Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ประกันภัยภาระรับผิดชอบในวิชาชีพ ทางออกหนึ่งสำหรับคดีทางการแพทย์



ประกันภัยภาระรับผิดชอบในวิชาชีพ (Professional Liability Insurance) ทางออกหนึ่งสำหรับคดีทางการแพทย์

โดย อ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


17 เมษายน 2559 08:28 น.
ประกันภัยภาระรับผิดชอบในวิชาชีพ (Professional Liability Insurance) ทางออกหนึ่งสำหรับคดีทางการแพทย์
แฟ้มภาพ
อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
       สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
       สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
       คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


       การฟ้องร้องคดีทางการแพทย์ (Medical Lawsuits) ในสหรัฐอเมริกานั้นถือว่าแพร่หลายมาก เปิดโทรทัศน์ดูก็จะมีบรรดาบริษัททนายความ (Law Firms) ทั้งหลายโฆษณาบอกประชาชนว่าให้มาฟ้องเรียกร้องได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ให้บริการปรึกษาฟรี และจะพาไปฟ้องศาลฟรีด้วย หลายๆ บริษัทถึงกับโฆษณาว่าหากท่านได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการใช้ยา xx หรือ การรักษาโรคด้วยวิธีการ xxx ท่านสามารถมาปรึกษาเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทางการแพทย์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด เรามีความชำนาญเป็นพิเศษในการฟ้องร้องแพทย์ในคดีนี้ เมื่อท่านชนะคดีเราจึงคิดค่าบริการจากมูลค่าความเสียหายที่ท่านเรียกร้องจากแพทย์ได้ กลายเป็นว่าการฟ้องร้องคดีทางการแพทย์กลายเป็นธุรกิจทำเงินหารายได้ของทนายความ ในสหรัฐอเมริกานั้นอาชีพยอดฮิตที่คนแย่งกันสอบเข้าไปเรียนมีสองอย่าง อย่างแรกคือแพทย์เพราะทำรายได้ได้ดี อย่างที่สองคือทนายความ และท้ายที่สุดทนายความก็แสวงหารายได้จากแพทย์ที่รายได้ดีอีกต่อหนึ่งด้วยการรับจ้างฟ้องแพทย์ที่เกิดการทำเวชปฏิบัติที่ผิดพลาด (Medical Malpractice)

       ผมเคยนั่งคุยกับนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คนหนึ่ง ทำให้ทราบว่าจบมาทางด้านวิสัญญีแพทย์ ทำงานมานานมาก จนกระทั่งถูกฟ้อง มีคนไข้ตายระหว่างดมยา ซึ่งเขาก็อธิบายให้เราฟังว่า ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ นั้นเกิดขึ้นได้เสมอ พอถูกฟ้องแล้วก็เลยหมดกำลังใจ เลิกทำหน้าที่วิสัญญีแพทย์ เลิกทำหน้าที่แพทย์เลย ลาออกจากงานแพทย์ทั้งหมด แล้วมาสมัครงานเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ห้าหกปีแล้ว ได้เงินน้อยกว่ามาก แต่สบายใจ ไม่ต้องเสี่ยงอะไร ไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตคนไข้ ใช้ชีวิตเป็นเวลา ไม่ต้องอดหลับอดนอน ไม่ต้องเครียด มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน มาเป็นนักวิจัยทางการแพทย์แทน มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล เขียนเปเปอร์ เขียนขอทุนวิจัย แต่ไม่ต้องรับผิดชอบคนไข้อีกต่อไป เขาบอกว่าจริงๆ แล้วก็ทำ Professional liability insurance เอาไว้เรียบร้อย มูลค่าความเสียหายนั้นทางบริษัทประกันภัยก็จ่ายให้เกือบหมด แต่หมดกำลังใจทำหน้าที่แพทย์อีกต่อไปแล้ว ขอมาทำอย่างอื่นแทน แขวนเข็มวางยาสลบไปเรียบร้อย

