตอบยากผมตอบหลานไปแล้วนึกได้ว่า อาจมีคนอื่นอยากรู้เช่นเดียวกันจึงขอลองแชร์ เพราะมีหลายประเด็นน่าจะช่วยคุณหมอย่นเวลาได้ครับ

1. ก่อนหาหมอต้องถามตัวเองว่าใช้สิทธิ์อะไร ถ้า ไม่แน่ใจ ใครกด 1330 แล้วกดเลขบัตรประชาชน จะบอกว่าเรามีสิทธิ การรักษาฟรีที่โรงพยาบาลใด ใน 30 บาท หรือเป็นสิทธิ์ประกันสังคมที่ใด หรือสิทธิข้าราชการที่ไปได้ในโรงพยาบาลรัฐทุกที่ ถ้าเข้า 30 นั้นท่านจะได้รับการยกเว้นค่าใช้จ่าย จะได้ไปให้ถูกครับ
.
2. หากไม่เข้าตามสิทธิ์ฟรี ต้องตรวจสอบดูก่อนนะครับเพราะเอกชนนั้นมีหลายระดับหลายราคา แปลว่าต้องเตรียมงบประมาณ ทีเดียว ยกเว้นกรณี UCEP หรือฉุกเฉินวิกฤตที่จะเข้าฟรีได้ทุกที่ แต่ต้องโทรติดต่อ ก่อนนะครับว่าอาการของท่านเข้าข่ายหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจผมแนะนำให้ไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิจะปลอดภัยที่สุด ไม่ต้องมาจ่ายเพิ่มภายหลัง
.
การมีประกันสุขภาพดูให้ดีนะครับ ว่าท่านประกันไว้แบบไหน บางแบบต้องจ่ายเองก่อน แล้วเบิกคืนซึ่งอาจจะได้บางส่วน บางทีน้อยมาก หากไม่ตรงเงื่อนไข ที่ท่านซื้อไว้ โปรดตรวจสอบให้ดี หลายรายใช้ไม่ได้ครับ กลายเป็นว่าเข้าเอกชนแล้วท่านต้องจ่ายเองจำนวนมาก ซึ่งไม่คุ้ม และวงเงินก็มีผล บางครั้ง เข้าเอกชน วงเงินอาจจะไม่พอในบางโรค โดยเฉพาะที่ต้องผ่าตัดครับ ขอให้ท่านพึงระมัดระวังเรื่องนี้ด้วย
.
3. กลับมาเรื่องของอาการป่วย เพื่อความรวดเร็วในการรับการรักษา ขอให้ท่าน ช่วยจดมาจากบ้านโดยเฉพาะกรณีที่ไม่ฉุกเฉิน วางแผนเขียนมาเลยครับว่า

