นาซีเยอรมัน (2)

สิริสวัสดิ์ภุมวาร - กมลมานเจิดจำรัสค่ะ


การทหาร

เครื่องบินเมชเชอร์ชมิตต์ เมอ-262 ชวาเบิล เครื่องบินขับไล่เจ็ตรุ่นแรกของโลกกองทัพแห่งนาซีเยอรมนี เรียกว่า Wehrmacht ซึ่งเป็นชื่อเรียกของกองกำลังติดอาวุธของเยอรมนีตั้งแต่ปี 1935 ถึงปี 1945 อันประกอบด้วย Heer (กองทัพบก) Kriegsmarine (กองทัพเรือ) Luftwaffe (กองทัพอากาศ) และองค์การทางทหาร Waffen-SS (กองกำลังรักษาประเทศ)

ซึ่งทางพฤตินัยแล้วเป็นส่วนหนึ่งของ Wehrmacht เช่นกัน ในสมัยของนาซีเยอรมนี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ถือได้ว่าเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดทั้งกองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ

กองทัพบกเยอรมันถูกจำกัดจำนวนไว้ที่ 100,000 นายตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาแวร์ซาย ฮิตเลอร์ซึ่งมีความเกลียดชังเนื้อหาในสนธิสัญญาแวร์ซาย เขาได้แอบสร้างอาวุธอย่างลับๆ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ หรือนำเข้าอาวุธจากต่างประเทศ

โดยที่ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่อาจตรวจจับได้ หลังจากนั้นก็สั่งระดมพลทั้งประเทศในปี 1935 ซึ่งชาวเยอรมันตั้งแต่ 18-45 ปีจะต้องไปเกณฑ์ทหาร รวมไปถึงการสร้างกองทัพอากาศอีกในปีเดียวกัน

แต่ทว่าทั้งสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสต่างก็ไม่ได้ต่อต้านแต่ประการใด เนื่องจากยังเชื่อมั่นว่าฮิตเลอร์จะปรารถนาสันติภาพ ต่อมา กองทัพเรือเองก็ได้รับการเพิ่มจำนวนจากผลของข้อตกลงการเดินเรืออังกฤษ-เยอรมัน

กองทัพเยอรมันได้พัฒนาแนวคิดที่ได้ริเริ่มขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อันเป็นปฏิบัติการร่วมระหว่างกองทัพบกและกองทัพอากาศ ซึ่งเมื่อรวมกับรูปแบบการรบโบราณ อย่างเช่น การล้อม และ "การรบแห่งการทำลายล้าง"

กองทัพเยอรมันสามารถได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็วในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งนักข่าวหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันเรียกว่า "การโจมตีสายฟ้าแลบ" นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันเชื่อว่ามีทหารเยอรมันในกองทัพไม่ต่ำกว่า 18,200,000 นาย กองทัพเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สองสูญเสียชีวิตทหารไปอย่างน้อย 5,533,000 นาย

โครงสร้างบัญชาการ ภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน ภาษาไทย

Schütze Private Private พลทหาร
Oberschütze Private Private 1st Class สิบตรี
Gefreiter Private Private 1st class สิบตรี
Obergefreiter Lance Corporal Corporal สิบโท

Stabsgefreiter * Lance Corporal Corporal สิบโท
Unteroffizier Corporal Sergeant สิบเอก
Unterfeldwebel * Sergeant Staff Sergeant จ่าสิบตรี
Feldwebel Staff Sergeant Technical Sergeant จ่าสิบโท

Oberfeldwebel WO II Master Sergeant จ่าสิบเอก
Hauptfeldwebel ** WO II 1st Sergeant จ่าสิบเอก
Stabsfeldwebel * WO I Warrant Officer จ่านายสิบ
Leutnant Second Lieutenant Second Lieutenant ร้อยตรี

Oberleutnant Lieutenant 1st Lieutenant ร้อยโท
Hauptmann Captain Captain ร้อยเอก
Major Major Major พันตรี
Oberstleutnant Lieutenant Colonel Lieutenant Colonel พันโท
Oberst Colonel Colonel พันเอก

ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคนาซีได้ใช้กองทัพในการล้างชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีตั้งแต่นายทหารชั้นสัญญาบัตรไปจนกระทั่งผู้บัญชาการระดับสูง และยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมและการสังหารหมู่ประชาชนในเขตยึดครองซึ่งถือว่าเป็นอาชญากรรมสงครามต่อมวลมนุษยชาติ

การพัฒนาทางด้านการทหารของนาซีเยอรมนีเจริญไปจนถึงขั้นมีโครงการทดลองระเบิดปรมาณูของตัวเอง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สองคน ออตโต ฮัห์น และฟริตซ์ สเตรสแมน ซึ่งได้ยืนยันผลการทดลองขั้นแรกของตนเมื่อวันที่ 13 มกราคม 1939 แต่ทว่าเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมนี ดังนั้นการทดลองจึงยังไม่สัมฤทธิ์ผล[69]


