บริหาร การจัดการ การตลาด พัฒนาตนเอง พัฒนาความคิด กลยุทธ์ ธรรมะ จักรราศี ฯลฯ
จัดตั้งธุรกิจ ปรับปรุงกิจการ | ไขความลับสมองเงินล้าน | การเขียนแผนธุรกิจ | บริหารคน บริหารงาน | พัฒนาความคิด
พระไตรปิฎกฉบับหลวง | แด่องค์กรที่แสนรัก | สุขใจกับเด็กสมาธิสั้น
Group Blog
 
All Blogs
 

เคล็ด : การใช้อำนาจบุญแก้กรรม-ปัญหาชีวิต

ผู้เปิดเผยเรื่องนี้คือท่านพระอาจารย์เกษม อาจิณณสีโล ท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่หล้า พระอริยเจ้าแห่งวัดภูจ้อก้อ จ.มุกดาหาร อุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2529 ท่านมีประสบการณ์ทางจิตที่โลดโผนพิสดาร แม้เดินจงกรมก็สามารถเดินเหยียบอากาศเอาผ้าไปพาดไว้บทกิ่งไม้สูงสิบเมตรได้ ทั้งสามารถมองเห็นภูติผี ปีศาจ เทวดา นาค ครุฑ ยักษ์อย่างจัดแจ้งแม้กระทั่งลืมตามีญาณระลึกชาติย้อนหลังได้มากมายหลายชาติ เป็นพระสงฆ์ที่ใช้เวลาท่องเที่ยวไปในนรกสวรรค์ปานเรื่องพระมาลัยโปรดสัตว์โลกนับครั้งไม่ถ้วน ด้วยท่านเป็นพระที่ไม่สนใจในลาภ ยศ ชื่อเสียง ทั้งเทพยดาสูง-ต่ำ ตลอดจนภูติ-ผี-ปีศาจ-เปรต-อสูรกาย-สัมภเวสี ที่ตกทุกข์ได้ยากทั่วทุกสารทิศ พากันหลั่งไหลมุ่งไปหาขอความช่วยเหลือจากท่านแต่ละวันผู้คนมากมายมากหน้าหลายตาต่างดั่นด้นข้ามป่าข้ามเขา ผ่านหนทางอันทุรกันดารไปกราบท่านเพื่อให้ท่านช่วยแก้ไขปัญหาเคราะห์กรรมต่างๆซึ่งท่านก็เพียงแต่แนะนำหลักการใช้บุญแก้กรรมแบบง่ายๆ แต่ทว่า...ได้ผลชงักงันอย่างคาดไม่ถึง อย่างชนิดที่ไม่มีพระรูปไหนกล้าพูดแนะนำได้อย่างนี้ เรามักท่องเป็นคาถาอยู่ร่ำไปว่าเวรกรรมนั้นแก้ไม่ได้ แต่พระอาจารย์ท่านยืนยันรับประกันอย่างหนักแน่นให้ฟ้าผ่าห่ากินว่า...แก้ได้ ไม่ต้องลงทุนอะไรมากไม่ต้องทำพิธีสวดอะไรให้ใหญ่โตเสียเวลา เสียเงินทองให้มากมาย แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่าทุกวันนี้คนทำบุญทำกันไม่เป็น ดึงบุญที่เคยทำมาใช้ก็ทำไม่เป็น เป็นแต่ตะบันก้มหน้าก้มตาชดใช้กรรมอย่างจนตรอกอยู่ท่าเดียวหลายท่านเมื่อนำคำสอนที่ท่านแนะนำไปปฏิบัติ ต่างก็ได้รับผลดีเกินคาด แต่ด้วยความที่ท่านไม่อยากเด่นอยากดัง หากใครจะขอนำประวัติท่านมาลงหนังสือท่านจะไม่ยอมพูดด้วย ท่านจะมีเมตตามากในการเทศน์การสอนญาติโยม แม้กลางคืนก็ยังต้อนรับผู้มาเยือนจากแดนทิพย์ไม่หยุดหย่อน พร่ำสอนเผยแพร่เคล็ดนี้ทั้งวันคืน ท่านมีแผ่นซีดีแจกจ่ายให้นำไปฟังแล้วบอกว่า “ฟังแล้วให้นำไปปฏิบัติแล้วแจกจ่ายกันฟังต่อ ฟังเข้าใจแล้วไม่จำเป็นต้องถ่อไปหาท่านที่วัดเพราะวันๆท่านก็เหนื่อยพอแล้ว การจะทำบุญทำที่ไหนก็ได้ เช่นทำบุญกับพ่อแม่เป็นพระอรหันต์อยู่ในบ้าน แล้วอุทิศบุญให้เทวดาและเหล่าสรรพสัตว์ในโลกทิพย์ก็ได้ผลเท่ากับถวายทานให้พระอรหันต์ วัดของท่านมีพอกินพอใช้แล้ว ไม่ขาดแคลนอะไร จึงไม่จำเป็นต้องหลั่งไหลมาทำบุญกับท่านก็ได้”

วิชาเจริญเมตตาแผ่กุศลนี้ พระอาจารย์กล่าวว่าเคยใช้กันมาก มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่เพิ่งสาบสูญไปเมื่อ 300-400ปีมานี้เอง ถ้าค้นคว้าในพระไตรปิฎกก็พบมากแห่งที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญและเทวดาผู้รับบุญท่านมีเรื่องราวพิสดารมหัศจรรย์ในกรรมฐานอย่างมากมาย การตอบคำถามถึงปัญหาในการปฏิบัติธรรม ท่านจะตอบอย่างห้าวหาญทั้งคำถามในด้านโลกียะและ โลกุตระ ความหยาบละเอียดของอารมณ์พระอริยะเจ้าแต่ระดับทะลุไปจนถึงพระนิพพาน ทุกคำถามมีคำตอบจากท่าน สุดแต่ผู้ถามจะถามปัญหาใด ลีลาการตอบคำถามของท่านจะออกแบบบ้านๆฟังแล้วเข้าใจง่ายไม่ต้องตีความ นำไปสู่การปฏิบัติพัฒนาทางจิตยิ่งๆขึ้นไป หนังสือที่ประมวลสรุปไว้นี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เมื่ออ่านแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ ท่านก็จะประสบความสุขสำเร็จตามปรารถนา แต่เรื่องนี้มิได้มุ่งหวังที่จะไม่ให้ใคร ไม่ต้องตาย!! มิได้มุ่งหวังจะทำให้ใครอยู่ค้ำฟ้าไปตลอดกาล กฎของไตรลักษณ์ย่อมเป็นไปตามไตรลักษณ์ ไหนๆเราก็ต้องตาย แต่เมื่อเรามีทางเลือกที่จะตายได้อย่างสุขสงบ ตายอย่างไม่ต้องมีทุกข์เวทนา และตายได้อย่างมีสติพร้อม แล้วอย่างนี้เราจะปฏิเสธได้หรือ อีกอย่างหนึ่งข้อมูลสาระนี้จะไม่มีผลประโยชน์อันใดต่อท่านที่ยังเหนียวแน่นอยู่กับมานะสังโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ขาดซึ่งอิทธิบาท 4 เช่นนี้แม้ฟ้าดินก็หมดปัญญาที่จะเข้าไปยุ่งอะไรกับท่าน เมื่อป้อนยาเข้าปาก แต่ไม่ยอมกลืน จะคายทิ้งก็สุดแท้แต่เถิด

ที่มาของการเปิดเผยเคล็ดการแผ่บุญแก้กรรม
ชีวิตของมนุษย์และสัตว์ ทั้งในโลกนี้และในโลกทิพย์ล้วนมีส่วนสัมพันธ์กันในเรื่องกฎแห่งกรรมอยู่ตลอดเวลา ในการเวียนว่ายตายเกิดไปๆมาๆจะหาที่ไม่เคยเป็นญาติ ไม่เคยเป็นเพื่อน ไม่เคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรต่อกันนั้นไม่มี ชีวิตของทุกผู้ทุกคนจึงมีส่วนสัมพันธ์กันไม่มากก็น้อย ทั้งในส่วนดีมากและดีน้อย ทั้งในส่วนเลวมากเลวน้อย ทั้งในส่วนที่ทำให้เกิดความเครียดแค้นชิงชังมากและชิงชังน้อย ทั้งในส่วนที่รักและอุปการะมากและน้อยตามแต่กรณี

การได้ดีตกยาก เจ็บไข้ได้ป่วย ของมนุษย์และสัตว์ส่วนหนึ่งเกิดจากผลกรรมในอดีตชาติและปัจจุบันชาติ อีกส่วนหนึ่งได้จากเหตุปัจจัยกระทบจากสิ่งรอบข้าง อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของวิญญาณลี้ลับที่เรามองไม่เห็น เช่น เทวดาช่วยเหลือเทวดาให้โทษ ผีให้โทษ เจ้ากรรมนายเวรที่เคียดแค้นชิงชังให้โทษในคนทุกคน สัตว์ทุกตัว จะมีเทวดารักษาอย่างน้อย 2 องค์ เทวดาประจำตัวนี่แหละที่มีอิทธิพลต่อเราอย่างคาดไม่ถึง บ้างก็ชอบช่วยเหลือให้เราประสบความสำเร็จ หรือช่วยปกป้องคุ้มครองให้เรารอดพ้นจากภัยอันตรายที่น่าหวาดเสียวมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งบางทีเราก็ยกให้เป็นอานุภาพของวัตถุมงคลที่แขวนคอเสียก็มี เด็กน้อยบางคนแม้ไม่มีวัตถุมงคลแขวนคอเลย แต่ตกบ้านตกเรือนด้วยความซุกซน แต่ไม่ได้รับอันตราย เพราะเหมือนมีใครมาอุ้มไว้ก่อนตกพื้นก็มี บุคคลบางคนไม่มีวัตถุมงคล ติดตัวเลยแต่สามารถหลุดพ้นจากอุบัติเหตุ และการดักทำร้ายของศัตรูมาได้อย่างปาฏิหาริย์ นั่นคือการปกปักรักษาจากเทวดาประจำตัวเขา และ/หรือ ญาติในโลกทิพย์ของเรา

ในเรื่องกฎของกรรม เราชาวพุทธคงไม่มีใครปฏิเสธ เมี่อตนเดือดร้อน กำลังเครียดหรือกำลังทุกข์ทรมานใดๆ ที่จำต้องยอมทนอย่างไม่มีทางเลือก หลายๆท่านมักจะนึกคิดแต่เพียงว่า จะขอรับชะตากรรมนั้นหวังจะชดใช้ให้หมดเวรหมดกรรมจบๆกันไป การคิดเช่นนี้ดูจะเข้าท่าตามหลักการยอมรับในกฎของกรรม แต่ออกหยาบ และดูจะปิดโอกาสปิดช่องทางของตนเองอย่างสิ้นเชิง นี่เองพระอาจารย์กล่าวว่า พวกเราไม่รู้ว่ามันยังมีทางออก มีทางเลือกที่แสนจะง่าย ทั้งๆที่เรามีทางเลือกที่จะยอมรับในผลกรรมด้วยวิธีของตนเอง ทั้งๆที่เรามีวิธีที่จะชำระล้างหนี้แค้นหนี้กรรมให้แก่เจ้ากรรมนายเวรเขา โดยที่เราก็ไม่ได้เบี้ยวหนี้ โดยที่เรายังเคารพในกฎของกรรม โดยที่เราไม่ต้องทุกข์ทรมาน ไม่ต้องกลุ้มไม่ต้องเครียด ขณะเดียวกันเจ้ากรรมนายเวรเขาก็พอใจกับประโยชน์สุขนี้อย่างเต็มที่ ความเครียดแค้นพยาบาทอะไรต่างๆที่มีต่อเราก็จางมลายหายไปสิ้น เขาก็เป็นสุข เราก็เป็นสุข แต่นี่....เรากลับปล่อยให้เราเลือกที่จะเล่นงานเราอยู่ฝ่ายเดียว ต่างฝ่ายต่างก็เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งคู่ เขาก็ทุกข์กรุ่นอยู่กับความพยาบาทอาฆาต เราก็ทุกข์ด้วยเวทนาเพราะเขาคอยจ้องแต่จะมาเล่นงานอย่างไม่เลิกรา อย่ากระนั้นเลย เรามายอมรับกฎของกรรมแต่โดยดี ในแบบฉบับที่เราเลือกได้ด้วย “บุญ” กันดีกว่า คนเราล้วนเคยสั่งสมบุญให้ทานกันมาแล้วทั้งนั้น ทั้งในชาติก่อนและในชาตินี้ ถ้าจะนึกถึงบุญมันก็เยอะจนจำไม่หวาดไม่ไหว แต่ด้วยความไม่รู้จักวิธีชำระหนี้แค้นให้แก่เจ้ากรรมนายเวร ดั่งว่า ทำบุญไปก็คิดแต่จะรอให้ตายซะก่อนแล้วจึงค่อยไปรับบุญสรวงสวรรค์ แล้วก็พากัน เอาแต่บ่นว่า บุญอะไรก็ทำหมดแล้ว ชีวิตก็ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลงดีขึ้นมาสักที ก็จะได้ดีอย่างไร ในเมื่อสักแต่ว่าทำบุญแต่ทำไม่เป็น ถูกสั่งสอนกันมาอย่างผิดๆ มัวแต่ไปรออุทิศให้ตอนกรวดน้ำ เจ้ากรรมนายเวรเขาเลยไม่ได้รับ บ้างก็ไม่เคยเผื่อแผ่ให้บุญแกเทวดาที่รักษาตัวเอง ไม่เคยให้เจ้ากรรมนายเวรที่ตามจองเวรกันอยู่ ไม่เคยให้เทวดาญาติทิพย์ที่อาศัยอยู่ในเขตบ้านเขตเรือน ไม่เคยให้แก่เทวดาที่ช่วยดูแลรักษากิจการงานห้างร้าน ไม่เคยให้เทวดาที่รักษาเจ้านายของตัวเอง แถมบางทีการแผ่อุทิศก็ให้ไม่เฉพาะเจาะจง เข้าอีก หรือ ดันไปให้ตอนที่แสงบุญหมดไปแล้ว เทวดาเหล่านั้นบางองค์อาจมีบุญน้อย มีฤทธิ์น้อยจึงไม่สามารถช่วยเหลืออะไรเราได้มาก แต่ถ้าเขาได้รับอานิสงค์บุญจากเราอย่างถูกวิธีบ่อยๆ เขาจะกลายเป็นเทวดาที่มีฤทธิ์มีอำนาจ สามารถช่วยเหลือให้เราประสบความสำเร็จได้ดังใจหมาย

