นาคปรก : พุทธศิลป์เสียดสีสงฆ์ (เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)
ถือเป็น Angels and Demons เมืองไทยสำหรับความแรงของหนังนาคปรก ในระดับสากลคงเป็นเรื่องธรรมดาที่ประเด็นต่างๆ จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างออกรสโดยเฉพาะในแวดวงศิลปะ แต่สำหรับเมืองไทยคงต้องยอมรับว่าแปลกตาอยู่ไม่น้อยที่หนังแบบนี้มีโอกาสได้ฉายในโรงภาพยนตร์ หนังจับประเด็นละเอียดอ่อนอย่างศาสนามาเล่าในเชิงเสียดสีเหน็บแนม หลายฉากเห็นชัดถึงความบ้าบิ่นของบทที่กล้าท้าทายพระธรรมวินัย ส่วนหนึ่งคงสร้างกระแสหวังกระตุกต่อมสนใจของสังคม (นายทุนคงมองเห็นจุดนี้เป็นสำคัญยิ่งกว่าการทำหนังเพื่อพุทธบูชา) ในขณะที่ส่วนหนึ่งอาจเป็นการตั้งคำถามของศิลปินเพื่อตีความลายลักษณ์อักษรในพระไตรปิฎกใหม่ หวังจะแยกแยะให้แตกหักระหว่างเปลือกและแก่นของพุทธศาสนาอย่างที่ควรจะเป็น
บทสรุปของนาคปรก (โดยเฉพาะจุดหักมุมตอนจบ) อาจรู้สึกคุ้นๆ มาก่อนจากหนังสั้นเรื่องหลวงตา (2542) ของคุณภาคภูมิ วงศ์ภูมิ (ผู้กำกับร่วมในหนังชัตเตอร์ แฝด และหนังผีหลายแพร่งของ GTH ) ความคล้ายของพล็อตอาจเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาและไม่ได้หมายความว่ากรณีนี้จะเป็นการลอกเลียนกัน หนังว่าด้วย วิกฤติศรัทธา ที่จบเรื่องแบบหักมุมให้ผู้ชมวิกฤติศรัทธาต่อตัวละครที่น่าเคารพ ถือเป็นพล็อตตลาดที่ไม่ว่าใครก็อาจหยิบไปเปรียบถึงใครหรือสถาบันใดก็ได้ในสังคม ไม่เว้นแม้แต่ Angels and Demons ที่กล่าวมา
นาคปรกเป็นหนังฟิล์มนัวร์ที่คุมโทนหม่นมืดทั้งแสงในหนังและเนื้อหาที่กล่าวถึง หนังนำเสนอด้านมืดของมนุษย์และสังคมโดยเฉพาะในวงการศาสนา ดวงจันทร์ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงธรรมชาติของสรรพสิ่งที่มีทั้งด้านมืดและสว่าง หนังตีความคำว่า นาคปรก อย่างกว้างขวาง ทั้งในฐานะพุทธปฏิมากรรมซึ่งมีพญานาคหลายหัวปรกอยู่เหนือเศียรพระพุทธองค์ ความหมายของงูพิษ ความหมายของอสรพิษที่ไว้ใจไม่ได้ซึ่งจำแลงอยู่ในรูปมนุษย์ รวมถึงความหมายของนาคซึ่งเป็นพิธีกรรมก่อนบวชเป็นพระ
แต่ที่เป็นหัวใจของเรื่องในความคิดของผม ความหมายของนาคปรกซ่อนอยู่ในบรรยากาศของหนัง ฝนที่ตกชุกอยู่ตลอดนอกจากจะสื่อถึงการเป็นสัตว์น้ำของพญานาคแล้ว ฝนยังสื่อถึงเรื่องราวในพุทธประวัติอันเป็นที่มาของปางนาคปรก หากใครเคยดู Little Buddha คงจำฉากสำคัญฉากหนึ่งได้ ที่มีงูใหญ่เลื้อยมาด้านหลังพระพุทธเจ้าแล้วยกตัวขึ้นแผ่แม่เบี้ยบังฝนให้พระพุทธองค์ ความหมายของนาคปรกในหนังเรื่องนี้จึงน่าที่จะหมายถึงผู้ต่ำต้อยคนหนึ่ง (ในพุทธประวัติคือเดรัจฉาน) ซึ่งลุกขึ้นมาปกปักษ์พุทธศาสนาไม่ให้ต้องแปดเปื้อนหรือหมองช้ำ ผู้กำกับนาคปรกก็อาจรู้สึกว่าตัวเองกำลังทำหน้าที่นั้นอยู่เช่นกัน
