Shutter Island : วิวาทะระหว่างสันติวิธีและความรุนแรง (เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)



นี่เป็นครั้งแรกที่ผมดูหนังจบแล้วมาเขียนแชร์ความรู้สึกแบบทันทีทันใด ความเห็นโดยรวมอาจโน้มไปทางฉันทาคติ รบกวนคนอ่านช่วยใช้วิจารณญาณด้วยน่ะครับ

หนังใหม่ของลุงมาติน สกอร์เซซี่เรื่องนี้ให้อารมณ์คล้ายหนังประเภท The Sixth Sense หรือ The Others ในส่วนของความพยายามในการช่วยเหลือตัวเอกให้ค้นพบความจริง ในแง่ของการหักมุม แม้จะยังไม่ช็อคอุจจาระแตกเท่าสองเรื่องก่อน แต่ก็มีจุดเด่นพอตัวสำหรับลูกเล่นในการหักมุมหลายระดับ

นอกจากบรรดาหนังผีหักมุมที่กล่าวมา Shutter Island ยังให้ความรู้สึกคล้ายกับการดูหนังคุกๆ ของลุงแฟรงค์ ดาราบอนต์อย่าง The shawshank redemption หรือ The Green mile ทั้งในส่วนของการใช้ภาพ การสร้างบรรยากาศ และความเป็นเมโลดราม่าของหนัง

กระบวนการทำงานของ Shutter Island เหมือนการปล่อยชิ้นจิ๊กซอร์ใส่ผู้ชมเป็นระยะ ให้ค่อยๆ ปะติดปะต่อจนได้ข้อสรุปในแต่ละห้วงเวลา บทหนังทำนายความคิดและกำกับผู้ชมอยู่ในที ถือเป็นการดูหนังที่เหมือนได้สนทนากับผู้สร้างยังไงยังงั้น

หลังจากดูจบ ทบทวนข้อเท็จจริงที่สอดรับกันอย่างน่าทึ่งตลอดเรื่องและประมวลผลหาเจตนาของหนังแล้ว พบว่าหลักใหญ่ใจความของ Shutter Island คือประเด็นว่าด้วยธรรมชาติของความรุนแรงและการพยายามรักษาความรุนแรงนั้นด้วยสันติวิธี

พระเอกของเราคือตัวแทนของมนุษย์ผู้นิยมความรุนแรงแต่ไม่เคยยอมรับความจริง หลายฉากในเรื่องที่เค้าตอบโต้ต่อผู้กระทำด้วยความรุนแรง เข้าทำนองตาต่อตาฟันต่อฟัน (การปล่อยให้ทหารนาซีตายอย่างทรมาน กราดยิงทหารนาซี ทำร้ายผู้ป่วยวอร์ด C รปภ. และคุณหมอ ระเบิดรถ ฆ่าภรรยา ) ส่วนคุณหมอซึ่งบริหารสถาบันแห่งนี้ก็มีความหวังอย่างยิ่งยวดว่าหากเราเข้าใจผู้ป่วยอย่างลึกซึ้ง หลีกเลี่ยงวิธีการที่รุนแรง อาศัยความร่วมมือ ความอดทนและเวลาที่นานพอ อาการความรุนแรงนั้นจะหายสิ้นไป ช่วงต้นเหมือนหนังจะให้ความหวังต่ออุดมการณ์ของคุณหมอ ก่อนจะถึงฉากจบซึ่งเป็นการตบหน้าผู้ชมฉาดใหญ่ แม้หนังจะไร้เสียงสั่งสอน แต่เนื้อสาส์นกลับชัดเจนเกินปฏิเสธ ว่ามนุษย์เรานั้นมีชีวิตและขับเคลื่อนชีวิตไปได้ก็ด้วยความรุนแรงที่ฝังอยู่ในกมลสันดาน

ผมชอบการวางตัวคุณหมอที่แสดงโดยเบน คิงส์ลี่ย์ เพราะทำให้นึกถึงบทที่เค้าเคยเล่นในเรื่อง "คานธี" Shutter Island วางลักษณะให้คุณหมอเป็นผู้นำในการรักษาความรุนแรงด้วยสันติวิธีและมีขันติธรรมที่สูงกว่าตัวละครทั่วไป

หนังแสดงข้อธรรมให้เราตระหนักอยู่เป็นระยะว่าความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมชาติ ทั้งบทสนทนาที่เกี่ยวกับสงครามโลก การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว การเหยียดนิโกร สงครามกลางเมืองในอเมริกา ความขัดแย้งระหว่างโลกเสรีกับคอมมิวนิสต์ เป็นต้น และในส่วนของภาษาภาพยนตร์ผ่านความเกรี้ยวกราดของพายุใหญ่และเสียงฟ้าร้องที่กรีดดังไม่ต่างจากการปะทุของดินปืนในสงคราม