3.1 อาการเป็นอย่างไร เป็นมานานเท่าไหร่ อะไรทำให้ดีขึ้น อะไรทำให้แย่ลง ก่อนมีอาการนั้น ได้กินอะไร ไปที่ไหน ออกกำลังอย่างไร กินยาอะไร หรือมีความผิดปกติอย่างไรนำมาก่อน เจ็บตรงไหน ปวดตรงไหน แล้วจดลงกระดาษไว้ ตอนพบหมอได้อธิบายทีเดียวครับ
.
3.2 โรคประจำตัวของท่านมีอะไรบ้าง เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ หรืออื่นๆ และกินยาอะไรอยู่ประจำ จดชื่อยามาเลยนะครับ ถ้าไม่แน่ใจหยิบยามาทั้งหมด เอามาโชว์คุณหมอเลยเวลาให้ยาจะได้ไม่ตีกัน
.
กรณีบางท่านมีความศรัทธาส่วนตัว ในยา สมุนไพร ยาพรายกระซิบ หรือยาน้ำ ยาต้ม บาหม้อชนิดแปลกๆ ให้เอาติดหรือจดมาให้หมอด้วยนะครับ เพราะบางตัวมีผลต่อตับ และต่อไต โดยเฉพาะยาหม้อ และยาสเตียรอยด์ จะได้ ให้คุณหมอดูทีเดียว ไม่นับรวมที่ต้องบอกว่าแพ้ยาอะไรด้วยนะครับ
.
3.3 กรณีเคยตรวจแลป ตรวจเอ็กซเรย์คลื่นหัวใจ CT MRI หรืออื่นๆที่มีผลอยู่ที่ตัว ฝากเอาติดมาด้วยนะครับ เพราะบางครั้งจะสะดวกขึ้นไม่ต้องทำใหม่ ผมมักจะแนะนำให้คนไข้ ประจำ มีกระเป๋า 1 ใบ พอรับเอกสารจากโรงพยาบาลแล้วใส่ไว้ในที่เดียวกันหมด เวลาฉุกเฉินถือใบนี้มาโรงพยาบาลจะง่ายที่สุดครับ.
.
3.4 กรณีที่คนไข้ต้องเดินทางต่างประเทศ ผมมักจะขอให้นำเอกสารสรุป ประวัติเหล่านี้สแกนและใส่ไว้ในอีเมล ของตัวเองเวลาไปมีอาการผิดปกติที่ต่างประเทศจะได้ เปิดให้คุณหมอประเทศนั้นดูได้เลย เพราะเคยมีบางครั้งแค่เจ็บหน้าอก ไปโรงพยาบาลในต่างประเทศด่วนตรวจใหม่ทั้งหมดเสียเวลาทั้งวัน เพราะเขากลัวพลาดโรคหัวใจ ทั้งๆที่เคยตรวจไปหมดแล้วที่กรุงเทพฯ ที่สำคัญเสียเงินแพงมากแถมได้ยามาขวดเดียว จะได้ไม่เสียเงินและเสียเวลาซ้ำครับ
.
3.5 กรณีเป็นเด็ก ที่ต้องมีผู้อนุญาตในการใช้สิทธิ์ต่างๆโปรดเตรียมแจ้งผู้ปกครองมาด้วยนะครับเตรียมเอกสารสำคัญ ติดตัวมาเผื่อต้องผ่าตัด หรือดำเนินการอย่างอื่นจะได้รวดเร็ว กรณีเป็นครูต้องแจ้งทางบ้านด้วย และตรวจสอบสิทธิของเด็กมาให้เรียบร้อยครับ
.
3.6 กรณีมีความผิดปกติที่เป็นพฤติกรรม เช่นแขนขากระตุกหน้ากระตุก ปากเบี้ยว ระหว่างนำส่งโรงพยาบาล ให้ถ่ายภาพหรือวีดีโอมาเลยครับ เพราะอธิบายอย่างไรก็อาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน ใช้ภาพดีที่สุดครับ
.
3.7 กรณีพบหมดสติหรือไม่รู้ตัว ในพื้นที่ช่วยเก็บของอุปกรณ์โดยรอบตัว เป็นภาพมาด้วยครับ โดยเฉพาะขวดยาและสารเคมีต่างๆ Alcohol เหล้าเบียร์ แก้วน้ำที่กินรวมถึงอะไรที่จะมีผล ต่อการหมดสติ อย่างน้อยถ่ายรูปมาให้หน่อยครับ เวลาหมอวินิจฉัยจะได้สอดคล้องกับสถานการณ์ ถ้าเป็นงูหรือ สัตว์อื่น หรือตะขาบกัด อาจจะเอารูปหรือตัวจริงมาเลยครับ รับรองหมอไม่กลัว แถมจะดูชนิดได้แม่นยำด้วยครับ
.
3.8 กรณีเป็นคนไข้ประจำ รับยาเป็นประจำอยู่แล้ว และกรณีไม่ด่วน ขอให้ช่วยนับเม็ดยาที่เหลือมาให้ด้วย จะบอกได้ว่าคนไข้ขาดยาบ่อยหรือเปล่า ซึ่งบางทีเป็นผลให้โรคแย่ลงได้ โดยเฉพาะใน ผู้สูงวัยอาจจะลืมยา ในทางตรงกันข้ามบางครั้งกินยาเกินขนาด ให้กิน ครึ่งเม็ดกิน 1 เม็ด อันนี้ก็เป็นอันตรายได้ การนับเม็ดยามาจะบอกประสิทธิภาพการรักษาได้ครับ
.
3.9 บางครอบครัวมีอุปกรณ์วัดที่บ้านเช่นความดันโลหิตสูง เครื่องตรวจน้ำตาล เครื่องตรวจปัสสาวะ ช่วยติดผลมาให้ด้วยนะครับจะช่วยได้มากทีเดียว อย่าตรวจแล้วเก็บไว้ดูเองขอหมอดูด้วยนะครับ
.
3.10 กรณีผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องมาโรงพยาบาล และอาจต้องนอนโรงพยาบาลนั้นขอให้เตรียมตัวเผื่อ เฝ้าไข้ด้วยครับ เพราะหลายครั้งต้องอยู่เป็นเพื่อนคนไข้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ต้องผ่าตัดครับ
.
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่ต้องเตรียมตัวเพื่อเป็นคนไข้ที่พร้อมและจะทำให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งต้องร่วมมือกันทั้ง ผู้ป่วย ญาติ และทีมแพทย์ครับ
.
ฝากช่วยเตรียมข้อมูลมาให้พวกเราด้วยนะครับ รับรองจะดูแลได้อย่างไวและมีประสิทธิภาพมากขึ้นแน่นอน
จะให้ดีจดมาเลยนะครับ
.
ลองสรุปมาเป็นแนวทางนะครับ อาจารย์หมอท่านอื่นมีอะไรช่วยผมเติมได้เลยนะครับ ด้วยความปรารถนาดีครับ

หมออิทธพร
23.08.2563

#พบหมอแบบมืออาชีพ




โดย: หมอหมู วันที่: 23 สิงหาคม 2563 เวลา:21:28:21 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]