การศึกษา

การศึกษาภายใต้การปกครองของนาซีเยอรมนีจะมุ่งเน้นไปยังชีววิทยาเชื้อชาติ นโยบายประชากร วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ และที่สำคัญที่สุด คือ ความแข็งแกร่งทางร่างกาย นโยบายต่อต้านเซมไมท์ได้ทำให้พรรคนาซีออกคำสั่งให้ชาวยิวไม่สามารถเป็นครูอาจารย์หรือศาสตราจารย์ตามสถานศึกษาของรัฐได้

และศาสตราจารย์ตามมหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องเป็นสมาชิกของสมาคมผู้บรรยายตามมหาวิทยาลัยแห่งชาติสังคมนิยม (อังกฤษ: National Socialist Association of University Lecturers) เสียก่อนจึงจะสามารถสมัครเข้าสู่ระบบการศึกษาได้

ความเป็นอยู่ทางสังคม

การโฆษณารถเคดีเอฟ-วาเกินของรัฐบาลนาซี ซึ่งเป็นรถราคาถูกสำหรับชาวเยอรมันพรรคนาซีได้ให้ความสำคัญแก่ความเป็นอยู่ทางสังคมของชาวเยอรมัน จึงให้การสนับสนุนลดอัตราการว่างงานของชาวเยอรมันและรับรองความเป็นอยู่ของประชาชน

ซึ่งเขาได้พุ่งความสนใจไปยังแนวคิดการอยู่ร่วมกันของชาวเยอรมันมากที่สุด พรรคนาซีมีวิธีการที่ช่วยให้ชาวเยอรมันมีความรู้สึกถึงการอยู่ร่วมกัน เช่น การใช้แรงงานของชาวเยอรมันและการหา ประสบการณ์บันเทิง ซึ่งได้แก่ การจัดงานรื่นเริง การเดินทางท่องเที่ยวและโรงหนังกลางแปลง

ที่เรียกกันว่าโครงการ "ความแข็งแกร่งผ่านความรื่นเริง" (เยอรมัน: Kraft durch Freude, KdF) นอกจากนี้แล้ว พรรคนาซียังได้พยายามสร้างความจงรักภักดีและมิตรภาพ โดยการสนับสนุนบริการกรรมกรแห่งชาติ และองค์การยุวชนฮิตเลอร์ ด้วยวิธีการเกณฑ์ให้เข้าร่วมกับองค์กรของรัฐ

ในการสนับสนุนโครงการดังกล่าว โครงการสถาปัตยกรรมหลายแห่งได้รับหน้าที่ให้ทำการก่อสร้าง โครงการเคดีเอฟได้ผลิตเคดีเอฟ-วาเกิน หรือที่ภายหลังรู้จักกันในนาม "โฟล์กสวาเกน" (รถของประชาชน) ซึ่งมีราคาถูก และชาวเยอรมันสามารถจะมีกำลังซื้อได้

และมันยังถูกสร้างขึ้นมาในข้อที่ว่าจะพัฒนาขีดความสามารถของมันให้เป็นพาหนะสงครามได้ และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การสร้างออโตบาน ซึ่งเป็นถนนที่ไม่จำกัดความเร็วสายแรกของโลก

สาธารณสุข

นาซีเยอรมนีได้ให้ความสำคัญแก่ด้านสาธารณสุขอย่างมาก ไม่เหมือนกับที่หลายคนเข้าใจ จากการศึกษาวิจัยของโรเบิร์ต เอ็น. พร็อกเตอร์ จากหนังสือ The Nazi War on Cancer ของเขา เขาเชื่อว่านาซีเยอรมนีเป็นประเทศที่มีการต่อต้านบุหรี่อย่างหนักที่สุดในโลก

คณะวิจัยเกี่ยวกับโทษของบุหรี่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล และนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันก็สามารถพิสูจน์ได้ว่าควันพิษจากบุหรี่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งเป็นครั้งแรกของโลก ต่อมา นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันได้ทำการวิจัยศึกษาการระบาดวิทยา

และในปี 1943 ผลการทดลองที่ศึกษาจากอีเบอร์ฮาร์ด ไชร์เรอร์ และอีริช เชอนิเกอร์ ซึ่งได้ข้อสรุปอย่างน่าเชื่อถือ ว่าการสูบบุหรี่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด รัฐบาลนาซียังได้บอกให้แพทย์แนะนำให้ประชาชนหยุดการสูบบุหรี่เสีย

การวิจัยเกี่ยวกับภัยของบุหรี่ได้ชะลอตัวในช่วงระหว่างสงคราม ซึ่งกว่านักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันและชาวอังกฤษจะค้นพบผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันนี้ก็เป็นช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 ไปแล้ว

นักวิทยาศาสตร์นาซียังได้พิสูจน์ว่าเส้นใยหินเป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย ในปี 1943 เยอรมนียอมรับว่าโรคที่เกิดจากเส้นใยหิน เช่นมะเร็งปอด เป็นโรคที่เกิดระหว่างการปฏิบัติงานและยอมให้ค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายเป็นประเทศแรกของโลก

