Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายฯ และการเมืองภาคประชาชน .. โดย สุจิตรา


พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายฯ และการเมืองภาคประชาชน


โดย สุจิตรา

17 สิงหาคม 2553 17:37 น.




ในวงการสาธารณสุขขณะนี้คงไม่มีเรื่องใดที่เป็นที่กล่าวขานเท่า (ร่าง) “พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” ผู้เขียนสนใจในเรื่องนี้จนอดรนทนไม่ได้ต้องเขียนบทความก็เพราะผู้เขียนมี ความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวคือ ตัวแบบศึกษา (Case Study) ของกระบวนการในการออกกฎหมายเพื่อที่จะให้เกิดกฎหมายที่ดีและเป็นประโยชน์แก่ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและสังคม

ประเด็นที่มักจะได้รับการหยิบยกมาเพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านได้แก่

1. ประโยชน์ของกองทุน

กลุ่มผู้สนับสนุนให้เหตุผลว่า การที่มีกองทุนตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำให้การฟ้องร้องต่อบุคลากรทางการแพทย์ลดน้อยลง โดยยกตัวอย่างประเทศสวีเดน เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ และ นอร์เวย์ หรือที่นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้ นอกจากจะให้ความเป็นธรรมและบรรเทาความเดือดร้อนแก่คนไข้ที่ได้รับความเสีย หายแล้ว ยังมีหลักการสำคัญเพื่อลดคดีการฟ้องร้องแพทย์และโรงพยาบาลลงด้วย โดยปรากฏในเจตนารมณ์ของร่างฉบับดังกล่าว

ส่วนกลุ่มผู้คัดค้านได้ให้เหตุผลว่าการที่มีกองทุนดังกล่าวแล้วก็ไม่มีอะไรที่รับประกันว่าการฟ้องร้องจะลดน้อยลง

ประเด็นของผู้เขียน คือ บริบทของประเทศในสแกนดิเนเวียกับประเทศไทยนั้น ต่างกันอย่างมาก ไม่ว่าจะในแง่ของจำนวนประชากร (นอร์เวย์ 4.6 ล้านคน สวีเดน 9 ล้านคน ไทย 66.4 ล้านคน) รายได้ต่อหัวประชากร (นอร์เวย์ 58,600 เหรียญต่อหัวประชากร สวีเดน 36,800 เหรียญต่อหัวประชากร ไทย 8,100 เหรียญต่อหัวประชากร) วัฒนธรรม ประเพณี ระบบสวัสดิการสังคมของประเทศ ระบบการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน สำนึกในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การรู้ผิดชอบชั่วดี (มิเช่นนั้นคงไม่เกิดเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองในช่วงที่ผ่านมา) หรือแม้แต่สำนึกในการเรื่องที่ง่ายที่สุด เช่น ในเรื่องของการใช้รถใช้ถนนก็แตกต่างกัน

ดังนั้น การที่ระบบ No-fault Liability ประสบความสำเร็จในประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียและนิวซีแลนด์ มิได้เป็นหลักประกันว่าระบบดังกล่าวจะต้องประสบความสำเร็จในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้เพราะระบบดังกล่าวต้องอาศัยสำนึกที่ดีของความต้องการในการอยู่ร่วม กันอย่างสันติ ระบบดังกล่าวจึงจะขับเคลื่อนอย่างดีและมีประโยชน์ได้

การให้เหตุผลว่า ความมุ่งหวังที่จะให้การฟ้องร้องทางการแพทย์ลดลงปรากฏชัดเจนในเจตนารมณ์ของ ร่างพ.ร.บ.นั้น ก็มิได้หมายความว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องบรรลุผลเสมอไป เจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ละฉบับเป็นกรอบเพื่อที่ผู้เกี่ยวข้องในกฎหมายนั้นๆ พึงใช้ในการพิจารณาดำเนินการ แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายจะบรรลุความสำเร็จหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ ตัวอย่างเช่น กฎหมายในคดีอาญาต่างก็มีเจตนารมณ์เพื่อให้คดีความต่างๆ ลดน้อยลง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็มิได้เป็นเช่นนั้น