วิธีการทำบุญให้เกิดสัมฤทธิผล
พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่มาแห่งบุญไว้ 3 ประการย่อๆคือ
1. บุญเกิดจากการให้ทาน
2. บุญเกิดจากการรักษาศีล
3. บุญเกิดจากการภาวนาอบรมจิตใจ
การสร้างความดีทุกประการนั้นล้วนเป็นแหล่งของการเกิดผลบุญกุศลทั้งสิ้น แล้วก่อให้เกิดอานิสงส์ที่จะสร้างความสำเร็จในชีวิตได้ทุกเรื่อง
บุญอันเกิดจากการให้ทานพระภิกษุสงฆ์ หรือให้ของแก่ใคร ไม่ว่าจะให้ของแก่พ่อแม่ พี่น้อง ญาติมิตร แม้เอาข้าวให้หมากิน เอาอาหารโยนให้ปลากิน เอาเศษอาหารโปรยให้มดกิน ขณะนั้นจะเกิดกระแสบุญเป็นแสงเรืองรองแผ่ออกจากตัวผู้ให้ทันที และเพียงไม่กี่วินาทีแสงนี้จะพุ่งหายขึ้นไปเบื้องบนแล้วสะสมเป็นกองบุญของผู้ให้อยู่บนเทวดาโลกดังนั้นจึง ***ขอเน้นย้ำว่าหลักสำคัญที่สุดว่า ขณะของหลุดจากมือเมื่อใส่บาตร/ถวายของพระสงฆ์ หรือให้ของแก่ใครก็ตาม เราต้องอธิฐานจิตแผ่บุญทันที อย่ามัวไปรอแผ่บุญตอนพระสวด “ยะถาสัพพี”*** เนื่องจากการแผ่ให้ตอนพระยถาฯอย่างที่เคยปฏิบัติกันมานั้นผิด เพราะกระแสบุญได้เลือนจางหายไปอยู่ในสวรรค์หมดแล้ว ต้องคิดแผ่บุญในทันทีทันใดว่า “บุญนี้จงเป็นของเทวดาผู้รักษาตัวข้าพเจ้า หรือ บุญนี้จงเป็นของเจ้ากรรมนายเวรของข้าพเจ้า หรือ บุญนี้จงเป็นของเทวดา ภูต – ผี – ปีศาจ – เปรต – ครุฑ – นาค – ยักษ์ ที่สถิตอยู่ในสถานบ้านเรือนของข้าพเจ้า หรือจงเป็นของเทวดาผู้รักษาบิดามารดาของข้าพเจ้า เป็นต้น ขึ้นอยู่กับเราว่าต้องการแก้ปัญหากลัดกลุ้มในเรื่องไหน
บุญอันเกิดจากการภาวนา ให้อธิษฐานแผ่เมตตาก่อน เช่นว่า ขอบุญที่เกิดจากการภาวนาต่อไปนี้ ถึงแก่เจ้ากรรมนายเวรที่ทำให้ข้าพเจ้าเจ็บป่วย(เป็นอะไร) หรือจะให้ใครก็ให้อธิษฐานเอาเองแล้วก็เริ่มภาวนาได้เลย หลังจากเลิกภาวนาก็ให้อุทิศบุญนี้ไปอีกครั้งหนึ่ง บุญที่เกิดจากการภาวนานี้ จะมีพลานุภาพแรงยิ่งกว่าบุญจากการให้ทานมาก ฉะนั้นพวกภูติผีชั้นต่ำมักรับไม่ค่อยได้ เราต้องเปิดช่องไว้ก่อนภาวนา เขาจะได้เตรียมรับตามกำลังความสามารถของตนเอง เพราะหากให้ตอนที่ภาวนาเสร็จแล้ว จึงให้ก็เปรียบเหมือนเราปล่อยน้ำที่พุ่งจากท่อดับเพลิง แต่เขาเอาภาชนะที่ไม่เหมาะสมมารับ เขาจะรับไม่ได้เนื่องจากกำลังจิตของเขาไม่แข็งแรงพอ หากเราอธิษฐานเปิดให้เขาเตรียมตัวไว้ก่อนก็เหมือนเปิดก๊อกน้ำออกค่อยๆ ใครภาชนะน้อยก็เอามาตวงรับตามกำลังที่เขามี แต่สำหรับเทวดาบุญหนักศักดิ์ใหญ่ท่านสามารถรับบุญใหญ่หลังภาวนาได้อยู่แล้ว เปรียบเหมือนท่านมีโอ่งมีถังขนาดใหญ่สำหรับรองรับน้ำที่พุ่งออกจากท่อดับเพลิงนั่นเอง
บุญอันเกิดจากการรักษาศีล การทำบุญด้วยการตั้งใจรักษาศีล ก็ย่อมเกิดกุศลขึ้นเช่นกัน ทุกครั้งที่ระลึกถึงศีลตัวเองรักษาดีแล้ว ไม่ด่างพร้อย ก็สามารถอธิษฐานส่งบุญได้ว่า “บุญที่ข้าพเจ้าได้รักษาศีลนี้จงถึงแก่.......”
หรือในการทำความดีทุกอย่าง เช่นแม้แต่การพูดให้เขาได้สติคิดดี การได้ช่วยเหลือคน การได้ทำประโยชน์ส่วนรวม ย่อมก่อให้เกิดความปีติดีใจ นั้นแหละคือบุญ ให้รีบส่งถึงผู้ที่เราต้องการให้บุญทันที

การเบิกบุญ
การเบิกบุญเก่าที่เคยส่งสมมาแต่อดีตมาใช้ บุญที่เราทำไว้แล้วมีมากมายที่สะสมอยู่ในสรวงสวรรค์ ทั้งที่ได้ทำไว้แต่ปางก่อน หรือ ได้ทำไว้ในชาตินี้ เราสามารถเบิกบุญนั้นมาแจกจ่ายอุทิศให้แก่ผู้อยู่ในโลกวิญญาณ ได้เหมือนเรามีเงินเก็บในธนาคาร เราก็ใช้เอทีเอ็มกดเบิกเงินออกมาใช้จ่าย แต่การเบิกบุญนั้น ที่สำคัญลืมไม่ได้เลยคือ ต้องอาศัยอำนาจพระรัตนตรัยขึ้นนำก่อนเสมอ คือให้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ด้วยอำนาจของพระพุทธเจ้า “ด้วยอำนาจของพระธรรม ด้วยอำนาจของพระสงฆ์ จงบันดาลให้บุญของข้าพที่ทำมาแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันถึงแก่.......” จะให้ใครก็คิดนึกให้เอาเอง การเบิกบุญแจกจ่ายนี้สามารถให้ได้ทุกที่ทุกเวลา เมื่อนึกขึ้นได้ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม อุจจาระ ปัสสาวะอยู่ก็ตาม