นโยบายด้านสาธารณสุขโดยทั่วไปของเยอรมนี ได้แก่ การทำความสะอาดแหล่งน้ำ การตรวจหาตะกั่วและปรอทในสินค้าที่ผลิตในเยอรมนี และสตรีในเยอรมนียังได้รับคำแนะนำให้ไปตรวจหามะเร็งเต้านม

สิทธิสตรี

รัฐบาลนาซีไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยสตรีและลัทธิเฟมินิสต์ ด้วยเหตุผลว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นการกระทำของชาวยิวและเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมสำหรับชาวเยอรมัน พรรคนาซีได้สนับสนุนแนวคิดการปกครองฉันพ่อลูก ซึ่งจากแนวคิดดังกล่าวได้อบรมสตรีชาวเยอรมันว่า

"โลกเป็นสามีของเธอ ครอบครัวของเธอ ลูกของเธอ และเป็นบ้านของเธอ"ฮิตเลอร์ได้กล่าวว่าเพศหญิงที่ใช้แรงงานหนักเหมือนกับเพศชายในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่จะไม่เป็นผลดีต่อครอบครัว เนื่องจากว่าในตอนนั้น เพศหญิงจะได้รับอัตราค่าจ้างเพียง 66% เมื่อเทียบกับอัตราค่าจ้างของเพศชาย

จากคำแถลงดังกล่าว ฮิตเลอร์จึงมิได้พิจารณาขึ้นอัตราค่าจ้างให้แก่สตรีชาวเยอรมัน แต่บอกให้พวกเธออยู่กับบ้านแทน พร้อมกับที่ว่าขอให้สตรีชาวเยอรมันลาออกจากงานที่ทำนอกบ้านเสีย และให้สนับสนุนรัฐเกี่ยวกับกิจการสตรีอย่างแข็งขัน

ในปี 1933 ฮิตเลอร์ได้เลือกเอาเกอร์ทรุด ชอลทซ์-คลิงก์ ขึ้นเป็นผู้นำสตรีแห่งจักรวรรดิไรช์ ซึ่งเธอได้กล่าวถึงบทบาทหลักของสตรีในสังคมคือ การให้กำเนิดบุตร และสตรีควรจะมีหน้าที่รับใช้บุรุษ ดังที่เธอเคยกล่าวว่า

"ภารกิจของสตรีคือการทำนุบำรุงเรือนของตน และยอมรับความจำเป็นของชีวิต ตั้งแต่วินาทีแรกจนถึงวินาทีสุดท้ายของบุรุษ" ซึ่งแนวคิดนี้ยังมีอิทธิพลไปถึงสตรีชาวอารยันที่ได้แต่งงานกับบุรุษชาวยิวอีกด้วย

จึงทำให้เกิดเหตุการณ์การประท้วงโรเซนสเทรซเซ ที่สตรีชาวเยอรมันกว่า 1,800 คน (พร้อมทั้งญาติ 4,200 คน) เรียกร้องให้นาซีปล่อยสามีชาวยิวของพวกเธอ

การปกครองแบบนาซีส่งผลให้สตรีชาวเยอรมันไม่กล้าที่จะศึกษาหาความรู้ต่อในระดับมัธยมศึกษา วิทยาลัยและมหาวิทยาลัย จำนวนสตรีที่ศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยลดลงอย่างรุนแรงในสมัยนาซีเยอรมนี ซึ่งลดลงจาก 128,000 คน ในปี 1933 เหลือเพียง 51,000 คน ในปี 1938 จำนวนเด็กหญิงที่ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาลดลงจาก 437,000 คน ในปี 1926 เหลือเพียง 205,000 คน ในปี 1937

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากต้องบรรจุเพศชายเข้าสู่กองทัพเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้จำนวนสตรีในระบบการศึกษานับเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของทั้งหมดในปี 1944

พรรคนาซีได้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาหลายองค์กรเพื่อสั่งสอนแนวคิดนาซีให้แก่สตรีชาวเยอรมัน อย่างเช่น ยุงมาเดิล (เยอรมัน: Jungmädel, หมายถึง "เด็กหญิง") ซึ่งเป็นโครงการยุวชนฮิตเลอร์สำหรับเด็กหญิงอายุ 10-14 ปี และ บุนด์ ดอยท์เชอร์ เมเดล (เยอรมัน: Bund Deutscher Mädel อังกฤษ: BDM, German Girl's League) สำหรับเด็กสาวอายุระหว่าง 14-18 ปี

แต่นาซีมีท่าทีที่แตกต่างระหว่างเรื่องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ของสตรีกับการกำหนดบทบาทของสตรีในสังคม พรรคนาซีมีหลักเกณฑ์ที่เสรีเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์และให้ความเห็นอกเห็นใจสตรีที่ต้องเลี้ยงบุตรนอกสมรส การเลือนหายไปของจริยธรรมตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 กลับถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้นอีกในการปกครองของนาซีเยอรมนี

