หางของเบอร์นา
แล้วคุณจะรัก สุนัขนำทาง

ผู้เขียน : กุนจิ นานาเอะ ผู้แปล : ปาริชาต ฉิมคล้าย สำนักพิมพ์ : JBook ในหมวด Warm Heart จำนวนหน้า : ๑๗๙ หน้า ราคา : ๑๖๕ บาท ระดับความชอบ : ๙/๑๐
ได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้จากน้องนักอ่านคนหนึ่งมานาน น้องคนนี้เคยเสนอรายการหนังสือมาให้ยืมด้วย แต่ก็ยังไม่สบโอกาสที่จะได้อ่าน จะว่าไปแล้วก็อ่านหนังสือวรรณกรรมของญี่ปุ่นพอสมควรแล้วนะ ที่โดนๆ คือ เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม เล่มนี้อยู่ในหมวด Warm Heart ด้วย ของป้ากล้วย บานาน่า ก็เคยอ่าน คิทเช่น ไล่ไปอีกจะมี เทวดาที่โหล่ และ ล่าสุด KIRAKIRA เป็นประกาย ที่หลายคนมักจะพูดถึง
เมื่ออ่านเล่มนี้จะมีเล่ม เมื่อพ่อลักพาตัวฉัน อยู่ใน Waiting List อีกเล่ม เพราะอยู่ในหมวด Warm Heart เหมือนกัน รู้สึกว่าหมวดนี้จะถูกจริต
เล่มนี้เป็นเรื่องจริงของผู้เขียน เธอเป็นคนตาบอด แต่งงานกับคนตาบอด เช่าบ้านอยู่ชั้นสอง มีปมในใจเรื่องสุนัข เพราะโดนสุนัขจะขย้ำตอนเด็กๆ แต่สุดท้ายความฝันอยากมีลูก ทำให้ต้องใช้ชีวิตกับสุนัขนำทางชื่อ เบอร์นา ชื่อเรื่องมาจากเบอร์นาสื่อสารกับเจ้าของด้วยการกระดิกหางแบบต่่างๆ
สุดท้ายฝันก็เป็นจริง ครอบครัวนี้มีบุตรชาย แต่เรื่องราวเพิ่งเริ่มต้น ฉากสุดยอดคือฉากลูกชายกลับมาจากโรงเรียนแล้วบอกว่ารับไม่ได้ที่มีพ่อแม่เป็นคนตาบอด แต่เธอนิ่ง จนสุดท้ายลูกคิดได้เอง แล้วค่อยอธิบายเรื่องดวงตาในดวงใจ ตอนท้ายลูกชายก็เอาเรื่องนี้ไปเล่าเรื่องดวงตาในดวงใจ อย่างภาคภูมิใจ ช็อตนี้ยอดเยี่ยมครับ คนเป็นพ่อแม่ต้องอดทนครับ ในบางกรณีเงียบจะดีเสียกว่า แล้วค่อยอธิบายเมื่อลูกพร้อม จะได้ผลดีกว่ามาก เอาตัวอย่างฉากนี้ไปใช้ได้ครับ พ่อแม่ตาดีทั้งหลาย
ฉากอธิบายตามสถานที่ต่างๆ ถึงสุนัขนำทางก็น่าติดตาม แต่ฉากที่มีคนเมาแกล้งเบอร์นา คิดแล้วน่าเศร้าจริงๆ แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้เขียนได้เอามาใช้อธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ว่า สุนัขนำทางคนตาบอดถูกฝึกมาอย่างดี และไม่ทำร้ายใคร
เหตุการณ์ประทับใจมีมาเรื่อยๆ ครับในเล่มนี้ และ หลายๆ ครั้งผู้เขียนก็มีทางออกให้กับชีวิตได้ดีเสมอ อย่างตอนที่ไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องคนตาบอดและสุนัขนำทางก็ดีครับ เห็นว่าควรให้ความรู้ความเข้าใจกับคนอื่น จึงได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จดกฎสี่ข้อเมื่อเราเห็นคนตาบอดกับสุนัขนำทางมาไว้ให้ทราบ ข้อ ๑ ถ้าเจอสุนัขจูงคนตาบอด อย่าสุ่งเสียงเรียก หรือลูบหัวตามอำเภอใจ ข้อ ๒ ห้ามจับสายรัดอกเป็นอันขาด เพราะสายรัดอกเป็นตัวกลางเชื่อมความรู้สึกและการสื่อสารระหว่างคนตาบอดและสุนัขจูงคนตาบอด ข้อ ๓ ห้ามให้อาหารแก่สุนัขจูงคนตาบอด เพราะสุนัขจะต้องไปที่ต่างๆ จึงต้องมีวินัยในการถ่ายทั้งหนักและเบา ข้อ ๔ ห้ามยั่วเย้าหรือกลั่นแกล้งเด็ดขาด
ย้อนนึกถึงตัวเอง ตอนเด็กๆ ที่บ้านก็ไม่เคยขาดสุนัข รุ่นแล้วรุ่นเล่า ทุกตัวให้ความประทับใจได้เสมอ แม้หลายครั้งจะไม่ได้ตั้งใจเลี้ยง แต่เมื่อมาอยู่ในบ้านก็ซื่อสัตย์จนน่ายกย่อง จำเสียงรถคุณพ่อได้ตั้งแต่อยู่ไกลๆ เดินไปสวนกับพ่อไม่เคยรู้จักเหน็ดเหนื่อย แถมตอนจะตาย กลัวเจ้าของจะเดือดร้อน มักกระเสือกระสนไปตายไกลบ้านเสมอ เท่านี้ก็พอบอกได้ถึงเพื่อนน่ารักสี่เท้าพวกนี้
