ฟี(Phi)อัตราส่วนทองคำ(Golden ratio)กับลำดับเลขฟีโบนักชี (Fibonacci numbers)
ดร. ณัฐพันธุ์ ศุภกา
ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิชาการ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ นักเขียนประจำ วิชาการ.คอม
Phi (Φ) (อ่านออกเสียงว่า ฟี) ก็คือตัวเลข 1.618
เป็นค่าคงที่ของธรรมชาติ ที่มีคุณสมบัติที่น่าทึ่งหลายประการ แต่คุณสมบัติที่น่าสนใจที่สุด ของ Phi ก็คือ Phi มีความเกี่ยวพัน กับลำดับเลขฟีโบนักชี เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า ถ้าเอาเลขฟีโบนักชีตัวใดตัวหนึ่งมา แล้วหารด้วยเลขฟีโบนักชี ในลำดับที่มาก่อนหน้าหนึ่งตำแหน่ง มักจะได้ผลหารเท่ากับ หรือใกล้เคียงกับ Phi หรือ 1.618
เสมอ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรานำเลขฟีโบนักชีสองจำนวน ที่อยู่ติดกันมาหารกัน เช่น 309/191 จะได้ผลหารเท่ากับ 1.6179 หรือเอา 118/73 จะได้ผลหารเท่ากับ 1.6164 ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับ Phi เป็นอย่างมาก และถ้าเราพิจารณาเลขฟีโบนักชีที่มีค่ามากๆ จะพบว่าอัตราส่วนของเลขสองจำนวนจะเท่ากับ 1.6180339887... เสมอ
ค่าที่แท้จริงของ Phi เท่ากับ (1 + 5)/2) หรือประมาณ 1.61803398874989...

สี่เหลี่ยมผืนผ้าทองคำ (Golden Rectangle)
คือ สี่เหลียมผืนผ้าที่มีอัตราส่วนด้านยาวต่อด้านสั้นเท่ากับอัตราส่วนทองคำ หรือ phi นั่นเอง ความพิเศษของสี่เหลี่ยมทองคำก็คือถ้าเราแบ่งสี่เหลี่ยมผืนผ้าทองคำออกเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส และส่วนที่สองเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าก็จะพบว่าสี่เหลี่ยมผืนผ้าอันเล็ก ที่เกิดขึ้นมาใหม่ก็ยังคงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าทองคำเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าเรายังแบ่งสี่เหลี่ยมผืนผ้าทองคำ ที่เกิดขึ้นใหม่ด้วยวิธีการเดียวกันนี้ ก็จะได้สี่เหลี่ยมจตุรัสและสี่เหลี่ยมผืนผ้าทองคำ ที่มีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ ซ้ำไปซ้ำมาจนไม่รู้จบ
เพื่อให้เข้าใจสี่เหลี่ยมผืนผ้าทองคำมากขึ้น ลองพิจารณาจากรูปประกอบนี้
ถ้าสมมุติให้สี่เหลี่ยม ABCD เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีอัตราส่วนทองคำแล้ว จะทำให้ AD/AB = AE/ED = phi โดยที่ FE = AE และ FE/ED= phi จะส่งผลให้สี่เหลี่ยม FCDE เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีอัตราส่วนทองคำเช่นเดียวกันซึ่งจะทำให้ AD/EF = BD/CE = phi เช่นเดียวกัน
Phi มีบทบาทในการเป็นรากฐานที่สำคัญให้กับธรรมชาติ คน สัตว์ พืช หรือแม้แต่อะตอม ซึ่งต่างก็มีสัดส่วนที่ตรงกับอัตราส่วนของ Phi ต่อ 1 อย่างน่าอัศจรรย์! จึงทำให้การปรากฏอยู่ ของตัวเลข Phi ในธรรมชาติ มีมากเกินกว่าที่จะเป็นการบังเอิญ จนราวกับว่าตัวเลข Phi ถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้า จนนักคณิตศาสตร์ชาวอิตาเลียน ชื่อ Luca Pacioli จึงได้เรียบเรียงตำราขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อ The Devine Proportion (สัดส่วนแห่งสวรรค์) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ Phi ขึ้นมาโดยเฉพาะ จนถึงทุกวันนี้ได้มีการค้นพบว่า Phi เข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และสิ่งต่างๆอย่างมากมาย เช่น ศาสตร์สัญลักษณ์ในวงการศิลปะ, สถาปัตยกรรม เช่น พีระมิดอียิปต์, ดนตรี, เกลียวสับปะรด, หลุมดำ, ซุปเปอร์โนวา (supernova) และทฤษฎี string ฯลฯ ตัวอย่างของสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ Phi มีดังนี้
1.อัตราส่วนระหว่างเส้นผ่านศูนย์กลางของเกลียวรอบเปลือกหอยนอติลุส 2.อัตราส่วนเส้นผ่านศูนย์กลางของวงขดเกลียวของเมล็ดทานตะวันแต่ละวงเทียบกับวงถัดไป 3.อัตราส่วนของสัดส่วนหน่วยโครงสร้างร่างกายมนุษย์ เช่น ระยะจากหัวถึงพื้นหารด้วยระยะจากสะดือถึงพื้น ระยะจากไหล่ถึงปลายนิ้วมือหารด้วยระยะจากข้อศอกถึงปลายนิ้วมือ หรือระยะจากสะโพกถึงพื้นหารด้วยระยะจากหัวเข่าถึงพื้น เป็นต้น 4.งานศิลปะและสถาปัตยกรรมของจำนวนมากมาย เช่น มหาวิหารพาร์ธีนอน (Parthenon) ในเอเธนส์ หรือ มหาวิหารน็อตเตอร์ดาม (NotreDame Cathedral) ในปารีส เป็นต้น

