เอาตัวรอดด้วยทฤษฎีเกม
ในเกมชีวิต

เขียน : นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ (//1001ii.wordpress.com/) สำนักพิมพ์ เดคิซูกิ ดอทเน็ต, ราคา ๑๒๐ บาท, ๑๔๔ หน้า
เล่มนี้ซื้อช่วงปีใหม่ ๒๕๕๑ เพราะเห็นขึ้นอันดับในร้าน B2S พลิกหนังสือดูก็เห็นคนเขียนจบวิศวกรรมศาสตร์ น่าจะใช้ภาษาที่คุยกันรู้เรื่องกับเรา แถมพิมพ์ไปตั้งสิบครั้งแล้ว อีกเหตุผลที่ทำให้คว้าเล่มนี้มาคือสนใจในทฤษฏีเกม
ทฤษฎีเกม ได้ยินชื่อครั้งแรกจากภาพยนตร์เรื่อง A Beautiful Mind ที่พูดถึง John Nash ผู้พัฒนาทฤษฎีเกมจนได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เพราะสามารถเอาทฤษฎีนี้ไปใช้ในวงการเศรษฐศาสตร์อย่างได้ผล
เปิดเรื่องในเล่มเป็นกรณีคุณอาผู้เขียนถูกรถชน โดยคนชนเป็นแพทย์ฝึกหัด หนุ่มคนนั้นขอร้องไม่ให้ลงบันทึกประจำวัน เพราะหากเป็นคดีอาญา เขาจะหมดสิทธิ์เป็นแพทย์ที่จะช่วยคน แต่เขารับรองที่จะออกค่ารักษาพยาบาลให้ หากคุณเป็นคุณอา คุณจะทำอย่างไร ในเล่มเล่าจนจบนะครับ แต่กำลังจะบอกว่าสถานการณ์แบบนี้เรียกว่าเป็นเกม กรณีที่มีสองฝ่าย มีการตัดสินใจทั้งสองฝ่าย และการตัดสินใจของแต่ละฝ่าย มีผลต่อผลประโยชน์ของต่อกัน อย่างนี้เรียก เกม ตัวอย่างของเกมในเล่ม เช่น การเล่นหุ้น, การให้ค่าจ้างพนักงาน, การต่อรองต่างๆ, การสุ่มตรวจ เป็นต้น ผู้เขียนบอกว่า การแยกให้ออกว่าสถานการณ์ไหนในชีวิตที่เข้าข่ายเกม และต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน รัดกุม เป็นทักษะอย่างแรกที่เรา (นักทฤษฎีเกม) ต้องมี ตัวอย่างที่ไม่ใช่เกม เช่น การซื้อหวย, การถอดไพ่ Solitaire เป็นต้น เพราะเป็นการตัดสินใจฝ่ายเดียว และการตัดสินใจของเราก็ไม่ส่งผลใดๆ กับสิ่งที่จะออกมา และผู้เล่นคนอื่นๆ
ในเล่มจะมีทฤษฎีและตัวอย่าง ศัพท์ที่มีเช่น กลยุทธ์เด่น ที่เราจะต้องมองให้ออกว่ากลยุทธ์ใด หรือทางเลือกใด ทีจะทำให้เราได้ประโยชน์สูงสุด แต่ไม่จำเป็นว่าต้องได้ดี ได้มากกว่าอีกฝ่ายนะครับ ตรงนี้ผมถือว่าเป็นหัวใจของทฤษฎีเกมครับ ดังเช่นที่ผู้เขียนปิดเล่มด้วยประโยคนี้ครับ "ทุกวันนี้คนเราเสียเวลาส่วนใหญ่ไปกับการพยายามเอาชนะคนอื่น ทั้งที่สถานการณ์เราไม่อยู่ในสถานะที่จะเอาชนะคนอื่นได้ บางคนยอมทำร้ายตัวเองเพียงเพื่อให้คนอื่นได้รับผลตอบแทนที่น้อยลง หรือทำไปด้วยอำนาจแห่งความอิจฉาริษยา ถ้าคนในสังคมเข้าใจจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการคิดเชิงกลยุทธ์มากขึ้น และหันมาตัดสินใจโดยคิดถึงตัวเองมากขึ้น โลกใบนี้คงน่าอยู่กว่าเดิม" ในคำนำผู้เขียนก็กลัวว่าจะมีคนเข้าใจผิดว่า ทฤษฎีเกมจะทำให้คนเห็นแก่ตัว เพราะต้องนึกถึงผลที่ตัวเองจะได้รับเป็นสำคัญ แต่อ่านแล้วพอเข้าใจ ดูผลที่เราได้รับ โดยไม่ต้องไปสนใจที่อีกฝ่ายจะได้มากหรือน้อย นี่ก็เข้าข่าย ดีต่อตัวเรา ตามที่ผมชอบยกคำของ ดร.อาจอง มาใช้เสมอๆ แต่ถ้าให้ดีต้อง ดีต่อผู้อื่น และดีต่อโลก ถึงจะครบสูตร
ในเล่มยังมีกรณี "ความลำบากใจของจำเลย" ที่บอกสถานการณ์สอบสวนผู้ต้องหาสองคนแยกห้องกัน สุดท้ายระแวงกัน ก็บอกความจริงมาหมด "จุดสมดุลของแนช" จุดที่ทุกฝ่ายพอใจที่สุด เพราะไม่สามารถได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าได้ด้วยการเปลี่ยนไปเลือกทางอื่น "เกมปอดแหก" คือไม่ยอมทำงานกลุ่ม แต่สุดท้ายจะมีงานกลุ่มออกมาเอง เนื่องจากความกลัว เกมแบบนี้ไม่ดี แต่มักเจอในชีวิตเนอะ "เกมแห่งความร่วมใจ" "สุ่มกลยุทธ์" "ความน่าเชื่อถือ" "เกมกับธุรกิจ" เป็นอีกหลายบทที่น่าศึกษา
อ่านแล้วเห็นว่าชีวิตเราเต็มไปด้วยเกม ดังนั้นทุกครั้งที่ตัดสินใจอะไร ต้องพิจารณาให้ดีๆ ถ้าคำพระก็บอกว่าต้องใช้ สติ ให้มากๆ บ่อยๆ นั่นเอง แล้วทุกอย่างจะดีเอง ไม่ไกลตัวหรอกครับสำหรับทฤษฎีเกม เพราะทุกอย่างมันคือเกม เกมชีวิตไงครับ
มีความสุขในเกมชีวิตทุกคนนะครับ
Create Date : 09 มกราคม 2551 |
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2552 18:12:17 น. |
|
2 comments
|
Counter : 2066 Pageviews. |
 |
|
|
อ่านแล้วก็นึกถึงคำที่นิยายจีนชอบใช้บ่อยๆ "เดินหมากผิดตาเดียว แพ้ทั้งกระดาน" น่าจะใช้ได้กับทฤษฏีเกมเหมือนกันนะครับ