Paprika : ฝันฝังลึก
เหมือนกับที่ตัวละครปาปริก้ากล่าวไว้ตอนที่หนังเรื่องนี้ใกล้จบ โลกนี้เมื่อมีความมืดก็ย่อมมีความสว่าง มีความฝันก็ย่อมมีความจริง มีเพศหญิงก็ย่อมมีเพศชายเป็นของคู่กัน ประหนึ่งขั้วตรงข้ามของหยินหยางที่คะคานเพื่อให้โลกนี้มีความสมดุล หลังจากการ์ตูนญี่ปุ่นจากค่ายจิบลิได้สร้างชื่อเสียงจนโด่งดังพร้อมๆ กับได้นำพาแนวคิดอนุรักษ์นิยมไม่ว่าจะเป็นมุมมองอันงดงามของธรรมชาติหรือคุณค่าของขนบธรรมเนียมโบราณออกมาเผยแพร่เพื่อกระตุ้นเตือนจิตสำนึกผู้คนที่ทุกวันนี้ล้วนพากันละเลยและหลงลืม เนื้อหาของการ์ตูนจิบลิเรื่องแล้วเรื่องเล่าจึงซื่อสัตย์ต่อแนวทางนี้ของตนอย่างเคร่งครัดและกลายเป็นกฎเหล็กไปโดยปริยาย
แต่หนังของผู้กำกับซาโตชิ คอน แห่ง Perfect Blue และเรื่องล่าสุดอย่าง Paprika ที่ผู้เขียนกำลังกล่าวถึงอยู่นี้นั้นกลับนำเสนอตนเองในแนวทางที่ตรงข้ามกับการ์ตูนจิบลิอย่างชนิดที่เรียกได้ว่าประสานงา เพราะไม่ใช่เพียงแค่ความแตกต่างของงานศิลปะที่มีจุดยืนอยู่คนละฝั่งสังเวียน หากแต่การ์ตูนของซาโตชิ คอน ยังตะบันหมัดเข้าใส่อุดมการณ์ของค่ายจิบลิอย่างไม่ปราณี ความแรงและความจัดจ้านของเนื้อหาได้กลายเป็นเสน่ห์ที่แปลกใหม่และสร้างเอกลักษณ์โดดเด่นจนเป็นงานที่ถูกจับตามองในระดับสากล
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงการปะทะระหว่างความคิดสองขั้วในโลกภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่น ระหว่างการ์ตูนครอบครัวกับการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะ การ์ตูนที่มีเนื้อหาอบอุ่นประทับใจกับเรื่องราวที่ชวนงุนงงและท้าทายการครุ่นคิด การ์ตูนที่เน้นอนุรักษ์ธรรมชาติกับการ์ตูนที่เน้นความสร้างสรรค์แห่งเทคโนโลยี หรือเรียกในอีกแง่หนึ่งว่าการ์ตูนเนื้อหาสะอาดกับการ์ตูนที่อาจหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมจริยธรรม ( แต่ก็สะท้อนความเป็นมนุษย์ได้อย่างสมจริง ) เหล่านี้คือนิยามของการ์ตูนจิบลิและการ์ตูนของซาโตชิ คอน
แน่นอนว่าคนที่ได้เปรียบที่สุดในการวิวาทะทางปัญญาครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นผู้ชมเยี่ยงเราๆ นี่แหละที่จะมีโอกาสได้เสพมุมมองอันหลากหลายและรอบด้าน เพื่อสร้างวุฒิภาวะในการทำความเข้าใจโลกให้ละเอียดและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
Paprika แบกเนื้อหาที่หนักอึ้งและมีความจริงจังในแนวทางเดียวกับ The Matrix หรือ Thirteenth Floor แถมยังมีกลิ่นอายของหนังแนวสืบสวนจิตวิทยาอย่าง The Cell อบอวลอยู่ตลอดทั้งเรื่อง เมื่อหนังเดินทางเข้าสู่แดนที่ซับซ้อนขึ้นได้ซักระยะหนึ่ง ผู้ชมอาจลืมไปแล้วว่ากำลังดูหนังการ์ตูนอยู่ แน่นอนว่า Paprika ไม่ใช่ความบันเทิงสำหรับเด็ก แต่หากจะกล่าวว่าเป็นหนังที่เหมาะสมกับผู้ใหญ่ทั่วไปก็ไม่เชิงนัก ด้วยเนื้อหาที่ท้าทายทั้งต่อจินตนาการและเหตุผล ที่เด็กอาจเข้าใจได้ไม่ถึงและผู้ใหญ่เองก็อาจจินตนาการได้ไม่ไกลพอ
Paprika เป็นเรื่องราวของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ซึ่งคิดค้นเครื่องมือควบคุมความฝันที่เรียกว่า ดีซีมินิ ดีซีมินิทำงานในขณะที่ผู้ป่วยกำลังหลับฝัน เครื่องมือนี้จะเปิดประตูให้ผู้บำบัดมีโอกาสเข้าไปร่วมอยู่ในความฝันนั้นๆ เพื่อนำพาความคิดที่หลงทางกลับคืนมาสู่ภาวะปกติ ดีชิมินิเป็นนวัตกรรมใหม่ทางการแพทย์ที่เข้าถึงต้นตอปัญหาของมนุษย์ ที่ไม่ใช่แค่การผ่าตัดเนื้อหนังของร่างกาย หากแต่เป็นการผ่านเข้าไปถึงอาณาจักรแห่งจิตเพื่อสำรวจและวินิจฉัยปมปัญหา ก่อนที่จะคลี่คลายเงื่อนเหล่านั้นออกด้วยความเข้าใจในที่สุด
ผู้บำบัดใช้ชื่อในโลกแห่งความฝันว่า Paprika สะท้อนภาพออกมาเป็นหญิงสาวตาโตผมแดงผู้สดใสร่าเริง และเข้าใจปัญหาของเพื่อนมนุษย์อย่างลึกซึ้ง ทว่าในโลกแห่งความจริง ภาพลักษณ์ของเธอกลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามภายใต้ชื่อว่า ชิบะ ด้วยความเงียบขรึมและเคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลา เห็นได้ชัดว่าเธอควบคุมตัวเองจนอาจเข้าขั้นที่เรียกว่าเก็บกด แต่ถึงกระนั้น ชิบะก็มีโอกาสได้ปลดปล่อยจิตใจเป็นอิสระอยู่เสมอเมื่อยามที่ต้องเข้าไปในโลกแห่งความฝันของผู้อื่นเพื่อช่วยเหลือเขาผู้นั้น(เมื่อเข้าไปในโลกแห่งความฝันเธอจะกลายเป็น Paprika ผู้ร่าเริง)
การเข้าไปในความฝันของผู้อื่นคล้ายกับเป็นการเข้าไปในโลก Matrix ที่มีเจ้าของความฝันนั้นเป็นจ้าวอาณาจักร ผู้บำบัดต้องหาทางแก้ไขสภาพจิตของผู้ป่วยแต่ละคนให้ได้ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นปมมาจากอดีต จิตใต้สำนึกเหล่านี้มักปรากฏตัวออกมาเพื่อทวงถามการระลึกถึง หรือไม่ก็เป็นการเรียกร้องอะไรบางอย่างให้สติในโลกแห่งความจริงได้เหลียวมองและให้ความสำคัญกับมันบ้างตามสมควร
เรื่องราวเริ่มต้นจากตำรวจใหญ่ชื่อ โคนากาวะ มีอาการฝันเรื่องเดิมๆ อยู่ตลอดถึงเหตุการณ์ฆาตกรรมที่ยังหาตัวคนร้ายไม่ได้ สาวน้อย Paprika จึงรับผิดชอบในการสืบเสาะหาต้นตอของความฝันในครั้งนี้ แต่ก่อนที่ปัญหานี้จะได้รับการสะสาง ดีซีมินิได้เกิดหายไป
หากดีซีมินิถูกใช้โดยคนชั่ว มันก็จะกลายเป็นเครื่องมือควบคุมความคิดของคนอื่น การควบคุมที่อาจแผ่ขยายกลายเป็นการล้างสมองและควบคุมโลกทั้งใบได้ในที่สุด หายนะอันใหญ่หลวงนี้อาจเกิดขึ้นหากยังตามหาตัวคนร้ายที่ขโมยดีชิมินิไม่พบ Paprika เล่าเรื่องระหว่างความฝันตัดสลับกับความจริง ที่บางครั้งมีลักษณะเป็นฝันซ้อนฝัน (หมายถึงตื่นจากความฝันแล้วแต่ยังคงอยู่ในความฝันอีกระดับหนึ่ง) พล็อตค่อนข้างใกล้เคียงกับหนังเรื่อง Thirteenth Floor (Thirteenth Floor เป็นเรื่องราวของโลกจำลองซ้อนโลกจำลอง หลายๆชั้น ) แต่หัวใจของเนื้อหานั้นกลับเป็นคนละประเด็นกันอย่างชัดเจน
Paprika กล่าวถึงพลังความฝันที่มีอยู่ในตัวมนุษย์เราทุกคน เป็นความปรารถนาบริสุทธิ์ที่เมื่อใดก็ตามที่สติเริ่มหย่อนยานหรือจิตใจได้หลุดล่วงออกจากการควบคุม (เริ่มหลุดออกจากจิตสำนึกเข้าสู่จิตใต้สำนึก) ภาพฝันนั้นก็จะออกมาโลดแล่นอย่างอิสระ คล้ายเป็นตัวเราอีกคนหนึ่งที่มีเสรีกว่าและมีความสุขมากกว่าตัวตนเมื่อยามตื่น แต่ตราบใดก็ตามที่เราลืมตาตื่น ความฝันที่เป็นดังแสงดาวเล็กๆ ยามราตรีนั้นก็หลบเร้นแสร้งกลมกลืนไปกับแสงอาทิตย์ในโลกแห่งความจริงประหนึ่งว่าไม่เคยมีตัวตนอยู่เลย
ไม่แปลกที่มนุษย์เราจะแบ่งร่างกลายเป็นบุคคลสองบุคลิก ที่คนหนึ่งอาศัยอยู่ในความฝันและอีกคนหนึ่งนั้นอาศัยอยู่ในโลกจริง
