Elizabeth : The Golden Age : ทะเล อารมณ์ สายลม สตรี



ไม่บ่อยครั้งนักที่การสั่นพ้องทางประวัติศาสตร์ระหว่างข้อเท็จจริงบางอย่างและมุมมองทางศิลปะ จะมาประจวบเหมาะลงตัวอย่างพอดิบพอดี ช่วงวัยแห่งความแปรปรวนคลุ้มคลั่งทางอารมณ์ของสตรี และยุคสมัยครั้งสงครามกลางสมุทรที่อังกฤษชนะศัตรูชาติสเปนได้ด้วยแรงลมมรสุม ช่างเป็นการสั่นพ้องของเหตุการณ์ที่งดงาม ไม่แปลกเลยหากใครคิดจะหยิบเรื่องราวเหล่านี้นำมาบอกเล่าในรูปแบบภาพยนตร์

เป็นที่น่าเสียดายว่าครั้งหนึ่ง หนังประวัติศาสตร์ชาติไทยของเราเรื่องสุริโยไทของท่านมุ้ย ก็เคยปรากฏการสั่นพ้องทางข้อเท็จจริงที่งดงามลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน หากแต่หนังทุนสูงเรื่องนี้ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างตั้งใจเกินเหตุจนดูขาดความเป็นธรรมชาติ ไม่ต่างกับการพิจารณาจิตรกรรมฝาผนังที่แม้จะงามวิจิตรแต่ก็มีมิติแบนราบและขาดความมีชีวิต เส้นเรื่องที่ว่าด้วยสตรีสองขั้วบุคลิก ระหว่างสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ( พลังแห่งอาทิตย์ ) และท้าวศรีสุดาจันทร์ (ดวงจันทร์ที่ลึกลับ) ที่ควรจะเชือดเฉือนบทบาทและได้รับการวิเคราะห์วิจารณ์ที่ลึกซึ้งมากกว่าที่เป็นอยู่

หลายกระแสประเมินค่าการมาครั้งนี้ของ Elizabeth ว่าเป็นการนำพาประวัติศาสตร์ให้เข้ารกเข้าพง แต่ถึงกระนั้นผู้เขียนก็ยังคงประทับใจกับผลงานชิ้นนี้อยู่ดี เพราะมุ่งมองไปที่โครงเรื่อง ว่ายังคงมีประเด็นที่งดงามและน่าสนใจ

คนติดอ่างพูดจาตะกุกตะกักก็อาจกล่าวสัจธรรมความจริงได้งดงามเสียยิ่งกว่าปราชญ์กวีผู้รุ่มรวยถ้อยคำ งานศิลป์บางชิ้นแม้จะไม่สมบูรณ์หรือหมดจดไร้รอยตำหนิในทุกด้าน แต่หากเราปฏิเสธมันเพียงเพราะความบกพร่องภายนอกที่ปรากฏ ก็อาจพลาดโอกาสในการรับรู้ข้อความอันสำคัญไปอย่างน่าเสียดาย

Elizabeth : The Golden Age หนังภาคต่อเรื่องนี้ก็เช่นกัน แม้ว่าผู้กำกับเชื้อสายอินเดีย เชการ์ คาปูร์ จะทำได้ไม่ถึงและทรงพลังเทียบเท่า Elizabeth ภาคแรก อันพาลให้เคท แบลนเช็ทดังเปรี้ยงปร้างเป็นพลุแตกมาแล้วในงานชิ้นก่อน แต่ทว่าเรื่องราวในยุคทองของอังกฤษภายใต้การปกครองของราชินีวัยทองใน Elizabeth : The Golden Age นี้ ก็ยังบอกเล่าเรื่องราวอันเกี่ยวพันกับการตีความประวัติศาสตร์โลกและการทำความเข้าใจประวัติสตรีผู้หนึ่งได้อย่างน่าสนใจ



