บัญชี ข-ไข่ - 1
บัญชี ข-ไข่ จากบทที่ 1 บัญชี ก-ไก่ มาวันนี้ เรามาดู บัญชี ข-ไข่ กันนะครับ บทที่แล้ว เราได้สมการบัญชี อย่างง่ายคือ เงินสด ของใช้ หรือ สิ่งใดๆ ก็ตามในร้าน มาจาก เงินทุนที่เจ้าของควักออกมา เงินสด ของใช้ หรือสิ่งใดๆ ในร้าน ภาษาบัญชีเรียกกลุ่มนี้รวมๆ ว่า สินทรัพย์ เงินทุนที่เจ้าของควักออกมาเรียกว่า ทุน หรือ ส่วนของเจ้าของ เราก็เขียนเป็นสมการแบบ เด็ก ป.4 ได้ตามนี้ สินทรัพย์ = ทุน (หรือส่วนของเจ้าของ) ทีนี้ ถ้าเรามีเครดิตดี เวลาไปซื้อของจากคนรู้จักเขาอาจให้เราซื้อเชื่อได้ เช่นซื้อเดือนนี้ ก็มาจ่ายเดือนหน้า หรือ อาจไปกู้ธนาคารมา โดยมีคนค้ำประกันให้เรา ได้เงินมาจำนวนหนึ่ง การที่เราได้ของหรือสินค้าโดยการซื้อเชื่อ คนที่ให้เราเชื่อ เรียกว่า เจ้าหนี้ เช่นกัน เรากู้เงินจากธนาคาร ธนาคารก็เป็นเจ้าหนี้ของเรา เราได้ของ และเงินมา เรียกว่า เราได้สินทรัพย์มา จากคนที่เป็นเจ้าหนี้ ไม่ได้มาจากที่เราควักเงินเอง แบบนี้สมการบัญชีก็จะมีตัวเพิ่มขึ้นมาอีกตัวหนึ่งคือเจ้าหนี้นั่นเอง สมมุติว่า วันแรก ร้านเราซื้อวัสดุของใช้จากร้านสมหมายการค้าเป็นเงินเชื่อมา20,000 บาท แล้วกู้ธนาคารได้เงินอีก 40,000 บาท อย่างนี้ ร้านเราก็ มีเจ้าหนี้คิดเป็นเงินรวมสองรายคือ 60,000 บาท เดิมร้านเรามีเงินสดอยู่ 100,000 บาท ได้จากธนาคารอีก 40,000 บาท รวมเงินสดเป็นเงิน 140,000 บาท ได้วัสดุของใช้จากการซื้อเชื่อมาอีก 20,000บาท รวมเป็น ของใช้และเงินสด 160,000 บาท เราทราบแล้วว่าวัสดุของใช้และเงินนี้ ภาษาบัญชี เรียกว่า สินทรัพย์ ส่วนต้นเค้า ก็มาจากเรากู้เงิน กะ ซื้อเชื่อและเงินทุนของเจ้าของ เขียนเป็นสมการได้ว่า เงินสด + วัสดุของใช้ = การซื้อเชื่อมาจากเจ้าหนี้และกู้ธนาคาร+ เงินทุนจากเจ้าของ เขียน เป็นภาษา บัญชีได้ว่า สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน (ส่วนของเจ้าของ) เราลองมาลงบัญชีกันดู ซื้อของเงินเชื่อพวกวัสดุของใช้เช่นแชมพู ครีมนวด ยาย้อมผมวัสดุทำผมหลากหลายชนิดจากร้านสมหมายการค้าเป็นเงิน 20,000 บาท การลงบัญชี จำนวนเงิน 20,000 บาท นี้ เขาให้เขียนตัวเลขเดียวกันนี้ โดยสองครั้ง ครั้งแรกลงฝั่งซ้าย ครั้งที่สองลงฝั่งขวา และต้องลงพร้อมกัน การลง ทั้งฝั่งซ้าย และฝั่งขวา โดยพร้อมกัน