Biutiful : หดหู่ รันทด งดงาม (เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)



เนื้อหาจริงจังมุ่งสะท้อนความจริง ภาพและเสียงที่ดิบและดังเหมือนเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นที่ปลายจมูกปรุงให้หนังดูเครียดและหนัก แต่เสน่ห์ที่ Biutiful โดดเด่นยิ่งกว่าหนังเรื่องอื่นของ อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินาริตู เจ้าพ่อหนังหลายชีวิตคนนี้ คือความเหนือจริง (surreal) ที่ถูกให้น้ำหนักและมีอิทธิพลสำคัญต่อเรื่อง ความเชื่อหรือหลักคิดเกี่ยวจิตวิญญาณซึ่งเคยกล่าวถึงใน 21 grams ถูกนำเสนอใหม่อย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะการสร้างรูปร่างให้สิ่งที่เรียกว่า “ความสำนึกผิด”

Biutiful ต่างจากงานก่อนๆ ของ อินาริตู ที่มักเล่าเรื่องย่อยๆ ไม่เกี่ยวกันให้ค่อยๆ สัมพันธ์กันจนกลายเป็นเรื่องเดียว (คล้ายภาพจิ๊กซอร์) แต่งานชิ้นนี้ถูกเล่าเป็นเส้นเรื่องเดียวคล้ายหนังทั่วไป มีพระเอกเป็นแกนกลาง แล้วซอยเรื่องย่อยๆ ออกตามตัวละครที่พระเอกเข้าไปมีส่วนพัวพัน

โครงเรื่องและเนื้อหาหลายส่วนคล้าย Hereafter ของคลิ้นท์ อีสวู้ด อย่างไม่น่าเชื่อ (จะกล่าวว่า Hereafter คล้ายกับเรื่องนี้ก็ไม่ผิด) ทั้งแนวหนังหลายชีวิตซึ่งจำแนกออกตามชาติพันธุ์ การกล่าวถึงปัญหาระหว่างประเทศสัมพันธ์กับคุณค่าเชิงมนุษย์ แนวคิดเกี่ยวกับโลกหลังความตายซึ่งพระเอกทั้งสองเรื่องสามารถสื่อสารกับคนตายได้เหมือนกัน

หนังมีเรื่องย่อยอยู่ 3 ส่วน แบ่งตามสีผิวของเจ้าของเรื่องราว (สีของ subtitle ก็ต่างกัน) คือคนท้องถิ่นผิวขาว คนผิวเหลืองอย่างแรงงานอพยพชาวจีน และคนผิวดำชาวเซเนกัล

หนังสร้างตัวละครของพระเอกได้น่าสนใจ ด้วยการเป็นคนกลางระหว่างแรงงานต่างด้าวกับเจ้าหน้าที่รัฐ และการเป็นคนกลางสื่อสารกับดวงวิญญาณซึ่งยังไม่หมดห่วงให้ไปสู่สุขคติ เขาช่ำชองกับอาชีพนี้ เพราะนอกจากรายได้ที่ดี เขายังเห็นเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ตามหลักมนุษยธรรม

หนังเต็มไปด้วยปมปัญหาที่มากมายและสลับซับซ้อน อีกทั้งยังเปราะบาง ละเอียดอ่อน ในภาพกว้างอย่างสังคมโลก Biutiful เสนอปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายได้อย่างรอบด้าน ทั้งแรงผลักดันภายในประเทศและแรงจูงใจว่าจะมีอนาคตอันงดงามในแผ่นดินอื่น ในภาพที่แคบลง หนังเสนอปัญหาภายในจิตใจมนุษย์ได้ถึงแก่น อย่างการพ่ายแพ้ต่อสิ่งยั่วเย้าของกิเลส ทั้งในรูปของเงินตรา ยาเสพติด รสเพศ จนก่อให้เกิดความรู้สึกผิดติดค้างในจิตใจ

อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า Biutiful พยายามสร้างรูปร่างให้กับ “ความรู้สึกผิด” เพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพและสัมผัสความรู้สึกนั้นชัดเจนที่สุด เช่น วิญญาณเด็กชายที่ต้องการสารภาพผิดเรื่องขโมยนาฬิกาของพ่อ พระเอกที่รู้สึกผิดต่อการตายของชาวจีน (หนังส่งต่อมวลความรู้สึกที่กระทบจิตใจผู้ชมอย่างรุนแรง) นายจ้างชาวจีนซึ่งรู้สึกผิดต่อครอบครัวเพราะลักลอบมีสัมพันธ์กับหนุ่มคนรัก ความรู้สึกผิดของภรรยาพระเอกที่ตีลูก ความรู้สึกผิดของลูกที่เกเร ความรู้สึกผิดของสาวชาวเซเนกัลที่ทรยศพระเอก รวมถึงความรู้สึกผิดของพ่อพระเอกที่ทิ้งแม่ไปในอดีต

ความเหนือจริง (surreal) ในฉากเพดานที่มีดวงวิญญาณติดค้างอยู่ คล้ายสะท้อนให้เห็นสภาพจิตใจตัวละครที่มีความรู้สึกผิดหนักหน่วงค้างคาอยู่ในใจ หนังนำเสนอบรรยากาศหลอกหลอนที่จับขั้วหัวใจผู้ชมไม่ต่างไปจากอารมณ์ที่ได้จากหนังสยองขวัญ และสัมพัทธ์รุนแรงกับฉากฝูงนกที่โบยบินยามเย็น ซึ่งมอบความรู้สึกอิสระ ดูยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ เมื่อจิตวิญญาณที่ทุกข์ตรมนั้นได้รับการปลดปล่อย