2. ที่มาของเงินกองทุน

ที่ประเทศสวีเดนนั้น เม็ดเงินที่นำมาจ่ายเป็นค่าชดเชยเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายฯ นั้น มาจากภาษีท้องถิ่นของประชาชน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จริง ท้องถิ่นก็ต้องสร้างมาตรการที่รัดกุมในการพิจารณาจ่ายค่าชดเชยเยียวยา และผู้เขียนก็เชื่อว่า คณะกรรมการผู้พิจารณาเรื่องดังกล่าวก็ต้องมาจากคนในท้องถิ่น ท้องถิ่นคงไม่ยอมที่จะให้บุคคลอื่นที่เป็นคนนอกท้องถิ่นมาพิจารณาตัดสินการ ใช้จ่ายเงินของตนให้กับผู้ร้องขอ เพราะคณะกรรมการที่มาจากคนนอกไม่มีความผูกพัน และไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ ต่อเงินกองทุนดังกล่าวของท้องถิ่น รวมทั้งการใช้ภาษีของท้องถิ่นนั้นไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่องบประมาณ ของประเทศ

ในกรณีของไทยนั้น เงินของกองทุนที่จะตั้งขึ้นตาม (ร่าง) พ.ร.บ.ดังกล่าวที่เรียกว่า “กองทุนสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข” นำมาจาก (มาตรา 22) 1) เงินที่โอนมาจากเงินตามมาตรา 41 แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 (ที่เหลืออยู่ ประมาณสี่พันหกร้อยล้านบาท) 2) เงินที่สถานพยาบาลจ่ายสมทบ (ตามมาตรา 21 ซึ่งระบุแต่เพียงว่า จะเรียกเก็บตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้คำนึงถึงขนาดของสถานพยาบาล จำนวนผู้รับบริการ ความถี่หรือความรุนแรงของความเสียหาย ฯลฯ ) 3) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 4) เงินเพิ่มตามมาตรา 21 วรรคสอง 5) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้กองทุน 6) ดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

ประเด็นของผู้เขียน คือ ความไม่ชัดเจนของที่จำนวนเงินที่สถานพยาบาลต้องจ่ายสมทบ ซึ่งตาม (ร่าง) พ.ร.บ.นี้สถานพยาบาลประกอบด้วยสถานพยาบาลของเอกชน สถานพยาบาลของรัฐ สถานพยาบาลของสภากาชาดไทย และสถานบริการสาธารณสุขที่คณะกรรมการจะประกาศกำหนด ประเด็นดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลทั้งต่อผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน แพทย์เจ้าของคลินิกแพทย์ และผู้บริหารโรงพยาบาลของรัฐ ว่าตนเองจะต้องเสียเงินมากน้อยเพียงใด

อีกประเด็นหนึ่งคือ จะมีความมั่นใจได้อย่างไรว่า คณะกรรมการที่พิจารณาจ่ายค่าชดเชยเยียวยาจะพิจารณาโดยคำนึงอย่างถูกต้อง เป็นธรรม และคำนึงถึงกำลังของกองทุน จะมั่นใจได้อย่างไรว่า เงินที่จ่ายเป็นค่าชดเชยเยียวยานั้นจะไม่บานปลายออกไปในแต่ละปีจนกลายเป็น ภาระแก่เงินงบประมาณตามวงเล็บ 3 (เงินอุดหนุนรัฐบาล) และเป็นภาระแก่สถานพยาบาลที่อาจต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นทุกปีตามที่คณะ กรรมการกำหนดในภายหลัง


3. ความเคลือบแคลงในผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้เกี่ยวข้อง

ทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวต่างก็ถูกหยิบยกมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงเหตุผลเบื้องลึกที่ สนับสนุนและที่คัดค้าน

ในส่วนผู้สนับสนุนไม่ว่าจะเป็นนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ นายแพทย์อำพล จินดา หรือ นายแพทย์พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดม ก็ถูกตั้งประเด็นว่ามีความต้องการลึกๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทเป็นกรรมการเพื่อบริหารกองทุนที่มูลค่าหลายพันล้านหรือ หลายหมื่นล้านบาทในโควตาของผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนทั้งสิ้น 5 คนในอนาคตหรือไม่ หรือความพยายามที่จะส่งคนของตนเข้ามามีบทบาทแทนในกรณีที่ตนเองไม่สามารถจะ เข้ามาได้ กลุ่ม NGO ซึ่งก็มีเก้าอี้ที่ชัดเจนในกรรมการถึงสามคน รวมทั้งตัวแทนของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการและผู้ ช่วยเลขานุการคณะกรรมการ