นานาปัญหาเคราะห์กรรมแก้ได้ด้วยบุญ
ท่านที่ทุกข์ทรมานด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โรคภัยไข้เจ็บปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่เกิดกับตัวเรานั้น สืบเนื่องจากการกระทำของเจ้ากรรมนายเวร ผู้เคียดแค้นชิงชัง พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ฆ่าสัตว์ย่อมอายุสั้น ผู้เบียดเบียนสัตว์ย่อมสุขภาพไม่ดี เชื้อโรคร้ายแรงต่างๆที่มีอยู่ในร่างกาย ก็ล้วนแต่เป็นเจ้ากรรมนายเวรทั้งนั้น โรคเรื้อรังร้ายแรงการรักษาด้วยวิธีการกินยา ฉีดยาเข้าไปฆ่าทำลายเขา หรือการใช้พลังจิต-อำนาจสมาธิอย่างใดๆ เข้าไปขับไล่ นอกจากเป็นการรักษาที่ขาดเมตตาปราณีอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์แล้ว ขณะเดียวกันก็ยิ่งทำให้เหล่าเจ้ากรรมนายเวร ยิ่งทวีความพยาบาทเคียดแค้นผู้ป่วยมากขึ้นไปอีก หลายโรคจึงหมดหนทางเยียวยา ผู้ป่วยต้องจมอยู่กับความทุกข์เวทนาไปต่างๆนานา จะตายก็ไม่ตาย จะหายก็ไม่หาย ทรัพย์สินที่มีก็พินาศไปกับค่ารักษา ทุกข์ทั้งคนป่วย ทุกข์ทั้งคนที่เป็นญาติๆเป็นบริวาร ในที่สุดหลายรายต้องจบชีวิตลงไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆที่มีทางเลือกทั้งๆที่มีโอกาส ทั้งๆที่มีบุญก็มากมายแต่ไม่รู้จักเบิกมาล้างแค้นให้แก่เขา ดังนั้นการเยียวยาที่ถูกต้อง ต้องโอนบุญ-เบิกบุญไปให้เฉพาะเจาะจงแก่เจ้ากรรมนายเวร ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยนั้นๆ (อย่าไปบอกว่าให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย.....เหมือนอย่างที่เคยทำ) และให้เทวดาที่รักษาตัวเราไปในขณะเดียวกัน การอธิษฐานเบิกบุญเก่าอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรที่รบกวน ควรทำวันละหลายๆครั้ง จนเขาพอใจ อารป่วยของเราจะหายเร็วขึ้น
วิธีการให้บุญแก่เจ้ากรรมนายเวร ควรทำดังนี้เป็นตัวอย่าง เช่น ผู้ที่ป่วยด้วยมะเร็งปอด ก็ส่งบุญอย่างเฉพาะเจาะจงว่า “บุญนี้ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยมะเร็งปอด ฯลฯ (สุดแต่มะเร็ง หรือเป็นอะไร) พวกเชื้อโรคมะเร็งเมื่อได้รับบุญแล้วขอให้เจ้ามีชีวิตที่ดีขึ้น มีภพภูมิที่สูงขึ้น จงหลุดจากชีวิตชั้นต่ำเดี๋ยวนี้ เมื่อเราหายแล้วเราจะทำบุญให้แก่พวกเจ้า ส่งชีวิตของพวกเจ้าให้สูงขึ้นเรื่อยๆ พวกเจ้าจงเลิกจองเวรจองกรรมในเราเสียที ตั้งแต่นี้เราจะตั้งตนอยู่ในศีลในธรรม เลิกการเบียดเบียนเข่นฆ่าชีวิตสัตว์อื่น ขอส่งบุญที่เกิดจากการรักษาศีลแก่เจ้าด้วย
ท่านที่กลัดกลุ้มเรื่องบุตรหลานบริวาร ชอบสร้างแต่ความเดือดร้อน สั่งสอนไม่ฟัง แบบนี้ต้องให้เทวดาผู้รักษาตัวเขาเป็นผู้ขนาบตักเตือน วิธีที่เทวดาตักเตือนนั้นท่านจะสั่งการดลไปที่ความรู้สึกนึกคิดจิตใจของเขา ถ้าเทวดาประจำตัวของเขาเป็น มิจฉาทิฐิ เมื่อได้รับบุญบ่อยๆ เทวดาท่านจะรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงในทิพย์ของตนเอง มีชีวิตที่สุขสบายขึ้น มีฤทธิ์อำนาจขึ้น เขาจะทราบได้เองว่า สิ่งที่เขาได้รับนั้นมาจากไหน เมื่อเราอุทิศบุญให้ ท่านก็อธิษฐานด้วยว่า “เมื่อเทวดาได้รับบุญแล้วขอให้มีความสุขๆ มีกินมีใช้ มีเสื้อผ้าที่อยู่อาศัย และขอให้ช่วยอบรมตักเตือนให้ลูกของข้าพเจ้าเป็นคนดีด้วย” ดังนี้ไม่นานหรอก จะเกิดเรื่องพิสดารขึ้นกับบุตรเกเรคนนั้นจนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นคนดีแน่นอน
คนที่กลุ้มเรื่องแฟน เรื่องครอบครัว สามี/ภรรยา เรื่องเพื่อน/คนรอบข้าง คู่ครองจองตนเองเป็นคนที่น่าเอือมระอาเหลือเกิน อยากให้คู่ครองเป็นคนดี รักเรา ละเลิกจากประพฤติชั่ว เหลวไหล ก็ให้ทำยุทธวิธีแบบเดียวกับที่ให้บุญแก่เทวดาที่รักษาบุตร แล้วท่านจะพบกับความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแบบไม่น่าเชื่อ
หากกิจการ ธุรกิจการค้าขายของท่านล้มเหลงหรือซบเซา เมื่อท่านทำบุญทุกครั้งควรอุทิศบุญให้เทวดาประจำตัวของท่านและเทวดาที่ดูแลกิจการค้าพร้อมกันไป แล้วอธิษฐานว่า “เทวดารับบุญของเราแล้วโปรดช่วยเหลือกิจการค้าธุรกิจของเราให้ประสบความสำเร็จด้วยเถิด ถ้าเราร่ำรวยขึ้นก็จะทำบุญให้ท่านยิ่งๆขึ้นไปอีก” จะให้คำเรียกตนเองว่า ข้าพเจ้า ว่าข้า ว่าเรา ก็ได้ ทั้งนั้น
ท่านที่เปิดร้านค้าขาย จะเป้นร้านอะไรก็แล้วแต่ เมื่อทำบุญก็ให้อุทิศบุญแก่เทวดาที่รักษาร้านค้านั้นด้วย แล้วบอกว่า “เทวดาเมื่อได้รับบุญแล้วโปรดเรียกลูกค้ามาอุดหนุนให้มากๆด้วย”
การอุทิศโอนบุญ ไม่ต้องพูด อย่าไปอุทิศเอาตอนกรวดน้ำให้ใช้เพียงแค่การคิด และต้องรีบคิดในทันที อย่ามัวรีรอชักช้าเป็นอันขาด เพราะแสงบุญที่เกิดขึ้นจะดำรงอยู่ไม่กี่วินาทีและจะหายวับไปอยู่ในสวรรค์ ถ้าเราฝึกบ่อยๆเราจะชำนาญในการคิดเพราะการคิด......กระแสบุญจะแรงกว่าการพูดออกจากปาก เวลาหย่อนของลงไปในบาตรปั๊บให้คิดส่งบุญทันที และต้องคิดให้ชัดเจนอย่าลางเลือน ให้ของแก่ใครเมื่อของหลุดจากมือปั๊บ เราต้องคิดส่งบุญให้ปั๊บทันที อย่าช้า!!
ผู้มีอาชีพเกี่ยวเนื่องกับการฆ่าหรือเบียดเบียนสัตว์อื่น เช่น เจ้าของโรงฆ่าสัตว์ คนขายเนื้อสัตว์ ชาวประมง ขายปลาสดตามตลาด เชือดไก่ขาย คนเหล่านี้ต้องสร้างบาปกรรมทุกวันๆจึงก่อความเคียดแค้นชิงชังให้แก่สัตว์ที่ถูกฆ่าอยู่ทุกวี่ทุกวัน เขาก็พยายามของล้างจองผลาญ แต่ในขณะที่บุญเก่าของผู้นั้นยังมีอยู่เจ้ากรรมนายเวรก็ทำอะไรไม่ได้ แต่หากว่านายเวรเขาสบโอกาสได้ช่องเมื่อไร วิญญาณสัตว์ที่เคียดแค้นเหล่านั้น (นายเวร) จะให้เคราะห์หามยามซวยแก่เราได้ทันที ต้องพยายามไถ่ถอนกรรมของตัวด้วยการทำบุญ แล้วโอนอุทิศให้วิญญาณสัตว์ที่ตัวเองฆ่า ทำบ่อยๆ ส่งบ่อยๆ เอาเนื้อสัตว์ที่เราขายนั้นทำอาหารถวายพระ หรือเลี้ยงผู้อื่นอธิษฐานว่า “บุญนี้ให้สัตว์ทั้งหลายที่ได้ฆ่าหรือ ผู้อื่นฆ่าเพราะคำสั่งเราเหล่าสัตว์เหล่าใด ได้รับบุญแล้วขอให้มีแต่ความสุขความเจริญ มีชีวิตวิญญาณที่ดีขึ้น จงหลุดพ้นจากกรรมเวรที่ตัวเองเคยสร้างไว้แล้ว จงมีภพที่สูงขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งเป็นเทวบุตรเทวดาในสรวงสวรรค์ เมื่อได้รับบุญแล้วจงอโหสิกรรมให้เราด้วย อย่าได้จองเวรซึ่งกันและกันเลย เจ้าตายเพราะเราแต่ก็มีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะเรา ดีหว่าเจ้าตายเองหรือตายเพราะฝีมือผู้อื่น ซึ่งมีชีวิตทุกข์ทรมาน”
ผู้ที่ถูกผีเข้า จงเอาของให้ทานแก่ผู้ทรงศีล จะพระหรือฆราวาสก็ได้ แล้วอุทิศบุญเจาะจงถึงผีในร้างผู้ป่วยขอให้ได้รับบุญนี้เมื่อได้บุญแล้วโปรดออกจากร่างผู้ป่วยเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่ยอมออกก็ให้บ่อยๆ ให้สิ่งของเล็กๆน้อยๆ ให้เงินห้าบาทสิบบาท ให้กาแฟ 1 แก้ว โอวัลติน 1 แก้ว แล้วอุทิศได้ทั้งนั้น
ผู้ที่ถูกคุนไสย ให้อธิษฐานดังนี้ “ด้วยอำนาจพระพุทธเจ้า ด้วยอำนาจพระธรรม ด้วยอำนาจพระสงฆ์ โปรดจงลบล้างอำนาจชั่วช้าต่ำทรามที่มีผู้ส่งเข้าป่วยให้สูญสลายไป ณ บัดนี้” ขอบุญนี้จนถึงวิญญาณชั่วร้ายที่มีคนส่งเข้าร่างผู้ป่วยเมื่อเจ้าได้รับบุญแล้ว จงมีความสุขความเจริญ จงมีฤทธิ์มีอำนาจหลุดพ้นจากการบังคับกดขี่ของผู้ทรงเวทวิทยาคมที่ส่งเข้ามา จงออกจากร่างคนป่วยเดี๋ยวนี้ “ถ้าไม่หายให้ทำบ่อยๆ เดี๋ยวอาการก็ดีขึ้นเอง โดยไม่ต้องไปทำพิธีอะไรอื่น ไม่ต้องไปเสาะหาจ้างหมอผีผู้มีวิยาคมทีไหนมาแก้เพราะอำนาจของพระรัตนตรัยนั้นยิ่งเหนือทุกสิ่งทุกอย่างในสากลจักรวาลอยู่แล้ว
หลีกเลี่ยงการสวดมนต์เพื่อขับไล่วิญญาณ บทสวดมนต์แต่ละบทมีอำนาจขับไล่และเบียดเบียนพวกวิญญาณชั้นต่ำในโลกทิพย์ให้ได้รับความเดือดร้อน พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามมิให้ภิกษุทำน้ำมนต์ขับไล่ผีไว้ในพระวินัยบัญญัติ ดังนั้นการสวดเพื่อเจริญพุทธานุสติ ธัมมานุสติ และสังฆานุสติ โปรดอย่าตั้งจิตไปกำหราบคุกคามภูตผีปีศาจชั้นต่ำทั้งหลายให้ได้รับความเดือดร้อน เมื่อจะสวดให้ตั้งจิตระลึกเสียก่อนว่า “ภูตผีปีศาจชั้นต่ำทั้งหลาย บัดนี้เราจะกล่าวบทสวดมนต์ ใครชอบฟังเอาบุญกุศลก็ให้ตั้งใจฟัง หากใครฟังแล้วทรมานก็ให้หลีกหนีไปที่อื่นจนกว่าเราจะสวดมนต์เสร็จแล้วจึงกลับมาเถิด เราไม่ได้สวดเพื่อขับไล่ใคร แต่เราสวดเพื่อเจริญในพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณเท่านั้น”
โปรดอย่านิมนต์พระมาทำพิธีขับไล่ภูตผีในที่อยู่อาศัยควรงดเด็ดขาด เพราะวิญญาณนั้นเขาอยู่อาศัยที่นั้นมาก่อนเราอย่างสงบสุข บางตนก็เป็นญาติที่เราเคารพรักมาก่อน ตายไปแล้วมีบุญน้อยกุศลน้อยก็เป็น ภูตผีอาศัยอยู่ในบ้านนั้น ภูตผีบางตน มีความทุกข์เดือดร้อน พยายามส่งกระแสความเดือดร้อนให้เรารู้สึกเพื่อจะได้ทำบุญส่งให้เขา แต่คนเข้าใจคิดว่าเขาเบียดเบียนหลอกหลอน จึงนิมนต์พระมาสวดขับไล่ เมื่อเราไปทำพิธีขับไล่ก็ยิ่งเดือดร้อนเข้าไปอีก แล้วพวกวิญญาณเหล่านั้นจะรวมหัวกันกลั่นแกล้ง ผู้คนในบ้านให้เดือดร้อนวุ่นวาย กันมากขึ้น มีแต่เรื่องทะเลาะกันขัดแย้งกันเนืองๆสังเกตดู บ้านไหนที่มีคนถือวิชาอาคมสวดมนต์ไล่ผีบ่อยๆคนในบ้านจะหาความสุขความสงบไม่ได้เลย พ่อ แม่ ลูก สามี ภรรยา ทะเลาะขัดแย้งด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง จนฆ่ากันตายมานักต่อนัก ฉะนั้นต่อไปเมื่อเหตุเดือดร้อนภายในบ้านหรือองค์กร ควรทำบุญอุทิศให้พวกเขา เมื่อพวกเขาอยู่สุขสบายก็เลิกรบกวนเรา แล้วจะกลับเป็นองค์รักษ์ชั้นดีที่คอยปกปักรักษาเราต่อไป
หลีกเลี่ยงการติดผ้ายันต์กันภูตผีในบ้าน หรือการพกเครื่องราง ของขลังที่เบียดเบียนวิญญาณชั้นต่ำให้ได้รับความเดือดร้อนและเคียดแค้น อันจะส่งผลให้เขาหันกลับมาเป็นเจ้ากรรมนายเวรจองล้างจองผลาญเราไม่มีที่สิ้นสุด โดยที่เราไม่รู้ตัว บ้านเรือนเคหะสถานเป้นของที่มีอยู่ในโลกนี้ เป็นทั้งที่อยู่ของผู้ที่มีชีวิตในโลกและในอีกมิติหนึ่งที่เรามองไม่เห็น ไม่ควรเห็นแก่ตัวว่าเป็นสมบัติของเราเพียงผู้เดียว ควรร่วมกันอยู่กันอย่างสงบสุข พวกวิญญาณต้องอาศัยบุญกุศลถึงอยู่ได้ ถ้าได้รับบุญจากมนุษย์ผู้อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินเดียวกัน เขาย่อมพึงพอใจและจะรักษามนุษย์ให้มีความสุขความเจริญ แม้พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนไว้ใน เทวตาทิสสทักขิณานุโมทนา ว่า

ยัสมิง ปะเทเส กัปเปติ วาสังปัณฑิตะชาติโย
สีลวันเตตถะ โภเชตวา สัญญะเต พรหมะจานิโน
ยา ตัตถะ เทวตา อาสุง ตาสัง ทักขิณะมาทิเส
ตา ปูชิตา ปูชะยันติ มานิตา ฆานะยันติ นัง
ตะโต นัง อนุกัมปันติ มาตาปุตตัง วะ โอระสัง
เทวะตานุกัมปิโต โปโส สะทา ภัทรานิ ปัสสะติ

แปลความว่า ผู้ฉลาดชาติบัณฑิต เมื่ออาศัยอยู่ ณ สถานที่แห่งใดควรเชื้อเชิญผู้ทรงศีลเข้าไปเลี้ยงดูในสถานที่แห่งนั้น แล้วอุทิศบุญให้แก่เทวดาผู้อาศัยอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้น เทวดาเมื่อได้รับการบูชาแล้วย่อมบูชาตอบ คือทำความอนุเคราะห์ช่วยเหลือผู้อุทิศบุญให้แล้วนั้นเหมือนบิดามารดาผู้รักบุตรย่อมอนุเคราะห์บุตร ผู้ใดได้รับการช่วยเหลือจากเทวดาแล้วย่อมประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองเป็นนิจ