มหาวิหารพาร์ธีนอนในกรุงเอเธนส์ที่มีสี่เหลี่ยมผืนผ้าทองคำซ่อนอยู่อย่างไม่รู้จบ ซึ่งส่งผลให้มหาวิหารแห่งนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่มีความสมมาตรและสวยงามมาก
จนกลายเป็นต้นแบบให้กับสิ่งก่อสร้างในภายหลังอีกหลายแห่ง
(ภาพประกอบจาก //britton.disted.camosun.bc.ca/goldslide/jbgoldslide.htm)

มหาวิหารน็อตเตอร์ดามแห่งปารีส และมหาวิหารพาร์ธีนอนในเอเธนส์ ต่างก็มีความเกี่ยวข้องกับ Phi ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเอาความยาวของเส้นสีขาวหารด้วยความยาวของเส้นสีฟ้าจะมีผลหารเท่ากับ Phi หรือ 1.618
 
สี่เหลี่ยมผืนผ้าทองคำที่ปรากฏอยู่บนใบหน้าและส่วนต่างๆของ โมนาลิซา
ซึ่งเป็นภาพวาดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดรูปหนึ่งของโลก ที่วาดขึ้นโดย เลโอนาร์โด ดา วินชี
(ภาพประกอบจาก //us.geocities.com/jyce3/leo.htm)
ภาพ โมนาลิซา (Mona Lisa) เป็นผลงานชิ้นเอกของ เลโอนาร์โด ดา วินชี จิตรกรชาวอิตาเลียน ซึ่งในขณะนี้ตั้งแสดงอยู่ที่ห้องเดอะแกรนแกลเลอรี่ ในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ประเทศฝรั่งเศส ในนาม ลา โฌกงด์ (La Joconde) โมนาลิซาในภาพเป็นภาพเหมือนของหญิงสาวชื่อ ลา จิโอกอนดา (La Gioconda) ภรรยาของฟรานเซสโก เดล จิโอกอนดา ที่ เลโอนาร์โด วาดขึ้นโดยใช้เทคนิคการวาดภาพแบบสฟูมาโต (sfumato) เพื่อให้โทนสีของภาพออกมาดูนุ่มเบา
ส่วนสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โมนาลิซา กลายเป็นภาพวาดที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ก็คงเป็นเพราะสีหน้าและรอยยิ้ม ที่โมนาลิซาแสดงออกมานั้นให้ความรู้สึกที่น่าฉงนมาก เพราะว่าบางมุมก็รู้สึกถึงความมีเสน่ห์ดึงดูดใจ ขณะที่บางมุมก็ให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวแปลกแยก หรือบางครั้งก็รู้สึกราวกับว่า โมนาลิซาอยากจะบอกกับคนที่กำลังจ้องมองดูเธออยู่ว่า ฉันรู้เรื่องที่คุณยังไม่รู้อีกเยอะแยะเลยนะ จะบอกให้!