สิ่งหนึ่งที่ตรึงตาผู้ชมให้จดจ่ออยู่กับหนังตลอดเวลาสองชั่วโมงได้อย่างสัมฤทธิ์ผล นั้นคือเสน่ห์ของนำหญิงอย่างเคท แบลนเช็ท หากประวัติศาสตร์จารึกว่าพระราชินีเอลิซาเบธได้ช่วยแก้วิกฤติให้แก่แผ่นดินฉันใด เคท แบลนเช็ท ราชินีในโลกภาพยนตร์ก็ทำหน้าที่เยียวยาวิกฤติให้แก่แผ่นฟิล์มของหนังเรื่องนี้ได้อย่างน่ายกย่องดุจเดียวกันฉันนั้น เธอคือแกนหลักของเรื่องที่ประคับประคองและคอยพยุงรายละเอียดต่างๆ ที่มากมายจนอาจเข้าขั้นรกรุงรังให้ Elizabeth : The Golden Age ยังคงแก่นสารอยู่ได้อย่างเป็นเอกภาพตามสมควร เคท แบลนเช็ท ทำให้งานที่ขาดความต่อเนื่องชิ้นนี้ ทั้งในส่วนของการตัดต่อ การลำดับเรื่องราวและการลำเลียงอารมณ์ของผู้ชม น่าสนใจขึ้นได้ในทุกครั้งเมื่อมีเธอปรากฏอยู่บนจอ การแสดงที่หลักแหลม กิริยาอันสง่างาม รวมทั้งการสื่ออารมณ์ผ่านแววตาที่คมชัด ทำให้พระราชินีเอลิซาเบธผู้เป็นตำนานในอดีตมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งและโดยเฉพาะในช่วงวัยที่ยังไม่เคยถูกสร้างให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมาก่อนเช่นครั้งนี้

เรื่องราวเริ่มด้วยวิกฤติการเมืองระดับชาติระหว่างราชอาณาจักรอังกฤษและสเปน พระเจ้าฟิลลิปที่สองแห่งสเปนผู้ศรัทธาแรงกล้าในคาทอลิกหวังจะรุกรานเกาะอังกฤษซึ่งมีพระราชินีครองแผ่นดินเป็นโปรเตสแตนท์ เหตุอันเป็นข้ออ้างในการรบพุ่งครั้งนี้คือความขัดแย้งทางการเมืองและทั้งยังเป็นสงครามศาสนาด้วยในเวลาเดียวกัน



ไม่เพียงแต่สงครามภายนอกราชอาณาจักรเท่านั้นที่รุมเร้าให้พระราชินีต้องวิตกกังวล สงครามภายในเพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์ก็ยังคงคุกรุ่นอยู่ไม่วายเว้น แมรี่ที่หนึ่งแห่งสก็อตผู้เป็นพระญาติต่างนิกายก็พยายามวางแผนลอบสังหารพระราชินีเพื่อทวงคืนบัลลังก์ที่นางเห็นว่าไม่ชอบธรรมนี้อยู่ตลอดเวลา

ความขัดแย้งในกรณียกิจการเมืองยังไม่จบสิ้นเพียงแค่นั้น จากที่พระนางยังคงครองพรหมจรรย์จนมีสมญานามว่าเวอร์จิ้นควีน ( ตอนจบในภาคแรก พระนางตรัสว่าตนเองนั้นสมรสกับแผ่นดิน ) ความคาดหวังจากราชสำนักอังกฤษโดยเฉพาะจากเซอร์ฟรานซิส วอลซิงแฮม ( แสดงโดยเจฟฟรี่ย์ รัช) ที่ปรึกษาส่วนพระองค์ผู้ฉลาดล้ำ ได้ชี้แนะให้นางพึงครองชีวิตสมรสกับเจ้าชายสักพระองค์หนึ่งด้วยเหตุผลในการเจริญสัมพันธไมตรีและหวังสืบทายาทแห่งบัลลังก์รุ่นต่อไปให้แก่แผ่นดินอังกฤษ พิธีการเลือกคู่ครองที่แห้งแล้งจืดชืดครั้งแล้วครั้งเล่าคือแรงผลักดันให้พระราชินีเอลิซาเบธหวนกลับมาตั้งคำถามกับหัวใจของพระนางอีกครั้งว่า ในฐานะที่เป็นมนุษย์โลกธรรมดาผู้หนึ่ง องค์ราชินีผู้ครองตนได้แข็งแกร่งดุจผืนแผ่นดิน จะยังคงเหลือความปรารถนาอันเป็นความรู้สึกส่วนพระองค์อยู่อีกหรือไม่