เมื่อความฝันถูกควบคุมจนถึงจุดปะทุ กระแสจิตที่อัดอั้นนั้นย่อมถาโถมทะลักออกมาแปดเปื้อนและปะปนอยู่ในโลกแห่งความจริงภายนอก และนี่คือสิ่งที่ซาโตชิ คอน กำลังบอกเราอยู่กลายๆ ว่ามนุษย์ในปัจจุบัน เก็บสะสมความฝันที่ไม่อาจปลดปล่อยออกมาได้เอาไว้ในลูกกะโหลกเล็ก ๆ ใบนี้ไว้อย่างมากมายมหาศาลเพียงใด และพฤติกรรมเยี่ยงนี้แหละที่เป็นต้นเหตุของอาการทางจิต ที่บ้างก็ตามหลอกหลอนเราอยู่ในความฝัน บ้างก็ทำเอาสติแตกจนกลายเป็นบ้าวิกลจริต
Paprika มีตัวร้ายเป็นผู้พิทักษ์ธรรมชาติ (ค่ายจิบลิคงเคืองอยู่มิใช่เล่น) ที่ต่อต้านการใช้ดีชิมินิในการบำบัดรักษาผู้ป่วย การต่อต้านนวัตกรรมนี้เป็นไปอย่างรุนแรงด้วยข้ออ้างว่ามันคือเครื่องมือในการคุกคามอาณาจักรแห่งความฝันอันศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ หากแต่การต่อต้านชนิดหัวชนฝาที่มีต่อเทคโนโลยีใหม่ชนิดนี้ก็ได้กลายเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการคุกคามและควบคุมที่ไม่ต่างไปจากระบอบเผด็จการณ์อนุรักษ์นิยม การควบคุมที่ปิดกั้นจินตนาการของนักคิดจึงเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่สังคมแห่งเสรีจำต้องเรียกร้องการปลดปล่อย
หนังกล่าวถึงทั้งข้อดีและข้อเสียของการควบคุมและการปลดปล่อย เปรียบเทียบด้วยภาพที่เห็นชัดว่าหากตามใจตัวเองอยู่ตลอดเวลา หรือหากบังคับควบคุมตัวเองอย่างเคร่งครัด ผลเสียที่ตามมาจะเป็นอย่างไร (ตัวอย่างเช่นฉากของโทคิตะคุง อัจฉริยะผู้เพื่อนของชิบะ ที่ไม่สามารถควบคุมความอยากในการกินอาหารได้ และแล้วก็กลายเป็นจอมตะกละที่มีรูปร่างอ้วนฉุและน่าเกลียด เทียบกับตัวของชิบะเองที่มีบุคลิกเป็นคนไว้ตัว ชอบวางท่าเคร่งขรึมเย็นชา จนความสุขในชีวิตพาลต้องแห้งแล้งจืดจางตามไปด้วย )
ฉากที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของ Paprika นั่นคือขบวนพาเหรดที่รวบรวมความฝันของมนุษยชาติทุกเผ่าพันธุ์ ทุกศาสนา ซึ่งกำลังเดินไปที่ไหนซักแห่งอันไม่สามารถระบุจุดหมายปลายทางได้ เป็นขบวนที่ประกอบไปด้วยสัญลักษณ์แห่งความศรัทธาทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้าโบราณ ซุ้มประตูญี่ปุ่นเดินได้ องค์ศาสดาในศาสนาต่างๆ เทพีแห่งเสรีภาพของอเมริกา ตุ๊กตาเด็กเล่นอันเป็นตัวแทนของจินตนาการ ทั้งหมดนี้กำลังเรียกร้องการกลับมาสู่ความจริง หลังจากถูกโลกกลางวันอันแห้งแล้งและโหดร้ายใบนี้กวาดทิ้งไปเสมือนเศษขยะที่ไร้ค่า ปล่อยให้มีตัวตนเป็นเพียงภาพฝันเลือนลางของมนุษย์ยามค่ำคืน เสียงเรียกร้องนี้จะดังพอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ตัวผู้ชมเองคงต้องเป็นคนตัดสิน
Paprika คลี่คลายปัญหาที่ยุ่งเหยิงออกด้วยลีลาที่สนุกสนาน ผนวกกับดนตรีอิเล็คโทรนิคส์ที่ประโคมประหนึ่งเพลงปลุกใจให้คึกคักอยู่ตลอดเวลา อันถือเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญที่ช่วยให้ Paprika เป็นการ์ตูนที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความมีชีวิตชีวา
ท้ายสุด ปมปัญหาของนายตำรวจก็ถูกคลี่คลายออก ความฝันซ้ำๆ ในทุกครั้งมันคือฉากต่างๆในหนังที่เขาเคยดู Paprika เผยให้เห็นถึงปมในใจของเขาว่ามีเหตุมาจากการละทิ้งความฝันที่จะเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ เรื่องราวในหนังสั้นที่นายตำรวจเคยทำค้างไว้ตอนยังหนุ่มได้เรียกร้องตอนจบจากเขาอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับเหตุการณ์ฆาตกรรมในความฝันที่เฉลยออกมาแล้วว่าเป็นยิงตัวตายของนายตำรวจผู้นั้นเอง ???