บางส่วนหายไปจากการปกครองตามลัทธินาซี และบางส่วนหายไประหว่างสงคราม ความเลวทรามได้เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อสงครามดำเนินต่อไป เหล่าทหารหนุ่มโสดมักจะมีความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาวกับผู้หญิงหลายคนในเวลาเดียวกัน สตรีที่แต่งงานแล้วมักมีหลายความสัมพันธ์ในเวลาเดียวกัน ทั้งกับทหาร พลเรือนหรือแม้แต่ชนชั้นกรรมกร

"ภรรยาชาวไร่ในวึรท์เทมเบิร์กได้เริ่มมีใช้เพศสัมพันธ์เป็นสินค้า โดยใช้การตอบสนองทางเพศเพื่อจ้างกรรมกรต่างด้าวให้ทำงานเต็มวัน" การแต่งงานและการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจะถูกแบ่งระหว่างผู้ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติ "อารยัน" และผู้ที่นอกเหนือจากนั้นที่ถูกเรียกว่า "รัสเซนชันเดอ" (เยอรมัน: Rassenschande) ซึ่งถือเป็นความผิดและจะต้องโทษ (ชาวอารยันจะถูกส่งไปค่ายกักกัน และผู้ที่ไม่ใช่อารยันจะต้องโทษประหาร)

แม้ว่าบทบาทของสตรีในสังคมเยอรมันจะลดน้อยถดถอยลงไปมาก แต่สตรีบางคนก็ยังมีบทบาทสำคัญ ซึ่งได้รับการยกย่องสรรเสริญและประสบความสำเร็จในชีวิต อย่างเช่น ฮันนา ไรท์ช นักบินประจำตัวฮิตเลอร์ และเลนิ ไรเฟนสทฮัล ผู้กำกับภาพยนตร์และดารา

ตัวอย่างที่น่าเยาะเย้ยของความแตกต่างระหว่างคำสั่งสอนของลัทธินาซีและการปฏิบัติตนนั้นคือ ถึงแม้การมีเพศสัมพันธ์กันในค่ายของยุวชนฮิตเลอร์จะถูกห้ามอย่างชัดเจน ค่ายของเด็กชายกับเด็กหญิงกลับถูกวางให้อยู่ใกล้กันราวกับจะต้องการให้เกิดเพศสัมพันธ์ขึ้น

อีกทั้งสมาชิกของบุนด์ ดอยท์เชอร์ เมเดล มักจะตั้งครรภ์ (หรือมีผลกระทบไปถึงการสมรสในภายหลัง) เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับชายที่ยั่วยุได้ง่าย

การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ในปี 1935 พรรคนาซีได้ผ่าน "บัญญัติแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งไรช์" ซึ่งไม่ได้เป็นกฎหมายตามลัทธินาซีอย่างแท้จริง เพราะมีอิทธิพลมาตั้งแต่ก่อนที่พรรคนาซีจะขึ้นสู่อำนาจเสียอีก

อย่างไรก็ตาม มันก็แสดงให้เห็นถึงแนวคิดของพรรคนาซี แนวคิดของ "ดาวเออร์วัลด์" (เยอรมัน: Dauerwald) หรือ "ป่านิรันดร์" (อังกฤษ: Perpetual forest) อันเป็นการรวบรวมแนวคิดการบริหารและการอนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งพรรคนาซีได้นำเสนอว่าป่าไม้สามารถป้องกันมลภาวะทางอากาศได้

นโยบายอนุรักษ์สัตว์

ในปี 1933 พรรคนาซีได้ร่างกฎหมายอันเข้มงวดเพื่อกำหนดการอนุรักษ์สัตว์ขึ้นมา ทำให้การล่าสัตว์เป็นสิ่งผิดกฎหมายในนาซีเยอรมนี ซึ่งแม้แต่ในประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน ก็ยังมีการสืบทอดกฎหมายการปกป้องสัตว์ของนาซีมาจนถึงปัจจุบันไม่มากก็น้อย

แต่ว่าผลของกฎหมายดังกล่าวก็มีผลน้อยมากในการบังคับใช้ เนื่องจากพรรคนาซีเห็นว่ายังมีความจำเป็นที่ต้องชำแหละสัตว์เพื่อการศึกษาทางการแพทย์

นโยบายกีดกันทางเชื้อชาติ

พรรคนาซีได้แบ่งประชากรออกเป็นสองประเภทคือ "เชื้อชาติอารยัน" และ "ไม่ใช่เชื้อชาติอารยัน" ซึ่งหมายถึงชาวยิวหรือชนกลุ่มน้อยอื่น สำหรับเชื้อชาติอารยันแล้ว พรรคนาซีได้ออกนโยบายทางสังคมซึ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่คนกลุ่มนี้

และเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งรวมไปถึงยกโทษให้แก่เด็กที่เกิดจากบิดามารดานอกสมรส รวมไปถึงให้การสนับสนุนทางการเงินให้แก่ครอบครัวชาวอารยันซึ่งให้กำเนิดบุตร

