Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

“มะรุม” พืชสมุนไพร แต่ไม่ใช่ “ยาวิเศษ” .... บทความดี ๆ จากเวบ สสส.


มีผู้ถามเกี่ยวกับ มะรุมแคปซูล ที่มีโฆษณาว่า รักษาโรคโน่นนี่สารพันว่าจริงหรือไม่ ???

แค่ดูที่เขาโฆษณา ผมก็ตอบได้เลยว่า " ไม่จริง " อะไรมันจะวิเศษขนาดนั้น ถ้าได้ผลจริงตามโฆษณา ก็ไม่ต้องมียา ไม่ต้องมีหมอ มีโรงพยาบาลกันแล้ว ทำขายส่งออกทั่วโลก รวยกว่ามาขายตรงเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (อาหารเสริม) แบบที่เป็นอยู่ ..

ผมว่า หลักง่าย ๆ ก็คือ เชื่อสามัญสำนึกของตนเอง .. " ถ้ารู้สึกว่า มันดีเกินไป มันไม่น่าเป็นไปได้ ก็ให้เชื่อความรู้สึกตนเองไว้ก่อนว่า .... ไม่จริง ... "

ลองค้นในเนต เกือบทั้งหมดเป็น "โฆษณาขายของ" .. แต่ก็ยังพอมีบทความที่น่าสนใจ นำมาฝากกัน .. อ่านไว้เป็นความรู้นะครับ ..


“มะรุม” พืชสมุนไพร แต่ไม่ใช่ “ยาวิเศษ”

กระแสรักสุขภาพ ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก ประชากรไม่น้อยหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น และยังคงมีวี่แววว่าจะสนใจไปอย่างนี้เรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าช่วงไหน “ฮิต” อะไร แต่ที่แน่ๆ และยังคงยืนพื้นในความนิยมของคนส่วนใหญ่ ยังคงเป็น “สมุนไพร” โดยใน ขณะนี้ “เทรนด์” ได้มาหยุด อยู่ที่ผักพื้นบ้าน เจ้าของนาม “มะรุม”

“มะรุม” เป็นพืชพื้นบ้านที่มีทั่วทุกภาคของ ประเทศไทย ทำให้มีการเรียกชื่อมะรุมแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น คำว่ามะรุมนี้ เป็นคำเรียกขานของคนภาคกลาง ในขณะที่ฝั่งอีสานบ้านเฮาเอิ้นว่า “ผักอีฮุม หรือ บักฮุ้ม” ส่วนหมู่เฮาจาวเหนืออู้ว่า “บะค้อนก้อม” ส่วนชาวกะเหรี่ยงแถบ กาญจนบุรีเรียก “กาแน้งเดิง” ด้านชายขอบจังหวัดแม่ฮ่องสอนกลับให้ชื่อแก่มันอย่างชวนให้ลิ้มรส ว่า “ผักเนื้อไก่”

ครัวไทยแต่โบราณนำมะรุมมาปรุงเป็นอาหารหลากรสหลายตำรับ ในขณะที่ภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยก็นำแทบทุกส่วนของมะรุม ไม่ว่าจะเป็นใบ ดอก ฝัก เมล็ด เปลือก ราก ฝัก ฯลฯ โดยสรรพคุณทางสมุนไพรในแต่ละส่วนก็มีต่างๆ กันไป

ปัจจุบันขณะนี้ ได้มีการโฆษณาสรรพคุณของมะรุมอย่างแพร่หลาย บ้างก็ว่าช่วยต้านมะเร็ง ช่วยรักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงสุขภาพ และสรรพคุณอื่นๆ อีกร้อยแปดพันประการ ทำให้แวดวงผู้รักสุขภาพทั้งหลายตื่นตัวและตื่นเต้นอีกครั้งกับสมุนไพรที่ดูเหมือนว่าจะ “มหัศจรรย์” ชนิดนี้ ไม่ต่างกับปรากฏการณ์กระชายดำและยอ ที่บูมเปรี้ยงปร้างช่วงก่อนหน้านี้ และก็เลือนหายไปกับสายลมแล้ว