เดอะวิทรูเวียนแมน (the Vitruvian Man) เป็นภาพวาดที่มีชื่อเสียงมากของ เลโอนาร์โด ดาวินชี เนื่องจากเป็นภาพ ที่แสดงออกถึงความสามารถทางการวาดภาพ ที่เป็นศิลป์ผนวกกับความรู้ทางวิทยาศาสตร ์ของดาวินชีในการกำหนดสัดส่วน ทางคณิตศาสตร์ของร่างกายมนุษย์ โดยดาวินชีได้นำ Phi มาให้ในกำหนดสัดส่วนต่างๆ ของร่างกาย จนได้ภาพวาดของมนุษย์เพศชาย ที่มีรูปร่างสมบูรณ์แบบ และมีสัดส่วนถูกต้องมากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นผลงาน ทางด้านกายวิภาคศาสตร์ ที่ก้าวล้ำสมัยมาก ซึ่งในเวลาต่อมา ได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ ทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
เพนตาเคิล (pentacle) หรือรูปดาวห้าแฉก เป็นสัญลักษณ์ของศาสนา ยุคก่อนคริสตกาล มีความหมาย ในการเป็นตัวแทนของเพศหญิง โดยที่เพนทาเคิล จะมีความเกี่ยวข้องกับ Phi เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากอัตราส่วนต่างๆ ถูกที่แบ่งโดยเส้นทุกเส้น ในเพนทาเคิลจะมีค่าเท่ากับ Phi ทั้งหมด

ส่วน เพนตากอน (pentagon) หรือรูปห้าเหลี่ยมด้านเท่า ก็มีความเกี่ยวข้องกับ Phi ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากอัตราส่วนระหว่างความยาวของเส้นทแยงมุมกับความยาวด้านของรูปห้าเหลี่ยมด้านเท่าจะมีค่าเท่ากับ Phi เสมอ!

รูปแสดงอัตราส่วน ระหว่างความยาวเส้นทแยงมุม กับความยาวด้าน ของเพนตากอน
และความยาวของส่วนต่างๆ ที่เกิดจากการตัดกัน ของเส้นแทยงมุม จะมีค่าเท่ากับ Phi เสมอ
เพนตาเคิล (รูปดาวห้าแฉก) และเพนตากอน (รูปห้าเหลี่ยมด้านเท่า) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่นิยมใช้ในทางศาสนา ลัทธิความเชื่อ และวงการศิลปะ ต่างก็มีความสัมพันธ์กับ Phi หรืออัตราส่วนทองคำ (golden ratio) เป็นอย่างมากจนน่าอัศจรรย์ใจ ซึ่งถ้าสังเกตรูปประกอบ ให้ดีจะเห็นว่า ทั้งเพนตาเคิลและเพนตากอน ซ้อนกันไปมาอย่างไม่รู้จบ และสัดส่วนต่างๆที่เกิดขึ้นจากเส้นที่ตัดกันไปมา ต่างก็มีความสัมพันธ์กับ Phi ทั้งสิ้น
นอกเหนือไปจากสี่เหลี่ยมผืนผ้าทองคำ และรูปห้าเหลี่ยมด้านเท่าหรือเพนตากอนแล้ว รูปเรขาคณิตชนิดอื่นๆ ก็มีอัตราส่วนทองคำด้วยเช่นกัน เช่น รูปสามเหลี่ยมทองคำ และรูปสิบเหลี่ยมทองคำ เป็นต้น

