รักแห่งสยาม : Love of Siam : Love as-I-am



ความเจริญของเมือง ความเจริญแห่งวัย และการเติบโตอีกก้าวที่สำคัญของวงการหนังบ้านเรา คงเป็นคำจำกัดความที่เหมาะสมของหนังรักแห่งสยามเรื่องนี้เป็นอย่างดี ไม่ใช่เพียงแค่ทำออกมาได้ดีหากแต่ยังทำหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพในฐานะของงานศิลป์ที่มุ่งสร้างภาวะแห่งการเติบโตให้เกิดขึ้นกับผู้ชมได้อย่างสำเร็จ เปิดมุมมอง (perspective) ใหม่ให้ได้ทำความรู้จักกับหนังรักที่มีรูปแบบแตกต่าง ทั้งในแง่ความลึกแห่งอารมณ์ ความหลักแหลมของเนื้อหา รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายที่หนังประสงค์จะสื่อถึงก็กว้างขึ้นชนิดที่ไม่จำกัดเพศและวัย (โดยทั่วไปหนังรักจะจำกัดตัวเองอยู่เฉพาะกลุ่มคู่รักวัยหนุ่มสาวเท่านั้น)

หนังวางระบบคิดไว้ดีเยี่ยม แต่ละภาพที่เห็นบนจอล้วนผ่านกระบวนการกลั่นกรองที่ฉลาดและรอบคอบ สอดรับกับโครงเรื่องที่แข็งแรงซึ่งถูกขึ้นรูปไว้ก่อนแล้ว ผนวกกับรายละเอียดที่ประณีต งดงาม จนหากจะบอกต่อว่านี่คือหนังไทยที่ดีที่สุดของปีก็อาจจะน้อยไป เหนือยิ่งไปกว่านั้น รักแห่งสยามได้ทำหน้าที่ในการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นแก่ผู้ชมได้อย่างมหาศาล

ผู้เขียนได้ยินเสียงร่ำลือหนาหูถึงความยอดเยี่ยมก่อนการเข้าไปพิสูจน์ด้วยตาตนเอง ดูจบแล้วกลับรู้สึกผิดคาดและประหลาดใจ ผู้กำกับทำหนังได้อย่างเหนือชั้นและลุ่มลึกเกินกว่าที่คาดคะเนไว้ตอนแรกอยู่มากโข



ผู้เขียนชื่นชมผู้สร้างและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่กล้าในสิ่งที่ถูกต้อง แม้ประเด็นจะหมิ่นเหม่ต่อเสียงครหาที่อาจดังมาจากซอกมุมอันเหม็นอับของกลุ่มคนใจแคบ ถึงกระนั้นหนังเรื่องนี้ก็ยังได้ทดสอบและสะท้อนให้เห็นถึงวุฒิภาวะของผู้ชมอยู่ในตัว ว่ายังคงเยาว์วัยไร้เดียงสาหรือว่าได้ก้าวข้ามผ่านช่วงวัยอันสับสนนั้นมาแล้ว (coming of age) จนควรค่าแก่การเรียกตัวเองว่าเป็น “ผู้ใหญ่”ได้อย่างเต็มปาก

ประเด็นว่าด้วยภาวะการหลงทางและการสื่อสารที่ขาดความเข้าใจ ( แม้โทรศัพท์มือถือจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตยุคนี้ก็ตาม ) ถึงผู้ชมจะเพิ่งผ่านตาหนังระดับรางวัลออสการ์อย่าง Babel ซึ่งเดินเรื่องในประเด็นเดียวกันนี้มาก่อน แต่ในท่วงทำนองของหนังรัก ถือได้ว่ารักแห่งสยามมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่สูงและเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใคร หนังมุ่งเจาะใจกลุ่มวัยรุ่น ณ กลางใจเมืองกรุงเทพ ที่มีพื้นหลังของเรื่องราวเป็น “สยามสแควร์” จตุรัสความเจริญอันเป็นสัญลักษณ์ของป๊อบคัลเจอร์ในประเทศไทย