เซอร์วอล์เตอร์ ราลีห์ (ไคลฟ์ โอเวน) คือบททดสอบหัวใจของพระราชินี ตลอดชีวิตของราลีห์เขาเดินทางท่องมหาสมุทรสำรวจมาแล้วทั่วโลก ครั้งนี้กลับได้เดินทางดำดิ่งลงสำรวจหัวใจอันแสนลึกลับของพระราชินีผู้เคร่งขรึม และแล้วเมื่อความรู้สึกแห่งรักของพระนางถูกค้นพบ ห้วงอารมณ์หลงใหลที่เสน่หาต่อราลีห์ได้ทวีระดับขึ้นเรื่อยๆ สวนกระแสอันเชี่ยวกรากของราชสำนักที่พยายามต่อต้านความสัมพันธ์นี้ทุกวิถีทาง



เซอร์วอล์เตอร์ ราลีห์ คือชายหนุ่มผู้เป็นตัวของตัวเอง เป็นศิลปิน รักอิสระและมีประสบการณ์ผจญภัยทางทะเลที่น่าตื่นใจ โดยเฉพาะกับโลกใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบ ( เวอร์จิเนียในอเมริกาถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแด่พระราชินีผู้ครองพรหมจรรย์ ) ความมีชีวิตชีวาในตัวราลีห์ทำให้หัวใจของพระราชินีที่เคยแข็งแกร่งดุจหินผาต้องถึงคราวสั่นคลอน ชื่อ Walter ของเขาพ้องเสียงกับ Water สื่อนัยยะถึงอิสรภาพแห่งท้องทะเล และในอีกมุมหนึ่งก็ยังหมายถึงความไหลเรื่อยทางอารมณ์ที่เข้าข่ายชายเจ้าชู้ได้เช่นกัน

ในมุมมองของพระราชินี ราลีห์คือส่วนเติมเต็มในสิ่งที่พระนางขาดหาย เสรีภาพที่ไม่คุ้นชินล้วนปรากฏอยู่อย่างเปี่ยมล้นในตัวของราลีห์ พระนางจมดิ่งลงสู่ห้วงแห่งความลุ่มหลง อารมณ์รักรุนแรง (ที่อาจดูไร้เหตุผล) ชี้บัญชาให้พระนางสยบหัวใจไว้แทบเท้าของราลีห์ในที่สุด

ผู้กำกับเชการ์ คาปูร์เคยเปรียบเปรยพระราชินีเอลิซาเบธในภาคแรกว่าคือตัวแทนของ อินทิรา คานธี ส่วนในภาคใหม่นี้เปรียบพระนางเป็นตัวแทนของเจ้าหญิงไดอาน่า เรื่องราวของ The Golden Age มีประเด็นที่พาลให้ผู้เขียนนึกถึงหนังเรื่อง The Queen เมื่อปีกลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเป็นหนังที่มีเนื้อหากล่าวพาดพิงถึงการเลือกทางเดินชีวิตของเจ้าหญิงไดอาน่า ระหว่างความต้องการที่จะมีชีวิตส่วนตัวอย่างเสรีสุดโต่ง และความคาดหวังหรือข้อเรียกร้องทางสังคมถึงการวางตัวที่ต้องให้เหมาะสมกับฐานะที่ดำรงอยู่



และน่าจะเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง นักวิจารณ์ส่วนใหญ่จึงเห็นว่าพระราชินีเอลิซาเบธในภาคนี้ดูจะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องส่วนตัวมากเกินไปจนคล้ายจะละเลยกิจการบ้านเมืองไปเสียสิ้น ( พฤติกรรมคงเหมือนกับเจ้าหญิงไดอาน่า ) ดังนั้นตอนท้ายเรื่อง เมื่อพระนางมาดำรงตำแหน่งเป็นจอมทัพนำเหล่าทหารออกศึก ความรักชาติที่แสดงออกด้วยเวลาบนจอหนังเพียงน้อยนิดจึงขาดอารมณ์ร่วมและความหนักแน่น เห็นถึงความตั้งใจของผู้กำกับอย่างชัดเจนที่จะยัดเยียดความฮึกเหิมนี้เข้ามาจนแลดูประดักประเดิด