       ถ้าถามว่าการมีคดีฟ้องร้องทางการแพทย์นั้นทำให้ต้นทุนทางการแพทย์สูงขึ้นหรือไม่ การมีประกันภาระรับผิดชอบในวิชาชีพของแพทย์ ซึ่งบางทีก็เรียกกันว่า malpractice insurance หรือประกันภัยสำหรับการทำเวชปฏิบัติที่ผิดพลาด แพทย์ในสหรัฐอเมริกาต้องซื้อประกันภัยชนิดนี้ทุกคนไว้เผื่อที่จะมีการฟ้องร้อง หรือบางทีโรงพยาบาลที่แพทย์นั้นๆ ทำงานก็เป็นคนซื้อให้ แต่แน่นอนว่าสุดท้ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดเหล่านี้ก็ไปรวมอยู่ที่ Medical Bills นั่นเอง ทำให้เป็นภาระของประชาชน ดังที่เราทราบกันดีว่าค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกานั้นสูงที่สุดในโลก

       วันนี้ก็มีเหตุบังเอิญให้ได้สอนนักศึกษาปริญญาโทสาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงที่นิด้า ได้ยกตัวอย่างบทความที่พยายามพยากรณ์จำนวนครั้งของการถูกฟ้องร้องคดีทางการแพทย์ของแพทย์ในรัฐฟลอริด้า จากบทความของ Fournier, Gary M. & Melayne Morgan McInnes. ในปี 2001 ชื่อบทความ The case of experience rating in medical malpractice insurance: An empirical evaluation ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Journal of Risk and Insurance ฉบับที่ 68 หน้าที่ 255-276 ซึ่งใช้แบบจำลองพยากรณ์ความถี่ของความเสียหายที่เรียกว่า Poisson and negative binomial regression analysis ในการพยากรณ์ความถี่ในการฟ้องร้องแพทย์แต่ละคนจากเวชปฏิบัติที่ผิดพลาด

ผลการศึกษาพบว่า

       1) ระยะเวลาที่ได้ใบประกอบโรคศิลปะมีความสัมพันธ์ทางลบกับจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้อง ยิ่งทำอาชีพแพทย์มานานมีแนวโน้มจะถูกฟ้องร้องลดลง
       2) การเป็นแพทย์ชายมีความสัมพันธ์ทางบวกกับจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้อง แพทย์ชายมีจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องมากกว่าแพทย์หญิง
       3) ปริมาณคนไข้ที่ตรวจรักษามีความสัมพันธ์ทางบวกกับจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้อง ยิ่งรักษาคนไข้มากเท่าใด ยิ่งมีคดีที่ถูกฟ้องร้องมาก ของไทยแพทย์ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขออกตรวจคนไข้ผู้ป่วยนอก (OPD) วันละกี่คนกันเอ่ย?
       4) ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาของแพทย์แต่ละคนโดยเฉลี่ยมีความสัมพันธ์ทางลบกับจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้อง หมายความว่าแพทย์ที่เรียนกันยาวนานมีจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องค่อนข้างน้อยกว่า
       5) รายได้เฉลี่ยของแพทย์แต่ละคน มีความสัมพันธ์ทางบวกกับจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้อง ยิ่งแพทย์มีรายได้มากเท่าใด ยิ่งมีจำนวนคดีโดยเฉลี่ยที่ถูกฟ้องร้องเพิ่มมากขึ้น ถ้าเป็นจริงดังนี้แพทย์โรงพยาบาลเอกชนของไทยน่าจะมีความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องสูงกว่าแพทย์ในภาครัฐ
       6) สาขาแพทย์เฉพาะทางที่มีความเสี่ยงสูงสุดในการถูกฟ้องร้องคือ 1) ศัลยแพทย์ 2) สูตินรีแพทย์ 3) หมอหูคอจมูก 4) วิสัญญีแพทย์ 5) เวชศาสตร์ฉุกเฉิน 6) รังสีวิทยา 7) อายุรแพทย์ และ 8) กุมารแพทย์ มีความเสี่ยงต่ำสุดในการถูกฟ้องร้อง

       ข้อหก นี้ สอดคล้องกับที่ได้ยินมาในประเทศไทย เนื่องจากได้ไปนั่งทานกาแฟกับเพื่อนที่เป็นอาจารย์แพทย์และกำลังจะซื้อ Professional Liability Insurance ที่ว่านี้ ทำให้ทราบว่า เบี้ยประกัยสำหรับศัลยแพทย์และสูตินรีแพทย์นั้นแพงสุด หมอหูคอจมูกนั้นเบี้ยประกันภัยแพงปานกลาง ส่วนหมออายุแพทย์กับกุมารแพทย์นั้นเบี้ยประกันภัยถูกสุด