บางส่วนในหนังเรื่องนี้พาลให้นึกถึงหนังเก่าอย่าง The Ice Storm ของหลี่อัน (Ang lee) ที่เคยกล่าวถึงปัญหาครอบครัวอเมริกันยุคใหม่ซึ่งมีสมาชิกต่างวัยต่างเพศอยู่ 4 คน เมื่อครอบครัวนี้นั่งล้อมโต๊ะทานข้าวกัน จะปรากฏภาพเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสซึ่งเป็นพื้นที่ของเลขยกกำลังสอง (square) ที่สมมาตรกันในทุกด้าน สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนจึงล้วนแต่เป็นด้านหนึ่งที่สำคัญที่เมื่อประกอบมุมกันแล้วก็จะกลายเป็นความสมบูรณ์แบบ (ตัวละครในหนังกล่าวไว้เช่นนั้น)

เมื่อปัญหาครอบครัวเกิดขึ้น ทั้งใน The Ice Storm และรักแห่งสยามนี้ (โดยเฉพาะฉากที่พ่อแม่ตบตีกัน) ความรู้สึกแปลกๆ ที่เย็นเยียบจับขั้วหัวใจก็เกิดขึ้นและรู้สึกได้ ไม่เกี่ยวกับที่รักแห่งสยามเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวของปี หากแต่ความเหน็บหนาวอันเกิดมาจากความเย็นชาในครอบครัว มันทำร้ายเราได้อย่างรุนแรงในทุกเวลาและทุกฤดูกาล



ถึงกระนั้น รักแห่งสยามก็ยังไม่หนักอึ้งและเครียดในแบบเดียวกับ The Ice Storm เพราะผู้กำกับพยายามที่จะสร้างความรู้สึกรักให้ผู้ชมสามารถสัมผัสได้จริงๆในโรงภาพยนตร์ มากกว่าจะสะท้อนอุณหภูมิแห่งความทุกข์ในครอบครัว

ธรรมดาของหนังรักที่จะมีบรรยากาศเป็นช่วงแห่งฤดูที่มนุษย์เราล้วนปรารถนาความอบอุ่น ปีก่อนโน้นเราได้ชมหนังเรื่อง รักจัง จากค่ายอาร์เอสซึ่งเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นท่ามกลางลมหนาวช่วงปลายปีนี้เหมือนกัน (ในรักแห่งสยามก็ยังกล่าวท้าวความถึงเรื่องนี้อยู่) หรือจะกลายเป็นสูตรประจำปีสำหรับหนังในแนวทางนี้ไปซะแล้ว

รักแห่งสยามมีตัวละครแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ คือครอบครัวของโต้งและกลุ่มเพื่อนวัยรุ่น เหตุการณ์ในหนังเริ่มเปลี่ยนบรรยากาศเข้าสู่ความมืดหม่นตั้งแต่ แตง พี่สาวของโต้งหายตัวไปจากการหลงป่า



การสูญเสียลูกสาวครั้งนี้ทำให้พ่อและแม่ของโต้งเปลี่ยนไป พ่อเริ่มสูญสิ้นศรัทธาในศาสนาและกลายเป็นคนติดเหล้า แม่ในฐานะของภรรยาก็เริ่มสูญเสียสามีผู้เคยเป็นเสาหลักของครอบครัว โต้ง ลูกชายที่ยังเหลืออยู่จึงเสมือนสูญเสียไปแล้วทั้งครอบครัว