พรรคนาซีดำเนินนโยบายกีดกันโดยการข่มเหงและสังหารผู้ที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของสังคมและผู้ที่ไม่ควรจะได้รับผลประโยชน์จากนโยบายทางเชื้อชาติและสังคม ซึ่งเรียกว่าเป็น "ศัตรูของรัฐ" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พวกที่ต่ำกว่ามนุษย์" อย่างเช่น ชาวยิว ชาวยิปซี ผู้นับถือลัทธิพยานพระเยโฮวาห์

ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางจิตและทางกาย ซึ่งได้แก่ ไร้สมรรถภาพและรักร่วมเพศ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 แผนการของพรรคนาซีที่จะแยกหรือจนกระทั่งสังหารชาวยิวได้เริ่มต้นขึ้นในนาซีเยอรมนีด้วยการสร้างนิคมชาวยิว ค่ายกักกัน และค่ายแรงงาน

ในปี 1933 ค่ายกักกันดาเชาเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งฮิมม์เลอร์ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของค่ายดาเชาว่าเป็น "ค่ายสำหรับนักโทษทางการเมือง"


ชาวยิวจำนวนมากถูกยุให้หนีออกนอกประเทศ ซึ่งชาวยิวจำนวนมากก็ทำเช่นนั้น ในช่วงเวลาที่ กฎหมายเมืองเนือร์นแบร์ก ผ่านในปี 1935 ชาวยิวถือว่าสูญเสียสัญชาติเยอรมันและถูกปฏิเสธจากตำแหน่งการงานของรัฐ ซึ่งทำให้ชาวยิวจำนวนมากตกงานในประเทศ

โดยชาวเยอรมันจะเข้าทำหน้าที่ตามตำแหน่งที่ว่างอยู่นั้น เหตุการณ์ที่โดดเด่นก็คือ รัฐบาลพยายามที่จะส่งตัวชาวยิวเชื้อสายโปแลนด์กว่า 17,000 คนกลับสู่โปแลนด์ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่นำไปสู่การลอบสังหารเอิร์ท วอม รัท ทูตชาวเยอรมัน โดยเฮอร์สเชล กรินสปัน ชาวยิวเชื้อสายเยอรมันที่อาศัยอยู่ในปารีส

การลอบสังหารนี้ทำให้เกิดข้ออ้างแก่พรรคนาซีที่จะปลุกระดมให้เกิดการต่อต้านชาวยิวในวันที่ 9 พฤศจิกายน ซึ่งมุ่งจะทำลายธุรกิจของชาวยิวเป็นพิเศษ เหตุการณ์ต่อต้านนี้ถูกเรียกว่า คริสทัลนัชท์ (เยอรมัน: Kristallnacht) หรือ "คืนแห่งการทุบกระจก" "คืนคริสตัล" (Night of Broken Glass, ตามตัวอักษร คือ "Crystal Night)

เพราะกระจกหน้าต่างร้านค้าที่ถูกทุบทำให้ถนนดูเหมือนถูกโรยด้วยคริสตัล จนกระทั่งเดือนกันยายน 1939 ชาวยิวกว่า 200,000 คนหลบหนีออกนอกประเทศ และรัฐบาลจะทำการยึดทรัพย์สินของชาวยิวเหล่านั้นเป็นของแผ่นดิน

พรรคนาซียังได้ดำเนินการสังหารชาวเยอรมันที่ "อ่อนแอ" และ "ไม่เหมาะสม" อย่างเช่น พฤติการณ์ ที-4 (Action T-4) ซึ่งมีการสังหารคนพิการและผู้ป่วยเป็นจำนวนหลายหมื่นคนในความพยายามที่จะ "รักษาความบริสุทธิ์ของเชื้อสายอันยิ่งใหญ่" (เยอรมัน: Herrenvolk)

อีกประการหนึ่งที่โครงการที่นาซีใช้เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติคือ เลเบนสบอร์น (เยอรมัน: Lebensborn) หรือ "น้ำพุแห่งชีวิต" ที่ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1936 โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะให้ทหารเยอรมัน (ซึ่งส่วนใหญ่คือ หน่วยเอสเอส) สืบเชื้อสายของพันธุ์บริสุทธิ์

รวมไปถึงข้อเสนอที่ให้บริการสนับสนุนครอบครัวเอสเอส (รวมไปถึงจัดให้เยาวชนที่มีพันธุ์บริสุทธิ์เข้าไปอยู่ในครอบครัวเอสเอสที่มีความเหมาะสม) และจัดหาสตรีที่มีความเหมาะสมทางเชื้อชาติให้เป็นภรรยาของชายที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว

และให้พวกเธออยู่อาศัยในเยอรมนีและดินแดนยึดครองในทวีปยุโรป และยังเลยไปถึงขั้นที่จะนำเด็กที่มีพันธุ์บริสุทธิ์ที่จับมาจากดินแดนยึดครอง เช่นโปแลนด์ มาให้กับครอบครัวชาวเยอรมัน

เมื่อถึงตอนต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลเยอรมนีได้ออกคำสั่งในดินแดนยึดครองโปแลนด์ ผู้ชายชาวยิวต้องถูกใช้แรงงานหนัก ผู้หญิงและเด็กจะต้องถูกจับไปยังนิคมชาวยิว