       อันที่จริงการมีประกันภัยภาระรับผิดชอบในวิชาชีพ (Professional Liability Insurance) หรือประกันภัยเวชปฏิบัติที่ผิดพลาด (Malpractice Insurance) สำหรับประเทศไทยน่าจะเป็นเรื่องดี ทำให้ผู้ป่วยได้รับการคุ้มครองดูแลดีขึ้น แพทย์เองก็ทำงานระวังมากขึ้น เพราะปกติเบี้ยประกันภัยนั้นจะแพงขึ้นในปีถัดไปถ้าแพทย์คนนั้นๆ ถูกฟ้องร้องมากๆ เรียกว่ามีบทลงโทษ (Malus) สำหรับแพทย์ที่มีเวชปฏิบัติที่ผิดพลาดบ่อยๆ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เสียหายก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายกับบริษัทประกันภัยได้โดยตรง ซึ่งต้องจ่ายสินไหมให้อย่างสมเหตุสมผลและต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นเวชปฏิบัติที่ผิดพลาดจริงเสียก่อนจึงจะจ่ายให้ ปัญหาใหญ่คือแพทย์ต้องซื้อกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวเอง ได้ทราบมาว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งได้ซื้อประกันภัยดังกล่าวให้แพทย์ของตนไว้บ้างแล้ว สำหรับแพทย์ที่ทำงานในกระทรวงสาธารณสุขนั้นความรับผิดทางแพ่ง กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ทางอาญาต้องรับผิดชอบเอง เรื่องนี้กฎหมายไทยยังมีประเด็นละเอียดอ่อนที่ต้องได้รับการพัฒนาอีกมากให้ทันสมัยและตรงตามความเป็นจริง

       สิ่งที่น่ากังวลคือ การแพทย์และการสาธารณสุขไทยกำลังเข้าสู่ยุคมืดของการฟ้องร้องกันอย่างเต็มที่เหมือนสหรัฐอเมริกา ในขณะที่เรายังขาดแคลนแพทย์แสนสาหัส และการฟ้องร้องเหล่านั้นได้บั่นทอนกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ของแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขไปพอสมควร
       การมีประกันภัยภาระรับผิดชอบในวิชาชีพ (Professional Liability Insurance) หรือประกันภัยเวชปฏิบัติที่ผิดพลาด (Malpractice Insurance) แม้จะช่วยบรรเทาความเสียหายทางแพ่งลงไปได้ แต่ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหากำลังใจของบุคลากร และความสัมพันธ์อันดีที่เคยมีมาในอดีตระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขกับประชาชนไปได้แต่อย่างใด



Create Date : 17 เมษายน 2559
Last Update : 17 เมษายน 2559 20:52:38 น. 2 comments
Counter : 1974 Pageviews.  

 
หมอ ก็เป็นแค่หัวโขน วันหนึ่งก็อาจเปลี่ยนเป็น ผู้ป่วย หรือ ญาติผู้ป่วย ..
รวบรวมมาฝาก .. จะได้เข้าใจกันมากขึ้นว่า เรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ผลกระทบของ "หมอ" เท่านั้น
มีผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขโดยรวม และ มีความสลับซับซ้อนกว่า คำพูดไม่กี่คำ ที่ยกขึ้นมาอ้าง

ถอดความ รายการสามัญชน คนไทย ตอน กฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบทางสาธารณสุข ... ชเนษฎ์ ศรีสุโข https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-11-2016&group=7&gblog=208

ร่าง พรบ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ... ปัญหา หรือ โอกาส ... https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=11-07-2010&group=7&gblog=61

เมื่อแพทย์และพยาบาลต้องล้มละลายเพราะถูกไล่เบี้ย
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=15-11-2016&group=7&gblog=207

การกระทำของแพทย์ในการรักษาโรค
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-09-2016&group=7&gblog=204