หนังให้ภาพการหาทางออกจากความรู้สึกผิดแบบฉาบฉวยซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกผิดต่อเนื่องไม่รู้จบ อย่างฉากที่พระเอกแพ้ใจตัวเองกลับไปใช้ยาอีกครั้งหลังจากเลิกมานาน หรือฉากนายจ้างชาวจีนที่พยายามขจัดความรู้สึกผิดต่อครอบครัวด้วยการฆ่าล้างแค้นชายคนรัก

ในอีกด้านหนึ่ง หนังมีป้ายชี้ทางออกจากปัญหาประปรายอยู่ตลอดเรื่อง อย่างการรู้จักสารภาพผิดของเด็กชาย คำแนะนำของแม่หมอให้พระเอกขอขมาลาโทษต่อดวงวิญญาณชาวจีน และในฉากจบอันสวยงามของเรื่องที่แสดงให้เห็นการเติมเต็มบทบาทของพ่อและการให้อภัยจากลูก นอกจากจะสื่อถึงการซ่อมแซมความสัมพันธ์ในอดีต ฉากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความงดงามและพลังของ “การให้อภัย”

Biutiful แสดงผลร้ายของวิธีคิดแบบระบบทุนสุดโต่งซึ่งมุ่งหากำไรสูงสุดและไม่คำนึงถึงมนุษยธรรม อย่างการเอาเปรียบแรงงานต่างด้าวซึ่งไม่มีอำนาจต่อรอง การผลิตสินค้าไร้คุณภาพโดยไม่นำพาต่อผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นแก่เพื่อนมนุษย์ แม้จะไม่เอ่ยถึงตรงๆ แต่โดยปริบทของเรื่องก็ชี้นำให้ผู้ชมรู้สึกอย่างชัดเจนว่าหนังกำลังเหน็บแนมผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน โดยเฉพาะการจำลองสถานการณ์ชวนหดหู่ในฉากแรงงานชาวจีนถูกรมแก๊สตายทั้งโรงงานเพียงเพราะความงกเงินของพระเอกที่ซื้อฮีทเตอร์ราคาถูกที่สุดมาใช้ หนังสร้างกระบวนการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” โดยให้ความสูญเสียนั้นเกิดขึ้นกับเหยื่อแรงงานชาวจีน (เหมือนหนังสั้นเรื่อง “หลาวชะโอน” ที่สะท้อนผลกรรมให้เกิดขึ้นกับครอบครัวตนเอง)

หนังขยายความรู้สึกผิดมหาศาลนั้นส่งตรงถึงผู้ผลิตที่เน้นกอบโกยกำไรแต่ไร้จิตสำนึก ในขณะเดียวกันก็เตือนสติผู้บริโภคที่มักนิยมสินค้าราคาถูกทั้งๆ ที่ไม่ได้มาตรฐาน

หนังสรุปตัวเองว่าความคิดความเชื่อของพระเอกตอนต้นเรื่องนั้นผิด การให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวหรือการให้ที่พักพิงแก่ผู้อพยพซึ่งหลบหนีเข้าประเทศ ก็ไม่ต่างไปจากการเชื้อเชิญคนแปลกหน้าให้มานอนร่วมชายคากับคนในครอบครัว (หญิงชาวเซเนกัล) สอดคล้องกับภาษิตซึ่งเพื่อนตำรวจเล่าให้เขาฟังเรื่องคนเลี้ยงเสือแต่ถูกเสือที่เลี้ยงตะปบตาย และเมื่อประกอบกับประเด็นที่หนังกล่าวถึงประเทศจีนในแง่ลบ หากอเมริกาเลือกจะยกย่องและเชิดชูหนังเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งโลก กรณีย่อมให้ผลไม่ต่างไปจากการผลักดันมาตรการทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อประชาสัมพันธ์จุดยืนอันสวยงามของตนเองและประณามจุดบอดของคู่อริได้อย่างแยบคาย

อย่างไรก็ตาม Biutiful คืองานศิลปะที่ทรงคุณค่าน่าชื่นชม ในความดิบเถื่อนโหดร้ายที่หนังอัดใส่ผู้ชมตลอดเวลาฉายได้แอบซ่อนแง่มุมอันงดงามแห่งชีวิต ความงดงามที่เห็นเพียงน้อยนิดในเรื่องดูจะทรงคุณค่าเหนือกว่าความรู้สึกดีๆ ที่กลาดเกลื่อนเกินจริงจากหนัง feel good ทั่วไป ในเวลาใกล้ตายของพระเอก เขาได้ค้นพบคุณค่าของชีวิต ในภาพความรันทดของแรงงานชาวจีน เราเห็นพลังรักของแม่ที่ยิ่งใหญ่ ในความเหลวไหลไร้สาระของเมียพระเอกก็ปรากฏบางแง่มุมที่นอกกรอบอย่างน่ารัก รวมถึงความอ่อนโยนของพระเอกที่แสดงต่อลูกเมื่ออารมณ์ดี

และแม้แต่ความผิดบาปที่มนุษย์กระทำต่อกันก็ยังปรากฏความงดงามให้เห็นได้เมื่อเขาเหล่านั้น “รู้สึกผิด” เพราะความรู้สึกผิดจะบังเกิดขึ้นได้ ก็เฉพาะในจิตใจของมนุษย์ที่ยังมี "สำนึก" เท่านั้น



Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2554 16:41:03 น. 1 comments
Counter : 1284 Pageviews.

 
หนังของผู้กำกับคนนี้ หนักแต่มีความหมายทุกเรื่องเลยนะครับ
พรุ่งนี้จะไปชมครับ


โดย: คนขับช้า วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:22:51:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

beerled
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
 
5 กุมภาพันธ์ 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add beerled's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.