ซึ่งในการกระทำดังกล่าว แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การแก้ปัญหาชาวยิวที่ได้มีการถกเถียงกันมาเป็นเวลายาวนานแล้วจะยุติลงด้วยการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย คือการทำลายล้างเชื้อชาติยิวจนสิ้นซาก

วัฒนธรรม

พวกนาซีเผาทำลายผลงานที่ถูกพิจารณาแล้วว่า "ไม่ใช่ชาวเยอรมัน" ในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งได้แก่ งานเขียนของชาวยิว ของคู่แข่งทางการเมืองหรือผลงานที่ต่อต้านลัทธินาซี
เครื่องหมาย "กางเขนสุริยะ" (อังกฤษ: Sun Cross) อันเป็นสัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนาเชิงบวก

สนามกีฬาโอลิมปิกในกรุงเบอร์ลิน ผลงานทางศิลปะ
พรรคนาซีมีแนวคิดที่จะพยายามรักษาคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชาติเยอรมนีเอาไว้ ศิลปวัฒนธรรมที่ถือกำเนิดขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดเจนหลังจากช่วงสาธารณรัฐไวมาร์จะถูกปราบปราม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทัศนศิลป์ที่จะต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด และต้องผ่านเกณฑ์ โดยจะต้องเน้นเพื่อเป็นการแสดงตัวอย่างของนโยบายของรัฐ เช่น ความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติ ลัทธินิยมทหาร วีรบุรุษ พลังอำนาจ ความเข้มแข็ง และความอ่อนน้อมถ่อมตน

ภาพศิลปะนามธรรมและศิลปะอาวองการ์ด จะถูกเคลื่อนย้ายออกจากพิพิธภัณฑ์และจะถูกนำไปแสดงเป็นพิเศษในหมวดหมู่ "ศิลปะอันเลวทราม" (degenerate art) ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนหัวเราะเยาะผลงานเหล่านี้

วรรณกรรมที่เป็นผลงานของชาวยิว หรือเชื้อชาติที่ไม่เป็นอารยัน หรือนักประพันธ์ผู้มีความเห็นไปในทางต่อต้านคำสอนของลัทธินาซีถูกทำลาย การทำลายวรรณกรรมที่โด่งดังที่สุดคือการเผาหนังสือโดยนักเรียนชาวเยอรมันในปี 1933

แม้ว่าจะมีความพยายามของรัฐบาลที่จะสร้างวัฒนธรรมเยอรมันบริสุทธิ์ แต่ว่ายังมีศิลปะหรือสถาปัตยกรรมบางส่วน กลับเป็นสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิค ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของสถาปัตยกรรมโรมันโบราณ ภายใต้การชักนำของฮิตเลอร์เอง

ศิลปะแนวนี้โดดเด่นและขัดแย้งกับศิลปะรุ่นใหม่ที่มีเสรีกว่าและได้รับความนิยมกว่าในสมัยนั้น (เช่น อาร์ท เดโค) โดยผลงานสถาปัตยกรรมแบบโรมันในนาซีเยอรมนีส่วนมากเป็นผลงานของวิศวกรของรัฐ อัลเบิร์ต สเพียร์

ซึ่งเขาก็ได้ออกแบบสถานที่สำคัญของพรรคนาซีอันยิ่งใหญ่และสง่างาม อย่างเช่น ลานชุมนุมของพรรคนาซีที่เมืองเนือร์นแบร์ก และที่ว่าการไรช์ในกรุงเบอร์ลิน งานออกแบบชิ้นหนึ่งที่ไม่ได้นำมาสร้างจริง

คือการสร้างเพเธอนอนให้ยิ่งใหญ่กว่าในกรุงโรมและใช้เป็นศูนย์ทางศาสนาของลัทธินาซีในเบอร์ลิน (ซึ่งจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเยอรมาเนีย) และประตูแห่งชัยชนะให้ยิ่งใหญ่กว่าในกรุงปารีส

แต่งานออกแบบสำหรับเยอรมาเนียเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงความเพ้อฝันและไม่มีวันที่จะสำเร็จลงได้เพราะขนาดของมันและดินของเบอร์ลินที่อ่อนเกินไป นอกจากนี้ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างล้วนถูกนำไปใช้ในการสงคราม

สื่อและภาพยนตร์

ผลงานทางด้านสื่อและภาพยนตร์ของเยอรมนีในยุคสมัยนาซีนี้ส่วนใหญ่จะมีจุดประสงค์เพื่อความบันเทิง กฎหมายได้ห้ามมิให้มีการนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 1936 อุตสาหกรรมของเยอรมนีได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นแนวชาตินิยมทั้งหมดในปี 1937 ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศที่ขาดหายไป (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกา)

ความบันเทิงกลายมาเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะภาพยนตร์เป็นสิ่งที่ดึงความสนใจจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรและความพ่ายแพ้ของเยอรมนี ภาพยนตร์ทั้งในปี 1943 และปี 1944 สร้างรายได้กว่าหนึ่งพันล้านไรช์มาร์ก