เรียกเป็นภาษาบัญชี ว่า บันทึกบัญชี โดยจะบันทึกในสมุดรายวันเป็นอันดับแรกเสมอ นี่คือกฎกติกา ที่ต้องบังคับกันข้ามข้ามขั้นตอน เอาหละ กลับมาที่ซื้อของพวกวัสดุเข้าร้านที่เป็นเงินเชื่อ จำนวนเงิน20,000 บาทกัน เรารู้แล้ว ว่าลงสองครั้ง ที่ต้องรู้หรือจำให้ได้คือ สินทรัพย์ ลงทางซ้าย ตีเป็นเงินที่เชื่อมาสองหมื่นบาทก็มีเจ้าหนี้ขึ้นมาแล้ว เรามาเขียนขั้นต้นเป็นภาษาบ้านๆกันก่อน ทางซ้าย: วัสดุของใช้ในร้านที่ซื้อเชื่อมาเป็นเงิน 20,000 บาท(พึงระลึกหรือจำให้ได้ว่านี่อยู่หมวดหนึ่งนะ) ทางขวา: วัสดุของใช้ดังกล่าวได้มาจากเจ้าหนี้ให้ซื้อเชื่อมาเป็นเงิน20,000 บาท (จำให้ได้ว่าอยู่หมวดสอง) เขียนอย่างย่อ ทางซ้าย: วัสดุของใช้ได้มามีราคา 20,000 บาท (หมวดหนึ่ง) ทางขวา: เจ้าหนี้ร้านสมหมายให้เชื่อมา 20,000 (หมวดสอง) เขียนเป็นภาษาบัญชี Dr. วัสดุสิ้นเปลือง 20,000บาท (เลขบัญชี 105) บางตำราอาจใช้คำว่าวัสดุสิ้นเปลืองคงเหลือ . Cr. เจ้าหนี้การค้า 20,000 บาท (เลขบัญชี 203) (ซื้อวัสดุสิ้นเปลืองจากร้านสมหมายการค้า) < --- เขียนบอกเพื่อให้จำได้ว่าเรื่องอะไร ต่อมา เรามาลงบัญชีเงินสดที่ได้จากการกู้เงินธนาคารมั่ง ทางซ้าย: ได้เงินสดมาจากการกู้เงินธนาคาร 40,0000 บาท (หมวดหนึ่ง) ทางขวา: เงินที่ได้มานี้มาจากธนาคารให้กู้ยืม 40,000 บาท(หมวดสอง) เขียนเป็นภาษาบัญชี Dr. เงินสด 40,000บาท (เลขบัญชี101) . Cr. เจ้าหนี้ธนาคาร40,000 บาท (เลขบัญชี202) (กู้เงินธนาคารกรุงเก่าโดยมีบุคคลค้ำประกัน) สิ่งที่ต้องจำเข้าสมองและสายเลือดไปตลอดชีวิตของนักบัญชีคือหนี้สินลงทางขวา ทุนลงทางขวา รายได้ลงทางขวา ส่วนทางซ้ายคือ สินทรัพย์และ รายจ่าย จัดกลุ่มใหม่อีกครั้ง โดยจัดตามหมวด เพื่อโยงไปถึงการทำงบดุล(งบแสดงฐานะการเงินของเจ้าของ) และ งบกำไร/ขาดทุน กลุ่มที่โยงไปถึงงบดุล(งบแสดงฐานะการเงินของเจ้าของ) มีสามกลุ่มตามสมการบัญชี ( สินทรัพย์ = หนี้สิน +ทุน) นักบัญชี เขาจัดหมวดสินทรัพย์ให้เป็นหมวดหนึ่ง จัดหมวดหนี้สินเป็นหมวดสอง และจัดหมวดทุน(ส่วนของเจ้าของ)เป็นหมวดสาม เราก็ทำตามเขา โดยต้องระมัดระวังเสมอ ว่าเราเองต้องระบุให้ได้ว่ารายการใดอยู่ในหมวดใด ให้ถูกต้องทุกรายการ กลุ่มที่เหลือ สองกลุ่มคือ รายได้(หมวดสี่) รายจ่าย(หมวดห้า) รายได้ ทำให้ทุนเพิ่มขึ้นให้อยู่ฝั่งเดียวกับทุนคือฝั่งขวา รายจ่ายทำให้ทุนลดลง ให้อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับทุนเป็นฝั่งซ้าย ตรงนี้ เราจะใช้ในการทำงบกำไรขาดทุน มักจะไม่ค่อยเกี่ยวกับสามหมวดแรกเท่าใด ยกเว้นวันสิ้นงวด (เรื่องที่ว่าเกี่ยวอย่างไรนั้น เอาไว้จะอธิบายทีหลังนะครับ) จากที่ว่ามา เราได้ ข้อสรุปง่ายๆดังนี้ งบดุลคือ การพิสูจน์ ว่า ตัวเลขในหมวดหนึ่ง ต้องเท่ากับตัวเลขในหมวดสองและสามรวมกัน งบกำไรขาดทุนคือ การกระทบยอดให้ได้ผลต่างของหมวดสี่กับหมวดห้า ทำให้เรารู้ถึง กำไร/ขาดทุน เอาหละเราจะเปิดร้านกันแล้วนะ วันที่หนึ่งของเดือนที่สอง (เดือนแรก ให้ดู บัญชี ก-ไก่ ที่ผมเขียนให้แล้ว) เราซื้อ ของเข้าร้านเป็นเงินเชื่อ 20,000 บาท จากร้านสมหมายการค้า(ดังแสดงให้ดูข้างต้นแล้ว) เราได้เงินกู้จากธนาคารมา 40,000 บาท ด้วยนะอย่าลืมมมม วันเดียวกันเราซื้ออุปกรณ์ทำผม หวี แปรง พวกเก้าอี้ช่างตัดผม โต๊ะ ไดร์เป่าผม ฯลฯ จากร้านนิยมพาณิชย์เป็นเงิน50,000 บาท (ไม่ได้บอกว่า ซื้อด้วยเงินสดหรือเงินเชื่อ หรือจ่ายเช็ค เบื้องต้นนี้ทางบัญชีให้ถือว่าเป็นการจ่ายด้วยเงินสด) วันที่สอง มีลูกค้ามาใช้บริการในร้าน ได้เงินมา 2,000 บาท วันที่ 15 เขามาวางบิลค่าน้ำค่าไฟ สองอย่างเป็นเงิน 4,000 บาท จ่ายเป็นเงินสดในวันนั้นครบจำนวน วันที่ 16 ลูกค้าเข้าร้าน ได้เงินมา 3,500 บาท วันที่ 18 ลูกค้าเข้าร้านได้เงินมา 6,500 บาท วันที่ 20 ลูกค้าเข้าร้านได้เงินมา 8,000 บาท วันที่ 30 ลูกค้าเข้าร้านได้เงินมา 2,000 บาท วันที่ 31 ลูกจ้าง เบิกเงินค่าจ้าง 12,000บาท ตรวจนับวัสดุคงเหลือพวกแชมพู ครีมนวดฯลฯแล้วมีเหลืออยู่ตีเป็นเงินได้ 18,000 บาท จ่ายค่าเช่าร้าน 5,000 บาท เรามาทำทีละขั้นนะครับ แรกสุด เราต้องระบุให้ได้ว่ารายการของ แต่ละวัน ดังกว่ามาข้างบนนั้น อยู่หมวดอะไรมั่ง ตามนี้นะครับ เราซื้อ ของเข้าร้านเป็นเงินเชื่อ 20,000 บาท จากร้านสมหมาย(ได้แสดงให้ดูข้างต้นแล้ว) รวมถึงการกู้เงินจากธนาคารได้เงินสดมา 40,000 บาทด้วย วันเดียวกันเราซื้ออุปกรณ์ทำผม หวี แปรง พวกโต๊ะ เก้าอี้ช่างตัดผม ไดร์เป่าผม ฯลฯ จากร้านนิยมพาณิชย์เป็นเงิน50,000 บาท (ไม่ได้บอกว่า ซื้อด้วยเงินสดหรือเงินเชื่อ หรือจ่ายเช็ค