วิกฤติของเรื่องราวเริ่มขมวดปมเมื่อความรักของพระนางไม่เป็นไปดังประสงค์ เซอร์วอล์เตอร์ ราลีห์ เปลี่ยนทิศทางลมเสรีมามีใจให้กับเบส สาวงามผู้เป็นนางสนองพระโอษฐ์รับใช้ใกล้ชิดองค์พระราชินี ( พระนางมองอย่างอิจฉาว่าเบสคือตัวแทนผจญภัยของตน มีเสรีอย่างที่พระนางไม่มีและสามารถใช้ชีวิตดังปรารถนาได้เต็มที่ ) ความรู้สึกว่าถูกทรยศจากผู้ใกล้ชิดทั้งสอง ทำให้อารมณ์ของพระราชินีแปรปรวนถึงขีดสุด คลุ้มคลั่งเหมือนคนเสียสติ ( เห็นได้ชัดว่าความมีสติของพระนางได้สูญเสียไปแล้วจริงๆ ) พฤติกรรมเกรี้ยวกราดโกรธานั้นเป็นไปอย่างรุนแรง



ทัพเรือแห่งสเปนที่ยิ่งใหญ่เข้ามาประชิดน่านน้ำเกาะอังกฤษ เหตุการณ์สงครามกลางสมุทรเริ่มต้นปะทุ พระเจ้าฟิลลิปที่สองแห่งสเปนประกาศความชอบธรรมของสงครามครั้งนี้ว่าเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้าเพื่อขจัดพระราชินีเอลิซาเบธบุคคลนอกศาสนา (ไม่ใช่นิกายคาทอลิกที่เคร่งครัด) ไม่ให้เหิมเกริมบนบัลลังก์แห่งอำนาจนี้อีกต่อไป

กระแสอารมณ์ที่รุนแรงคลุ้มคลั่งทั้งจากการบีบคั้นภายในอกและแรงกดดันทางสงครามกลางมหาสมุทรภายนอก สถานการณ์อันแสนท้าทายนี้สร้างภาวะความเป็นผู้นำให้แก่พระนางอีกครั้ง นับเป็นการเติบโตอีกก้าวที่สำคัญแห่งความเป็นกษัตริย์ (หรือในที่นี้คือพระราชินี ) ซึ่งตระหนักรู้ถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระเดชหรืออำนาจบัญชาการ นั่นคือ พระราชอำนาจแห่งการอภัย

ประเด็นว่าด้วยการให้อภัยถูกกล่าวเกริ่นมาแล้วเป็นระยะๆ ในหนังตลอดเรื่อง ฉากที่แมรี่ที่หนึ่งแห่งสก็อตถูกประหาร เธอก็ยังกล่าวให้อภัยเพชฌฆาตผู้เตรียมพร้อมที่จะบั่นคอ ฉากที่พระนางอภัยโทษให้นักโทษเพื่อออกมาร่วมรบในศึกครั้งนี้ รวมทั้งการให้อภัยเบสและราลีห์ในความผิดที่ทั้งสองได้กระทำลงไป พลังแห่งการอภัยทรงฤทธานุภาพที่ยิ่งใหญ่ สามารถระงับอารมณ์เกรี้ยวโกรธของพระราชินีให้สงบลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ ขณะเดียวกันสงครามที่ระอุอยู่ในท้องทะเลก็ยุติสงบลง ด้วยพลังอัศจรรย์จากพระเจ้าที่ประทานสายลมมรสุมกระพือพัดให้ทัพเรือสเปนต้องแตกพ่าย สายลมเย็นแห่งการอภัยนำมาซึ่งชัยชนะและเหนือกว่าชัยชนะอื่นใด พระราชินีได้เรียนรู้วิธีเอาชนะอารมณ์อันร้อนรุ่มรุนแรงของพระองค์เอง



ประเด็นเดียวกันนี้ผู้เขียนเคยประทับใจมาแล้วจากหนังเรื่อง Schindler's List ของ สปีลเบิร์ก ตัวละครในเรื่องเคยกล่าวว่า อำนาจที่แท้จริงไม่ใช่การฆ่าคนเมื่อเห็นว่าเขาสมควรถูกฆ่า ( ซึ่งก็ถือว่าชอบธรรมอยู่แล้วตามตรรกะ) หากแต่เมื่อเห็นว่าแม้เขาสมควรถูกฆ่าแต่เราก็ยังให้อภัย (วิสัยทัศน์ที่สร้างความแตกต่างจากความคิดในระดับปุถุชน) อำนาจบริสุทธิ์ที่สูงกว่าอารมณ์โกรธตามแรงสัญชาตญาณนี้คือนิยามความเป็นผู้นำที่ถือว่าล้ำหน้าและล้ำลึก เป็นวิธีคิดของนักปกครองผู้ทรงภูมิที่มิใช่เพียงแค่ชี้บัญชาการ หากแต่ต้องครองใจของผู้ใต้ปกครองได้อย่างแท้จริง

สายลมแห่งเสรีมักเย้ายวนใจให้ลุ่มหลงเหลวไหล โดยเฉพาะกับผู้ที่เติบโตมาภายใต้กรอบสังคมที่บีบรัด สตรีในชุดรัดทรงงามตาที่เรียกว่าคอร์เซ็คในเรื่องนี้ก็เช่นกัน เป็นความงามที่มีขึ้นให้สังคมภายนอกได้ชื่นชม ทั้งๆที่ผู้สวมใส่นั้นต้องทนอึดอัดจนแทบหายใจไม่ออก (เครื่องแต่งกายที่ไม่ว่าจะเห็นในหนังเรื่องไหนก็มักทำให้รู้สึกอึดอัดได้เสมอ) ไม่ว่าจะเป็นเบสหรือพระราชินี ทุกคนล้วนต้องการเสรีภาพในการกำหนดทิศทางของตัวเอง กำหนดจังหวะการเดิน การวิ่ง หรือแม้แต่จังหวะการหายใจของแต่ละคนด้วยความเป็นธรรมชาติ มิใช่ต้องตกอยู่ภายใต้การบัญชาของใครหรือต้องจำกัดตัวเองให้อยู่ในวิถีสายตาของสังคมซึ่งคอยแต่จับจ้องด้วยความคาดหวังที่สูงอย่างไร้ขีดจำกัดอยู่เสมอ



เช่นเดียวกับภาคแรก หนังได้ตีความภาระหน้าที่ของสตรีได้อย่างคมคาย ครั้งก่อนคือการสมรส ในครั้งนี้ยังได้ขยายความต่อถึงบทบาทความเป็นแม่ พระราชินีไร้คู่ครองและไร้ทายาททางสายเลือด แต่ก็ใช่ว่าพระนางจะไร้ซึ่งความรู้สึกแห่งการอุปถัมภ์ผู้ที่อ่อนแอกว่าเยี่ยงการเป็นแม่คน พระราชินีแท้จริงแล้วก็คือมารดาของราษฎรอังกฤษทั้งมวลนั้นเอง

หนังเปรียบพระราชินีกับความแข็งแกร่งดุจผืนแผ่นดิน และเปรียบเซอร์วอล์เตอร์ ราลีห์กับผืนน้ำไร้ขอบเขตในมหาสมุทร สองโลกที่แตกต่างกันนี้ล้วนปรารถนาเสรีภาพในการปลดปล่อย เท่าๆ กับความปรารถนาในความมั่นคงมีปึกแผ่น ความต้องการของแต่ละคนไม่อาจได้มาด้วยการแสวงหาจากภายนอกในดินแดนแปลกถิ่น หากแต่ต้องเป็นการทำความเข้าใจจากภายในของแต่ละคน

ราลีห์ผู้เคยพเนจรในท้องทะเลได้มีครอบครัวกับเบสที่มั่นคงอบอุ่นบนแผ่นดินใหญ่ พระราชินีแม้ไม่ได้ออกท่องทะเลดังความประสงค์ในโลกใหม่ หากแต่พระนางก็ได้ค้นพบห้วงแห่งความสงบและสายลมแห่งความเป็นอิสระที่แท้จริง ความอิสระลึกลับที่หลบเร้นรอการค้นพบในตัวมนุษย์เราทุกคน การเดินทางผจญภัยภายในที่แสนท้าทายอันจะนำเราไปสู่โลกใหม่ สู่สภาวะใหม่ที่เรียกว่าการ “เติบโต”

Elizabeth : The Golden Age ไม่ได้กล่าวถึงยุคที่เฟื่องฟูเรืองรองของราชอาณาจักรอังกฤษเฉกเช่นการเป็นยุคทองแต่อย่างใด หากแต่กล่าวถึงภาวะอันเป็นวิกฤติทั้งความแปรปรวนทางอารมณ์ของผู้นำชาติและความคลุ้มคลั่งแห่งเกลียวคลื่นในท้องทะเลที่ไม่อาจคาดเดา หากแต่คำกล่าวของโหราศาสตร์ประจำราชสำนักที่ทำนายถวายพระราชินีซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนของเรื่องราวทั้งหมดว่า “ เมื่อพบว่าท่านอยู่ท่ามกลางพายุใหญ่ ท่านจะหลบหนีเหมือนผู้ที่พ่ายแพ้ หรือโผผงาดท้าลมแรงดุจพญาอินทรีย์ ” คำกล่าวที่เฉียบคมนี้มอบคืนสติให้แก่พระราชินีหลังจากต้องต่อสู้กับพายุที่กระพืดพัดอย่างบ้าคลั่งอยู่ในใจ และยังทำให้ผู้เขียนตระหนักขึ้นอย่างเฉียบพลันว่า ยุคทองที่แท้นั่นคือช่วงเวลาแห่งโอกาสทองในการพิสูจน์ความมีคุณค่าของตน เนื้อแท้ที่จะเผยตัวเองออกมาเมื่อต้องพานพบกับวิกฤติการณ์อันท้าทาย

หนังเรื่องนี้ทำให้คำกล่าวที่ว่า “จงมองวิกฤติให้เห็นโอกาส” นั้นเป็นรูปธรรม ทำให้เราไม่หวั่นเกรงหรือหวาดกลัวอุปสรรคในชีวิตที่ต้องประสบ ไม่คิดที่จะหลีกหนีแต่จงกระโจนเข้าไปหามัน เหมือนเช่นผู้กล้าที่ประสงค์จะพิสูจน์ตัวเอง

พิสูจน์ว่าเราจะพ่ายแพ้ หรือเราคือทองเนื้อแท้ที่มีค่า...




Create Date : 11 มกราคม 2551
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2551 16:11:54 น. 6 comments
Counter : 4993 Pageviews.

 


สุขสัตน์วันเด็กนะคะ


โดย: hypnosis วันที่: 11 มกราคม 2551 เวลา:13:17:24 น.  

 
เข้ามาอ่านค่ะ เป็นแฟนบอกคุณมาพักนึงแล้ว แต่ไม่ได้เมนท์ เลยต้องเมนท์สักที....เขียนดีนะคะนี่


โดย: Michiru วันที่: 11 มกราคม 2551 เวลา:15:22:10 น.  

 
โดนบังคับให้อ่านอ่ะ แล้วต้องมาโพสด้วย เพราะเจ้าของblogเค้าจะมาอ่าน ยังอ่านไม่จบ แต่ชอบเรื่องนี้เหมือนกัน เรามันเป็นพวก Feminist อ่ะ อ่านจบแล้วจะเข้ามาโพสใหม่น่ะ บ๊ายบาย


โดย: น้องสอนน่ารัก คึกคักเวลาลงเล่น น้องสอนใจเย็น ๆ เวลาลงเล่นน่ารัก ๆ IP: 203.154.187.189 วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:15:10:13 น.  

 
อ่านจบแล้ว ชอบมาก ชอบคำพูดที่สละสลวย ช่างคิดจิง ๆ
ชอบบทสรุปที่เป็นกำลังใจให้เราได้มากกว่าการอ่านบทวิจารณ์ น่าสงสาร queen น่ะ แต่เรารู้ว่าถ้าผู้หญิงเจอวิกฤตเมื่อใด แล้วผ่านมันได้..ยอดหญิง..ไปเลย


โดย: st.sornia (beerled ) วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:16:22:30 น.  

 
เขียนได้ดีครับ ชอบๆ ได้แง่คิดดีๆเยอะเลย


โดย: Ripley IP: 202.5.87.145 วันที่: 17 ธันวาคม 2551 เวลา:20:18:55 น.  

 
... คิดถึง ง่วงนอน อยากกลับพระราชวังนอน... ช่อง7 ปู่ย่าอัลฟ่า สระผมให้ ได๋เขาใหญ่ ด่วน.. สมเด็จพระราชินี อาลิสซาเบธ พ่อแม่ ขอ150000.- ได๋เขาใหญ่


โดย: โอ แอน IP: 180.183.138.246 วันที่: 11 พฤษภาคม 2555 เวลา:0:44:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

beerled
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
<<
มกราคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
11 มกราคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add beerled's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.