และล่าสุด “กระแสมะรุมฟีเวอร์” ได้แพร่ ระบาดจนกระทั่งบริษัทเอกชนหลายแห่งได้ผลิต “แคปซูล มะรุม” ออกมาขายกันเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ที่ไม่ชอบรับประทานผัก แต่อยากได้คุณประโยชน์ด้านสมุนไพร รวมถึงผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลาบำรุงสุขภาพ แต่อยากได้อาหารเสริมเพื่อเป็นการบำรุงทางลัด

ภญ.สุภาพร ปิติพร แห่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่ใช้แนวการรักษาด้วยแพทย์แผนไทยเป็นหลัก กล่าวถึงคุณสมบัติของมะรุมว่า มะรุมเป็นผักที่มีสารอาหารเกือบครบ วิตามินเอสูง มีโปรตีนสูง ซึ่งเป็นอาหารที่เหมาะกับเยาวชนที่ขาดอาหารในพื้นที่กันดาร โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี เช่น เยาวชนในประเทศเอธิโอเปีย รวมถึงในพื้นที่ที่เกิดวิกฤติขาดแคลนอาหารอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การบริโภคมะรุม ประชาชนต้องเข้าใจก่อนว่า มะรุมไม่ได้รักษาโรคได้สารพัดโรค ไม่ใช่ยามหัศจรรย์ หากคือผักพื้นบ้านที่คนไทยใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารมาหลายรุ่นแล้ว ไม่ใช่ยาวิเศษอย่างที่กระแสสังคมเข้าใจ

“มะรุมมีฤทธิ์ร้อน ก็พอจะช่วยในเรื่องระบบไหลเวียนโลหิต แล้วก็มีความเชื่อว่ามันช่วยเรื่องเบาหวานกับความดันโลหิตสูง ในส่วนตรงนี้ต้องพิสูจน์วิจัยกันต่อไป แต่ที่ห่วงก็คือ หากคนเข้าใจว่ามันเป็นยา ไม่ใช่พืชผัก และรับประทานมันในฐานะยารักษาโรค คนจะไม่รับประทานยาแผนปัจจุบันที่ผลิตออกมาเพื่อรักษาโรคนั้นๆ โดยตรง”

ภญ.สุภาพร กล่าวต่อไปอีกว่า การบริโภคมะรุมนั้น อยากให้ประชาชนเข้าใจว่ามันคือผักพื้นบ้าน อยากให้บริโภคอย่างเข้าใจ เพราะจริงๆ แล้วมะรุมก็ไม่ได้ปลอดภัยไปเสียทั้งหมด เพราะในตัวมันก็เป็นพิษด้วยเหมือนกัน

“อย่างที่บอกมะรุมเป็นพืชร้อน หากสตรีมีครรภ์รับประทานอาจจะทำให้แท้งได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเลือดก็ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากจะทำให้เม็ดเลือดแตกง่าย รวมถึงคนเป็นโรคเกาต์ ก็ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากมะรุมมีโปรตีนสูง”

อย่างไรก็ตาม เภสัชกรแห่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรย้ำว่า ไม่ใช่การบริโภคมะรุมเป็นของไม่ปลอดภัย เพราะคนไทยแต่โบร่ำโบราณก็นำมะรุมมาประกอบอาหารในฐานะพืชผักท้องถิ่น แต่สำหรับผู้ที่คิดเสริมสุขภาพทางลัดด้วยการไปซื้อมะรุมสกัดเป็นเม็ดแคปซูล มารับประทานนั้น อยากให้ระมัดระวังสักนิด เพราะมะรุมสกัดยังไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