นอกจากนี้แล้ว

สำนักงาน ก.พ. ก็ติงว่า พ.ร.บ.นี้อาจซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

สำนักงาน ก.พ.ร. ก็มีความเห็นว่า สธ.ควรมอบให้ สปสช.ดำเนินการขยายความครอบคลุม โดยไม่ต้องตั้งกองทุนและสำนักงานขึ้นใหม่

กระทรวงการคลัง เห็นว่าใช้เงินตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ได้

ทำไมกลุ่มผู้ที่สนับสนุนทั้งหลายจึงไม่นำข้อท้วงติงหรือความเห็นของหน่วยงาน ดังกล่าวมาหาทางออกที่เหมาะสมกว่าการตั้งกองทุนใหม่

ในกลุ่มผู้คัดค้านซึ่งหลายท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมการแพทยสภาบาง ท่านก็ถูกตั้งประเด็นว่า ที่ออกมาคัดค้านเพราะอีกด้านหนึ่งนั้นก็มีสถานะเป็นเจ้าของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งต้องเสียเงินสมทบกองทุนดังกล่าวด้วย

ประเด็นปัญหาสำคัญของร่าง พ.ร.บ.

ประเด็นปัญหาสำคัญที่กลุ่มผู้ออกมาคัดค้าน (ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวคือเป็นประเด็นที่ไม่ได้มีการระบุชัดเจนใน (ร่าง) พ.ร.บ. มีเพียงข้อความที่เขียนว่า “ทั้งนี้ คณะกรรมการอาจประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นได้” (มาตรา 6) หรือ “วิธีการและอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด” ในเรื่องของการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนของโรงพยาบาลต่างๆ (มาตรา 21) ทั้งที่สองมาตราดังกล่าวเป็นมาตราที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความไม่วางใจ ความหวาดกลัวว่าเมื่อ (ร่าง) พ.ร.บ.ผ่านสภาแล้ว การกำหนดรายละเอียดในภายหลังตามที่ระบุใน พ.ร.บ. จะถูกเล่นแร่แปรธาตุและจะยากในการแก้ไขดังที่มีบทเรียนมาแล้วในกฎหมายต่างๆ ของประเทศไทย

ส่วนหนึ่งเหตุผลของผู้คัดค้านคือความห่วงใยในผลกระทบวงกว้างต่อสังคม ทั้งในแง่ภาระค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาลที่ต้องสูงขึ้นอย่างแน่นอน เพราะแพทย์ทุกคนก็ต้องสั่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัยมากขึ้น เพื่อปกป้องตนเอง ความห่วงใยในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย และความห่วงใยว่าต่อแต่นี้ไปทุกหน่วยราชการก็จะพยายามเขียนกฎหมายเพื่อตั้ง กองทุนเพื่อที่ตนจะได้เข้าไปบริหาร โดยมีกฎหมายบังคับให้สังคมต้องเอาเงินมาลงไว้ที่กองทุนที่ตั้งขึ้น

สังคมไทยเราได้เคยมีบทเรียนมามากมายแล้วกับความพยายามที่จะสร้างผลงานในประชานิยมในด้านสาธารณสุขและผลงานเหล่านั้นก็สร้างบาดแผลให้กับสังคม และภาระทางเศรษฐกิจแก่ประเทศชาติ เช่น

โครงการหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) นัยว่าเพื่อให้คนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง (ทั้งที่ในระบบก่อนหน้านี้ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนก็เข้าถึงได้อยู่ แล้ว แม้จะไม่มีเงินสักบาทโรงพยาบาลของรัฐก็ยังรักษาให้ฟรี)แต่ภาระที่เกิดขึ้นคือค่าใช้จ่ายในโครงการที่นับวันมีแต่จะมากขึ้นๆ