แต่ก็ต้องฝึกนะครับ ไม่เช่นนั้นจะเป็นดังข่าวที่ออกมาบ่อยๆ เรื่องสุนัขกัดเด็กจนเสียชีวิต อีกอย่างต้องเลือกพันธุ์ของสุนัขให้เหมาะสมด้วย แถมอีกอย่าง ทำไมมักมีแต่ข่าวสุนัขทำร้ายคน ทีสุนัขช่วยคน ซื่อสัตย์ต่อคน ไม่ค่อยเห็นลงข่าว ทำไมนักข่าวบ้านเราชอบเอาแต่ข่างเชิงลบนำเสนอ ข่าวดีๆ ประเทืองปัญญาและสังคม อย่างนี้เขาไม่นิยมให้ลงใช่ไหมครับ หรือผมเข้าใจผิดอะไรเกี่ยวกับการทำข่าว ใครเรียนการทำข่าวมา บอกที
อีกอย่างต้องขอชื่นชมผู้แปลครับ อ่านแล้วได้อรรถรสดี ผมเคยอ่านหนังสือแปลแล้วไม่สนุกมา ๒ เล่ม เล่มหนึ่งเป็นวิชาการ ทำให้อ่านไม่จบ จนได้ไปอบรมเมื่อสิบปีให้หลัง จึงรู้ว่าแปลไม่ดี จึงได้แปลใหม่ อีกเล่มเป็นวรรณกรรม อ่านแล้วไม่ค่อยสนุก แต่มีรางวัลพะอยู่หลายรางวัล เลยคิดเอาเองว่า ต้นฉบับเขียนอย่างไรหนอ จะสนุกไหม แต่เล่มนี้ ลื่นไหล ดีครับ ขอชื่นชมอีกครั้ง
ถ้าถามว่า แล้วใครล่ะที่คิดว่าแปลหนังสือได้ดี ผมมีหนึ่งชื่อแนะนำ เทศภักดิ์ นิยมเหตุ ครับ ปัจจุบันท่านเสียชีวิตไปแล้ว แต่ผลงานแปลของท่านสุดยอดครับ ผมอ่านเล่มแรกคือ แผ่นดินนี้เราจอง สนุกมาก นับแต่นั้นมา ซื้อผลงานท่านทุกเล่มเลยครับ ยิ่งจับคู่กับ Richard Powell ที่เป็นนักเขียน ซื้อได้เลย รับประกันความสนุก ท่านแปลได้ลื่นไหล และผมเชื่อว่าท่านไม่ได้แปลดื้อๆ ใส่สำนวนให้อ่านลื่น แต่เนื้อหาไม่เสีย นี่แหละครับเขาเรียกว่าสุดยอด
ใครมีหนังสือญี่ปุ่นดีๆ แนะกันบ้างนะครับ หรือนักแปลคนไหนโดนใจ บอกกันบ้างก็ดีครับ
มีความสุขทุกคนครับ
Create Date : 25 ตุลาคม 2551 |
Last Update : 8 กันยายน 2552 22:45:15 น. |
|
24 comments
|
Counter : 2552 Pageviews. |
 |
|
และเท่าที่อ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นมาเนี่ยนะ
อารมณ์นึงที่สัมผัสได้เสมอคือ "อบอุ่น" และต้องคิดตีความต่อ
เราว่าวิธีการเขียนหนังสือแบบนี้ ทำให้คนอ่านได้ "อะไร" มากกว่าเรื่องราวนะ
ต่างจากนักเขียนไทย...อ่านแล้วไม่ต้องคิดตามหรือตีความมากนัก
เพราะแต่ละท่านเป็น "นักเล่าเรื่อง" ที่ดีกันทั้งนั้น
เรื่องแปลญี่ปุ่นที่เราได้อ่านช่วงนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแนวสืบสวนค่ะ
แต่ถ้าเป็นเรื่องเด็ก ก็คงไม่พ้น "โต๊ะโตะจัง" ซึ่งเชื่อว่าคุณคงได้อ่านแล้ว
อยากแนะนำเรื่องชุด "ร้อนแรง-เยือกเย็น" ค่ะ
แนวเรื่องรักๆ ในอารมณ์ศิลป์ๆ แต่ที่ชอบเพราะวิธีการเขียน 2 คน 2 เล่ม แต่เกี่ยวกันนั่นแหละ ...
อ่านจบ ดูหนังต่อ....อยากไปฟลอเรนซ์ชะมัดเลย
เทศภักดิ์ นิยมเหตุ กับ Richard Powell เป็นการจับคู่ที่ลงตัวมากๆ เราเริ่มต้นงานแปลของคุณเทศภักดิ์ ด้วย "แผ่นดินนี้เราจอง" เช่นกันค่ะ
ไม่น่าเชื่อว่า ตอนนี้เรามีหนังสือเล่มนี้ ถึง 3 ปกแล้วด้วย...ไม่รู้จะซื้อทำไมนักหนานะเนี่ย
แต่ก็ยังมีไม่ครบหรอกค่ะ...
ค่อยแสวงหา ตามเก็บกันต่อไป
นักแปลในดวงใจอีกท่านนึงของเราก็คือ "มนันยา" ติดตามอ่านผลงานมาหลายเรื่อง
ชอบแนวหักมุมที่คุณมนันยาเลือกมาแปลมากๆ
อ่านกี่เรื่องกี่เรื่อง ก็ชอบไปหมด
กำลังรอเวลาเหมาะๆ ไปลงคอร์สเรียนแปลกับคุณมนันยาบ้าง....ไม่รู้ว่าจะมีเปิดสอนอีกรึป่าว เพราะเราพลาดไป 2 รอบแล้ว