“มะรุมรับประทานได้ในบริบทของอาหารปลอดภัย ไม่อันตราย และมีประโยชน์ตามสมควรในฤทธิ์ของสมุนไพร ที่ไม่อันตรายเพราะเราไม่ได้รับประทานทุกวัน และรับประทานในปริมาณไม่มากนัก

แต่อยากจะฝากเตือนไปยังผู้ที่รักสุขภาพว่า สำหรับมะรุมสกัดที่มีอยู่มากในตลาดขณะนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง และหากจะเลือกรับประทานคงจะต้องดูกันดีๆ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาสกัดจากส่วนไหน แต่ละส่วนมีฤทธิ์และออกฤทธิ์ต่อกลไกอวัยวะในระบบต่างๆ กัน และไม่รู้ด้วยว่าที่สกัดมาจะมีสารอะไรบ้าง และมีมากน้อยแค่ไหน และใส่อะไรลงไปเพิ่มอีกบ้าง

ที่สำคัญคือตอนนี้ อย. ยังไม่รับรองผลิตภัณฑ์สกัดจากมะรุม และก่อนหน้านี้ก็เคยปรากฏเช่นกันในกรณีของขี้เหล็ก ที่ออกฤทธิ์ทางเภสัชรักษาโรคได้ผล จึงมีการผลิตเป็นขี้เหล็กสกัดบรรจุแคปซูล ซึ่งพอคนไข้รับประทานเข้าไปปรากฏว่ามีหลายรายมีอาการผิดปกติที่ตับ”

เภสัชกรแห่งโรงพยาบาลใหญ่ในจังหวัดปราจีนบุรี ยังให้รายละเอียดถึงประสบการณ์ด้านเภสัชรักษาของมะรุมจากที่เธอได้ทำงานกับ หมอพื้นบ้านต่อไปอีกด้วยว่า เนื่องจากมะรุมมีฤทธิ์ร้อน จึงมีการนำมาใช้เพื่อแก้อาการปวดเมื่อย เหน็บชา ทำให้โลหิตไหลเวียนได้ดี ในบริบทของหมอพื้นบ้านก็ใช้มะรุมในการควบคุมอาการความดันโลหิตสูง โดยนำยอดมะรุมสด นำมาโขลกคั้นน้ำผสมน้ำผึ้ง ดื่มวันละครั้ง แก้ความดันขึ้น ซึ่งหมอพื้นบ้านทางแถบไทยใหญ่ก็ใช้มะรุมคุมความดันเช่นเดียวกัน

“ส่วนคนที่มีอาการเหน็บชา กินมะรุมก็ช่วยแก้ได้เหมือนกัน เพราะช่วยให้เลือดไหลเวียนดี แต่คุณสมบัติก็ไม่ได้โดดเด่นมากนัก นอกจากนี้ ดอกอ่อนของมะรุมยังช่วยป้องกันหวัด และมีวิตามินซีสูงอีกด้วย ดีที่สุดคือมองมะรุมเป็นอาหาร ต้องรับประทานอย่างเข้าใจ คนเราต้องรับประทานหลากหลาย รับประทานให้ครบทุกรส เพราะอาหารที่หลากหลายจะเข้าไปบำรุงหลายกลไกในร่างกายในทุกๆ ระบบ เราต้องการอาหารหลายอย่าง ไม่ใช่จากมะรุมอย่างเดียว ขออย่าให้เข้าใจผิด อย่ามองมะรุมเป็นยาวิเศษ”

ในขณะที่ รศ.ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรอย่างหาตัวจับยากคนหนึ่งในประเทศไทย คาดคะเนที่มาของกระแสนิยมมะรุมว่า น่าจะมาจากต่างประเทศ ที่มีคนไข้ทดลองรับประทานแล้วปรากฏว่าร่างกายดีขึ้น จากนั้นก็มีคนนำมาทำเป็นฟอร์เวิร์ดเมลบ้าง เป็นข้อมูลลงในอินเทอร์เน็ตบ้าง ทำให้กระแสสุขภาพของมะรุมแพร่ไปในวงกว้าง จนกระทั่งเข้ามาสู่ประเทศไทยในที่สุด