บทของนาคปรกจำแนกมนุษย์ออกเป็นบัว 4 เหล่า ตามที่พระพุทธเจ้าเคยเปรียบเปรยถึงเวไนยสัตว์ (สัตว์ที่สอนได้) และอเวไนยสัตว์ (สัตว์ที่สอนไม่ได้) 4 จำพวก การแบ่งประเภทตัวละครในเรื่องถือว่าทำได้ดีและค่อนข้างชัดเจน ไล่เฉดออกเป็นช่วงๆ ระหว่างคนชั่วไปจนถึงคนดี
ตัวละครของสิงห์แสดงให้เห็นถึงความต่ำทรามและความหยาบกระด้างในกมลสันดานแบบกู่ไม่กลับ ปัญญาทึบสนิทและไม่สามารถเรียนรู้ได้ เปรียบกับบัวใต้โคลนที่ไม่มีวันโผล่พ้นน้ำ (ปทปรมะ)
ตัวละครของป่านซึ่งตัดสินใจเป็นโจรเพื่อจะนำเงินไปรักษาแม่ที่ตาบอด การที่เคยใกล้ชิดกับแม่ซึ่งศรัทธาในพุทธศาสนาและมีน้องชายที่คอยเตือนสติอยู่เสมอ สามารถเรียนรู้ได้เมื่อมีผู้ชี้นำหรือสั่งสอน (เห็นได้ชัดในฉากเผาศพตายาย) เปรียบกับบัวใต้น้ำ (เนยยะ) ที่ยังมีโอกาสงอกงามพ้นน้ำ
ปอซึ่งเป็นคนมีพื้นฐานจิตใจดีแต่อ่อนแอต่อแรงต้านรอบตัวเลยถูกชักนำมาร่วมแก็ง เค้าคือคนที่คอยห้ามปรามไม่ให้เกิดการเข่นฆ่าในหลายฉาก เห็นได้ชัดว่ายังเป็นคนมีศีล 5 ประจำใจ ไม่อาจมุสาว่าตัวเองเป็นพระเมื่อจิตใจยังไม่สะอาดเพียงพอ (เหมือนที่เค้าถามหลวงตาว่าไม่กลัวผิดศีลหรือที่หลอกคนในวัดว่าโจรคือพระธุดงค์) เป็นคนกตัญญูและมีปัญญามาก สงสัยและคิดอ่านในธรรมอยู่ตลอดเปรียบได้กับบัวปริ่มน้ำ (วิปจิตัญญู) ที่แค่รอเวลาในวันพรุ่งก็จะผุดพ้นน้ำ
บทหนังโดยรวมเขียนออกมาได้ดี มีเหตุมีผลรองรับหนักแน่น โดยเฉพาะปมเล็กๆ ที่วางไว้ตลอดเรื่องแบบไม่สะดุดตา อย่างการปรากฏตัวอยู่ไกลๆ ของหญิงวัยกลางคนชื่อเฟื่องกับหลวงตา ฉากที่เธอถูกงูกัดและมีหลวงตาอยู่ในเหตุการณ์ด้วย หรืออย่างการวางตัวละครของหลวงตาในช่วงแรกๆ ซึ่งหนังแสดงให้เห็นว่าหลวงตาเป็นคนชอบประนีประนอม แก้ปัญหาด้วยการไกล่เกลี่ย ไม่ยึดติดกับเปลือกของกฎเกณฑ์ เช่นยอมฝืนศีลข้อมุสาเพื่อให้โจรได้บวชเป็นพระเผื่อจะมีโอกาสกลับใจ การฝ่าฝืนพระธรรมวินัยด้วยการสักยันต์ให้ชาวบ้านเพื่อสร้างขวัญ หรือการไม่ยอมดำเนินการทางกฎหมายกับคนที่พยายามขโมยพระทองคำที่ซ่อนอยู่ในองค์พระนาคปรกเพราะเห็นว่าเค้าสำนึกผิดแล้ว การไต่ถามรายละเอียดจากปอถึงสาเหตุที่ต้องมาบวชและความลับเรื่องที่ซ่อนเงิน เป็นต้น อุปนิสัยโดยรวมคล้ายท่านคาเมอร์เลโญในหนังเรื่อง Angels and Demons ที่เรียกความเคารพจากผู้ชมไปมากโขช่วงแรก แต่เมื่อหนังเดินมาถึงจุดเฉลย พฤติกรรมทั้งหมดที่เคยเห็นว่าดีกลับสนับสนุนผลลัพธ์สุดท้ายแบบสิ้นสงสัย