มิวคือเพื่อนรักในละแวกบ้านของโต้งตอนวัยเด็ก (ลำพังชื่อไม่สามารถระบุเพศได้ว่าเป็นชายหรือหญิง หรือจะเป็นกลุ่มคนกลายพันธุ์เหมือนมิวแทนส์ใน X-Men ที่มีความแปลกแยกแตกต่างจากสังคม?) เมื่อครอบครัวของโต้งย้ายบ้านออกไป มิวก็สูญเสียเพื่อนเพียงคนเดียวนี้ไปด้วย อาม่าผู้เลี้ยงดูมิวมาแต่เล็กก็มาตายจาก เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้มิวกลายเป็นเด็กที่เปลี่ยวเหงา และคิดว่าชีวิตนี้คงไม่เหลือความรู้สึกรักให้กับใครได้อีกแล้ว

เด็กๆ เติบโตขึ้นภายใต้เบ้าหลอมที่บิดเบี้ยว ชีวิตที่ถูกบีบรัดด้วยปัญหาและอุปสรรคสร้างบุคลิกให้ตัวละครมีปมอะไรบางอย่างค้างคาอยู่ในใจ โต้งและมิวพบกันอีกครั้งโดยบังเอิญในวัยมัธยม วัยเรียนที่เป็นช่วงรอยต่อระหว่างความเป็นเด็กประถมและความเป็นผู้ใหญ่ในรั้วมหาวิทยาลัย (หนังแสดงช่วงของหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งวัยได้ดีในหลายๆฉาก)

โต้งและมิวสานสัมพันธ์กันจนเกินเลยคำว่าเพื่อน การกลับมาของโต้งทำให้มิวเกิดแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงรัก แต่ทว่าโต้งที่ขณะนี้กำลังคบหาอยู่กับแฟนสาวกลับเกิดสับสนขึ้นมาถึงทางเลือกในชีวิต ด้านหนึ่ง ความสุขของโต้งและมิวกำลังกลับคืนมา แต่อีกด้านหนึ่งความเจ็บปวดก็กำลังตามมาด้วยเช่นกัน โต้งมีปัญหากับครอบครัวและแฟนสาว ส่วนมิวก็กำลังสูญเสียกลุ่มเพื่อนในวงดนตรีไป

เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะรักคนคนหนึ่งโดยไม่ต้องทำร้ายคนที่เรารักอีกคนหนึ่ง ภาวะการหลงทางและสิ้นไร้ทางออกของตัวละครเริ่มขมวดปมกลายเป็นจุด Climax ของหนังที่ผู้ชมเองก็ไม่อาจคาดเดาบทสรุป

จูน คือหญิงสาวซึ่งทำหน้าที่เติมเต็มสิ่งที่ตัวละครอื่นๆ กำลังขาดหาย ชื่อจูนของตัวละครผู้นี้ยังแฝงความหมายถึงการประสานความเข้าใจระหว่างกันทั้งในระดับครอบครัวของโต้งและกลุ่มเพื่อนในวงดนตรีของมิว

จูน หนีออกจากบ้านที่เชียงใหม่เพื่อมาหาโอกาสที่ดีกว่าในเมืองกรุงโดยไม่เคยติดต่อกลับไป จูนสูญเสียครอบครัวไปทั้งหมดในอุบัติเหตุก่อนที่เธอจะได้นำเอาความสำเร็จจากเมืองนี้ไปมอบให้



ครอบครัวของโต้งเสียแตงไปจากการหลงป่าที่เชียงใหม่ ในอีกด้านหนึ่ง จูนก็มาหลงติดกับอยู่ในป่าคอนกรีตแห่งนี้อยู่เช่นกัน ทั้งสองด้านล้วนสูญเสียในสิ่งที่อีกด้านหนึ่งยังคงมีเหลืออยู่ วิถีแห่งการเติมเต็ม“กันและกัน”จึงเริ่มต้นขึ้น เสมือนจิ๊กซอร์ชิ้นที่หายไปแล้วนั้นได้กลับคืนมา เพียงแค่เราเปลี่ยนวิธีในการมอง ภาพที่เคยเห็นก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยอย่างอัศจรรย์