รูปสามเหลี่ยมทองคำแบบมุมแหลม (Golden Triangle) ที่มีด้านยาวต่อด้านสั้นเป็นอัตราส่วนทองคำ ซึ่งมีสามเหลี่ยมทองคำแบบมุมแหลมและแบบมุมป้านขนาดเล็กซ้อนทับกันซ้ำไปซ้ำมาอย่างไม่รู้จบ

รูปสิบเหลี่ยมทองคำ (golden decacon) หรือรูปสิบเหลี่ยมด้านเท่าที่บรรจุอยู่ภายในวงกลม จะพบว่าอัตราส่วนระหว่างรัศมีวงกลม ( r ) ต่อความยาวด้านของรูปสิบเหลี่ยม ( s ) จะมีค่าเท่ากับ phi
สุดยอดความลับของนาโนเทคโนโลยีที่แฝงตัวอยู่ใน The Da Vinci Code กำลังจะถูกเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของ ลำดับเลขฟีโบนักชี ฟี (?) อัตราส่วนทองคำ เพนทาเคิล รหัสลิขิต เลโอนาร์โด ดาวินชี สมาคมลับเดอะไพรเออรี่ออฟไซออน โฮลี่เกรล นาโนไดรฟ์ ฯลฯ
จุดประสงค์ที่ผู้เขียน จัดทำบทความนี้ขึ้นมา ก็เพื่ออยากให้คนไทย สนใจที่จะเรียนรู้เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะทางด้าน นาโนศาสตร์ (nanoscience) และ นาโนเทคโนโลยี (nanotechnology) ได้อย่างสนุกสนาน โดยไม่รู้สึกว่าวิทยาศาสตร์นั้นเข้าใจยาก หรือมีเนื้อหาที่น่าเบื่อหน่าย โดยการสอดแทรกเกร็ดความรู้ ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยี เข้าไปในประเด็นต่างๆ ที่ปรากฎอยู่ในเนื้อหาของนวนิยายอาชญากรรมซ่อนเงื่อน ที่โด่งดังติดอันดับหนังสือขายดีที่สุดของโลก นั่นก็คือ "รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) ผลงานการประพันธ์ของ แดน บราวน์ ซึ่งกลายเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ ให้คนทั่วโลกได้ชมกันในขณะนี้ ซึ่งให้ชื่อภาษาไทยว่า รหัสลับระทึกโลกโดยประเด็นต่างๆ ที่เลือกมานำเสนอมีดังต่อไปนี้
เลขฟีโบนักชี
ลำดับเลข ฟีโบนักชี (Fibonacci numbers) เป็นลำดับเลขที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแบบหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นโดยนักคณิตศาสตร์ชาวอิตาเลียนชื่อ เลโอนาร์โด ฟีโบนักชี (Leonardo Fibonacci) แห่งเมื่องปิซา เมื่อศตวรรษที่สิบสาม เลขฟีโบนักชีสามารถเขียนเป็นอนุกรมได้ดังนี้คือ
1, 1, 2, 3, 5, 8, 13, 21, 34, 55, 89, x, y, x+y,
(ตัวเลขตำแหน่งที่ n เท่ากับ ตัวเลขตำแหน่งที่ n-1 บวกกับตัวเลขตำแหน่งที่ n-2, หรือ Xn = Xn-1 + Xn-2)