“จริงๆ แล้วข้อมูลมันยังไม่คอนเฟิร์มนะ เป็นกระแสนิยมแบบไฟไหม้ฟา พอฝรั่งในอเมริกากินแล้วดี ก็มีการส่งเมล์บอกต่อๆ กัน จนเข้ามาประเทศไทย น่าจะเข้ามาทางชุมชนอโศกซึ่งนิยมบริโภคผักและอาหารออร์แกนิกอยู่แล้ว"

รศ.ดร.นพมาศ กล่าวต่อไปว่า เท่าที่ทราบงานวิจัยด้านมะรุมทางวิทยาศาสตร์มีค่อนข้างน้อย หากเทียบกับสมุนไพรที่อยู่ในกระแสนิยมตัวก่อนๆ นี้ และแม้ว่าจะมีบ้าง ก็อยู่ในระดับของการทดลองกับหนู และมีข้อมูลด้านลบแจ้งไว้เช่นกัน เช่น มะรุมมีโปรตีนสูง และเป็นโปรตีนที่เกาะกันเป็นก้อน จะไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางโรค รวมถึงต่อผู้ป่วยด้วยโรคเลือดบางชนิด ก็ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากในมะรุมมีสารบางชนิดที่เป็นพิษต่อผู้ป่วยโรคดังกล่าว

“อย่างไรก็ตาม ในมะรุมก็มีวิตามินสูง มีสรรพคุณบำรุงสายตา มีวิตามินเอ มีเบตาแคโรทีน และอาจจะมีฤทธิ์ทางเภสัชที่ช่วยด้านลดน้ำตาลได้บ้าง การเลือกใช้ต้องระมัดระวัง แต่การนำมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารนั้น ถือเป็นปริมาณที่ปลอดภัย แต่ในส่วนของการเลือกจะดูแลสุขภาพแบบรวดเร็วโดยการไปซื้อมะรุมที่สกัดเป็น เม็ดเหมือนยาหรืออาหารเสริมนั้น ต้องดูให้ดีว่าส่วนใหญ่ออกฤทธิ์อย่างไร ทางที่ดีรับประทานสดเป็นอาหารจะปลอดภัยที่สุด” ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรรายนี้ทิ้งท้าย


ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการ
Update 28-05-52 อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก
//www.thaihealth.or.th/node/9239


ส่วนในบทความเรื่องนี้ ก็จะมีข้อมูลทางเภสัชวิทยาว่า แต่ละส่วนของมะรุมมีฤทธิ์อย่างไรบ้าง และมีผลการศึกษาในสัตว์ทดลองถึงอันตรายที่เกิดขึ้น ถ้ามีเวลาก็แวะไปอ่านหน่อยก็ดีนะครับ

“มะรุม: พืชสมุนไพรหลากประโยชน์”

โดยรองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข ซึ่งอยู่ในจุลสารข้อมูลสมุนไพรฉบับ 26เดือนกรกฎาคม 2552
หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือติดต่อโดยตรงที่ 02-354-4327
//www.medplant.mahidol.ac.th/document/moringa.asp

เพื่อการรักษาโรค ก็อาจทำได้แต่อย่าหวังผลมากนัก และ ไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก หรือติดต่อกันนานเกินไป ซึ่งอาจมีการสะสมสารบางอย่างและอาจเป็นพิษได้

และจากรายงานความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง ซึ่งพบว่าทำให้เกิดการแท้ง ดังนั้นควรระมัดระวังการใช้ส่วนต่างๆ ของมะรุมในสตรีมีครรภ์



หลายคนอาจมีความคิดว่า " เป็นสมุนไพร มาจากธรรมชาติ ไม่มีอันตราย " ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่ถูกต้อง เพราะ ไม่ว่าจะเป็นจากธรรมชาติหรือไม่ ถ้ามากเกินไป หรือ ใช้ไม่ถูกต้องก็เกิดอันตรายได้ทั้งนั้น ..