หนังสร้างสถานการณ์ให้ทุกตัวละครตกอยู่ในภาวะที่สับสนและหลงทาง ทุกคนล้วนเจ็บปวดและตะเกียกตะกายหาทางออก ( เหมือนผึ้งในเรื่องที่ตกลงไปในแก้วน้ำหวาน) และแล้วการเติบโตและก้าวผ่านช่วงแห่งความทุกข์นั้นก็บังเกิดขึ้นในฉากจบ หนังตีความ Coming of age ได้กว้าง ฉลาดและลุ่มลึก ไม่ใช่แค่ช่วงวัยรุ่นเท่านั้นที่เรียกว่าหัวเลี้ยวหัวต่อ หากแต่มันคือทุกช่วงภาวะของชีวิตเมื่อยามที่เราต้องเลือกทางเดิน และถ้าเราผ่านพ้นมันไปได้ การเติบโตเข้าสู่ภาวะใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น และจะคงเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น หากชีวิตเรายังคงรักการเติบโต

ทุกตัวละครในเรื่องได้เรียนรู้ถึงความหมายของความรัก “รัก” ที่ไม่ว่าจะถูกแปลออกมาเป็นภาษาใดๆในโลก แต่หากไม่เคยสัมผัสเองกับตัว ก็ไม่มีทางที่จะอวดอ้างได้ว่าเข้าใจความรักอย่างแท้จริง ในขณะที่หนังรักเรื่องอื่นๆ กล่าวถึงความรักในด้านของความสุขหวานแหวว รักแห่งสยามเลือกที่จะเสนอความขมขื่นในชีวิตให้ผู้ชมได้สัมผัส แสดงศักยภาพของความรักให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเมื่อขาดมันแล้วชีวิตจะเป็นอย่างไร ( เหมือนเช่นจะกล่าวถึงความสำคัญของน้ำ แต่กลับอ้อมไปเน้นถึงความแห้งแล้งของทะเลทราย ซึ่งสามารถให้ภาพที่คมและชัดกว่าการกล่าวถึงผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์)

รักแห่งสยามแสดงปัญหาสังคมออกมาได้อย่างชัดเจน ว่าด้วยความรู้สึกวิกฤตศรัทธาและการยอมรับต่อความจริงที่เกิดขึ้น หนังสื่อผ่านครอบครัวของโต้งที่ทำใจรับความจริงไม่ได้ว่าได้เกิดภาวะการสูญเสียขึ้นแล้ว ทั้งในส่วนของแตงที่หายตัวไป และการที่แม่รู้ความจริงว่าโต้งมีรสนิยมรักร่วมเพศ การทำใจยอมรับสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่นี้เป็นประเด็นที่ท้าทายทั้งต่อตัวละคร ตัวผู้สร้างภาพยนตร์และผู้ชมเอง ว่าในสายตาของเรานั้นมองเห็นความจริงอยู่กี่ส่วนและสิ่งที่อยากเห็นอยู่กี่ส่วน ตราบใดที่ยังแยกไม่ออกระหว่างความจริงที่เป็นอยู่กับสิ่งที่อยากให้เป็น ทางออกของปัญหาย่อมไม่มีวันถูกค้นพบ



Love as-I-am (รักอย่างที่ตนเป็น) อย่างที่กล่าวไว้ในหัวเรื่อง คือการยอมรับความจริงที่เป็นอยู่ โต้งค้นพบตัวเองในที่สุด (หนังใช้สัญลักษณ์ของการเล่นซ่อนหาของได้อย่างฉลาดและตรงประเด็น) ยิ่งไปกว่านั้น คือการเจอทางออกให้กับความรักในทุกรูปแบบ ที่ไม่เห็นแก่ตัวและก็ไม่ได้ทำร้ายใคร