ผมอาจคิดลึกเกินจำเป็นและมองโลกในแง่ร้ายไปหน่อย ว่าคนป่วยที่สุดในเรื่องอาจเป็นคุณหมอผู้บูชาสันติวิธี จากความล้มเหลวในการรักษาความรุนแรงในเรื่อง การที่เรามองความรุนแรงเป็นเรื่องผิดปกติอาจถือเป็นความผิดปกติของผู้มองก็เป็นได้ เหมือนพระเอกที่ไม่กล้ายอมรับความจริง เลยสร้างโลกสมมติในจินตนาการขึ้นมาแทน

อีกจุดหนึ่งที่ชอบคือการเฉลยเรื่องราวทั้งหมดบนประภาคาร หนังเปรียบความจริงกับแสงสว่าง (ซึ่งพระเอกก็คงคล้ายกับเรือหลงทาง)

บทภาพยนตร์แสดงการวิวาทะถึงประเด็นความรุนแรงอย่างไม่อ้อมค้อม ความรุนแรงปรากฏอยู่ในหลายรูปแบบภายในตัวมนุษย์ อย่างอารมณ์อยากเห็นคนเลวได้รับผลกรรมที่เลวร้ายก็ถือเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง (คือคิดอย่างมีโทสะ) ผู้ชมอาจเห็นแย้งหรือเห็นตามย่อมเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่หนังก็ดูจะจริงใจมากๆ ในการบอกความจริงอันโหดร้ายนี้กับผู้ชม ว่าตื่นเถิด ลืมตามองความจริง เลิกวิตกกับสงครามและความรุนแรง นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ มันคือธรรมชาติ คือธรรมดาหนึ่งของโลกและชีวิต

ความรุนแรงหรือสงครามก็เหมือนพฤติกรรมของพระเอกที่คุณหมออธิบายว่าอาการแบบนี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกคล้ายการหมุนของแผ่นเสียง อย่างที่เราเห็นอยู่ สงครามไม่เคยยุติอย่างแท้จริง (เหมือนโรคที่ไม่มีวันหาย) สงครามหนึ่งจบ สงครามใหม่ก็เริ่มอีก สันติภาพกลายเป็นเพียงช่องไฟหรือช่วงพักของคำว่า "ความรุนแรง"

ก่อนหนังจะจบพระเอกของเราส่อเค้าจะสร้างปัญหาอีกครั้ง ด้วยทางเลือกที่เค้าตัดสินใจได้ไม่ยากนัก ระหว่าง "การมีชีวิตอยู่อย่างอสูรกายหรือจะยอมตายในฐานะของคนดี" ?



Create Date : 08 เมษายน 2553
Last Update : 29 พฤษภาคม 2553 16:39:14 น. 9 comments
Counter : 1656 Pageviews.

 
พรุ่งนี้ว่าจะไปดูครับ แต่ไม่รู้จะได้ไปดูหรือป่าว ฮ่ะ ๆ

ช่วงนี้งานรัดตัวเหลือเกินจนไม่ค่อยจะมีเวลาดูหนังหรือเขียนบล็อคเลย

ดูแล้วจะมาอ่านนะครับ


โดย: Swallowtail วันที่: 12 เมษายน 2553 เวลา:23:22:18 น.  

 
อ่านแล้วครับ ยังคงเขียนได้เยี่ยมเหมือนเดิมนะครับ ส่วนใหญ่คิดคล้าย ๆ กันครับ แต่ผมเห็นต่างหน่อยครับในตอนท้าย ผมมีเขียนไว้เหมือนกัน ลองอ่านดูครับ ช่วยติเตียนด้วยก็ดีครับ


โดย: Swallowtail วันที่: 14 เมษายน 2553 เวลา:23:09:27 น.  

 
ขอบคุณที่ชมครับ ผมค่อนข้างชอบบทวิจารณ์ที่คุณ beerled เขียนเป็นพิเศษเลยละครับ

ขออนุญาติ แปะ ไว้ที่ Friend's blog นะครับ


โดย: Aob (Swallowtail ) วันที่: 15 เมษายน 2553 เวลา:13:23:51 น.  

 
ว่าจะไปดูอยู่เหมือนกัน


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 15 เมษายน 2553 เวลา:18:12:48 น.  

 
ครับผม อ่านถูกต้องแล้วละครับ

ยินดีที่ได้รู้จักครับคุณ เบียร์


โดย: Swallowtail วันที่: 16 เมษายน 2553 เวลา:19:25:56 น.  

 
แอบติดตามอ่านบทความของคุณ beerled มานานมากครับ แต่ไม่เคย comment เลย ขอโทดจิง ๆ ครับ

อยากดูเรื่องนี้มานานมากครับแต่ไม่มีเวลาสักที พอดีวันนี้ว่าง เลยรีบไปดูเพราะกลัวจะออกจากโรงเสียก่อน

ตอนดูจบ ก็มีข้อสงสัยในตอนจบเหมือนกันครับ กับคำพูดของพระเอกในฉากสุดท้าย พอมาได้อ่านความเห็นของคุณ beerled กับอีกแนวคิดหนึ่งจากบทความของคุณ shallowtail ก็ยิ่งรู้สึกชอบหนังมากขึ้น และก็คิดว่ามีคำตอบให้กับตัวเองในอีกมุมมองหนึ่งเหมือนกัน 55

บางทีลุงมาร์ตินแกอาจไม่ได้มีข้อสรุปตายตัวสำหรับฉากสุดท้ายนั้นเลยก็ได้นะครับ ว่าพระเอกตั้งใจลุกเดินไปกับเจ้าหน้าที่โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำอะไร

แกอาจเพียงต้องการสื่อถึงสาเหตุของความรุนแรงที่มีอยู่ในมนุษย์เราทุกคน ที่ไม่เว้นแม้แต่ในตัวของคนดีๆก็ตาม ว่าในบางครั้งเมื่อมีภาวะความกดดันต่าง ๆ เข้ามารอบตัวจนรู้สึกว่า การแก้ปัญหาด้วยเหตุผลหรือสันติวิธีมันใช้ไม่ได้แล้ว สุดท้ายสิ่งที่ต้องตัดสินใจก็คือ จะอยู่ต่ออย่างอสุรกาย (ใช้ความรุนแรงเข้าสู้กับปัญหาให้มันจบๆไปซะ) หรือจะยอมตายอย่างคนดี (ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นแม้จะต้องตายก็ตาม)

ซึ่งเพราะสัญชาตญาณการเอาตัวรอดที่เปนธรรมชาติของมนุษย์หรือแม้กระทั่งสัตว์ทุกชนิด จึงสามารถคาดเดาได้ไม่ยากครับ ว่าการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่จะเลือกแนวทางใด

เลยไม่แปลกที่ความรุนแรงจะมีอยู่ในจิตใจของเราทุกคน *


โดย: nonn IP: 183.89.69.105 วันที่: 24 เมษายน 2553 เวลา:20:49:48 น.  

 
ดูแล้วครับ มุมมองเรื่องความรุนแรงน่าสนใจนะครับ





ผมว่า หนังตั้งคำถามในแง่ที่ว่า

"ความจริง" คือสิ่งที่สำคัญที่สุดจริงหรือ?




แล้ว ที่คุณ Beerled ว่า Dr. Cawley พยายามใช้สันติในการแก้ปัญหาความรุนแรงนั้น ก็น่าสนใจครับ



ผมมีมุมมองว่า ความจริงแล้ว Dr. Cawley ก็แก้ปัญหาด้วย "ความรุนแรง" โดยไม่รู้ตัวเหมือนกันน่ะครับ



เพราะว่า การที่ Teddy พาตัวเองเข้าไปในโลกสมมตินั้น คือ "การเยียวยาตามธรรมชาติ" อยู่แล้ว

ทำไมต้องให้ Teddy หายกลับมา แล้วทนกับความเจ็บปวดทางจิตด้วย




หรือนี่คือวิธีเอาชนะ ความรุนแรงของ Dr. Cawley
ที่ตัวละครในหนังเคยพูดว่า "แรงมา ก็แรงไป ใครจะแรงกว่ากัน"




เขียนไว้ยาวๆใน Blog ครับ


โดย: navagan วันที่: 6 พฤษภาคม 2553 เวลา:3:05:16 น.  

 
สวัสดียามเช้า นะครับ
มาชวนไปเที่ยวเกาหลีวันที่สองนะครับ ไปดู ทิวลิปที่ เอเวอร์แลนด์กัน


โดย: Sleeping_prince วันที่: 6 พฤษภาคม 2553 เวลา:7:42:33 น.  

 
ผมชอบผลงานกำกับของมาร์ติน สกอร์เซซี ติดตามมาเกือบทุกเรื่อง ตั้งแต่ Taxi driver, Raging bull, the gangs of New York, , etc. ซึ่งก็แปลกใจว่าทำไมไม่เคยได้รับรางวัลออสการ์กับเขาสักตัว ? แต่ดันมาได้ออสการ์ (สงสารคุณลุงแก่แล้ว) จากเรื่อง Departed ซึ่งเป็นหนังพื้น ๆ ธรรมดาเรื่องหนึ่ง มิหนำซ้ำเป็นหนัง remake หนังฮ่องกงอีกต่างหาก !!
สำหรับเรื่องนี้ก็ชอบเหมือนกันนะ เพียงแต่งงกับตอนเปิดเรื่องที่ Teddy นั่งเรือมาถึงเกาะ Shutter island พร้อมคู่หู ในฉากนี้หนังบอกเราว่า Teddy เป็นเจ้าหน้าที่มาสืบเรื่องคดีหนึ่ง แต่ตอนจบเฉลยว่า เขาเป็นคนป่วยเข้ามารับการรักษาเมื่อ 2 ปีก่อน และไม่เคยออกไปจากเกาะนี้เลย ถ้ายังงั้น ฉากเปิดเรื่องมันเป็นจินตนาการของผู้ป่วยคนนี้หรือว่า หนังต้องการหลอกให้คนดูไขว้เขว เพื่อจะได้หักมุมตอนเฉลยปลายเรื่อง ??


โดย: psw2548 วันที่: 21 มิถุนายน 2553 เวลา:14:56:01 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

beerled
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
<<
เมษายน 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
8 เมษายน 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add beerled's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.