การให้ทานแก่บุคคลย่อมมีผลบุญแตกต่างกัน ให้ในพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานย่อมเกิดผลมากกว่าให้พระพุทธเจ้าองค์เดียว ให้ในพระพุทธเจ้าย่อมมีผลมากกว่า ให้ในพระอรหันต์ ให้ในพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ผู้ออกจากนิโรธสมาบัติย่อมมีผลมากกว่าให้ในพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ในสถานภาพปกติ ให้ในพระอรหันต์ย่อมมีผลเหนือกว่าให้ในพระอนาคามี ให้ในพระอนาคามีย่อมมีผลมากกว่าพระสกิทาคามี ให้ในพระสกิทาคามีย่อมมีผลมากกว่าพระโสดาบัน ให้พระโสดาบันย่อมมีผลมากกว่าให้ผู้ทรงฌาน ให้ในผู้ทรงฌานย่อมเหนือกว่าให้ในพระผู้ประพฤติศีลตามปกติ ให้ในผู้มีศีลย่อมมากกว่าให้ผู้ไม่มีศีล ให้ในคนย่อมมากว่าให้ในสัตว์ ให้ในสัตว์ผู้โพธิสัตว์ย่อมมีผลมากกว่าในสัตว์ธรรมดา ให้ในสัตว์ที่มีคุณย่อมมีผลมากกว่าให้แก่สัตว์ที่ไม่มีคุณ และแม้แต่ให้อาหารแก่พวกมดปลวกก็ยังเกิดบุญกุศล ดังนั้น เชื่อว่าการให้ย่อมเกิดบุญกุศลทั้งสิ่ง แต่จะมากจะน้อยก็ต่างกันไป เงิน 1 บาทถวายพระอรหันต์มีผลมากมายนับไม่ได้ แต่ให้ภิกษุผู้ทุศีลมีผลน้อย นี่คือความแตกต่างของนาบุญ ผู้รู้จักเลือกก็ให้เลือกเถิด ถ้าเลือกไม่ได้ก็ให้ถวายในสงฆ์ส่วนรวม ก็มีอานิสงส์มาก
คนในศาสนาไหนก็ส่งบุญได้ ไม่ว่าพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิก ล้วนมีวิธีสร้างกุศลผลบุญสะสมคุณงามความดีด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเกิดบุญกุศลขึ้นสามารถส่งถึงผู้อยู่ในโลกทิพย์ได้ด้วยวิธเดียวกัน ถึงเช่นกันก่อผลลัพธ์แบบเดียวกัน

ผลที่จะบังเกิดจากการโอนบุญ-เบิกบุญ
• ทำให้เทวดาที่ได้รับบุญแล้วท่านจะมีฤทธิ์เพิ่มขึ้นสามารถช่วยเหลือผู้ส่งบุญให้ได้รับความสำเร็จ เทวดาที่รักษาเคหะสถานบ้านช่องบางหลังก็แสดงฤทธิ์แทนเจ้าของบ้าน เปิด-ปิดทีวี วิยุและไฟฟ้าในบ้านได้เอง ทำให้พวกโจรขโมยไม่กล้าเข้าไปยกเค้าเพราะเหมือนมีคนอยู่ในบ้านทั้งที่ความจริงไม่มีใครอยู่บ้านเลย เทวดาสามารถป้องกันไม่ได้เกิดไฟไหม้บ้าน ป้องกันภัยอันตรายจากพายุ ต้นไม้โค่นล้มทับบ้าน บ้านไหนถูกไฟไหม้แสดงว่าเทวดาไม่รักษาเพราะเจ้าของบ้านมีบาปกรรมและไม่เคยส่งบุญให้เทวดาและเจ้ากรรมนายเวร ที่บ้านข้าพเจ้าก็มีเหตุแปลกขึ้นบ่อยๆ พัดลมเปิดเอง ไฟฟ้าปิดเอง ถ้าทำอะไรไม่เหมาะสมจะมีสิ่งตักเตือนเกิดขึ้น
• ทำให้เจ้ากรรมนายเวรหยุดการจองเวรแล้วกลับมาเป็นเทวดาปกปักรักษาตัวเรา
• ทำให้เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์-สัตว์ทั้งหลายไปทางไหนมีเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น การเดินทางไปไหนมาไหนก็จะแคล้วคลาดจากภัยอันตราย
• ธุรกิจการค้า หน้าที่การงาน จะราบรื่น จะพบช่องทางทำมาหากินที่แจ้งชัด ถ้าตกงานก็ได้งานทำ ถ้าเจ้านายเกลียดก็จะรักชอบขึ้น
• ร้านอาหาร ร้านขายของ จะมีแขกเข้าร้านมากกว่าเดิมและอย่าลืม ถ้ามีคนมาอุดหนุนให้อธิษฐานบุญให้แก่เทวดาที่รักษาลูกค้าที่มาอุดหนุนทันที ต่อมาเทวดาก็จะดลใจให้ลูกค้ากลับมาหาเราอีก
• จะหลับก็ง่าย จะนอนก็สบาย ไม่ต้องใช้ยานอนหลับ ไม่ต้องสะดุ้งผวาตกใจแม้ฝันก็ฝันดี สุขภาพก็จะแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมารบกวน
• ครอบครัวจะอยู่กันอย่างอบอุ่นมีความสุข มีความเข้าอกเข้าใจกัน
• เพื่อนบ้านที่เขม่นชิงชัง เป็นเกาเหลาต่อกัน ก็หันหลับมาเป็นมิตรรักใคร่ใยดี ให้ความเกรงใจซึ่งกันและกัน

ดังที่ข้าพเจ้าเล่ามาเป็นแค่อย่างผิวๆย่อๆเท่านั้น รายละเอียดประสบการณ์ของผู้ที่ได้ปฏิบัติตามแล้วได้ผลอย่างสุดจะบรรยายยังมีอีกมากในแต่ละวันขอให้ท่านขยันในการ เบิก/เปิดบุญให้ถี่ๆ อยู่บ่อยๆ ท่านยิ่งให้ ท่านก็จะได้ผลอย่างคาดไม่ถึง ทั้งบุญก็ได้เพิ่มขึ้นทวีคูณ อีกทั้งยังเป็นการเจริญเมตตาอยู่ในตัว ยิ่งถ้าท่านเป็นนักศีลนักบุญด้วยแล้ว ยิ่งจะเห็นผลเร็วอย่างมาก ท่านใดสนใจอยากได้แผ่นซีดี วีซีดี การแสดงธรรมของพระคุณเจ้าเกษมเพิ่มเติม โปรดแจ้งความประสงค์ได้

คนจะเลิกทำบาปมาแสดงบุญก็เพราะได้ฟังธรรม คนจะสนใจทาน รักษาศีลบำเพ็ญภาวนา ก็เพราะได้ฟังธรรม คนจะหลุดพ้นจากทุกข์ได้ก็เพราะได้ฟังธรรม พระพุทธเจ้าจังตรัสว่า “ธรรมทานคือการให้ธรรมเหนือกว่าการให้สิ่งอื่นทั้งหมด แม้ถวายทานในพระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานก็ยังไม่เหนือกว่าให้ธรรมทานได้”

บุญกุศลที่เกิดจากธรรมทานนี้ ข้าพเจ้าขอมอบแด่เทวดาที่รักษาท่านผู้อ่านและผู้ฟังทุกท่าน เมื่อเทวดาได้รับบุญนี้แล้วจงมีความสุขความเจริญมีฤทธิ์มีอำนาจ จงช่วยเหลือท่านผู้อ่านและผู้ฟังให้ประสบความรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นไปตลอดกาลนานเทอญ

ผู้ใดอยากจะพิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทาน ให้อนุญาตพิมพ์ได้และให้ใส่ที่อยู่ไว้ด้วย เพื่อคนที่สนใจจะได้ขอหนังสือนี้จากผู้รับไปพิมพ์นั้น และให้ใส่คำว่า “ห้ามขาย” ไว้ที่ปกหน้าและปกหลังของหนังสือด้วย หากโยมผู้ใดมีข้อสงสัยประการใดให้โทรมาที่ 086-583-3355 หรือ 089-619-6284 เจริญพร....




 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 19 พฤษภาคม 2550 11:13:42 น.
Counter : 2825 Pageviews.  

...ทำไงจะเอาอิทธิบาท 4 ไปใช้กับลูกน้องได้...

ฉันทะ=เต็มใจทำ
ทำได้โดยการทำให้เห็นประโยชน์เสียก่อน
วิริยะ=แข็งใจทำ
ทำได้โดยการไม่ให้งานพอกหางหมู
จิตตะ=การตั้งใจในการทำงานมีจิตใจจดจ่อไม่วอกแวก
ทำได้โดยการสร้างบรรยากาศ->เลือกช่องทางการสื่อสารให้เหมาะสม ทางตา หู จมูก ลิ้น สัมผัส เช่นการมีคำขวัญปลุกใจในการทำงาน
วิมังสา=การเข้าใจในการทำงาน รู้ทะลุปรุโปร่งในงานทั้งหมด
ทำได้โดยการฝึกให้รู้จักสังเกต
ให้ไปเค้นสมองคิดว่าถ้าท่านต้องไปทำโครงการนั้นโดยไม่มีงบประมาณเลยและทำเองคนเดียวท่านจะทำอย่างไรจึงจะสำเร็จให้ไปนำเสนอ
ภาพว่า"ได้"มันต้องเกิดขึ้นในใจเสียก่อน มันจะมีทางได้แล้วค่อย ๆ ไปหาวิธีการเอา
..... แต่อนิจจา เอาไปติดที่ทำงาน
แต่เค้าก็ยังไม่ค่อยมีอารมณ์ทำงานกันอยู่ดีอ่ะ
แนะนำกันหน่อยนะครับ

young engineer




ทำไงจะเอาอิทธิบาท 4 ไปใช้กับลูกน้องได้


โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)





การจะให้พนักงานสักคน มี อิทธิบาท 4 กับงานนั้น คงต้องเริ่มจาก เราทำตัวเป็นต้นแบบก่อนครับ เพราะเมื่อลูกน้องเห็นเราเป็นต้นแบบแล้ว เขาถึงจะสามารถรับรู้ได้ว่า การทำงานจริงๆ นั้นควรจะทำเช่นใด

จากนั้น ก็พยายามสอนเขาทีละขั้น ทีละตอน การสอนงาน เป็นหน้าที่หนึ่งของหัวหน้างาน การสอน อิทธิบาท 4 ให้กับเขา ก็เพื่อจะให้เขาทำงานได้ดีที่สุด และ ได้ผลงานมากที่สุด ซึ่งการกระทำทั้งหมดของหัวหน้างาน ก็ควรจะมุ่ง และ สื่อไปทางพัฒนาลูกน้องให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานครับ ถ้าใจเราสะอาด ใส และ มุ่งประเด็นสำหรับประโยชน์สำหรับลูกน้อง ก็ค่อยๆทำดังนี้ครับ

ฉันทะ = ความพึงพอใจในการทำงานนั้น หรือ เต็มใจทำงานนั้น

ต้องแยกความรู้สึกของคนให้เห็นก่อนว่า การมีความพึงพอใจ หรือ เต็มใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น เกิดจากเหตุใด ซึงความคิดเห็นของผมนั้น คิดว่า การจะทำให้ใครเกิดความพึงพอใจ หรือ เต็มใจในการทำงานนั้น คนๆนั้นต้องมองเห็นคุณประโยชน์ของการทำงานเสียก่อน อย่างเช่น ทำแล้วได้ผลงาน ทำแล้วมีคนเห็น ทำแล้วมีคนอนุโมทนา สิ่งเหล่านี้ บางคนมองไม่ออกว่า การทำงานนั้นๆของเขาแล้วจะได้ผลอะไรตอบแทน เพราะคนเราต่างกัน ความคิดก็ต่างกัน ปัญญาก็ต่างกัน ดังนั้น หัวหน้างาน ต้องชี้แจงให้เห็นถึงคุณดังกล่าวที่บอกมาครับ

หรือ งานนั้น เป็นงานที่คนๆนั้นถนัด หรือ มีนิสัยพื้นฐานตรงกับงานนั้น ก็ต้องเปลี่ยน หรือ ต้องสอนพื้นฐานในการทำงานนั้นๆ ให้เขาเสียก่อน ที่เขาจะงานั้นได้จริงๆ หรือ อาจจะต้องช่วยกำกับ หรือ สอนงานนั้นอย่างละเอียดในช่วงแรก เพื่อให้เขามีความมั่นใจในการทำงานเหล่านั้นมากขึ้น และเมื่อมีความมั่นใจในการทำงาน เขาก็จะสามารถทำงานเหล่านั้นได้อย่างดีเช่นกัน


วิริยะ = พากเพียรในการทำงาน

ความเพียรในการทำงานนั้น เกิดจาก การประพฤติตนตามมงคลสูตรบทที่ว่า ทำงานไม่คั่งค้าง ซึ่งคนที่จะทำลักษณะนี้ได้ ก็คงต้องเป็นคนที่เคยสร้างบารมีทางด้านนี้มาก่อน แต่ถ้าลูกน้องไม่เป็นเช่นนี้ ก็คงต้องสร้างให้มี ให้เกิดขึ้น ถ้าทางธรรม ก็กำหนดเวลาในการนั่งสมาธิ ถ้าทางโลก ก็อาจจะต้องฝึกให้เขาทำงานอย่างพากเพียรครับ