ภาวะการหลงทางยังถูกสื่อผ่านตัวละครหญิงสาวอีก 2 คน นั่นคือหญิงและโดนัท หญิงหลงรักมิวอย่างหัวปักหัวปำ หลายพฤติกรรมเป็นไปอย่างไร้สติด้วยเพราะตกอยู่ในห้วงแห่งความรัก (อาจมากถึงขั้นเรียกว่าเพ้อ) หญิงทำทุกวิถีทางให้มิวสนใจและเลือกเธอเป็นแฟน



ส่วนโดนัทเป็นแฟนของโต้ง เป็นสาวสวยชนิดที่เรียกว่าสวยเลือกได้ ตัวเลือกในชีวิตของโดนัทมีมากมายแต่กระนั้นเธอก็ยังตกอยู่ในภาวะหลงที่เรียกว่า “หลงตัวเอง” ฉากที่โต้งบอกเลิกโดนัทตอนจบ และฉากที่มิวบอกว่าหญิงคือเพื่อนที่ดีที่สุด คือบทเรียนแห่งความจริงที่สร้างให้ทั้งสองตัวละครนี้เข้าใจชีวิตได้มากขึ้น

งานด้านภาพและเสียงในหนังเรื่องรักแห่งสยามถูกใช้อย่างได้ผล การแสดงที่โดดเด่นของกลุ่มดาราหน้าใหม่สอบผ่านบทเหล่านี้ไปได้อย่างน่าชื่นชม แต่ที่วาดลวดลายได้เด็ดดวงจนอาจเทียบชั้นขึ้นเป็นเมอรีล สตรีฟแห่งเมืองไทย นั่นก็คือคุณสินจัย ในบทของภรรยาและแม่ผู้ระทมทุกข์ สวมวิญญาณได้อย่างเป็นธรรมชาติและทำให้เชื่อได้อย่างสนิทใจว่าตัวละครตัวนี้มีชีวิต บทภาพยนตร์แทบไม่ต้องกล่าวถึง เห็นอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าได้รับการชื่นชมอยู่เป็นระยะๆ ตลอดงานเขียนชิ้นนี้



หลังจากหนังจบลง ไม่ปรากฏบทสรุปแบบนิยายที่ความเป็นไปของตัวละครถูกยุติลงในทุกจุด ทว่ารักแห่งสยามทำหน้าที่เพียงแค่การแพนกล้องผ่านชีวิตช่วงสั้นๆของมนุษย์ หลังจากหนังจบลงแล้วบุคคลเหล่านั้นก็ยังจะต้องดำเนินชีวิตต่อไป ผู้เขียนเชื่อว่า น้องๆ ณ จุดหัวเลี้ยวหัวต่อจะผ่านไปสู่ชีวิตที่ดีในรั้วมหาวิทยาลัย พ่อและแม่ของโต้งคงจะมองเห็นความรักในกันและกันมากขึ้น เพราะทุกคน ทั้งตัวละครในเรื่องและตัวของผู้ชมเองก็ล้วนแต่ต้องเติบโตไปสู่สิ่งที่เรียกว่าอนาคต

รักแห่งสยามได้มอบอุทาหรณ์ให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงความสำคัญของคนที่อยู่รอบข้างในขณะที่ยังไม่สูญเสียเค้าเหล่านั้นไป ความเติบโตที่มอบให้ผู้ชมผ่านประสบการณ์การดูหนังครั้งนี้ ถือเป็นการปลุกสติของสังคมโดยรวมให้ร่วมกันก้าวข้าม (coming of age) เข้าสู่ยุคแห่งอารยธรรมใหม่ ยุคสมัยที่อุดมไปด้วยสันติและความรัก

และ ณ ภาวะนี้กระมังที่ประเทศสยามเราจะเรียกตัวเองได้ว่าเป็นชาติที่เจริญแล้วอย่างแท้จริง




 

Create Date : 25 พฤศจิกายน 2550
21 comments
Last Update : 21 มีนาคม 2552 9:10:22 น.
Counter : 2505 Pageviews.