อย่าไปเชื่อโฆษณา ไม่มีทางลัดในการดูแลสุขภาพ เงินซื้อสุขภาพ ไม่ได้หรอกครับ ..

หมายเหตุ

เนื่องจากบทความนี้ ออกมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ผมก็ไม่แน่ใจว่า ตอนนี้มี ทาง อย. ได้ขึ้นทะเบียน อย. ให้กับ มะรุม หรือไม่ แต่เห็นตามโฆษณาในเวบต่าง ๆ ว่าได้รับอนุญาต ขึ้นทะเบียน อย.แล้ว นะครับ ...

ถึงแม้ว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. จริง .. แต่ ก็อย่าลืมว่า อย.รับรองแค่ ไม่อันตราย ไม่ได้รับรองว่า ได้ผลจริงตามโฆษณานะครับ


แถม ..

มหัศจรรย์สมุนไพรไทย ‘ต้านโรค’ คนเมือง

//www.thaihealth.or.th/node/9084


ยา กับ อาหารเสริม (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ต่างกันอย่างไร ???

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=10-08-2008&group=7&gblog=5




Create Date : 09 พฤษภาคม 2553
Last Update : 9 พฤษภาคม 2553 19:48:52 น. 5 comments
Counter : 6446 Pageviews.  

 

ไปค้นเจอ ในเวบ หมอชาวบ้าน ..อาจเก่าหน่อย ตั้งแต่พศ.๒๕๕๐ แต่ก็ยังใช้ได้อยู่

//www.doctor.or.th/node/1245
เดือน-ปี : 06/2550
นัก เขียนหมอชาวบ้าน : รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ


มีประโยชน์ของ มะรุม เยอะแยะเลยครับ .. แต่ ตอ้งเน้นไว้ก่อนว่า เป็น มะรุม ธรรมชาติ ไม่ใช่แบบดัดแปลงมาเป็นแคบซูล หรือเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นะครับ

ท้ายบทความ ผู้เขียน ก็ยังสรุปไว้ว่า " ผลิตภัณฑ์มะรุมของต่างประเทศจะอ้างฤทธิ์รักษาโรคมากมายทั้งที่ยังไม่มีการ พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ "

ในธรรมชาติ ได้ประโยชน์ .. แต่ ไม่ได้ยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์ที่ดัดแปลงมาแล้วจะยังคงประโยชน์เหมือนกับในธรรมชาติ



โดย: หมอหมู วันที่: 11 พฤษภาคม 2553 เวลา:15:25:30 น.  

 
สวัสดีครับ..หมอหมู ที่ส่งหลังไมค์ไปบอกให้มาอ่านข้อความดีๆ บ้าน
เราเป้นแบบไฟไหม้ฟางครับ อะไรฮิต ก็จะเป็นแบบนี้ค


โดย: kwanchaiisra (kwanchaiisra ) วันที่: 11 พฤษภาคม 2553 เวลา:20:23:36 น.  

 


โดย: ริวคิ-mawin-maji-minic วันที่: 12 กรกฎาคม 2553 เวลา:18:29:19 น.  

 
//www.doctor.or.th/node/10906

"จงระวังสักนิด เมื่อคิดบริโภคพืชผักเป็นยา"

ข้อมูลสื่อ
File Name :378-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม :378
เดือน-ปี :10/2553
คอลัมน์ :บอกเล่าเก้าสิบ
นักเขียนหมอชาวบ้าน : นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ


๒-๓ ปี มานี้มีกระแสนิยมกินใบมะรุมเป็นยาบำรุงและรักษาสุขภาพกันอย่างกว้างขวาง แทบจะทั่วทุกภาคของประเทศ บ้างก็กินในรูปของยาเม็ดสำเร็จรูป บ้างก็เด็ดกินใบสด โดยนิยมกินเป็นประจำทุกวัน เป็นแรมเดือนแรมปี ทั้งนี้ได้มีเอกสารออกมาเผยแพร่ถึงประโยชน์และสรรพคุณของมะรุม ซึ่งระบุว่ามีอยู่มากมายหลายประการ


หมอชาวบ้านก็เคยมี ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ เขียนเรื่อง "มะรุม" และพืชผักอื่นๆ ซึ่งส่วนหนึ่งได้ระบุว่า ในพืชผักต่างๆ มีสารเคมีสำคัญอะไรบ้าง และแต่ละตัวมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร เจตนาก็เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงวิชาการว่า พืชผักต่างๆ น่าจะมีประโยชน์อย่างไร หาได้ตั้งใจแนะนำให้กินเป็นยาบำรุงและรักษาสุขภาพเป็นประจำทุกวันแต่ประการใด


ปกติคนไทยนิยมนำฝักมะรุมมาทำเป็นแกงส้ม บางท้องถิ่นก็นิยมใช้ใบจิ้มน้ำพริก แต่ก็จะกินกันเป็นครั้งคราว ไม่ได้กินทุกวัน

การเปลี่ยนวิธีบริโภค จากการกินครั้งคราวมากินเป็นประจำทุกวัน หรือเปลี่ยนกรรมวิธีในการบริโภคผิดไปจากเคยปฏิบัติมาแต่โบราณนั้น ก็เคยก่อให้เกิดโทษภัยขึ้นมาแล้วหลายกรณีด้วยกัน


อาทิ เมื่อ ๒๐-๓๐ ปีก่อน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขท่านหนึ่ง มีเจตนาดีในการรณรงค์ปราบโรคพยาธิปากขอ โดยนำมะเกลือมา ปรุงเป็นยาเป็นปริมาณหม้อใหญ่ๆ ซึ่งต้องเตรียมทิ้งไว้ค้างคืน วันรุ่งขึ้นก็แจกจ่ายให้เด็กๆ ตามหมู่บ้านกินกันถ้วนหน้า คราวนั้นเกิดผลที่ตามมา คือ มีเด็กๆ หลายคนตามัวตาบอด เนื่องจากได้รับพิษภัยจากสารเคมีในมะเกลือที่กลายรูป เนื่องจากการตั้งทิ้งไว้ค้างคืน

โบราณจะเตรียมมะเกลือในปริมาณเล็กน้อย สำหรับแต่ละคนเท่านั้น และเมื่อเตรียมเสร็จก็ให้กินสดๆ ทันที ซึ่งก็ได้ผลในการรักษาโรคพยาธิปากขอ และไม่ได้เกิดผลข้างเคียงอะไร แต่เมื่อเปลี่ยนมาเตรียมทีเดียวปริมาณมากๆ และทิ้งไว้ข้ามคืน สารเคมีในมะเกลือก็เกิดการกลายรูปเป็นสารใหม่ ซึ่งสามารถทำลายประสาทตาจนทำให้ตามัวตาบอด

เมื่อหลายปีก่อน หน่วยงานของรัฐได้มีการนำใบขี้เหล็กมา ผลิตเป็นยาสมุนไพร บรรจุใส่แคปซูลออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการ โดยระบุสรรพคุณเป็นยากล่อมประสาท และยานอนหลับ ทั้งนี้โดยอาศัยหลักฐานการวิจัยว่า ขี้เหล็กมีสารเคมีสำคัญตัวหนึ่งที่ช่วยสงบอารมณ์ (คลายกังวล ความเครียด) และช่วยให้นอนหลับ และมีการทดลองในหนูว่าไม่เกิดพิษภัยเฉียบพลัน