เมล็ดของดอกทานตะวัน ในวงที่มีเกลียวการหมุนตามเข็มนาฬิกา มีจำนวนทั้งสิ้น 55 เมล็ด (เครื่องหมายสีแดง) ในขณะที่วงที่มีเกลียว การหมุนทวนเข็มนาฬิกา มีจำนวนทั้งสิ้น 89 เมล็ด (เครื่องหมายสีเขียว) (โดยที่ทั้ง 55 และ 89 ต่างก็สอดคล้องกับลำดับเลขฟีโบนักชี)

ต้นตะบองเพชรที่มีลักษณะการจัดเรียงตัวของปุ่มหนามสอดคล้องกับเลขฟีโบนักชี
โดยมีวงเกลียวของปุ่มหนามที่หมุนตามเข็มนาฬิกา 3 วง (เส้นสีแดง)
และมีวงเกลียวที่หมุนทวนเข็มนาฬิกาจำนวน 5 วง (เส้นสีเหลือง) โดยที่ 3 และ 5 ก็คือลำดับเลขฟีโบนักชี
(ภาพประกอบจาก //www-gap.dcs.st-and.ac.uk/~history/PictDisplay/Fibonacci.html)

ความยาวของกระดูกนิ้วมือแต่ละข้อจะมีอัตราส่วนเรียงตามลำดับเลขฟีโบนักชี

เกลียวการหมุนของยอดปุ่มของกะหล่ำดอกพันธุ์โรมาเนตโก (Romanesco) มีความสอดคล้องกับเลขฟีโบนักชีเช่นเดียวกัน
(ภาพประกอบจาก //wwpub.naz.edu:9000/~dghidiu7/phi.htm)
จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ลำดับเลขฟีโบนักชี ได้เข้ามาสู่โลกของนาโนเทคโนโลยีแล้ว เมื่อนักวิทยาศาตร์จาก Lawrence Berkeley National Laboratory ในแคลิฟอร์เนีย ได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์จาก Ames Laboratory แห่ง Iowa State University ในการใช้อุปกรณ์ ทางด้านนาโนเทคโนโลยี มาทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องแรงเสียดทาน ที่เกิดขึ้นในระดับของอะตอม โดยการใช้กล้องสแกนนิ่งทัลเนลลิ่งเอสทีเอ็ม (Scanning tunneling microscope, STM) ถ่ายภาพลักษณะการจัดเรียงตัว ของอะตอมบนผิวหน้าของผลึกสังเคราะห์ และใช้กล้อง อะตอมิกฟอร์ซไมโครสโคปหรือเอเอฟเอ็ม (Atomic force microscope, AFM) ในการวัดแรงเสียดทาน ที่เกิดขึ้นระหว่างหัวเข็มของกล้อง AFM กับอะตอมบนผิวหน้าผลึก ที่มีการจัดเรียงอะตอมแตกต่างกัน
ซึ่งจากการทดลองพบว่าแรงเสียดทาน ที่วัดได้จากการจัดเรียงตัว ของอะตอมแบบคาบซ้ำ (periodic) จะมีค่าสูงกว่า การจัดเรียงตัวของอะตอมแบบไม่เป็นคาบซ้ำ (aperiodic) ถึง 8 เท่า! โดยการศึกษา เกี่ยวกับแรงเสียดทานที่เกิดขึ้น ในระดับอะตอมนี้จะทำให้ นักวิทยาศาสตร์เข้าใจธรรมชาติ ของแรงเสียดทานและสมบัติทางด้านนาโนไทรโบโลยี (nanotribology) เช่น การสึกหรอ การเสียดสี หรือการหล่อลื่น ที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหน้าของสสารต่างๆ ในระดับนาโนเมตรมากขึ้น

การจัดเรียงตัวของอะตอม บนผิวหน้าผลึกในทิศทางหนึ่ง จะมีอะตอมแต่ละอะตอมอยู่ห่างจากกัน เป็นระยะห่างประมาณ 4 อังสตรอม (?) เท่ากัน แต่ในอีกทิศทางหนึ่ง กลับพบว่าอะตอมแต่ละอะตอม อยู่ห่างจากกันเป็นระยะทาง ที่ไม่เท่ากัน โดยมีระยะห่างระหว่างอะตอม แต่ละตอมเรียงตามลำดับเลขฟีโบนักชี! โดยที่ L=13?, L1=8?, L2=5?, S=8?, S1=5?, S2=3? นอกจากนี้ยังพบว่า การจัดเรียงตัวของอะตอม นผิวหน้าผลึก ที่เป็นแบบคาบซ้ำ จะมีแรงเสียดทานที่กระทำกับหัวเข็มของกล้อง AFM สูงกว่าอะตอม ที่มีการเรียงตัว เป็นแบบไม่เป็นคาบซ้ำ
(ภาพจาก Science (2005) 309: 1354)
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยชาวจีนที่นำโดย Zexian Cao แห่ง Chinese Academy of Sciences ในกรุงปักกิ่ง ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับแรงเครียด (stress) ของทรงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 ไมโครเมตร ที่มีแกนกลางเป็นเงิน และมีเปลือกหุ้มเป็นซิลิกอนออกไซด์หนา 150 นาโนเมตร เมื่อให้ความเย็น จะพบว่าเปลือกหุ้มซิลิกา ที่อยู่ด้านนอกจะมีการหดตัว มากกว่าแกนกลางที่เป็นเงิน ซึ่งจะส่งผลทำให้ ซิลิกาหดตัวกลายเป็นเม็ดทรงกลมขนาดเล็ก จับอยู่บริเวณผิวหน้าของแกนกลาง โดยเม็ดซิลิกา จะมีลักษณะการจัดเรียงตัว เป็นวงเกลียวที่มีความสอดคล้องกับลำดับเลขฟีโบนักชี ยกตัวอย่างเช่น ทรงกลมที่มีเปลือกหุ้มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9.5 ไมโครเมตร จะมีเม็ดซิลิกาอยู่ที่ผิวจำนวน 92 เม็ด ที่มีการเรียงตัวเป็นวงเกลียว ตามเข็มนาฬิกา 8 เส้น และทวนเข็มนาฬิกา 5 เส้น (โดยที่ทั้ง 5 และ 8 ต่างก็สอดคล้องกับลำดับเลขฟีโบนักชี) หรือทรงกลม ที่มีเปลือกหุ้มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 ไมโครเมตร จะมีเม็ดซิลิกาจำนวน 230 เม็ด เรียงตัวเป็นวงเกลียวตามเข็มนาฬิกา 21 เส้น และทวนเข็มนาฬิกา 13 เส้น (โดยที่ทั้ง 13 และ 21 สอดคล้องกับลำดับเลขฟีโบนักชี)

รูปประกอบ A, B และ C แสดงให้เห็นถึงลักษณะการจัดเรียงตัว ของเม็ดทรงกลม ขนาดเล็กของซิลิกา ที่อยู่บนผิวหน้าของแกนกลางที่เป็นเงิน
โดยรูป A แสดงให้เห็นการเรียงตัว ของเม็ดซิลิกา เป็นเส้นโค้งที่หมุนตามเข็มนาฬิกา จำนวน 8 เส้น
รูป B แสดงให้เห็นการเรียงตัวเป็นเส้นโค้ง ที่หมุนทวนเข็มนาฬิกาจำนวน 5 เส้น
รูป C เป็นการสมมุติว่า จุดที่มีเครื่องหมายบอกตำแหน่ง เป็นจุดสิ้นสุดของวงเกลียว ซึ่งจะพบว่าเม็ดซิลิกา จะมีวงเกลียวทวนเข็มนาฬิกาจำนวน 13 เส้น และมีวงเกลียวตามเข็มนาฬิกาจำนวน 21 เส้น ซึ่งเป็นลักษณะที่เหมือน กับการเรียงตัวของเกสรดอกตะบองเพชร Mammillaria nejapensis ในรูป D (ภาพประกอบจาก //www.physorg.com/news5895.html และวารสาร Science (309) 909)