 

ยังไม่ได้ดูเลย...

 

โดย: renton_renton 25 พฤศจิกายน 2550 22:26:56 น.  

 

เห็นด้วยเลยครับ ว่าหนังเรื่องนี้แค่โฟกัสช่วงสั้นๆของชีวิตตัวละครทุกตัวมาให้เราชม (แม้มันจะยาวถึงสองชั่วโมงครึ่ง แต่ชีวิตคนเรายังอีกยาวไกลนัก) และหนังเรื่องนี้จะยังมีชีวิตอยู่กับคนดูไปอีกนาน...

อย่างน้อยก็ในคนดูอย่างผมคนนึงล่ะ

(ผมก็กำลังพยายามเขียนของตัวเองอยู่ แต่ไม่มีเวลาเลยครับ )

 

โดย: nanoguy 25 พฤศจิกายน 2550 22:42:04 น.  

 

คุณเขียนวิจารณ์ได้ดีมากเลยนะคะ

เห็นด้วยที่บอกว่าหนังเรื่องนี้ได้มอบความเติบโตให้กับผู้ชม นี่คือหนึ่งในหนังไทยที่เยี่ยมยอด และควรค่าแก่การชวนทุกคนที่คุณรักไปดูอย่างยิ่ง :)

 

โดย: tiktokthaialnd IP: 58.8.168.234 26 พฤศจิกายน 2550 8:47:14 น.  

 

เพราะหนังมันจบแบบไม่จบนี่แหล่ะ

ผมจึงจะไปดูอีกรอบวันนี้ คริ คริ

ว่าแล้วเดี๋ยวแวะไปหา The Ice Storm มาเบิ่งดูมั่งดีกว่าครับ

 

โดย: คำห้วน-lopzang-เฉือนคำรัก 26 พฤศจิกายน 2550 12:51:05 น.  

 

ชอบหนังเรื่องนี้มาก ๆ คับ
มีหลากหลายอารมณ์
ไม่เหมือนกับหนังวัยรุ่นใส ๆ ที่ผ่าน ๆ มา
เอาเป็นว่า เชียร์ให้เพื่อน ๆ ที่ยังไม่ได้ไปดู
ลองเปิดใจ แล้วลองไปซื้อตั๋วมาดูนะคับ
จะรู้ว่า....หนังไทยดี ๆ ก็ยังมีอยู่

 

โดย: เด็กบ้านหมี่ IP: 58.9.192.94 26 พฤศจิกายน 2550 13:02:52 น.  

 

เขียนได้ดีครับ
ผมเคยนึกถึงเรื่องชื่อเหมือนกัน
แต่ไม่ได้นึกถึง มิวแทนต์ เลย นึกถึงแต่ว่าคงมาจาก มิวสิค

สำหรับผม มองว่าเป็นหนังในระดับดีเรื่องหนึ่ง
แต่ถ้าถามว่าชอบมั้ย ผมเฉยๆ

ผมว่าหนังยังตัดทอนได้อีก และทำให้ภาพรวมดีขึ้นด้วย
เพราะที่เห็นมันกลายเป็นว่าแทนที่หนังจะพาเราค่อยๆ ไต่ขึ้นจุดสูงสุด
หนังกลับวนไปวนมาอยู่นาน ย้ำในสารบางอย่างมากเกินไป
สุดท้ายไคลแมกซ์ที่ควรพีคก็ไม่พีค

ยังไม่พูดถึงความไม่สมเหตุสมผลในบางจุด

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 26 พฤศจิกายน 2550 16:16:39 น.  

 

ตอนดูหนังเรื่องนี้นึกว่าเข้าใจในสารได้ถี่ถ้วนแล้วนะ
พอมาอ่านแบบนี้รู้เลยว่าที่เข้าใจมันยังเป็นก้อนๆไม่ละเอียดอยู่เลย

ความรักก็เป็นซะแบบนี้ พอทำท่าจะเข้าถึงทีไรก็ลื่นหลุดจากความเข้าใจไม่ทุกที

 

โดย: ข้าวหวาน IP: 124.121.184.94 27 พฤศจิกายน 2550 1:41:55 น.  