การฝึกให้ลูกน้องมีความเพียรอย่างง่ายๆ คือ การนั่งข้างๆ หรือ ต้องนั่งให้มองเห็นลูกน้อง หรือ ทำให้ลูกน้องรู้สึกว่า เรากำลังดูเขาอยู่ เพราะลูกน้องส่วนใหญ่ เวลาเห็นหัวหน้างานมองอยู่จะทำงาน เช่นนั้นอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้เห็นผลงานของตน หรือ ทำให้เจ้านายเห็นว่าตนทำงานเต็มที่ การทำเช่นนี้ สามารถทำให้เกิดนิสัยกับเขาได้ โดยการชมเชยเขาอย่างจริงใจ กับการทำงานที่เป็นผลสำเร็จของเขา จะทำให้ลูกน้องเห็นคุณค่าของการทำงานอย่างเต็มที่นั้นๆได้

บางครั้ง ก็ต้องตั้งรางวัลเพื่อให้เขามีกำลังใจทำงานด้วย แต่จะตั้งในงานแรกๆ เพื่อดูศักยภาพของพวกเขาว่า เขามีความสามารถนะ และ ถ้างานเป็นงานอย่างเดิมๆ แล้วเขาทำงานตกลง ก็ให้นำเอางานที่เขาทำได้ดีแล้วในครั้งแรกมาเปรียบเทียบ เพื่อทำให้เข้าเห็นว่า เขาตั้งใจทำงานน้อยลง อันเนื่องจากสภาพแวดล้อมเดียวกัน งานเดียวกัน ตอนที่ตั้งรางวัลเขาสามารถทำงานได้ดี และ เต็มที่กว่า เป็นต้นครับ


จิตตะ = การมีจิตใจจดจ่อต่อการทำงาน

การจะมีจิตใจที่จดจ่อต่อการทำงานได้นั้น ต้องศึกษาองค์ประกอบสิ่งแวดล้อมของลูกน้อง รวมทั้งงานเหล่านั้น เป็นงานที่ลูกน้องถนัดในการทำหรือไม่

สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีจิตใจจดจ่อต่อการทำงานนั้น ก็จะเหมือนกับ สิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เรานั่งสมาธิ ได้ดี ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำสมาธิ และ บรรยากาศเอื้อต่อการทำงาน อย่างเช่น ถ้าคนทำงานทางด้านความคิด แต่เขาต้องนั่งในที่ร้อน เหงื่อตก เขาจะมีสมาธิในการทำงานน้อยลง จิตใจที่จดจ่อกับงานก็น้อยลง หรือ คนที่ทำงานต้องใช้ความละเอียด แต่กลับมีเสียงเพลงคลอไปเบาๆ ก็หวังดีว่าเสียงเพลงจะทำให้ความรู้สึกผ่อนคลายลง แต่จะใช้ได้ไม่ดีกับคนที่ต้องการความละเอียด คนที่ทำงานละเอียดได้ จะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ เหมือนนั่งสมาธิในที่สงบ เพื่อทำให้จิตใจได้จดจ่อกับงานเหล่านั้นให้มากที่สุด

ถ้าสิ่งแวดล้อมของเขาดี แต่เป็นงานที่เขาไม่ถนัด หรือ ไม่สามารถทำได้ ก็จะไม่สามารถทำให้เขามีใจจดจ่อต่องานได้เช่นกัน ดังนั้น ควรมอบหมายงานที่แต่ละคนถนัดในด้านนั้นๆ หรือ ต้องสอนงานให้กับลูกน้องจนสามารถทำงานเหล่านั้นได้

ถ้าไม่มีใจจดจ่อต่อการทำงาน จนบางครั้ง การละทิ้งการงานกลางคันได้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากคนที่ไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ หรือ ไม่รู้ว่าทำไปจะสำเร็จไม๊ หรือ ไม่มีความรู้ในการทำงาน ดังนั้น การสอดส่องลูกน้องอยู่เป็นประจำ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับหัวหน้างานที่ดี ต้องรู้ภาวะจิตใจของเขาด้วยว่า ณ ขณะใดขณะหนึ่ง เขากำลังมีความรู้สึกเช่นใดกับงานนั้นๆ เมื่อรู้ถึงภาวะจิตใจของลูกน้อง ก็ต้องปรับความรู้สึกเหล่านั้นให้กลับมาเป็นปกติในการทำงานดังเดิม ซึ่งเรื่องนี้ก็แล้วแต่เคสครับ


วิมังสา = การพินิจ วิเคราะห์ และ เข้าใจในการทำงานนั้นๆ

การทำงานที่ได้ผลดีนั้น ต้องมีเรื่องนี้เข้ามาเป็นองค์ประกอบ ต้องใช้ปัญญาในการ พินิจ พิจารณา วิเคราะห์ หาเหตุ หาผล ของการทำงานต่างๆ ซึ่ง คนที่จะทำเช่นนี้ได้ดีมีน้อย ผมจำไม่ได้ว่า หลวงพ่อทัตตชีโว หรือ หลวงพ่อธรรมชโย ของพวกเรา เคยบอกแนวทางวิธีง่ายๆ ที่จะสร้าง วิมังสาให้เกิดขึ้นกับตัวเรา มันเป็นคำง่ายๆ แต่ลึกซึ้งมาก ท่านแค่ให้โอวาทในการทำงานว่า

"ทำให้ดี กว่าดีที่สุด"


นั่นหมายถึง เวลาเราทำงานแล้ว คิดว่าดีแล้ว ให้สังเกตุ และ วิเคราะห์งานที่ทำว่า เราสามารถทำได้ดีกว่านี้อีกหรือไม่ มีวิธีการใดที่จะทำได้ดีกว่านี้ หรือ ถ้าทำในครั้งต่อไป เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ผลดีกว่านี้ เป็นต้น ซึ่งถ้าทุกคนสามารถนำเอาคำหลวงพ่อมาใช้ ก็จะเปลี่ยนแปลงตนเองให้มีวิมังสาให้เกิดกับตนเองได้อย่างน่าอัศจรรย์

และ อีกโอวาทหนึ่ง ที่ผมได้รับจากหลวงพ่อฯ คือ

"ไม่ได้ ไม่ดี ไม่มี ไม่ได้... ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องได้"


คำว่า "ไม่ได้ ไม่ดี ไมมี ไม่ได้" เป็นคำที่บ่งบอกให้ใจของเรามุ่งมั่นว่าสิ่งที่จะทำนั้นในเมื่อรับงานมาแล้ว การจะบอกว่า ทำไม่ได้ นั้น ต้องไม่มี เพราะก่อนที่เจ้านายจะสั่งงานนั้น ก็ต้องคิดก่อนแล้วว่าน่าจะเป็นไปได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องแสวงหาหนทางเพื่อที่จะทำในหนทางอื่นๆอีก ไม่ใช่ว่า คิดว่าทำไม่ได้ก็จบกันไป หรือบางคนมักจะอ้างว่า ไม่มีสิ่งนั้น ไม่มีสิ่งนี้ ทั้งๆที่ตนเองยังไม่ได้พยายามหาเลยก็มี ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ต้องให้เขาคิด ว่า ถ้าไม่มีสิ่งนั้นแล้วจะหาสิ่งอื่นๆมาทดแทนได้หรือไม่ หรือ จะสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาได้อย่างไร และ เมื่อเริ่มทำแล้วก็ต้องทำให้ดี หากต้องแก้ไขก็ต้องแก้ไขให้ดีขึ้นเรื่อยๆ "ทำให้ดี กว่าดีที่สุด" ไง...

ส่วนประโยคหลังนั้น ผมก็ดัดแปลงสอนลูกน้องผมว่า "ต้องง่าย ต้องดี ต้องมี ต้องได้" เพื่อสร้างให้ลูกน้องของผม เชื่อในสิ่งที่จะทำ และ สร้างผลงานออกมาให้ง่ายต่อความเข้าใจของผู้ใช้ ต้องดีไม่มีปัญหา ต้องมีสิ่งที่ลูกค้าต้องการ สิ่งเหล่านี้ต้องทำได้ถ้าเราได้ทำ เพราะลูกค้าหวังว่าต้องได้จากเรา ดังนั้น เราก็ต้องตอบสนองให้ลูกค้าเห็นว่า เราก็ต้องทำได้ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อความต้องการ กับสิ่งที่เราทำให้กับลูกค้านั้นตรงกัน ก็จะสร้างมูลค่าให้กับงานของเราเพิ่มมากขึ้น และ สามารถนำไปใช้งานได้จริงอีกด้วย เมื่อสิ่งที่เราทำนั้น กลายเป็นสิ่งที่ลูกค้าใช้งานได้อย่างดี และมีการชื่นชม ก็จะกลายมาเป็นแรงใจให้กับคนทำงานกลับมาเช่นกัน

ความเข้าใจในการทำงานนั้นๆ ก็กล่าวไว้แล้วว่า การรับรู้ภาวะจิตของลูกน้องนั้นสำคัญ ซึ่งต้องอาศัยการสังเกตุ และ การทดสอบความรู้สึกของพวกเขาบ่อยๆ เช่นอาจจะถามถึงปัญหาของงานต่างๆว่า เขามีปัญหาอะไร อย่างไร ก็ช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านั้น หรือ ชี้ให้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น คนเราไม่เหมือนกัน ดังนั้น สิ่งที่เราคิดได้ อาจจะเป็นสิ่งที่ยากสำหรับคนอื่นก็ได้ เราจึงต้องสังเกตุ และ ทดสอบลูกน้องว่า เข้าใจการงาน หรือ คำสั่งหรือไม่ โดยเฉพาะคำสั่ง บางครั้งอาจจะต้องให้ลูกน้องทวนคำสั่งให้ฟังเสียด้วยซ้ำ เพื่อให้รู้ว่า เขารับรู้คำสั่งต่างๆของเราจริงๆ ก่อนที่จะลงมือด้วย


โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)



สิ่งต่างๆเหล่านี้ ก็มาจากประสบการณ์ส่วนบุคคลครับ ถ้าจะให้ลึกซึ้ง ควรจะไปสอบถามกับหลวงพ่อครับ จะได้อะไรที่ลึกซึ้งมากกว่าครับ..




 

Create Date : 14 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 31 สิงหาคม 2551 15:15:42 น.
Counter : 1867 Pageviews.  

โยนิโสมนสิการ 10 วิธี

โยนิโสมนสิการ 10 วิธี
ของ พระราชวรมุนี


เพื่อให้ปรโตโฆสะ นำไปสู่โยนิโสมนสิการ ทำให้คนรู้จักคิด หรือคิดเองเป็นอันจุดเริ่มของการศึกษา และจำเป็นสำหรับการที่จะมีการศึกษา จึงจะเสนอวิธีคิดที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำไว้สัก 10 วิธี

คนทั่วไปซึ่งได้สั่งสมความเคยชินให้จิตมีนิสัยแห่งการคิดในแนวทางของการสนองตัณหาหรือคิดโดยมีความไม่ชอบใจเป็นพื้นฐานมาเป็นเวลายาวนาน วิธีโยนิโสมนสิการแบบต่างๆนี่จะเริ่มเป็นเครื่องฝึกในการสร้างนิสัยใหม่ให้แก่จิต การสร้างนิสัยใหม่นี้ อาจจะต้องการใช้เวลานานบ้าง เพราะนิสัยเดิมเป็นสิ่งที่ได้สั่งสมมานานคนละเป็นสิบๆปี แต่เมื่อได้ฝึกขึ้นบ้างแล้วก็ได้ผลคุ้มค่า เพราะเป็นการที่ทำให้เกิดปัญญา ทำให้แก้ปัญหาดับความทุกข์ได้แม้จะยังทำไม่ได้สมบูรณ์ ก็ยังพอเป็นเครื่องช่วยให้เกิดความสมดุล และได้มีทางออกในยามที่ถูกความคิดตามแนวนิสัยเดิมชักนำไปสู่ความอับจน ความทุกข์ และปัญหาบีบคั้นต่างๆ

อนึ่ง พึงทราบว่าวิธีโยนิโสมนสิการแบบต่างๆถึงจะมีมากอย่าง ก็สรุปลงได้เป็น 2 ประเภทเท่านั้น คือ

1. โยนิโสมนสิการประเภทพัฒนาปัญญาโดยตรง มุ่งให้เกิดความรู้เข้าใจตามเป็นจริงตรงตามสภาวะแท้ๆ เน้นที่การ ขจัดอวิชชา เป็นเครื่องนำไปสู่โลกุตรสัมมาทิฏฐิอาจเรียกว่า โยนิโสมนสิการระดับสัจธรรม

2. โยนิโสมนสิการประเภทสร้างเสริมคุณภาพจิต มุ่งปลุกเร้าให้เกิดคุณธรรมหรือกุศลธรรมต่างๆ เน้นที่การสกัดหรือข่มตัณหา เป็นเครื่องนำไปสู่โลกีย์สัมมาทิฏฐิ อาจเรียกว่า โยนิโสมนสิการระดับจริยธรรม