ในส่วนของการนำเสนอ นักแสดงทั้งหมดทำหน้าที่ได้ตามมาตรฐาน แต่นาคปรกยังมีปัญหาอยู่ที่การตัดต่อทั้งภาพและเสียงที่ไม่สม่ำเสมอ ขาดความต่อเนื่อง และเป็นเหตุให้อารมณ์สะดุดหรือขาดช่วงอยู่บ่อยๆ แต่มองโดยรวมประกอบกับเจตนาดีของหนังก็พอที่จะอนุโลมได้ บางฉากทำออกมาได้โดดเด่น อย่างการขึ้นเทศน์ของป่านในวันมาฆบูชาที่น่าจะดึงน้ำตาของผู้ชมได้ไม่ยาก (วันมาฆบูชาคือวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์) รวมถึงฉากที่ปอจับมือแม่มาสัมผัสผ้าเหลืองซึ่งหนังสื่อออกมาได้ค่อนข้างประทับใจ
อย่างที่เกริ่นไว้แต่แรกว่านาคปรกกล้าที่จะแหกพระธรรมวินัยโดยเฉพาะเรื่องการสัมผัสสตรี (ผมถือเป็นคำถามของผู้กำกับ) เมื่อเราลองแยกแยะเหตุการณ์ในเรื่องก็จะเห็นการสัมผัสสตรีอยู่ 2 เจตนา หนึ่งคือเหตุผลทางกามารมณ์ หนังสื่อผ่านความหื่นของสิงห์ที่โทรเรียกเมียมาสังวาสกันในกฏิ สองคือเหตุผลอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ หนังสื่อผ่านหลวงตาซึ่งช่วยเฟื่องที่ถูกงูเห่ากัด หรือพระปอที่จับมือแม่ซึ่งตาบอดให้มาสัมผัสผ้าเหลืองของตน ถ้าเทียบการตีความพระธรรมวินัยกับการตีความกฎหมาย (ซึ่งผู้เขียนคิดว่าไม่ควรที่จะต่างกันนัก) การใช้กฎหมายต้องคำนึงถึง เจตนารมณ์ ควบคู่ไปกับลายลักษณ์อักษร หากพระธรรมวินัยห้ามไม่ให้พระสงฆ์สัมผัสสตรี ก็คงจะด้วยเหตุผลทางกามารมณ์และเพื่อเป็นการแสดงออกต่อสังคมว่าสงฆ์คือผู้บริสุทธิ์ แต่การช่วยเหลือคนใกล้ตายหรือความกตัญญูต่อแม่ที่กำลังทุกข์หนักซึ่งหากไม่ช่วยก็คงบาปมหันต์เสียยิ่งกว่า การสัมผัสสตรีด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงไม่ควรถือเป็นการประพฤติผิดพระธรรมวินัย อะไรคือเปลือกที่อาจยกเว้น อะไรคือแก่นที่ควรยึดถือ พุทธิปัญญาของชาวพุทธน่าที่จะวินิจฉัยได้ไม่ยากนัก
แม้นาคปรกจะเสียดสีสังคมสงฆ์ด้วยวิธีการที่ค่อนข้างแรง แต่เมื่อผู้ชมเลาะเปลือกออกจนเห็นถึงเจตนารมณ์ภายใน ก็คงจะรู้สึกเหมือนกันถึงพลังศรัทธาในพุทธศาสนาของหนัง ขอบคุณคุณภวัต พนังคศิริ ที่สร้างพุทธศิลป์ชิ้นนี้ด้วยความกล้าหาญ ในฐานะของศิลปิน ท่านได้ยกตัวขึ้นปกป้องเนื้อแท้แห่งพุทธศาสนาแล้วครับ
Create Date : 19 มีนาคม 2553 |
Last Update : 20 มีนาคม 2553 23:43:21 น. |
|
9 comments
|
Counter : 3667 Pageviews. |
|
|
|
โดย: gluhp วันที่: 19 มีนาคม 2553 เวลา:21:35:14 น. |
|
|
|
โดย: คนพุทธ IP: 58.9.233.80 วันที่: 19 มีนาคม 2553 เวลา:23:25:29 น. |
|
|
|
โดย: โสดในซอย วันที่: 20 มีนาคม 2553 เวลา:0:15:36 น. |
|
|
|
โดย: รักรออยู่ (รักรออยู่ ) วันที่: 20 มีนาคม 2553 เวลา:12:17:55 น. |
|
|
|
โดย: navagan วันที่: 23 มีนาคม 2553 เวลา:4:13:35 น. |
|
|
|
โดย: จูริง วันที่: 30 มีนาคม 2553 เวลา:2:09:17 น. |
|
|
|
โดย: navagan วันที่: 31 มีนาคม 2553 เวลา:19:15:50 น. |
|
|
|
โดย: Moo Yis IP: 203.150.206.170 วันที่: 8 เมษายน 2553 เวลา:16:00:30 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ขอบคุณนะคะ