หรือ โครงการระบบการจ่ายตรงด้านค่ารักษาของข้าราชการ ที่สร้างความสะดวกสบายให้แก่ข้าราชการ แต่กลับสร้างภาระแก่สังคมและประเทศชาติอย่างมากในปัจจุบัน รวมทั้งสร้างช่องทางในการทุจริตและคดโกงให้เกิดขึ้นดังที่กรมบัญชีกลาง ตระหนักดี

หรือ กองทุนประกันสังคม (ด้านการรักษา) ที่ให้ผู้ทำงานต้องจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าในกองทุนประกันสังคม แทนที่จะเก็บล่วงหน้าจากบริษัทห้างร้านและรัฐบาล และจะเก็บจากผู้ทำงานก็ต่อเมื่อไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ในโรคหรือการเจ็บป่วยที่ง่ายๆ ที่ผู้ทำงานน่าที่จะดูแลตนเองได้ เช่น หวัด อุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง (ยกเว้นโรคที่ต้องต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายสูงหรือกรณีเข้ารับการรักษาแบบ ผู้ป่วยใน (IPD)

วิธีการดังกล่าวจะกระตุ้นให้ประชาชนผู้ทำงานจะได้ใส่ใจในการดูแล สุขภาพของตน เป็นการมุ่งไปที่การป้องกันมากกว่าการรักษา ผู้ทำงานที่ดูแลสุขภาพได้ดีก็จะได้รางวัลคือไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ในแต่ละปี อีกทั้งความหวาดระแวงของผู้ป่วยในระบบประกันสังคมต่อโรงพยาบาลหรือต่อแพทย์ ว่าจะได้ยาที่ไม่ดีจะได้ไม่เกิดดังเช่นทุกวันนี้ เหล่านี้คือตัวอย่างของการออกกฎหมาย กฎระเบียบที่อาจส่งผลดีต่อผู้รับบริการ แต่ส่งผลกระทบและผลข้างเคียงในระยะยาวและยากที่จะแก้ไข




คำถามมีอยู่ว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ นี้ ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างหรือไม่

ถ้าร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างนั่นคือต่อระบบสาธารณสุข รัฐบาลและรัฐสภามีเหตุจำเป็นต้องรีบเร่งเพื่อออก พ.ร.บ.ดังกล่าวหรือไม่

บทเรียนในแง่การเมืองภาคประชาชน

ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยที่จำเป็นต้องรีบเร่งออกกฎหมายมาบังคับใช้ รัฐบาล รัฐสภา และสังคมน่าที่จะใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นเครื่องมือหรือหนทางในการสร้างเวทีทางปัญญาเพื่อให้ ประชาชนได้มีส่วนร่วมคิดร่วมแสดงความเห็น ความเห็นหลากหลายมุมมอง ความเห็นที่มีหลายขนาดของการมอง ความเห็นที่มีความลึก (Perspective) ในการมองไปถึงอนาคตข้างหน้า เป็นการปูพื้นฐานการเมืองภาคประชาชนเพื่อประชาชนได้มีโอกาสและให้มีส่วนร่วม รับผิดชอบในการออกกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับทุกคนและผูกพันกับลูกหลาน ของเราในอนาคต มิใช่ปล่อยให้นักการเมืองในสภาบังคับวิถีชีวิตของเราจนเกิดความเสียหายอย่าง ร้ายแรงต่อสังคมและประเทศชาติดังที่เป็นมา


เวทีที่ผู้เขียนพูดถึงนี้อาจไม่ใช่เวทีทางทีวีหรือวิทยุ อาจเป็นเวทีบนโลกไซเบอร์ที่คนที่สนใจเข้าถึงโดยสะดวกทุกเวลา ไม่ใช่เวทีเพื่อให้คนทั่วไปฟังแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่เวทีเพื่อทำลายฝั่งตรงข้ามและประกาศก้องว่า “ข้าคือผู้ชนะ” แต่เป็นเวทีเพื่อสร้างเวทีการเมืองภาคประชาชนให้ประชาชน บนพื้นฐานความคิดที่ต้องการให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นในสังคมในระยะยาว มิใช่คิดเพียงง่ายๆ แล้วต้องมาตามแก้ในภายหลัง

ผู้เขียนได้เคยลองเสนอผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ว่า ถ้าทุกฝ่ายจริงใจ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงที่เกี่ยวข้องกับตน ทำไมไม่ทดลองนำระบบนี้มาใช้ในพื้นที่บางจังหวัดและ

ติดตามดูผลว่า ผลที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นไปดังเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่

ติดตามดูว่า การฟ้องร้องทางการแพทย์ลดลงหรือไม่

ติดตามดูว่า ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยที่เราต้องการให้ดีขึ้นและเป็นเหมือนใน ประเทศแถบสแกนดิเนเวียนั้นดีขึ้นจริงตามเขาหรือไม่

ติดตามดูว่า ประเด็นที่กลุ่มผู้คัดค้านห่วงใย ไม่ว่าจะในเรื่องของเงินกองทุนที่บานปลาย การร้องเพื่อขอเงินชดเชยที่มากขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดขึ้นหรือไม่

ซึ่งเมื่อติดตามและได้ผลดีแก่ทุกฝ่ายรวมทั้งฝ่ายผู้ให้บริการแล้ว ก็สามารถที่จะขยายผลไปยังจังหวัดใกล้เคียงหรือจังหวัดที่มีบริบทเหมือนกัน สุดท้ายเมื่อแนวทางดังกล่าวเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายจริง ทุกฝ่ายก็จะมาร่วมด้วยความสมัครใจ

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ประเทศไทยยังคงต้องอยู่อีกนาน เรายังมีเวลาอีกมากมาย ไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ที่ต้องเร่งรีบออกกฎหมายหรือสร้างระบบที่อาจเกิดผลกระทบในแง่ลบทั้งในระยะ สั้นและระยะยาว










ปล. อยากให้ลองอ่าน บทความนี้ ประกอบจะเข้าใจมากขึ้น ว่า ระบบของสวีเดน นั้นเป็นอย่างไร ดีจริงหรือไม่ ???


บทเรียนจากประเทศสวีเดน ว่าด้วยการชดเชยความเสียหายจากบริการสาธารณสุข .. มติชน

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=07-08-2010&group=7&gblog=73

ข้อน่าสังเกต ...

๑. สวีเดน ใช้เวลาพัฒนาระบบ ๒๐ ปี ( ๑๙๗๕ - ๑๙๙๗ ) และ เริ่มด้วย ระบบ สมัครใจ

.............เมืองไทย ไม่ใช้เวลาเรียนรู้พัฒนาระบบ แต่ใช้วิธี ออกกฎหมายมาบังคับ ???


๒. จำนวนผู้ได้รับค่าชดเชยเพิ่มขึ้นจาก ๑๐๐ รายต่อปี เป็น ๕๐๐๐ รายต่อปี จากจำนวนผู้ร้องเรียน ๑๐,๐๐๐ รายต่อปี

............ บ้านเรา ก็คงไม่ต่างกันนัก ( ถ้าดูจาก มต.๔๑ ผ่านไป ๕ ปี จำนวนผู้ได้รับการชดเชยเพิ่มจาก ๑๐๐รายต่อปี เพิ่มเป็น ๘๐๐ ราย เงินช่วยเหลือจาก ๕ ล้านบาทเป็น ๙๐ ล้านบาทต่อปี และ ๙๗ % เป็นภาครัฐ )

............. ซึ่งถ้ามองในแง่ดี ก็คือ ผู้ได้รับความเสียหายฯ ได้รับการชดเชยมากขึ้น ทั่วถึงขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็คือ แสดงว่า ระบบนี้ ทำใหคนเข้ามาเรียกร้องมากขึ้น แล้วก็มีค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ..

๓. ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของบริษัทประกันในการจัดการนี้คือประมาณ 1,100 US$ ขณะที่ การพิจารณาของคณะกรรมการฯมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,200 US$ต่อราย


๔. เนื่องจากมากกว่าร้อยละ 90 ของการดูแลทางการแพทย์ในประเทศสวีเดนเป็นภาครัฐ, ดังนั้น ระบบการชดเชยนี้ส่วนใหญ่จึงจ่ายด้วยภาษีอากร

............ บ้านเราก็คงไม่ต่างกัน กองทุนนำมาจาก พรบ.๔๑ ( สองพันล้าน) และเก็บจากสถานบริการ ซึ่งเก็บรายหัวจากผู้ป่วยที่มารับบริการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นภาครัฐ อยู่ดี ( รพ.รัฐ + คณะแพทย์) ... เงินกองทุนจึงเป็น ภาษี ที่รัฐเก็บจากทุกคนนั่นเอง ประชาชนทุกคนเป็นผู้จ่ายทางอ้อมเข้ากองทุนนี้ ...



ไหน ๆ เราจะเลียนแบบเขา .. ก็น่าจะเริ่มด้วยการ " ทดลอง" แบบสมัครใจก่อน ถ้ามันดีจริง แบบในสวีเดน ไม่กี่ปี ทุกคนก็จะเข้ามาร่วมด้วย (เหมือนในสวีเดน)

การทดลอง เป็นบางส่วน ก็จะช่วยให้มองเห็นปัญหา และ แก้ไข ได้ง่ายกว่าที่จะนำ ระบบสุขภาพ ของคนทั้งประเทศ เข้าไปเสี่ยง โดยที่เรายังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร

ถ้า พรบ.นี้ผ่านจริง ๆ .. เอาแค่ ข้อมูลของประชาชนที่มารับการรักษาผู้ป่วยนอก (ไม่นอน รพ.) ๒๐๐ ล้านครั้งต่อปี ก็มหาศาลกว่าทุกระบบที่มีในประเทศไทยขณะนี้แล้วนะครับ ไม่ใช่แค่ข้อมูลอย่างเดียว ยังต้องมีระบบบริหารจัดการข้อมูลเหล่านั้น อีกด้วย ..

รวมไปถึง ระบบความปลอดภัยของข้อมูล เพราะ ข้อมูลสุขภาพเหล่านี้ถือว่าเป็น "ข้อมูลส่วนบุคคล" เราคงไม่อยากให้ข้อมูลความเจ็บป่วยของเรา รั่วไปข้างนอก เช่น ผลตรวจ HIV การรักษาตั้งครรภ์ไม่พึ่งประสงค์ อาการทางจิต การใช้ยาบางอย่าง ฯลฯ


... เรื่องนี้ เกี่ยวข้องกันทุกคน ไม่ใช่แค่ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (หมอ ทันตะ เภสัช พยาบาล เทคนิก ฯลฯ ) กับ NGO (หมอ+ตัวแทนผู้เสียหาย???) ...

บ้านเรา คนเก่ง ซุปเปอร์ฮีโร่เยอะ โน่นก็ใช่ นี่ก็ดี มั่วไปหมด คนนั้นก็พูดดี แต่ไม่ได้ทำ (อดีตเคยเป็นหมอ ตอนนี้ไม่แน่ใจว่ายังเป็นหมอหรือเปล่า ??? ) ... ขณะที่คนทำ พูดไม่ค่อยดี ??? ..

เอาเป็นว่า ค่อย ๆ หาข้อมูลกันไปเรื่อย ๆ ใจเย็น ๆ อย่างพึ่งปักใจเชื่อว่า ฝ่ายโน้นถูก ฝ่ายนี้ผิด ..

แต่ละทางเลือก มีข้อดี ข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น ..ก็ได้แต่หวังว่า เรา คงมีทางออก ที่ดี มีข้อเสียน้อยที่สุด นะครับ





Create Date : 19 สิงหาคม 2553
Last Update : 19 สิงหาคม 2553 17:12:33 น. 1 comments
Counter : 1683 Pageviews.  

 
ใครสนใจก็ลองแวะไปโหลดมาอ่านกันนะครับ ...

ร่างใหม่ จาก สภาทนายความ
//www.mediafire.com/?4lyz3rpl37pa8xc

เปรียบเทียบ ๓ ร่าง พรบฯ
//www.mediafire.com/?slodsosamvks28e

รวมบทความ พรบฯ
//www.mediafire.com/?p7r6az6gk19ot



โดย: หมอหมู วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:2:17:37 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]