วิธีโยนิโสมนสิการต่อไปนี้ บางอย่างใช้ประโยชน์ประเภทเดียว บางอย่างใช้ประโยชน์ได้ทั้งสองประเภท ในที่นี้จะยังไม่แยกกลุ่มไว้ จะยกมาแสดงทีละอย่างตามลำดับที่เห็นสมควร และชี้แจงประโยชน์เป็นข้อๆไปหรือให้ผู้อ่านพิจารณาดูเอง ซึ่งก็จะแยกได้โดยไม่ยาก

1. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย คือ พิจารณาปรากฏการณ์ต่างๆ ให้รู้จักสภาวะตามที่มันเป็นจริง หรือพิจารณาปัญหา ค้นหาหนทางแก้ไข ด้วยการสืบสาวหาสาเหตุและปัจจัยต่างๆที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมา จะเรียกว่า วิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา หรือวิธีคิกแบบปัจจยตาการก็ได้ ในทางปฏิบัติ อาจแยกวิธีคิดนี้ได้ 2 อย่าง คือ

ก. คิดแบบปัจจัยสัมพันธ์ คือ เมื่อพบเหตุการณ์หรือเรื่องที่พิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใด ก็มองหยั่งย้อนและสืบสาวชักโยงอกไปถึงปัจจัยต่างๆทั้งหลายที่เข้ามาสัมพันธ์นั้น ก่อให้เกิดผลหรือปรากฏการณ์นั้นๆขึ้น เช่น ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนบ่อยๆให้พระสาวกพิจารณาว่า “เมื่อสิ่งนั้นมี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ฯลฯ”

ข. คิดแบบสอบสวน หรือ ตั้งคำถาม คือ เมื่อประสบพบเห็นสิ่งใดๆที่ควรพิจารณา ก็คอยตั้งคำถามแก่ตนว่า ทำไม เพราะอะไร เช่นที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งปัญหาถามพระองค์เองก่อนตรัสรู้ว่า “ตัณหาเกิดขึ้น เพราะอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา เป็นต้น หรือคิดสืบสาวหาสาเหตุจิตใจต่อไป


2. วิธีคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ หรือกระจายเนื้อหา เป็นวิธีคิดสำคัญอีกแบบหนึ่งที่มุ่งเพื่อเข้าใจสิ่งต่างๆตามสภาวะของมัน ตามธรรมดา สิ่งทั้งหลายก็ดี ปรากฏการณ์ต่างๆก็ดี เรื่องราวต่างๆที่อุบัติขึ้นก็ดี เกิดจากส่วนประกอบย่อยๆมารวมกันเข้า เมื่อแยกแยะกระจายออกไปให้เห็นองค์ประกอบย่อยๆต่างๆได้แล้ว จึงจะรู้จักสิ่งนั้น เรื่องราวนั้นๆได้ถูกต้องแท้จริง จึงจับจุดที่เป็นปัญหาได้ และจึงจะแก้ปัญหาได้ ตัวอย่างของการคิดแบบนี้เช่นที่พระพุทธศาสนาแยกแยะชีวิตออกเป็นส่วนประกอบย่อยต่างๆ เช่น เป็นขันธ์ 5 เป็นต้น

3. วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา คือ มองเหตุการณ์ สถานการณ์ ความเป็ยไปของสิ่งทั้งหลายอย่างรู้เข้าใจธรรมดาธรรมชาติของมัน ซึ่งจะต้องเป็นไปอย่างนั้น ในฐานะที่มันเป็นสิ่งซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆปรุงแต่งขึ้น จึงจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยเหล่านั้น กล่าวคือ การที่มันเกิดขึ้นแล้วจะต้องดับไป ไม่เที่ยง ไม่คงที่ ไม่คงอยู่ตลอดไป มีภาวะที่ถูกปัจจัยต่างๆที่ขัดแย้ง บีบคั้นได้ ไม่มีอยู่และไม่สามารถดำรงอยู่โดยไตรลักษณ์ หรือ สามัญลักษณ์ จึงเรียกความคิดแบบนี้ได้อีกอย่างหนึ่งว่า วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ วิธีคิดแบบนี้ที่ถูกต้องต้องดำเนินไปให้ครบ 2 ขั้นตอน คือ

ก. ขั้นที่หนึ่ง รู้เท่าทันและยอมรับความจริง เป็นขั้นวางใจวางท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ เป็นท่าทีแห่งปัญญา เช่น เมื่อประสบสถานการณ์ที่ไม่ปรารถนาขึ้น ตั้งขึ้น สำนึกขึ้นในเวลานั้นว่า เราจะมองตามความเป็นจริง ไม่มองด้วยตามความอยากของเราที่อยากให้เป็นหรืออยากไม่ให้เป็น รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นตามเหตุปัจจัยของมันเปลื้องตัวอิสระได้ ไม่เอาตัวไปให้ถูกกดถูกบีบ

ข. ขั้นที่สอง แก้ไขและทำการไปตามเหตุปัจจัย เป็นขั้นปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ เป็นท่าทีแห่งปัญญา คือรู้ว่าสิ่งทั้งหลายจะเป็นอย่างไรก็ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ขึ้นต่อความอยากคามปรารถนาของเราหรือใครๆ เมื่อเราต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น ก็ต้องทำที่เหตุปัจจัยให้ได้เป็นอย่างนั้น แล้วแก้ไขหรือจัดทำการที่ตัวเหตุปัจจัยนั้นๆ เมื่อทำเหตุปัจจัยได้พร้อมบริบูรณ์ที่จะให้เป็นอย่างนั้น มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าเหตุปัจจัยไม่พร้อมที่จะให้เป็น มันก็ไม่เป็น แล้วก็รู้และแก้ไขกันที่เหตุปัจจัยนั้นแหละ ไม่ใช่แก้ด้วยความอยาก เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ ก็ดำรงตนอยู่เป็นอิสระ อยู่อย่างอิสระ ทำการได้ดีที่สุด พร้อมทั้งไม่มีความทุกข์


4. วิธีคิดแบบแก้ปัญหา หรือวิธีคิดแบบอริยสัจสี่ เป็นวิธีคิดที่ต่อเนื่องจากวิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา ( แบบที่ 3 ) นั่นเอง คือ เมื่อเข้าใจคติธรรมดาของสิ่งทั้งหลายวางใจได้และตกลงใจว่าจะแก้ปัญหาที่ตัวเหตุตัวปัจจัย จากนั้นก็ดำเนินความคิดต่อไปตามวิธีคิดแบบอริยสัจสี่นี้ วิธีคิดแบบนี้มีหลักการสำคัญคือ การเริ่มต้นจากปัญหาหรือทุกข์โดยกำหนดรู้ ทำความเข้าใจปัญหาหรือความทุกข์ให้ชัดเจน แล้วสืบค้นหาสาเหตุเพื่อเตรียมแก้ปัญหา พร้อมกันนั้นก็กำหนดเป้าหมายของตนให้แน่ชัดว่าคืออะไร จะเป็นไปได้หรือไม่ จะเป็นไปได้อย่างไร แล้วคิดวางวิธีปฏิบัติที่จะกำจัดสาเหตุของปัญหาดดยสอดคล้องกับการที่จะบรรลุจุดหมายที่ได้กำหนดไว้นั้น ทั้งนี้อาจจัดวางเป็นขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 กำหนดรู้ คือ แจกแจงแถลงปัญหา ทำความเข้าใจปัญหา สภาพและขอบเขตของปัญหาให้เข้าใจชัดเจนว่าเป็นอะไร คืออะไร เป็นที่ตรงไหนเหมือนแพทย์ตรวจดูอาการของโรค ดูความผิดปกติของร่างกาย วินิจฉัยให้รู้ว่าเป็นอะไร ที่ตรงไหน รู้เข้าใจโรคและร่างกายเฉพาะอย่างยิ่งส่วนซึ่งเป็นที่ตั้งของโรคให้ชัดเจน ( ทุกข์ )

ขั้นที่ 2 สืบสวนเหตุแห่งทุกข์ที่จะพึงละ คือ วิเคราะห์ค้นหามูลเหตุหรือต้นตอของปัญหาซึ่งจะองแก้ไขกำจัดหรือทำให้หมดสิ้นไป ตามปกติขั้นนี้ตรงกับวิธีคิดแบบที่ 1 คือ วิธีคิดแบบปัจจัยการนั่นเอง เหมือนแพทย์ค้นหาสมมุติฐานของโรค หาสาเหตุของโรค ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องตรงจุด มิใช่รักษาแต่เพียงอาการ ( สมุทัย )

ขั้นที่ 3 เล็งหมายขัดซึ่งการดับทุกข์ที่จะทำให้สำเร็จ คือ เล็งเห็นชัดเจนถึงภาวะปราศจากปัญาซึ่งมุ่งหมายว่าคืออะไร เป็นไปได้จริงหรือไม่ อย่างไร มีความชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายและหลักการทั่วไป หรือตัวกระบวนการของการแก้ปัญหาก่อนที่จะวางรายละเอียดและกลวิธีปลีกย่อยในขั้นดำเนินการ เหมือนแพทย์รู้ว่าโรคนั้นๆรักษาได้ มองเห็นกระบวนการของโรคชัดเจนว่าจะหายไปได้อย่างไร ( นิโรธ )

ขั้นที่ 4 จัดวางวิธีการดับทุกข์ที่จะต้องปฏิบัติ คือ เมื่อมีความชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายและหลักการทั่วไปแล้ว ก็กำหนดวางวิธีการ แผนการและรายการที่จะต้องทำในการที่จะแก้ไขกำจัดสาเหตุของปัญหาให้สำเร็จ โดยสอดคล้องกับเป้าหมายและหลักการทั่วไปนั้นเพื่อเตรียมแก้ไขปัญหาต่อไป ( มรรค )

5. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ หรือคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย เป็นวิธีคิดในระดับปฏิบัติการหรือลงมือทำ คือ การที่จะกระทำการต่างๆโดยรู้และเข้าใจถึงหลักการและความุ่งหมายของเรื่องนั้นๆ จะดำเนินไปเพื่อจุดหมายอะไร เพื่อให้เป็นการปฏิบัติที่ได้ผลตามความมุ่งหมายนั้น ไม่กลายเป็นการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนเลื่อนลอยงมงาย เช่น เมื่อจะลงมือทำงานอะไรนั้น ก็ตรวจสอบตนเองให้ชัดเจนว่าเข้าใจหลักการและความมุ่งหมายของงานนั้นดีแล้วหรือไม่ โดยอาจคอยตั้งคำถามว่า อันนี้เพื่ออะไรๆ เป็นต้น

6. วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก คือ มองให้ครบทั้งข้อดี ข้อเสีย และทางแก้ไขหาทางออกให้หลุดรอดปลอดพ้นจากข้อบกพร่องต่างๆ เป็นวิธีมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงอีกแบบหนึ่ง เน้นการศึกษาและยอมรับความจริงตามที่สิ่งนั้นๆเป็นอยู่ทุกแง่ทุกมุมเพื่อให้รู้และเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงทั้งด้านดี ด้านเสีย จุดอ่อน จุดแข็ง ศัพท์ทางธรรมดาเรียกว่า วิธีคิดโดยรู้อัสสาทะ อาทีนวะ และนิสสรณะ วิธีคิดแบบนี้พระพุทธเจ้าทรงเน้นมาก เพราะคนทั้งหลายมักจะตื่นตามกันและเอนเอียงง่ายพอจับได้อะไรดี ก็มองเห็นแต่ดีไปหมด พอจับได้ว่าอะไรไม่ดี ก็เห็นแต่เสียไปหมด ทำให้พลาดทั้งความรู้จริงและการปฏิบัติที่ถูกต้อง อันที่จริงนั้นปกติของสิ่งทั้งหลายย่อมมีทั้งส่วนดี ส่วนเสีย จุดอ่อน จุดแข็ง เป้นต้น อาจดีมาก หากอยู่ในกรณีแวดล้อมอย่างหนึ่ง หรืออาจจะดีน้อย หากได้อยู่ในกรณีแวดล้อมหรือเงื่อนไขอีกอย่างหนึ่ง เมื่อได้ตระหนักและยอบรับถึงข้อดี ข้อเสีย จุดอ่อน จุดแข็งแล้ว เราก็จะได้ระมัดระวัง ปิดกั้นทางเสียหรือหาสิ่งชดเชยทดแทนให้ประโยชน์ที่ได้สมบูรณ์ต่อไป

7. วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้ – คุณค่าเทียม หรือการพิจารณาเกี่ยวกับปฏิเสวนา คือ การใช้สอยหรือบริโภค เป็นวิธีคิดแบบสกัดหรือบรรเทาตัณหา ตัดทางไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจแล้วชักจูงพฤติกรรมต่อไป วิธีคิดแบบนี้ใช้มากในชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ และวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ทางเทคโนโลยี มีหลักการโดยย่อว่า คนเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆเพราะเรามีความต้องการ สิ่งใดที่สามารถสนองความต้องการของเราได้ สิ่งนั้นก็มีประโยชน์ มีคุณค่าแก่เรา คุณค่านี้จำแนกได้เป็น 2 ประเภท ตามชนิดของความต้องการ คือ