ผู้คนจำนวนมาก (ซึ่งมีปัญหาความเครียดและนอนไม่หลับ ที่เคยพึ่งพาแพทย์สั่งยากล่อมประสาทให้กิน) ก็หันมาซื้อยาขี้เหล็กแคปซูล ซึ่งสามารถซื้อหาได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์

ท่ามกลางกระแสนิยมบริโภคขี้เหล็กคราวนั้น โรงพยาบาลหลายแห่งได้พบว่ามีผู้ป่วยหลายๆ รายมีอาการดีซ่าน (ตาเหลือง) มาขอตรวจรักษากับแพทย์ ในที่สุดก็ยืนยันว่าเป็นตับอักเสบจากการบริโภคขี้เหล็กแคปซูลเป็นประจำ ติดต่อกันหลายเดือน ทางการจึงได้ยกเลิกการจำหน่ายยาขี้เหล็กแคปซูล ซึ่งถือว่าไม่ปลอดภัย

ผมเคยเจอคนรู้จักคนหนึ่ง นิยมนำขี้เหล็กมาต้ม แล้วน้ำที่ต้มมาดื่มแทนน้ำเปล่าด้วยเชื่อว่าเป็นยาบำรุง พอดื่มไปได้ ๒-๓ เดือนก็เกิดอาการดีซ่าน ไปพบแพทย์ก็ตรวจยืนยันว่าเป็นตับอักเสบจากการดื่มน้ำขี้เหล็กต้มเช่นเดียวกัน

คนไทยนิยมแกงขี้เหล็ก กินเป็นครั้งคราว บางท้องถิ่นบอกกันเลยว่า ถ้าคืนไหนอยากนอนหลับดี เย็นวันนั้นก็ให้กินแกงขี้เหล็ก
การกินขี้เหล็กเป็นบางครั้งบางคราวแบบภูมิปัญญาพื้นบ้าน ไม่ก่อโทษ แต่การหันมากินในรูปของยาเป็นประจำ กลับมีพิษต่อตับ

สมุนไพรที่มีการยืนยันทางวิชาการว่ามีพิษต่อตับ ทำให้ตับอักเสบอีกชนิดหนึ่ง ก็คือ บอระเพ็ด ซึ่งมีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือด เมื่อทดลองให้ผู้ป่วยเบาหวานกินทุกวันก็พบว่าทำให้ตับอักเสบได้

ส่วน มะรุม ผมก็เคยได้ยินแพทย์บางท่านตั้งข้อสังเกตว่า อาจทำให้เป็นโรคตับอักเสบ เพราะพบว่าผู้ป่วยบางท่านเป็นโรคตับเรื้อรัง โดยไม่พบสาเหตุชัดเจนอื่นใด นอกจากมีประวัติว่านิยมกินมะรุมทุกวันมาเป็นแรมปี แต่ท่านก็ยังไม่กล้ายืนยันว่าเกี่ยวข้องกันจริงหรือไม่

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้รับคำบอกเล่าเกี่ยวกับมะรุมอยู่ ๒ กรณี
กรณี แรก มีพยาบาลท่านหนึ่งเล่าว่า ที่โรงพยาบาลรับตรวจเช็กสุขภาพ พบว่ามีผู้ที่มีผลเลือดที่แสดงว่าตับเริ่มทำหน้าที่ผิดปกติอยู่ ๕ ราย ทั้ง ๕ รายนี้มีประวัติกินมะรุมทุกวันมาเป็นแรมปี จึงแนะนำให้หยุดกิน แล้วนัดมาตรวจเลือดซ้ำ ก็พบว่าตับกลับมาทำหน้าที่เป็นปกติ จึงตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่า มะรุมอาจมีผลเสียต่อตับ

