สหพันธรัฐรัสเซีย (Russia Federation)

รัสเซีย







เดิมเป็นสาธารณรัฐรัสเซียของสหภาพโซเวียต แต่ในปลายปี ๒๕๓๔ สหภาพโซเวียตล่มสลายลงพร้อมๆ กับการแยกตัวของบรรดาสาธารณรัฐต่างๆ ของสหภาพโซเวียตโดยกลายเป็น ๑๕ ประเทศอิสระได้แก่
รัฐบอลติก ๓ รัฐคือ

ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโทเนีย
และสหพันธรัฐรัสเซียกับรัฐอิสระอีก ๑๑ รัฐ

ซึ่งต่อมาได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States ( CIS ) ประกอบด้วย

๑.รัสเซีย
๒.ยูเครน
๓.อาร์เมเนีย
๔.เบลารุส
๕.จอร์เจีย
๖.มอลโดวา
๗.คาซัคสถาน
๘.อุซเบกิสถาน
๙.เตอร์กเมนิสถาน
๑๐.คีร์กิซสถาน
๑๑.ทาจิกิสถาน
๑๒.อาเซอร์ไบจัน

การก่อตั้งเครือรัฐเอกราชนี้กำเนิดมาจากการลงนามร่วมกันของรัสเซีย ยูเครนและเบลารุสในปี ๒๕๓๔ หลังจากนั้นประเทศอื่นๆ ก็มาร่วมจนครบทั้ง ๑๒ ประเทศ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศ CIS นั้นบางประเทศก็สมัครใจ บางประเทศก็จำต้องเข้าร่วมเพื่อเหตุผลด้านความมั่นคง

รัสเซียปกครองด้วยแบบสหพันธรัฐ (Federation) มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และเป็นหัวหน้ารัฐบาล โดยที่นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร รัฐธรรมนูญปัจจุบันของรัสเซีย ซึ่งได้รับความเห็นชอบโดยการลงประชามติ (Referendum) เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคมปี ๒๕๓๖

ได้สร้างระบบประธานาธิบดี โดยได้มอบอำนาจบริหารอย่างกว้างขวางแก่ประธานาธิบดี ตัวอย่างเช่น เป็นผู้นำกองทัพและคณะมนตรีความมั่นคง เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาดูมา : Duma) ข้าราชการระดับสูง ผู้ว่าการธนาคารชาติและประธานศาลรับธรรมนูญ

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีรัสเซียยังสามารถยุบสภาดูมา หากสภาดูมาไม่ให้ความเห็นชอบต่อการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในครั้งที่ ๓ หรือสภาดูมาได้ลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจรัฐบาลติดต่อกัน ๒ ครั้งในช่วงเวลา ๓ เดือน

ประธานาธิบดีจะอยู่ในตำแหน่งวาระ ๔ ปี และโดยที่รัฐธรรมนูญรัสเซียไม่ได้กำหนดตำแหน่งรองประธานาธิบดีในกรณีที่ประธานาธิบดีเสียชีวิตหรือไม่สามารถจะบริหารประเทศได้ นายกรัฐมนตรีจะรักษาการแทนและจะต้องจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีภายใน ๓ เดือนหลังจากนั้น

การที่ประธานาธิบดีมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศอย่างสมบูรณ์ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเองกล่าวคือ หากได้ประธานาธิบดีที่เข้มแข็ง รัสเซียก็จะฟื้นตัวกลับเป็นมหาอำนาจได้อย่างสมบูรณ์โดยเร็ว แต่ในทางกลับกัน ถ้าได้ประธานาธิบดีที่อ่อนแอ เล่นพรรคเล่นพวก รัสเซียก็จะอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด

ประธานาธิบดีจะอยู่ในตำแหน่งได้เพียง ๒ วาระเท่านั้นตั้งแต่ใช้การเลือกตั้งประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญมานั้น รัสเซียเพิ่งจะมีประธานาธิบดีเพียงสองคนเท่านั้นคืออดีตประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินเท่านั้น

ทั้งนี้การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ ๑๔ มี.ค.๔๗ ซึ่งนับเป็นวาระที่สองของประธานาธิบดีปูติน

นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแน่งหัวหน้าฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันชื่อนาย Mikhail Fradkov คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีทั้งสิ้น ๑๗ คน (รวมนายกรัฐมนตรีแล้ว) และทั้งหมดแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

สำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญได้แก่นาย Sergei Lavrov เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Sergei Ivanov เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนาย Alexei Kudrin เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง

รัฐสภาของรัสเซียประกอบด้วย ๒ สภาคือ สภาสูงหรือ สภาสหพันธรัฐ (Federation Council) ซึ่งมีสมาชิกจำนวน ๑๗๘ คนจาก ๘๙ เขตการปกครอง (รวมทั้งกรุงมอสโกและนครเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก) เขตละ ๒ คน

ส่วนมากจะเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากเขตการปกครองนั้นๆ และสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาดูมา ซึ่งมีผู้แทนจำนวน ๔๕๐ คน โดยเป็นผู้แทนจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ๒๒๕ คนและแบบบัญชีรายชื่อ ๒๒๕ คนโดยที่แบบบัญชีรายชื่อจะได้จากพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ ๕ ขึ้นไป

ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รัฐสภารัสเซียมีบทบาทและอำนาจค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับอำนาจของประธานาธิบดี และสมาชิกรัฐสภาจะอยู่ในตำแหน่งวาระละ ๔ ปี ทั้งนี้การเลือกตั้งสภาดูมาครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๖

แม้ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีความสำคัญในการกำหนดอนาคตประเทศรัสเซีย แต่องค์ประกอบของพรรคการเมืองในสภาดูมาจะบ่งชี้ให้เห็นถึงเสถียรภาพของการเมืองภายใน แนวการบริหารงานของประธานาธิบดีและนโยบายของรัฐบาล

ในสมัยของประธานาธิบดีเยลต์ซินนั้น ต้องเผชิญกับการตีรวนของสภาดูมาอย่างมาก เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์และแนวร่วมชาตินิยมครองเสียงข้างมากในสภา จนมีการเผชิญหน้ากันหลายครั้ง ทำให้เสถียรภาพและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลต้องสะดุดลงหลายครั้ง

ต่อมาในสมัยประธานาธิบดีปูติน เสถียรภาพของรัฐบาลดีขึ้นเป็นลำดับ พรรคการเมืองแนวร่วมของประธานาธิบดีปูตินได้ครองเสียงข้างมากในสภาดูมา ทำให้นโยบายและการบริหารงานของรัฐบาลมีความมั่นคงอย่างมาก

นอกจากนั้นนโยบายต่างๆ ที่แสดงออกถึงความเข้มแข็งไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชชเนีย ก็ทำให้ประธานาธิบดีปูตินมีความมั่นคงมากขึ้น

รัฐบาลประธานาธิบดีปูตินประสบความสำเร็จอย่างมาก คะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีสูงมาก สังเกตได้จากผลการเลือกตั้งประธานาบดีครั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือน มีนาคม ๒๕๔๗ ซึ่งประธานาธิบดีปูตินได้รับคะแนนสนับสนุนมากกว่าร้อยละ ๗๐ รวมทั้งพรรคแนวร่วมที่ครองเสียงข้างมาก

เชื่อได้ว่า นับจากปี ๒๕๔๗ เป็นต้นไป รัฐบาลรัสเซียจะดำเนินนโยบายต่างๆ ที่แสดงออกถึงความเข้มแข็งของตนเองมากขึ้น และพยายามฟื้นความยิ่งใหญ่ของรัสเซียในอดีตให้กลับคืนมา

การดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีปูตินครั้งนี้เป็นครั้งที่สองแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดวาระไว้เพียงสองครั้ง ดังนั้นจึงต้องจับตาดูว่า ประธานาธิบดีปูตินจะดำเนินการอย่างไรต่ออนาคตทางการเมืองของประเทศ

ซึ่งอาจจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคลายข้อผูกมัดให้ตนเองกลับมาลงเลือกตั้งได้ในวาระที่สาม

แต่ประธานาธิบดีก็ต้องมีคำตอบที่รับฟังได้ ซึ่งอาจจะใช้การลงประชามติเหมือนอย่างที่ประธานาธิบดีเยลต์ซินเคยใช้ในการรับรองรัฐธรรมนูญและมอบอำนาจมากมายให้ประธานาธิบดีเมื่อปี ๒๕๓๖

หรือหากประธานาธิบดีปูตินไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ต้องดูว่าประธานาธิบดีปูตินจะวางตัวใครเป็นทายาทในการรับมอบอำนาจในการปกครองรัสเซียต่อไป

นั่นหมายความถึง ความต่อเนื่องในการกำหนดนโยบาย และทิศทางในการบริหารประเทศของรัสเซียหลังจากหมดยุคประธานาธิบดีปูตินในปี ๒๕๕๑

แต่นั่นเป็นการมองในแง่มุมง่ายๆ รัสเซียยังคงเผชิญกับการปรับตัวทางการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยที่ตนเองหวังไว้ และสภาพเศรษฐกิจที่ต้องแก้ไขปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบการตลาดเสรีแบบทุนนิยม รวมทั้งประชาชนชาวรัสเซียที่ยังต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนค่านิยมและทัศนคติต่างๆ

จากที่เคยปกครองภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย นอกจากนั้นปัญหาสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่ยังคงรุมเร้ารัสเซียจะยังเป็นสิ่งท้าทายของการบริหารงานของประธานาธิบดีปูตินต่อไป


ขอขอบคุณ //www.geocities.com/rasputin9004


สิริสวัสดิ์มงคลวาร - สุมามาลย์อวลกลิ่นชื่นนาสา ที่มาอ่านค่ะ



Create Date : 05 ตุลาคม 2552
Last Update : 6 ธันวาคม 2552 13:30:20 น.
Counter : 4715 Pageviews.

0 comments
มะเฟืองเป็นผลไม้มีพิษ กินเข้าไปถึงตาย newyorknurse
(7 มี.ค. 2567 03:02:33 น.)
个 เก้อไม่ได้ใช้ได้ทุกที่ toor36
(29 ก.พ. 2567 00:10:26 น.)
สรุปวิชาโลกดาราศาสตร์และอวกาศชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.5) เรื่องทรัพยากรธรณี นายแว่นขยันเที่ยว
(28 ก.พ. 2567 00:03:41 น.)
น้ำหมากกระเด็น กระจาย- -" peaceplay
(17 ก.พ. 2567 10:34:24 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด