The Reader คือเรื่องราวยวนใจที่ไม่ใช่เพียงแค่กามารมณ์หากแต่หมายถึงการครุ่นคิด การวิเคราะห์วิพากษ์เพื่ออธิบายและทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์และสังคมโดยมีเกณฑ์ทางศีลธรรมและกฎหมายเป็นเครื่องมือในการทาบวัด
The Reader เล่าเรื่องได้น่าติดตาม ผูกประเด็นชวนคิดและสะเทือนความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของผู้ชม ผู้กำกับสตีเฟน ดัลดรีแห่ง The Hour และ Billy Elliot ประสบความสำเร็จอีกครั้งในการปั้นดารานำของเรื่องที่ทั้งท้าทายและโดดเด่น เคต วินสเลตจากเรื่องนี้มอบการแสดงชั้นครูที่แบรต พิตต์จาก The Curious Case of Benjamin Button จะต้องถือเป็นแบบอย่าง การสื่อสารที่แสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ใจและปราศจากเจตนาร้ายซึ่งต้องสวนทางกับพฤติกรรมภายนอก โดยเฉพาะฉากร่วมรักของฮันนาที่ไม่ได้แสดงให้รู้สึกถึงความเร้าร้อนหรือแรงใคร่ในราคะ ความไร้เดียงสาที่ไม่ต่างไปจากเด็กของฮันนาทำให้เธอบริสุทธิ์ใจที่จะสานต่อความสัมพันธ์ต้องห้ามกับไมเคิลโดยไม่รู้สึกผิด รวมไปถึงฉากการพิจารณาคดีที่ต้องแสดงให้ผู้ชมเชื่อว่าฮันนาไม่ได้มีส่วนร่วมในเจตนาร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
The Reader แสดงถึงความมีมิติของประวัติศาสตร์ คล้ายกับที่ครั้งหนึ่งจางอี้โหมวเคยกำกับ Hero หนังที่ว่าด้วยมุมมองอีกด้านของจิ๋นซีซึ่งเรามักไม่คุ้นชิน The Reader พยายามอธิบายความซับซ้อนของเหตุการณ์ในอดีตซึ่งบ่อยครั้งก็คลุมเครือเกินกว่าจะตัดสินหรือวินิจฉัยความถูกผิด แม้กระทั่งบางพฤติกรรมของมนุษย์ก็ยังยากต่อความเข้าใจตามมาตรฐานวิญญูชน (ในหนังเรื่อง The Curious Case of Benjamin Button ก็มีอยู่หลายฉากที่สะท้อนถึงความบริสุทธิ์ใจภายในแต่กลับสวนทางกับมาตรฐานสังคมซึ่งมักตัดสินความผิดถูกจากภาพลักษณ์ภายนอก เช่นฉากความสัมพันธ์ของชายแก่กับเด็กหญิง การลักลอบมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว หรือความสัมพันธ์ของสาวใหญ่กับเด็กหนุ่ม ) การวินิจฉัยหรือพิพากษาการกระทำของมนุษย์จึงเป็นเพียงพิธีกรรมในสังคมเพื่อธำรงเส้นมาตรฐานสมมติซึ่งบ่อยครั้งก็สวนทางกับ ความยุติธรรม ในความเป็นจริง
แอบแวะมาเจิมรอบดึก
นอนดึกเหมือนกันอ๋อคะ..