แม้จะมีการข้อกำหนดทางการเมืองและผู้ผลิตภาพยนตร์จำนวนมากหลบหนีออกนอกประเทศ ภาพยนตร์ของนาซีก็ยังมีการคิดค้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและความงามขึ้นมาใหม่ อย่างเช่น การผลิตภาพยนตร์โดยใช้ฟิล์มอักฟาโคเลอร์ (เยอรมัน: Agfacolor)

ซึ่งเป็นการระบุลงไปอย่างชัดเจนว่าเป็นลักษณะเฉพาะตัวของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของนาซีเยอรมนี ผลงานภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ นำเสนอนโยบายของรัฐบาลและคำสั่งสอนทางเชื้อชาติ

ศาสนา

พรรคนาซีได้นำสัญลักษณ์มาจากคริสต์ศาสนามารวมเข้ากับอารยธรรมโบราณ และยังได้เสนอคริสต์ศาสนาเชิงบวก ซึ่งได้ทำให้ชาวเยอรมันคริสต์จำนวนมากเชื่อว่าหลักของลัทธินาซีเป็นไปตามหลักธรรมของคริสต์ศาสนา แม้ว่าจะอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็ตาม

การกีฬา

การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงเบอร์ลินในปี 1936 ในครั้งนี้เป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 11 ของโลก ซึ่งอดอล์ฟ ฮิตเลอร์หวังว่าจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของเชื้อชาติอารยัน เยอรมนีได้ใช้โอกาสดังกล่าวในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในประเทศ

และนับได้ว่าเป็นการแสดงพลังที่โดดเด่นของศิลปะและวัฒนธรรมนาซี การแข่งขันในครั้งนี้มีประเทศผู้เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 49 ประเทศ และผลจากการแข่งขัน เยอรมนีเป็นเจ้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนั้น

ในการแข่งขันโอลิมปิกดังกล่าว ก็มีเรื่องว่าฮิตเลอร์ปฏิเสธที่จะมอบเหรียญรางวัลให้แก่ เจซซี โอเวน รวมไปถึงเรื่องของเชื้อชาติยิวเข้ามาเกี่ยวข้องอีก

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เยอรมนีถูกบังคับและปฏิบัติตามสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ซึ่งได้ทำลายเศรษฐกิจของเยอรมนีลงจนย่อยยับ และห้ามมิให้เยอรมนีสร้างเครื่องบิน เรือดำน้ำ และเรือรบขนาดใหญ่ เยอรมนีสูญเสียดินแดนอาณานิคมทั้งหมด

และห้ามสร้างสัมพันธไมตรีกับออสเตรียและนครเสรีดานซิกที่เพิ่งเกิดใหม่ ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ อังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็หวาดกลัวสงครามโลกอีกครั้งหนึ่ง จึงดำเนินนโยบายทอดไมตรีกับเยอรมนี ส่วนฮิตเลอร์มีเป้าหมายที่จะฉีกสนธิสัญญาแวร์ซายส์ การขยายดินแดนของเยอรมนี และ "เลเบนสเราม์"

ตั้งแต่ปี 1933 เป็นต้นมา ฮิตเลอร์และพลพรรคนาซีเดินหน้าเพิ่มกำลังทหารของประเทศและใช้อุบายทางการเมืองเพื่อที่จะยกระดับตนให้ทัดเทียมกับนานาชาติในเวทีโลกซึ่งขัดกับสนธิสัญญาแวร์ซายส์ และเป็นเหตุให้อังกฤษ ฝรั่งเศสและอิตาลีต้องหันมาให้ความสนใจในปัญหาที่เกิดขึ้นจากนาซีเยอรมนี

แต่ทว่าพันธมิตรทั้งสามไม่ลงรอยกันเอง อังกฤษเองนั้นถึงกับยอมทำสนธิสัญญาแยกต่างหากเพื่อรักษาสัมพันธไมตรีกับเยอรมนี พันธมิตรดังกล่าวจึงล่มสลาย และสันนิบาตชาติก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย

อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์ยังคงดำเนินนโยบายทอดไมตรีกับอังกฤษและฝรั่งเศสอยู่ และเขายังปรารถนาที่จะร่วมเป็นพันธมิตรกับอิตาลี แต่อิตาลีมักจะไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ

ในปี 1935 ฮิตเลอร์สั่งเกณฑ์ทหาร จัดตั้งกองทัพอากาศ และส่งกำลังทหารกลับเข้าสู่แคว้นซาร์ แต่ไม่ได้รับการตอบโต้จากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรแต่ประการใด ซึ่งเป็นเหตุให้ฮิตเลอร์เกิดความฮึกเหิมและก้าวร้าวมากขึ้น

ในปีต่อมา ฮิตเลอร์ได้เริ่มใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ในปี 1937 ฮิตเลอร์ส่งกองกำลังไปช่วยเหลือฝ่ายชาตินิยมสเปน ภายใต้การนำของนายพล ฟรานซิสโก ฟรังโก ในสงครามกลางเมืองสเปน