ประกันภัยภาระรับผิดชอบในวิชาชีพ (Professional Liability Insurance) ทางออกหนึ่งสำหรับคดีทางการแพทย์ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-04-2016&group=7&gblog=197

ได้ไม่เท่าเสีย ....โดย สุนทร นาคประดิษฐ์ ( ความเห็น เกี่ยวกับ การฟ้องร้องแพทย์ ) https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=13-03-2009&group=7&gblog=21

ฟ้องร้องแพทย์ ความยุติธรรมแก่ใคร ฤๅ???
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-01-2009&group=7&gblog=12



ปัจจุบันแพทย์พยาบาลสามารถถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย(คดีแพ่ง) โดยง่าย เหตุเพราะมีการตีความว่าการรักษาช่วยชีวิตคนไม่ต่างอะไรจากสินค้าหรือบริการที่มุ่งหวัง กำไรทั่ว ๆ ไป (ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค)ทำให้มีแนวโน้มการฟ้องร้องสูงขึ้น เรื่อย ๆ ที่ผ่านมาประเด็นนี้ ได้รับการปลอบขวัญจากรัฐเพื่อลดความวิตกกังวลของบุคลากรภาครัฐว่า“ไม่ต้องกังวล เพราะมีพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เป็นเกราะป้องกันการฟ้องร้องไว้” จึงทำให้แพทย์พยาบาล หลายคนชะล่าใจ คิดว่าไม่ว่าผิดถูกอย่างไร ไม่ว่าศาลจะทำคำตัดสินออกมาเช่นไรบุคลากรก็ไมได้รับผลกระทบ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วแพทย์พยาบาล อาจตกอยู่ในฐานะล้มละลายโดยง่ายได้เหตุเพราะแท้จริงแล้วบุคลากรยังคงมีความรับผิดชอบต่อเงินที่หน่วยงานต้นสังกัดต้องทดรองจ่ายให้ไปก่อนควรเข้าใจเสียใหม่ว่า กฎหมายนี้เป็นเพียงเกราะป้องกันมิให้แพทย์พยาบาลตกเป็นจำเลยโดยตรง แต่ความรับผิดทางอ้อม (การโดนไล่เบี้ย )ยังคงอยู่

ที่สำคัญคือในการอภิปรายและการประชุมในหลายๆ ครั้ง ผู้บริหารระดับสูง ในกระทรวงก็ยอมรับว่าท่านไม่มีอำนาจสั่งห้ามการไล่เบี้ยได้ เพราะเมื่อกระทรวงต้องนำเงินหลวงออกไปจ่ายให้กับโจทก์ตามคำพิพากษาท่านมีหน้าที่ตั้ง กรรมการสอบเพื่อพิจารณาการ ไล่เบี้ยและรายงานผลให้กระทรวงการคลังที่เป็นเจ้าของเงินที่แท้จริงซึ่งส่วนใหญ่แล้วกระทรวงการคลัง จะดูคำพิพากษาศาลเป็นหลักหากศาลตัดสินว่ามีความผิด การไล่เบี้ยนั้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก !!ที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านี้คือขณะนี้มีคดีแพ่งที่กระทรวงตกเป็นจำเลยและรอฟังคำตัดสินของศาล อยู่อีกประมาณ ๕๐ คดีคิดเป็นทุนทรัพย์ประมาณ ๓,๐๓๙ ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ ๙กรกฎาคม ๒๕๕๙ กลุ่มกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข)

ที่น่าวิตกยิ่งไปกว่านี้คือหากรัฐยอมผ่านพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขจะมีคดีฟ้องร้องเพิ่มขึ้นอีกกี่ร้อยเท่าเพราะเดิมพันตามร่างกฎหมายใหม่นี้เป็นเงินจำนวนหลายล้านบาทต่อการร้องเรียนหนึ่งรายและเมื่อจ่ายเงินไปหลายล้านบาทออกไป กระทรวงการคลัง จะยอมมิให้มีการไล่เบี้ยอย่างที่ผู้ผลักดันกฎหมายออกมาโฆษณาชวนเชื่อ จริงหรือ !?!