ปุ่มของลูกสนมีการจัดเรียงตัวเป็นเกลียวที่มีจำนวนปุ่มตรงกับเลขฟีโบนักชี

เมล็ดดอกทานตะวัน มีการจัดเรียงตัวเป็นเกลียวที่หมุนตามเข็มนาฬิกา และทวนเข็มนาฬิกา โดยที่จำนวนเมล็ดที่อยู่ในเกลียว แต่ละเกลียวจะตรงกับเลขฟีโบนักชี นอกจากนี้ จำนวนเมล็ดที่อยู่ในเกลียว ที่หมุนตามเข็มนาฬิกาและตามเข็มนาฬิกา ยังมีอัตราส่วนเท่ากับอัตาส่วนทองคำ phi

อัตราส่วนระหว่างเส้นผ่านศูนย์กลางของเกลียวเปลือกหอยนอติลุสที่มีความสอดคล้องกับลำดับเลขฟีโบนักชี
หน้ากากทองคำ (Golden Mask)
ท่านผู้อ่านเคยคิดไหมว่า ใบหน้าที่หล่อหรือสวยนั้นควรมีลักษณะเป็นอย่างไร?
คำตอบก็คงมีหลากหลายมาก ตั้งแต่ ใบหน้าควรมีความสมมาตร ได้รูป ผิวพรรณดี ไม่มีริ้วรอย ฯลฯ แต่ สตีเฟน มาร์ควอร์ต (Stephen Marquardt) ซึ่งเป็นหมอศัลยกรรมพลาสติก กล่าวว่าใบหน้ามนุษย์ที่งดงามที่สุดต้องมีสัดส่วนของบริเวณสำคัญบนใบหน้าตรงกับ หน้ากากทองคำ (golden mask) โดยหน้ากากทองคำที่ว่านี้ก็เกี่ยวข้องกับ phi อีกเช่นกัน!
ทั้งนี้ก็เพราะว่าหน้ากากทองคำถูกสร้างขึ้นมาจากรูปสิบเหลี่ยมทองคำที่มีเส้นเชื่อมโยงทุกจุดเข้าหากันนั่นเอง

หน้ากากทองคำ ที่ใช้กำหนดรูปหน้าในอุดมคติ
ถ้าผู้อ่านท่านใดเชื่อแนวคิดนี้และสนใจ ที่จะดัดแปลงหน้าตาตนเองให้คล้ายคลึงกับหน้ากากทองคำแล้วละก้อ เห็นทีที่จะต้องพึ่งหมอศัลยกรรมมือดี ที่รู้เรื่องหน้ากากทองคำให้ช่วยดัดแปลงหน้าตาให้ แต่ผู้เขียนคิดว่าคนเราควรพึงพอใจกับหน้าตาของเราที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดจะดีกว่า ยกเว้นแต่ว่าหน้าตามันแย่จริงๆ เพราะถ้าเกิดไปทำศัลยกรรมแล้ว ดีไม่ดีหน้าตาจะยิ่งแย่เข้าไปกว่าเดิม
(รายละเอียดเกี่ยวกับ หน้ากากทองคำ สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ หนังสือ กฎพิสดาร ปรากฏการณ์พิศวง 2 ของ ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ)
รวบรวมจาก //learners.in.th/blog/eva
Create Date : 07 สิงหาคม 2553 |
Last Update : 7 สิงหาคม 2553 3:40:51 น. |
|
2 comments
|
Counter : 12938 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: red in the land IP: 222.123.230.6 วันที่: 7 สิงหาคม 2553 เวลา:20:21:50 น. |
|
|
|
โดย: 💖💖👑 IP: 49.48.119.61 วันที่: 4 พฤศจิกายน 2560 เวลา:11:35:18 น. |
|
|
|
|
|