 

อ่านแล้วอยากดู the ice storm จังครับ อยากดูมานานแล้ว ไม่รู้ตอนนี้หา dvd ได้ป่าว

 

โดย: Favorite Nightmare 27 พฤศจิกายน 2550 2:16:02 น.  

 

เขียนถึง รักแห่งสยาม แบบยาวๆ แล้วเน้อ

 

โดย: merveillesxx 27 พฤศจิกายน 2550 18:49:15 น.  

 

วิจารณ์ได้ดีครับ

ไปดูมาแล้ว และรักหนังเรื่องนี้มากครับ แต่เขียนไม่เป็น

เป็นประเภท พูดไม่ค่อยเก่ง แต่รักหมดใจ น่ะครับ

 

โดย: winter love song 28 พฤศจิกายน 2550 13:06:14 น.  

 

เข้ามาแล้วนะ ตามคำเรียกร้อง แต่ยังไม่ได้อ่านเพราะจะดูเองก่อน

 

โดย: u (เพื่อนลื้อ) IP: 58.147.71.2 30 พฤศจิกายน 2550 16:30:28 น.  

 

ผมเพิ่ง "พล่าม" และ "พร่ำเพ้อ" ถึงหนังเรื่องนี้เสร็จหมาดๆครับ
เรียนเชิญ ^^

 

โดย: nanoguy IP: 125.24.80.221 2 ธันวาคม 2550 18:40:30 น.  

 

ดูหนังดีๆ อ่านงานเขียนดีๆ แบบนี้ ...มีความสุขจัง

 

โดย: aon IP: 124.121.22.77 12 ธันวาคม 2550 19:15:40 น.  

 

เขียนได้ดีมากครับ มีความสุขปีใหม่มาก ๆ นะครับ

 

โดย: thechk IP: 58.9.76.9 31 ธันวาคม 2550 18:26:40 น.  

 

เพิ่งผ่านมาเจอบล้อกนี้
ชอบวิจารณืชิ้นนี้มากครับ

 

โดย: แสง สีรุ้ง 9 เมษายน 2551 13:36:48 น.  

 

 

โดย: มาริโอ้ IP: 61.7.241.94 12 เมษายน 2551 10:47:31 น.  

 

ชอบพี่พิชมากพี่โอ้ด้วยพี่โอ้เล่นmvของมิล่าแล้วหล่อจังเห็นพี่พิชก้อเคยเล่นmvหากเธอหมดรักแล้วหล่อโครตๆเลย

 

โดย: เบลค่ะ IP: 125.26.2.187 15 พฤษภาคม 2551 7:50:26 น.  

 

i love mon (ในเรื่อง)

 

โดย: mon IP: 125.26.2.187 15 พฤษภาคม 2551 7:52:34 น.  

 

เห็นด้วยกับเม้นท์อันดับที่6ครับ

 

โดย: Ripley IP: 202.5.87.145 17 ธันวาคม 2551 23:54:10 น.  

 

รักบทความนี้ทีสุด กลับมาอ่านอีกแล้ว
มันสุดยอดมาก ตอบโจทย์หนังได้สุดแย้ว
ขอบคุนจ่ะ

 

โดย: บาส IP: 171.98.92.89 2 ธันวาคม 2554 11:48:14 น.  

 

at this moment 23 December 2015. I came all the way here to read this article over and over again. I remember the first time I saw this article Its been a couple years ago. I just want to say I agreed with you all. THANK-YOU writers :)

 

โดย: ผ่านมา IP: 192.99.14.34 23 ธันวาคม 2558 13:04:06 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


beerled
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
25 พฤศจิกายน 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add beerled's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.