อีกกรณีหนึ่ง ผู้ป่วยเบาหวานรายหนึ่งเล่าว่ากินยาเบาหวานมาหลายปี ก็ไม่เคยมีปัญหาแทรกซ้อนรุนแรง ต่อมาทราบจากคำเล่าลือว่ามะรุมสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ จึงซื้อมะรุมชนิดเม็ดกินเสริมไปวันละ ๒ ครั้งๆ ละ ๒ เม็ด พอกินไปได้ ๑๐ กว่าวัน ก็เกิดอาการเป็นลม หน้ามืด ไม่ค่อยรู้สึกตัว ญาติพาส่งโรงพยาบาล แพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกิน สันนิษฐานว่าอาจเป็นไปได้ที่มะรุมมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด จึงเสริมฤทธิ์ยาเบาหวานที่กินอยู่เดิมจนน้ำตาลในเลือดลดต่ำถึงขั้นอันตราย ได้

ทั้ง ๒ กรณีนี้ คงต้องรอให้มีการพิสูจน์ยืนยันกันต่อไปในเชิงวิชาการ จึงจะสรุปได้แน่ชัดว่า มะรุม มีผลดังกล่าวจริงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ก็ขอแนะนำให้ระมัดระวัง หากพืชผักชนิดใดยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ว่าเป็นยาที่สามารถกินได้ผลและปลอดภัย ก็อย่าบริโภคพืชผักนั้นในรูปของยาที่กินประจำทุกวัน ทางที่ปลอดภัย ก็คือ หันมาบริโภคพืชผักในรูปอาหารธรรมชาติ ตามวิถีที่บรรพบุรุษเราเคยปฏิบัติกันมาจะดีกว่า

ขณะเดียวกัน ก็ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันพิสูจน์ถึงข้อดีข้อเสียของการบริโภค พืชผักเป็นยา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์และสวัสดิภาพของประชาชนผู้บริโภค




โดย: หมอหมู (หมอหมู ) วันที่: 14 ตุลาคม 2553 เวลา:11:04:16 น.  

 
ชี้แจงไว้เบื้องต้นก่อนว่า " ไม่ได้ต่อต้านการนำสมุนไพร มาใช้ในการดูแลรักษาความเจ็บป่วย "
แต่อยากเผยแผ่ ข้อมูลความรู้ .. ส่วนว่า ท่าน จะเลือกใช้แบบไหน ก็ตัดสินใจกันเอง เพราะ ท่านเป็นคนที่จะต้องรับผลที่ตามมา ..
๑. สมุนไพร ถ้าใช้ ไม่ถูกวิธี ปริมาณไม่เหมาะสม ก็ทำให้เกิดผลเสียได้ เช่นกัน มีตัวอย่างมาแล้ว .. ดังนั้น อย่าเข้าใจว่า เป็นสมุนไพร จากธรรมชาติแล้วจะปลอดภัย (ต้องใช้ให้ถูกวิธีด้วย)
๒. บางครั้ง มีการแอบอ้างว่าเป็น สมุนไพร แต่ใส่ยาแผนปัจจุบันเข้าไปผสมด้วย ที่พบบ่อย ๆ ก็คือผสมยาสเตียรอยด์
๓. ถ้าต้องการจะใช้สมุนไพร หรือ การรักษาทางเลือกอื่นๆ ให้แจ้งแพทย์ที่รักษาด้วย เพื่อแพทย์จะได้ทราบข้อมูล

“มะรุม” พืชสมุนไพร แต่ไม่ใช่ “ยาวิเศษ” .... บทความดี ๆ จากเวบ สสส. https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=09-05-2010&group=7&gblog=56
แพทย์จุฬาฯ พบคนไข้ไทย ใช้ "ใบทุเรียนเทศ" ตายเพราะตับและไตวาย ก่อนตายเพราะมะเร็ง https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=21-07-2015&group=4&gblog=113
อาหารเสริม เลือดจระเข้ ดีจริงหรือ ??? https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-12-2009&group=7&gblog=41
ฉลาดเลือกใช้...การแพทย์ทางเลือก .... โดย อ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=25-09-2011&group=7&gblog=149


โดย: หมอหมู วันที่: 25 พฤษภาคม 2560 เวลา:15:23:08 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]