ฆาตกรคือตัวเขาและเหยื่อที่ตายไปก็คือตัวเขาอีกเช่นกัน (หนังแบ่งให้เห็นเป็นสองคน)
ความจริงในอาชีพตำรวจของเขากำลังฆ่าความฝันในโลกภาพยนตร์ ความฝันที่เคยงดงามเมื่อครั้งอดีตกำลังสิ้นใจลงเพียงเพราะการปฏิเสธของเจ้าตัวในปัจจุบันว่าเขาไม่ใช่คนที่ชอบการดูหนัง เมื่อทางเลือกของชีวิตกลับสวนทางกันเองภายในคนคนเดียว อะไรเล่าคือวิธีเยียวยา และคำตอบที่หนังเรื่อง Paprika นี้นำเสนอนั่นก็คือการประนีประนอม
เป็นตำรวจแล้วอย่าลืมเรื่องราวของนิยายสืบสวนล่ะ เสียงของความฝันกล่าวอำลาเพื่อให้ความจริงได้ก้าวเดินต่อไปในทางที่ได้เลือกแล้ว นายตำรวจไม่จำเป็นต้องทิ้งอาชีพเดิมเพื่อมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ดังที่เคยฝัน เพียงแค่เขาแวะเข้าไปดูหนังในฐานะของกิจกรรมยามว่างบ้างเป็นครั้งคราว แค่นี้ความฝันในอดีตก็สุดแสนจะยินดี
หลายคนมีสิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจและส่วนใหญ่มันคือความฝันที่ยังไม่ได้ลงมือทำให้แล้วเสร็จ ฉากที่ โทคิตะคุง ติดอยู่ในลิฟท์และฉากที่หุ่นกระป๋องติดอยู่ในตึก สะท้อนให้เห็นถึงภาวะที่ต้องติดค้างอยู่ในเครื่องจองจำที่น่าอึดอัดและคับแคบหากไม่ถูกปลดปล่อยออกมาเป็นอิสระ ความฝันก็คงจะหนีธรรมชาติข้อนี้ไปไม่พ้นเช่นกัน
สำหรับท่านที่เรียกร้องงานวิจารณ์ชิ้นนี้ ในฐานะของนักเขียน จงอย่าหลงลืมว่าเราเคยรักการเขียนขนาดไหน อาจเป็นธรรมดาที่บางครั้งรู้สึกท้อแท้ ล้าเหนื่อยมาจากภายใน และอ่อนแรงจากการเสียดทานของสิ่งแวดล้อมภายนอก แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ควรคิดปลิดชีพตัวเองให้ตายไปจากสิ่งที่ครั้งนึงเคยรักจนอาจถึงขั้นนอนหลับแล้วยังฝันถึง ความฝันมันมีชีวิตของตัวเอง โลดแล่นได้ด้วยตัวเองอย่างเป็นเอกเทศ และไม่ใช่แค่ไม่ทำลายความฝันเท่านั้นแต่จงหล่อเลี้ยง และจงดูแล
หากใครตอนนี้กำลังรู้สึกติดอยู่ในความคิดที่อึดอัดและไม่อาจปลดปล่อยตัวเองออกมาได้ งานเขียนชิ้นนี้ขอเสนอตัวเป็นเสมือนผู้บำบัดที่จะฉุดดึงท่านออกมา...
Create Date : 20 พฤศจิกายน 2550 |
Last Update : 21 มีนาคม 2552 9:20:42 น. |
|
14 comments
|
Counter : 18316 Pageviews. |
|
|
คุณตีสารแตกสมกับที่รออ่าน
โชคดีครับ
เน็ท