เบื้องต้นนี้ทางบัญชีให้ถือว่าเป็นการจ่ายด้วยเงินสด) การซื้อของด้วยเงินสด ได้ของมาครบจำนวน เงินสด อยู่ในหมวดหนึ่ง ของใช้อยู่ในหมวดหนึ่งเช่นกัน ถ้าเราได้เงินเข้ามาสดเราลงทางซ้าย เราจ่ายเงินสดออกไปเราลงทางขวา เช่นกัน เราได้อุปกรณ์เข้ามาเราก็ลงอุปกรณ์ไว้ทางซ้าย การที่เราจำแนกแยกแยะ หรือระบุได้ว่าการจ่ายการรับ การได้ของวัสดุอุปกรณ์หรือเสียไปนั้นอยู่หมวดอะไร และอยู่ฝั่งซ้ายหรือขวานั้น ภาษาบัญชีเรียกซะสวยหรูว่า วิเคราะห์รายการค้า คือคำนี้ ผมไม่เห็นด้วยที่จะใช้ให้หรู แลดูลึกลับซับซ้อนถึงเพียงนั้น แต่คงต้องรับกับมันไปตลอด เพราะ ผมไม่ได้เป็นต้นตำหรับ ถือว่า ทำตัวให้ชินกับคำนี้ก็แล้วกัน เอาหละมาเขียนกันแบบชาวบ้าน ทางซ้าย: ร้านค้าได้มาซึ่ง อุปกรณ์ทำผมหลายชนิด ตามบิลเงินสดระบุว่าราคา 50,000 บาท ทางขวา: ร้านจ่ายเงินสดออกไปเพื่อซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวเป็นเงิน50,000 บาท เขียนแบบนักบัญชี Dr. อุปกรณ์ทำผม 50,000 บาท . Cr. เงินสด50,000 บาท (ซื้ออุปกรณ์ทำผมด้วยเงินสดจากร้านนิยมพาณิชย์) วันที่สอง มีลูกค้ามาใช้บริการในร้าน ได้เงินมา 2,000 บาท เราก็เขียนเป็นภาษาของเราไปก่อน ทางซ้าย:ได้เงินสดมาจากการทำผม 2,000 บาท (หมวดหนึ่ง ได้มาเป็นเงินสด) ทางขวา: มีรายได้จากการทำผม 2,000 บาท (หมวดสี่เป็นรายได้ของกิจการ) เขียนแบบนักบัญชี Dr. เงินสด 2,000 บาท . Cr. รายได้ค่าบริการ 2,000 บาท (บันทึกรายได้จากการให้บริการ) วันที่ 15 เขามาวางบิลค่าน้ำค่าไฟ สองอย่างเป็นเงิน 4,000 บาท จ่ายเป็นเงินสดในวันนั้นครบจำนวน เรามาดูกันก่อน รายการนี้ เราจ่ายเงินสดออกไป --- > การจ่ายเงินสดต้องอยู่ฝั่งขวาตรงกันข้ามกับฝั่งซ้ายที่เราทำมาตลอดเมื่อเราได้เงินสดเข้ามา นั่นแสดงว่า ซ้ายต้องเป็นส่วนของรายจ่ายนั่นเอง เขียนแบบบ้านๆ ทางซ้าย: ร้านมีค่าใช้จ่ายของค่าน้ำค่าไฟตามบิลเรียกเก็บจำนวนเงิน 4,000 บาท ทางขวา: จ่ายไปด้วยสดจำนวน 4,000 บาท เขียนแบบนักบัญชี Dr. ค่าสาธารณูปโภค 4,000 บาท . Cr. เงินสด 4,000 บาท (จ่ายค่าสาธารณูปโภคด้วยเงินสดตามใบแจ้งหนี้ ให้ระบุวันเดือนปี )
Create Date : 27 กันยายน 2559 |
Last Update : 27 กันยายน 2559 11:18:25 น. |
|
0 comments
|
Counter : 2074 Pageviews. |
 |
|