ก. คุณค่าแท้ หมายถึง ความหมาย คุณค่า หรือประโยชน์ของสิ่งที่สนองความต้องการของชีวิตโดยตรง มนุษย์นำมาใช้ในการแก้ปัญหาของตน เพื่อประโยชน์สุขทั้งของตนเองและผู้อื่น คุณค่านี้อาศัยปัญญาป็นเครื่องตีค่า จะเรียกว่าคุณค่าที่สนองปัญญาก็ได้ เช่น อาหาร มีคุณค่าเป็นประโยชน์สำหรับหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ มีสุขภาพดี มีกำลังเกื้อกูลแก่การปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น ( คุณค่านี้เกี่ยวเนื่องด้วยธรรมฉันทะ )

ข. คุณค่าเทียม หมายถึง ความหมาย คุณค่า หรือประโยชน์ของสิ่งที่มนุษย์พกให้แก่สิ่งนั้นเพื่อปรนเปรอการเสพเสวยเวทนา เพื่อเสริมความมั่งคั่งยิ่งใหญ่ของตัวตนที่ยึดถือไว้ คุณค่านี้อาศัยตัณหาป็นเครื่องตีค่า จะเรียกว่าคุณค่าที่สนองตัณหาก็ได้ เช่น อาหาร มีคุณค่าอยู่ที่ความเอร็ดอร่อย เสริมความสนุกสนาน หรือความโก้หรูหราของรถยนต์ มีราคา ความสวยงามเป็นเครื่องแสดงหรือวัดฐานะ เป็นต้น

วิธีคิดแบบนี้ มุ่งให้เข้าใจและเลือกเสพคุณค่าแท้ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตอย่างแท้จริงเพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น คุณค่าแท้นี้นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริงแล้ว ยังเกื้อกูลต่อความเจริญงอกงามของกุศลธรรม เช่น ความมีสติ ทำให้พ้นจากความเป็นทาสของวัตถุ เป็นต้น


8. วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม เรียกง่ายๆว่า วิธีคิดแบบเร้ากุศล หรือคิดแบบกุศลภาวนา เป็นวิธีคิดในแนวสกัดกั้นหรือบรรเทาและขัดเกลาตัณหา ส่งเสริมความเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรมและสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกียะ

หลักการทั่วไปของวิธีคิดนี้มีอยู่ว่า ประสบการณ์คือสิ่งที่ได้ประสบหรือได้รับรู้อย่างดียวกับบุคคลที่ประสบหรือรับรู้ต่างกัน อาจมองเห็นและคิดนึกปรุงแต่งไปคนละอย่าง สุดแต่โครงสร้าง แนวทางความเคยชินที่เป็นเครื่องปรุงของจิต คือ สังขาร ที่ผู้นั้นได้สั่งสมไว้หรือก็คือ สุดแต่การทำใจในขณะนั้นๆ คนหนึ่งมองแล้ว คิดปรุงแต่งไปในทางดีงาม แต่อีกคนหนึ่งมองแล้ว คิดปรุงแต่งไปในทางไม่ดีไม่งาม เป็นโทษเป็นอกุศล รวมถึงเรื่องของเวลา คราวหนึ่งคิดดี คราวหนึ่งคิดร้าย การทำใจที่ช่วยตั้งต้นและชักนำความคิดให้เดนไปในทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์ เรียกว่า วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม วิธีคิดในแบบนี้มีความสำคัญในแง่ที่ทำให้เกิดความคิดและการกระทำที่ดีงามเป็นประโยชน์ในขณะนั้นๆ และช่วยแก้ไขนิสัยความเคยชินร้ายๆของจิตที่ได้สั่งสมไว้แต่เดิม พร้อมกับสร้างนิสัยความเคยชินใหม่ที่ดีงามให้แก่จิตไปในเวลาเดียวกัน

ตัวอย่างเช่น การคิดถึงความตาย เมื่อคิดถึงแล้วก็จะเกิดความสลดหดหู่ ความเศร้า ความเหี่ยวแห้งใจ ตลอดจนเกิดความดีใจเมื่อนึกถึงความตายของคนที่เราเกลียดชัง แต่ถ้าในขณะที่เราคิดนั้น เรามีโยนิโสมนสิการอยู่ด้วย เราก็จะเกิดความรู้สึกตื่นตัว เร้าใจไม่ประมาทเร่งขวนขวายปฏิบัติกิจหน้าที่ ทำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์ ตลอดจนรู้เท่าทันความจริงที่เป็นคติธรรมดาของสังขาร เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นการคิดถึความตายที่ถูกวิธี

นอกจากหลักการข้างต้นแล้ว ควรย้ำถึงองค์ประกอบสำคัญที่คอยพยุงความคิดให้อยู่ในโยนิโสมนสิการ อันได้แก่ สติ ซึ่งช่วยยับยั้งความคิดที่หลงลอยไปเป็นอโยนิโสมนสิการ

อนึ่ง โยนิโสมนสิการแบบต่างๆ สรุปได้เป็น 2 คือ โยนิโสมนสิการเพื่อความรู้ตามสภาวะ ซึ่งมีลักษณะที่แน่นอนเป็นอย่างเดียว และโยนิโสมนสิการเพื่อเสริมสร้างกุศลธรรม ซึ่งมีลักษณะแผกผันไปได้หลากหลายนั้น มีจุดแยกอยู่ที่ขณะตั้งต้นความคิด และสติอาจมีบทบาทสำคัญในการเลือกทางแยกที่จุดตั้งระหว่างโยนิโสมนสิการแบบต่างๆนี้ เช่นเดียวกับที่สติสามารถเลือกระหว่างโยนิโสมนสิการกับอโยนิโสมนสิการ

9. วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน คือวิธีคิดแบบมีปัจจุบันธรรมดาเป็นอารมณ์ความจริง วิธีคิดแบบที่ 9 นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีคิดแบบที่ 8 ที่แยกแสดงออกมาเป็นอีกข้อหนึ่งต่างหากนั้นเป็นเพราะมีแง่ที่ควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษ และเป็นวิธีคิดที่มีความสำคัญโดยลำพังตัวของมัยเอง

ข้อที่จะต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษนั้นคือ การที่ผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของการเป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเข้าใจไปว่า พุทธศาสนาสอนให้คิดถึงสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้ากำลังเป็นไปในปัจจุบันเท่านั้น ไม่คิดพิจารณาเกี่ยวกับอดีต หรืออนาคต ตลอดจนไม่คิดเตรียมการวางแผนเพื่อกาลภายหน้า

ลักษณะความคิดชนิดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นการคิดที่อยู่ในแนวทางของความรู้หรือคิดด้วยอำนาจปัญญา เป็นการคิดที่สามารถรวมเอาเรื่องที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เรื่องที่ล่วงผ่านมาแล้ว และเรื่องของกาลภายหน้าเข้าในการเป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น การคิดพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องในอดีต ถือเป็นการคิดที่นำมาใช้เป็นบทเรียน ก่อให้เกิดความไม่ประมาทระมัดระวังป้องกันภัยในอนาคต เป็นต้น

คำว่าปัจจุบันในทางธรรม มิใช่เพ่งที่เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น แต่หมายถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นๆเป็นสำคัญ ดังนั้น สิ่งที่ตามความหมายของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรืออนาคต ก็อาจกลายเป็นปัจจุบัน ตามความหมายของนามธรรมได้ สรุปง่ายๆว่า ความเป็นปัจจุบัน กำหนดเอาที่ความเกี่ยวข้อง ต้องรู้ ต้องทำเป็นสำคัญ สิ่งที่เป็นปัจจุบันคลุมถึงเรื่องราวทั้งหลายที่เชื่อมโยงต่อกันมา

วิธีคิดแบบนี้มุ่งที่จะช่วยแบ่งแยกความคิดถึงอดีตและอนาคตตามแนวทางของตัณหาที่เพ้อฝันเลื่อนลอย ผลาญเวลาและคุณภาพของจิตใจให้สูญเปล่า การคิดที่ถูกวิธีจะช่วยให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติในทางปัจจุบันให้ถูกต้องได้ผลดียิ่งขึ้น เป็นการสนับสนุนให้มีการตระเตรียมและวางเเผนในกิจการล่วงหน้า


10. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท คำว่าวิภัชชวาทแปลว่า การพูดแยกแยะจำเเนกเเจกเเจง แถลงความแบบวิเคราะห์ เป็นการมองและแสดงความจริง โดยเเยกเเยะออกให้เห็นเเต่ละเเง่เเต่ละด้านให้ครบทุกด้าน ไม่ใช่จับเอาบางเเง่ขึ้นมาวินิจฉัยตีคลุมลงไปอย่างนั้นทั้งหมด ความจริงวิภัชชวาทเป็นชื่อเรียกระบบความคิดของพระพุทธศาสนาทั้งหมด มีความหมายครอบคลุมวิธีคิดที่ได้กล่าวมาเเล้วข้างต้นหลายๆอย่าง

วิธีคิดแบบนี้ทำให้ความคิดและการวินิจฉัยเรื่องราวต่างๆ ชัดเจนตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง เท่าความจริง พอดีกับความจริง เพื่อให้เข้าใจความหมายของวิภัชชวาทชัดเจนยิ่งขึ้น ขอจำเเนกวิธีคิดเเบบวิภัชชวาทออกไปในลักษณะต่างๆดังนี้

ก. จำเเนกโดยเเง่ด้านของความจริง เเบ่งได้ 2 อย่างเป็น
- จำเเนกตามที่เป็นอยู่จริงของสิ่งนั้นๆ คือ ของความจริงให้ตรงตามที่เป็นอยู่ในเเง่นั้นด้านนั้น ไม่ใช่จับเอาความจริงเพียงเเง่หนึ่งมาตีคลุมเป็นอย่างนั้นไปหมด
- จำเเนกโดยมองความจริงของสิ่งนั้นๆ ให้ครบทุกเเง่ทุกด้าน คือ ไม่มองเเคบๆ ไม่ติดอยู่กับส่วนเดียวเเง่เดียวของสิ่งนั้น เเต่มองให้หลายเเง่หลายด้าน เช่น คนๆหนึ่งอาจจะดีในเเง่นั้น เเต่ไม่ดีในเเง่นี้ การคิดจำเเนกในเเง่นี้ เป็นส่วนเสริมกันกับข้อแรกให้ได้ผลสมบูรณ์ และมีผลรวมไปถึงการเข้าใจในภาวะที่องค็ประกอบต่างๆมารวมกันโดยครบถ้วน จึงเกิดขึ้นเป็นสิ่งนั้น ๆ เป็นการเห็นที่กว้างไปถึงลักษณะด้านต่างๆและองค์ประกอบต่างๆของมัน

ข. จำเเนกโดยส่วนประกอบ คือ วิเคราะห์แยกเเยะให้รู้ว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นจากองค์ประกอบย่อย ๆ ต่าง ๆ มาชุมนุมกันเข้า ไม่ติดอยู่ภายนอกหรือถูกลวงโดยภาพรวมของสิ่งนั้น ๆ เช่น การเเยกเเยะคนออกเป็นนามและรูปเป็นขันธ์ 5 เเบ่งซอยออกจนเห็นภาวะที่ไม่เป็นอัตตา

ค. จำแนกโดยลำดับขณะ คือ แยกแยะวิเคราะห์ปรากฎการณ์ตามลำดับแห่งเหตุปัจจัย ให้มองเห็นตัวเหตุปัจจัยที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ เป็นวิธีที่ใช้มากในฝ่ายอภิธรรม ตัวอย่างเช่น โจรปล้นบ้านและฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย หากคิดจำแนกโดยลำดับขณะแล้ว จะเห็นว่า โจรโลภอยากได้ทรัพย์ แต่เจ้าทรัพย์เป็นอุปสรรคต่อการใช้ทรัพย์นั้น ความโลภทรัพย์จึงเป็นเหตุให้โจรมีโทสะต่อเจ้าทรัพย์ โจรจึงฆ่าเจ้าทรัพย์ ตัวเหตุที่แท้ของการฆ่าคือโทสะ หาใช่โลภะไม่ โลภะเป็นเพียงเหตุให้ลักทรัพย์ และเป็นปัจจัยให้โทสะเกิดเท่านั้น ในภาษาสามัญจะพูดว่า โจรฆ่าคนเพราะความโลภ แต่ถ้าพิจารณาตามขบวนธรรมที่เป็นไปตามลำดับขณะ ความโลภเป็นเพียงตัวการเริ่มต้นในเรื่องนั้นเท่านั้น

ง. จำแนกโดยความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย คือ สืบสาวหาเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์สืบทอดกันมาของสิ่งหรือปรากฎการณ์ต่าง ๆ ทำให้มองเห็นความจริงที่สิ่งทั้งหลายไม่ได้ตั้งอยู่ลอย ๆ แต่เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุแห่งปัจจัย การคิดจำแนกในแง่นี้ตรงกับวิธีคิดแบบที่ 2 คือ วิธีคิดแบบสืบสาวหาเหตุปัจจัย

ตามแนวคิดนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมอย่างที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชเณนธรรมเทศนา หรือ วิธีคิดแบบมัชเฌนธรรม

การจำแนกโดยสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย นอกจากช่วยไม่ให้เผลอ มองสิ่งต่าง ๆ อย่างโดดเดี่ยวขาดลอย แล้วยังครอบคลุมไปถึงการที่จะให้รู้จักกับเหตุปัจจัยได้ตรงกับผลของมัน ความขัดสนที่มักเกิดขึ้นแก่คนทั่วไป 3 อย่าง คือ

1. การนำเอาเรื่องราวอื่น ๆ นอกกรณีมาปะปะสับสนกับเหตุปัจจัยเฉพาะกรณี วิธีคิดแบบนี้ช่วยให้แยกเอาเรื่องราวหรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปจากเหตุปัจจัยที่แท้จริง รวมถึงการจับผลให้ตรงกับเหตุด้วย

2. ความไม่ตระหนักถึงภาวะที่ปรากฎการณ์หรือผลที่คล้ายกัน ซึ่งอาจเกิดจากเหตุปัจจัยที่ต่างกัน หรืออย่างเดียวกัน เช่น การได้ทรัพย์มาอาจเกิดจากขยันทำการงาน จากการทำให้ผู้ให้ทรัพย์พอใจ หรือจากการลักขโมยก็ได้ เป็นต้น

3. การไม่ตระหนักถึงเหตุปัจจัยส่วนพิเศษนอกเหนือจากเหตุปัจจัยที่เหมือนกัน คือ คนมักมองเฉพาะแต่เหตุปัจจัย บางอย่างที่ตนมั่นหมายว่า จะให้เกิดผลอย่างนั้น ๆ ครั้นต่างบุคคลทำเหตุปัจจัยอย่างเดียวกันแล้ว คนหนึ่งได้รับผลที่ต้องการ อีกคนหนึ่งไม่ได้รับผลนั้น ก็เห็นว่าเหตุปัจจัยนั้นไม่ได้ผลจริง

จ. จำแนกโดยเงื่อนไข คือ มองโดยพิจารณาเงื่อนไขประกอบด้วย เช่น ถ้าถามว่าบุคคลนี้ควรคบหรือไม่ ถ้าพระภิกษุเป็นผู้ตอบก็อาจกล่าวว่าถ้าคบแล้วอกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ก็ไม่ควรคบ แต่ถ้าคบแล้วอกุศลเสื่อม กุศลธรรมเจริญ ก็ควรคบ

การตอบวิภัชชวาท จะวินิจฉัยโดยพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ คือ

1. ความโน้มเอียง ความพร้อม นิสัย ความเคยชินต่าง ๆ ซึ่งเด็กได้สั่งสมไว้โดยการอบรมเลี้ยงดูและอิทธิพลทางวัฒนธรรม เป็นต้น เท่าที่อยู่ในขณะนั้น (พูดด้วยภาษาทางธรรมว่า สังขารที่เป็นกุศลและอกุศล คือ แนวความคิดปรุงแต่งที่ได้สะสมจนกลายเป็นความเคยชินเอาไว้) อาจเรียกง่าย ๆ ว่า พื้นของเด็กที่จะแล่นไป

2. โยนิโสมนสิการ คือ เด็กรู้จักใช้โยนิโสมนสิการโดยปกติหรือไม่ และแค่ไหน เพียงไร

3. กัลยาณมิตร คือ บุคคลหรืออุปกรณ์ที่จะช่วยชี้แนะแนวทางความคิดความเข้าใจอย่างถูกต้องต่อสิ่งที่พบเห็น หรือที่จะชักนำให้เด็กเกิดโยนิโสมนสิการ อย่างได้ผลหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นกัลยาณมิตรในครอบครัว ในสื่อมวลชนนั้น ๆ หรือทั่ว ๆ ไป ในสังคมก็ตาม

4. ประสบการณ์ คือ สิ่งที่ปล่อยให้แพร่หรือให้เด็กพบเห็นนั้น มีลักษณะหรือคุณสมบัติที่เร้าหรือยั่วยุ เป็นต้น รุนแรงมากน้อยถึงระดับใด

ทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นตัวแปรได้ทั้งนั้น แต่ในกรณีนี้ ยกเอาข้อ 4. ขึ้นตั้งเป็นตัวยืนคำตอบจะเป็นไปได้โดยสัดส่วนซึ่งตอบได้เอง เช่น ถ้าเด็กมีโยนิโสมนสิการดีจริง ๆ กำกับอยู่ หรือพื้นด้านแนวความคิดปรุงแต่งที่เป็นกุศลซึ่งได้สั่งสมอบรมกันไว้โดยครอบครัวหรือวัฒนธรรมมีมาก และเข้มแข็งจริง ๆ แม้ว่าสิ่งที่แพร่หรือปล่อยให้เด็กพบเห็นจะล่อเร้ายั่วมาก ก็ยากที่จะเป็นปัญหา และผลดีต่าง ๆ ก็เป็นอันหวังได้ แต่ถ้าพื้นความโน้มเอียงทางความคิดกุศลก็ไม่ได้สั่งสมอบรมกันไว้โยนิโสมนสิการก็ไม่เคยฝึกกันไว้ แล้วยังไม่จัดเตรียมให้มีกัลยาณมิตรไว้ด้วยการปล่อยนั้น ก็มีความหมายเท่ากันเป็นการสร้างเสริมสนับสนุนปัญหาและเป็นการตั้งใจทำลายเด็กโดยใช้ยาพิษเบื่อเสียนั่นเอง

ฉ. วิภัชชวาทในฐานะวิธีตอบปัญหาอย่างหนึ่ง วิภัชชวาทปรากฎอยู่บ่อย ๆ ในรูปของการตอบปัญหาและท่านจัดเป็นวิธีตอบปัญหาอย่างหนึ่ง ในบรรดาวิธีตอบปัญหา 4 อย่าง มีชื่อเฉพาะเรียกว่า วิภัชชวาทพยากรณ์ ซึ่งก็คือ การนำเอาวิภัชชวาทไปใช้ในการตอบปัญหา หรือ ตอบปัญหาตามแบบวิภัชชวาทนั่นเอง

เพื่อความเข้าใจชัดเจนในเรื่องนี้ ถึงทราบวิธีตอบปัญหา (ปัญหาพยากรณ์) 4 อย่าง คือ
1. เอกังสพยากรณ์ การตอบอย่างเดียวเด็ดขาด
2. วิภัชชพยากรณ์ การแยกแยะตอบ
3. ปฏิปจฉาพยากรณ์ การตอบโดยย้อนถาม
4. ฐปนะ การยั้งหรือหยุด พับปัญหาเสีย ไม่ตอบ
วิธีตอบ 4 อย่างนี้ แบ่งตามลักษณะของปัญหา ดังนั้น ปัญหาจึงแบ่งได้เป็น 4ประเภท ตรงกับวิธีตอบ
เหล่านั้น จะยกตัวอย่างปัญหาตามที่แสดงไว้ในคัมภีร์รุ่นหลังมาแสดงประกอบความเข้าใจดังนี้

1. เอกังสพยากรณียปัญหา ปัญหาที่ควรแยกแยะหรือจำแนกตอบ เช่น ถามว่าสิ่งที่ไม่เที่ยง ได้แก่ จักษุใช่ไหม พึงตอบได้ทีเดียวแน่นอนลงไปว่าใช่

2. วิภัชชพยากรณียปัญหา ปัญหาที่ควรแยกแยะหรือจำแนกตอบ เช่น ถามว่าสิ่งที่ไม่เที่ยง ได้แก่ จักษุใช่ไหม พึงแยกแยะตอบว่า ไม่เฉพาะจักษุเท่านั้น แม้โสตะ ฆานะ เป็นต้น ก็ไม่เที่ยง

3. ปฏปจฉาพยากรณียปัญหา ปัญหาที่ไม่ควรตอบโดยย้อนถาม เช่น ถามว่าจักษุฉันใด โสตะก็ฉันนั้น โสตะฉันใด จักษุก็ฉันนั้น ใช่ไหม พึงย้อนถามว่า มุ่งความหมายแง่ใด ถามใด หมายถึง แง่ใช้ดูหรือเห็น ก็ไม่ใช่ แต่ถ้ามุ่งความหมายแง่ว่าไม่เที่ยงก็ใช่

4. ฐปนียปัญหา ปัญหาที่พึงยับยั้ง หรือพับเสีย ไม่ควรตอบ เช่น ถามว่า ชีวะกับสรีระ คือ สิ่งเดียวกันใช่ไหม พึงยับยั้งเสียไม่ต้องตอบ

นี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างสั้น ๆ ง่าย ๆ เพื่อความเข้าใจเบื้องต้น เมื่อว่าโดยใจความปัญหาแบบที่ 1 ได้แก่ ปัญหาซึ่งไม่มีแง่ที่จะต้องชี้แจงหรือไม่มีเงื่อนงำ จึงตอบแน่นอนลงไปอย่างใดอย่างหนึ่งได้ทันที เช่น อีกตัวอย่างหนึ่งว่าคนทุกคนต้องตายใช่ไหม ก็ตอบได้ทันทีว่าใช่ ปัญหาแบบที่ 2 ได้แก่ แง่ซึ่งจะต้องมีเรื่องที่จะต้องชี้แจง โดยใช้วิธีภัชชวาทต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ปัญหาแบบที่ 3 พึงย้อนถามความเข้าใจกันก่อนจึงจะตอบ หรือตอบด้วยอาการย้อนถาม หรือสอบถามไปตอบไป อาจใช้ประกอบไปกับการตอบ แบบที่ 2 คือ ควบกับวิภัชชพยากรณ์ในบาลี พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีย้อนถามบ่อย ๆ และด้วยการทรงย้อนถามนั้น ผู้ถามจะค่อย ๆ เข้าใจสิ่งที่เขาถามไปเอง หรือช่วยให้เขาตอบปัญหาของเขาเอง โดยพระองค์เพียงทรงชี้แนะแง่คิดต่อให้ ไม่ต้องทรงตอบ ส่วนปัญหาแบบที่ 4 ซึ่งควรยับยั้งไม่ตอบ ได้แก่ คำถามเหลวไหลไร้สาระจำพวกหนวดเต่าเขากระต่ายบ้าง ปัญหาที่เขายังไม่พร้อมที่จะเข้าใจ จึงยับยั้งไว้ก่อน หันไปทำความเข้าใจเรื่องอื่นที่เป็นการเตรียมพื้นของเขาก่อน แล้วจึงค่อยมาพูดกันใหม่หรือให้เข้าใจได้เองบ้างปัญหาที่ตั้งมาไม่ถูก โดยคิดขึ้นจากความเข้าใจผิด ไม่ตรงตามสภาวะหรือไม่มีตัวสภาวะอย่างนั้นจริง เช่น ตัวอย่างในบาลี มีผู้ถามว่า ใคร เป็นต้น ซึ่งไม่อาจตอบตามที่เขาอยากฟังได้ จึงต้องยับยั้งหรือพับเสีย อาจชี้แจงเหตุผลในการไม่ตอบ หรือให้เขาตั้งคำถามใหม่ให้ถูกต้องตามสภาวะ

เรื่องโยนิโสมนสิการ ขอกล่าวไว้โดยย่อ เพียงเท่านี้ก่อน และขอสรุปโดยทวนหลักการทั่วไป เมื่อมีโยนิโสมนสิการสัมมาทิฎฐิก็เกิดขึ้นได้ เมื่อสัมมาทิฎฐิเกิดขึ้นองค์ประกอบมูลฐานของมรรควิธีแห่งการแก้ปัญหา หรือมรรคาแห่งความดับทุกข์ จากนั้นกระบวนการแห่งการศึกษาก็ดำเนินต่อไป

-=-=-=-=-=-=-=-
ลอกมาจาก "mylesson.swu.ac.th/syllabus/doc_120040517025829.doc"
จากหนังสือพุทธธรรม ฉบับขยายความ ของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) - (มีเพื่อนแจ้งมาด้านล่าง)




 

Create Date : 08 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 5 ธันวาคม 2551 16:27:23 น.
Counter : 9048 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

wbj
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 210 คน [?]




ต้องการสอบถาม กรุณาติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com หรือ 062 641 5992, 062 826 1544

วิทยากรเชิงกิจกรรม

วิทยากรกระบวนการ

ที่ปรึกษาธุรกิจ

ด้านการบริหารจัดการ

การตลาดและการประชาสัมพันธ์

การบริหารทรัพยากรมนุษย์

การวางแผนกลยุทธ์

วิจัยธุรกิจ

IT Dashboard



ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้...
ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย
และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด



<< Main Menu >>



ดวงถาวร


ดวงตามวันเกิด



ดวงตามปีเกิด






;b[^]pN 06' ไรินนื ่นนืเ "รินนื ๋นนืเ c:j06'

ต้องการสอบถาม โทร 062-641-5992, 062-826-1544
ติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com
Line ID : wbjoong

ที่ปรึกษาธุรกิจ ด้านการบริหารจัดการ การตลาดและการประชาสัมพันธ์ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และ การวางแผนกลยุทธ์ วิทยากรเชิงกิจกรรม, วิทยากรกระบวนการ นักวิจัยการดำเนินงานธุรกิจ Executive & Management Coach

ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้... ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด
<< Main Menu >>
Friends' blogs
[Add wbj's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friends


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.