แนะนำให้อ่านอย่างยิ่งยวด .. โดยเฉพาะ แพทย์พยาบาล ที่ยังรับราชการอยู่

เมื่อแพทย์และพยาบาลต้องล้มละลายเพราะถูกไล่เบี้ย
ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กรรมการแพทยสมาคม
ดาวน์โหลด วารสารเมดิคอลโฟกัส MedicalFocusปีที่ 8 ฉบับที่ 94 ตุลาคม 2559
//www.luckystarmedia.co.th/download/medical_focus_vol_94.pdf


...............................

ตัวอย่างคดีที่แพทย์พยาบาลโดนไล่เบี้ย

- คดีแรก Drug allergy ศาลเห็นว่าแพทย์กระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจึงมีคำพิพากษาให้กระทรวงสาธารณสุข ต้องชดใช้สินไหมเป็นเงินจำนวน ๓,๖๘๘,๖๓๐ บาท เมื่อคดีนี้ เข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาไล่เบี้ยคำตัดสินที่ได้ออกมาคือแพทย์ต้องควักเงินส่วนตัว เพื่อชำระในอัตรา ๕๐% คิดตกเป็นเงินทั้งสิ้นที่แพทย์ต้องจ่ายคืนให้กับรัฐ๑,๘๔๔,๓๑๕ บาท

- คดีที่สอง Compartment syndrome ศาลจึงมีคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องชดใช้สินไหมพร้อมค่าเสียหายเป็นเงิน ๔,๒๕๑,๓๗๗ บาท โดยมีการไล่เบี้ยให้แพทย์ต้องชดใช้เงินคืนรัฐจำนวน ๗๐% และพยาบาล ๓ คนอีก ๓๐%

- คดีที่สาม Snake bite ศาลจึงตัดสินให้จำเลยมีความผิดและต้องชดใช้เงินเป็นจำนวนทั้งสิ้น ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท คดีนี้ มีคำสั่งให้ไล่เบี้ยแพทย์คิดเป็น ๖๐% พยาบาล ๔๐%

- คดีที่สี่ Extubation ศาลจึงมีคำพิพากษาว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง!! ต้องชดใช้เงินรวมทั้งสิ้น ๕,๑๒๕,๔๑๑ บาท กระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการไล่เบี้ย มีคำสั่งให้ไล่เบี้ยเป็นจำนวนเงิน ๕๐% ของเงินที่จ่ายไป โดยให้แพทย์รับไป ๗๐% พยาบาล ๒ คน ๓๐%

- คดีที่ห้า Pulmonary tuberculosis คำพิพากษาให้จำเลย ที่เป็นกุมารแพทย์มีความผิดฐานประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงให้กระทรวงสาธารณสุข ต้องจ่ายเงินประมาณ ๓,๘๐๐๐,๐๐๐ บาท


โดย: หมอหมู วันที่: 21 พฤศจิกายน 2559 เวลา:14:34:00 น.  

 
สวัสดีนะจ้ะ เราแวะมาทักทาย สักคิ้ว 6 มิติ ลบรอยสักคิ้วด้วยเลเซอร์ ลบรอยสักคิ้ว Eyebrow Tattoo Removal เพ้นท์คิ้วลายเส้น เพ้นท์คิ้ว 3 มิติ
ให้ใจหายใจ สุขภาพ วิธีลดความอ้วน การดูแลสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย สุขภาพผู้หญิง สุขภาพผู้ชาย สุขภาพจิต โรคและการป้องกัน สมุนไพรไทย ผู้หญิง ศัลยกรรม ความสวยความงาม แม่ตั้งครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ พัฒนาการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ โรคขณะตั้งครรภ์ การคลอด หลังคลอด การออกกำลังกาย ทารกแรกเกิด สุขภาพทารกแรกเกิด ผิวทารกแรกเกิด การพัฒนาการของเด็กแรกเกิด การดูแลทารกแรกเกิด โรคและวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารสำหรับทารก เด็กโต สุขภาพเด็ก ผิวเด็ก การพัฒนาการเด็ก การดูแลเด็ก โรคและวัคซีนเด็ก อาหารสำหรับเด็ก การเล่นและการเรียนรู้ ครอบครัว ชีวิตครอบครัว ปัญหาภายในครอบครัว ความเชื่อ คนโบราณ


โดย: nokyungnakaa วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา:17:03:49 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]