การประชุมมิวนิก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เนวิลล์ เชมเบอร์แลนด์ยอมยกแคว้นซูเดเตนแลนด์ให้แก่ฮิตเลอร์ในปี 1938 เยอรมนีผนวกเอาดินแดนออสเตรีย อิตาลีซึ่งมีท่าทีต่อต้านเยอรมนีมิให้ยึดครองออสเตรียมาตั้งแต่การลงนามในสนธิสัญญาเหล็ก

เมื่ออังกฤษและอิตาลีปราศจากผลประโยชน์ร่วมกันแล้ว อิตาลีจึงเริ่มเปลี่ยนท่าทีโอนเอียงไปหาเยอรมนีแทน ต่อมาก็ยังได้ดินแดนซูเดเตนแลนด์และเชโกสโลวาเกีย อังกฤษซึ่งยังคงเชื่อว่าฮิตเลอร์ไม่ปรารถนาสงคราม นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เนวิลล์ เชมเบอร์แลนด์

จึงได้ลงนามยกแคว้นซูเดเตนแลนด์ให้แก่เยอรมนี ด้วยหวังว่าเยอรมนีจะไม่แสวงหาดินแดนอื่นเพิ่มเติมในทวีปยุโรป เนวิลล์คิดว่าตนได้ปฏิบัติภารกิจได้ประสบความสำเร็จแล้วเมื่อฮิตเลอร์ยอมตอบตกลง แต่หลังจากนั้น ฮิตเลอร์ก็เข้าผนวกเชโกสโลวาเกียอีก

หลังจากนั้น ฮิตเลอร์ได้พุ่งเป้าไปยังโปแลนด์และฉนวนโปแลนด์ เขาต้องการให้มีการทบทวนการกำหนดพรมแดนใหม่กับโปแลนด์ แต่โปแลนด์ปฏิเสธที่จะยอมรับการผนวกนครเสรีดานซิกเข้ากับเยอรมนี

ไม่นานก่อนหน้าการรุกรานโปแลนด์ ฮิตเลอร์ได้ลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับสหภาพโซเวียต เพื่อเป็นการแบ่งปันเขตอิทธิพลของตนในยุโรปตะวันออก และเมื่อถึงวันที่ 1 กันยายน 1939 กองทัพเยอรมนีรุกรานโปแลนด์

และนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะประกาศสงครามกับนาซีเยอรมนีและให้การช่วยเหลือโปแลนด์ก็ตาม แต่ผลก็แทบจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเลย ซึ่งเป็นระยะที่เรียกกันว่า "สงครามลวง"

ในปี 1940 เยอรมนีรุกรานเดนมาร์กและนอร์เวีย เพื่อลดการตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากความหวาดระแวงในท่าทีของฝ่ายสัมพันธมิตร รวมทั้งยังได้โจมตีไปทางทิศตะวันตก ยึดครองกลุ่มประเทศต่ำและประเทศฝรั่งเศส

โดยเยอรมนียินยอมให้ผู้ชาตินิยมและวีรบุรุษสงคราม ฟิลิป เปแตง จัดตั้งการปกครองภายใต้ระบอบฟาสซิสต์ เรียกชื่อประเทศว่า "รัฐฝรั่งเศส" หรือเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางกว่า คือ วิชีฝรั่งเศส

ในปี 1941 เยอรมนีรุกรานสหภาพโซเวียตในความพยายามที่จะพิชิตดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลตามนโยบาย เลเบนสเราม์ สำหรับพลเมืองสัญชาติเยอรมัน โดยรัฐบาลสัญญาว่าจะมีการจัดตั้ง

ในช่วงหลังจากปี 1943 ทิศทางของสงครามเปลี่ยนแปลงไป เยอรมนีถูกบังคับให้ต้องยึดครองดินแดนของอิตาลี ซึ่งรัฐบาลของมุสโสลินีหมดอำนาจลง และจัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลี กองทัพเยอรมันต้องสู้กับกองทัพพันธมิตรทั้ง 3 แนวรบ

เยอรมนีในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สองถูกโดดเดี่ยวทางการทูตอย่างหนัก และไม่อาจต้านทานกองทัพสัมพันธมิตรที่รุกเข้ามาจากทั้งทางทิศตะวันตก ตะวันออกและทิศใต้ เมื่อรัฐบาลใหม่ของเยอรมนีประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1945


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สิริสวัสดิ์ภุมวาร - กมลมานปรีดิ์เขษมที่มาอ่านค่ะ



Create Date : 07 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2552 10:06:23 น.
Counter : 1845 Pageviews.

0 comments
TBC peaceplay
(9 มี.ค. 2567 09:51:54 น.)
Flight Attendant: The dream of many people. สมาชิกหมายเลข 8016747
(5 มี.ค. 2567 03:01:32 น.)
ชนเผ่าตี สมาชิกหมายเลข 4665919
(5 มี.ค. 2567 05:03:48 น.)
เข็นเด็กขึ้นภูเขา · #ผู้ใหญ่จะจัดการความโกรธในเด็กได้อย่างไร newyorknurse
(27 ก.พ. 2567 02:06:00 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด