Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

รีบเกินไปพาวินิจฉัยโรคพลาด ผละจาก ‘งานยุ่ง’ เพื่อที่จะมี ‘เวลาคิด’ .. นำมาฝาก



รีบเกินไปพาวินิจฉัยโรคพลาด ผละจาก ‘งานยุ่ง’ เพื่อที่จะมี ‘เวลาคิด’

เว็บไซต์เดอะ คอนเวอร์เซชั่น นำเสนอบทความว่าด้วยความท้าทายและแนวทางแก้ไขข้อบกพร่องของการวินิจฉัยโรคที่เป็นดั่งประตูไปสู่การรักษา แม้แต่โลกตะวันตกเองที่มีทั้งความพร้อมทางการแพทย์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการรักษาก็ล้วนต้องตระหนักถึงขีดจำกัดของการวินิจฉัยโรค กล่าวคือ

“การวินิจฉัยเพื่อวางแนวทางสำหรับฟื้นฟูสุขภาพเป็นสิ่งที่คนไข้ต่างคาดหวังเมื่อต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล แต่ก็ใช่ว่าการวินิจฉัยโรคนั้นจะทำได้อย่างแม่นยำเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยชายอายุ 50 ปีรายหนึ่งซึ่งมีประวัติโรคความดันโลหิตสูงได้รับการนำส่งห้องฉุกเฉินเนื่องจากเจ็บหน้าอกและหายใจขัด อาการดังกล่าวพ้องกับอาการของโรคหัวใจ

แพทย์เวรประจำห้องฉุกเฉินจึงได้สั่งตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและตรวจเลือด แม้ผลตรวจเป็นลบแต่ด้วยเหตุที่แพทย์ตระหนักว่าผลลัพธ์อาจผิดพลาดและทุกนาทีล้วนมีผลต่อชีวิต จึงได้สั่งจ่ายยาละลายลิ่มเลือดเพื่อรักษาชีวิตคนไข้ แต่ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นว่าทั้งการวินิจฉัยและการตัดสินใจล้วนผิดพลาด เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดเอออร์ตาซึ่งแม้จะมีอาการไม่ชัดเจนแต่ก็รุนแรงไม่แพ้กัน”

บทความดังกล่าว นำเสนอปัญหาความท้าทายและแนวทางแก้ไขป้องกันข้อบกพร่องของการวินิจฉัยโรค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยและคุณภาพการรักษาสุขภาพ (Agency for Healthcare Research and Quality) ของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา

คิดผิดวิธีพาวินิจฉัยบกพร่อง

กล่าวได้ว่า แพทย์ฝึกฝนการวินิจฉัยแยกโรคผ่านการคำนวณ วิเคราะห์อาการ และพิจารณาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการ เช่น อาการปวดหน้าอกอาจบ่งชี้ความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือดหรือระบบทางเดินหายใจ จากนั้นมาวิเคราะห์ว่าโรคใดเป็นสาเหตุ โดยเน้นหนักที่โรคซึ่งอาจทำให้คนไข้ถึงแก่ชีวิต เช่น โรคหัวใจ ทางเดินหายใจอุดกั้น ปอดแฟบ หรือหลอดเลือดเอออร์ติกฉีกขาด แต่หากไม่พบโรคจากผลตรวจ ก็จะมองไปที่โรคซึ่งมีอันตรายรองลงมา เช่น อาการแสบร้อนหน้าอกหรือการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ

ดังที่กล่าวมา การวินิจฉัยแยกโรคด้วยความใจเย็นนั้นใช่ว่าจะทำได้ง่าย โดยข้อจำกัดทั้งด้านเวลาและประสบการณ์อาจเป็นอุปสรรคต่อการวินิจฉัยแยกโรคจนอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาด และยังรวมถึงปัจจัยอื่น เช่น อคติ ซึ่งแพทย์มีแนวโน้มฝังใจกับข้อมูลชุดแรกหรือการวินิจฉัยแรกสุด โดยละเลยข้อมูลที่ได้รับต่อมาและอาจบ่งชี้ความเป็นไปได้ทางอื่น ตลอดจนอคติจากความทรงจำหรือประสบการณ์ ซึ่งทำให้มองข้ามแนวโน้มของโรค

ด้วยเหตุนี้ แพทย์ห้องฉุกเฉินซึ่งมักเผชิญคนไข้หัวใจวายเป็นประจำ จึงอาจฝังใจกับการวินิจฉัยโรคหัวใจระหว่างที่ตรวจสุขภาพชายวัยกลางคนดังกล่าวที่มาด้วยอาการปวดหน้าอกและมีปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ รวมถึงอาจด่วนสรุปการวินิจฉัยเร็วเกินไปโดยไม่พยายามค้นหาความเป็นไปได้ทางอื่น แม้ว่าการวินิจฉัยนั้นจะยังคงไม่สมบูรณ์ก็ตาม

จะลดการวินิจฉัยบกพร่องได้อย่างไร  

บทความกล่าวถึง เดเนียล คาห์เนมาน เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2545 ผู้ที่นำเสนอว่าระบบการคิดของมนุษย์สามารถแบ่งออกเป็นระบบคิดเร็วและคิดช้า โดยระบบคิดเร็ว (ระบบ 1) เป็นกระบวนการอัตโนมัติซึ่งมีอารมณ์เป็นตัวกระตุ้น ขณะที่ระบบคิดช้า (ระบบ 2) เป็นกระบวนการที่อาศัยการใคร่ครวญตามหลักเหตุผล

ซึ่งนักศึกษาแพทย์ต่างผ่านการฝึกฝนมาทั้ง 2 ระบบเพื่อให้สามารถนำความรู้ ประสบการณ์ และความตระหนักมาใช้เพื่อวินิจฉัยตามหลักเหตุผล

อย่างไรก็ตาม บางครั้งอาจพบว่าต้องอาศัยเพียงการคิดแบบระบบ 1 เท่านั้น เช่น เมื่อแพทย์ตรวจเด็กเล็กที่มีไข้และมีผื่นที่มักพบในโรคสุกใสก็สามารถวินิจฉัยได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลาหรือมองหาความเป็นไปได้อื่น แต่ในทางกลับกันภาระงานที่ล้นมือก็อาจส่งผลให้แพทย์บางรายละเลยการคิดแบบระบบ 2 ทั้งที่มีความจำเป็นในผู้ป่วยโรคที่ซับซ้อน

จากข้อมูลการศึกษาวิจัยชี้ว่า อุปสรรคด้านเวลาที่บีบคั้นทำให้ยากที่แพทย์จะสามารถคิดอย่างพินิจพิเคราะห์ นอกจากภาระงานที่ต้องเดินหน้าตลอดเวลาและความเหนื่อยล้าแล้ว ยังชี้ให้เห็นอุปสรรคจากความแปรปรวนของข้อมูลทั้งในแง่การรวบรวม นำเสนอ และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อประกอบการวินิจฉัยด้วย      

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่แพทย์มักไม่มีเวลาพินิจข้อมูลระหว่างการดูแลรักษาผู้ป่วย ดังที่แพทย์มักต้องทำอย่างอื่นไปด้วยระหว่างการวินิจฉัยและนำไปสู่วิธีคิดแบบระบบ 1  

เทคโนโลยีจะช่วยได้หรือไม่

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าคอมพิวเตอร์ไม่ติดกับดักกระบวนการคิดเหมือนมนุษย์ และราวกับว่าเทคโนโลยีจะเป็นทางออกสำหรับปัญหาการวินิจฉัยบกพร่องดังที่กล่าวมา อีกทั้งยังมีซอฟต์แวร์ต่างๆ สำหรับประมวลข้อมูลโรคเพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง และในอีกไม่นานนักก็อาจเป็นได้ว่าคอมพิวเตอร์จะทำหน้าที่วินิจฉัยโรคได้แม่นยำกว่าแพทย์

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีไม่อาจช่วยแก้ปัญหาด้านระบบองค์กรและภาระงานที่แพทย์เผชิญอยู่ในทุกวันนี้ จากผลการวิจัยติดตามการทำงานของแพทย์ตลอด 200 ชั่วโมงทำให้พบคำตอบว่า “เวลา” และ “สถานที่” นั่นเองที่จะช่วยปรับปรุงการวินิจฉัยให้ดีขึ้น และกุญแจสำคัญอยู่ที่การผละจาก “งานยุ่ง” เพื่อที่จะมี “เวลาคิด”

กล่าวคือ การวินิจฉัยในช่วงที่มีเวลาจะช่วยกระตุ้นให้แพทย์ใช้วิธีคิดแบบระบบ 2 อันจะส่งผลดีต่อการสังเคราะห์ข้อมูลและการตัดสินใจ เช่น การคิดตามกรอบ Take 2, Think Do framework ซึ่งแพทย์จะต้องสละเวลา 2 นาทีสำหรับพิจารณาความจำเป็นในการตรวจทานข้อมูลหรือข้อสันนิษฐานและปรับปรุงให้สอดคล้องกัน อีกทั้งแพทย์ยังจำเป็นต้องคิดในสถานที่เงียบสงบปราศจากสิ่งรบกวน แต่จากสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงพยาบาลจะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่แพทย์จะสามารถปลีกตัวไปหามุมสงบ

ฉะนั้นการปรับปรุงภาระงานและสถานที่ดังกล่าวจะมีนัยสำคัญต่อการวินิจฉัย ดังที่หนึ่งในแพทย์ผู้ให้ข้อมูลในการวิจัยเผยว่า เขาเชื่อว่าตัวเองจะวินิจฉัยโรคได้ดีขึ้นหากว่าเขาพอจะมีเวลาเป็นส่วนตัวสักครู่หนึ่งเพื่อทบทวนรายการคนไข้ รวมถึงตรวจสอบผลตรวจ คำแนะนำ และแผนการรักษา ซึ่งแนวทางนี้อาจมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการปฏิบัติงานภายใต้ภาวะตึงเครียดอย่างในห้องฉุกเฉินหรือหน่วยวิกฤติ

ถ้าเช่นนั้น การลดปัญหาการวินิจฉัยบกพร่องและผลกระทบที่ตามมาจึงเป็นไปได้ หากบรรดาแพทย์เดินออกจากวิธีคิดที่ยึดโยงอยู่กับความคิดส่วนตัวและหันมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอันทันสมัย ก็อาจจะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับลดการวินิจฉัยบกพร่องให้น้อยลงและนำไปสู่การยกระดับการรักษาพยาบาลและรักษาชีวิตของคนไข้

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์เดอะ คอนเวอร์เซชั่น: Harried doctors can make diagnostic errors they need time to think

ขอบคุณภาพจาก //www.shutterstock.com




Create Date : 19 กันยายน 2559
Last Update : 19 กันยายน 2559 14:56:00 น. 0 comments
Counter : 1959 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]